นับตั้งแต่ช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมในปลายศตวรรษที่ 1800 โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นประมาณ 1.1 องศาเซลเซียส ซึ่งทศวรรษที่ผ่านมา (ปี 2011-2020) เป็นช่วงที่โลกร้อนขึ้นมากที่สุด [1] ผู้คนจำนวนมากมักมองว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลเพียงทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น แต่ในความเป็นจริง อุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ปัจจุบันเราได้เห็นผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้วไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วม คลื่นความร้อน คลื่นพายุซัดฝั่ง การเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเล และการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ล้วนก่อให้เกิดความเสียหายแก่สังคมในทุกมิติ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพ การผลิตน้ำและอาหาร ผลิตภาพของแรงงาน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การโยกย้ายถิ่นฐานของแรงงาน (climate refugees) ผลกระทบเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อแต่ละประเทศอย่างไม่เท่าเทียมกัน เพราะแม้ว่าประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศส่วนมากจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว (คิดเป็นร้อยละ 70) [2] แต่ประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนมากที่สุดกลับเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีความพร้อมในระบบโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ระบบสาธารณสุข เทคโนโลยีพลังงานทดแทน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ทำให้คนรายได้น้อยปรับตัวได้ยากกว่า
หากย้อนกลับไปช่วงน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยเมื่อปี 2011 ค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมและฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่และเศรษฐกิจของทั้งประเทศสูงถึง 4.6 หมื่นล้าน USD [3] และเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลกลางสหรัฐฯได้เปิดเผยว่าอาจจะต้องใช้งบประมาณประมาณปีละ 2.2 ล้านล้าน USD ต่อปี ไปกับการรับมือกับภาวะโลกร้อน [4] ขณะที่ USAID ประเมินว่าประเทศไทยมีต้นทุนจากสภาพภูมิอากาศจากความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม อุตสาหกรรม และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.8 แสนล้าน USD ต่อปีจนกว่าจะถึงปี 2030 [5] ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจและเป็นต้นทุนทางสังคมที่ผู้เสียภาษี (taxpayers) และผู้บริโภค (consumers) ต้องแบกรับจากงบประมาณที่ภาครัฐหรือภาคธุรกิจใช้ไปในการประกันความเสี่ยง เช่น การประกันความเสียหายจากน้ำท่วม การประกันพืชผลทางการเกษตร การประกันสุขภาพ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถรองรับภัยพิบัติ รวมถึงการใช้งบประมาณเพื่อวิธีการต่างๆในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การมองปัญหาโลกร้อนในปัจจุบันจึงไม่ควรมองจากเฉพาะมุมมองด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ควรมองด้วยมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ การวิเคราะห์ผลกระทบและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Impact and Risk Analysis) ได้กลายมาเป็นกระบวนการสำคัญในหลายประเทศเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ในอนาคต เช่นในกรณีเกิดภัยพิบัติร้ายแรง รัฐบาลต้องจัดทำสิ่งสาธารณูโภคพื้นฐานและดูแลกลุ่มเปราะบาง ผู้ประกอบธุรกิจต้องหาวิธีการบริหารจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานให้สะดุดลงน้อยที่สุด ผู้บริโภคอาจต้องใช้ความรอบคอบมากขึ้นในการตัดสินใจบริเวณที่จะอยู่อาศัยและทำประกันภัยพิบัติแก่อสังหาริมทรัพย์ [6]
University of California at Berkeley ได้เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า ต้นทุนจากภาวะโลกร้อนที่สูงที่สุดในประเทศสหรัฐอเมริกาคือต้นทุนด้านสุขภาพ โดยเฉพาะในช่วงที่อุณภูมิร้อนจัด สอดคล้องกับในประเทศสเปนและประเทศโปรตุเกส ที่มีผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนถึง 2,000 คนภายในเดือนเดียว (สิงหาคม 2022) ความเสี่ยงสำคัญอีกประการคือผลผลิตทางการเกษตรที่ไม่เป็นไปตามฤดูกาล (crop failure) เพราะอาจนำไปสู่วิกฤตด้านความมั่นคงทางอาหาร (food security) ในอนาคต สำหรับในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา United Nations Environment Program (UNEP) คาดการณ์ว่าร้อยละ 54 ของงบประมาณรัฐบาลจะเป็นต้นทุนด้านการปรับตัว (adaptation costs) โดยเฉพาะการสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อรับมือกับอุทกภัยและระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างกำแพงกันคลื่น (seawall) การพัฒนาระบบขนส่งทางรางเพื่อช่วยลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัวก็นับเป็นต้นทุนที่นำมาคำนวณด้วย [7]
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากสภาพภูมิอากาศที่เรียกว่า “social cost of carbon” จุดประสงค์ของตัวเลขนี้มีขึ้นเพื่อประเมินประสิทธิภาพและความคุ้มค่าของการตัดสินใจ กฎระเบียบ นโยบาย รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐบาลใช้รับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นักวิจัยที่เสนอแนวคิดนี้คำนวณว่าประชาชนจะต้องจ่ายเงิน 185 USD ต่อการปล่อยคาร์บอน 1 ตัน ในขณะที่รัฐบาลโอบามาประเมินตัวเลขได้ 51 USD และรัฐบาลทรัมป์ประเมินว่าการปล่อยคาร์บอน 1 ตันสู่ชั้นบรรยากาศมีต้นทุนเพียง 7 USD เท่านั้น [8] อย่างไรก็ตามการประเมินค่าตัวเลขนี้ให้ไม่ต่ำจนเกินไปก็น่าจะเป็นการทำให้รัฐบาลตื่นตัวในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (low-emissions economy) เพื่อลดต้นทุนจากภาวะโลกร้อนในระยะยาว ด้วยการสนับสนุนการลงทุนในเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพลังงานสะอาด เช่น พลังงานหมุนเวียนและพลังงานไฮโดรเจน [9] การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเตรียมรับมือกับภัยพิบัติและอุณหภูมิที่สูงขึ้น การออกมาตรการจูงใจให้เอกชนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะมาตรการด้านราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) อย่างระบบภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) และระบบการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading Scheme : ETS)
หากพูดถึงเรื่องการเก็บ Carbon Tax มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ภายใต้นโยบาย Green Deal เพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเข้ามาในสหภาพยุโรป อาจทำให้มีผู้โต้แย้งว่าถึงอย่างไรบริษัทต่างๆก็สามารถผลักภาระในการจ่ายภาษีคาร์บอนไปให้ผู้บริโภคได้ โดยเฉพาะในธุรกิจที่มีผู้ให้บริการน้อยรายอย่างไฟฟ้าและน้ำมันเชื้อเพลิง เรื่องนี้เป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว หากรัฐบาลสามารถจัดโครงสร้างภาษีคาร์บอนให้เกิดความเป็นธรรมได้ เช่นในรัฐ British Columbia ของประเทศแคนาดา ผู้บริโภคที่จ่ายเงินซื้อสินค้าจะได้รับส่วนแบ่ง (dividend) เพื่อเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าหรือค่าน้ำมันที่สูงขึ้นจากภาษีคาร์บอน ถือเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง เพราะอาจเลือกที่จะเก็บเงินส่วนนี้แทนการจ่ายภาษีคาร์บอน [10]
ปัจจุบันประเทศต่างๆเริ่มหันมาใช้วิธีการลดความเสี่ยงแบบเชิงรุก (proactive risks mitigation) ควบคู่ไปกับนโยบายที่ช่วยส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะการฟื้นฟูภายหลังจากที่เกิดภัยพิบัติขึ้นแล้วและการเพิกเฉยไม่ทำอะไรมีต้นทุนที่สูงกว่ามาก เช่นในประเทศเยอรมนี – รัฐบาลต้องการช่วยลดค่าครองชีพและหาแนวทางสำหรับการบรรลุเป้าหมาย Net-Zero Nation จึงทดลองจำหน่ายตั๋วขนส่งสาธารณะเพียง 9 ยูโรต่อเดือน (ประมาณ 330 บาท) ให้กับประชาชน 52 ล้านคนระหว่างเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมที่ผ่านมา ผลที่ได้คือสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากยานพาหนะได้ถึง 1.8 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 7 ของมลพิษทางอากาศในประเทศ [11] อีกกรณีที่น่าสนใจคือประเทศสิงคโปร์ – เพื่อลดผลกระทบจากคลื่นความร้อน (urban heat effect) ที่ทำให้ประเทศสิงคโปร์มีจำนวนเครื่องปรับอากาศต่อจำนวนประชากรสูงที่สุดในอาเซียน รัฐบาลจึงได้เริ่มโครงการ Cooling Singapore ในปี 2017 เพื่อหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุด (multi-disciplinary research) ในการลดความร้อนของเกาะ เช่นการปลูกต้นไม้บนดาดฟ้าอาคาร การออกแบบอาคารให้ช่องลมผ่านได้ การวางระบบหล่อเย็นขนาดใหญ่ในย่านธุรกิจ และรัฐบาลยังมีแผนที่จะปลูกต้นไม้ให้ได้ 1 ล้านต้นภายในปี 2030 [12]
หันกลับมามองที่ประเทศไทย
ความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงสิบปีกว่าปีที่ผ่านมาทำให้สังคมถูกเบี่ยงเบนความสนใจและให้ความสำคัญกับวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าที่ควรจะเป็น
ทั้งที่ประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นหนึ่งในบริเวณที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
[13] แม้ว่ารายได้ของประเทศจะมาจากภาคอุตสาหกรรม
แต่ประชากรกว่าร้อยละ 40 ยังคงทำงานอยู่ในภาคการเกษตรและประมงที่ต้องพึ่งพาสภาพอากาศเป็นหลัก
ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เช่น น้ำท่วม
ภัยแล้ง จึงไม่จำกัดเพียงผลกระทบทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นต้นทุนทางสังคมด้วย
โดยเฉพาะการเคลื่อนย้ายแรงงานจากสังคมชนบทมาสู่สังคมเมือง รวมไปถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทย
การทะลักเข้ามาของคนจำนวนมาก นอกจากจะเพิ่มความเสี่ยงอาชญากรรม การค้ายาเสพติด และโรคติดต่อร้ายแรง
ยังส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานภายใน ระบบสาธารณสุขและการศึกษาของประเทศ [14]
ในระดับระหว่างรัฐ
ประเทศไทยมีต้นทุนด้านความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและภูมิรัฐศาสร์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ต้องให้ความสำคัญจากเหตุสองประการ คือ การเพิ่มจำนวนของแรงงานผิดกฎหมายซึ่งทำให้ประเทศไทยเป็นที่จับตามองจากสังคมระหว่างประเทศในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน
และการจัดการทรัพยากรในแม่น้ำโขงร่วมกันระหว่างประเทศในแม่น้ำโขงตอนล่าง (ไทย ลาว
กัมพูชา เวียดนาม) และประเทศจีนในกรอบคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong
River Commission : MRC) [15] ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้สหรัฐอเมริกาเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคในฐานะหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง
(Mekong-U.S. Partnership) ซึ่งในแง่หนึ่งอาจทำให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างเท่าเทียมและมีองค์ความรู้ใหม่ๆมากขึ้น
แต่อีกแง่หนึ่งก็อาจทำให้ปัญหาที่มีอยู่เดิมนั้นซับซ้อนมากขึ้นอีก
จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครอบคลุมทุกมิติ
และเป็นต้นทุนที่สูงมากที่ทุกคนจะต้องร่วมกันจ่าย การเห็นประเทศต่างๆร่วมกันแสดงจุดยืนในเวทีอย่าง
COP26
หรือร่วมกันบรรลุข้อตกลง Paris Agreement เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการตระหนักถึงความสำคัญและกำหนดเป้าหมายเพื่อลดภาวะโลกร้อน
แต่การร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังจะต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมือง (political
will) ของแต่ละรัฐบาลในการกำหนดนโยบายที่สอดคล้องกับบริบทประเทศและสร้างคุณค่าใหม่ร่วมกัน
ให้คนสังคม เพื่อให้การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเศรษฐกิจสามารถเติบโตได้ไปพร้อมกัน
---------------------------------------------
* นักพัฒนาระบบราชการปฏิบัติการ
(โครงการ นปร.) สำนักงาน ก.พ.ร. ฝึกปฏิบีติงาน ณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
References
[1] UN Thailand, ‘Climate Change’ <https://thailand.un.org/en/173511-climate-change>
accessed 2 September 2022
[2] EPA, ‘Global Greenhouse Gas Emission Data’ (EPA, 2014)
<https://www.epa.gov/ghgemissions/global-greenhouse-gas-emissions-data>
accessed 4 September 2022
[3] OpenDevelopment Thailand, ‘Climate Change’ (ODM, 12 February 2018) <https://thailand.opendevelopmentmekong.net/topics/climate-change/#ref-340-9>
accessed 2 September 2022
[4] Emma Newburger, ‘Climate change could cost U.S.
$2 trillion each year by the end of the century, White House says’ (CNBC, 4
April 2022) <https://www.cnbc.com/2022/04/04/climate-change-could-cost-us-2-trillion-each-year-by-2100-omb.html>
accessed 2 September 2022
[5] John Talberth, Climate Change in the Lower
Mekong Basin: An Analysis of Economic Values at Risk (USAID
Mekong ARCC, 2014)
[6] Sanjay Patnaik, ‘What is climate risk and why
does it matter?’ (Brookings, 1 September 2022) <https://www.brookings.edu/blog/up-front/2022/09/01/what-is-climate-risk-and-why-does-it-matter/>
accessed 2 September 2022
[7] UNOPS, Infrastructure for climate action
(UNOPS 2021)
[8] Dino Grandoni and Brady Dennis, ‘Cost of
climate change far surpass government estimates, study says’ (The Washington
Post, 1 September 2022) <https://www.washingtonpost.com/climate-environment/2022/09/01/costs-climate-change-far-surpass-government-estimates-study-says/>
accessed 3 September 2022
[9] Deloitte, ‘Deloitte Report: Inaction on Climate
Change Could Cost the US Economy $14.5 Trillion by 2070’ (Deloitte,
25 January 2022) <https://www2.deloitte.com/us/en/pages/about-deloitte/articles/press-releases/deloitte-report-inaction-on-climate-change-could-cost-the-us-economy-trillions-by-2070.html>
accessed 4 September 2022
[10] Andrew Moseman and Christopher Knittel, ‘Will
companies pass on the cost of a carbon tax to consumers’ (Climate
Portal, 11 January 2022) <https://climate.mit.edu/ask-mit/will-companies-pass-cost-carbon-tax-consumers>
accessed 4 September 2022
[11] Tom Crowfoot, ‘How are the world’s biggest
emitters cutting down? 5 climate change stories to read this week’ (World Economic Forum, 2 September 2022) <https://www.weforum.org/agenda/2022/09/climate-change-latest-stories-02-september?>
accessed 4 September 2022
[12] Faris Mokhtar, ‘This Is How Singapore Keeps
Its Cool as the City Heats Up’ (Bloomberg, 2 December 2020) <https://www.bloomberg.com/news/features/2020-12-01/singapore-climate-change-reducing-heat-takes-trees-and-technology>
accessed 4 September 2022
[13] ADB, The Economics of Climate Change in
Southeast Asia: A Regional Review (ADB 2009)
[14] Danny Mark, ‘Climate Change in Thailand:
Impact and Response’ (2011) CSEA <DOI:
10.1353/csa.2011.0132> accessed 5 September 2022
[15] Ibid
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น