การไต่สวนเป็นวิธีการแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ผู้มีหน้าที่ไต่สวนสามารถสืบเสาะ แสวงหา และตรวจสอบข้อมูลและพยานหลักฐานต่าง ๆ เพื่อ "พิสูจน์ความจริง" ผู้มีหน้าที่ไต่สวนจึงต้องมีความเป็นอิสระในการดำเนินการ ทั้งต้องปราศจากอคติทั้งปวงในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้การไต่สวนเป็นไปโดยเที่ยงธรรม หรือตั้งมั่นอยู่ในความถูกต้อง ตรงไปตรงมา ผิดเป็นผิด ไม่ผิดก็ไม่ผิด
ไม่ใช่ตั้งธงไว้แล้วว่ามันต้องผิด แล้วจึงไปหาพยานหลักฐานมาสนับสนุน “ข้อกล่าวหา" ที่มีการ "ตั้งธงไว้ล่วงหน้า" แล้วอย่างในระบบกล่าวหา ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะใช้กับเรื่องในทางแพ่งและคดีอาญา เพราะคู่กรณีต่างจะมีพยานหลักฐานที่จะนำมาแสดงสืบสู้กันได้อย่าสมน้ำสมเนื้อ
ขอให้สังเกตด้วยว่า การกล่าวหานั้นไม่ใช่ไปกล่าวหากันไปมาที่ไหนก็ได้ เพราะการกล่าวหากันลอย ๆ นั้นจะนำมาซึ่งการทะเลาะเบาะแว้ง เพราะต่างฝ่ายต่างเชื่อมั่นในพยานหลักฐานของตน และอาจลุกลามไปจนกลายเป็นความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในสังคมอันเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ และเป็นช่องทางให้ผู้มีไถยจิตคิดร้ายใช้เป็นช่องทางในการกลั่นแกล้งหรือทำลายความเชื่อถือที่มีต่อบุคคลอื่นได้ง่าย ๆ โดย "ชิงกล่าวหาก่อน" คนทั่วไปซึ่งยังไม่รู้ข้อเท็จจริงก็มักจะคล้อยตามข้อกล่าวหาไปง่าย ๆ ยิ่งถ้าได้กล่าวหากันด้วยคารมคมคาย สำนวนโวหารโดนใจ ฟังแล้วเคลิ้มนี่ยิ่งเป็นการชักจูงใจคนส่วนใหญ่ให้ “เชื่อ” ในคำกล่าวหาของตน ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะข้อกล่าวหานั้นจริงเท็จประการใดก็ยังไม่ทราบได้ เมื่อฝ่ายที่ถูกกล่าวหาชี้แจงเข้าก็จะกลายเป็น “แก้ตัว” เสียอย่างนั้น ซึ่งนั่นไม่เป็นธรรมเลย
ด้วยเหตุนี้ ทุกบ้านทุกเมืองเขาจึงกำหนดว่าการกล่าวหาโดยสุจริตโดยมุ่งประสงค์จะให้เกิดข้อยุติ จึงต้องนำข้อกล่าวหาไปฟ้องร้องกล่าวหาต่อศาล เพื่อให้ศาลซึ่งเป็นคนกลางพิจารณาข้อกล่าวหาว่ามีมูลหรือไม่ ถ้ามีมูลก็จะรับฟังพยานหลักฐาน โดยใครกล่าวหาคนอื่น คนนั้นมีหน้าที่นำสืบ ให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยสืบแก้ (ไม่ใช่แก้ตัว) หลังจากนั้นศาลจึงจะชั่งน้ำหนักว่าพยานหลักฐานของฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่ากัน แล้วพิพากษาว่าใครถูกใครผิด ถ้ากล่าวหามั่ว ๆ พยานหลักฐานไม่มี ก็ยกฟ้องของผู้กล่าวหา แต่ถ้ามีหลักฐานแน่นหนา ก็พิพากษาลงโทษจำเลย แถมถ้ากล่าวหากันมั่ว ๆ ผู้ถูกกล่าวหายังฟ้องกลับผู้กล่าวหาได้อีก
แต่ในเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมหรือการกระทำลับ ๆ ล่อ ๆ ซึ่งกล่าวหากันง่าย เช่น คนนี้เลว คนนั้นโกง คนโน้นชั่ว ฯลฯ นั้น เนื้อหาของมันเองไม่เหมาะสมที่จะใช้ระบบกล่าวหา เพราะหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์กันยาก บ้านเมืองต่าง ๆ เขาจึงใช้ระบบไต่สวนแทนระบบกล่าวหา
โดยเมื่อความปรากฎต่อผู้มีหน้าที่ไต่สวนไม่ว่าจะมีการกล่าวหาหรือไม่ ว่ามีคนกระทำพฤติกรรมหรือการกระทำลับ ๆ ล่อ ๆ ส่อว่าเลว ส่อว่าโกง ส่อว่าชั่ว ฯลฯ บรรดาที่อยู่ในขอบหน้าที่และอำนาจของตน ผู้มีหน้าที่ไต่สวนนั้นก็จะต้องดำเนินการไต่สวนโดยพลันว่า "ความจริง" มันเป็นฉันใด ถ้ามีก็ดำเนินการทางอาญา ทางวินัย หรือทางจริยธรรมกันต่อไป ถ้าไม่มีก็คือไม่มี จบ ไม่ต้องไปทำให้มันมี เพราะนั่นไม่เป็นธรรม เหมือนว่าตั้งธงไว้แล้วว่าเขาเลว เขาโกง เขาชั่ว ฯลฯ แล้วไปหาหลักฐานมาสนับสนุนอคติของตน อันนั้นเท่ากับผู้ไต่สวนทำตัวเป็นผู้กล่าวหาเสียเอง ซึ่งไม่ถูกต้อง
หัวใจสำคัญของการไต่สวนจึงอยู่ที่ “ความเป็นกลาง” และ “ปราศจากอคติ” ของผู้ทำหน้าที่ไต่สวน ต้องใจถึงพึ่งได้ เพราะเป้าหมายสุดท้ายคือ “ความถูกต้อง” และ "ความเป็นจริง" แม้มันอาจ “ไม่ถูกใจ” ผู้ไต่สวน ผู้เสนอให้มีการไต่สวน หรือความเชื่อส่วนใหญ่ของสังคมก็ตาม
เพราะ “ความถูกต้อง” และ "ความเป็นจริง" เท่านั้นที่จะทำให้สังคมอยู่กันได้อย่างเรียบร้อย ไม่ใช่ถูกใจ
อีกประการหนึ่ง ผู้ไต่สวนไม่ควรสร้าง “กระบวนการ” หรือ “วิธีการ” ใด ๆ ที่อาจทำให้ผู้อื่นหรือสังคมมามีอิทธิพลต่อ “การค้นหาความจริง” ของตน เพราะมิฉะนั้นแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ไต่สวนอาจเบี่ยงเบนไปจากความถูกต้องเพราะเหตุมัวเมาในอคติได้ ไม่ว่าเพราะรัก เพราะโลภ เพราะโกรธ หรือเพราะหลง
และนั่นไม่เป็นผลดีต่อสังคมเลย ไม่ว่าระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว
หรือไม่จริงครับ?
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น