วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

"ความคุ้มค่า" ของการทำงานในระบบ "คณะกรรมการ": ตัวอย่างการวิเคราะห์ RIA โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์

ถ้าท่านผู้อ่านลองสังเกตดูจะพบว่าประเทศไทยเรานี้เป็นประเทศที่อุดมไปด้วยองค์กรกลุ่มที่เราเรียกกันจนชินว่าคณะกรรมการ อนุกรรมการ และคณะทำงานต่าง ๆ เต็มไปหมด บางที่ก็เรียกองค์กรกลุ่มเหล่านี้ว่าสภานั่นสภานี่แทนการเรียกว่าคณะกรรมการก็มี ซึ่งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และสภาเหล่านี้ถูกจัดตั้งในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งตามกฎหมาย ระเบียบ หรือคำสั่งภายในต่าง ๆ

เพื่อความสะดวกในการเขียนบทความนี้ ผู้เขียนขอใช้คำว่า "คณะกรรมการ" ในการเรียกองค์กรกลุ่มเหล่านี้ก็แล้วกันนะครับ จะได้ไม่ต้องจาระไนให้ยืดยาว

ทำไมเราต้องมีคณะกรรมการอะไรต่าง ๆ เยอะแยะขนาดนี้ บางเรื่องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว ทำไมยังต้องมีคณะกรรมการในเรื่องทำนองเดียวกันขึ้นอีก หรือว่าการทำงานแบบคณะกรรมการ "มีประสิทธิภาพมากกว่า" การมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินงาน? เคยสงสัยไหมครับว่าการทำงานแบบคณะกรรมการ "คุ้มค่า" หรือไม่?


โดยหลักแล้วการทำงานในลักษณะองค์กรกลุ่มนี้มีความจำเป็นสำหรับงานที่ต้องการ "การปรึกษาหารือ" ของผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพื่อให้การคิดการทำงานมีความละเอียดรอบคอบ มองอะไรรอบด้าน หรือการทำงานที่ต้องการ "การประสานความร่วมมือ" ของหน่วยงานที่รับผิดชอบที่มีภารกิจแตกต่างกันไป เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันและมุ่งไปสู้เป้าหมายเดียวกัน เป็นระบบระเบียบ โดยจับผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาคุยกันเสียให้รู้เรื่องรู้ราวก่อน นั่นคือข้อดีของการทำงานในรูปของคณะกรรมการ ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าคุยกันแล้วต้องเอาไปทำตามที่ตกลงกันไว้นะ ไม่ใช่ตกลงกันอย่าง แต่ยังต่างคนต่างทำเหมือนเดิม

แต่เหรียญมีสองด้านนะครับ การทำงานแบบคณะกรรมการนี้มีต้นทุนค่อนข้างสูง เพราะต้องมีการเรียกประชุม ต้องมีค่าใช้จ่ายในการประชุม ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการประชุม เช่น น้ำร้อนน้ำชา ค่าใช้จ่ายในการจัดทำเอกสารการประชุม ค่าเบี้ยประชุม  ค่าส่งหนังสือเชิญประชุมและเอกสารการประชุม ฯลฯ ทั้งยังต้องเสียเวลาอีกด้วยเพราะเรามีแบบธรรมเนียมว่าทุกคนต้องมาประชุมร่วมกันในที่ใดที่หนึ่งโดยพร้อมเพรียงกัน ผู้มาประชุมก็ต้องเสียเวลาทำงานไปอย่างน้อย ๆ ก็สามชั่วโมง แถมยังต้องเสียค่าน้ำมันและค่าเดินทางมาประชุมด้วย เมื่อประชุมเสร็จก็ต้องเดินทางกลับ ซึ่งต้องใช้ทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายมิใช่น้อย  ดังนั้น การมีคณะกรรมการจำนวนมหาศาลจึงมีต้นทุนในการจัดประชุม "สูงมาก"

นอกจากนี้ โดยที่การทำงานแบบคณะกรรมการต้องมีการประชุมร่วมกัน บางทีกว่าจะนัดประชุมได้ก็เสียเวลาไปเยอะแยะ ยิ่งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยกรรมการชั้นยอดหรือตำแหน่งสูง ๆ ยิ่งนัดยากใหญ่เพราะแต่ละท่านต่างมีภารกิจเยอะแยะทั้งสิ้น การทำงานแบบคณะกรรมการจึงเต็มไปด้วยความล่าช้า  และถ้าเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง หลายตำแหน่งต้องส่งเด็ก ๆ ที่ไม่สามารถตัดสินใจทางนโยบายได้มาประชุมแทนเยอะไป เพราะบางตำแหน่งนั้นเป็นกรรมการในคณะกรรมการหลายร้อยคณะกรรมการเหลือเกิน เมื่อส่งเด็ก ๆ มา แทนที่จะได้งานหรือตกลงอะไรกันได้ กลับตกลงกันไม่ได้เสียอีก เพราะเด็ก ๆ ก็มักจะ "รับไปหารือผู้บังคับบัญชา" หรือไม่ก็ "ขอไปรายงานท่านก่อน" งานจึงยิ่งช้าไปกันใหญ่

ดังนั้น ยิ่งมีคณะกรรมการมากเท่่าไร การทำงานจึงยิ่งช้าและมีต้นทุนสูงมากขึ้นเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ "ความคุ้มค่า" ของการมีคณะกรรมการก็จะยิ่งลดน้อยลง

ที่ผู้เขียนนำเสนอนี้มิได้มุ่งหมายให้เลิกใช้ระบบคณะกรรมการ เพียงแต่ประสงค์ให้มีการใช้ระบบคณะกรรมการเพียงเท่าที่จำเป็นจริง ๆ คือมีแล้วใช้ให้คุ้มค่า ไม่ใช่เอะอะก็ต้องมีคณะกรรมการ ร่างกฎหมายก็ไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการทุกร่างไปเพราะที่ไปลอก ๆ กันมาเขามีคณะกรรมการกันทุกฉบับ อันนี้ต้องคิดให้มากนะครับ มันไม่ใช่สักแต่ว่าเอาง่าย ๆ เพราะมันเป็น "แบบ" หรือถ้ามีหน่วยงานอื่นมาร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการของหน่วยงานเราแล้ว เรื่องการของบประมาณหรือเริื่องอะไรจะได้ราบรื่น นักร่างกฎหมายรุ่นเก่าแก่เขาไม่ได้คิดแบบนี้นะครับ ผมได้รับการอบรมสอนสั่งมาว่าให้คิดถึงความคุ้มค่าเป็นหลัก การตั้งคณะกรรมการมันเป็นภาระงบประมาณและสิ้นเปลืองเวลาทำงาน ถ้าไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนักก็ไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการหรอก เอาเงินไปทำประโยชน์อื่นให้แก่ประชาชนจะดีกว่า

ในร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติก็เขียนเรื่องนี้ไว้ชัดเจนในมาตรา 77 วรรคสาม นะครับว่า "รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะในกรณีที่จำเป็น ..."

ผมฝากประเด็นนี้ไว้ช่วยกันคิดนะครับ มันดูเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ถ้าคิดให้รอบคอบ เราคงมีงบประมาณและเวลาไปทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนได้มากโขอยู่.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น