วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

ดีเดย์-กฎหมายอำนวยความสะดวก 21 ก.ค. 58

นายปกรณ์ นิลประพันธ์


วันที่ 21 กรกฎาคม 2558 เป็นวันที่พระราชบัญญัติอำนวยความสะดวกในการอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า "กฎหมายอำนวยความสะดวก" มีผลใช้บังคับ และกฎหมายนี้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นหลายประการ เช่น

-การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องประกาศให้ประชาชนที่กฎหมายบังคับให้เขาต้องมาขออนุมัติ อนุญาต ใบอนุญาต ฯลฯ ได้รับรู้รับทราบว่าเขาต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ต้องใช้เอกสารหลักฐานใด จำนวนกี่ชุด มีขั้นตอนการอนุมัติอนุญาตอย่างไร หลงจ๊งแล้วต้องใช้เวลาเท่าไรในการอนุญาต มีค่าใช้จ่ายเท่าไร เพราะเดิมเป็นการยากยิ่งนักที่ประชาชนตาดำ ๆ จะทราบถึงรายละเอียดที่ว่านี้ เลยไม่ได้ขออนุมัติอนุญาตหรือใบอนุญาตเสียให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้มีเจตนาจะหลบเลี่ยงกฎหมาย 

-การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องจัดทำคู่มือประชาชนตามประกาศดังกล่าวและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบทางสื่อสารสนเทศของหน่วยงานนั้น ๆ และต้องอนุญาตหรือใบอนุญาตให้ได้ภายในกำหนดเวลาตามที่ตนได้ประกาศไปแล้วนั้น ถ้าทำไม่ได้ ประชาชนเขาจะได้มีฐานไปฟ้องร้องต่อศาลได้ว่าทำงานล่าช้า และถ้าเกิดความเสียหายขึ้นกับเขา เขาจะได้ไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ สำหรับแนวทางในการทำคู่มือนั้น กฎหมายนี้ไม่ได้กำหนดรูปแบบไว้ว่าจะต้องทำอย่างไร แต่โดยที่มันเป็นคู่มือประชาชน ก็ควรทำให้ชาวบ้านร้านตลาดเขาเข้าใจง่าย ๆ จะมีรูปภาพประกอบหรือมีสีสันเจ็บ ๆ เพื่อดึงดูดคนให้หันมาดูก็ไม่ว่ากัน แต่ไม่ใช่เขียนแบบหนังสือราชการยาวยืดจนเห็นแล้วอาจเบือนหน้าหนี หน่วยงานไหนทำอย่างนั้นให้สันนิษฐานไว้ก่อนเลยว่าเขาไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้เอาเสียเลย

-การกำหนดให้เป็นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ผู้รับคำขอที่จะต้องตรวจสอบความถูกต้องของคำขอรับอนุญาต และความครบถ้วนของเอกสารที่ยื่นมาว่าตรงตามรายการที่หน่วยงานประกาศกำหนดไว้หรือไม่ ถ้าไม่ถูกต้องก็ให้แจ้งผู้ยื่นคำขอทราบทันที ไม่ใช่รับ ๆ ไว้ก่อนแล้วเรียกเพิ่มเติมทีหลังเหมือนที่เคย ๆ ทำกันมา เพื่อป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งไม่สุจริตใช้เป็นช่องทางตุกติกหาเศษหาเลยกับประชาชน

-การกำหนดให้ต้องมีหนังสือแจ้งให้ประชาชนทราบถึงความล่าช้าหากว่าหน่วยงานนั้นไม่สามารถพิจารณาคำขอให้แล้วเสร็จได้ภายในกำหนดที่ตนได้กำหนดไว้ในคู่มือ โดยให้มีหนังสือแจ้งให้ทราบทุก ๆ 7 วันจนกว่าจะแล้วเสร็จ และให้สำเนาหนังสือเช่นว่านั้นให้สำนักงาน ก.พ.ร. ทราบทุก ๆ ครั้งด้วยเพื่อจะได้ตรวจสอบกันได้ว่าทำไมจึงไม่มีประสิทธิภาพกันได้ถึงเพียงนั้น ทั้งที่เป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขออนุมัติอนุญาตนั้นขึ้นเอง หรือผู้มีอำนาจอนุญาตบินไปราชการต่างประเทศบ่อยเกินไปจนไม่มีเวลาพอที่จะพิจารณาอนุมัติอนุญาตอันเป็นงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน จะได้ปรับปรุงกัน

-การกำหนดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องพิจารณาทบทวนกระบวนการอนุมัติอนุญาตทุกห้าปีหรือเร็วกว่า เพื่อให้มีการพิจารณาทบทวนประสิทธิภาพของการอนุมัติอนุญาตทุกรอบระยะเวลาเพื่อให้ทันกับสถานการณ์ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่ทำกันมาสิบยี่สิบปีอย่างไรก็ยังจะทำต่อไปอย่างนั้นเหมือนเช่นที่ผ่านมา

จะว่าไปแล้วกฎหมายนี้ไม่ได้สร้างภาระอะไรขึ้นใหม่เลย เพียงแต่เป็นการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐนำกระบวนการทำงานอันเป็นเรื่องภายในของหน่วยงานที่มีอยู่แล้วมาเปิดเผยต่อประชาชนเพื่อความโปร่งใส (Transparency) เท่านั้นเอง ถ้าหน่วยงานของรัฐไม่มีกระบวนการทำงานเช่นว่านี้อยู่ แสดงว่าท่านทำงานกันอย่างเปะปะตามยถากรรมมาโดยตลอด สิ่งที่อาจขัดใจกันอยู่บ้างคงเป็นแต่เพียงว่านับแต่นี้ไป ท่านที่เคารพจะเอ้อระเหยลอยชายกับคำขออนุมัติอนุญาตของประชาชนไม่ได้อีกแล้ว ทั้งเมื่อเรื่องราวโปร่งใสขึ้น ความรับผิดชอบ (accountability) ของท่านจะชัดเจนขึ้น ราชการจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ท่านจะตุกติกใต้โต๊ะอย่างเคย ๆ ไม่ได้อีกแล้ว อันจะนำไปสู่การป้องกันการคอรัปชั่น

ผู้เขียนขอเรียนว่ากฎหมายนี้เป็นหนึ่งในความริเริ่มในการปฏิรูปกฎหมาย (Legal Reform Initiatives) ของรัฐบาลตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่ได้ลอยล่องมาจากสภาไหน ๆ หรือคณะกรรมการอื่นใดทั้งนั้น และรัฐบาลให้ความสำคัญกับกฎหมายนี้อย่างมากเพราะจะเป็น Soft infrastructure ที่จะทำให้เกิดความโปร่งใสและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารราชการไปในเวลาเดียวกัน อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (National Competitiveness) และการต่อต้านการทุจริต (Anti-Corruption)  ทั้งภาคเอกชนและภาคประชาสังคมต่างก็เฝ้ารอวันที่กฎหมายนี้จะมีผลใช้บังคับอย่างใจจดใจจ่อ มีการจัดสัมมนาเกี่ยวกับกฎหมายนี้กันหลายเวที 

ผู้เขียนจึงหวังว่าคงไม่มีส่วนราชการไหนจะทำให้ทุกฝ่ายที่เฝ้ารอผิดหวัง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น