วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561

เล่าสู่กันฟัง โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์


                   ในยุค Disruptive Technology เช่นนี้ การทำธุรกิจหรือกิจการแบบเดิม ๆ ดังเช่นที่ทำ ๆ กันมาหลายสิบปีเห็นทีจะไปต่อได้ยาก การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก มิฉะนั้นจะย่ำแย่ไปตาม ๆ กัน

                   ไม่ใช่ภาคเอกชนเท่านั้นที่ต้องปรับตัวให้เร็ว ภาครัฐเองก็ต้องปรับตัวให้เร็วไปพร้อม ๆ กันด้วย เพราะรัฐมีหน้าที่พัฒนาและส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของชาติให้มีความรู้และทักษะเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว รวมทั้งมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน อำนวยความสะดวก และกำกับดูแลการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน

                   ถ้าภาคเอกชนไปเร็วแต่ภาครัฐยังยึดติดอยู่กับวิธีคิดและวิธีทำงานแบบเดิม ๆ  ประเทศในภาพรวมก็ยากที่จะเดินต่อไปได้อย่างรวดเร็วและราบรื่น หรือถ้าไปเร็วแบบไม่คิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบ การเดินไปข้างหน้าก็จะไม่ยั่งยืน และกลายเป็นภาระแก่ลูกหลานในอนาคต

                   ด้วยเหตุนี้ มาตรา 54 ของรัฐธรรมนูญ จึงให้ความสำคัญแก่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นอย่างมาก โดยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องพัฒนามนุษย์ให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ และสามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน เพื่อให้ลูกไทยหลานไทยมีคุณลักษณะของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 คือ ใฝ่รู้ มีความสามารถในการทำงาน มีความคิดสร้างสรรค์ และสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นซึ่งแตกต่างได้อย่างเข้าอกเข้าใจ

                   นอกจากนี้ มาตรา 258 ข. ยังได้กำหนดให้ต้องมีการดำเนินการดังต่อไปนี้ด้วยเพื่อให้ภาครัฐสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว สามารถเดินคู่ขนานไปพร้อมกับภาคเอกชนได้อย่างรวดเร็ว
·     นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
·     บูรณาการฐานข้อมูลของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน เพื่อให้เป็นระบบข้อมูลเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชน
·     ปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างและระบบการบริหารงานของรัฐและแผนกำลังคนภาครัฐให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ โดยต้องดำเนินการให้เหมาะสมกับภารกิจของหน่วยงานของรัฐแต่ละหน่วยงานที่แตกต่างกัน
·     ปรับปรุงและพัฒนาการบริหารงานบุคคลภาครัฐเพื่อจูงใจให้ผู้มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงเข้ามาทำงานในหน่วยงานของรัฐ และสามารถเจริญก้าวหน้าได้ตามความสามารถและผลสัมฤทธิ์ของงานของแต่ละบุคคล มีความซื่อสัตย์สุจริต กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว มีความคิดสร้างสรรค์และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้การปฏิบัติราชการและการบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรการคุ้มครองป้องกันบุคลากรภาครัฐจากการใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรมของผู้บังคับบัญชา
·      ปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความคล่องตัว เปิดเผย ตรวจสอบได้ และมีกลไกในการป้องกันการทุจริตทุกขั้นตอน

                   ผู้เขียนขอยกสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนเป็นตัวอย่างในการพัฒนาแบบคู่ขนานนี้นะครับ จะได้เห็นภาพว่ามังกรหลับกลับมาผงาดอย่างยิ่งใหญ่แบบนี้ได้อย่างไร

                   เมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 สภาแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนจีนเขาประชุมกันเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ เขามองเห็นว่าในยุค Disruptive Technology นั้น “ปัญญาประดิษฐ์” (Artificial Intelligence หรือ AI) จะมีบทบาทมากและจะสร้างรายได้มากในราว 147 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะสร้างรายได้ให้แก่ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องทั้งรายเล็กรายใหญ่ได้อีกในราว 1.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐด้วย เขาจึงให้ความสำคัญแก่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับ AI และตั้งเป้าหมายว่าในปี 2030 เขาจะเป็นศูนย์กลางการพัฒนานวัตกรรมด้าน AI ของโลกให้ได้

                   เขาไม่ได้ตั้งเป้าเฉย ๆ ครับ แต่กำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายที่ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนจะร่วมกันเดินไปข้างหน้าไว้อย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ด้าน AI ทั้งความรู้พื้นฐาน เช่น big data intelligence, multimedia aware computing, human-machine hybrid intelligence, swarm intelligence และความรู้ชั้นสูงที่จะนำมาพัฒนาต่อยอด เช่น brain-like computing, quantum intelligent computing การพัฒนาระบบการศึกษาเพื่อบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์ด้าน AI การพัฒนา Open-source computing ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรองการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ผ่าน Hardware, Software และ Clouds ที่มีความแตกต่างหลากหลายภายใต้มาตรฐานทางเทคโนโลยีที่ชัดเจน

                   ในแง่กฎบัตรกฎหมาย เขากำหนดให้มีพัฒนากฎหมายเพื่อให้สะดวกแก่ผู้ประกอบการทุกขนาด ทั้งเล็กทั้งใหญ่ และไม่ต้องเป็นนิติบุคคลก็ได้เพราะการพัฒนา AI ต้องใช้สมองคิดซึ่งไม่จำกัดเฉพาะนิติบุคคลเท่านั้นที่จะทำได้ นั่งถอดเสื้อเกาพุงกินโอเลี้ยงไปคิดไปก็ทำได้ นี่รวมถึงการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา รวมทั้งข้อกำหนดทางจริยธรรมในการพัฒนา AI ด้วยครับ เขาไปไกลแล้ว เพราะ AI นี่ถ้าใช้ผิดทางมันเกลือกไปในทางผิดศีลธรรมได้เหมือนกันต้องดูแลกันดี ๆ

                   สำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน AI ดังกล่าวข้างต้นนั้น รัฐจะเป็นผู้ลงทุนเองเป็นหลัก แต่เปิดให้เอกชนร่วมลงทุนได้ด้วยแบบเดินไปด้วยกัน และจะมีการตั้งกองทุน AI Fund ขึ้นเพื่อระดมทุนมาใช้จ่ายในการพัฒนาและส่งเสริม AI เป็นการเฉพาะด้วย เพราะลำพังงบประมาณอย่างเดียวคงไม่พอ  

                   นี่เขาเริ่มดำเนินการไปครึ่งปีแล้วครับ. 

เกร็ดการร่างกฎหมาย 14: ข้าราชการการเมือง กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์

                   การเมือง” เป็นเรื่องที่ผู้คนบ้านเราให้ความสนใจมาก มากกว่าเรื่องปากเรื่องท้องของพี่น้องประชาชนอีก และมีจำนวนไม่น้อยที่หายใจเข้าหายใจออกเป็นการเมืองไปหมด เป็นอย่างนี้มาหลายสิบปีแล้ว เพราะอะไรผู้เขียนก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่จากความชอบอันลึกซึ้งนี้ น่าจะสันนิษฐานได้ว่าบรรดาเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่คนไทยน่าจะเข้าอกเข้าใจกันดีที่สุด

              แต่มีเรื่องหนึ่งครับที่มีการถามวนไปวนมา จนปัจจุบันนี้ก็ยังถามกันอยู่อีก นั่นคือคำว่า ข้าราชการการเมือง กับ ผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง หรือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นั้นต่างกันอย่างไรเพราะกฎหมายบางฉบับใช้ ข้าราชการการเมือง บางฉบับใช้ ผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง หรือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลายฉบับใช้มันทุกคำเลยก็มี

                   จริง ๆ แล้ว คำว่า “ข้าราชการการเมือง นั้นหมายถึง ผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นข้าราชการฝ่ายการเมือง ซึ่งอาจจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองในฝ่ายบริหาร เช่น นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ หรืออาจจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองในฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น ที่ปรึกษาประจำรัฐสภา หรือเลขานุการประธานรัฐสภาตามมาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๑๘ หรืออาจเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในราชการส่วนท้องถิ่น เช่น เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือเลขานุการประธานสภากรุงเทพมหานครตามมาตรา ๕๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘

                   ส่วน ผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง หรือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือ รวมทั้งถ้อยคำอื่นในลักษณะเดียวกันนั้น หมายถึงผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารประเทศ หรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นถ้อยคำที่มีความหมายกว้างกว่าคำว่า ข้าราชการการเมือง โดยรวมถึงบรรดาผู้ที่รับผิดชอบงานด้านการเมืองทั้งหมด โดยงานการเมืองนั้นจะเป็นงานที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย (policy) เพื่อให้ฝ่ายปกครองที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานประจำรับไปบริหาร (administration) ให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงหมายถึงคณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน

                   เรื่องนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่) ตีความไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ แล้วครับ

                   คงไม่งงแล้วนะครับ

                ลืมบอกไปนิดนึงครับ คำว่า ผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง นั้นปัจจุบันนักร่างกฎหมายเขาไม่ใช้กันแล้วนะครับ เขาใช้คำว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แทน ไม่ใช่แบบต่างกัน หรือมีนัยแตกต่างกันอะไรหรอก จริง ๆ เขาตั้งใจใช้คำว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาแต่แรกนั่นแหละ แต่ตอนพิมพ์ดันตกคำว่า “ทาง” ไปคำนึง!

                   เบื้องหลังมีเท่านี้เอง


ที่มา: เรื่องเสร็จที่ ๔๘๑/๒๕๓๕

วันพฤหัสบดีที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2561

ทางของฝุ่น โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

สองสามวันก่อนอากาศในกรุงเทพฯ ดูขะมุกขะมัวมาก ลมที่เคยพัดโชยเอื่อย ยามเช้าหายไปอย่างไร้ร่องรอย ทิ้งให้ใบไม้หยุดนิ่งไม่ไหวติงเหมือนเคย ผมรู้สึกหายใจไม่ค่อยคล่อง และเมื่อประกอบกับอาการหวัดที่เป็นอยู่ก็ยิ่งทำให้รู้สึกแย่ลงไปอีก 

ระหว่างข้ามสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้ามาทำงาน ผมสังเกตว่ากรุงเทพฯ มีหมอกสีน้ำตาลปกคลุมอยู่จนมองไม่เห็นตึกสูง ที่ชินตา พระอาทิตย์ยามเช้าก็ดูเหมือนหลอดไฟสลัว ช่างอึมครึมยิ่งนัก

บรรยากาศแบบนี้สำหรับคนรุ่นผมจะชวนให้นึกถึงหนังซุปเปอร์ฮีโร่รุ่นเก่าของญี่ปุ่นขึ้นมาทันที ก่อนตัวร้ายจะมาปรากฏกาย บรรยากาศมาคุแบบนี้จะต้องนำมาก่อนเสมอ 

แล้วบรรยากาศมาคุแบบนี้เกิดขึ้นที่บ้านเราได้ยังไงกัน?

สมองผมจึงแว่บคิดงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เคยมีโอกาสร่วมทำเมื่อหลายปีก่อนเรื่องการพัฒนาเมืองโจทย์ของงานวิจัยชิ้นนั้นเพื่อตอบคำถามว่าเราจะพัฒนาเมืองให้บรรลุเป้าหมาย sustainability ได้อย่างไร ตอนนั้นคำว่ายั่งยืนยังไม่แพร่หลาย แต่เราตระหนักถึงสัญญาณที่ส่งออกมาจากการพัฒนาเมืองที่เน้นการพัฒนาวัตถุเป็นหลักมาแล้วว่ามันส่งผลกระทบต่อเมืองและผู้คนในเมืองอย่างไร 

เมืองร้อนขึ้นเพราะเต็มไปด้วยตึกที่บดบังทางลมไม่ให้ไหลพัดผ่านเข้ามาในเมือง อากาศจึงสกปรกเต็มไปด้วยฝุ่นละออง ตอนนั้นเราเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ventilation ของเมืองที่หายไป เมืองกลายเป็นเรือนกระจกที่ขังชีวิตนับล้านไว้ภายใน น้ำท่วมน้ำขังแทบจะทุกรอบที่ฝนตก คูคลองที่บรรพบุรุษขุดสร้างไว้กลายเป็นสิ่งไร้ค่าและสกปรก พื้นที่สีเขียวที่เคยเป็นแหล่งฟอกอากาศบริสุทธิ์ให้ชุมชนเมืองได้ลดน้อยลงอย่างน่าใจหายกลายสภาพเป็นตึกรามและเส้นทางคมนาคม 

ความสมดุลของธรรมชาติในเมืองถูกสังเวยให้แก่ความเจริญที่มาพร้อมกับราคาที่ดินที่แพงลิบลิ่วตามสไตล์วัตถุนิยมเต็มรูปแบบเพื่อสร้างตึกรามสูงใหญ่ เป็นที่พักแนวตั้ง ออฟฟิศ และคอมเพล็กซ์ที่ทันสมัย การใช้ชีวิตแบบปลายนิ้วสัมผัสเพื่อตอบสนองความเร่งรีบยิ่งเร่งเร้าให้เมืองที่น่าอยู่และมีชีวิตชีวาหายไป มีแต่ความเร่งร้อน เน้นความสุขสบายส่วนตัว ไม่สนใจส่วนรวม วิถีชีวิตดั้งเดิมสูญหายไปอย่าไร้ร่องรอยจนต้องมาฟื้นฟูกันขนานใหญ่ กลายเป็นเรื่องโบราณที่หาชมได้ยากในยุคปัจจุบันจนต้องตีตั๋วเข้าชมไปรื้อฟื้นอดีตกัน

นี่คือผลพวงของการพัฒนาที่ “ขาดความสมดุลย์” ระหว่างการพัฒนาทางวัตถุ กับการพัฒนาด้านจิตใจและความอยู่เย็นเป็นสุขของพี่น้องประชาชน

หมอกสลัวในวันนี้จึงเป็นผลมาจากการพัฒนาที่ขาดการคิดวิเคราะห์และวางแผนอย่างรอบคอบและเป็นระบบในอดีต ไม่ใช่เพิ่งเกิดในวันนี้

ว่าแล้วก็ไอต่อไป แค๊ก ๆ ๆ






Attachment.png