การพัฒนารัฐบาลดิจิทัลนั้นเป็นเป้าหมายของทุกรัฐบาล ทำกันมาหลายสิบปีแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเสียที
มีการซื้ออุปกรณ์ไอทีกันเป็นล่ำเป็นสัน
จนการพิจารณางบประมาณในชั้นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรต้องจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ขึ้นเป็นการเฉพาะ
เพื่อให้การใช้งบประมาณด้านไอทีคุ้มค่ามากที่สุด แต่พิจารณากันมาก็หลายปี ก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดรัฐบาลดิจิทัลได้เสียที
กระทั่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา
258 ข. (1) ว่ารัฐต้องนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ
เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
ก็ได้กำหนดให้มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการสาธารณะตลอดกระบวนการอย่างคุ้มค่าและเชื่อมโยงถึงกัน
เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส ซึ่งทำให้รัฐบาลดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ผู้ถูกกล่าวหาหลักในความไม่สำเร็จในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลคือ
“กฎหมาย” กับ “งบประมาณ” ข้อกล่าวหาที่คลาสสิคคือกฎหมายไม่เอื้อให้ทำได้ หรือไม่ก็งบประมาณไม่มี
ถ้าเป็นภาษาเก๋ ๆ หน่อยก็บอกว่าระบบนิเวศ (Ecosystem) ไม่เอื้อ ว่างั้น
ในแง่ระบบนิเวศทางกฎหมาย (Legal Ecosystem) หนุ่มสาวชาวกฤษฎีกาเรามานั่งวิเคราะห์กันแล้ว
พบว่าข้อกล่าวหาที่ว่ากฎหมายไม่เอื้อให้ทำได้นั้น “มีมูล”
เพราะถึงจะมีการตั้งกระทรวงที่รับผิดชอบเรื่องนี้แล้ว
และมีกฎหมายหลายฉบับที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผน และ governance ด้านดิจิทัลอยู่หลายฉบับ แต่กลับไม่มีกฎหมายใดกล่าวถึง “การปฏิบัติ”
ไว้เลย อันนี้ประการที่หนึ่ง
ประการที่สอง วิธีการทำงานราชการที่ผ่านมายังใช้ระบบ
manual เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานสารบัญซึ่งเป็นต้นทางของการรับส่งข้อมูล
ยังส่งเป็นกระดาษเป็นปึก ๆ กันอยู่เลย ถ้ารับส่งระหว่างหน่วยงานก็ใช้รถส่งบ้าง
มอเตอร์ไซด์บ้าง โลกร้อนหนักเข้าไปอีก เพิ่ม carbon footprint ของประเทศโดยปริยาย การรับส่งในหน่วยก็ใช้วิธีให้เจ้าหน้าที่เดินส่งแฟ้มกันไปมา
ทั้ง ๆ ที่มีคอมพิวเตอร์กันทุกหน่วยงาน
ที่สำคัญประการที่สามเกี่ยวข้องกับการเขียนกฎหมาย
โดยเฉพาะกฎหมายลำดับรองอันเป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่าง ๆ
ในการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายแม่บท ยังเขียนแบบโบราณอยู่มาก ใช้ระบบอนุมัติอนุญาตก็มากมายอยู่แล้ว
ยังให้มายื่นขออนุมัติอนุญาตด้วยตัวเองอีก มีเรียกสำเนาเอกสารประกอบ ทั้ง ๆ
ที่ทางราชการออกเอกสารนั้นให้เอง ฯลฯ
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้พัฒนาระบบนิเวศทางกฎหมายเพื่อเร่งรัดให้เกิด
Digital government ขึ้น
สำหรับปัญหาประการที่หนึ่ง สำนักงานฯ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์
พ.ศ. .... ขึ้นเพื่อรองรับการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์
มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้การยื่นคำขอหรือติดต่อใด ๆ
ระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐ การติดต่อราชการระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน
และระหว่างเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานของรัฐ
สามารถทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะปฏิเสธไม่รับดำเนินการเพียงเพราะเหตุที่ผู้ขออนุญาตได้ยื่นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มิได้
ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร
การแก้ปัญหาประการที่สอง สำนักงานฯ ได้ร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงาน ก.พ.
สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล
(องค์การมหาชน) จัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
ว่าด้วยงานสารบรรณ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 (ระเบียบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์) เพื่อปรับเปลี่ยนให้การปฏิบัติงานสารบรรณภายในหน่วยงานของรัฐ
ระหว่างหน่วยงานของรัฐ และระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน
ให้สามารถดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว
เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงาน
ปัจจุบันระเบียบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่
25 พฤษภาคม 2564 แล้ว
และหน่วยงานของรัฐต้องใช้อีเมลในการสื่อสารเป็นหลักตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป
และจะทำให้สามารถพัฒนาต่อยอดไปใช้ในการจัดทำระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้
ซึ่งในช่วงการระบาดของโควิด 19 นี้ ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ทำให้การทำงานของหน่วยงานของรัฐขับเคลื่อนไปได้โดยไม่ติดขัด
ประการที่สาม สำนักงานฯ ได้ปรับปรุงวิธีการเขียนกฎกระทรวงและกฎหมายลำดับรองอื่นให้หน่วยงานของรัฐให้บริการแก่ประชาชนโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักตามมาตรา
8 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ
พ.ศ. 2558 ในการดำเนินการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายลำดับรองที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการและมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณานั้น
สำนักงานฯ ได้กำหนดแนวทางการเขียนกฎกระทรวงและกฎหมายลำดับรองอื่น
ให้ดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักมาตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 และปัจจุบัน
(ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2564) กฎหมายลำดับรองระดับกฎกระทรวงที่ผ่านการพิจารณาทั้งหมด
75 ฉบับ รองรับการดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว และกำลังดำเนินการแก้ไขฉบับที่เหลือต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้สำรวจตรวจสอบกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันที่เป็นปัญหาอุปสรรคสำหรับภาคเอกชนที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินกิจกรรม
และได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จัดทำร่างพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ..)
พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมให้ทันสมัย 6 ประเด็น)
ที่มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงให้บริษัทมหาชนจำกัดและคณะกรรมการบริษัทมหาชนจำกัดสามารถกิจกรรมต่าง
ๆ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่น
การใช้โฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ การส่งหนังสือหรือเอกสารทางอีเมลแทนไปรษณีย์ลงทะเบียน
ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564) และขณะนี้สำนักงานฯ กำลังพิจารณาปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
บรรพ 3 ลักษณะ 22 หุ้นส่วนบริษัท
เพื่อให้ห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดสามารถดำเนินงานด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นเดียวกัน
ประการสำคัญ สำนักงานฯ ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน)
จัดทำ “ระบบกลางทางกฎหมาย” (law.go.th) ขึ้นตามมาตรา 77 วรรคหนึ่ง
และมาตรา 258 ค. ด้านกฎหมาย (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย
พ.ศ. 2562 เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มกลางเกี่ยวกับกฎหมายที่ให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ
(one stop service)
แก่หน่วยงานของรัฐและประชาชน โดยในขณะนี้ระบบกลางได้เปิดให้บริการในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมาย
ข้อมูลรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (RIA) และข้อมูลรายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย
ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564 แล้ว
สำหรับการดำเนินการระยะถัดไปจะเป็นการขยายการให้บริการข้อมูลกฎหมายทั้งหมดของประเทศ
ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด
รวมตลอดถึงกฎหมายลำดับรองต่าง ๆ เช่น พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ
ข้อบังคับ เทศบัญญัติ และข้อบัญญัติท้องถิ่นต่าง ๆ
เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลกฎหมายและปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งเพิ่มความโปร่งใสในการใช้บังคับกฎหมายด้วย
โดยมีกำหนดจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกรกฎาคม 2565
ก็ไม่มีอะไรครับ พอมีเวลาจึงมาเล่าให้ฟังว่าเราทำอะไรไปบ้างเพื่อพัฒนากฎหมายของประเทศให้ดีขึ้น
เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชน
"Better Regulation for Better Life"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น