เมื่อหลายวันก่อนผู้เขียนมีโอกาสไปชี้แจงร่างกฎหมายฉบับหนึ่ง
บังเอิญมีนักกฎหมายผู้ใหญ่ท่านหนึ่งถามขึ้นอย่างเป็นทางการในที่ประชุมว่า การที่กฎหมายบัญญัติว่า
“ต้องคำพิพากษาให้จำคุก” นั้น ต้องมีการจำคุกกันจริง ๆ หรือไม่ หรือเพียงแต่ศาลท่านพิพากษาให้ผู้นั้นต้องรับโทษจำคุกก็ครบองค์ประกอบแล้ว
ผู้เขียนไม่แน่ใจว่าท่านผู้ใหญ่ท่านนั้นทดสอบภูมิความรู้ของผู้เขียน
หรือว่าท่านไม่รู้จริง ๆ แต่เข้าใจว่าถ้านักกฎหมายยังงงเสียเองแล้ว
การให้ความเห็นทางกฎหมายอาจผิดเพี้ยนไปจากหลักการได้
จึงขอนำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่เป็นเกร็ดความรู้สู่กันฟัง เผื่อคนรุ่นหลัง ๆ
จะได้จำไปถ่ายทอดกันต่อไป
บทบัญญัติทำนองนี้ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องลักษณะต้องห้ามหรือการสิ้นสุดสมาชิกภาพหรือการพ้นจากตำแหน่งของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง
ๆ ในกฎหมาย โดยมีวิธีเขียนอยู่ 2 แนวทางด้วยกัน กล่าวคือ แนวทางที่หนึ่ง
จะเขียนว่า “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก” ส่วนแนวทางที่สองจะเขียนว่า “ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก”
หรือไม่ก็ “ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก”
ถามว่าเรื่องไหนจะใช้แนวไหนเขียน
อันนี้ก็แล้วแต่เหตุผลของเรื่อง ไม่ใช่แบบ – ขอย้ำ – “ไม่ใช่แบบ” - โดยถ้าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งสำคัญหรือมีความรับผิดชอบสูงมาก
ๆ และผู้ร่างกฎหมายประสงค์จะให้ผู้นั้นเป็นแม่แบบในการประพฤติดีปฏิบัติชอบแก่บุคคลทั่วไป
(Role model) เช่น รัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร กรรมการ
ป.ป.ช. เป็นต้น เขาก็จะใช้แนวทางที่หนึ่ง คือเมื่อ “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก” ก็สิ้นสุดสมาชิกภาพหรือการพ้นจากตำแหน่งแล้ว
แต่ถ้าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทั่ว ๆ ไปหรือไม่ต้องรับผิดชอบอะไรมากมายนัก ก็จะให้โอกาสอยู่ในตำแหน่งจนกว่าการพิสูจน์ถูกผิดจนถึงที่สุดตามกระบวนการยุติธรรมเสียก่อนได้
ผู้ร่างกฎหมายก็จะใช้แนวทางที่สองในการเขียน คือ “ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก”
หรือ “ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก”
มีคนช่างสงสัยถามต่อไปอีกว่าแนวทางที่สองทำไมใช้ถ้อยคำต่างกัน
กรณีหนึ่งเขียนว่า “ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก”
อีกกรณีหนึ่งเขียนว่า “ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก” ความสงสัยนี้ถ้าไปอยู่ในปากของพวกนักตะแบงแทงข้างก็จะยิ่งยุ่งเหยิงหนักเข้าไปอีก
เพราะจะมีการโต้แย้งขึ้นมาโดยพลันว่า เมื่อกฎหมายเขียนต่างกัน แสดงให้เห็นว่ามีเจตนาต่างกัน
มิฉะนั้นก็ต้องเขียนให้เหมือนกันแล้ว
ผู้เขียนได้ตรวจสอบกฎหมายลักษณะอาญา
ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2450) และประมวลกฎหมายอาญาฉบับปัจจุบันแล้ว แล้ว พบว่ามาตรา 7 แห่งกฎหมายลักษณะอาญา
ร.ศ. 127 บัญญัติว่า “บุคคลควรรับอาญาต่อเมื่อ...” และมาตรา 12 บัญญัติว่า “อาญาสำหรับลงแก่ผู้กระทำผิดนั้น
ท่านกำหนดไว้เปนหกสฐานดังนี้...” ซึ่งคำว่า “อาญา” ตามกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 จึงหมายถึง
“โทษ” การรับอาญาจึงหมายถึงการรับโทษ ซึ่งมาตรา 2 ของประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่า
“บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อ...” ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าการเขียนว่า
“ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก” จึงสอดรับกับการเขียนเรื่องการรับอาญาตามกฎหมายลักษณะอาญา
ร.ศ. 127 และหลักการรับโทษในทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา ส่วนการเขียนว่า “ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก”
นั้น ค่อนไปในทางเป็นภาษาพูดและมีใช้น้อยมาก ความแตกต่างในการเขียนเช่นนี้จึงเป็นความแตกต่างของวิธีการเขียน
(Style) ของผู้ร่างกฎหมาย แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะเขียนอย่างไร
กรณีก็สื่อความหมายเดียวกัน
ย้อนกลับมาที่คำถามว่าการจำคุกไม่ว่าจะเขียนโดยประการใดนั้น
ต้องมีการจำคุกจริงหรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยวางหลักไว้ในเรื่องเสร็จที่
34/2488 แล้วว่าต้องมีการจำคุกกันจริง ๆ ด้วย เพราะมาตรา 74 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่ใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่
1 ตุลาคม 2478 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันโดยไม่มีการแก้ไขเลยนั้นบัญญัติว่า “ภายใต้บังคับแห่งมาตรา
73 และมาตรา 185 วรรค 2 เมื่อผู้ใดต้องคำพิพากษาให้จำคุกหรือประหารชีวิต หรือจะต้องจำคุกแทนค่าปรับ
ให้ศาลออกหมายจำคุกผู้นั้นไว้” กล่าวคือ เมื่อผู้ใดต้องคำพิพากษาให้จำคุกต้องมีหมายของศาลให้จำคุกผู้นั้นไว้ด้วย
ถ้าศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแต่ให้รอการลงโทษไว้ตามมาตรา 56 หรือมาตรา 58 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
หรือศาลยกโทษจำคุกแก่จำเลยตามมาตรา 55 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ก็ยังไม่ต้องออกหมายจำคุก
นอกจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวแล้ว
ศาลรัฐธรรมนูญก็เคยวินิจฉัยในเรื่องเดียวกันนี้ไว้ในคำวินิจฉัยที่ 36/2542
เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2542 ด้วย
อย่าเผลอไปตอบว่าเป็นแบบอีกล่ะ!!
อ้างอิง
เรื่องเสร็จที่
34/2488
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่
36/2542
กฎหมายลักษณะอาญา
ร.ศ. 127 (ราชกิจจานุเบกษาเล่ม 25 ฉบับพิเศษ วันที่ 1 มิถุนายน ร.ศ. 127 (พ.ศ.
2450) หน้า 206
ประมวลกฎหมายอาญา
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น