วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

การตีความกฎหมายตามตัวอักษรกับการตีความตามเจตนารมณ์


                                                                                                             ปกรณ์ นิลประพันธ์
             
มาตรา ๔ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติแนวทางการใช้กฎหมายไว้ว่า “กฎหมายนั้นต้องใช้ในบรรดากรณีซึ่งต้องด้วยบทบัญญัติใด ๆ แห่งกฎหมายตามตัวอักษร หรือตามความมุ่งหมายของบทบัญญัตินั้น ๆ”  ดังนั้น การใช้การตีความบทบัญญัติแห่งกฎหมายจึงต้องพิจารณาตามตัวอักษรเสียก่อนว่าชัดเจนและแปลความเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่ หากบทบัญญัติแห่งกฎหมายมีความชัดเจนและไม่อาจแปลความเป็นอย่างอื่นได้ การใช้การตีความต้องดำเนินการให้เป็นไปตามความที่บัญญัติไว้นั้น  อย่างไรก็ดี ในกรณีที่ตัวอักษรของบทบัญญัติแห่งกฎหมายยังไม่ชัดเจนหรือยังอาจแปลความหมายเป็นอย่างอื่นได้อีก การใช้การตีความบทบัญญัติแห่งกฎหมายก็จะต้องพิจารณาถึงความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของบทบัญญัตินั้น ๆ

ผู้เขียนขอยกลักษณะของนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทประกันวินาศภัยและบริษัทประกันชีวิตตามมาตรา ๙ (๒) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ และมาตรา ๑๐ (๒) แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นกรณีตัวอย่าง 

ลองเปิดกฎหมายที่ว่านี้ดูนะครับ แล้วจะพบว่าบทบัญญัตินี้กล่าวถึงเฉพาะแต่นิติบุคคล "ที่จดทะเบียนในประเทศไทย" เท่านั้น มิได้กล่าวถึง "นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ" ไว้ด้วย ทั้งที่ในระบบกฎหมายไทยนั้นมีทั้งนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ  ดังนั้น บทบัญญัติแห่งกฎหมายในกรณีนี้จึง "ยังไม่ชัดเจน" ว่าหากนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทประกันวินาศภัยหรือบริษัทประกันชีวิตเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะแล้วจะพิจารณากันอย่างไร กรณีนี้จึงเป็นกรณีที่ตัวอักษรของบทบัญญัติแห่งกฎหมายยังไม่ชัดเจน จึงไม่อาจใช้วิธีการตีความกฎหมายตามตัวอักษรมาใช้บังคับในกรณีนี้ได้ หากแต่ต้องพิจารณาตามความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าวตามนัยมาตรา ๔ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ครับ

หากพิจารณาความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของมาตรา ๙ (๒) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ และมาตรา ๑๐ (๒) แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ ตามลำดับแล้ว เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวมุ่งหมายให้นิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทประกันวินาศภัยและบริษัทประกันชีวิตต้องเป็น “นิติบุคคลไทย” หรือนิติบุคคลที่มีคนไทยเป็นเจ้าของ (Owned) หรือมีอำนาจจัดการ (Controlled) ดังนั้น ในกรณีนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะโดยไม่มีการแบ่งทุนออกเป็นหุ้น และกฎหมายดังกล่าวมีบทบัญญัติว่าด้วยการควบคุมและการบริหารจัดการไว้เป็นการเฉพาะ ก็ต้องถือว่านิติบุคคลดังกล่าวนั้นเป็นนิติบุคคลไทยโดยผลของกฎหมาย โดยมิพักต้องคำนึงว่านิติบุคคลนั้นต้องมีผู้ถือหุ้นหรือมีสัดส่วนการถือหุ้นตามมาตรา ๙ (๒) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ และมาตรา ๑๐ (๒) แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ หรือไม่   

โดยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น หุ้นในบริษัทประกันวินาศภัยหรือบริษัทประกันชีวิตที่ถือโดยนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะนั้นจึงต้องนับว่าเป็นหุ้นที่ถือโดยนิติบุคคลไทยแล้ว และโดยที่นิติบุคคลนั้นจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ และกฎหมายดังกล่าวบัญญัติระบบการควบคุมและการบริหารจัดการไว้เป็นการเฉพาะในกฎหมาย นิติบุคคลไทยดังกล่าวจึงไม่อาจปรับโครงสร้างให้เป็นไปตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ หรือมาตรา ๕๕ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้ เพราะเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายเฉพาะที่จัดตั้งนิติบุคคลนั้นขึ้น  หากไปตีความว่านิติบุคคลไทยซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะซึ่งทำให้ไม่อาจปรับโครงสร้างให้เป็นไปตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ หรือมาตรา ๕๕ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดนั้น เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ หรือมาตรา ๕๕ แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ แล้วแต่กรณี จะเป็นการตีความที่ส่งผลประหลาด

ผู้เขียนมีความเห็นเพิ่มเติมว่า มาตรา ๙ (๒) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ และมาตรา ๑๐ (๒) แห่งพระราชบัญญัติประกันชีวิต พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันชีวิต (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นตัวอย่างอันดีที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาในการร่างกฎหมายที่ทำให้ต้องมีการตีความเพื่อ "อุดช่องว่างของกฎหมาย" ซึ่งปัญหานี้อาจเกิดขึ้นจากการที่ผู้ยกร่างกฎหมายมิได้คำนึงถึงความมีอยู่ของนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ หรืออาจเห็นว่ากรณีนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะไม่มีปัญหานี้จึงไม่ได้บัญญัติไว้ด้วย แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม เมื่อไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะรองรับไว้ให้ชัดเจน จึงมีผู้นำหลักการตีความกฎหมายที่ว่าการที่กฎหมายหรือสัญญาระบุบุคคลหรือสิ่งใดไว้แล้ว ย่อมไม่ประสงค์ให้กินความถึงบุคคลหรือสิ่งอื่น (Expressio unius personae vel rei, est exclusio alterius) มาปรับใช้แก่กรณีโดยไม่ทราบถึงหลักเกณฑ์ในการใช้หลักการตีความดังกล่าวว่าเขาใช้กับเฉพาะกรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือสัญญามีความชัดเจนและไม่อาจแปลความเป็นอย่างอื่นได้อีกแล้วเท่านั้น 

ดังนั้น เวลาทำร่างกฎหมายที่ต้องเขียนเกี่ยวกับนิติบุคคล อย่าลืมนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะด้วยนะครับ จะได้ไม่เกิดปัญหามาตีความกันอีก และเวลาตีความอย่าลืมเรื่องที่เล่ามาข้างต้นนี้ด้วยนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น