วันพุธที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

กฎหมายการแข่งขันทางการค้า: หลักสากล ประเทศไทย และประเทศในภูมิภาคอาเซียน

นางณัฏฐณิชา เลอฟิลิแบร์ต[๑]

ความสำคัญของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า

กฎหมายการแข่งขันทางการค้าไม่ใช่กฎหมายใหม่สำหรับประเทศไทย แต่หลายคนอาจจะยังสงสัยว่ากฎหมายการแข่งขันทางการค้านั้นมีความสำคัญอย่างไร ผู้เขียนเขียนบทความชิ้นนี้ขึ้นเพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีกฎหมายการแข่งขันทางการค้าและการให้มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด วัตถุประสงค์หนึ่งของกฎหมายการแข่งขันทางการค้าคือ เพื่อให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรมในตลาด นอกจากนี้แล้วการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวจะต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ อย่างไรก็ตาม แต่ละประเทศอาจมีวัตถุประสงค์หลักของการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น วัตถุประสงค์หลักของกฎหมายการแข่งขันทางการค้าในประเทศสหรัฐอเมริกาคือ การแข่งขันที่เป็นธรรม ในขณะที่ฟากสหภาพยุโรปนั้นมองประเด็นเรื่องประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภคเป็นหลัก สำหรับประเทศไทยนั้น เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ คือ เพื่อป้องกันการกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบธุรกิจอย่างเป็นระบบ อันจะเป็นการส่งเสริมให้การประกอบธุรกิจเป็นไปอย่างเสรีและป้องกันมิให้เกิดการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ของประเทศไทยยังคงมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาจากรายได้ต่อปีของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมาจะเห็นว่าบริษัทขนาดใหญ่ มีรายได้เพิ่มขึ้น ในขณะที่บริษัทขนาดเล็กมีรายได้ลดถอยลง และจำนวนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ก็ลดจำนวนลง จากรายงานวิจัยของทีดีอาร์ไอพบว่า บริษัทที่มีรายได้สูงสุดจำนวนร้อยละ ๑๐ แรกของตลาดหลักทรัพย์มีรายได้จำนวนกว่าร้อยละ ๘๐ ของจำนวนรายได้ทั้งหมดของทุกบริษัทรวมกัน อาจจะสันนิษฐานได้ว่าบริษัทขนาดใหญ่ใช้อำนาจเหนือตลาดของตนอย่างไม่เป็นธรรมในการกำหนดราคาสินค้า ทำให้บริษัทขนาดย่อมไม่สามารถยืนอยู่ได้และต้องออกจากตลาดในที่สุด ในขณะที่บริษัทที่มีอำนาจเหนือตลาดสามารถกุมอำนาจในตลาดนั้น ๆ ต่อไป สถานการณ์ดังกล่าวเป็นสถานการณ์ในปัจจุบันที่ยังไม่มีการเปิดตลาดประชาคมอาเซียน AEC อย่างสมบูรณ์

ประเด็นที่ต้องคิดต่อไป คือ เมื่อมีการเปิดตลาดประชาคมอาเซียนในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ นี้ จะเกิดอะไรขึ้นหากประเทศไทยเรายังคงใช้พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ๒๕๔๒ และยังคงไม่บังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้อย่างจริงจัง

ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนจะขออธิบายถึงหลักสากลของกฎหมายแข่งขันทางการค้า กฎหมายแข่งขันทางการค้าของไทยและของประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน

หลักสากลของกฎหมายการแข่งขันทางการค้า

หลักสากลของกฎหมายการแข่งขันทางการค้ากำหนด (๑) ห้ามการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ (Abuses of a dominant power) (๒) ห้ามการตกลงร่วมกันที่ทำลาย ขัดขวางหรือจำกัดการแข่งขัน (Agreements that restrict competition (๓) การควบคุมพฤติกรรมเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ (Merger control) (๔) ห้ามการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair trade practice)

(๑) หลักการห้ามการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ (Abuses of a dominant power)
หากตลาดของประเทศไม่ใหญ่พอที่จะให้มีผู้ประกอบการจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องยอมรับการที่ตลาดสินค้าและบริการที่มีลักษณะผู้ค้าน้อยราย (oligopoly) เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดได้ (economy of scale) และเมื่อเป็นเช่นนั้น จะมีผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาด (dominant position) ซึ่งการที่ผู้ประกอบการมีอำนาจเหนือตลาดนี้จะสามารถใช้อำนาจดังกล่าวในการขึ้นราคาสินค้า บทบาทของบทบัญญัติเรื่องการห้ามการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ (Abuses of a dominant power) คือ การควบคุมการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ เช่น การขายพ่วง  (tying) หรือ การกำหนดราคาสินค้าให้ต่ำกว่าทุนเพื่อกำจัดคู่แข่งขัน (predatory pricing) เป็นต้น

(๒) หลักห้ามการตกลงร่วมกันที่ทำลาย ขัดขวางหรือจำกัดการแข่งขัน
หลักห้ามการตกลงร่วมกันที่ทำลาย ขัดขวางหรือจำกัดการแข่งขัน หมายถึงการทำความตกลงร่วมกันทั้งแบบเปิดเผยและไม่เปิดเผยเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างบริษัท การทำความตกลงที่จะจำกัดการแข่งขันโดยอาจเป็นเรื่องราคา การผลิต การตลาดและลูกค้า ซึ่งการทำความตกลงประเภทนี้มีผลเพิ่มราคาสินค้า จำกัดผลผลิตและผลที่เกิดขึ้นเป็นผลร้ายต่อเศรษฐกิจ โดยอาจจะกระทำเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ได้

(๓) การควบคุมพฤติกรรมเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ (Merger control)
หมายถึง การที่กิจการไม่น้อยกว่าสองแห่งมารวมกันหรือควบรวมเป็นกิจการเดียวกัน เพื่อใช้ทรัพยากรให้เกิดผลตอบแทนสูงสุด แม้การควบกิจการอาจก่อให้เกิดประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ สามารถลดต้นทุนการผลิต แต่อาจทำให้การแข่งขันในตลาดลงหรือหายไปได้ เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างของตลาด เกิดการกระจุกตัว เกิดการผูกขาดในตลาด หรืออาจเป็นการกีดกันขัดขวางการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ ดังนั้น จึงต้องมีการควบคุมจากหน่วยงานการแข่งขันทางการค้า

(๔) ห้ามการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair trade practice)
การปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมนั้นเป็นบทบัญญัติซึ่งมีขอบเขตที่กว้างมากและมีวัตถุประสงค์เพื่อจับการกระทำผิดทุกกรณี (catch-all provision) การกระทำที่อาจเป็นการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น การร่วมกันปฏิเสธที่จะทำธุรกรรมด้วย (Concerted refusal to deal) การตั้งราคาที่แตกต่างกัน (Discriminatory pricing) เป็นต้น

กฎหมายการแข่งขันทางการค้าของประเทศไทย

หากพิจารณาหลักสากลกับพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ๒๕๔๒ จะเห็นว่ากฎหมายของประเทศไทยได้นำมาจากหลักสากล

หลักการห้ามการใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ (Abuses of a dominant power) ปรากฏอยู่ในมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ ซึ่งกำหนดห้ามมิให้ผู้ประกอบการซึ่งมีอำนาจตลาดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น กำหนดหรือรักษาระดับราคาซื้อหรือขายสินค้าหรือค่าบริการอย่างไม่เป็นธรรม หรือ กำหนดเงื่อนไขในลักษณะที่เป็นการบังคับโดยทางตรงหรือทางอ้อมอย่างไม่เป็นธรรม หรือ ระงับ ลด หรือจำกัดการบริการ การผลิต การซื้อ การจำหน่าย การส่งมอบ การนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร เป็นต้น

หลักห้ามการตกลงร่วมกันที่ทำลาย ขัดขวางหรือจำกัดการแข่งขัน ปรากฏอยู่ในมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ ซึ่งกำหนด “หามมิใหผูประกอบธุรกิจใดรวมกับผูประกอบธุรกิจอื่น กระทําการใดๆ อันเปนการผูกขาด หรือลดการแขงขัน หรือจํากัดการแขงขันในตลาดสินคาใดสินคาหนึ่ง หรือบริการใดบริการหนึ่งในลักษณะอยางใดอยางหนึ่งดังตอไปนี้”

การควบคุมพฤติกรรมเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ (Merger control) ปรากฏอยู่ในมาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ ซึ่งกำหนดหามมิใหผูประกอบธุรกิจกระทําการรวมธุรกิจอันอาจกอใหเกิดการผูกขาดหรือความไมเปนธรรมในการแขงขัน ควบคุมนโยบายการบริหารธุรกิจการอํานวยการ หรือการจัดการการขออนุญาตตามวรรคหนึ่งใหผูประกอบธุรกิจยื่นคําขอตอคณะกรรมการตามมาตรา ๓๕

การห้ามการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม (Unfair trade practice) ปรากฏอยู่ในมาตรา ๒๙ แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ กำหนดหามมิใหผูประกอบธุรกิจกระทําการใด ๆ อันมิใชการแขงขันโดยเสรีอยางเปนธรรมและมีผลเปนการทําลาย ทําใหเสียหายขัดขวาง กีดขวางกีดกัน หรือจํากัดการประกอบธุรกิจของผูประกอบ ธุรกิจอื่นหรือเพื่อมิใหผูอื่นประกอบธุรกิจ หรือตองลมเลิกการประกอบธุรกิจ

อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้า (พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. ๒๕๔๒) แต่เป็นที่รู้กันว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวนั้น ไม่ได้รับการใส่ใจมากนัก และหากพิจารณากฎหมายของไทยกับหลักกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของสากลจะพบว่า กฎหมายการแข่งขันการค้ายังคงต้องปรับปรุง ผู้เขียนจะขอยกตัวอย่างมาตราที่สมควรที่จะได้รับการพิจารณาเพื่อการแก้ไขปรับปรุง

-       มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ กำหนดให้พระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ใช้บังคับกับการกระทำของ รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณกลุ่มเกษตรกร   สหกรณ์  หรือชุมนุมสหกรณ์   ซึ่งมีกฎหมายรองรับและมีวัตถุประสงค์ดำเนินการทางธุรกิจเพื่อประโยชน์ในการประกอบอาชีพของเกษตรกร หรือธุรกิจตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
การกำหนดตามมาตรา ๔ ดังกล่าวทำให้อุตสาหกรรมที่แต่เดิมเคยเป็นของรัฐ แต่ได้ทำการแปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจนั้น สามารถกระทำการใด ๆ ที่อาจเป็นพฤติกรรมที่ขัดต่อการแข่งขันทางการค้าได้ ส่งผลให้การแข่งขันระหว่างรัฐวิสาหกิจและผู้ประกอบเอกชนไม่เป็นธรรม

-          มาตรา ๒๕ (๒) แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ ซึ่งวางหลักห้ามมิให้ผู้ประกอบการธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาดนำเงื่อนไขการขายพ่วงที่มีลักษณะการบังคับไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมให้ผู้ประกอบธุรกิจในฐานะเป็นลูกค้าต้องจำกัดโอกาสในการเลือกซื้อหรือขายสินค้า แต่กลับไม่มีแนวปฏิบัติที่ชัดเจนถึงหลักเกณฑ์ของการห้ามการขายพ่วง และไม่มีความชัดเจนในปรัชญาของมาตรการดังกล่าวว่าเจตนาคุ้มครองผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าหรือการแข่งขันที่จะนำไปสู่ประสิทธิภาพในเชิงเศรษฐกิจ

-      มาตรา ๒๖ แห่งพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ ที่วางหลักเรื่องการควบคุมพฤติกรรมเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ แต่กลับไม่มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนจากคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ทำให้เป็นการยากต่อผู้ประกอบธุรกิจที่จะคาดการณ์ว่าการกระทำของตนนั้นถูกกฎหมายหรือไม่

-     โครงสร้างของคณะกรรมการที่มีนักการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการ

กฎหมายการแข่งขันทางการค้าในประเทศอาเซียน

ประเทศในอาเซียนนั้นมีอยู่ ๕ ประเทศที่ยังไม่มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้า และอยู่ในขั้นตอนการร่างกฎหมาย หรือการรอเข้าสภาฯ กล่าวคือ ประเทศบรูไน กัมพูชา ลาว เมียนมาร์และฟิลิปปินส์

ผู้เขียนจะทำการเปรียบเทียบกฎหมายการแข่งขันทางการค้าของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ตัวบ่งชี้อำนาจทางตลาด การควบคุมพฤติกรรมเกี่ยวกับการควบรวมกิจการ

ตัวบ่งชี้อำนาจทางตลาดของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน

ประเทศ
มีกฎหมายการแข่งขันทางการค้า
ตัวบ่งชี้อำนาจเหนือตลาด
บรูไน
-
-
กัมพูชา
-
-
อินโดนีเซีย
P
-ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๕๐ หรือมากกว่าสำหรับธุรกิจหรือกลุ่มธุรกิจ

ลาว
-
-
มาเลเซีย
P
ร้อยละ ๖๐ หรือมากกว่า
เมียนมาร์
-
-
ฟิลิปปินส์
-
-
สิงคโปร์
P
ร้อยละ ๖๐ หรือมากกว่า
ประเทศไทย
P
-ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๕๐ หรือมากกว่าและผลประกอบการอย่างต่ำ ๑,๐๐๐ ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบธุรกิจ
- ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๗๕ หรือมากกว่าและผลประกอบการอย่างต่ำ ๑,๐๐๐ ล้านบาทสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่อยู่ในสามอันดับแรก
เวียดนาม
P
- ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๓๐ หรือมากกว่าสำหรับบริษัทหนึ่งบริษัท
- ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๕๐ หรือมากกว่าสำหรับกลุ่มบริษัทสองบริษัท
- ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๖๕ หรือมากกว่าสำหรับกลุ่มบริษัทสามบริษัท
-ส่วนแบ่งตลาดร้อยละ ๗๕ หรือมากกว่าสำหรับกลุ่มบริษัทสี่บริษัท


การควบคุมพฤติกรรมเกี่ยวกับการควบรวมกิจการในอาเซียน

ประเทศ
กฎระเบียบเรื่องการควบรวมกิจการ
หลักเกณฑ์การแจ้งเรื่องการควบรวมกิจการ (Notification Threshold)
บรูไน
-
เฉพาะในส่วนของธุรกิจโทรคมนาคม
กัมพูชา
ไม่มี
ไม่มี
อินโดนีเซีย
มี
กำหนดให้แจ้งหลังการควบรวมกิจการ
(๑) สินทรัพย์ตั้งแต่ ๒.๕ พันล้าน รูเปีย และ/หรือ (๒) มูลค่าการขายตั้งแต่ ๕ พันล้านรูเปีย (๒๐ พันล้าน รูเปีย หากเป็นทรัพย์สินในภาคธุรกิจธนาคาร)
ลาว
ไม่มี
ไม่มี
มาเลเซีย
ไม่มี
ไม่มี
เมียนมาร์
ไม่มี
ไม่มี
ฟิลิปปินส์
ไม่มี
ไม่มี
สิงคโปร์
มี
กำหนดให้เป็นการแจ้งโดยสมัครใจเมื่อการควบรวมกิจการนั้นทำให้เกิดส่วนแบ่งตลาดที่ (๑) ตั้งแต่ร้อยละ ๔๐ ขึ้นไป หรือ (๒) ร้อยละ ๒๐-๔๐ และส่วนแบ่งตลาดของบริษัทที่ใหญ่ที่สุดสามบริษัทแรกตั้งแต่ร้อยละ ๗๐ ขึ้นไป
ประเทศไทย
มี
จะมีการเผยแพร่ในอนาคต
เวียดนาม
มี
กำหนดให้แจ้งหากส่วนแบ่งตลาดจากการควบรวมกิจการมากกว่าร้อยละ ๓๐

คำตัดสินล่าสุดของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน

(๑) ตัดสินล่าสุดของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของสิงคโปร์
คำตัดสินล่าสุดของคณะกรรมการการแข่งขันของสิงคโปร์เป็นคำตัดสินในคดี Cartel ที่ประกอบด้วยผู้ประกอบการต่างชาติและผู้ประกอบการในประเทศ
เมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ที่ผ่านมา คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของสิงคโปร์ หรือ the Competition Commission of Singapore (CCS) ตัดสินว่า ผู้ประกอบการจัดส่งสินค้า (freight forwarder) กระทำการขัดต่อมาตรา ๓๔ แห่ง Competition Act[๒] โดยทำการกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าเก็บเงินเพิ่ม แลกเปลี่ยนราคาและให้ข้อมูลลูกค้าที่ใช้บริการขนส่งสินค้าจากญี่ปุ่นไปยังสิงคโปร์ บริษัทญี่ปุ่นและสิงคโปร์จำนวน ๑๐ บริษัท จากจำนวนบริษัทใน cartel ทั้งหมด ๑๑ บริษัทถูกปรับเป็นเงินรวมทั้งสิ้น ๗,๑๕๐,๘๕๒ สิงคโปร์ดอลลาร์ (๑๗๕.๗ ล้านบาท) บริษัทที่ให้ข้อมูลเรื่อง cartel ดังกล่าวได้รับการยกเว้นค่าปรับทั้งหมดตามโครงการ leniency
อนึ่ง การกำหนดราคาระหว่างคู่แข่งขัน (Price fixing between competitors) จัดเป็นหนึ่งในพฤติกรรมที่ขัดต่อการแข่งขันทางการค้าที่ร้ายแรงที่สุด เนื่องด้วยพฤติกรรมดังกล่าวบิดเบือนการค้าระหว่างผู้ร่วมกำหนดราคาและผู้บริโภค ซึ่งทำให้ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าหรือบริการในราคาสูง

(๒) คำตัดสินของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของเวียดนาม กรณีบริษัทน้ำมันสายการบินเวียดนามแอร์ (Vietnam Air Petrol Company)
วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของเวียดนามปรับบริษัทน้ำมันสายการบินเวียดนามแอร์ (Vietnam Air Petrol Company) ซึ่งเป็นบริษัทผูกขาดการจำหน่ายน้ำมันเครื่องบินในสนามบินเวียดนาม จำนวน ๓.๓๗๘ พันล้านดอง (หรือประมาณ ๔.๘ ล้านบาท) กรณีใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบในการจำหน่ายน้ำมันให้แก่สายการบินพาณิชย์ที่สนามบินภายในของเวียดนาม ในกรณีดังกล่าว บริษัทน้ำมันสายการบินเวียดนามแอร์ (Vietnam Air Petrol Company) ปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม กล่าวคือ จำหน่ายน้ำมันเครื่องบินให้กับลูกค้าซึ่งเป็นสายการบินอื่น (Jetstar Pacific Airlines) ในราคาที่สูงกว่าราคาที่จำหน่ายให้แก่ Vietnam Air ซึ่งเป็นบริษัทที่มีหุ้นอยู่ใน บริษัทน้ำมันสายการบินเวียดนามแอร์ (Vietnam Air Petrol Company)

             (๓) คำตัดสินของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของอินโดนีเซีย
เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๖ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าสั่งปรับผู้ดำเนินธุรกิจท่าเรือท้องถิ่นเป็นเงินจำนวน ๔.๗๗ พันล้านรูปี (๑๒ ล้านบาท) กรณีใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ จากการขายพ่วงซึ่งส่งผลทำให้ธุรกิจท้องถิ่นปิดตัวลง

สรุป

แม้ว่าภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าส่วนใหญ่ที่นำเข้าจากประเทศในอาเซียนจะเป็นร้อยละศูนย์แล้ว แต่ก็ยังคงมีสินค้าบางประเภท เช่น สินค้าอ่อนไหว ที่ยังคงต้องเสียภาษีนำเข้าอยู่ เมื่อมีการเปิดตลาดประชาคมอาเซียนในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ ภาษีสินค้าทุกประเภทที่นำเข้าจากประเทศอาเซียนจะต้องค่อย ๆ ปรับลดลงจนเป็นศูนย์ ผู้ประกอบการของไทยจะต้องประสบกับ
การนำเข้าสินค้าต้นทุนต่ำจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน สินค้าราคาต่ำนั้นไม่ใช่ปัญหาแต่หากเป็นการขายสินค้าราคาต่ำเพื่อจำกัดคู่แข่งทางการค้าท้องถิ่นและเป็นการกระทำของผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาดแล้ว ตามหลักทฤษฎี การกระทำดังกล่าวขัดต่อกฎหมายการแข่งขันทางการค้า หากคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของไทยสนใจที่จะปรับปรุงหลักเกณฑ์อำนาจเหนือตลาดให้มีความสอดคล้องกับความเป็นจริงและมีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ผู้บริโภคเองต่างหากที่จะเป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากในตลาดสินค้าทั่วไป การมีผู้ประกอบการจำนวนมากจะทำให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันที่ราคาและการพัฒนาสินค้า ในขณะที่การมีผู้ประกอบการน้อยรายนั้น หรือการเป็นตลาดผูกขาดนั้น ทำให้ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่จำกัดและอาจจะต้องซื้อสินค้าที่มีราคาสูงกว่าราคาตลาดปกติ



[๑]LLB (European Legal Studies), University of Bristol นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
[๒] Section 34 of the Competition Act กำหนดว่า “agreements between undertakings, decisions by associations of undertakings or concerted practices which have as their object or effect the prevention, restriction or distortion of competition within Singapore are prohibited unless they are exempt in accordance with the provisions of this Part

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น