วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2565

Personalization ปกรณ์ นิลประพันธ์

Customization อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ก้าวกระโดดไปมาก จากการตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนขนาดใหญ่ เป็นการตอบสนองความต้องการเฉพาะกลุ่มที่มีความต้องการแตกต่างหลากหลาย เรื่อยมาจนถึงการตอบสนองความต้องการส่วนบุคคล ทั้งความต้องการในด้านดีและด้านมืด ทำให้สังคมมีลักษณะ Personalisation ประโยชน์ส่วนตัวมาก่อนประโยชน์ส่วนรวม และอาจถึงขนาดไม่เข้าใจว่าประโยชน์ส่วนรวมคืออะไร


ลักษณะเช่นนี้ ในทัศนะผม ทำให้การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ต้องทำเป็นพื้นฐานเพื่อส่วนรวมจะทำได้ยากมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปกครองโดยใช้ระบบการปกครองแบบใด เพราะการแก้ปัญหาส่วนรวมจะกระทบต่อประโยชน์ส่วนตัวของปัจเจกเสมอในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และจะมีการต่อต้านมากกว่าสนับสนุนเพราะ personalisation จะทำให้ ”รู้สึก” ว่าการกระทำต่าง ๆ กระทบต่อ comfort zone และ benefit ที่ตนมีอยู่ ลักษณะการแก้ปัญหาในช่วงที่เทคโนโลยีเริ่มก้าวหน้ามาก ๆ จึงเน้นที่ “การให้เพิ่ม” แทนที่จะเป็นการ “เผชิญหน้า”กับสาเหตุของปัญหา และจัดการกับต้นตอของปัญหา 


กรณีปัญหาปากท้อง “การให้เพิ่ม” เพื่อเติมสิ่งที่ผู้คนเรียกร้องจึงเป็น “ทางออกที่ง่ายที่สุด” ที่ทำกันในนานาประเทศ และเมื่อมีการเรียกร้องเพิ่ม ก็ให้เพิ่มเข้าไปอีก คนก็จะเสพติดการเรียกร้อง ขณะที่ละเลยการเพิ่มศักยภาพในการทำมาหาได้ของตนเองซึ่งตนต้องลงทุนลงแรงพัฒนา โปรแกรมการเพิ่มทักษะ/ความสามารถในการทำงานที่เรียกหรู ๆ ว่า up-skill หรือ re-skill จึงไม่ประสบความสำเร็จ อาจมองได้ง่าย ๆ ว่าต้นทุนในการพัฒนาตนเองสูงกว่าต้นทุนหรือแรงที่ต้องใช้ในการเรียกร้อง ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ไม่จำเป็นต้องออกไปตากแดดตากฝนให้เหนื่อยยาก เรียกร้องโวยวายให้เป็นประเด็นใน social network ก็พอแล้ว


กรณีสังคม เมื่อ personalisation ให้ความสำคัญกับตนเอง ความสนใจ “คนอื่น” จึงน้อยลง คนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับ “อารมณ์และความรู้สึกส่วนตัว” เป็นลำดับแรก เพราะ “ไม่เห็นต้องแคร์ใคร” อยากทำอะไรก็ทำตามใจ นับวันยิ่งตามใจตนเองมาก นั่นยิ่งทำให้เรื่อง “ส่วนรวม” กลายเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ แต่หากจะทำอะไรเพื่อตอบสนองความต้องการของตัวเอง จะมีการยกประโยชน์ส่วนรวมมาเป็น “ข้ออ้าง” เพื่อสนับสนุนข้ออ้างประกอบการเรียกร้องเพราะมัน “ดูดี ดูมีเหตุผล”


กรณีสิ่งแวดล้อม การพูดถึง climate change ดูเหมือนจะเป็น “คำนิยม” ที่พูดแล้วทำให้ตัวเองดูดี เป็นการตอบสนอง personalisation ของตนในทางหนึ่ง สร้างความนิยมให้แก่ตนในอีกทางหนึ่งด้วย แต่การ “ลงมือทำ” เป็น “อีกเรื่อง” เพราะไม่มีใครรู้หรอกว่าฉันทำอะไร การรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมจึงมักเป็นการสร้างภาพลักษณ์ 


ถ้าเอาจริง ๆ งานอีเว้นท์เพื่อรณรงค์ให้รักษาสิ่งแวดล้อม ควรต้องมีตัววัดว่าสอดคล้องกับหลัก zero waste ไหม มีการใช้วัสดุที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไหม งานนี้มี carbon emission เท่าไร แล้วมีคนทำตามกี่มากน้อย ไม่ใช่ออกข่าวแล้วจบ


เมื่อ personalisation เป็นกระแสหลัก การทำงานหรือการทำนโยบายที่เป็นโครงสร้างเพื่อวางรากฐานการพัฒนาอย่างยั่งยืนจึงเป็นงานที่ไม่มีใครอยากทำ เพราะเห็นผลช้า ไม่สามารถตอบสนองความต้องการระดับปัจเจกที่มากมายขึ้น แตกต่างหลากหลายมากขึ้นได้ เป็นการทำงานที่ “สวนกระแส” ไปเสียอย่างนั้น ชุดนโยบายเพื่อการสร้างความนิยมจึงเน้นการลด แลก แจกกระหน่ำ โดยไม่สนใจว่าทรัพยากรที่มีอยู่เพียงพอหรือไม่ มีเหตุผลรองรับพอเพียงหรือไม่ เอาเพียงสืบเสาะข้อมูลใน social media ว่าอะไรคือ common desire ของคนกลุ่มใหญ่ แล้วอะไรจะทำให้คนกลุ่มนั้น “ถูกใจ” ได้ ไม่ว่าจะ “ถูกต้อง” หรือไม่ “ยั่งยืน” หรือไม่ 


แต่ในความเห็นผม การอ้างถึงความต้องการของ “ชาวเน็ต” ที่มีการไลค์ การแชร์ คอมเม้น จำนวนมาก ว่าเป็นความต้องการของ “สังคม” นั้นเป็นการ “ชี้นำสังคม” ที่ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะไม่สามารถระบุตัว “ชาวเน็ต” เหล่านั้นได้ (เพราะจำนวนมากก็เป็น bot) และชาวเน็ตก็เน้นอารมณ์ส่วนบุคคลมากกว่าเหตุผลในการวิจารณ์ทำนองตาบอดคลำช้าง จึงเหมือนเป็นการนำ “อารมณ์” ของ “ใครก็ไม่รู้” มาชี้นำสังคม ขณะที่การให้แสดงความคิดเห็นโดยระบุตัวตน แทบไม่มีการแสดงความคิดเห็น ซึ่งโดยมากก็จะอ้างว่าเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย ก็ถ้าแสดงความเห็นอย่างมีเหตุผล ใครเขาจะไปทำอะไรได้ในยุคที่สังคมเปิดกว้างแบบนี้ 


เหล่านี้เป็นปรากฏการณ์สังคมที่ต่อไปคนมีสติคงจะมีการตั้งคำถามว่า “ความจริงคืออะไรแน่” และสำหรับการที่จะทำให้คนยุคนี้เข้าใจคำว่า “ประโยชน์ส่วนรวม” คงต้องหาเทคนิคใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบ personalisation กันต่อไปเพื่อให้ผู้คนตระหนักว่า “ถ้าสังคมไม่สงบสุข ปัจเจกบุคคลจะมีความสงบสุขได้อย่างไร” อาจนำความขัดแย้งในหลายประเทศที่นำมาซึ่งความไม่สงบเรียบร้อยจนถึงขั้นกลายเป็นสงคราม มาเป็นกรณีศึกษาอย่างมีสติ


ถึงเวลาตื่นแล้ว.

วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2565

เล่าให้ฟัง : หนังสือสำคัญ ปกรณ์ นิลประพันธ์

วันนี้มีประชุมประกาศเรื่องนึง เกี่ยวกับการออกหนังสือรับรองคุณลักษณะของสินค้าที่รัฐมนตรีเป็นผู้ออก

ประเด็นคือเขาใช้คำว่า “หนังสือสำคัญที่รัฐมนตรีออกให้ …” เลยถามคนร่างว่าใส่คำว่า “สำคัญ” ขยายมาทำไม เจ้าของร่างทำหน้าตาเลิ่กลั่ก ถามต่อไปอีกว่าคุณไม่รู้ได้ไงล่ะ เขียนมาเองกับมือ เขาเลยอ้อมแอ้มตอบมาว่าไม่รู้เหมือนกัน ตัดออกก็ได้ … เป็นงั้นไป

ถามฝ่ายเลขาฯ ก็ปรากฎว่าไม่มีใครรู้ บอกว่าเคยได้ยินว่าใช้กับเอกสารที่เรียกว่า “หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง” หรือ นสล. แต่ก็ไม่เคยสงสัยว่าทำไมมันถึงต้องมีคำว่าสำคัญใส่ไว้ด้วย นับเป็นการเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัย

จริง ๆ พอใช้คำว่าสำคัญ เราจะเข้าใจกันโดยทั่วไปว่าหมายถึงอะไรที่เป็นพิเศษกว่าธรรมดา ใช่ครับ สำคัญแบบนี้เป็นคำวิเศษณ์ (ว)  เช่น ของสำคัญ เรื่องสำคัญ เป็นอาทิ ถ้าภาษาฝรั่งคงจะเป็นคำประเภท superlative degree ประมาณนั้น ซึ่งเวลาพูดว่าอะไรสำคัญ มันก็จะมีการเปรียบเทียบเสมอว่าก็คงมีอะไรที่ไม่สำคัญอยู่ด้วยแหละ อันนี้สำคัญกว่า

อย่างหนังสือสำคัญที่ว่า ผมก็แกล้งถามเขาไปว่า มันมีหนังสือที่รัฐมนตรีออกแล้วไม่สำคัญด้วยหรือ จึงเงอะงะกันไปดังว่า

ถ้าละเอียดอ่อนในภาษาไทยอยู่บ้าง ก็จะทราบว่า สำคัญนั้นไม่ได้มีความหมายว่า “พิเศษกว่าธรรมดา” แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น จะหมายความว่า “เข้าใจ” ซึ่งเป็นคำกริยา (ก) ก็ได้ เป็นต้นว่า สำคัญว่ามีอำนาจ ก็หมายความว่าเข้าใจว่ามีอำนาจ

อีกนัยหนึ่ง สำคัญที่เป็นคำนาม (น) นั้นหมายถึง เครื่องหมาย เครื่องจดจำหรือหลักฐานที่ไว้แสดงกับใครต่อใคร เช่น ให้ไว้เป็นสำคัญ ก็หมายความว่าให้ไว้เป็นเครื่องหมายหรือหลักฐาน  ซึ่งคำว่าหนังสือสำคัญก็จะหมายถึง หนังสือที่เป็นเครื่องหมายหรือหลักฐาน เป็นคำที่ใช้มาแต่โบราณ อย่าง นสล. ก็คือหนังสือที่เป็นหลักฐานสำหรับที่หลวง เป็นต้น  

ดังนั้น หนังสือสำคัญตามประกาศที่พิจารณากันวันนี้จึงไม่ใช่ในความหมายว่าพิเศษกว่าธรรมดา แต่หมายถึงหนังสือที่เป็นเครื่องหมายหรือหลักฐาน

อันนี้ไม่ใช่กฎหมายเลยนะครับ ภาษาไทยล้วน ๆ คนร่างอาจเรียนเมืองนอกเมืองนามา จึงอาจอ่อนแอนิดหน่อย ไม่ว่ากัน

ก็เล่าสู่กันฟังครับ เผื่อเด็กถามจะได้ถ่ายทอดได้ คนรุ่นผมคงน้อยลงทุกทีแล้ว

ไม่ได้บ่นนะนี่.