วันพุธที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560

การพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลย (Trial in absentia) โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์

                   การพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลยเป็นประเด็นทางกฎหมายที่มีการถกเถียงกันอยู่มากในช่วงนี้ว่าทำได้หรือไม่ได้ บ้างก็ว่าขัดหลักสากล ทำไม่ได้ บ้างก็ว่าทำได้ จนชาวบ้านร้านช่องเกิดความพิศวงงวยงงสงสัยไปตาม ๆ กันเพราะกลุ่มคนที่แสดงความคิดเห็นนั้นล้วนแล้วแต่เป็นนักกฎหมายและนักสิทธิมนุษยชนทั้งสิ้น ร่ำเรียนมาคนละตำราหรืออย่างไร แล้วตกลงหลักกฎหมายในเรื่องนี้เป็นอย่างไรกันแน่

                   ผู้เขียนเองก็สงสัยไม่น้อยจึงแอบลองไปสืบค้นดู พบว่าเหตุแห่งปัญหาน่าจะอยู่ที่ความของข้อ 14 (3) (ดี) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Right (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีครับ ข้อ 14 (3) (ดี)[1] เขาเขียนว่า ในคดีอาญานั้น บุคคลย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาต่อหน้าตน (To be tried in his presence, …)  แน่นอนครับ ถ้าอ่านเพียงเท่านี้ก็อาจเข้าใจไปว่าการพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลยนั้นทำไม่ได้

                   แต่เมื่อผู้เขียนไปสืบเสาะลึก ๆ ลงไป พบว่ามันมีข้อยกเว้นอยู่ครับว่าการพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลย (trial in absentia) นั้น “ทำได้”

                   ข้อยกเว้นที่ว่านี้เกิดขึ้นจากข้อเท็จจริงครับ บางกรณีจำเลยไม่ยอมมาศาลเพราะเห็นว่าตัวเองไม่ผิด จะต้องมาศาลทำไม เอากะพ่อซี แต่คนแบบนี้มีน้อยมากครับ ส่วนใหญ่แล้วจำเลยจะหลบหนีครับ ถามว่าหนีไปไหน ก็หนีไปไหนก็ได้ที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลนะซีครับ เขากลัวว่าศาลจะพิพากษาลงโทษ หนีไปก่อนเลยโดยเฉพาะพวกมีสตางค์ หมดอายุความแล้วค่อยกลับมา คราวนี้ตำรวจก็จับตัวมาเอาผิดไม่ได้ เพราะคดีขาดอายุความไปแล้ว เรียกว่าใช้เทคนิคทางกฎหมายเอาตัวรอดว่างั้นเถอะ เรื่องคนมีเงินหนีคดีนี่เองที่ทำให้เกิดวลีอมตะในทุกประเทศว่า "คุกมีไว้ขังคนจน" เพราะคนจนไม่มีตังค์จะหนีไปไหนไกล ๆ ตำรวจจึงตามจับได้ทุกที ครั้นจะกำหนดให้คดีไม่มีอายุความก็ไม่ได้อีก เพราะถ้าไม่กำหนดอายุความ นาน ๆ ไปพยานบุคคลก็จะทยอยล้มหายตายจากบ้าง ลืมบ้าง พยานเอกสารชำรุดหรือสูญหายบ้าง การหาความจริงจึงเป็นไปไม่ได้อีก ประเดี๋ยวลงโทษผิดคนก็จะยุ่งกันใหญ่ บาปด้วย

                   ดังนั้น กฎหมายของหลายประเทศจึงมีข้อยกเว้นให้พิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลยได้ครับ แม้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสากล (Human Rights Committee) เองเขาก็ยอมรับข้อยกเว้นนี้ครับ

                   ในคดี Mbenge v Zaire (1977)[2] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสากลวางหลักว่า ตามข้อ 14 (3) ของ ICCPR นั้นบุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิได้รับการพิจารณาคดี (อาญา) ต่อหน้าตน และมีสิทธิที่จะต่อสู้คดีด้วยตนเองหรือผู้ช่วยเหลือทางกฎหมายที่ตนเป็นผู้เลือก ถ้ากฎหมายให้หลักประกันสิทธิเช่นว่านี้แก่จำเลยแล้ว แต่จำเลยปฏิเสธที่จะใช้สิทธิดังกล่าวเอง เช่น ไม่ยอมมาศาล หรือหลบหนีคดีไปเอง เป็นต้น การพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลยก็สามารถทำได้ถ้าได้มีการแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับสภาพแห่งความผิดที่ถูกกล่าวหา กับวันที่และสถานที่ที่จะดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาให้จำเลยทราบอย่างชัดเจนแล้ว เปิดโอกาสให้จำเลยมีเวลาเตรียมตัวต่อสู้คดีพอสมควร และเปิดโอกาสให้จำเลยได้มาศาลเพื่อต่อสู้คดี และต่อมาในคดี Maleki v Italy (1996)[3] คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสากลก็ยืนยันหลักดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง

                   นอกจากนี้ ในปี 2007 (2553) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสากลได้ออก General Comment ฉบับที่ 32 ยืนยันหลักการดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน และเพิ่มเติมด้วยว่าในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้บุคคลใดต้องรับโทษอาญา หากมีข้อเท็จจริงใหม่อันแสดงให้เห็นชัดเจน (conclusively) ว่าการดำเนินกระบวนยุติธรรมนั้นดำเนินไปโดยไม่ชอบ (miscarriage of justice) บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิขอให้มีการพิจารณาคดีนั้นใหม่ (ex novo) ได้ตามข้อ 14 (6) ของ ICCPR  ดังนั้น หากมีการพิจารณาและพิพากษาคดีอาญาลับหลังจำเลย ถ้าผู้ต้องคำพิพากษามีข้อเท็จจริงใหม่อันแสดงให้เห็นชัดเจนว่าการดำเนินกระบวนยุติธรรมนั้นดำเนินไปโดยไม่ชอบ เขาย่อมมีสิทธิขอให้มีการพิจารณาคดีนั้นใหม่ได้

                   กล่าวโดยสรุป การพิจารณาคดีอาญาลับหลังจำเลย (trial in absentia) นั้น “ทำได้” และเป็น "หลักสากล" ... แต่จะทำหรือเปล่านั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ... ถ้าจะทำ ไม่ใช่ว่าจะทำอย่างไรก็ได้ มันมีหลักมีเกณฑ์ของมันอยู่ดังกล่าวแล้วในคดี Mbenge v Zaire และคดี Maleki v Italy รวมทั้ง General Comment ฉบับที่ 32 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนสากลดังกล่าวข้างต้น

                   เป็นอันว่าเราเข้าใจตรงกันแล้วนะครับ





[1]3. In the determination of any criminal charge against him, everyone shall be entitled to the following minimum guarantees, in full equality:
            (a) To be informed promptly and in detail in a language which he understands of the nature and cause of the charge against him;
            (b) To have adequate time and facilities for the preparation of his defence and to communicate with counsel of his own choosing;
            (c) To be tried without undue delay;
            (d) To be tried in his presence, and to defend himself in person or through legal assistance of his own choosing; to be informed, if he does not have legal assistance, of this right; and to have legal assistance assigned to him, in any case where the interests of justice so require, and without payment by him in any such case if he does not have sufficient means to pay for it;
            (e) To examine, or have examined, the witnesses against him and to obtain the attendance and examination of witnesses on his behalf under the same conditions as witnesses against him;
            (f) To have the free assistance of an interpreter if he cannot understand or speak the language used in court;
            (g) Not to be compelled to testify against himself or to confess guilt.
            (Emphasis added)
[2]Communication No. 16/1977, Mbenge v Zaire, para. 14.1
[3]Communication No. 699/1996, Maleki v Italy, para. 9.3

วันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2560

การพัฒนาองค์กร โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

การพัฒนาองค์กรเป็นเรื่องปกติ เหตุผลไม่มีอะไรมาก ก็เพราะบริบทหรือสถานการณ์มันเปลี่ยนแปลงไป ถ้าไม่มีการพัฒนา ติดเสียแต่ว่ามันดีอยู่แล้วร่ำไป องค์กรก็หยุดอยู่กับที่ คิดแบบเดิม ทำแบบเดิม ในขณะที่สภาพแวดล้อมต่าง ๆ มันเปลี่ยนไปหมดแล้ว การทื่อมะลื่อขององค์กรนั้นอาจทำให้องค์กรและคนในองค์กรอยู่ต่อไปได้สบาย ๆ แต่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลจะน้อยลงไปเรื่อย ๆ

ถ้าเป็นองค์กรของภาคเอกชน การไม่ปรับตัวอาจทำให้เจ๊งได้ แต่ถ้าเป็นองค์กรภาครัฐ องค์กรไม่เจ๊ง เพราะดำรงอยู่ได้จากงบประมาณที่ประชาชนผู้เสียภาษีชำระภาษีไปให้ ไม่ต้องหารายได้เองอย่างเอกชนเขา แต่ประเทศอาจเสียหายเพราะองค์กรมีประสิทธิภาพเท่าเดิมในขณะที่บริบทมันเปลี่ยนไปแล้ว

ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาองค์กรในภาคเอกชนจึงปุ๊บปับฉับไวและเกิดขึ้นบ่อย ๆ ทั้งโครงสร้างองค์กร วิธีทำงาน แม้กระทั่งประเภทของธุรกิจ ในทางตรงข้าม การพัฒนาองค์กรในภาครัฐเป็นไปอย่างยากเย็นแสนเข็ญ เพราะไม่มีใครอยากลด comfort zone ของตัวเอง เคยสบายอย่างไร ก็อยากสบายอย่างนั้นต่อไป ไม่ได้คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมว่าถ้าเราพัฒนาขึ้น บ้านเมืองก็จะพัฒนาตามไปด้วย เพราะภาครัฐเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change agent) ของประเทศ

ในภาคเอกชน ถ้ามีการปรับโครงสร้าง ก็มักจะมีการปรับลดจำนวนผู้บริหารหรือพนักงานที่ไม่จำเป็นหรือที่ไร้ประสิทธิภาพลง ถ้ามีกรณีเช่นนี้ เขาก็จ่ายค่าชดเชยให้ตามที่กฎหมายกำหนด ก็จบกันไป ไม่เห็นมีใครมาโยเยว่าการปรับโครงสร้างองค์กรขัดหลักนิติธรรมหรือหลักธรรมาภิบาล พนักงานอย่างฉันจะต้องอยู่ต่อไป ไม่มีใครยกว่าการปรับโครงสร้างองค์กรเป็นการลงโทษพนักงานที่เข้ามาโดยชอบ เป็นการรังแกกัน ไม่มี 

แต่ในภาครัฐนั้น เมื่อใดก็ตามที่จะต้องมีการพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กร จะมีผู้คัดค้านเสมอ ยกหลักนู่นหลักนี่ขึ้นอ้างเพียงเพราะผู้ได้รับผลกระทบกลัวจะเสียสถานะและ comfort zone ของตัวเองไป โดยเฉพาะข้ออ้างที่ว่าฉันไม่ได้ทำผิด จะมาปลดมาย้ายฉันไม่ได้ ไม่เป็นธรรม ฉันเข้ามาถูกต้อง จะมาปลดมาย้ายฉันได้อย่างไร จะมาอ้างว่าเพื่อพัฒนาองค์กรกับฉันไม่ได้หรอกนะ มันไม่มีเหตุผล นี่รังแกกันหรืออย่างไร ฯลฯ เป็นยังงั้นไปอีก 

จริงครับที่ว่าท่านไม่ได้ทำอะไรผิด การปลดการย้ายท่านก็ไม่ใช่เพราะท่านทำผิด มันไม่ใช่การลงโทษ แต่มันเป็นส่วนหนึ่งของ "กระบวนการพัฒนาองค์กร" ซึ่งทำไป "เพื่อประโยชน์สาธารณะ" คือทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งถ้าทำไม่ได้ ก็แสดงว่าประโยชน์สาธารณะไม่มีความหมาย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า comfort zone ของท่านสำคัญกว่าประโยชน์สาธารณะ ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง และที่สำคัญการกล่าวอ้างเช่นนั้นทำให้สังคมเข้าใจผิดและอาจสร้างปัญหาขึ้นในสังคมได้

ในทัศนะของผู้เขียน การพัฒนาองค์กรของภาครัฐเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ และต้องทำในอัตราเร่งที่ไม่ต่ำกว่าภาคเอกชนด้วย มิฉะนั้นองค์กรภาครัฐจะนำการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ กฎระเบียบและวิธีการพัฒนาองค์กรภาครัฐให้มีประสิทธิภาพต้องไม่เป็นเครื่องฉุดรั้งการพัฒนาองค์กรเสียเอง และต้องมีความโปร่งใส เป็นธรรม 

ที่สำคัญคือทุกองค์กรมีภารกิจที่แตกต่าง มีปัญหาที่แตกต่าง การพัฒนาองค์กรแต่ละองค์กรจึงมีแนวทางที่แตกต่างกันไปตามสภาพของแต่ละองค์กร  ดังนั้น จะใช้วิธีเดียวกันในการพัฒนาองค์กรที่แตกต่างกันมันไม่ได้หรอกครับ ปัญหามันคนละอย่างกัน ไม่ใช่แบบมาตรฐาน ระบบ one size fits all นั้นใช้ไม่ได้หรอกครับ 

ภาษากฎหมายเขาบอกว่า similar similibus curantor คือให้เปรียบเทียบในสิ่งที่สามารถเปรียบเทียบกันได้เท่านั้น ถ้าลายละเอียดมันไม่เหมือนกัน เขาว่าเอาไปเปรียบเทียบหรือลอกกันเลยครับ มันคนละเรื่องกัน.


วันพุธที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2560

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในบริบท "ประเทศไทย 4.0" - ส่วนหนึ่งของผลงานทางวิชาการของ นักศึกษา นบส.2 รุ่นที่ 9 สำนักงาน กพ

               “ประเทศไทย 4.0” เป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม หรือ “Value–Based Economy” โดยมีดิจิทัลเป็นโครงสร้างพื้นฐาน เป็นระบบเศรษฐกิจที่มีพลวัตสูงมากหรือเปลี่ยนแปลงเร็วมาก คุณลักษณะของทรัพยากรมนุษย์ในระบบเศรษฐกิจ “ประเทศไทย 4.0” จึงมิได้ขึ้นอยู่กับปริมาณ หากแต่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการสื่อสาร (communication) ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) และความสามารถในการปรับตัว (collaboration) อันเป็น “Soft Skill” พื้นฐานของยุคดิจิทัลอันเป็นโลกที่ไร้พรมแดน[1] หาใช่ความฉลาด (talent) หรือความสามารถในการทำงานตามคำสั่งแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนในอดีตไม่[2] โดยความคิดสร้างสรรค์จะนำมาซึ่งการพัฒนานวัตกรรม (Innovation) ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงมากกว่าการผลิตพื้นฐาน หรือการเป็นโรงงานรับจ้างประกอบ ที่เห็นได้ชัดเจนคืออุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และ Digital Contents ทั้งหลาย ส่วนความสามารถในการสื่อสารและการปรับตัวจะทำให้ “ทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่” ของประเทศสามารถอยู่และทำงานร่วมกับผู้อื่นซึ่งมีความแตกต่างหลากหลายได้ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ ฯลฯ อันจะทำให้การทำงาน การค้า และการบริการเป็นไปอย่างลื่นไหล  ทรัพยากรมนุษย์ในยุค “ประเทศไทย 4.0” นั้นนอกจากต้องมีความรู้พื้นฐานแล้ว ยังต้องมีความรับผิดชอบ มีความฉลาดทางอารมณ์สูง เข้ากับผู้อื่นได้ดี มีอัตตาต่ำ ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่าง มีความคิดสร้างสรรค์ และใฝ่ที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต

               ดังนั้น การปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจเป็น “ประเทศไทย 4.0” หรือประเทศไทยในยุคดิจิทัลจึงต้องดำเนินการไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกันด้วย แต่เนื่องจากการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต้องใช้เวลา ไม่มีทางลัด การวางแผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างเป็นระบบและการดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมจึงเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุดต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของทุกประเทศ[3]

               นอกจากนี้ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์รองรับยุคดิจิทัลนั้น ต้องไม่คำนึงถึงเฉพาะเด็กหรือประชากรในวัยทำงานเท่านั้น หากต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพของคน "ทุกช่วงวัย" โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ผู้สูงอายุ” ซึ่ง Nobuaki Koga ประธานสภาหอการค้าญี่ปุ่น (RENGO) ชี้ให้เห็นว่ายุคดิจิทัลกับยุคสังคมผู้สูงอายุนั้นเกือบจะทับซ้อนกันพอดี[4] เนื่องจากทุกประเทศมีอัตราการเกิดของประชากรอยู่ในระดับต่ำมาก Koga จึงเสนอว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในยุคดิจิทัลต้องพัฒนาการศึกษา ครอบครัวที่อบอุ่น การสร้างความสามารถหรือทักษะในการทำงาน และความสามารถในการทำงานภายหลังการเกษียณอายุจากงานประจำไปพร้อม ๆ กัน[5]

  
              สำหรับการศึกษานั้น ระบบการศึกษาต้องคำนึงบุคลิกลักษณะและความสามารถ (personality) อันแตกต่างของผู้เรียนเป็นสำคัญ เพราะแต่ละคนมีความถนัดแตกต่างกัน แต่ละคนจึงควรได้รับการพัฒนาตามศักยภาพของตน ซึ่งหลักการดังกล่าวสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม[6] และจากผลการศึกษาวิจัยของมูลนิธิ LEGO ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก LEGO บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตสินค้าเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กที่ศึกษาต่อเนื่องเป็นเวลา 20 ปีติดต่อกัน พบว่ามนุษย์แห่งอนาคตต้องได้รับการพัฒนา “Soft Skill[7] ตั้งแต่ในช่วงเด็กเล็ก (0-2 ขวบ) เพราะเป็นช่วงเวลาสำคัญในการปลูกฝังให้เด็กมีความสนใจหรือกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต[8] ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาการสื่อสาร การอยู่ร่วมกับผู้อื่น และความคิดสร้างสรรค์ต่อไป เพราะหากปลูกฝังให้เด็กสนใจหรือกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ในสิ่งใหม่ ๆ ลักษณะที่พึงประสงค์นี้จะติดตัวเขาไปจนตลอดชีวิต และจะกลายเป็นคนที่ขวนขวายพัฒนาทักษะต่าง ๆ เพิ่มอยู่ตลอดเวลา การเรียนรู้ตลอดชีวิตจึงเป็นการปลูกฝังความฝักใฝ่ที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มิได้จำกัดเฉพาะการจัดหลักสูตรให้เรียนหรือศึกษาอบรมในทุกช่วงวัยเท่านั้น มูลนิธิ LEGO จึงเสนอว่าในช่วงเด็กเล็ก (0-2 ขวบ) ต้องไม่เน้นการเรียนด้านวิชาการ แต่ต้องเน้นการสร้างความมั่นใจ การอยู่ร่วมกับผู้อื่น (ซึ่งรวมถึงการปลูกฝังความรับผิดชอบในทุกมิติ) และความคิดสร้างสรรค์

               สิงคโปร์ ประเทศที่ได้รับการยอมรับว่าให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์มากในลำดับต้น ๆ ของโลกได้กำหนดให้มีการพัฒนา Core Values ของ “เด็กเล็ก” เป็นลำดับแรก โดย Core Values นี้เน้นการปลูกฝังให้เด็กรู้จักตนเอง (Self-awareness) รู้จักจัดการกิจวัตรของตน (Self-Management) รู้จักว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (Social Awareness) รู้จักตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคม (Responsible Decision Making) และรู้จักการอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่แตกต่าง (Relationship Management) หลังจากนั้นจะเริ่มพัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์เพื่อให้เด็กตระหนักและรู้จักการบริหารจัดการอารมณ์ รู้จักการเอาใจเขามาใส่ใจเรา และรู้จักการบริหารการเปลี่ยนแปลง โดยเป้าหมายคือเด็กในศตวรรษที่ 21 ต้องเป็นคนที่มีความมั่นใจ เรียนรู้ตลอดเวลา ตอบแทนกับสังคม และมีความรับผิดชอบต่อสังคม มีคุณลักษณะดังนี้
·       Civic Literacy, Global Awareness and Cross-Cultural Skills
·       Critical and Inventive Thinking
·       Communication, Collaboration and Information Skills[9]

               สำหรับประเทศไทย นับแต่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่หนึ่งเป็นต้นมา ไม่มีการกำหนดทิศทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในระยะยาว แม้จะมีการจัดทำแผนการพัฒนาการศึกษาแห่งชาติขึ้นใช้บังคับ แต่แผนดังกล่าวถูกกำหนดขึ้นเพื่อผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งมีระยะเวลาเพียง 5 ปีให้ประสบความสำเร็จ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จึงเน้นหนักไปในทางจัดการศึกษาให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ และเน้นการสร้างกำลังแรงงานในสายอาชีพเพื่อรองรับการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปในทางอุตสาหกรรม ซึ่งแม้การจัดการศึกษาให้ทั่วถึงทุกพื้นที่นี้เป็นเรื่องจำเป็นตามหลักความเสมอภาค แต่ก็ทำให้โครงสร้างของหน่วยงานด้านการศึกษาของไทยใหญ่โต มีสายการบังคับบัญชาที่ซับซ้อน ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากไปกับงบรายจ่ายประจำมากกว่าบประมาณเพื่อการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของผู้เรียนอันเป็นแก่นของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  กรณีจึงกล่าวได้ว่าในช่วงเกือบหกทศวรรษที่ผ่านมานั้นระบบการศึกษาของไทยให้ความสำคัญกับปริมาณ (output) ของผู้ซึ่งผ่านเข้าไปในระบบการศึกษา มากกว่าคุณภาพ (outcome) ของผู้จบการศึกษา

              นอกจากนี้ จากการศึกษาแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ พบว่าได้มีการขยายเวลาการศึกษาภาคบังคับ (ซึ่งเริ่มตั้งแต่อายุ 7 ปี) จาก 4 ปี (ป. 4) เป็น 7 ปี (ป. 7) ในปี 2506 หลังจากนั้น มีการขยายเวลาการศึกษาภาคบังคับเป็น 9 ปี (ม. 3) และต่อมา รัฐบาลได้ขยายเวลาการจัดการศึกษาโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายเป็น 15 ปี (อนุบาล - ม. 6 หรือ ปวช.) แต่หลักสูตรและวิธีการจัดการเรียนการสอนมิได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก การปรับปรุงหลักสูตรและวิธีการจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนาบุคลิกลักษณะและความสามารถ (personality) ของผู้เรียนแต่ละคนที่แตกต่างกันไม่ปรากฏให้เป็นอย่างชัดแจ้งและเป็นรูปธรรม แต่เป็นการสร้างคนเพื่อรองรับการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปในทางอุตสาหกรรมเป็นหลัก

              การกำหนดให้หลักสูตรการศึกษาและวิธีการจัดการเรียนการสอนเป็นแบบเดียวกันทั้งประเทศเพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการและการประเมินผล ส่งผลให้ระบบการศึกษาไทยไม่ส่งเสริมให้มนุษย์ได้รับการพัฒนาตามบุคลิกลักษณะและความสามารถ (personality) อันแตกต่างของผู้เรียนเป็นสำคัญ ระบบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ดังกล่าวจึงทำให้ผลผลิตส่วนใหญ่ของระบบการศึกษาเป็น “พิมพ์นิยม” คือ มีความสามารถเพียงพอที่จะเป็นลูกจ้างทั่ว ๆ ไป (general employee) แต่ขาดทักษะที่จะผลักดันตนเองให้เป็นลูกจ้างซึ่งมีทักษะเฉพาะด้านสูง (smart employee) หรือออกไปเป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ (smart entrepreneur) อันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการสร้างสังคมผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง (Small and medium entrepreneurs) เพื่อทำให้โครงสร้างของระบบเศรษฐกิจมีความเข้มแข็งจากภายใน ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลักซึ่งอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจโลก แม้ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาจะมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้ประชาชนเปลี่ยนไปเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลาง แต่ก็ยากที่จะผลักดันให้เกิดความสำเร็จได้เพราะระบบการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาไม่รองรับกัน การกระตุ้นให้เกิดผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางโดยมุ่งให้ความสนับสนุนทางการเงินเป็นสำคัญจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและมีความเสี่ยงที่จะทำให้ได้ผลตอบแทนคืนกลับไม่คุ้มค่าเนื่องจากผู้ประกอบการซึ่งมีความรู้ มีศักยภาพ และมีความพร้อมนั้นมีจำนวนน้อย การให้ความช่วยเหลือทางการเงินจึงอาจทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กและขนาดกลางที่ไม่มีศักยภาพและความพร้อมซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากสร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-performing loans) เป็นจำนวนมากขึ้นในระบบการเงินของประเทศ อันเป็นผลที่ไม่พึงประสงค์  ดังนั้น แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์แบบดั้งเดิมนี้จึงไม่สอดคล้องกับเป้าหมายในการพัฒนาประเทศไทยไปสู่ยุค ประเทศไทย 4.0” ดังที่กล่าวข้างต้น 

              เรื่องสำคัญที่ถูกละเลยมานาน ได้แก่ การที่ระบบการศึกษาไทยไม่ให้ความสำคัญแก่ “การพัฒนาเด็กเล็ก” ในช่วง 0-2 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของชีวิตมนุษย์[10] สาเหตุแห่งการละเลยปัญหานี้อาจสืบเนื่องมาจากการไม่ตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงของ “สถาบันครอบครัว” อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจซึ่งเปลี่ยนรูปแบบครอบครัวขยายของสังคมเกษตรแบบดั้งเดิม เป็นครอบครัวเดี่ยวในเวลาอันรวดเร็ว

              ข้อดีของครอบครัวขยายคือการมีปู่ย่าตายายลุงป้าน้าอาเป็นผู้ดูแลและอบรมสั่งสอนหลานในระหว่างที่พ่อแม่ของเด็กออกไปทำงาน โครงสร้างดังกล่าวทำให้เด็กเล็กได้รับการดูแลอย่างอบอุ่นและใกล้ชิด มีการปลูกฝังความเป็นระเบียบวินัย ความสามารถในการดูแลตนเอง ความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และทักษะพื้นฐานในการดำรงชีวิตให้แก่เด็กเล็กอย่างใกล้ชิด เมื่อพ่อแม่กลับมาจากทำงานก็มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดกัน ครอบครัวมีความอบอุ่น แต่พัฒนาการทางเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้โครงสร้างครอบครัวเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากครอบครัวขยายเป็นครอบครัวเดี่ยว เมื่อเป็นครอบครัวเดี่ยว เด็กเล็กส่วนใหญ่จะถูกนำไปฝากเลี้ยงในสถานรับเลี้ยงเด็กที่เน้นการดูแลทางกายภาพและสุขภาพของเด็กเล็ก มากกว่าการปลูกฝังความเป็นระเบียบวินัย ความสามารถในการดูแลตนเอง ความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งทักษะพื้นฐานในการดำรงชีวิต  ดังนั้น เด็กในยุคครอบครัวเดี่ยวส่วนใหญ่จึงขาดระเบียบวินัย ขาดความสามารถในการดูแลตนเอง และขาดความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และก่อให้เกิดปัญหาสังคมอย่างอื่นตามมา โดยเฉพาะการกระทำความผิดที่มีโทษอาญา และการใช้ความรุนแรงในสังคม





[1]Sang Woo Kim, Samsung: Smarts skills, smart future - Business Brief, OECD Yearbook 2014 (electronic version http://www.oecd.org/forum/oecdyearbook/samsung-smart-skills-smart-future.htm)

[2]Randa Grob-Zakhary et al, Playing your way to work, OECD Yearbook 2014 (electronic version http://www.oecd.org/forum/oecdyearbook/playing-your-way-to-work.htm)
[3]Andreas Schleicher, A plan for education, OECD Yearbook 2014 (electronic version http://www.oecd.org/forum/oecdyearbook/a-plan-for-education.htm)
[4]หมายถึงนโยบายประเทศไทย 4.0 ด้วย
[5]Nobuaki Koga, Towards a “secured society based on work”, OECD Yearbook 2014 (electronic version http://www.oecd.org/forum/oecdyearbook/secure-society-based-on-work.htm)
[6]International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights
Article 13
1. The States Parties to the present Covenant recognize the right of everyone to education. They agree that education shall be directed to the full development of the human personality and the sense of its dignity, and shall strengthen the respect for human rights and fundamental freedoms. They further agree that education shall enable all persons to participate effectively in a free society, promote understanding, tolerance and friendship among all nations and all racial, ethnic or religious groups, and further the activities of the United Nations for the maintenance of peace. [Emphasis added]
2. The States Parties to the present Covenant recognize that, with a view to achieving the full realization of this right:
(a) Primary education shall be compulsory and available free to all;
(b) Secondary education in its different forms, including technical and vocational secondary education, shall be made generally available and accessible to all by every appropriate means, and in particular by the progressive introduction of free education;
(c) Higher education shall be made equally accessible to all, on the basis of capacity, by every appropriate means, and in particular by the progressive introduction of free education;
(d) Fundamental education shall be encouraged or intensified as far as possible for those persons who have not received or completed the whole period of their primary education;
(e) The development of a system of schools at all levels shall be actively pursued, an adequate fellowship system shall be established, and the material conditions of teaching staff shall be continuously improved.
3. The States Parties to the present Covenant undertake to have respect for the liberty of parents and, when applicable, legal guardians to choose for their children schools, other than those established by the public authorities, which conform to such minimum educational standards as may be laid down or approved by the State and to ensure the religious and moral education of their children in conformity with their own convictions.
4. No part of this article shall be construed so as to interfere with the liberty of individuals and bodies to establish and direct educational institutions, subject always to the observance of the principles set forth in paragraph I of this article and to the requirement that the education given in such institutions shall conform to such minimum standards as may be laid down by the State.
[7]ความสามารถในการสื่อสาร (communication) ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) และความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่น (collaboration)
[8]Randa Grob-Zakhary et al, ibid.
[9]https://www.moe.gov.sg/education/education-system/21st-century-competencies
[10]Randa Grob-Zakhary et al, ibid.