วันพุธที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แนวคิดเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล

นายปกรณ์ นิลประพันธ์[๑]

                   นับแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ ๑๒/๒๕๕๕ ว่ามาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ ที่บัญญัติให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลซึ่งกระทำความผิดและต้องรับโทษตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น เป็นอันขัดต่อมาตรา ๓๙ วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย วงวิชาการด้านนิติศาสตร์ก็ได้มีการอภิปรายถกเถียงในเรื่องบทสันนิษฐานความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคลอยู่มากเพราะศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยนี้โดยเสียงข้างมาก ๕ ต่อ ๔ อันแสดงให้เห็นว่าแนวความคิดในเรื่องนี้ของศาลรัฐธรรมนูญเองก็ยังไม่ตกผลึก

                   ผู้เขียนเห็นว่าการอภิปรายในเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่ดีและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคลและผู้แทนนิติบุคคลในระบบกฎหมายไทยว่าเราสมควรถือว่านิติบุคคลกระทำความผิดอาญาได้หรือไม่ หากยอมรับว่านิติบุคคลกระทำความผิดอาญาได้ จะรับโทษอาญาอย่างไร เพราะนิติบุคคลเป็นบุคคลสมมุติที่กระทำการต่าง ๆ ผ่านผู้แทนของนิติบุคคล แต่หากไม่ยอมรับว่านิติบุคคลกระทำความผิดอาญาได้ เราจะมีกลไกในการจัดการกับเรื่องนี้อย่างไร

                   อย่างไรก็ดี สิ่งที่ผู้เขียนสนใจคือคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญก็ดี ข้อวิพากษ์วิจารณ์เท่าที่ผู้เขียนได้ยินได้ฟังมาก็ดี กล่าวถึงการปรับปรุงวิธีการเขียนบทสันนิษฐานความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคลและผลที่เกิดขึ้นจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเสียเป็นส่วนมาก แทบจะไม่มีใครกล่าวถึงแนวความคิดทางวิชาการเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคลอันเป็นเหตุแห่งปัญหาเลย ผู้เขียนจึงได้ศึกษาหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคลในระบบกฎหมายของต่างประเทศและเรียบเรียงเป็นบทความนี้ขึ้น โดยบทความนี้จะไม่กล่าวถึงการกำหนดบทสันนิษฐานความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคลในระบบกฎหมายของต่างประเทศ เนื่องจากเห็นว่าหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ ๑๒/๒๕๕๕ ได้มีนักวิชาการให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้มากพอสมควรแล้ว จึงไม่จำเป็นที่ต้องศึกษาซ้ำอีก

                   ผู้เขียนพบว่าหลักเกณฑ์เกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคลเป็นผลมาจากการผสมผสานแนวคิดทางกฎหมาย ๒ เรื่องเข้าด้วยกัน คือ ความเป็นนิติบุคคลเรื่องหนึ่ง กับความรับผิดทางอาญาอีกเรื่องหนึ่ง โดยเรื่องความเป็นนิติบุคคลนั้นปรากฏในทางตำราว่าหลักกฎหมายเรื่องนิติบุคคลมิได้พัฒนามาจากหลักกฎหมายโรมัน โดยระบบกฎหมายโรมันมีแต่เรื่องบุคคลธรรมดา (persona) เท่านั้น[๒] แต่หลักกฎหมายเรื่องความเป็นนิติบุคคลเกิดขึ้นจากระบบกฎหมายที่นักนิติศาสตร์ไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก นั่นคือ “กฎหมายพระ” (Canon Law) ของคริสตจักร โดยเมื่อคริสตจักรมีอิทธิพลต่อระบบการเมือง การปกครอง และกฎหมายในทวีปยุโรป กฎหมายพระได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งกฎหมายของอาณาจักรด้วย ซึ่งประมวลกฎหมายของศาสนจักร (Code of Canon Law) บรรพ ๑ ภาค ๖ หมวด ๒ ยอมรับว่านอกจากบุคคลธรรมดา (personas physicas) แล้ว ยังมี “นิติบุคคล” (personae iuridicae) ด้วย โดยนิติบุคคลนี้เกิดขึ้นโดยการรวมเข้ากัน (universitates) ของบุคคลธรรมดาตั้งแต่สามคนขึ้นไป (universitates personarum) หรือการรวมเข้ากันของกองทรัพย์สิน (universitates rerum) เพื่อดำเนินกิจการอันเป็นการจรรโลงพระศาสนา โดยนิติบุคคลจะดำเนินการในเรื่องใดเรื่องหนึ่งผ่านบุคคลธรรมดาหรือคณะบุคคล (personae collegiums) ซึ่งมีอำนาจบริหารจัดการ และนิติบุคคลนี้มีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบเป็นของตนเองแยกออกได้จากสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของบุคคลธรรมดาหรือกองทรัพย์สินที่เข้ามารวมเข้ากันนั้น[๓]

                   การเกิดขึ้นของแนวคิดว่าด้วยนิติบุคคลดังกล่าวก่อให้เกิดปัญหาในทางกฎหมายตามมาว่า ในกรณีที่นิติบุคคลกระทำความผิดที่มีโทษอาญา นิติบุคคลนั้นต้องรับผิดทางอาญาหรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้พระสันตปะปาอินโนเซนต์ที่ ๔[๔] ซึ่งทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายพระเนื่องจากทรงเคยเป็นผู้สอนกฎหมายพระในมหาวิทยาลัยโบโลนญ่ามาก่อน ได้มีพระวินิจฉัยในเรื่องนี้ว่าบุคคลธรรมดานั้นเป็นสิ่งมีชีวิตที่จับต้องได้และมีชีวิตจิตใจ (Willpower and soul) เป็นของตนเองจึงสามารถแสดงเจตนาร้าย (mens rea) ได้ บุคคลธรรมดาจึงกระทำความผิดอาญา (actus reus) ได้ และบุคคลธรรมดาเป็น “พสก” หรือผู้อยู่ใต้ปกครอง (subject) ที่แท้จริงของพระเจ้าและกษัตริย์ เมื่อบุคคลธรรมดากระทำความผิดอาญา พระเจ้าและกษัตริย์จึงมีพระราชอำนาจที่จะลงโทษอาญาแก่บุคคลธรรมดาได้ แต่สำหรับนิติบุคคลนั้น ทรงมีพระวินิจฉัยว่าเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ไม่มีชีวิตจิตใจ การดำเนินการต่าง ๆ ของนิติบุคคลต้องกระทำผ่านบุคคลธรรมดาหรือคณะบุคคลผู้มีอำนาจบริหารจัดการนิติบุคคลนั้น นิติบุคคลจึงไม่อาจมีเจตนาร้ายได้ และไม่สามารถกระทำความผิดอาญาได้ด้วยตนเอง (societas delinquere non potest) ดังนี้ การลงโทษอาญาแก่นิติบุคคลจึงไม่อาจกระทำได้

                   ในระยะแรก พระวินิจฉัยของพระสันตปะปาอินโนเซนต์ที่ ๔ ถือเป็นที่ยุติ แต่เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปและฝ่ายอาณาจักรได้นำแนวคิดเรื่องนิติบุคคลมาประยุกต์ใช้ในการประกอบธุรกิจแทนที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อจรรโลงพระศาสนาเพียงประการเดียว การดำเนินกิจการของนิติบุคคลจึงทวีความสำคัญมากขึ้น ปัญหาว่านิติบุคคลกระทำความผิดอาญาได้หรือไม่และรับโทษทางอาญาได้หรือไม่จึงถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นถกเถียงทางวิชาการในหมู่นักนิติศาสตร์อีกครั้ง ซึ่งสามารถแยกออกได้เป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายที่เห็นว่านิติบุคคลไม่สามารถกระทำผิดอาญาได้ กับฝ่ายที่เห็นว่านิติบุคคลสามารถกระทำความผิดอาญาได้

                   ฝ่ายที่เห็นว่านิติบุคคลไม่สามารถกระทำผิดอาญาได้

                   นักนิติศาสตร์เยอรมันนั้นยึดหลักว่านิติบุคคลกระทำความผิดอาญาไม่ได้ตาม พระวินิจฉัยของพระสันตปะปาอินโนเซนต์ที่ ๔ อย่างเหนียวแน่น โดยนักนิติศาสตร์เยอรมันถือว่าความรับผิดอาญาต้องประกอบด้วยการกระทำความผิด (actus reus) และเจตนาร้าย (mens rea) เมื่อนิติบุคคลเป็นบุคคลที่กฎหมายสมมุติขึ้น ไม่มีตัวตน จึงไม่อาจกระทำความผิดอาญาได้ด้วยตนเอง และที่สำคัญนิติบุคคลไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่อาจมีเจตนาร้ายได้ จึงไม่ครบองค์ประกอบของการกระทำความผิดอาญา อีกทั้งลักษณะทางกายภาพของนิติบุคคลก็ไม่เหมาะกับวัตถุประสงค์ของการลงโทษอาญา นักนิติศาสตร์เยอรมันจึงถือว่านิติบุคคลไม่สามารถกระทำความผิดอาญาได้ และไม่สามารถ
รับโทษอาญาได้

                   เมื่อยึดหลักเช่นนี้เสียแล้ว จึงมีคำถามเกิดขึ้นตามมาว่า หากนิติบุคคลได้กระทำการที่มิชอบด้วยกฎหมาย รัฐจะจัดการกับนิติบุคคลนั้นอย่างไร นักนิติศาสตร์เยอรมันเห็นว่า แม้การลงโทษทางอาญาแก่นิติบุคคลจะกระทำมิได้ แต่โดยที่นิติบุคคลเป็นบุคคลสมมุติและกระทำการต่าง ๆ ผ่านผู้แทนนิติบุคคล บุคคลเหล่านี้ต่างหากที่ต้องถูกลงโทษอาญา จึงมีการตรากฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดที่มิชอบด้วยกฎหมายและต้องถูกตำหนิ Ordnungswidrigkeitsgesetz (OWiG) ขึ้น โดยมาตรา ๓๐[๕] แห่งกฎหมายดังกล่าวบัญญัติว่า ในกรณีผู้กระทำความผิดอาญาเป็นผู้รับมอบอำนาจให้กระทำการแทนนิติบุคคล พนักงานของนิติบุคคล ประธานกรรมการหรือกรรมการของนิติบุคคล หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วน หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการนิติบุคคลนั้น และที่สำคัญการกระทำของบุคคลดังกล่าวทำให้นิติบุคคลนั้นได้รับหรืออาจได้รับประโยชน์จากการกระทำความผิด บุคคลนั้นต้องระวางโทษปรับอาญาไม่น้อยกว่าหนึ่งล้านยูโรในกรณีที่มีเจตนากระทำความผิด หรือห้าแสนยูโรในกรณีที่การกระทำความผิดอาญานั้นเกิดขึ้นจากความประมาทเลินเล่อของบุคคลดังกล่าว ส่วนตัวนิติบุคคลนั้นระบบเยอรมันใช้การลงโทษทางปกครองแทน เช่น ห้ามกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต เป็นต้น

                   นักนิติศาสตร์สายละตินไม่ว่าจะเป็นอิตาลี โปรตุเกส กรีซ และสเปน ต่างยึดหลัก societas delinquere non potest อย่างเคร่งครัดเช่นเดียวกับนักนิติศาสตร์เยอรมัน โดยกรณีอิตาลีนั้นถ้าผู้แทนนิติบุคคลกระทำความผิด นิติบุคคลต้องรับโทษทางปกครอง เช่น ห้ามกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต ห้ามทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ ถูกเพิกถอนหรือไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงิน ห้ามโฆษณา หรือปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งล้านห้าแสนยูโร เป็นต้น แต่ผู้แทนนิติบุคคลต้องรับผิดทางอาญาตาม Legge 29 settembre 2000, n. 300 และ Decreto Legislativo 8 giugno 2001, n. 231 โดยหากผู้แทนโดยชอบด้วยกฎหมายของนิติบุคคล ผู้ดำรงตำแหน่งหรือมีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารจัดการนิติบุคคล ผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการและควบคุมนิติบุคคลตามความเป็นจริง หรือผู้ดำเนินการตามคำสั่งของบุคคลดังกล่าวข้างต้นเป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนการกระทำความผิดอาญาและนิติบุคคลดังกล่าวได้รับผลประโยชน์จากการกระทำความผิดนั้น บุคคลดังกล่าวต้องรับผิดทางอาญาในฐานะผู้แทนนิติบุคคล แต่หากเป็นการกระทำที่นิติบุคคลมิได้รับผลประโยชน์อันใดจากการกระทำความผิดนั้น บุคคลดังกล่าวต้องรับผิดทางอาญาในฐานะส่วนตัว

                   ฝ่ายที่เห็นว่านิติบุคคลสามารถกระทำผิดอาญาได้

                   ฝ่ายที่เห็นว่านิติบุคคลสามารถกระทำความผิดอาญาได้นั้น หลัก ๆ ได้แก่ นักนิติศาสตร์ฝรั่งเศส อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เป็นต้น โดยกรณีฝรั่งเศสนั้นแม้จะได้รับอิทธิพลจากระบบกฎหมายพระอยู่มาก แต่นักนิติศาสตร์ฝรั่งเศสเห็นว่าเมื่อนิติบุคคลสามารถแยกออกได้จากบุคคลธรรมดาที่เข้ามารวมเข้ากันนั้น อีกทั้งมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบเป็นของตนเอง นิติบุคคลจึงย่อมกระทำความผิดอาญาได้ รวมทั้งต้องรับโทษอาญาได้ด้วย โดยหลักการดังกล่าวบัญญัติไว้ชัดเจนใน Grande Ordonnance Criminelle 1670[๖] 

                   อย่างไรก็ดี เมื่อมีการปฏิวัติฝรั่งเศสในปี ๑๗๘๙ รัฐบาลคณะปฏิวัติต้องการใช้เงินในการฟื้นฟูประเทศ แต่โดยที่รัฐบาลฝรั่งเศสในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๖ อยู่ในภาวะเกือบล้มละลายเนื่องจากใช้เงินจำนวนมหาศาลไปกับสงครามเจ็ดปีกับอังกฤษ และการช่วยเหลือชาวอเมริกันทำสงครามปลดปล่อย รัฐบาลคณะปฏิวัติจึงต้องหาเงินจากทางอื่นและพบว่าทรัพย์สินจำนวนมหาศาลของประเทศนั้นอยู่ในความครอบครองของนิติบุคคลซึ่งส่วนใหญ่จัดตั้งขึ้นโดยชนชั้นสูง และโดยที่สภาพข้อเท็จจริงก่อนการปฏิวัติแสดงให้เห็นว่านิติบุคคลเหล่านี้มีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจและการเมืองสูงมาก รัฐบาลคณะปฏิวัติจึงสั่งให้ยุบเลิกและริบทรัพย์สินของนิติบุคคลจำนวนมากให้ตกเป็นของรัฐโดยอ้างว่านิติบุคคลเหล่านี้เป็นภัยคุกคามต่อการปกครองประเทศและขัดต่อหลักปัจเจกชนนิยม (individualism) อันเป็นหลักสำคัญของการปฏิวัติ การริบทรัพย์สินของนิติบุคคลดังกล่าวทำให้ผู้คนเข็ดขยาดในการจัดตั้งนิติบุคคลขึ้นเพื่อประกอบธุรกิจเพราะเกรงจะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก การประกอบกิจการของนิติบุคคลในฝรั่งเศสภายหลังการปฏิวัติในปี ๑๗๘๙ จึงคลายความสำคัญลงจนถึงขนาดที่ว่าผู้ร่างประมวลกฎหมายอาญาฝรั่งเศสที่บังคับใช้ในปี ๑๘๑๐ มิได้บัญญัติเรื่องความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคลไว้เหมือนเช่นที่ผ่านมา ความรับผิดทางอาญาของผู้แทนนิติบุคคลจึงถือเป็นความรับผิดส่วนตัวอันเป็นการกลับหลักการที่ยึดถือมาแต่เดิม

                   ต่อมา เมื่อการค้ากับต่างประเทศกลับมาเจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกครั้งในศตวรรษที่ ๑๙ นิติบุคคลได้กลับมามีความสำคัญขึ้นอีกครั้งหนึ่งในฝรั่งเศส แต่ปรากฏอยู่เสมอว่ามีการใช้ช่องว่างของกฎหมายที่ถือว่านิติบุคคลกระทำความผิดอาญามิได้เป็นช่องทางในการละเมิดกฎหมาย แต่โดยที่ประมวลกฎหมายอาญาฝรั่งเศสไม่มีเรื่องความรับผิดอาญาของนิติบุคคล จึงไม่มีมาตรการจัดการกับนิติบุคคลเหล่านี้อย่างเหมาะสม จึงได้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในปี ๑๙๙๒ เพื่อกำหนดให้นิติบุคคลต้องรับผิดทางอาญาขึ้นอีกครั้งหนึ่งหลังจากไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวหายไปจากระบบกฎหมายฝรั่งเศสถึง ๑๘๒ ปี และในประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่ (Nouveau Code Penale) ที่ตราขึ้นในปี ๑๙๙๔ นั้น มาตรา ๑๒๑-๒[๗] บัญญัติว่าบรรดานิติบุคคลทั้งหลายนอกจากรัฐต้องรับผิดอาญาในการกระทำของหน่วยงานหรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น
  
                 สำหรับอังกฤษนั้น แรกเริ่มเดิมทีนั้นนิติบุคคลมีอยู่เป็นจำนวนน้อยและส่วนใหญ่เป็นนิติบุคคลที่อยู่ภายใต้พระอุปถัมภ์ของพระราชาหรือพระราชินีแห่งอังกฤษทั้งสิ้น อีกทั้งเห็นว่านิติบุคคลเป็นสิ่งที่กฎหมายสมมุติขึ้นและทำกิจการต่าง ๆ ได้เฉพาะภายในขอบอำนาจที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น การกระทำใดที่มากไปกว่าที่กฎหมายกำหนดถือว่าเป็นการกระทำนอกขอบอำนาจ (ultra vires) และนิติบุคคลไม่มีชีวิตจิตใจจึงไม่อาจมีเจตนาร้าย (mens rea) อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของความรับผิดอาญาได้ นักนิติศาสตร์อังกฤษจึงเห็นว่านิติบุคคลไม่อาจกระทำความผิดอาญาได้และไม่อาจรับโทษอาญาได้ แต่โดยที่การดำเนินการของนิติบุคคลกระทำผ่านผู้แทนของนิติบุคคล ผู้แทนของนิติบุคคลจึงอาจต้องรับผิดอาญาหากพิสูจน์ได้ว่ากระทำความผิด

                   ต่อมาในศตวรรษที่ ๑๖ และ ๑๗ การจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อประกอบธุรกิจได้กลายเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งหากถือตามหลักเดิมที่ว่าผู้แทนนิติบุคคลเท่านั้นที่ต้องรับผิดทางอาญา ขณะที่ตัวนิติบุคคลไม่ต้องรับผิดทางอาญา และผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการนิติบุคคลตามความเป็นจริงแต่มิได้มีฐานะเป็นผู้แทนนิติบุคคลเองก็ไม่ต้องรับผิดทางอาญา จึงเกิดกรณีผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการนิติบุคคลตามความเป็นจริงแต่มิได้มีฐานะเป็นผู้แทนนิติบุคคลใช้หรือหลอกลวงให้ผู้มีชื่อเป็นผู้แทนนิติบุคคลกระทำการอันเป็นความผิดอาญาเพื่อหาประโยชน์แก่ตนเสมอ รวมทั้งมีกรณีที่คณะกรรมการบริษัทซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบายและกำกับดูแลการดำเนินงานของบริษัทมีการประชุมเพียงปีละ ๑-๒ ครั้งเท่านั้น ซึ่งคณะกรรมการบริษัทก็กำหนดนโยบายของบริษัทไม่ขัดต่อกฎหมาย แต่ในการดำเนินงานตามนโยบายนั้น ผู้จัดการหรือพนักงานของบริษัทไปกระทำความผิดอาญาขึ้น จึงมีการฟ้องคณะกรรมการบริษัทให้รับผิด และมีคดีเช่นนี้ขึ้นสู่ศาลจำนวนมาก เช่น ในคดี Bolton (Engineering) Co. v. Graham[๘] ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าคณะกรรมการบริษัทประชุมเพียงปีละครั้งเท่านั้น ส่วนการดำเนินงานต่าง ๆ คณะกรรมการให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดการหรือพนักงานของบริษัท เป็นต้น กรณีจึงมีปัญหาว่าคณะกรรมการบริษัทต้องรับผิดในความผิดอาญาที่ผู้จัดการได้ทำลงในระหว่างการทำงานหรือไม่

                   ในคดี Tesco Supermaket Ltd. V. Natrass[๙] ศาลอังกฤษได้วางบรรทัดฐาน[๑๐]เกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาของนิติบุคคลไว้โดยศาลยืนยันความเห็นของ Lord Denning ในคดี Bolton (Engineering) Co. v. Graham[๑๑] ว่านิติบุคคลนั้นเปรียบได้กับร่างกายของมนุษย์ โดยบุคคลธรรมดาที่ประกอบเข้ากันเป็นนิติบุคคลนั้นจะทำหน้าที่แตกต่างกัน โดยปกติคณะกรรมการบริษัทก็ดี กรรมการผู้จัดการก็ดี ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในบริษัทก็ดี มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการ ตลอดจนแสดงออกและกระทำการต่าง ๆ ในนามของบริษัทซึ่งเป็นนิติบุคคล เปรียบได้กับสมองและระบบประสาทของมนุษย์ แต่เจ้าหน้าที่ระดับล่างไม่มีอำนาจหน้าที่เช่นนั้น คงทำได้แต่เพียงในเรื่องที่คณะกรรมการบริษัท กรรมการผู้จัดการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในบริษัทซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการ ตลอดจนแสดงออกและกระทำการต่าง ๆ ในนามของบริษัทเป็นผู้สั่งการ จึงกล่าวได้ว่าเจตนาและการกระทำของผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการบริษัทถือได้ว่าเป็นเจตนาและการกระทำของนิติบุคคลนั้น ซึ่งรวมถึงเจตนาร้าย (mens rea) และการกระทำความผิดอาญา (actus reus) ด้วย

                   อย่างไรก็ดี บรรทัดฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาของนิติบุคคลตามคำพิพากษาดังกล่าวไม่เหมาะที่จะประยุกต์ใช้กับนิติบุคคลที่มีลักษณะเป็นองค์กรขนาดใหญ่และมีโครงสร้างการบริหารจัดการที่ซับซ้อน และมีการมอบอำนาจให้หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ระดับต่าง ๆ กระทำการบางอย่างในนามของนิติบุคคลนั้นได้ด้วยนอกจากคณะกรรมการ กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนนิติบุคคล อีกทั้งเป็นการยากที่จะพิสูจน์เจตนาร้าย (mens rea) ของบุคคลดังกล่าวด้วย

                   เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว นักนิติศาสตร์อังกฤษจึงแบ่งความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคลออกเป็น ๒ ประเภท คือ ความรับผิดเด็ดขาด กับความรับผิดที่ต้องประกอบด้วยเจตนาร้าย โดยในกรณีความรับผิดเด็ดขาดนั้นถือว่าการกระทำความผิดอาญาของบุคลากรใด ๆ ของนิติบุคคลบรรดาที่ทำให้นิติบุคคลนั้นได้รับประโยชน์ ต้องถือว่านิติบุคคลนั้นกระทำความผิดอาญา ส่วนความรับผิดที่ต้องประกอบด้วยเจตนาร้ายนั้น หากบุคลากรของนิติบุคคลนั้นแสดงออกต่อผู้อื่นหรือทำให้ผู้อื่นเข้าใจได้ว่าตนเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคล และบุคคลนั้นกระทำการในขอบเขตงานที่จ้าง ก็จะถือว่านิติบุคคลนั้นกระทำความผิดอาญา  อย่างไรก็ดี โดยที่ความรับผิดเด็ดขาดนั้นมีขอบเขตกว้างกว่าความรับผิดที่ต้องประกอบด้วยเจตนาร้ายมาก ในทางปฏิบัติจึงพิสูจน์แต่เพียงว่านิติบุคคลได้รับประโยชน์จากการกระทำความผิดอาญาของบุคลากรก็เพียงพอแล้ว[๑๒]

                   ระบบกฎหมายของสหรัฐอเมริกายอมรับว่านิติบุคคลกระทำความผิดอาญาได้และ รับโทษอาญาได้[๑๓] โดยเป็นการผสมผสานแนวคิดเกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคลของอังกฤษเข้ากับหลัก respondeat superior[๑๔] กล่าวคือ นิติบุคคลต้องรับผิดทางอาญาหากพนักงานหรือลูกจ้างของตนกระทำความผิดอาญานั้นภายในขอบเขตแห่งการงานที่จ้างและในนามของนิติบุคคล หรือกระทำไปโดยมุ่งหมายให้นิติบุคคลได้รับประโยชน์จากการนั้น ทั้งนี้ ไม่ว่านิติบุคคลนั้นจะได้รับประโยชน์จากการกระทำความผิดอาญานั้นจริงหรือไม่ และไม่ว่าพนักงานหรือลูกจ้างนั้นจะดำรงตำแหน่งใด ๆ ในนิติบุคคลเพราะในทางความเป็นจริงแล้วการบริหารจัดการนิติบุคคลปัจจุบันมีความซับซ้อนและมีการมอบอำนาจภายในนิติบุคคลเพื่อให้บุคลากรต่าง ๆ ของนิติบุคคลทำงานในหน้าที่ได้โดยสะดวกอันเป็นประโยชน์ต่อนิติบุคคลนั้นเอง การตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ มิได้รวมศูนย์อยู่ที่ผู้มีอำนาจบริหารจัดการนิติบุคคล ผู้แทนนิติบุคคลเท่านั้น และเพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอก นักนิติศาสตร์อเมริกันมีความเห็นด้วยว่ากรณีไม่มีความจำเป็นต้องพิสูจน์ว่าพนักงานหรือลูกจ้างนั้นกระทำการนอกขอบอำนาจหรือโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือขัดต่อนโยบายของนิติบุคคลนั้นหรือไม่ เพราะนิติบุคคลย่อมต้องรับผิดชอบในบรรดาการกระทำของพนักงานหรือลูกจ้างที่ตนได้จ้างมาทำงานและเป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชาการปฏิบัติงานของพนักงานหรือลูกจ้างนั้น นิติบุคคลจึงไม่อาจยกเหตุที่ตนละเลยไม่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของพนักงานหรือลูกจ้างอย่างจริงจังมาเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้สุจริตได้ ซึ่งในทางตำราเรียกแนวคิดแบบอเมริกันนี้ว่า Aggregation Theory[๑๕]

                   กล่าวโดยสรุป ปัญหาว่านิติบุคคลกระทำความผิดอาญาได้หรือไม่ และรับโทษทางอาญาได้หรือไม่นั้น ในระบบกฎหมายโลกก็ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันเป็น ๒ แนวคิดหลัก โดยนักนิติศาสตร์สายละตินส่วนใหญ่ยังคงเห็นว่าการกระทำความผิดอาญาต้องประกอบด้วยการกระทำความผิดอาญาตามความเป็นจริง (actus reus) และผู้กระทำต้องมีเจตนาร้าย (mens rea) เมื่อนิติบุคคลไม่มีชีวิตจิตใจและไม่สามารถกระทำการต่าง ๆ ได้เอง นิติบุคคลจึงไม่อาจกระทำความผิดอาญาได้ การกระทำความผิดอาญาจึงเป็นการกระทำของผู้แทนนิติบุคคล ในแง่การรับโทษทางอาญานั้น โดยที่วัตถุประสงค์และวิธีการลงโทษอาญาส่วนใหญ่ เป็นการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานของบุคคลธรรมดา นักนิติศาสตร์สายละตินส่วนใหญ่จึงเห็นว่าโทษอาญานั้นไม่เหมาะที่จะนำไปใช้แก่นิติบุคคล แต่สามารถใช้กับผู้แทนนิติบุคคลผู้กระทำความผิดอาญาได้ ส่วนตัวนิติบุคคลนั้น แม้ไม่อาจรับโทษอาญาได้ แต่หากไม่มีมาตรการจัดการกับนิติบุคคลเหล่านี้อย่างเหมาะสม ก็อาจเกิดปัญหาได้ นักนิติศาสตร์สายละตินส่วนมากจึงพัฒนาโทษทางปกครองขึ้นใช้กับนิติบุคคลในกรณีที่ผู้แทนนิติบุคคลไปกระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมายแทน ไม่ว่าจะเป็นการห้ามกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง การพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต การห้ามทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ การเพิกถอนหรือยุติ การสนับสนุนทางการเงิน การห้ามโฆษณา หรือการปรับทางปกครองในอัตราสูงมาก เป็นต้น  ส่วนนักนิติศาสตร์สายละตินส่วนน้อยและนักนิติศาสตร์สาย Common Law นั้นเห็นว่า นิติบุคคลมีสถานะแยกต่างหากจากบุคคลธรรมดาที่ประกอบเข้ากันเป็นนิติบุคคลนั้น และมีการกระทำและเจตนาเป็นของตนเอง นิติบุคคลจึงสามารถกระทำความผิดอาญาได้ และรับโทษทางอาญาได้ นักนิติศาสตร์สายนี้จึงมิได้พัฒนาระบบโทษทางปกครองขึ้นมาใช้บังคับกับนิติบุคคลเป็นการเฉพาะเหมือนนักนิติศาสตร์สายละตินส่วนใหญ่ดังกล่าวมาแล้ว แต่โดยที่นิติบุคคลดำเนินการผ่านผู้แทนของนิติบุคคล นักนิติศาสตร์สายนี้จึงพัฒนาแนวคิดในการพิจารณาว่า การกระทำอย่างไรของผู้มีอำนาจบริหารจัดการนิติบุคคล ผู้แทนนิติบุคคล หรือพนักงานของนิติบุคคลที่จะถือได้ว่าเป็นการกระทำของนิติบุคคล ซึ่งนักนิติศาสตร์อังกฤษเห็นว่าโดยที่ผู้มีอำนาจบริหารจัดการนิติบุคคลหรือผู้แทนนิติบุคคลเปรียบได้กับสมองและระบบประสาทของนิติบุคคล เจตนาของบุคคลดังกล่าวจึงถือเป็นเจตนาของ
นิติบุคคล และการกระทำของบุคคลดังกล่าวภายในขอบอำนาจย่อมถือเป็นการกระทำของนิติบุคคล
(alter ego Theory) แต่นักนิติศาสตร์อเมริกันพัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง เนื่องจากเห็นว่าโครงสร้างการบริหารจัดการนิติบุคคลปัจจุบันมีความซับซ้อนและมีการมอบอำนาจภายในนิติบุคคลเพื่อให้บุคลากรต่าง ๆ ของนิติบุคคลทำงานในหน้าที่ได้โดยสะดวกอันเป็นประโยชน์ต่อนิติบุคคลนั้นเอง การผูกเจตนาร้ายของนิติบุคคลไว้เฉพาะกับผู้มีอำนาจบริหารจัดการนิติบุคคลหรือผู้แทนนิติบุคคลจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง นักนิติศาสตร์อเมริกันจึงเห็นว่านอกจากผู้มีอำนาจบริหารจัดการนิติบุคคลหรือผู้แทนนิติบุคคลแล้ว ยังต้องรวมไปถึงเจตนาร้ายของพนักงานของนิติบุคคลซึ่งกระทำการในทางที่จ้างและมุ่งก่อให้เกิดประโยชน์แก่นิติบุคคล ไม่ว่าพนักงานนั้นจะดำรงตำแหน่งใด ๆ และไม่ว่านิติบุคคลจะได้รับประโยชน์จากการกระทำนั้นจริงหรือไม่ หากการกระทำนั้นเป็นความผิดอาญา นิติบุคคลต้องร่วมรับผิดอาญานั้นด้วย (Aggregation Theory)

                       



[๑]กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ), สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (มิถุนายน ๒๕๕๕)
[๒]Barry Nicholas, An Introduction to Roman Law, Oxford University Press, 1972, pp.60-61.
[๓]รายละเอียดโปรดดู http://www.vatican.va/archive/ENG1104/_PD.HTM (ข้อมูล ณ วันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๕)
[๔]ค.ศ. ๑๑๙๕-๑๒๕๔
[๕]§ 30 Geldbuße gegen juristische Personen und Personenvereinigungen
(1) Hat jemand
1. als vertretungsberechtigtes Organ einer juristischen Person oder als Mitglied eines solchen Organs,
2. als Vorstand eines nicht rechtsfähigen Vereins oder als Mitglied eines solchen Vorstandes,
3. als vertretungsberechtigter Gesellschafter einer rechtsfähigen Personengesellschaft,
4. als Generalbevollmächtigter oder in leitender Stellung als Prokurist oder Handlungsbevollmächtigter einer juristischen Person oder einer in Nummer 2 oder 3 genannten Personenvereinigung oder
5. als sonstige Person, die für die Leitung des Betriebs oder Unternehmens einer juristischen Person oder einer in Nummer 2 oder 3 genannten Personenvereinigung verantwortlich handelt, wozu auch die Überwachung der Geschäftsführung oder die sonstige Ausübung von Kontrollbefugnissen in leitender Stellung gehört,
eine Straftat oder Ordnungswidrigkeit begangen, durch die Pflichten, welche die juristische Person oder die Personenvereinigung treffen, verletzt worden sind oder die juristische Person oder die Personenvereinigung bereichert worden ist oder werden sollte, so kann gegen diese eine Geldbuße festgesetzt werden.
(2) Die Geldbuße beträgt
1. im Falle einer vorsätzlichen Straftat bis zu einer Million Euro,
2. im Falle einer fahrlässigen Straftat bis zu fünfhunderttausend Euro.
Im Falle einer Ordnungswidrigkeit bestimmt sich das Höchstmaß der Geldbuße nach dem für die Ordnungswidrigkeit angedrohten Höchstmaß der Geldbuße. Satz 2 gilt auch im Falle einer Tat, die gleichzeitig Straftat und Ordnungswidrigkeit ist, wenn das für die Ordnungswidrigkeit angedrohte Höchstmaß der Geldbuße das Höchstmaß nach Satz 1 übersteigt.
(3) § 17 Abs. 4 und § 18 gelten entsprechend.
(4) Wird wegen der Straftat oder Ordnungswidrigkeit ein Straf- oder Bußgeldverfahren nicht eingeleitet oder wird es eingestellt oder wird von Strafe abgesehen, so kann die Geldbuße selbständig festgesetzt werden. Durch Gesetz kann bestimmt werden, daß die Geldbuße auch in weiteren Fällen selbständig festgesetzt werden kann. Die selbständige Festsetzung einer Geldbuße gegen die juristische Person oder Personenvereinigung ist jedoch ausgeschlossen, wenn die Straftat oder Ordnungswidrigkeit aus rechtlichen Gründen nicht verfolgt werden kann; § 33 Abs. 1 Satz 2 bleibt unberührt.
(5) Die Festsetzung einer Geldbuße gegen die juristische Person oder Personenvereinigung schließt es aus, gegen sie wegen derselben Tat den Verfall nach den §§ 73 oder 73a des Strafgesetzbuches oder nach § 29a anzuordnen.

[๖]TITRE XXIII
Article 1  Abrogeons les appointements à ouïr droit, produire, bailler défenses par atténuation, causes et moyens de nullité, réponses, fournir moyen d'obreption, et d'en informer, donner conclusions civiles et tous autres appointements.
[๗]Article 121-2 En savoir plus sur cet article...
Modifié par Loi n°2004-204 du 9 mars 2004 - art. 54 JORF 10 mars 2004 en vigueur le 31 décembre 2005
Les personnes morales, à l'exclusion de l'Etat, sont responsables pénalement, selon les distinctions des articles 121-4 à 121-7, des infractions commises, pour leur compte, par leurs organes ou représentants.
Toutefois, les collectivités territoriales et leurs groupements ne sont responsables pénalement que des infractions commises dans l'exercice d'activités susceptibles de faire l'objet de conventions de délégation de service public.
La responsabilité pénale des personnes morales n'exclut pas celle des personnes physiques auteurs ou complices des mêmes faits, sous réserve des dispositions du quatrième alinéa de l'article 121-3.
[๘][1957] 1 Q-B. 159
[๙][1972] A.C. 153
[๑๐]ในทางตำราเรียกหลักการนี้ว่า Identification Theory หรือ alter ego Theory
[๑๑][1957] 1 Q-B. 159 per Lord Denning at 172 "…[a] company may in many ways be likened to a human body.  It has a brain and nerve centre which controls what it does.  It also has hands which hold the tools and act in accordance with directions from the centre.  Some of the people in the company are mere servants and agents who are nothing more than hands to do the work and cannot be said to represent the mind or will.  Others are directors and managers who represent the directing mind and will of the company, and control what it does.  The state of mind of these managers is the state of mind of the company and is treated by the law as such.”
[๑๒]Anca Iulia Pop, Criminal Liability of Corporations-Comparative Jurisprudence, Michigan State University College of Law, 2006, pp.14-15.
[๑๓]Ibid., pp.33-34.
[๑๔]Let the master answers
[๑๕]E.M. Wise, Criminal Liability of Corporations-US, in La Criminalisation du Comportament Collectif: Criminal Liability of Corporations, Kluwer Law Int’l., 1996

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น