วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2560

พระปิยมหาราชในความทรงจำของยาย โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

เมื่อครั้งยังเป็นเด็กเล็ก ๆ นั้น ผมนอนอยู่ห้องเดียวกับยาย ในห้องนอกจากจะมีหิ้งพระแล้วก็มีรูป ๆ หนึ่งแขวนไว้เยื้อง ๆ กันด้วย ในกรอบไม้สีเหลืองนั้นเป็นรูปวาด มีผู้ชายไว้หนวด หน้าตาใจดี แต่งตัวอย่างทหารเสื้อแดงที่เราเห็นในหนังฝรั่งแต่สีขาว พู่หมวกก็สีขาวยืนกุมกระบี่อยู่ท่าทางโก้มาก บนพื้นที่ยืนอยู่นั้นมีคนจำนวนมากทั้งผู้ชายผู้หญิงเด็กเล็กเด็กโตหมอบกราบแทบเท้าอยู่เต็มไปหมด

ผมเห็นยายกราบพระเสร็จก็จะกราบรูปนี้ด้วยทุกเช้าทุกค่ำ  วันหนึ่งด้วยความสงสัยก็เลยถามยายว่ารูปนี้เป็นรูปใคร ยายบอกผมว่าเป็นรูปพระปิยมหาราช ท่านเป็นเทวดา และสอนให้ผมทำตามท่านเพื่อเป็นมงคลชีวิต 

ตั้งแต่นั้นมา เมื่อผมกราบพระเสร็จ ผมก็จะกราบรูปเทวดานั้นด้วยทุกครั้งไป

เมื่อเข้าโรงเรียนจึงทราบว่ารูปเทวดาที่ยายบอกคือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ห้า และเมื่อได้เรียนมากเข้าจึงได้รับรู้ว่าพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อสยามประเทศมากมายเพียงใด ทรงเสด็จพระพาสต้นเยี่ยมเยียนราษฎร ทรงพัฒนาบ้านเมืองให้ทันสมัยทัดเทียมนานาอารยประเทศในขณะนั้น ถึงขนาดว่าทรงส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาการยังต่างประเทศที่ข่มขู่สยามอยู่เป็นเนืองนิจเพื่อให้รู้ “เท่าทัน” และ “ทัดเทียม” ฝรั่งเพื่อจะได้รักษาชาติไม่ให้เป็นขี้ข้าฝรั่ง 

แม้กระทั่งโรงเรียนที่ผมเรียนนั้น ถึงจะเป็นโรงเรียนวัด แต่ก็มีรากฐานมาจากพระราโชบายของในหลวงรัชกาลที่ห้าที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้จัดการศึกษาให้ราษฎรมีความรู้ ไม่โง่เขลาเบาปัญญา มีวิชาไปทำมาเลี้ยงชีพ เพราะทรงตระหนักว่าความใฝ่รู้ ความรู้ รวมทั้งคุณธรรมจริยธรรม จะเป็นรากฐานอันสำคัญของการพัฒนาสยามประเทศให้เจริญทัดเทียมกับฝรั่ง 

ที่สำคัญยิ่งคือ “ทรงเลิกทาส”

การเลิกทาสในสยามประเทศยุคนั้นในทัศนะผมเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะเป็นการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ว่าทุกคนเท่าเทียมกัน ในหลวงรัชกาลที่ห้าทรงทำก่อนฝรั่งมังค่านักประชาธิปไตยเสียอีก ทำโดยที่ทาสไม่ต้องลุกฮือขึ้นมาเรียกร้อง ทำโดยแนบเนียน ละมุนละม่อม ไม่มีการรบราฆ่าฟันกันเพราะสูญเสียผลประโยชน์จากการค้าทาสเหมือนในเมืองฝรั่งด้วย

นี่คือสุดยอดแห่งอัจฉริยภาพแห่งพระปิยมหาราช

เมื่อโตขึ้น ผมก็ได้เห็นภาพข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่เก้า ทรงเสด็จเยี่ยมเยียนอาณาประชาราษฎร์ทั่วทุกขอบขัณฑสีมาไม่มีวันหยุดเพื่อให้ประชาชนทั้งแผ่นดินอยู่ดีมีสุข ยายก็คงเห็นเหมือนกันเพราะดูอยู่ด้วยกัน ต่อมารูปที่ข้างหิ้งพระจึงมีรูปเทวดาเพิ่มขึ้นอีกรูปหนึ่ง คือพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่เก้าที่ยายตัดมาจากปฏิทินมาใส่กรอบ

เมื่อผมเข้าทำงาน จึงได้ทราบว่าที่ทำงานของผมคือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานั้นมีต้นกำเนิดมาจาก “เคาน์ซิลออฟสเตด” อันเป็น “ที่ปฤกษาในราชการแผ่นดิน” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและมีบทบาทสำคัญในการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลิกทาสในครั้งกระนั้น ทั้งเมื่อกลายเป็น “กองกรรมการชำระประมวลกฎหมาย” ก็มีส่วนสำคัญในการยกร่างประมวลกฎหมายทั้งสี่ฉบับเพื่อจัดการกับข้อเรียกร้องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของฝรั่งด้วย และเมื่อกลายมาเป็น “กรมร่างกฎหมาย” ในเวลาต่อมา และมาเป็น “สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา” ในปัจจุบัน เราก็ยังปฏิบัติภารกิจสำคัญด้านกฎหมายของแผ่นดินมาอย่างต่อเนื่อง

ผมภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานเล็ก ๆ ที่มีเกียรติยิ่งแห่งนี้ 

เสียดายมาก ตอนน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2526 พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงทั้งสองพระองค์ที่ข้างหิ้งพระนั้นหายไปกับสายน้ำ แต่ผมยังคงปฏิบัติกิจวัตรที่ยายเคยสอนไว้มาจนทุกวันนี้ แม้ยายจะจากไปหลายปีแล้ว

ยายผมเป็นชาวสวนธรรมดา ไม่ใช่แม่พลอยในนิยาย

ยายเกิดในรัชกาลที่ห้า และเป็นสตรีห้าแผ่นดิน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น