วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

มติ ครม เกี่ยวกับหลักสูตรฝึกอบรมของหน่วยงานของรัฐ

 เรื่อง  การพัฒนาบุคลากรภาครัฐโดยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมของหน่วยงานต่าง ๆ

                  คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันอังคาร ที่ 10 พฤษภาคม 2559 เห็นชอบแนวทางปฏิบัติในการพัฒนาบุคลากรภาครัฐโดยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมของหน่วยงานต่าง ๆ ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เสนอ และให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี (23 ก.พ. 59)  (เรื่อง  การพัฒนาบุคลากรในภาครัฐเพื่อรองรับการปฏิรูปประเทศ) 
                    สาระสำคัญของเรื่อง
                    รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) รายงานว่า  ตามที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการพัฒนาบุคลากรภาครัฐโดยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมต่าง ๆ นั้น  โดยที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเข้ารับการฝึกอบรมของบุคลากรภาครัฐหลายเรื่อง  สมควรรวบรวมมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวประมวลเข้าด้วยกันและกำหนดแนวทางในเรื่องนี้ขึ้นใหม่ให้ชัดเจน ดังนี้
                              1.1 แนวทางนี้ใช้กับการพัฒนาบุคลากรภาครัฐที่จัดในรูปแบบของหลักสูตร หรือการฝึกอบรมไม่ใช้กับโครงการและไม่ใช้กับการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้ได้มาซึ่งปริญญา   ประกาศนียบัตรวิชาชีพ และการศึกษา  อบรมในต่างประเทศซึ่งต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการนั้น ๆ
                              1.2 แนวทางนี้ใช้กับหลักสูตรฝึกอบรมที่จัดโดยหน่วยงานของรัฐในสังกัดฝ่ายบริหาร ได้แก่ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานของรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร ซึ่งใช้งบประมาณของรัฐบางส่วนหรือทั้งหมดในการจัดการอบรม ในกรณีเป็นหลักสูตรหรือการอบรมที่จัดโดยหน่วยงานอื่นที่ไม่อยู่ในสังกัดของฝ่ายบริหาร เช่น รัฐสภา สถาบันพระปกเกล้า สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานอัยการสูงสุด องค์กรอิสระอื่น ๆ ให้หน่วยงานดังกล่าวพิจารณาดำเนินการตามแนวทางนี้โดยอนุโลม
                              1.3 คุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และเงื่อนไขเกี่ยวกับผู้เข้ารับการอบรม  บุคลากรภาครัฐที่เข้ารับการอบรมตามหลักสูตรใดแล้ว จะลาไปรับการอบรมตามหลักสูตรอื่นได้ต่อเมื่อได้เว้นระยะเวลาอย่างน้อยสองปี เว้นแต่เป็นการอบรมตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการ หรือเป็นการอบรมตามเงื่อนไขในการเข้าดำรงตำแหน่ง หรือผู้เข้ารับการอบรมเสียค่าใช้จ่ายเองทั้งหมดและไม่ต้องลาหรือไม่ใช้เวลาราชการในการอบรม หรือดูงาน
                              1.4 การพัฒนาบุคลากรต่างหน่วยงาน
                                        1) หลักสูตรหรือการอบรมที่มุ่งหมายพัฒนาบุคลากรภาครัฐภายในหน่วยงานนั้นเป็นหลัก (in-house training)  หากจะรับบุคลากรภาครัฐจากหน่วยงานอื่นและบุคลากรภาคเอกชนเข้าร่วมการอบรม จำนวนบุคลากรอื่นดังกล่าวจะต้องมีจำนวนรวมกันไม่เกินร้อยละสิบห้าของจำนวนผู้ศึกษาอบรมทั้งหมด โดยมีความสำคัญแก่จำนวนบุคลากรภาครัฐจากหน่วยงานอื่นมากกว่าจากภาคเอกชน
                                        2) หลักสูตรและการอบรมที่จัดแก่บุคคลทั่วไปหรือบุคลากรนอกหน่วยงาน               เป็นหลัก เช่น หลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร หากจะรับบุคลากรภาคเอกชน ต้องมีจำนวนไม่เกินร้อยละสิบห้าของจำนวนผู้เข้ารับการอบรมทั้งหมด
                                        3) หลักสูตรและการอบรมที่จัดในลักษณะภาครัฐร่วมกับเอกชน หรือมุ่งหมายจะให้การอบรมแก่ภาคเอกชนเป็นหลัก  เพื่อสร้างความร่วมมือ ความรับรู้ความเข้าใจในลักษณะประชารัฐ เช่น หลักสูตรวิทยาลัยตลาดทุน ให้จัดสรรสัดส่วนระหว่างจำนวนบุคลากรภาครัฐกับภาคเอกชนตามความเหมาะสม แต่ต้องประกาศจำนวนของผู้รับการอบรมแต่ละภาคส่วนให้ทราบล่วงหน้า
                                        4) “บุคลากรภาครัฐ” หมายความถึง  ข้าราชการประจำ ข้าราชการการเมือง ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานราชการ และบุคลากรอื่นของหน่วยงานรัฐในกำกับของฝ่ายบริหาร บุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ และให้หมายความรวมถึง สมาชิกรัฐสภา ผู้บริหารและสมาชิกสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เว้นแต่หลักสูตรนั้นจะมีวัตถุประสงค์เป็นอย่างอื่น)
                                        5) การรับบุคลากรภาคเอกชนเข้ารับการอบรมให้พิจารณาจากผู้ที่องค์กรเอกชนตามกฎหมายหรือองค์กรเอกชนซึ่งเป็นที่ยอมรับแพร่หลายได้คัดสรรตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้แล้วเสนอชื่อมาเป็นหลักและควรให้บุคลากรดังกล่าวเสียค่าใช้จ่ายบางส่วนหรือทั้งหมดตามความเหมาะสม
                              สำหรับการดูงาน ณ ต่างประเทศ  หลักสูตรและการอบรมที่กำหนดให้มีการดูงานให้ดำเนินการดังนี้
                                        1) ควรเน้นการดูงานภายในประเทศตามสถานที่และกิจกรรมเป้าหมายที่เหมาะสม เช่น โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ  โครงการปิดทองหลังพระ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การค้าชายแดน การพัฒนาตามแนวทางประชารัฐ เศรษฐกิจพอเพียงการเรียนรู้จากปราชญ์ชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน                 (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 มีนาคม 2558)
                                        2) หากเป็นการดูงานในประเทศเพื่อนบ้านบริเวณพื้นที่ชายแดน ควรพิจารณาการพักค้างในประเทศไทยเพื่อสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยและผู้ประกอบธุรกิจตามแนวชายแดนได้ดำเนินธุรกิจชุมชนและได้ประโยชน์จากการดูงาน (มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 21 กรกฎาคม 2558)
                                        3) ในกรณีจำเป็นต้องดูงาน ณ ต่างประเทศเพื่อประโยชน์ในเชิงเปรียบเทียบหรือศึกษาจากต้นแบบ ให้คณะกรรมการหลักสูตรพิจารณาการเรียนรู้จากประสบการณ์ของประเทศสมาชิกประชาคมอาเซียนหรือบวกสาม ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นลำดับแรก
                                        4) ในกรณีมีความจำเป็นต้องเดินทางไปดูงานในประเทศอื่น ๆ นอกจาก ข้อ 3) หรืออยู่ภายในกรอบวงเงินงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อการดูงาน ณ ต่างประเทศตามที่หน่วยงานเจ้าของหลักสูตรได้ทำความตกลงกับสำนักงบประมาณ ซึ่งใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปดูงานตามข้อ 3) ให้แสดงเหตุผล ความจำเป็น แผนการดูงาน ประโยชน์ที่จะได้รับ และขออนุญาตจากรัฐมนตรีหรือผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานเจ้าของหลักสูตรเป็นรุ่น ๆ หรือคราว ๆ ไป
                                        5) การเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายของบุคลากรภาครัฐที่เดินทางไปดูงาน ณ ต่างประเทศ ให้คำนึงถึงกฎเกณฑ์ทั่วไปที่หน่วยงานเจ้าของหลักสูตรกำหนดยิ่งกว่าการเบิกจ่ายตามสิทธิของบุคลากรภาครัฐ ซึ่งอาจมากกว่ากฎเกณฑ์ตามหลักสูตร
6)      ความใน 5 ไม่ใช้ในกรณีผู้เข้ารับการอบรมออกค่าใช้จ่ายในการดูงาน ณ
ต่างประเทศด้วยตนเองทั้งหมด
                                        7) เมื่อเสร็จสิ้นการดูงานแล้ว หากมีการจัดทำรายงานการดูงาน ให้หน่วยงานเจ้าของหลักสูตรเผยแพร่รายงานนั้นทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน เว้นแต่จะเป็นเอกสารที่ระบุชั้นความลับ(มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 12 พฤษภาคม 2558)
                                      หน้าที่ของหน่วยงานเจ้าของหลักสูตร
                                                1) การจัดเนื้อหาของแต่ละหลักสูตรให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร แต่ควรพิจารณาสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับหลักธรรมาภิบาล เศรษฐกิจพอเพียง ยุทธศาสตร์ชาติแนวทางประชารัฐ การปฏิรูป การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบด้วยตามสมควร และให้กำกับดูแลการทำกิจกรรมของผู้เข้ารับการอบรม มิให้ฟุ่มเฟือยเกินจำเป็น ผิดวินัยข้าราชการ ผิดกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น หรือใช้เวลาราชการไปทำกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม 
                                                2) ในกรณีมีการจัดทำรายงานหรือเอกสารการวิจัยส่วนบุคคลหรือเป็นหมู่คณะ หากหน่วยงานเจ้าของหลักสูตรเห็นว่ารายงานหรือเอกสารการวิจัยนั้นมีคุณภาพดีเด่น และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อทางราชการ ให้เสนอเอกสารดังกล่าวต่อส่วนราชการที่เกี่ยวข้องหรือคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบด้วย
              3) หน่วยงานของรัฐควรมีการวางแผนพัฒนากำลังคนเพื่อให้ใช้ประโยชน์
จากบุคลากรที่ได้รับการพัฒนาแล้ว โดยการวางแผนการให้บุคลากรของหน่วยงานเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรต่างๆ ล่วงหน้า ให้เหมาะสมกับความจำเป็น งบประมาณและการให้บริการประชาชนโดยมิให้บุคลากรหลายคนจากหน่วยงานเดียวกันเข้ารับการอบรมตามหลักสูตรต่าง ๆ พร้อมกัน จนกระทบต่อประสิทธิภาพ  ในการปฏิบัติราชการและการให้บริการประชาชน นอกจากนั้น หน่วยงานของรัฐควรพิจารณาใช้ประโยชน์จากผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ มาแล้วให้เหมาะสมด้วย
ทั้งนี้ ได้มีการหารือแนวทางดังกล่าวกับหน่วยงานเจ้าของหลักสูตรต่าง ๆ ในฝ่ายบริหารและเสนอ

คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) พิจารณาให้ความเห็นชอบตามแนวทางนี้แล้ว


ที่มา http://www.thaigov.go.th/index.php/th/news-summary-cabinet-meeting/item/102957-%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%9B%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%84%E0%B8%93%E0%B8%B0%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%A1%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5-10-%E0%B8%9E%E0%B8%A4%E0%B8%A9%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B8%A1-2559

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น