นายปกรณ์
นิลประพันธ์
รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
เลขานุการคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
คนที่ ๑
[๑] หากพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงข้างมากในการออกเสียงประชามติเมื่อวันที่
๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมาโดยละเอียด จะพบว่าร่างรัฐธรรมนูญฯนี้
แตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่ผ่าน ๆ มาหลายประการ โดยหลักการสำคัญประการหนึ่งคือการรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง
กล่าวคือ นอกจากสิทธิและเสรีภาพสำคัญ ๆ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะแล้ว
การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำการนั้นได้ หรือกล่าวโดยสรุปได้ว่าอะไรที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายมิได้ห้ามไว้
พี่น้องประชาชนทำได้หมด (มาตรา ๒๕)
[๒] นอกจากนี้
ร่างรัฐธรรมนูญฯนี้ยังกำหนดกรอบของกฎหมายที่จะตราขึ้นมาจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ชัดเจนด้วย
เพื่อมิให้มีการตรากฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างพร่ำเพรื่อ โดยเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฯนี้มีผลใช้บังคับ
การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ
แต่หากรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม
ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้
รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย
(มาตรา ๒๖) และก่อนที่จะมีการตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับก็ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน
และนำมาประกอบการพิจารณา ในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว
รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย
เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย
(มาตรา ๗๗)
[๓] แต่หลักการสำคัญที่ผู้เขียนจะนำเสนอในบทความนี้เป็น
“การเปลี่ยนแปลงบทบาทของพี่น้องประชาชน” จาก “บทบาทในเชิงรับ” เป็น “บทบาทในเชิงรุก”
หรือเป็น Active Citizen
[๔] คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
(กรธ.) ตระหนักดีว่าการบริหารประเทศไม่ใช่เรื่องของนักการเมืองและข้าราชการเท่านั้น
หากแต่เป็นเรื่องของประชาชนทุกคนเพราะประเทศชาติเป็นของทุกคน
และการบริหารประเทศไม่ได้มีผลเพียงแค่วันนี้พรุ่งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ปีนี้ปีหน้า GDP จะโตเท่าไร หากแต่มีผลไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของลูกไทยหลานไทยของเราในอนาคตอีกเป็นสิบเป็นร้อยปีข้างหน้า
ดังนั้น พี่น้องประชาชนจึงต้องมีส่วนร่วมคิดร่วมทำในการนำพาประเทศของเราไปสู่ “เป้าหมายร่วมกัน”
ของทุกคนด้วย ทุกภาคส่วนจะได้จับมือกันเดินไปข้างหน้าอย่างพร้อมเพรียงกันได้ และจะไม่มีใครถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง
[๕] กรธ.
พบว่าได้มีความพยายามที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฯ
๒๕๔๐ โดยการบัญญัติว่าพี่น้องประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพอะไรบ้าง และมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเรื่องใดบ้าง
ซึ่งรัฐธรรมนูญฯ ๒๕๕๐ ก็บัญญัติในแนวทางเดียวกัน และพี่น้องประชาชนตื่นรู้ในสิทธิดังกล่าวมากขึ้น
แต่ในห้วงเวลาที่ผ่านมานั้น เราพบว่ามีผลผลิต (output) อันเกิดจากบทบัญญัติที่รับรองสิทธิและเสรีภาพที่จะมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นจำนวนมาก
ไม่ว่าจะเป็นการขอเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นหรือเข้าร่วมทำกิจการต่าง ๆ แต่ผลลัพธ์ (outcome)
ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญฯทั้งสองฉบับ
กล่าวคือ สิ่งที่พี่น้องประชาชนแสดงความคิดเห็นถูกละเลยไป หรือมิได้มีการนำเข้าสู่พิจารณาในกระบวนการบริหารหรือทางนิติบัญญัติ
ประชาชนจึงขาดความเชื่อมั่นหรือความศรัทธาในอำนาจรัฐ (Trust in Government)
และนำมาซึ่งปัญหาระหว่างผู้ใช้อำนาจรัฐกับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อรัฐคิดจะทำสิ่งใด
ประชาชนจึงไม่เชื่อไว้ก่อน อันทำให้เกิดปัญหาในการบริหารรราชการแผ่นดิน
กล่าวได้ว่า ประชาชน Active แล้ว แต่รัฐยังไม่ Active
[๖] ดังนั้น
ลำพังการรับรองว่าพี่น้องประชาชนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดบ้าง
หรือกระทำการใดบ้างนั้นตามที่เคยบัญญัติมาแต่เดิมในรัฐธรรมนูญฯฉบับก่อน ๆ นั้นจึงยังไม่พอเพียงที่จะทำให้พี่น้องประชาชนเป็น
Active Citizen ได้อย่างแท้จริง ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาในการดำเนินการของภาครัฐได้ กรธ. เห็นว่าจำเป็นต้องมีการกำหนดให้เป็น “หน้าที่”
ของรัฐที่จะต้อง “รับฟัง” ความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ของพี่น้องประชาชน ต้องนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของพี่น้องประชาชน
“มาประกอบพิจารณา” ถึงผลดีผลเสีย การให้พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์ในการดำเนินการต่าง
ๆ อย่างเป็นธรรม มีมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม
รวมทั้งต้องให้พี่น้องประชาชนในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนร่วมกันของประเทศได้มี “ส่วนร่วม”
ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาประเทศไปพร้อมกันด้วย หากไม่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐโดยชัดแจ้ง
อาจเกิดกรณีเพิกเฉยขึ้นอีกได้ และทำให้เกิดปัญหาเดิม ๆ ตามมา
[๗] เมื่อเป็นเช่นนี้
ในเรื่องที่มีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน เช่น การจะกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องเห็นดีเห็นงามร่วมกันเพื่อจับมือเดินไปในทางเดียวกันเพื่อลูกหลานในอนาคตนั้นต้องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง
(มาตรา ๖๕) หรือเมื่อมีกรณีที่พี่น้องประชาชนเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน
หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน
หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย
และมีหน้าที่แจ้งผลการพิจารณาให้พี่น้องประชาชนทราบโดยรวดเร็ว (มาตรา ๔๓ (๓)) หรือการดำเนินการของรัฐหรือที่รัฐจะอนุมัติอนุญาตให้ดำเนินการหากอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย
คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม
รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน
และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน
เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา ๕๘)
เป็นต้น
[๘] ทั้งนี้
กรธ. บัญญัติหลักการสำคัญไว้ในมาตรา ๗๘ ว่ารัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ การจัดทำบริการสาธารณะทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมตลอดทั้งการตัดสินใจทางการเมือง
และการอื่นใดบรรดาที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนหรือชุมชน
ส่วนในระดับท้องถิ่นนั้นมาตรา ๒๕๓ บัญญัติว่าในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นต้องเปิดเผยข้อมูลและรายงานผลการดำเนินงานให้ประชาชนทราบ
รวมตลอดทั้งมีกลไกให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมด้วย
[๙] อย่างไรก็ดี
การมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น
และไม่กระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม
ซึ่งเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทย (มาตรา ๕๐ (๖)) เพราะการใช้สิทธิและเสรีภาพโดยปราศจากความรับผิดชอบต่อผู้อื่นหรือต่อสังคมส่วนรวมนั้นมิใช่วิถีทางของประชาธิปไตย
ทั้งยังเป็นอันตรายต่อความเป็นอยู่ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันเป็นประมุขด้วย
[๑๐] ท้ายนี้
ผู้เขียนขอย้ำว่า สิทธิในการแสดงความคิดเห็นนั้น ไม่ใช่การสักแต่พูด
แต่ต้องพูดอย่างมีเหตุผล และมันมาคู่กับหน้าที่โดยปริยายที่จะต้องยอมรับฟังในความเห็นที่แตกต่าง
หากแสดงความคิดเห็นโดยไม่ยอมรับฟังในความคิดเห็นที่แตกต่างนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว
ภาคผนวก
บทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับ
การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน
การรับฟังความคิดเห็น
มาตรา
๕๘ การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ
ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม
สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน
และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน
เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ
บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง
และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดำเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง
ในการดำเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง
รัฐต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน
สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด
และต้องดำเนินการให้มีการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า
มาตรา
๖๕ รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง
ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
การจัดทำ
การกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย และสาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์ชาติ
ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงด้วย
ยุทธศาสตร์ชาติ
เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ
รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน
และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว
รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง
ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็น
พึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง
ๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง
การมีส่วนร่วมของประชาชน
มาตรา
๔๓ บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ
(๑)
อนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ
(๒)
จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
(๓)
เข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน
หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน
และได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว ทั้งนี้
หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ[๑]
(๔)
จัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชน
สิทธิของบุคคลและชุมชนตามวรรคหนึ่ง
หมายความรวมถึงสิทธิที่จะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐในการดำเนินการดังกล่าวด้วย
มาตรา ๔๕ บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทาง
การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ตามที่กฎหมายบัญญัติ
กฎหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารพรรคการเมืองซึ่งต้องกำหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้
เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง
และกำหนดมาตรการให้สามารถดำเนินการโดยอิสระไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น
รวมทั้งมาตรการกำกับดูแลมิให้สมาชิกของพรรคการเมืองกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง
มาตรา
๕๔ รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปีตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่ง
เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย
รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง
ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ
กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติซึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ
และการดำเนินการและตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติด้วย
การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี
มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว
ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
มาตรา
๕๗ รัฐต้อง
(๑)
อนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม
และจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ
และจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้สิทธิและมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย
(๒)
อนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการ และใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ
สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วยตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา
๖๓ รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน
และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตราย
ที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน
และจัดให้มีมาตรการและกลไก
ที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวด
รวมทั้ง
กลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้
ต่อต้าน
หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา
๖๕ รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง
ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
การจัดทำ
การกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย และสาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์ชาติ
ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงด้วย
ยุทธศาสตร์ชาติ
เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้
มาตรา
๖๗ รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น
ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทย
ส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา
และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด
และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย
มาตรา ๗๘ รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ การจัดทำบริการสาธารณะทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมตลอดทั้งการตัดสินใจทางการเมือง
และการอื่นใดบรรดาที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนหรือชุมชน
มาตรา ๑๗๘ พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ
สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย
หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ
หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และหนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้
รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง
หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ
หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางตามวรรคสอง ได้แก่ หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วม
หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
หรือทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน
หรือหนังสือสัญญาอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
ให้มีกฎหมายกำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและได้รับการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาตามวรรคสามด้วย
เมื่อมีปัญหาว่าหนังสือสัญญาใดเป็นกรณีตามวรรคสองหรือวรรคสามหรือไม่
คณะรัฐมนตรีจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้ ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ
มาตรา
๒๕๒ สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง
ผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น
หรือในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จะให้มาโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
และหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น
ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติซึ่งต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามแนวทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย
มาตรา
๒๕๓ ในการดำเนินงาน
ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นเปิดเผยข้อมูลและรายงานผลการดำเนินงานให้ประชาชนทราบ
รวมตลอดทั้งมีกลไกให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
มาตรา ๒๕๗ การปฏิรูปประเทศตามหมวดนี้ต้องดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย
ดังต่อไปนี้
(๑) ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย
มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ
(๒) สังคมมีความสงบสุข
เป็นธรรม และมีโอกาสอันทัดเทียมกันเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ
(๓) ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี
และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ก. ด้านการเมือง
(๑) ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองรวมตลอดทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รู้จักยอมรับในความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตที่แตกต่างกัน
และให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งและออกเสียงประชามติโดยอิสระ ปราศจากการครอบงำไม่ว่าด้วยทางใด
(๒) ให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองเป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้
เพื่อให้พรรคการเมืองพัฒนาเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน
มีกระบวนการให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและการคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถ
ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรมจริยธรรม เข้ามาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
(๓) มีกลไกที่กำหนดความรับผิดชอบของพรรคการเมืองในการประกาศโฆษณานโยบายที่มิได้วิเคราะห์ผลกระทบ
ความคุ้มค่า และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน
(๔) มีกลไกที่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต
และรับผิดชอบต่อประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
(๕) มีกลไกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธีภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ข.
ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน
(๑) ให้มีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ
เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
(๒) ให้มีการบูรณาการฐานข้อมูลของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานเข้าด้วยกันเพื่อให้เป็นระบบข้อมูลเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชน
(๓) ให้มีการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างและระบบการบริหารงานของรัฐและแผนกำลังคนภาครัฐให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่
ๆ โดยต้องดำเนินการให้เหมาะสมกับภารกิจของหน่วยงานของรัฐแต่ละหน่วยงานที่แตกต่างกัน
(๔) ให้มีการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารงานบุคคลภาครัฐเพื่อจูงใจให้ผู้มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงเข้ามาทำงานในหน่วยงานของรัฐ
และสามารถเจริญก้าวหน้าได้ตามความสามารถและผลสัมฤทธิ์ของงานของแต่ละบุคคล มีความซื่อสัตย์สุจริต
กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง
โดยคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว มีความคิดสร้างสรรค์และคิดค้นนวัตกรรมใหม่
ๆ เพื่อให้การปฏิบัติราชการและการบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
และมีมาตรการคุ้มครองป้องกันบุคลากรภาครัฐจากการใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรมของผู้บังคับบัญชา
(๕)
ให้มีการปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความคล่องตัว เปิดเผย ตรวจสอบได้
และมีกลไกในการป้องกันการทุจริตทุกขั้นตอน
ค. ด้านกฎหมาย
(๑) มีกลไกให้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎ
ระเบียบ หรือข้อบังคับต่าง ๆ ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ให้สอดคล้องกับหลักการตามมาตรา
๗๗ และพัฒนาให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยให้มีการใช้ระบบอนุญาตและระบบการดำเนินการโดยคณะกรรมการเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อให้การทำงานเกิดความคล่องตัว
โดยมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน และไม่สร้างภาระแก่ประชาชนเกินความจำเป็น เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
และป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ
(๒) ปฏิรูประบบการเรียนการสอนและการศึกษาอบรมวิชากฎหมายเพื่อพัฒนา
ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายให้เป็นผู้มีความรอบรู้ มีนิติทัศนะ และยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรมของนักกฎหมาย
(๓) พัฒนาระบบฐานข้อมูลกฎหมายของรัฐโดยใช้เทคโนโลยีต่าง
ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลกฎหมายได้สะดวก
และสามารถเข้าใจเนื้อหาสาระของกฎหมายได้ง่าย
(๔)
จัดให้มีกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย
ง.
ด้านกระบวนการยุติธรรม
(๑) ให้มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน
เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า และมีกลไกช่วยเหลือประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้
รวมตลอดทั้งการสร้างกลไกเพื่อให้มีการบังคับการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม
(๒) ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม
กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ชัดเจนเพื่อมิให้คดีขาดอายุความ
และสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการสอบสวนคดีอาญา
รวมทั้งกำหนดให้การสอบสวนต้องใช้ประโยชน์จากนิติวิทยาศาสตร์ และจัดให้มีบริการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์มากกว่าหนึ่งหน่วยงานที่มีอิสระจากกัน
เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างมีทางเลือก
(๓)
เสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรขององค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม
ให้มุ่งอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโดยสะดวกและรวดเร็ว
(๔) ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม
และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ
มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม
ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้ง และโยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน
ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน
เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ
ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพ และภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
จ.
ด้านการศึกษา
(๑) ให้สามารถเริ่มดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามมาตรา
๕๔ วรรคสอง เพื่อให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม
และสติปัญญาให้สมกับวัยโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
(๒) ให้ดำเนินการตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุนตามมาตรา
๕๔ วรรคหก ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
(๓) ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู
มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน
รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู
(๔) ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด
และปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวโดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่
ฉ.
ด้านเศรษฐกิจ
(๑) ขจัดอุปสรรคและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมกลุ่มเศรษฐกิจต่าง
ๆ อย่างยั่งยืน โดยมีภูมิคุ้มกันที่ดี
(๒) สร้างกลไกเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการนำความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
(๓) ปรับปรุงระบบภาษีอากรให้มีความเป็นธรรม
ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มพูนรายได้ของรัฐด้านต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ
และปรับปรุงระบบการจัดทำและการใช้จ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผล
(๔) สร้างกลไกเพื่อส่งเสริมสหกรณ์และผู้ประกอบการแต่ละขนาดให้มีความสามารถในการแข่งขันอย่างเหมาะสม
และส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจเพื่อสังคม และวิสาหกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างกลไกเพิ่มโอกาสในการทำงานและการประกอบอาชีพของประชาชน
ช.
ด้านอื่น ๆ
(๑)
ให้มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและยั่งยืน
โดยคำนึงถึงความต้องการใช้น้ำในทุกมิติ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศประกอบกัน
(๒) จัดให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม
รวมทั้งการตรวจสอบกรรมสิทธิ์และการถือครองที่ดินทั้งประเทศเพื่อแก้ไขปัญหากรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองที่ดินอย่างเป็นระบบ
(๓) จัดให้มีระบบจัดการและกำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ
เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านอื่น ๆ ได้
(๔)
ปรับระบบหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนได้รับสิทธิและประโยชน์จากการบริหารจัดการ
และการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและสะดวกทัดเทียมกัน
(๕) ให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชน
ในสัดส่วนที่เหมาะสม
มาตรา
๒๕๙ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๖๐ และมาตรา ๒๖๑ การปฏิรูปประเทศตามหมวดนี้
ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีวิธีการจัดทำแผน
การมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนในการดำเนินการปฏิรูปประเทศ
การวัดผลการดำเนินการ และระยะเวลาดำเนินการปฏิรูปประเทศทุกด้าน ซึ่งต้องกำหนดให้เริ่มดำเนินการปฏิรูปในแต่ละด้านภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้รวมตลอดทั้งผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังว่าจะบรรลุในระยะเวลาห้าปี
ให้ดำเนินการตรากฎหมายตามวรรคหนึ่ง
และประกาศใช้บังคับภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
ในระหว่างที่กฎหมายตามวรรคหนึ่งยังไม่มีผลใช้บังคับ
ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการปฏิรูปโดยอาศัยหน้าที่และอำนาจที่มีอยู่แล้วไปพลางก่อน
[๑]มาตรา ๒๕ สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น
บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ
ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
สิทธิหรือเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
หรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายนั้นขึ้นใช้บังคับ
บุคคลหรือชุมชนย่อมสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้นได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ
สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้
บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพหรือจากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลอื่น
ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น