วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2559

ทางน้ำไหล โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

ถึงตอนนี้เราคงพอทราบกันแล้วว่าทุก 10-15 ปี โลกจะต้องเผชิญหน้ากับความแห้งแล้งอย่างรุนแรง (เอล นินโญ) กับความชุ่มโชก (ลา นินญ่า) และระยะเวลาดังกล่าวนี้จะหดสั้นลงเรื่อย ๆ และรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์

ชาวโลกเขาตื่นตัวเรื่องนี้กันมาก และมีการเตรียมการรับมือเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ชาวเราดูจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไร ทั้ง ๆ ที่เผชิญกับปัญหานี้กันทุกปี น้ำแล้งบ้าง น้ำท่วมบ้าง เสียหายกันปีละมิใช่น้อย ๆ รัฐต้องใช้เงินและบุคลากรจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือเยียวยาความเสียหาย  

เราดูเหมือนจะเป็นกบในหม้อต้มน้ำ (frog in the boiler) ตามสุภาษิตฝรั่ง คือ ถ้าจับกบไปใส่ไว้ในหม้อแล้วค่อย ๆ ต้มน้ำให้ร้อนขึ้นทีละน้อย จะไม่หนีออกจากหม้อ สิ่งที่กบทำคือมันปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพน้ำที่ค่อย ๆ ร้อนขึ้น จนถึงจุดหนึ่งที่เกินจะปรับตัวได้มันก็จะไม่มีความสามารถที่จะหนีไปไหนแล้วและตายคาหม้อ

ถ้าเราไม่อยากเป็นกบตัวที่ว่านี้ เราก็ต้องหาวิธีการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างเหมาะสม ไม่ใช่แค่เชิงรับ คือตระเตรียมข้าวของไว้ช่วยเหลือผู้ประสบภัย หากต้องทำในเชิงรุกด้วย คือป้องกันให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด (Minimize loss)

ปีนี้เราชุ่มโชกมาก ฝนตกน้ำท่วมหลายจุด ผู้เขียนสังเกตว่าน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมหลายพื้นที่ที่ไม่ควรจะท่วม และฝนตกน้ำขังในที่ที่ไม่ควรจะขัง จึงลองวิเคราะห์แบบบ้าน ๆ ดูว่าทำไมน้ำถึงเปลี่ยนเส้นทางการไหล ทำให้การรับมือกับน้องน้ำที่วางแผนกันไว้ล่วงหน้าแล้วมีปัญหาอยู่ตลอดเวลา

ตามปกติ น้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ เส้นทางการไหลของน้ำจะบอกว่าตรงไหนเป็นมาที่สูง ตรงไหนเป็นที่ต่ำ เดิมเส้นทางนี้คาดการณ์ได้ง่ายเพราะคนไทยโบราณเราปลูกบ้านอย่างชาญฉลาด ใช้เรือนยกใต้ถุนสูง ไม่ใช้การถมดินเพื่อปลูกบ้าน แต่ต่อมาเมื่อมีการปลูกบ้านอย่างฝรั่งกันมากขึ้น เราก็กลัวน้ำจะท่วมบ้าน ก่อนปลูกบ้านจึงต้องถมที่ให้สูงก่อน น้ำจะได้ไม่ท่วมบ้านสวย ๆ

เมื่อนาย ก. ถมที่ บ้านเขาก็น้ำไม่ท่วม แต่บ้านนาย ข. นาย ค. นาง ง. และใครต่อใครต่าง ๆ อีกมากมายที่อยู่รอบ ๆ ต้องรับภาระน้ำแทน คราวนี้เวลาใครจะสร้างบ้านก็จะถมที่ให้สูงกว่าคนอื่นอยู่เสมอ และความคิดนี้ได้กลายมาเป็นชุดความคิดมาตรฐานในการก่อสร้างอาคารและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไปแล้ว

การวิเคราะห์แบบบ้าน ๆ ของผู้เขียนนี้นำไปสู่สมมุติฐาน (แบบบ้าน ๆ อีกเหมือนกัน) ว่า บัดนี้ความสูงต่ำของพื้นที่ (Contours) ทั่วประเทศเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว และยังคงเปลี่ยนแปลงทุกวันเพราะการถมดินเพื่อปลูกสร้างอาคารเป็นกิจวัตรประจำวันของชาวเราไปแล้ว  เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงไม่อาจคาดการณ์ได้ชัดเจนว่าถ้ามีน้ำไหลหลากมา น้องน้ำจะไหลไปทางไหน ยิ่งมีการพัฒนาพื้นที่ใหม่รอบ ๆ เมืองเก่า เขตเมืองเก่าจะกลายเป็นที่ลุ่มต่ำไปโดยปริยาย เพราะการพัฒนาพื้นที่ใหม่รอบ ๆ นั้นจะมีการถมที่ให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมพื้นที่ในเขตเมืองเดิมจึงกลายเป็นแอ่งรองน้ำ และมี "น้ำรอการระบาย" ทุกทีที่ฝนตก และในพื้นที่อื่นน้ำจะไหลหลากไปทางไหน เพราะตอนนี้ไม่รู้แล้วว่าตรงไหนสูงกว่าตรงไหน

จะดีไหมครับ ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะฉวยโอกาสตอนนี้แหละตรวจสอบ contours ของพื้นที่ทั่วประเทศใหม่ทั้งหมด การวางผังเมืองก็ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย มีการทำแผนที่เส้นทางการไหลของน้ำเสียให้ชัดเจน แล้วประกาศให้ประชาชนทราบ มีกลไกและมาตรการห้ามปลูกสร้างใด ๆ รวมทั้งการถมดินในเส้นทางน้ำไหลนี้อย่างเด็ดขาด ใครฝ่าฝืนจัดการอย่างเฉียบขาด ไม่ปล่อยไว้ให้เป็นปัญหารุงรัง ประกาศให้สังคมทราบเพื่อใช้มาตรการทางสังคมกดดันคนที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมด้วย ส่วนทางราชการที่จะสร้างถนนหนทาง หรือทางรถไฟผ่านแนวนี้ต้องทำเป็นสะพานเท่านั้น เป็นต้น

เราจะได้มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรม ดีกว่ามานั่งตำหนิติเตียนหรือจับผิดกันไปวัน ๆ

มาช่วยกันคิดช่วยกันทำเพื่อพัฒนาบ้านเมืองกันดีกว่าครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น