นายปกรณ์ นิลประพันธ์
กรรมการร่างกฎหมายประจำ
(นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ)
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
เมื่อไม่นานมานี้ผู้เขียนได้กล่าวถึงกฎหมายใหม่ที่ดูประหนึ่งว่าจะไม่อยู่ในอ้อมใจของชาวไทยสักเท่าไร
นั่นก็คือ “พระราชกฤษฎีกาการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย พ.ศ. 2558”
ที่กำหนดให้รัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมายหรือกฎต่าง ๆ ที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไปต้องดำเนินการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายหรือกฎที่อยู่ในความรับผิดชอบของท่านทุกรอบ
5 ปี หรือเร็วกว่าหากเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวนั้น
ผู้เขียนไม่แน่ใจนักว่าที่ไม่สนใจนี่เพราะไม่รู้ว่ามีกฎหมายนี้อยู่
หรือไม่มัวแต่ไปสนใจว่าใครจะมาร่างรัฐธรรมนูญหรือใครจะมาเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศกันหมด
แต่เชื่อไหมครับว่าพอผู้เขียนเผยแพร่คำแปลพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวใน
blog ส่วนตัว (http://lawdrafter.blogspot.com/2015/09/translation-royal-decree-on-revision-of.html) ปรากฏว่าเพื่อนชาวต่างประเทศส่งอีเมล์มาแสดงความยินดีกับผู้เขียนมากมาย
เพราะเป็นการดำเนินการที่สอดคล้องกับความริเริ่มที่ต้องการให้มีการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายหลังจากที่กฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว
(ex post
evaluation of legislation initiative) ที่ทั้งโลกกำลังพยายามขับเคลื่อนกันอยู่ แม้ในกรอบ ASEAN หรือ APEC ก็มีการผลักดันเรื่องนี้อย่างจริงจังนะครับ
เพราะถ้ากฎหมายสอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ก็เป็นหลักฐานชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลของประเทศนั้นมีวิสัยทัศน์และทันโลก
ฝ่ายนิติบัญญัติก็มีคุณภาพ ไม่งั้นจะตรากฎหมายที่ทันยุคทันสมัยออกมาใช้บังคับได้อย่างไร
ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้ ใคร ๆ ก็อยากเข้ามาอยู่หรือเข้ามาลงทุนทั้งนั้นแหละ
ผู้เขียนคงไม่กล่าวซ้ำถึงรายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้
แต่จะเล่าให้ฟังว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกประเทศ “ต้อง” ทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายอยู่เสมอ
และรอบเวลาในการทบทวนนี้ก็จะสั้นลงเรื่อย ๆ เพราะต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล
ตัวอย่างที่จะเล่าให้ฟังนี้เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาครับ
นั่นคือคดีระหว่าง DOUGLAS
O’CONNER et al โจทก์
กับ UBER TECHNOLOGIES,
INC. จำเลย ที่มีการฟ้องร้องกันอยู่ที่
US District Court
(Northern District of California) ครับ
เราคงรู้จัก UBER กันพอสมควรนะครับ บริษัทนี้เปิดให้บริการบนพื้นฐานแนวคิดทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับลักษณะของสังคมแห่งการแบ่งปันของคนในยุคปัจจุบัน
หรือเรียกว่า “Sharing
economy” ง่าย ๆ ก็คือเขาให้บริการ
“จับคู่” ระหว่างผู้ต้องการใช้บริการรถยนต์เพื่อเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการ
กับผู้มีรถยนต์ส่วนตัวขับแต่ไม่ได้ประกอบอาชีพขับรถรับจ้าง (และอาจไม่ได้ประกอบอาชีพอื่นเลย
เช่น เป็นแม่บ้าน) ซึ่งเป็นสมาชิกของบริษัทโดยตรง ผ่านแอปพลิเคชั่นของบริษัท โดยผู้ขับรถยนต์ซึ่งเป็นสมาชิกตกลงให้บริษัทหักค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ
20 ของค่าโดยสารที่มีการชำระผ่านแอปพลิเคชั่นดังกล่าวเป็นค่าตอบแทน
UBER จึงแตกต่างจากแท็กซี่หรือบริการรถโดยสารรับจ้างทั่ว ๆ ไปแบบที่มนุษย์ลุงอย่างผมรู้จัก
แต่เป็นบริการที่คนรุ่นลูกผมและหลานผมคุ้นเคย
ก็ทำไมต้องเดินออกจากบ้านไปยืนตากแดดตากฝนเรียกแท็กซี่ด้วยเล่าเมื่อสามารถเรียกได้จากมือถือที่ทุกวันนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายไปแล้ว
แถมรถที่มารับนี่ก็มีสภาพดีกว่ารถโดยสารสาธารณะเพราะเจ้าของเขาดูแล การขับขี่สุภาพดี
ไม่ปาดไปปาดมาเพราะเจ้าของเขาก็กลัวรถเขาพัง แถมบางคันยังใช้รถหรูหรามีระดับเสียอีก
ไม่ใช่รถโทรม ๆ
คนรุ่นใหม่เขาไม่เข้าใจครับ!!
ในที่อเมริกาเขาให้บริการได้ครับ
ถือเป็นเสรีภาพในการประกอบอาชีพโดยสุจริต ประกอบกับสังคมของเขาเปิดกว้างยอมรับนวัตกรรมทางเศรษฐกิจใหม่
ๆ ว่ากันว่านวัตกรรม Sharing economy ของ UBER นี้ทำให้คนอเมริกันมีรายได้เพิ่มขึ้นถึงกว่าสองแสนคนทีเดียว
และเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากโดยตรงเพราะคนที่เป็นสมาชิกของบริษัทโดยมากก็ยังผ่อนรถกันอยู่
แต่หลายประเทศที่ยังปรับตัวไม่ทัน ก็ยังไม่ยอมรับการให้บริการแบบนี้
กลับมาที่คดีนี้ดีกว่า โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย
แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย
แต่จำเลยแก้ต่างว่าจำเลยเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีในการจับคู่ระหว่างผู้ต้องการใช้บริการรถยนต์เพื่อเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่ต้องการ
กับผู้มีรถยนต์ส่วนตัวขับซึ่งเป็นสมาชิกของจำเลยโดยตรงผ่านแอปพลิเคชั่นที่จำเลยทำขึ้นเท่านั้น
จำเลยจึงเป็นเพียงคนกลาง ไม่ต่างจากบริษัทอย่าง eBay สมาชิกหาใช่ลูกจ้างของจำเลยไม่
ประเด็นอยู่ที่ว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่?
ศาสตราจารย์ Steven Davidoff Solomon แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย UC ฺ(Berkeley) เห็นว่านี่เป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างระบบเศรษฐกิจใหม่
(Sharing economy) กับกฎหมายชรา
เพราะกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นจากบริบทที่นายทุนซึ่งมีอิทธิพลเอาเปรียบแรงงานที่ไร้พลังต่อรองมานานต่อเนื่องกันหลายศตวรรษ
การคุ้มครองแรงงานอย่างเข้มข้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะแรงงานในระบบ โดยลูกจ้างต้องทำงานให้แก่นายจ้างเท่านั้น
จะทำงานอย่างอื่นไม่ได้ แต่ในยุค Sharing economy โดยเฉพาะในกรณีของ
UBER นั้น UBER เป็นเพียงผู้จัดให้มีและให้บริการเทคโนโลยีจับคู่ระหว่างคนที่มีความต้องการสอดคล้องกันพอดีในกรณีของการโดยสารรถยนต์
บริษัทไม่ได้รับค่าโดยสารโดยตรงเพื่อนำมารวมไว้แล้วจ่ายให้แก่ลูกจ้างตามรอบเวลาเหมือนลูกจ้างในระบบ
แต่จะหักค่าธรรมเนียมเข้าบริษัทถ้ามีการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชั่น ซึ่งถ้าเป็นสมาชิกแต่ไม่รับงานเลยก็ได้
จะมีความคล้ายคลึงกับระบบลูกจ้างนายจ้างอยู่บ้างก็ตรงที่ว่าถ้าใครมาเป็นสมาชิกก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขบางอย่างที่บริษัทกำหนดเท่านั้น
คดีนี้ยังไม่จบนะครับ
เพิ่งเริ่มยกสองเท่านั้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่าจะจบอย่างไร
ที่ผู้เขียนยกคดีนี้มาเล่าให้ฟังก็เพียงเพื่อเน้นย้ำความสำคัญของการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายอยู่เสมอเพราะโลกเราเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก
แม้กระทั่งอเมริกาซึ่งมีระบบการตรากฎหมายที่มีประสิทธิภาพและการเมืองมีเสถียรภาพยังแก้กฎหมายตามแทบไม่ทันเลย
ถ้าเรายังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้
ถึงเราจะเดินไปข้างหน้าได้ ..
แต่คงช้ามากทีเดียว.
**********
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น