วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2558

การกดไลค์กดแชร์เป็นความผิดอาญาทันทีหรือไม่? โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์

ความเห็นทางวิชาการ: การกดไลค์กดแชร์เป็นความผิดอาญาทันทีหรือไม่?

มาตรา 14 แห่ง พรบ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ บัญญัติว่า

"มาตรา 14  ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)"

ดังนั้น การกระทำความผิดตาม (5) จึงต้องการ "เจตนาพิเศษ"  กล่าวคือ ผู้เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูลนั้นต้อง "รู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4)" ถ้าขาดเจตนาพิเศษดังกล่าว การกระทำเช่นว่านั้นก็ไม่เป็นความผิด มิใช่ว่าเพียงกดไลค์หรือแชร์แล้วจะเป็นความผิดทันทีตามที่มีการกล่าวอ้างโดยอาศัยความไม่รู้กฎหมายของประชาชนเพื่อให้เกิดความกลัว มิเช่นนั้นการจับกุมของเจ้าหน้าที่จะเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเสียเอง

นอกจากนี้ โทษที่กำหนดเป็นโทษอาญา พนักงานสอบสวนจึงต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดมีเจตนาเช่นว่านั้น เพื่อไปขอออกหมายจับ เพราะมิใช่ความผิดซึ่งหน้า การกล่าวหาลอย ๆ เพื่อขอให้ศาลออกหมายจับจึง "อาจ" เป็นการขอออกหมายจับโดยมิชอบ อันจะทำให้การจับเป็นการจับที่มิชอบด้วยกฎหมายไปด้วย และจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมโดยรวม.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น