วันอาทิตย์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ความโปร่งใสในราคาประหยัด

                                                                                        ปกรณ์ นิลประพันธ์


                   เป็นที่ยอมรับกันว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ทั้งยังเป็นที่ยอมรับกันด้วยว่าอำนาจอธิปไตยนั้นเป็นของปวงชน  ดังนั้น ผู้เขียนจึงเชื่อโดยสุจริตว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นประชาชน "เป็นใหญ่อยู่แล้ว" โดยตัวของระบบเอง 

                   เมื่อประชาชนเป็นใหญ่ การปกครองในระบอบประชาธิปไตยจึงต้องยึดประชาชนเป็น "ศูนย์กลาง" เสมอ หรือที่เรียกกันโก้ ๆ เพื่อให้ได้ฟีลลิ่งแบบฝรั่งว่า People centre นั่นแหละ

                  อย่างไรก็ดี ประชาชนนั้นมีจำนวนมากและมีความหลากหลาย การยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางเขาจึงถือหลักเสียงข้างมากของประชาชนเป็นเกณฑ์ว่าจะเดินไปในทิศทางใด แต่โดยที่ประชาชนล้วนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย การดำเนินการตามเสียงข้างมากจึงต้องคำนึงถึงความต้องการหรือความเห็นของเสียงข้างน้อยด้วย ลักษณะเช่นนี้เองที่ทำให้ "การมีส่วนร่วมของประชาชน" เป็น "แก่น" ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นกระบวนการที่จะทำให้ผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติและผู้ใช้อำนาจบริหารทราบว่าเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเขาต้องการอะไร  ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงเป็นการปกครองที่ประชาชนต้องมีส่วนร่วมเสมอ การที่นักวิชาการบางท่านแบ่งประชาธิปไตยออกเป็นแบบมีส่วนร่วมกับแบบไม่มีส่วนร่วมนั้น ผู้เขียนจึงไม่เห็นพ้องด้วย 

                 อนึ่ง การที่ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเสมอเป็นพื้นฐานทึ่ทำให้เกิดหลักคิดสำคัญต่อไปว่าการปกครองในระบบนี้ต้องวางอยู่บนพื้นฐานของ "เหตุผล" ที่มีการถกแถลงของประชาชนว่าฝ่ายใดมีเหตุผลดีกว่ากัน และต่างฝ่ายต่างต้องยอมรับในเหตุผลของฝ่ายอื่นด้วยบนพื้นฐานที่ว่าทุกคนในสังคมมีความเป็นมนุษย์โดยเท่าเทียมกัน แต่ทั้งนี้ เหตุผลที่ว่านี้ต้องไม่เป็นกระทบกระเทือนต่อความเป็นอยู่ของรัฐ ตลอดจนความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนด้วย

                 เมื่อเป็นเช่นนี้ ตัวระบอบประชาธิปไตยเองจึงเรียกร้องให้ประชาชนต้องเป็นผู้มี "วุฒิภาวะ" หากประชาชนไร้ซึ่งวุฒิภาวะ ระบอบประชาธิปไตยจะไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้เลย และจะทำลายตัวเองในที่สุด ดังจะเห็นได้ในหลายประเทศที่ประชาชนซึ่งขาดวุฒิภาวะและไร้เหตุผลลุกฮือขึ้นเรียกร้องสิ่งที่เรียกว่าประชาธิปไตยโดยไม่ทราบว่าประชาธิปไตยคืออะไร มีการใช้กำลังเข้าเข่นฆ่าล่าสังหารกันอย่างน่าสมเพช

                สำหรับประเทศไทย ผู้เขียนมีความเห็นโดยส่วนตัวว่าเรายอมรับว่าประชาชนเป็นใหญ่อยู่แล้ว ดังจะเห็นได้จากบทบัญัติของรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่บัญญัติสืบต่อกันมาโดยตลอดว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่สิ่งที่ผู้เขียนเห็นว่ายังขาดหายไปคือการมีส่วนร่วมของประชาชน ประเด็นของผู้เขียนคือ เราไม่จำเป็นต้องทำให้ประชาชนเป็นใหญ่อีก เพราะใหญ่กว่านี้ไม่มีอีกแล้ว แต่ที่ยังขาดอยู่คือจะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศอย่างแท้จริงได้อย่างไร??

                หลายปีมาแล้วที่เราเห็นว่าจำเป็นต้องสร้างองค์กรที่เป็นของภาคประชาชนขึ้นเพื่อประกันว่าประชาชนจะได้มีพื้นที่ในการตรวจสอบ ติดตาม เร่งรัดการใช้อำนาจขององค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย

                ในทัศนะของผู้เขียน การกำหนดให้มีองค์กรตรวจสอบภาคประชาชนเช่นว่านี้เป็นเพียง "ทางเลือกหนึ่ง" ที่จะทำให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ติดตาม เร่งรัดการใช้อำนาจขององค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทางเลือกนี้ได้ก่อให้เกิด "คำถาม" ตามมามากมายว่าองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่ได้ตามที่มุ่งหมายไว้หรือไม่? เราได้ "คนดี" มาทำหน้าที่นี้แทนประชาชนจริงหรือไม่? เพราะคนดีนี่มันแล้วแต่ว่าคนดีของใคร (ซึ่งในทางตำราเรียกให้ยากว่าเป็นเรื่องอัตวิสัย) ต้นทุนที่ใช้ในการจัดตั้งและบริหารจัดการองค์กรเหล่านี้คุ้มค่ากับผลผลิตและผลลัพธ์ที่ได้หรือไม่? ใครจะเป็นผู้กำกับ ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานขององค์กรเหล่านี้?  หากองค์กรเหล่านี้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ตามที่คาดหมายไว้ หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยบิดเบือน จะจัดการองค์กรเหล่านี้อย่างไร?

                ผู้เขียนจึงขอเสนอ "ทางเลือก" ที่จะทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจอธิปไตยโดยไม่ต้องลงทุนสร้างองค์กรมหัศจรรย์ใด ๆ ขึ้นใหม่ต่อท่านผู้อ่าน โดยผู้เขียนเห็นว่า หากเราต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารราชการแผ่นดิน สิ่งสำคัญที่สุดน่าจะได้แก่การเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ "เข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ" ที่เป็นพื้นฐานและหลักฐานในการบริหารราชการแผ่นดินและการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินให้มากที่สุดและสะดวกทึ่สุด โดยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ใช้เงินแผ่นดินต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการใช้จ่ายเงินของแผ่นดินต่อสาธารณะ ถ้าไม่ทำ ให้มีความผิดทางวินัย แพ่ง และอาญาด้วย

               ประเทศเสรีประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้วเขาใช้วิธีการนี้อย่างแพร่หลาย แต่เขาเรียกหลักการนี้ว่า Open government doctrine แม้กระทั่งสหภาพโซเวียตในอดีตก็นำหลักการนี้ไปใช้ ท่านผู้อ่านที่เกิดทันปี 1985 คงเคยได้ยินนโยบาย "กลาสนอสท์" ของอดีตประธานาธิบดีกอร์บาชอฟ

               ผู้เขียนเห็นว่าหากประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ได้ง่ายและสะดวก การมีส่วนร่วมในการเสนอแนะ การตรวจสอบติดตาม และการประเมินผลการบริหารราชการแผ่นดินของประชาชนก็จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่ต้องตั้งหน่วยงานอะไรขึ้นมาอีกให้สิ้นเปลือง และไม่ต้องคิดระบบกำกับองค์กรใหม่ ๆ ให้วุ่นวายสมอง ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่าข้อเสนอนี้จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินมีความโปร่งใสในราคาประหยัด (Transparency at low cost) และไม่ซับซ้อน ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใจได้

              ที่สำคัญร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขาก็บรรจุหลักการนี้ไว้ด้วยแล้วในมาตราร้อยต้น ๆ แต่ไม่เห็นมีใครสนใจจะอภิปรายกันเลยทั้ง ๆ ที่เป็นเรื่องของ "หลักการสำคัญ" ที่จะสร้างความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดิน การป้องกันมิให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่น และการลดความเหลื่อมล้ำอันเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย! 

             แปลกดีไหมขอรับ???

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น