วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ร่างพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ....

บันทึกหลักการและเหตุผล
ประกอบร่างพระราชบัญญัติการผังเมือง
พ.ศ. ....

                  

หลักการ

                   ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง

เหตุผล

                   โดยที่การผังเมืองเป็นมาตรการที่สำคัญและจำเป็นในการกำกับการพัฒนาด้านกายภาพของประเทศเพื่อความผาสุกของประชาชนส่วนรวมในระยะยาว โดยกำหนดแนวทางการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ในที่ดินของประชาชนเพื่อให้สามารถอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมที่ดี มีความสะดวก และปลอดภัย เพื่อให้การใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัดเกิดประโยชน์สูงสุดโดยสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะ ประเพณี และวัฒนธรรมของแต่ละเมือง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเพื่อปรับสภาพของเมืองให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเพื่อลดหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากพิบัติภัยธรรมชาติ โดยมาตรา ๘๕ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่ารัฐต้องจัดให้มีการวางผังเมือง พัฒนา และดำเนินการตามผังเมืองอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล การวาง จัดทำ และดำเนินการให้เป็นไปตามผังเมืองจึงต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
ของชาติและประชาชนในระยะยาวมากกว่าประโยชน์ส่วนบุคคล และโดยที่การผังเมืองเป็นการจำกัดสิทธิในการเลือกถิ่นที่อยู่ สิทธิในทรัพย์สินและเสรีภาพในการประกอบอาชีพของประชาชน การวางและจัดทำผังเมืองจึงต้องมีการให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึง ซึ่งสอดคล้องกับมาตรา ๘๗ (๑) และ (๒) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติให้รัฐส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น และส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจทางการเมือง การวางแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ และสังคม รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะ ส่วนการวางและจัดทำผังเมืองในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น โดยที่มาตรา ๒๘๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีหน้าที่ในการดูแลและจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่น และมีอิสระในการกำหนดนโยบาย การบริหาร การจัดบริการสาธารณะ โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับการพัฒนาของจังหวัดและประเทศเป็นส่วนรวมด้วย การวางและจัดทำผังเมืองในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงควรเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้มีผังเมืองที่สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะและเอกลักษณ์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น แต่ทั้งนี้ ผังเมืองที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องสอดคล้องกับการพัฒนาของจังหวัดและประเทศด้วย ประกอบกับพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๑๘ ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน บทบัญญัติเกี่ยวกับการวาง การจัดทำ และการบังคับใช้ผังเมืองไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป การจัดทำผังเมืองที่ผ่านมาจึงไม่สามารถเป็นกลไกกำกับการพัฒนาด้านกายภาพของเมืองให้ทันต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน ไม่มีการกำหนดแนวทางการพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศในระยะยาว ไม่มีกลไกในการบูรณาการผังเมืองต่าง ๆ ให้สอดคล้องกัน กระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่บัญญัติไว้ก็ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อีกทั้งการเปิดช่องให้มีการยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามผังเมืองได้นั้น ทำให้การดำเนินการตามผังเมืองไม่มีผลในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง  ดังนั้น เพื่อให้การผังเมืองเป็นมาตรการกำกับการพัฒนาด้านกายภาพของเมืองให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและยั่งยืนอย่างแท้จริง จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
  

ร่าง
พระราชบัญญัติ
การผังเมือง
พ.ศ. ....

                  

…………………………………....
…………………………………....
…………………………………....

                   ………………………………………………………………………………………
…………………………………….

                   โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง

                   พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๔ มาตรา ๔๑ และมาตรา ๔๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทําได้โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

                   ………………………………………………………………………………………………
…………………………………….

                   มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ....

                   มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                   มาตรา ๓  ให้ยกเลิก
                   (๑) พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๑๘
                   (๒) พระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๕
                   (๓) พระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๕

                    มาตรา ๔  ในพระราชบัญญัตินี้
                   “ผังเมืองหมายความว่า แผนผัง นโยบาย โครงการ รวมทั้งมาตรการควบคุมโดยทั่วไปเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาหรือดำรงรักษาพื้นที่ที่กำหนดตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะ ประเพณี และวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ตลอดจนข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การจัดให้มีหรือบำรุงรักษาระบบคมนาคม ระบบขนส่งมวลชน ระบบสาธารณูปโภค ระบบการชลประทาน หรือบริการสาธารณะอื่นใด การบำรุงรักษาหรือฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ หรือภูมิประเทศที่งดงามหรือมีคุณค่าทางธรรมชาติ การบูรณะ ดำรงรักษาหรือปรับปรุงสถานที่และวัตถุที่มีประโยชน์หรือคุณค่าในทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม หรือโบราณคดี เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการผังเมือง
                   “การผังเมืองหมายความว่า การวาง จัดทำ และดำเนินการให้เป็นไปตามผังเมือง
                   “แผนที่” หมายความว่า แผนที่ที่กำหนดระยะทางในแผนที่ต่อระยะทางในภูมิประเทศในมาตราส่วนหนึ่งต่อห้าหมื่น
                   “แผนผัง” หมายความว่า แผนผังที่กำหนดระยะทางในแผนผังต่อระยะทางใน
ภูมิประเทศในมาตราส่วนหนึ่งต่อห้าหมื่น
                   “อาคารหมายความว่า อาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างทุกชนิดหรือสิ่งอื่นใดที่วางบน ใต้ หรือผ่านเหนือพื้นดิน หรือพื้นน้ำ
                   ที่อุปกรณ์หมายความว่า ที่ดินของเอกชน ซึ่งผังเมืองเฉพาะจัดให้เป็นที่เว้นว่างหรือใช้เพื่อสาธารณประโยชน์อย่างอื่นด้วย เช่น ทางเท้า ทางเดิน ตรอกหลังหรือข้างอาคาร ทางน้ำ ทางหรือ
ท่อระบายน้ำ
                   “ที่โล่งหมายความว่า บริเวณที่ดินอันได้ระบุไว้ในผังเมืองให้เป็นที่ว่างเป็นส่วนใหญ่ และเพื่อใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ระบุไว้
                   “พื้นที่สีเขียว” หมายความว่า บริเวณที่ดินอันได้ระบุไว้ในผังเมืองให้เป็นพื้นที่ที่มี
ไม้ยืนต้นเป็นองค์ประกอบโดยมีความหนาแน่นไม่น้อยกว่าห้าสิบต้นต่อไร่  ทั้งนี้ ไม้ยืนต้นดังกล่าวเมื่อโตเต็มที่จะมีทรงพุ่มไม่น้อยกว่าห้าเมตรและมีขนาดเส้นรอบลำต้นไม่น้อยกว่าห้าสิบเซนติเมตร
                   “คณะกรรมการนโยบาย” หมายความว่า คณะกรรมการนโยบายการผังเมือง
                   “เจ้าพนักงานการผังในกรณีที่มีการประกาศใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะทำการสำรวจเพื่อวาง จัดทำ หรืออนุมัติผังเมืองจังหวัด ผังเมืองท้องถิ่น หรือผังเมืองเฉพาะ หมายความว่า เจ้าพนักงานการผังตามที่ได้ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา ในกรณีที่มีการใช้บังคับผังเมืองจังหวัดหรือผังเมืองท้องถิ่น หมายความว่า ผู้อำนวยการหรือเจ้าพนักงานท้องถิ่น ผู้วางและจัดทำผังเมืองจังหวัดหรือผังเมืองท้องถิ่น ในกรณีที่มีการใช้บังคับผังเมืองเฉพาะ หมายความว่า ผู้วางและจัดทำผังเมืองเฉพาะ
                   เจ้าพนักงานท้องถิ่นในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หมายความว่า นายกองค์การบริหารส่วนตำบล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกเมืองพัทยา และผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ รวมทั้งผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว ในเขตจังหวัด หมายความว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัด
                   “เจ้าหน้าที่ดำเนินการหมายความว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือองค์การหรือบรรษัท
ของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่หรือซึ่งได้รับมอบหมายให้มีอำนาจหน้าที่กระทำกิจการให้เป็นไปตามผังเมือง
                   “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหมายความว่า องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ
                   ผู้ว่าราชการจังหวัดหมายความรวมถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในกรณีที่เป็นการวาง จัดทำ และดำเนินการให้เป็นไปตามผังเมืองในเขตกรุงเทพมหานคร นายกเมืองพัทยาในกรณีที่เป็นการวาง จัดทำ และดำเนินการให้เป็นไปตามผังเมืองในเขตเมืองพัทยา และผู้บริหารองค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่นอื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะในกรณีที่เป็นการวาง จัดทำ และดำเนินการให้เป็นไปตามผังเมืองในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ
                   “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ หน่วยงานอื่นของรัฐ
                   “หน่วยงานที่รับผิดชอบ” หมายความว่า หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศหรือผังเมือง แล้วแต่กรณี
                   “ผู้อำนวยการ” หมายความว่า ผู้อำนวยการสำนักผังเมือง
                   รัฐมนตรี หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

                   มาตรา ๕  ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
                   กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑
บททั่วไป
                  

                   มาตรา ๖  การวางแผนเพื่อจัดทำและการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ ของคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐ และการใช้ประโยชน์ในที่ดินของประชาชนต้องสอดคล้องกับแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศและผังเมืองตามพระราชบัญญัตินี้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศและความผาสุกของประชาชนในระยะยาว
  
                   มาตรา ๗  เพื่อประโยชน์ในการวาง จัดทำ และดำเนินการให้เป็นไปตามผังเมืองตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการนโยบายจัดให้มีแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศตามหลักวิชาการ
ผังเมืองและหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบ และเมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
                   แผนตามวรรคหนึ่งเป็นแผนห้าสิบปี และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้มีผลผูกพันคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการให้เป็นไปตามแผนนั้น
                   การจัดให้มีแผนตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะรัฐมนตรี
ให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการนโยบาย และต้องจัดให้มีการให้ข้อมูลและรับฟังคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางประกอบด้วย

                   มาตรา ๘  แผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศอย่างน้อยต้องประกอบด้วยผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในอีกห้าสิบปีข้างหน้า ประมาณการความต้องการการใช้พื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวโดยสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน การจัดทำระบบคมนาคม ระบบขนส่งมวลชน ระบบการชลประทาน และระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆ การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ การบำรุงรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อม การบำรุงรักษาศิลปวัฒนธรรมของประเทศ และการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากพิบัติภัยต่าง ๆ

                   มาตรา ๙  ให้มีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของการพัฒนาพื้นที่ของประเทศ
ที่กำหนดในแผนตามวรรคหนึ่งทุกสิบปีนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้คณะกรรมการนโยบายเสนอรายงานผลการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอย่างช้าไม่เกินหกเดือนก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าว
                   ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศ ให้นำความในมาตรา ๗ มาใช้บังคับโดยอนุโลม และให้ถือว่าแผนที่ปรับปรุงแล้วนั้นเป็นภาคผนวกของแผนตามวรรคหนึ่ง

                   มาตรา ๑๐  การวาง จัดทำ และดำเนินการให้เป็นไปตามผังเมืองต้องสอดคล้องกับแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศและหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน และต้องเป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ ดังต่อไปนี้
                   (๑) สร้างหรือพัฒนาพื้นที่ที่กำหนดให้มีหรือทำให้ดียิ่งขึ้นซึ่งสุขลักษณะ ความสะดวกสบาย ความเป็นระเบียบ ความสวยงาม การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน ความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน และสวัสดิภาพของประชาชน
                   (๒) ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ที่กำหนด ควบคู่ไปกับการบำรุงรักษาสภาพแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิประเทศที่งดงาม หรือมีคุณค่าทางธรรมชาติ
                   (๓) ดำรงรักษาหรือบูรณะสถานที่และวัตถุที่มีประโยชน์หรือคุณค่าในทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดีในพื้นที่ที่กำหนด
                   (๔) ปรับปรุงสภาพพื้นที่ที่กำหนดให้สอดคล้องกับการสภาพภูมิประเทศหรือสภาพภูมิ อากาศที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อลดหรือบรรเทาความเดือดร้อนหรือเสียหายอันอาจเกิดขึ้นจากพิบัติภัยธรรมชาติ
                   (๕) ส่งเสริมการใช้พลังงานและทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด

                   มาตรา ๑๑  หน่วยงานที่รับผิดชอบการวาง จัดทำ และดำเนินการให้เป็นไปตามผังเมืองต้องจัดให้มีการให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อย่างกว้างขวางตามหมวด ๓

                   มาตรา ๑๒  ผังเมืองมีสี่ประเภท ดังต่อไปนี้
                   (๑) ผังเมืองภาค
                   (๒) ผังเมืองจังหวัด
                   (๓) ผังเมืองท้องถิ่น
                   (๔) ผังเมืองเฉพาะ
                   ผังเมืองตามวรรคหนึ่งเมื่อคณะกรรมการนโยบายให้ความเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้เป็นเวลาสิบปีนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว หากผังเมืองใหม่ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้ผังเมืองนั้นเป็นอันใช้บังคับได้ต่อไปจนถึงวันก่อนวันที่ผังเมืองใหม่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                   มาตรา ๑๓  ให้สำนักผังเมืองจัดให้มีผังเมืองของแต่ละภาคขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำผังเมืองจังหวัด ผังเมืองท้องถิ่น และผังเมืองเฉพาะในแต่ละภาค
                   การกำหนดจำนวนภาค ชื่อภาค และจังหวัดที่อยู่ในแต่ละภาคเพื่อประโยชน์แก่การ
ผังเมืองตามพระราชบัญญัตินี้ ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีประกาศกำหนดตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการนโยบาย
                   ผังเมืองภาคของแต่ละภาคต้องสอดคล้องกับผังเมืองภาคของภาคที่มีพื้นที่ติดต่อกันด้วย

                    มาตรา ๑๔  ให้สำนักผังเมืองจัดให้มีผังเมืองของแต่ละจังหวัดขึ้นเป็นผังเมืองจังหวัด
เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำผังเมืองท้องถิ่นและผังเมืองเฉพาะในแต่ละจังหวัด
                   ผังเมืองจังหวัดของแต่ละจังหวัดต้องสอดคล้องกับผังเมืองภาค และผังเมืองจังหวัดของจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกันด้วย

                   มาตรา ๑๕  ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้มีผังเมืองท้องถิ่นของตนขึ้น
                   ระบบคมนาคม ระบบขนส่งมวลชน ระบบการชลประทาน และระบบสาธารณูปโภค
ต่าง ๆ ของผังเมืองท้องถิ่นแต่ละแห่งต้องสอดคล้องกับระบบคมนาคม ระบบขนส่งมวลชน ระบบการชลประทาน และระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในผังเมืองจังหวัดและผังเมืองท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีพื้นที่ติดต่อกันด้วย ไม่ว่าจะอยู่ในเขตจังหวัดเดียวกันหรือไม่
                   ในกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดไม่พร้อมที่จะดำเนินการตามวรรคหนึ่ง จะขอให้สำนักผังเมืองดำเนินการให้หรือขอคำแนะนำหรือความร่วมมือทางวิชาการจากสำนักผังเมืองก็ได้
แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายบรรดาที่เกิดขึ้นจากการนั้น
                   การขอให้สำนักผังเมืองดำเนินการและการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายตามวรรคสาม ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่ผู้อำนวยการประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการนโยบาย

                   มาตรา ๑๖  ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการฟื้นฟู บูรณะ หรือดำรงรักษาพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นการเฉพาะ หรือพัฒนาพื้นที่ใดขึ้นรองรับการขยายตัวของเมืองในพื้นที่ของจังหวัดหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ไม่ว่าจังหวัดหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นมีผังเมืองจังหวัดหรือผังเมืองท้องถิ่นอยู่แล้วหรือไม่ ให้สำนักผังเมืองหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แล้วแต่กรณี จัดให้มี
ผังเมืองเฉพาะสำหรับดำเนินโครงการนั้น
                   ในกรณีพื้นที่ที่จะดำเนินโครงการตามวรรคหนึ่งอยู่ภายใต้บังคับผังเมืองจังหวัดหรือ
ผังเมืองท้องถิ่น แล้วแต่กรณี อยู่แล้ว ผังเมืองเฉพาะที่จัดทำขึ้นต้องสอดคล้องกับผังเมืองจังหวัดหรือผังเมืองท้องถิ่น แล้วแต่กรณี นั้นด้วย
                   หากพื้นที่ที่จะดำเนินโครงการตามวรรคหนึ่งไม่อยู่ภายใต้บังคับผังเมืองท้องถิ่น
แต่จังหวัดนั้นมีผังเมืองจังหวัดใช้บังคับแล้ว ผังเมืองเฉพาะที่จัดทำขึ้นต้องสอดคล้องกับผังเมืองจังหวัด
แต่ถ้าพื้นที่นั้นไม่อยู่ภายใต้บังคับผังเมืองท้องถิ่น และจังหวัดนั้นยังไม่มีผังเมืองจังหวัด ผังเมืองเฉพาะ
ที่จัดทำขึ้นต้องสอดคล้องกับผังเมืองภาค
                   ในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะจัดให้มีผังเมืองเฉพาะตามวรรคหนึ่ง ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายก่อนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด

                   มาตรา ๑๗  ให้สำนักผังเมืองมีอำนาจหน้าที่กำกับการจัดทำผังเมืองให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศและผังเมืองอื่นตามมาตรา ๑๓ มาตรา ๑๔ มาตรา ๑๕ และมาตรา ๑๖ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
                   ผังเมืองที่จะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลใช้บังคับตามมาตรา ๑๒
ต้องได้รับการรับรองจากผู้อำนวยการว่าเป็นไปตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในวรรคหนึ่งแล้ว
   
คณะกรรมการนโยบายการผังเมือง
                  

                   มาตรา ๑๘  ให้มีคณะกรรมการนโยบายการผังเมืองคณะหนึ่ง ประกอบด้วย
                   (๑) นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ
                   (๒) ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง
                   (๓) ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านการจัดทำผังเมืองหรือผู้สอนวิชาการผังเมืองหรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวิชาการผังเมืองมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบปี
ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง จำนวนไม่น้อยกว่าเจ็ดคนแต่ไม่เกินสิบหกคน เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยอย่างน้อยห้าคนในจำนวนนี้ต้องไม่เป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
                   ให้ผู้อำนวยการเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ผู้อำนวยการแต่งตั้งข้าราชการสำนักผังเมืองจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

                   มาตรา ๑๙  ให้กรรมการนโยบายผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสี่ปี
                   ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการนโยบายผู้ทรงคุณวุฒิในระหว่างที่กรรมการนโยบายผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างลง ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการนโยบายผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้วนั้น
                   กรรมการนโยบายผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระ อาจได้รับแต่งตั้งอีกได้

                   มาตรา ๒๐  นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ กรรมการนโยบายผู้ทรงคุณวุฒิ
พ้นจากตำแหน่ง เมื่อ
                   (๑) ตาย
                   (๒) ลาออก
                   (๓) เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
                   (๔) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษหรือความผิดอันได้กระทำโดยประมาท
                   (๕) คณะรัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่องต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสีย หรือประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง

                   มาตรา ๒๑  การประชุมของคณะกรรมการนโยบายต้องมีกรรมการนโยบายมาประชุม
ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการนโยบายทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม
                   ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้กรรมการนโยบาย
ที่มาประชุมเลือกกรรมการนโยบายคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

                   มาตรา ๒๒  การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก แต่การให้ความเห็นชอบแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า
สามในสี่ของกรรมการนโยบายทั้งหมด
                   กรรมการนโยบายคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน
ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

                   มาตรา ๒๓  ให้คณะกรรมการนโยบายมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
                   (๑) จัดให้มีและเสนอแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศตามหลักวิชาการผังเมืองและหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
                   (๓) ให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในการตราพระราชกฤษฎีกาและการออกกฎกระทรวงตามพระราชบัญญัตินี้
                   (๔) ปฏิบัติการอื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย

                   มาตรา ๒๔  ให้กรรมการนโยบายผู้ทรงคุณวุฒิตามมาตรา ๑๘ (๓) เป็นอนุกรรมการจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศ มีหน้าที่จัดทำและปรับปรุงแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศตามหลักวิชาการผังเมืองและหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนเสนอต่อคณะกรรมการนโยบาย
                   ให้คณะอนุกรรมการเลือกกันเองคนหนึ่งเป็นประธานอนุกรรมการ และอีกคนหนึ่ง
เป็นเลขานุการคณะอนุกรรมการ
                   ให้นำมาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๒ มาใช้บังคับแก่การประชุมและการลงมติของคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม

                   มาตรา ๒๕  นอกจากคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศ
ให้คณะกรรมการนโยบายมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอื่นเพื่อดำเนินกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ได้รับมอบหมาย
                   ให้นำมาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๒ มาใช้บังคับแก่การประชุมและการลงมติของคณะอนุกรรมการตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม

                   มาตรา ๒๖  ให้สำนักผังเมืองรับผิดชอบงานธุรการและงานวิชาการของคณะกรรมการนโยบาย อนุกรรมการจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศ และคณะอนุกรรมการอื่น
ที่คณะกรรมการนโยบายแต่งตั้ง และดำเนินการให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบาย
                   เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำและเข้าถึงข้อมูลแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศ และผังเมืองต่าง ๆ ให้สำนักผังเมืองจัดให้มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับการวางและจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศและผังเมืองทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และข้อมูลแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศและผังเมืองทุกพื้นที่ทั่วประเทศ และเปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศโดย
ไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงข้อมูลนั้น
                   เพื่อประโยชน์ในการบังคับการให้เป็นไปตามผังเมือง ให้สำนักผังเมืองมีหน้าที่ติดตามการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศและผังเมือง และจัดให้มีช่องทางการแจ้งข้อมูลการไม่ปฏิบัติตามแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศหรือผังเมืองผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ
                   ข้อมูลที่มีการแจ้งตามวรรคสาม ให้เปิดเผยในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนัก
ผังเมืองด้วย แต่ห้ามเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้แจ้ง เว้นแต่เป็นกรณีที่ต้องเปิดเผยตามกฎหมายหรือตามคำสั่งศาล

หมวด ๓
การให้ข้อมูลและการรับฟังความคิดเห็น
                  

                   มาตรา ๒๗  ก่อนดำเนินการวางและจัดทำแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศหรือผังเมืองตามพระราชบัญญัตินี้ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดให้มีกรอบแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ของประเทศหรือการจัดทำผังเมืองขึ้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด และจัดให้มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับกรอบแนวคิดดังกล่าวแก่ประชาชนในพื้นที่ที่อยู่ในแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศหรือผังเมือง แล้วแต่กรณี และต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนดังกล่าวด้วย

                   มาตรา ๒๘  ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่อยู่ในแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศหรือผังเมือง หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องมุ่งให้ประชาชนมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกรอบแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ของประเทศหรือการจัดทำผังเมืองเพื่อประโยชน์ของประเทศและความผาสุกของประชาชนในระยะยาว และรวบรวมความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อกรอบแนวคิดนั้นรวมตลอดทั้งความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนด้วย  ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเผยแพร่ข้อมูลแก่ประชาชนก่อนรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างน้อยหกสิบวัน

                   มาตรา ๒๙  การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอาจใช้วิธีการอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้
                   (๑) การสำรวจความคิดเห็น ซึ่งอาจทำโดยวิธีดังต่อไปนี้
                             (ก) การสัมภาษณ์รายบุคคล
                             (ข) การเปิดให้แสดงความคิดเห็นทางไปรษณีย์ ทางโทรศัพท์หรือโทรสาร ทางระบบเครือข่ายสารสนเทศ หรือทางอื่นใด
                             (ค) การเปิดโอกาสให้ประชาชนมารับข้อมูลและแสดงความคิดเห็นต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ
                             (ง) การสนทนากลุ่มย่อย
                   (๒) การประชุมปรึกษาหารือ ซึ่งอาจทำได้โดยวิธีดังต่อไปนี้
                             (ก) การประชาพิจารณ์
                             (ข) การอภิปรายสาธารณะ
                             (ค) การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร
                             (ง) การประชุมเชิงปฏิบัติการ
                             (จ) การประชุมระดับตัวแทนของกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้เสีย
                   (๓) วิธีอื่นที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด
                   การดำเนินการตาม (๒) และ (๓) ให้กระทำ ณ สถานที่ และในช่วงเวลาที่ประชาชนผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นได้โดยสะดวกและทั่วถึง
                   เพื่อประโยชน์ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามมาตรานี้ คณะกรรมการนโยบายจะวางหลักเกณฑ์การพิจารณาผู้มีส่วนได้เสียเพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบถือปฏิบัติก็ได้ และหน่วยงานที่รับผิดชอบจะจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนกี่ครั้งก็ได้ตามความเหมาะสม และจะจัดการรับฟังความคิดเห็นโดยจำแนกตามประเภทส่วนได้เสียของประชาชนก็ได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด

                   มาตรา ๓๐  ก่อนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องประกาศให้ประชาชนทราบถึงวิธีการรับฟังความคิดเห็น ระยะเวลา สถานที่ ตลอดจนรายละเอียดอื่น
ที่เพียงพอแก่การที่ประชาชนจะเข้าใจและสามารถแสดงความคิดเห็นได้
                   ประกาศตามวรรคหนึ่ง ให้ปิดไว้โดยเปิดเผย ณ สถานที่ปิดประกาศของหน่วยงาน
ที่รับผิดชอบเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนเริ่มดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และให้ประกาศในระบบเครือข่ายสารสนเทศของหน่วยงานที่รับผิดชอบและที่สำนักผังเมืองจัดให้มีขึ้นตามพระราชบัญญัตินี้ด้วย

                   มาตรา ๓๑  เมื่อดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว ให้หน่วยงาน
ที่รับผิดชอบจัดทำสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และประกาศให้ประชาชนทราบภายใน
สิบห้าวันนับแต่วันที่เสร็จสิ้นการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
                   ให้นำความในมาตรา ๓๐ วรรคสอง มาใช้บังคับแก่การประกาศตามมาตรานี้โดยอนุโลม

                   มาตรา ๓๒  เมื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ
นำกรอบแนวคิดและผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมาประกอบการจัดทำร่างเบื้องต้นของแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศหรือผังเมือง แล้วแต่กรณี และในกรณีที่ปรากฏว่ากรอบแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่ของประเทศหรือการจัดทำผังเมืองอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในเรื่องใด
ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดมาตรการป้องกันแก้ไข หรือเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหาย
ที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบดังกล่าวไว้ในร่างเบื้องต้นของแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศหรือผังเมือง แล้วแต่กรณี ด้วย

                   มาตรา ๓๓  เมื่อจัดทำร่างเบื้องต้นของแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศหรือผังเมืองเสร็จ ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดให้มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับร่างเบื้องต้นของแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศหรือผังเมืองนั้น และต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนดังกล่าวด้วย
                   ให้นำความในมาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ มาใช้บังคับแก่การดำเนินการตามมาตรานี้โดยอนุโลม

                   มาตรา ๓๔  เมื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบนำ
ผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับร่างเบื้องต้นของแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศหรือ
ผังเมือง มาจัดทำเป็นร่างแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศหรือผังเมือง แล้วแต่กรณี และในกรณีที่ปรากฏในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่าร่างเบื้องต้นของแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศหรือการจัดทำผังเมืองอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในเรื่องใด ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดมาตรการป้องกันแก้ไข หรือเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากผลกระทบดังกล่าวไว้ในข้อกำหนดของร่างแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศหรือผังเมือง แล้วแต่กรณี ด้วย

                   มาตรา ๓๕  ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบจัดให้มีการให้ข้อมูลของร่างแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศหรือผังเมืองพร้อมข้อกำหนดที่จัดทำขึ้นตามมาตรา ๓๔ และรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง
                   ให้นำความในมาตรา ๒๗ มาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ มาใช้บังคับแก่การดำเนินการตามมาตรานี้โดยอนุโลม

                   มาตรา ๓๖  เมื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามมาตรา ๓๕ เสร็จแล้ว
ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเสนอคณะกรรมการนโยบายพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศหรือผังเมือง แล้วแต่กรณี
                   ในกรณีร่างผังเมือง เมื่อผู้อำนวยการรับรองตามมาตรา ๑๗ แล้ว จึงจะเสนอคณะกรรมการนโยบายเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่งได้

                   มาตรา ๓๗  เมื่อคณะกรรมการนโยบายให้ความเห็นชอบร่างแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศหรือผังเมือง แล้วแต่กรณี แล้ว ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการ ดังต่อไปนี้
                   (๑) กรณีร่างแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศ
                       (ก) ให้ส่งไปเผยแพร่ในระบบสารสนเทศที่สำนักผังเมืองจัดให้มีขึ้นตามพระราช บัญญัตินี้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับแต่วันที่คณะกรรมการนโยบายให้ความเห็นชอบ
                       (ข) ให้ปิดร่างแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศดังกล่าวไว้ ณ สถานที่ปิดประกาศของ สำนักผังเมือง จังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ เป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน
                       (ค) ให้ประกาศให้ประชาชนทราบถึงการเผยแพร่และวิธีการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศตาม (ก) และข้อมูลตาม (ข) ในหนังสือพิมพ์รายวันที่จำหน่ายแพร่หลายทั่วประเทศไม่น้อยกว่าสามฉบับเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน
                   (๒) กรณีร่างผังเมือง
                       (ก) ให้ส่งไปเผยแพร่ในระบบสารสนเทศที่สำนักผังเมืองจัดให้มีขึ้นตามพระราช บัญญัตินี้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับแต่วันที่คณะกรรมการนโยบายให้ความเห็นชอบ
                       (ข) ให้ปิดร่างผังเมืองดังกล่าวไว้ ณ สถานที่ปิดประกาศของสำนักผังเมือง จังหวัด หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในภาค จังหวัด หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในเขตผังเมืองนั้น เป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวัน
                       (ค) ให้ประกาศให้ประชาชนทราบถึงการเผยแพร่และวิธีการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศตาม (ก) และข้อมูลตาม (ข) ในหนังสือพิมพ์รายวันที่จำหน่ายแพร่หลายในภาค จังหวัด หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในเขตผังเมืองนั้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน

หมวด ๔
การวางและจัดทำผังเมืองภาค
                  

                   มาตรา ๓๘  ให้สำนักผังเมืองจัดทำผังเมืองภาคให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่แผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                   มาตรา ๓๙  ภายใต้บังคับมาตรา ๑๐ การจัดทำผังเมืองภาคต้องเป็นไปเพื่อ
                   (๑) จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างทั่วถึงและสมดุลภายในภาค
                   (๒) เชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคม การขนส่งมวลชน การชลประทาน และการสาธารณูปโภคภายในภาคและระหว่างภาค
                   (๓) ดำรงรักษาและส่งเสริมอัตลักษณ์ และศิลปวัฒนธรรมของภาค
                   (๔) ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในภาค
                   (๕) อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และบำรุงรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของภาค

                   มาตรา ๔๐  การวางและจัดทำผังเมืองภาคให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
                   เมื่อมีการปรับปรุงแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศ ให้สำนักผังเมืองดำเนินการปรับปรุงผังเมืองภาคให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาพื้นที่ของประเทศที่ปรับปรุงแล้วด้วย
                   ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการวางและจัดทำผังเมืองภาคตามวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่
การปรับปรุงผังเมืองภาคตามวรรคสองโดยอนุโลม และให้ถือว่าผังเมืองภาคที่ปรับปรุงแล้วนั้น
เป็นภาคผนวกของผังเมืองภาคตามมาตรา ๓๘
หมวด ๕
การวางและจัดทำผังเมืองจังหวัด
                  

                   มาตรา ๔๑  ให้สำนักผังเมืองจัดทำผังเมืองจังหวัดให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ผังเมืองภาคประกาศในราชกิจจานุเบกษา

                   มาตรา ๔๒  ภายใต้บังคับมาตรา ๑๐ การจัดทำผังเมืองจังหวัดต้องเป็นไปเพื่อ
                   (๑) จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างทั่วถึงและสมดุลภายในจังหวัดโดยคำนึงถึงกิจกรรมการใช้ประโยชน์ในที่ดินและความหนาแน่นของประชากรภายในจังหวัด
                   (๒) เชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคม การขนส่งมวลชน การชลประทาน และการสาธารณูปโภคภายในจังหวัดและระหว่างจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกัน
                   (๓) ดำรงรักษาและส่งเสริมอัตลักษณ์ และศิลปวัฒนธรรมของจังหวัด
                   (๔) ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัด
                   (๕) อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และบำรุงรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของจังหวัด

                   มาตรา ๔๓  การวางและจัดทำผังเมืองจังหวัดให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการ
ที่กำหนดในกฎกระทรวง
                   เมื่อมีการปรับปรุงผังเมืองภาค ให้สำนักผังเมืองดำเนินการปรับปรุงผังเมืองจังหวัด
ให้สอดคล้องกับผังเมืองภาคที่ปรับปรุงแล้วด้วย
                   ให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการวางและจัดทำผังเมืองจังหวัดตามวรรคหนึ่งมาใช้บังคับแก่การปรับปรุงผังเมืองจังหวัดตามวรรคสองโดยอนุโลม และให้ถือว่าผังเมืองจังหวัดที่ปรับปรุงแล้วนั้นเป็นภาคผนวกของผังเมืองจังหวัดตามมาตรา ๔๑


หมวด ๖
การสำรวจเพื่อวางและจัดทำผังเมืองจังหวัด ผังเมืองท้องถิ่น หรือผังเมืองเฉพาะ
                  

                   มาตรา ๔๔  ในการวางและจัดทำผังเมืองจังหวัด ผังเมืองท้องถิ่น หรือผังเมืองเฉพาะ หากมีความจำเป็นต้องสำรวจที่ดินในบริเวณพื้นที่ที่จะวางและจัดทำผังเมือง จะตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะทำการสำรวจเพื่อการวางและจัดทำผังเมืองขึ้นไว้ก็ได้
                   พระราชกฤษฎีกาตามวรรคหนึ่งต้องมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
                   (๑) วัตถุประสงค์เพื่อสำรวจที่ดินในบริเวณพื้นที่ที่จะวางและจัดทำผังเมือง
                   (๒) เจ้าพนักงานการผัง
                   (๓) เขตพื้นที่ที่จะทำการสำรวจพร้อมด้วยแผนที่แสดงเขตสำรวจแนบท้ายพระราชกฤษฎีกา
                   (๔) กำหนดเวลาการใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาซึ่งต้องไม่เกินห้าปี

                   มาตรา ๔๕  ในระหว่างกำหนดเวลาที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะทำการสำรวจใช้บังคับ ให้เจ้าพนักงานการผังมีอำนาจ ดังต่อไปนี้
                   (๑) เข้าไปทำการอันจำเป็นเพื่อการสำรวจ
                   (๒) กำหนดเขตที่ดินที่จะวางและจัดทำผังเมือง
                   (๓) กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน เพื่อประโยชน์ในการวางและจัดทำผังเมือง ทั้งนี้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายแล้ว
                   (๔) ทำเครื่องหมายระดับ ขอบเขตและแนวเขตตามความจำเป็น
                   (๕) แจ้งให้หน่วยราชการ องค์การของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจส่งแผนที่หรือแผนผังแสดงเขตที่ดินเพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการวางและจัดทำผังเมืองรวมหรือผังเมืองเฉพาะ
                   ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ห้ามเจ้าพนักงานการผังเข้าไปในอาคาร ลานบ้านหรือสวนมีรั้วกั้นอันติดต่อกับบ้านซึ่งเป็นที่อยู่อาศัย เว้นแต่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์อนุญาต ก่อนเริ่มกระทำการนั้น

                   มาตรา ๔๖  ให้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะทำการสำรวจหมดอายุการใช้บังคับเมื่อได้มีกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองจังหวัดหรือผังเมืองท้องถิ่น หรือเมื่อใช้บังคับพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะ แล้วแต่กรณี ในเขตแห่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว


หมวด ๗
การวาง จัดทำ และบังคับใช้ผังเมืองท้องถิ่น
                  

                   มาตรา ๔๗  การจัดทำผังเมืองท้องถิ่นต้องสอดคล้องกับผังเมืองภาคและผังเมืองจังหวัดของจังหวัดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นตั้งอยู่ และต้องเป็นไปเพื่อ
                   (๑) ควบคุมการใช้ประโยชน์ในที่ดินในเขตผังเมืองท้องถิ่นให้เป็นไปอย่างเหมาะสม
โดยคำนึงถึงกิจกรรมการใช้ประโยชน์ในที่ดินและความหนาแน่นของประชากรภายในองค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่น
                   (๒) จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นอย่างทั่วถึงและสมดุลภายในองค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่น
                   (๓) เชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคม การขนส่งมวลชน และการสาธารณูปโภคภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกันไม่ว่าจะอยู่ในจังหวัดเดียวกันหรือไม่
                   (๔) ดำรงรักษาและส่งเสริมอัตลักษณ์ และศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่น
                   (๕) ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
                    (๖) อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และบำรุงรักษาและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมของท้องถิ่น

                   มาตรา ๔๘   ผังเมืองท้องถิ่นประกอบด้วย
                   (๑) วัตถุประสงค์ในการวางและจัดทำผังเมืองท้องถิ่น
                   (๒) แผนที่แสดงเขตของผังเมืองท้องถิ่น
                   (๓) แผนผังพร้อมข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ดังต่อไปนี้
                             (ก) แผนผังกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามย่านที่จำแนก
                             (ข) แผนผังแสดงที่โล่ง
                             (ค) แผนผังแสดงพื้นที่สีเขียวและพื้นที่อนุรักษ์
                             (ง) แผนผังแสดงโครงการคมนาคม และการขนส่งมวลชน
                             (จ) แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค
                             (ฉ) แผนผังแสดงโครงการชลประทาน
                             (ช) แผนผังพร้อมด้วยข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินประการอื่นตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด
                   (๔) รายการประกอบแผนผัง
                   (๕) นโยบาย มาตรการและวิธีดำเนินการเพื่อปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของผังเมืองท้องถิ่น

                   มาตรา ๔๙  ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดทำผังเมืองท้องถิ่นให้แล้วเสร็จภายใน
หนึ่งปี นับแต่วันที่ผังเมืองจังหวัดของจังหวัดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นตั้งอยู่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
                   องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีผังเมืองรวมหรือผังเมืองเฉพาะตามพระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ. ๒๕๑๘ ใช้บังคับอยู่ในวันที่ผังเมืองภาคประกาศในราชกิจจานุเบกษา หากผังเมืองรวมหรือผังเมืองเฉพาะนั้นไม่สอดคล้องกับผังเมืองจังหวัดของจังหวัดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นตั้งอยู่
ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปรับปรุงผังเมืองรวมหรือผังเมืองเฉพาะนั้นให้เป็นผังเมืองท้องถิ่นตามพระราชบัญญัตินี้ซึ่งต้องสอดคล้องกับผังเมืองจังหวัดของจังหวัดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นตั้งอยู่ภายในกำหนดเวลาตามวรรคหนึ่ง

                   มาตรา ๕๐  เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดจะวางหรือจัดทำผังเมืองท้องถิ่น ให้แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นตั้งอยู่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นบรรดาที่อยู่
ในเขตจังหวัดนั้นและมีพื้นที่ติดต่อกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะวางหรือจัดทำผังเมืองท้องถิ่นนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดอื่นที่มีพื้นที่ติดต่อกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ที่อยู่ในจังหวัดอื่นแต่มีพื้นที่ติดต่อกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะวางหรือจัดทำผังเมืองท้องถิ่นนั้น
เพื่อทราบ และแต่งตั้งผู้แทนมาแสดงความคิดเห็นต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะวางหรือจัดทำ
ผังเมืองท้องถิ่นนั้น

                   มาตรา ๕๑  ในการวางและจัดทำผังเมืองท้องถิ่น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะวางหรือจัดทำผังเมืองท้องถิ่นนั้นดำเนินการให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามหมวด ๓

                   มาตรา ๕๒  การใช้บังคับผังเมืองท้องถิ่นให้กระทำโดยกฎกระทรวง
                   ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นส่งผังเมืองท้องถิ่นที่ดำเนินการเสร็จแล้วไปยังสำนัก
ผังเมืองเพื่อดำเนินการออกกฎกระทรวงตามวรรคหนึ่ง
                   กฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งต้องมีรายการตามมาตรา ๔๘
                   ในระหว่างที่กฎกระทรวงตามวรรคหนึ่งใช้บังคับ หากมีการปรับปรุงผังเมืองผังเมืองจังหวัดของจังหวัดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นตั้งอยู่ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการปรับปรุงผังเมืองท้องถิ่นเสียใหม่ให้สอดคล้องกับผังเมืองจังหวัดที่ปรับปรุงแล้ว ทั้งนี้ ให้นำความในมาตรา ๔๘ มาตรา ๔๙ มาตรา ๕๐ และมาตรา ๕๑ มาใช้บังคับแก่การปรับปรุงผังเมืองท้องถิ่นโดยอนุโลม

                   มาตรา ๕๓  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองท้องถิ่นแล้ว ห้ามบุคคลใดใช้ประโยชน์ที่ดินผิดไปจากที่ได้กำหนดไว้ในผังเมืองท้องถิ่น หรือปฏิบัติการใด ๆ ซึ่งขัดกับข้อกำหนดของผังเมืองท้องถิ่นนั้น
                   ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินได้ใช้ประโยชน์ที่ดินมาก่อนที่จะมีกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองท้องถิ่น แต่การใช้ประโยชน์ที่ดินเช่นนั้นไม่เป็นไปตามผังเมืองท้องถิ่น ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้ผู้นั้นแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินนั้นให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองท้องถิ่นภายในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งต้องไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
                   ก่อนมีคำสั่งตามวรรคสอง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจเชิญเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินมาแสดงข้อเท็จจริงและความคิดเห็นประกอบด้วย
                   ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินได้ใช้ประโยชน์ที่ดินมาก่อนที่จะมีกฎกระทรวง
ให้ใช้บังคับผังเมืองท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคสอง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้ได้มาซึ่งที่ดินนั้นโดยการจัดซื้อหรือโดยการเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อดำเนินการให้มีการใช้ที่ดินดังกล่าวให้เป็นไปตามผังเมืองท้องถิ่น และให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่การเวนคืนโดยอนุโลม
                   ในกรณีที่มีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้เป็นไปตามผังเมืองท้องถิ่น เมื่อได้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามที่กำหนดในผังเมืองท้องถิ่นแล้ว หากเจ้าพนักงานท้องถิ่นประสงค์จะให้เช่าหรือหาประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์นั้น ก็ให้กระทำได้ แต่จะกระทำการอันมีผลเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นมิได้
                   การโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนเพื่อปรับปรุงดังกล่าวจะกระทำได้ก็โดยการตราพระราชบัญญัติ
                   ค่าเช่าหรือรายได้จากการหาประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยไม่ต้องนำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

หมวด ๘
การวาง จัดทำ และบังคับใช้ผังเมืองเฉพาะ
                  

                   มาตรา ๕๔  ผังเมืองเฉพาะประกอบด้วย
                   (๑) วัตถุประสงค์ในการวางและจัดทำผังเมืองเฉพาะ
                   (๒) แผนที่แสดงเขตของผังเมืองเฉพาะ
                   (๓) แผนผังพร้อมข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน ดังต่อไปนี้
                             (ก) แผนผังแสดงการกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินซึ่งจำแนกเป็นประเภทกิจการ พร้อมทั้งแนวเขตการแบ่งที่ดินออกเป็นประเภทและย่าน
                             (ข) แผนผังแสดงโครงการคมนาคม การขนส่งมวลชน พร้อมทั้งรายละเอียดแสดงแนวและขนาดทางสาธารณะ
                             (ค) แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค
                             (ง) แผนผังแสดงที่โล่ง
                             (จ) แผนผังแสดงพื้นที่สีเขียวและพื้นที่อนุรักษ์
                             (ฉ) แผนผังแสดงการกำหนดระดับพื้นดิน
                             (ช) แผนผังแสดงบริเวณที่ตั้งของสถานที่หรือวัตถุที่มีประโยชน์หรือคุณค่าในทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์หรือโบราณคดีที่จะพึงส่งเสริมดำรงรักษาหรือบูรณะ
                             (ซ) แผนผังแสดงบริเวณที่มีทรัพยากรธรรมชาติหรือภูมิประเทศที่งดงามหรือมีคุณค่าในทางธรรมชาติ
                             (ฌ) แผนผังพร้อมด้วยข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ในที่ดินประการอื่นตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด
                   (๔) รายการและคำอธิบายประกอบแผนผังตาม (๓) รวมทั้งประเภท ชนิด ขนาด รูปแบบ สี และจำนวนของอาคารที่จะสร้างได้
                   (๕) ข้อกำหนดให้ต้องปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผังเมืองเฉพาะ ดังต่อไปนี้
                             (ก) แนวทางและขนาดของที่อุปกรณ์
                             (ข) ประเภท ชนิด ขนาด รูปแบบ สี และจำนวนของอาคารที่จะสร้างได้
                             (ค) ประเภท ชนิด ขนาด จำนวนและลักษณะของอาคารที่ชำรุดทรุดโทรม หรืออยู่ในสภาพอันเป็นที่น่ารังเกียจหรือน่าจะเป็นอันตรายแก่ผู้อาศัยหรือสัญจรไปมาที่จะต้องรื้อหรือย้ายตามคำสั่งของคณะกรรมการบริหารการผังเมืองเฉพาะตามมาตรา ๗๒
                             (ง) การใช้ประโยชน์ของอาคารที่อนุญาตให้สร้างขึ้นใหม่ หรือการอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น
                             (จ) ขนาดและแปลงที่ดินที่จะอนุญาตให้เป็นที่สร้างอาคารที่ใช้เพื่อประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่ได้ระบุไว้ในผังเมืองเฉพาะ รวมทั้งบริเวณของที่ดินที่กำหนดให้เป็นที่โล่งเพื่อประโยชน์ตามที่ระบุไว้
                             (ฉ) การส่งเสริมดำรงรักษาหรือบูรณะสถานที่หรือวัตถุที่มีประโยชน์หรือคุณค่าในทางศิลปกรรม สถาปัตยกรรม ประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี
                             (ช) การดำรงรักษาที่โล่ง
                             (ซ) การจัดให้มีหรือบำรุงรักษาพื้นที่สีเขียวและพื้นที่อนุรักษ์ และการส่งเสริมหรือบำรุงรักษาต้นไม้เดี่ยวหรือต้นไม้หมู่
                             (ฌ) การรื้อ ย้าย หรือดัดแปลงอาคาร
                             (ญ) การอื่นที่จำเป็นเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของผังเมืองเฉพาะ
                   (๖) รายละเอียดระบุที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่ต้องเวนคืนพร้อมทั้งรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยมีแผนที่แสดงเขตที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่เวนคืนเพื่อประโยชน์แก่การผังเมือง สำหรับใช้เป็นทางหลวงตามมาตรา ๖๐ (๑)
                   (๗) รายละเอียดระบุที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่ต้องเวนคืนพร้อมทั้งรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยมีแผนที่แสดงเขตที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่เวนคืน เพื่อประโยชน์แก่การผังเมืองอย่างอื่นตามมาตรา ๖๐ (๒)
                   (๘) รายละเอียดและแผนที่ระบุที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือซึ่งกระทรวง ทบวง กรม จังหวัด องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หรือองค์การของรัฐ เป็นเจ้าของ ผู้ครอบครองหรือผู้ดูแลรักษา ซึ่งจะนำมาใช้เป็นทางหลวง หรือใช้เพื่อประโยชน์แก่การผังเมืองอย่างอื่น
                   (๙) แผนที่ แผนผังหรือรายละเอียดอื่น ๆ ตามความจำเป็น

                   มาตรา ๕๕  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดที่มีกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองจังหวัดหรือผังเมืองท้องถิ่นขึ้นแล้ว ถ้าเจ้าพนักงานท้องถิ่นของท้องที่นั้นเห็นสมควรจะจัดให้มีการวางและจัดทำผังเมืองเฉพาะขึ้น จะดำเนินการวางหรือจัดทำผังเมืองเฉพาะขึ้นเอง หรือจะขอให้สำนักผังเมืองเป็นผู้วางและจัดทำผังเมืองเฉพาะให้ก็ได้
                   ในกรณีที่ประสงค์จะวางและจัดทำผังเมืองเฉพาะขึ้นเอง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นเสนอหลักการที่จะวางและจัดทำผังเมืองเฉพาะต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่อพิจารณาและให้ความเห็นชอบก่อน ในการนี้ ให้สำนักผังเมืองมีอำนาจเชิญเจ้าพนักงานท้องถิ่นมาแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายด้วยก็ได้
                   ผังเมืองเฉพาะต้องสอดคล้องกับผังเมืองจังหวัดหรือผังเมืองท้องถิ่น แล้วแต่กรณี

                   มาตรา ๕๖  การวางและจัดทำผังเมืองเฉพาะต้องมีการให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามความในหมวด ๓

                   มาตรา ๕๗  ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือผู้อำนวยการ แล้วแต่กรณี เสนอผังเมืองเฉพาะที่จัดทำเสร็จแล้วต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่อให้ความเห็นชอบ และเมื่อให้ความเห็นชอบแล้ว
ให้คณะกรรมการนโยบายเสนอผังเมืองเฉพาะต่อรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการตราพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะนั้นต่อไป

                   มาตรา ๕๘  ผังเมืองเฉพาะจะใช้ในท้องที่ใดให้ตราเป็นพระราชบัญญัติ ถ้าพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะมิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับได้ห้าปี
                   ก่อนสิ้นสุดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง หากเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือผู้อำนวยการเห็นว่า
มีเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องขยายระยะเวลาการใช้บังคับพระราชบัญญัติ ให้เสนอความเห็นพร้อมเหตุผลประกอบต่อคณะกรรมการนโยบายเพื่อพิจารณาดำเนินการตราเป็นพระราชบัญญัติขยายระยะเวลาการใช้บังคับผังเมืองเฉพาะต่อไป เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ พระราชบัญญัติขยายระยะเวลาจะกำหนดการแก้ไขปรับปรุงผังเมืองเฉพาะเสียใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปก็ได้ แต่ต้องมีการให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามความในหมวด ๓ และการแก้ไขปรับปรุงผังเมืองเฉพาะดังกล่าวต้องสอดคล้องกับผังเมืองจังหวัดหรือผังเมืองท้องถิ่น แล้วแต่กรณี

                   มาตรา ๕๙  ในระหว่างที่ใช้บังคับพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะในท้องที่ใด ถ้าเจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือผู้อำนวยการเห็นว่าสภาพการณ์และสิ่งแวดล้อมในเขตของผังเมืองเฉพาะ
ได้เปลี่ยนแปลงไป สมควรแก้ไขปรับปรุงข้อกำหนดหรือรายละเอียดของผังเมืองเฉพาะที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะเสียใหม่ให้เหมาะสมโดยไม่ขัดหรือแย้งกับผังเมืองจังหวัดหรือ
ผังเมืองท้องถิ่น แล้วแต่กรณี ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือผู้อำนวยการเสนอขอแก้ไขปรับปรุงผังเมืองเฉพาะต่อคณะกรรมการนโยบาย ถ้าคณะกรรมการนโยบายเห็นชอบกับการแก้ไขปรับปรุง และการแก้ไขปรับปรุงนั้นไม่เปลี่ยนแปลงข้อกำหนดและรายละเอียดของผังเมืองเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่น หรือการที่จะต้องรื้อหรือย้ายอาคาร หรือไม่ก่อให้เกิดการเวนคืนที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นขึ้นอีก หรือการที่จะต้องรื้อหรือย้ายอาคารใหม่ ให้คณะกรรมการนโยบายเสนอต่อรัฐมนตรีเพื่อออกกฎกระทรวงแก้ไขปรับปรุงผังเมืองเฉพาะ

                   มาตรา ๖๐  เมื่อได้ประกาศพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะในท้องที่ใด ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นซึ่งเอกชนเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครอง และถูกกำหนดในพระราชบัญญัติ
ให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะให้เวนคืน ถ้าเป็นการเวนคืนเพื่อ
                   (๑) ใช้เป็นทางหลวง ให้ถือว่าถูกเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง และให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่การเวนคืนโดยอนุโลม ทั้งนี้ เว้นแต่ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะ
                   (๒) ใช้ในการอันเป็นประโยชน์แก่การผังเมืองอย่างอื่น ให้ถือว่าถูกเวนคืนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่การเวนคืนโดยอนุโลม ทั้งนี้ เว้นแต่ที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะในพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะ
                   ในการเวนคืนตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้อำนวยการหรือผู้ว่าราชการจังหวัดแห่งท้องที่ซึ่งระบุ
ไว้ในพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะ เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืนอสังหาริมทรัพย์ และให้ถือแนวเขตที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่จะเวนคืนที่มีอยู่ในแผนที่ท้ายพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะเป็นแนวเขตที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อย่างอื่นที่ถูกเวนคืน
                   ในกรณีที่พระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะมีผลใช้บังคับภายในห้าปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะทำการสำรวจตามพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ และพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะไม่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนไว้เป็นอย่างอื่น ให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่จะจ่ายให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนตามมาตรานี้ ตามราคาทรัพย์สิน
ที่ต้องเวนคืนตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
                   ในกรณีที่มีการตราพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะขึ้นใช้บังคับโดยไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะทำการสำรวจตามพระราชบัญญัตินี้ หรือพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นห้าปีนับแต่วันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะทำการสำรวจตามพระราชบัญญัตินี้ หากพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะไม่ได้กำหนดเงินค่าทดแทนไว้เป็นอย่างอื่น ให้กำหนดเงินค่าทดแทนที่จะจ่ายให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สินที่ถูกเวนคืนตามมาตรานี้ตามราคาทรัพย์สินที่ต้องเวนคืนนั้นตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะ
                   ในกรณีที่เป็นการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อปรับปรุงให้เป็นไปตามผังเมืองเฉพาะ
เมื่อเจ้าหน้าที่ดำเนินการได้ดำเนินการปรับปรุงแล้วและประสงค์จะให้เช่าหรือหาประโยชน์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นต่อไปก็ให้กระทำได้ แต่จะกระทำการอันมีผลเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์นั้นมิได้
                   การโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนเพื่อปรับปรุงดังกล่าวจะกระทำได้ก็โดยการตราพระราชบัญญัติ

                   มาตรา ๖๑  ในกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้ดำเนินการตามมาตรา ๖๐ (๑) ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตกลงกับเจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้ดูแลรักษาอสังหาริมทรัพย์เกี่ยวกับกำหนดเวลาที่จะเข้าครอบครอง
                   ในกรณีที่มีความจำเป็นจะต้องเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ซึ่งได้ดำเนินการตามมาตรา ๖๐ (๒) และพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะได้บัญญัติให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ
เข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้ก่อนการใช้เงินหรือวางเงินค่าทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ให้นำความในวรรคหนึ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่กำหนดวันที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ดำเนินการจะเข้าครอบครองต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับแต่
วันมีหนังสือแสดงความจำนงที่จะเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้น
                   ในกรณีที่ไม่สามารถพบตัวเจ้าของ หรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ตามมาตรา ๖๐ (๒) และไม่สามารถส่งหนังสือแสดงความจำนงถึงเจ้าของหรือผู้ครอบครองอสังหาริมทรัพย์ได้กำหนดวันที่จะเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวันนับแต่วันปิดแจ้งความ ซึ่งปิดไว้ ณ ที่
ที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่
                   เมื่อพ้นกำหนดเวลาตามวรรคสองหรือวรรคสาม ให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ดำเนินการมีอำนาจเข้าครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นได้ แม้จะยังมิได้ชำระเงินค่าทดแทน

                   มาตรา ๖๒  รายละเอียดของข้อกำหนดต่าง ๆ ตามพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะ และหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

                   มาตรา ๖๓  บรรดาข้อบัญญัติหรือเทศบัญญัติซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง กฎหมายว่าด้วยการควบคุมสุสานและฌาปนสถานหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นที่ใช้บังคับอยู่ในเขตท้องที่ที่ใช้บังคับพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๖๒ หรือซึ่งขัดหรือแย้งกับกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๖๒ ให้ใช้กฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๖๒ แทน

                   มาตรา ๖๔  ในท้องที่ใดที่ใช้บังคับพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะ แต่ยังไม่ได้ตราพระราชกฤษฎีกาให้ใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร ให้ถือว่าได้มีการประกาศ
พระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคารในเขตแห่งผังเมืองเฉพาะนั้น รวมทั้งบริเวณโดยรอบหนึ่งกิโลเมตรนับจากแนวเขตผังเมืองเฉพาะด้วย
                   ในบริเวณหนึ่งกิโลเมตรโดยรอบเขตแห่งผังเมืองเฉพาะที่ใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคารตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นผู้มีอำนาจอนุญาตการก่อสร้าง ดัดแปลง ต่อเติม หรือซ่อมแซมอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร เสนอหลักการให้คณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่นพิจารณา และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดควบคุมการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้เป็นไปตามหลักการที่คณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่นได้กำหนดไว้

                   มาตรา ๖๕  ในท้องที่ที่ใช้บังคับพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะ ห้ามบุคคลใดใช้ประโยชน์ที่ดินหรือแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงอสังหาริมทรัพย์ให้ผิดไปจากที่ได้กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะ หรือในกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๕๙ หรือมาตรา ๖๒

                   มาตรา ๖๖  ในกรณีที่เขตผังเมืองเฉพาะรวมเขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายองค์กร รัฐมนตรีจะออกกฎกระทรวงให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งใดแห่งหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่อนุญาตการก่อสร้าง ดัดแปลง ต่อเติมหรือซ่อมแซมอาคารแต่เพียงผู้เดียวก็ได้
ในกรณีเช่นว่านี้ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่อนุญาตการก่อสร้างดัดแปลง ต่อเติมหรือซ่อมแซมอาคารตลอดเขตแห่งผังเมืองเฉพาะนั้นตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร

คณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่น
                  

                   มาตรา ๖๗  ในท้องที่ที่ใช้บังคับพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะ ให้มีคณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่นคณะหนึ่งประกอบด้วย
                   (๑) ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกรมธนารักษ์ ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนการเคหะแห่งชาติ ผู้แทนการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสำนักผังเมือง เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร หัวหน้ากองผังเมืองกรุงเทพมหานคร ผู้ทรงคุณวุฒิทางการผังเมืองหรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผังเมืองไม่เกินสี่คน และผู้แทนสถาบัน องค์การอิสระและบุคคลอื่นที่มีความเกี่ยวข้องกับการผังเมือง
ไม่เกินสี่คน ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นกรรมการ
                   (๒) ในเขตจังหวัดอื่น ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ ผังเมืองจังหวัด สรรพากรจังหวัด แพทย์ใหญ่จังหวัด อัยการจังหวัด เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด ผู้ทรงคุณวุฒิทางการผังเมืองหรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการผังเมืองไม่เกินสามคน และผู้แทนสถาบันองค์การอิสระและบุคคลอื่นที่มีความเกี่ยวข้องกับการผังเมืองไม่เกินสามคนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นกรรมการ
                   ในกรณีที่ต้องดำเนินการในเขตองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นนอกจากรุงเทพมหานคร ให้นายอำเภอแห่งท้องถิ่นนั้น และนายกองค์การบริหารส่วนตำบล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกเมืองพัทยา หรือผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น แล้วแต่กรณี เป็นกรรมการร่วมด้วย
                   กรรมการซึ่งแต่งตั้งจากผู้แทนสถาบัน องค์การอิสระ และบุคคลอื่น จะต้องไม่เป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ
                   ให้ประธานคณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่นแต่งตั้งกรรมการหรือบุคคลใด เป็นเลขานุการคณะกรรมการ

                   มาตรา ๖๘  ให้คณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
                   (๑) พิจารณาและสั่งการเกี่ยวกับการจัดที่ดินของเอกชนเพื่อใช้เป็นที่อุปกรณ์ตามผังเมืองเฉพาะ
                   (๒) อนุมัติการยกที่อุปกรณ์ให้เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน
                   (๓) พิจารณาและสั่งการเกี่ยวกับการรื้อ ย้าย หรือดัดแปลงอาคารที่จะต้องรื้อ ย้าย หรือดัดแปลงตามผังเมืองเฉพาะ
                   (๔) พิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ยื่นต่อคณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่น
                   (๕) ดำเนินการอื่นใดตามอำนาจหน้าที่ซึ่งมีบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้

                   มาตรา ๖๙  ให้กรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่นซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี
                   ในกรณีที่มีการแต่งตั้งกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งเพิ่มขึ้นหรือแต่งตั้งซ่อม ให้ผู้ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่นซึ่งได้แต่งตั้งไว้แล้วนั้น
                   กรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่นที่พ้นจากตำแหน่งตามวาระอาจได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการอีกได้

                   มาตรา ๗๐  ให้นำมาตรา ๒๑ และมาตรา ๒๒ มาใช้บังคับแก่การประชุมและการลงมติของคณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่นโดยอนุโลม


การรื้อ ย้าย หรือดัดแปลงอาคาร
                  

                   มาตรา ๗๑  ในกรณีที่พระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะ กำหนดให้มีการรื้อ ย้าย หรือดัดแปลงอาคาร ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดทำรายละเอียดแสดงการรื้อ ย้าย หรือดัดแปลงอาคาร
ให้คณะกรรมการบริหารผังเมืองส่วนท้องถิ่นพิจารณา

                   มาตรา ๗๒  ให้คณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่นพิจารณาเหตุผลและรายละเอียดแสดงการรื้อ ย้าย หรือดัดแปลงอาคาร ให้เป็นไปตามผังเมืองเฉพาะ ในการนี้จะขอความเห็นจากสำนักผังเมืองเพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้ หรือจะสั่งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดทำรายละเอียด
เสียใหม่ก็ได้
                   เมื่อคณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่นพิจารณาเสร็จแล้วและสั่งการประการใด ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการมีหนังสือแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารที่เกี่ยวข้องทราบถึงคำสั่งของคณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่นและการดำเนินการตามคำสั่งนั้นเป็นเวลาไม่น้อยกว่า
หกสิบวันก่อนวันที่จะมีการดำเนินการ และให้ส่งรายละเอียดแสดงการรื้อ ย้าย หรือดัดแปลงอาคารเท่าที่เกี่ยวข้องไปด้วย แต่เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารผู้ไม่เห็นชอบด้วยกับคำสั่งของคณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่น มีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามมาตรา ..

                   มาตรา ๗๓  ถ้าอาคารที่จะต้องรื้อ ย้าย หรือดัดแปลงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือทรัพย์สินของแผ่นดินที่อยู่ในความครอบครองหรือดูแลรักษาของส่วนราชการใด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีหนังสือแจ้งให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือทรัพย์สินของแผ่นดินทราบ และให้ส่วนราชการดังกล่าวมีหนังสือแสดงความยินยอมหรือขัดข้องให้คณะกรรมการบริหารการ
ผังเมืองส่วนท้องถิ่นทราบ ถ้ามีปัญหาโต้แย้งระหว่างส่วนราชการกับคณะกรรมการบริหารการผังเมือง
ส่วนท้องถิ่นให้เสนอคณะกรรมการนโยบายวินิจฉัย

                   มาตรา ๗๔  ในกรณีที่เอกชนซึ่งเป็นเจ้าของอาคารได้รับหนังสือแจ้งให้จัดการรื้อหรือย้ายอาคารแล้ว ไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ตามมาตรา .. หรือใช้สิทธิอุทธรณ์ แต่คณะกรรมการอุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับการอุทธรณ์ เจ้าของอาคารต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ดำเนินการหรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์ภายในกำหนดเวลาสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งหรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์
                   ถ้าเจ้าของอาคารไม่เริ่มดำเนินการรื้อหรือย้ายอาคาร หรือได้รื้อหรือย้ายอาคารไปบ้างแล้ว แต่เป็นที่เห็นได้ประจักษ์ว่าการรื้อหรือย้ายอาคารจะไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดไว้ในคำสั่ง
ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเตือนเป็นหนังสือไปยังเจ้าของอาคาร ถ้าผู้นั้นยังคงละเลยไม่ดำเนินการตามคำสั่งภายในเวลาที่กำหนดไว้ในคำเตือนซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสิบห้าวันวันโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการมีอำนาจเข้าไปในที่ดินและรื้อหรือย้ายอาคารนั้นโดยคิดค่าใช้จ่ายจากเจ้าของอาคาร ค่าใช้จ่ายจะคิดหักเอาจากเงินค่าตอบแทนตามมาตรา ๗๖ ที่จะพึงจ่ายให้แก่เจ้าของอาคารนั้นก็ได้ การรื้อหรือย้ายอาคารนั้น เจ้าหน้าที่ดำเนินการต้องกระทำโดยประหยัดและค่าใช้จ่ายที่คิดจากเจ้าของอาคารจะต้องไม่มากกว่าเงินค่าตอบแทนตามมาตรา ๗๖
                   เมื่อได้คิดค่าใช้จ่ายแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการแจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของอาคารทราบ เจ้าของอาคารผู้ไม่เห็นชอบด้วยกับการคิดค่าใช้จ่ายมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามมาตรา ..

                   มาตรา ๗๕  ในกรณีที่เอกชนซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารได้รับแจ้งให้จัดการดัดแปลงอาคาร ไม่เริ่มดำเนินการดัดแปลงอาคารหรือได้ดัดแปลงอาคารไปบ้างแล้ว แต่เป็นที่เห็นได้ประจักษ์ว่าการดัดแปลงอาคารจะไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนดไว้ในคำสั่ง ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเตือนเป็นหนังสือไปยังเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร และหากผู้นั้นยังคงละเลยไม่ดำเนินการตามคำสั่งภายในเวลาที่กำหนดไว้ในคำเตือน ซึ่งต้องไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการรายงานต่อคณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่นเพื่อสั่งเพิกถอนคำสั่งให้ดัดแปลงนั้นและสั่งให้รื้อหรือย้ายอาคารต่อไปและให้นำมาตรา ๗๒ และมาตรา ๗๔ มาใช้บังคับแก่การสั่งรื้อหรือย้ายอาคาร และการคิดค่าใช้จ่ายจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยอนุโลม

                   มาตรา ๗๖  เมื่อคณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่นได้สั่งให้เจ้าของรื้อ ย้าย หรือดัดแปลงอาคารตามมาตรา ๗๒ ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่นกำหนดเงินค่าตอบแทนตามความเป็นธรรมและจ่ายให้บุคคล ดังต่อไปนี้
                   (๑) ถ้าเป็นอาคารที่ไม่อาจย้ายได้ ให้จ่ายเงินค่าตอบแทนแก่เจ้าของอาคาร ซึ่งปลูกสร้างอยู่ในวันที่ใช้บังคับพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะ
                   (๒) ถ้าเป็นอาคารหรือส่วนของอาคารที่รื้อย้ายได้ ให้จ่ายเงินค่าตอบแทนแก่เจ้าของอาคารซึ่งปลูกสร้างอยู่ในวันที่ใช้บังคับพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะ เงินค่าตอบแทนดังกล่าวพึงกำหนดให้เฉพาะค่ารื้ออาคาร ค่าขนย้ายและค่าปลูกสร้างใหม่
                   (๓) ผู้เช่าที่ดินหรือผู้เช่าอาคารที่จะต้องรื้อหรือย้าย ซึ่งมีสัญญาเช่าเป็นหนังสือ หรือ
ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจะฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และหลักฐานนั้นได้ทำไว้ก่อนวันใช้บังคับพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะหรือได้ทำขึ้นภายหลังวันนั้นโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น และการเช่านั้นยังไม่ระงับไปในวันที่
เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้สั่งให้รื้อหรือย้ายอาคาร เงินค่าตอบแทนในการเช่านี้พึงกำหนดให้เฉพาะที่ผู้เช่า
ได้เสียหายจริง โดยเหตุที่ต้องออกจากที่ดินหรืออาคารก่อนสัญญาเช่าระงับ
                   (๔) บุคคลซึ่งมีสิทธิตามมาตรา ๑๓๔๙ หรือมาตรา ๑๓๕๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเสียสิทธิในการใช้ทางหรือเสียสิทธิในการวางท่อน้ำ ทางระบายน้ำ สายไฟฟ้าหรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกัน ผ่านที่ดินซึ่งต้องมีการรื้อหรือย้ายอาคารในเมื่อบุคคลเช่นว่านั้นได้ให้เงินค่าตอบแทนในการที่ได้ใช้สิทธินั้น ๆ แก่เจ้าของที่ดินไปแล้ว
                   ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการมีหนังสือแจ้งจำนวนเงินค่าตอบแทนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนทราบ ผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทน ผู้ไม่เห็นชอบด้วยกับจำนวนเงินค่าตอบแทนดังกล่าว
มีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามมาตรา ..

                   มาตรา ๗๗  ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดหาที่อยู่ชั่วคราวที่เหมาะสมให้แก่บุคคลตามมาตรา ๗๖ (๑) (๒) หรือ (๓) อาศัยอยู่เป็นเวลาตามความจำเป็นแต่ต้องไม่น้อยกว่าหกเดือนและไม่เกินหนึ่งปี ในเมื่อบุคคลดังกล่าวไม่สามารถจัดหาที่อยู่ของตนเองได้ การกำหนดเงินค่าตอบแทนตามมาตรา ๗๖ จะคำนึงถึงการจัดหาที่อยู่ชั่วคราวด้วยก็ได้
                   ในกรณีที่เห็นสมควรเจ้าหน้าที่ดำเนินการจะผ่อนผันให้อาศัยต่อไปอีกไม่เกินหกเดือนก็ได้

                   มาตรา ๗๘  ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดหาที่ดินและหรืออาคารให้บุคคลดังกล่าวในมาตรา ๗๖ เข้าอยู่ในที่ใหม่ โดยการเช่าซื้อหรือเช่า และบุคคลดังกล่าวสมัครใจเข้าอยู่ในที่ดินและหรืออาคารที่จัดหาให้ใหม่นั้น ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการกันเงินค่าตอบแทนที่จะพึงจ่ายตามมาตรา ๗๖ ไว้เพื่อจ่ายในการเช่าซื้อหรือเช่า ถ้าเป็นการเช่าซื้อ จำนวนเงินที่กันไว้ให้เป็นไปตามที่เจ้าหน้าที่ดำเนินการและบุคคลดังกล่าวตกลงกัน ถ้าเป็นการเช่าให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการกันเงินไว้เป็นค่าเช่าสำหรับหนึ่งปีหกเดือน จำนวนเงินที่เหลือจากที่กันไว้ให้จ่ายแก่บุคคลดังกล่าว ในการนี้ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการมีหนังสือแจ้งจำนวนเงินที่กันไว้ และจำนวนเงินที่เหลือจ่ายให้บุคคลดังกล่าวทราบ บุคคลดังกล่าวผู้ไม่เห็นชอบด้วย
มีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามมาตรา ..
                   ในกรณีที่จัดที่ดินไว้ให้บุคคลดังกล่าวปลูกสร้างเอง ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการช่วยเหลือและให้ความสะดวกในการที่จะปลูกสร้างอาคารลงในที่ดินที่จัดให้

                   มาตรา ๗๙  ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่นสั่งให้จัดที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อุปกรณ์ ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจ่ายเงินค่าตอบแทนตามที่คณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่นกำหนดแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินดังกล่าว ซึ่งต้องเสียสิทธิบางประการเกี่ยวกับการใช้ที่ดินเนื่องจากการจัดที่ดินนั้นหรือต้องรับภาระที่ต้องปฏิบัติหรืองดเว้นไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดอันเกี่ยวกับที่ดินที่จัดนั้น
                   ในการกำหนดเงินค่าตอบแทนตามวรรคหนึ่ง ให้คณะกรรมการบริหารการผังเมือง
ส่วนท้องถิ่นพิจารณาถึงความมากน้อยแห่งสิทธิที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินต้องเสียหรือถูกจำกัด
หรือภาระที่ต้องปฏิบัติหรืองดเว้นไม่ปฏิบัติ รวมทั้งประโยชน์ที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินพึงได้รับ
ในการใช้ที่อุปกรณ์ด้วย แต่ทั้งนี้เงินค่าตอบแทนที่กำหนดต้องไม่เกินราคาที่ดิน และเพื่อประโยชน์ในการคำนวณราคาที่ดินตามมาตรานี้ ให้นำความในมาตรา ๘๑ ที่เกี่ยวกับราคาที่โอนตามความเป็นธรรมมาใช้บังคับโดยอนุโลม
                   ให้คณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่นมีหนังสือแจ้งการกำหนดเงินค่าตอบแทนให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินทราบ เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินผู้ไม่เห็นชอบด้วยมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามมาตรา ..

                  มาตรา ๘๐  ที่ดินที่ถูกจัดให้เป็นที่อุปกรณ์ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่
ในส่วนที่ถูกจัดนั้น

                   มาตรา ๘๑  เจ้าของที่อุปกรณ์ผู้ใดประสงค์จะยกที่อุปกรณ์ให้เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินโดยมีเงินค่าตอบแทน หากคณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่นพิจารณาเห็นว่าที่อุปกรณ์นั้นได้ใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะเป็นส่วนใหญ่ ก็ให้รับที่อุปกรณ์นั้นเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินได้และให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้แก่เจ้าของตามราคาที่พระราชบัญญัติให้ใช้บังคับ
ผังเมืองเฉพาะบัญญัติไว้ ถ้าไม่ได้บัญญัติไว้ ให้กำหนดเท่ากับราคาของที่ดินที่โอนตามความเป็นธรรม
ที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะทำการสำรวจ ทั้งนี้ ไม่ว่าพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวจะยังคงใช้บังคับหรือไม่
                   ถ้าไม่มีพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว หรือใช้บังคับพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะภายหลังห้าปีนับแต่วันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะไม่ได้กำหนดเงินค่าตอบแทนไว้เป็นอย่างอื่น ให้กำหนดเงินค่าตอบแทนเท่าราคาที่ดินที่โอนตามความ
เป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะ
                   ความในวรรคหนึ่งและวรรคสองไม่ให้ใช้บังคับในกรณีที่การยกให้เกิดขึ้นภายหลังห้าปี
นับแต่วันใช้บังคับพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะ ในกรณีนี้ถ้าพระราชบัญญัติให้ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะไม่ได้กำหนดเงินค่าตอบแทนไว้เป็นอย่างอื่น ให้เงินค่าตอบแทนเป็นไปตามที่ตกลงกัน ซึ่งจะต้องไม่ต่ำกว่าราคาที่ดินตามความเป็นธรรมตามวรรคหนึ่งหรือวรรคสอง แล้วแต่กรณี

                   มาตรา ๘๒  ในการคำนวณเงินค่าตอบแทนตามมาตรา ๘๑ ถ้ามีการสร้างหรือจัดทำเพื่อให้เป็นที่อุปกรณ์ ตามแบบและรายการที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นอนุญาตก่อนที่จะมีการยกให้ ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการจ่ายเงินค่าตอบแทนค่าใช้จ่ายในการสร้างหรือจัดทำดังกล่าวแก่เจ้าของเพิ่มขึ้นจากเงินค่าตอบแทนอันพึงจ่ายให้เนื่องในการยกให้ นอกจากเจ้าหน้าที่ดำเนินการเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง เงินค่าตอบแทนอันจะพึงจ่ายให้เพิ่มขึ้นตามมาตรานี้ ให้คณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่นพิจารณากำหนดให้ตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงประโยชน์ของเจ้าของหรือผู้ครอบครองประโยชน์สาธารณะ สภาพของสิ่งที่ก่อสร้างหรือสิ่งที่จัดทำ หรือสิ่งที่สร้างในขณะที่มีการยกให้ประกอบด้วย

                   มาตรา ๘๓  ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่นได้กำหนดจำนวนเงินค่าตอบแทนอันจะพึงจ่ายให้หรือได้มีการจ่ายเงินค่าตอบแทนตามที่กำหนดไว้ให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินตามมาตรา ๗๖ ให้หักเงินค่าตอบแทนที่กำหนดไว้ หรือที่ได้จ่ายไปแล้วออกจากเงินค่าตอบแทนในการยกให้ตามมาตรา ๘๑
  
                   มาตรา ๘๔  ในการจัดที่ดินให้เป็นที่อุปกรณ์ หากมีความจำเป็นต้องสร้างหรือจัดทำเพื่อให้เป็นไปตามแบบและรายการที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นกำหนดและเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินร้องขอ เจ้าหน้าที่ดำเนินการจะสร้างหรือจัดทำให้ก็ได้เมื่อพิจารณาเห็นเป็นการสมควร โดยคิดค่าใช้จ่ายจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินนั้น
                   ในการคิดค่าใช้จ่ายตามวรรคหนึ่ง ถ้าการสร้างหรือจัดทำของเจ้าหน้าที่ดำเนินการเป็นไปเพียงเพื่อประโยชน์ของเจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินผู้ร้องขอนั้น ให้คิดค่าใช้จ่ายในการสร้างหรือจัดทำนั้นทั้งหมด แต่ถ้าเป็นไปเพื่อสาธารณประโยชน์ด้วยเจ้าหน้าที่ดำเนินการจะออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดหรือแต่บางส่วนก็ได้ตามที่เห็นสมควร และให้เจ้าของที่ดินเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือ

                   มาตรา ๘๕  เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามผังเมืองเฉพาะในกรณีจำเป็นที่ต้องใช้ที่ดินของบุคคลใด ๆ ในบริเวณไม่เกินหนึ่งกิโลเมตร นับจากแนวเขตผังเมืองเฉพาะ เจ้าพนักงานการผังมีอำนาจจัดให้ทำหรือวางท่อน้ำ ทางระบายน้ำ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันลงบน ใต้หรือเหนือพื้นดินของบุคคลนั้นได้ในเมื่อพื้นดินนั้นไม่ใช่เป็นที่ตั้งโรงเรือน โดยแจ้งเป็นหนังสือพร้อมทั้งแผนผังแสดงแนวทางการใช้ที่ดินให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่เกี่ยวข้องทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันที่จะมีการดำเนินการ
                   ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานการผังกำหนดเงินค่าตอบแทนอันเป็นธรรมในการใช้ที่ดินนั้นที่จะจ่ายให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดิน และให้แจ้งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินที่เกี่ยวข้องทราบโดยมิชักช้า
                   เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินผู้ไม่เห็นชอบด้วยกับการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง หรือการกำหนดเงินค่าตอบแทนตามวรรคสอง มีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามมาตรา ..

                   มาตรา ๘๖  โดยปกติให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ใช้บังคับผังเมืองเฉพาะเป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการ แต่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการผังเมืองอาจแต่งตั้งให้องค์การหรือบรรษัทของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่หรือซึ่งได้รับมอบหมายให้มีอำนาจหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการในท้องที่นั้นได้

อุทธรณ์
                  

                   มาตรา ..




เจ้าพนักงานท้องถิ่น เจ้าพนักงานการผัง เจ้าหน้าที่ดำเนินการ
และกรรมการบริหารการผังเมืองส่วนท้องถิ่น
                  

                   มาตรา ..

บทกำหนดโทษ
                  

                   มาตรา ..

บทเฉพาะกาล
                  

                   มาตรา ..


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

..............................................

          นายกรัฐมนตรี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น