วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2561

การกำกับดูแลการขนส่งทางรางของญี่ปุ่น โดย ดร. ปิยวรรณ ซอน*

๑. ความเป็นมา

ในอดีตการขนส่งทางรางของประเทศญี่ปุ่นดำเนินการโดย Japanese National Railway ซึ่งเป็นบริษัทแห่งชาติภายใต้การควบคุมของสำนักงานรถไฟ ต่อมา รัฐบาลของประเทศญี่ปุ่นได้เข้าควบคุมการดำเนินการทั้งหมดของ Japanese National Railway และเปลี่ยนรูปแบบขององค์กรมาเป็นการรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่นหรือที่เรียกว่า Japanese Government Railways (JGR) จนกระทั่งประเทศญี่ปุ่นเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งเป็นภาวะที่ยากลำบากที่สุดช่วงหนึ่ง ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องสั่งให้มีการรื้อถอนรางรถไฟไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นจากปัญหาขาดแคลนเหล็กกล้า

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สิ้นสุดลงและประเทศญี่ปุ่นแพ้สงคราม การรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่นก็ได้เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อผู้นำทางทหารของสหรัฐอเมริกา (General Head Quarter-GHQ) ได้เข้ามาควบคุมประเทศญี่ปุ่นและสั่งให้ดำเนินการแปรรูปการรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่นเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งก็ทำให้กิจการประสบความสำเร็จอย่างมาก และการรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่นก็ได้ขยายกิจการด้วยการสร้างรถไฟความเร็วสูงชินคันเซน (shinkansen) ขึ้นใช้เป็นครั้งแรก อันเป็นความก้าวหน้าทางการขนส่งของญี่ปุ่นที่ได้รับการยอมรับไปทั่วโลกในขณะนั้น

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของรถไฟความเร็วสูงทำให้บริษัทพยายามที่จะก่อสร้างเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงนี้ออกไปทั่วประเทศด้วยการกู้เงินจำนวนมากมายมหาศาลจนกลายเป็นหนี้จำนวนมากขึ้น จนท้ายที่สุดทำให้การรถไฟแห่งญี่ปุ่นเป็นหนี้จำนวนมหาศาลถึง ๒๕ ล้านล้านเยน หรือประมาณสองแสนล้านเหรียญสหรัฐ  ประเทศญี่ปุ่นได้แก้ไขปัญหาด้วยการยุติโครงการเครือข่ายรถไฟความเร็วสูงนี้ออกไปก่อน แล้วใช้วิธีแบ่งการรถไฟญี่ปุ่นออกเป็นบริษัทย่อยๆ หลายบริษัทที่มีชื่อว่า “กลุ่มบริษัทรถไฟญี่ปุ่น” (Japan Railway Group) เพื่อเปิดดำเนินการตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศแทน ซึ่งวิธีการนี้ก็ทำให้แก้ปัญหาหนี้สินมหาศาลได้ ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ได้มีการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีการขนส่งระบบรางมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ปัจจุบันระบบการขนส่งทางรางของประเทศญี่ปุ่นมีความทันสมัย สำหรับในด้านของกฎระเบียบและหน่วยงานที่กำกับดูแลเรื่องการขนส่งทางรางของประเทศญี่ปุ่นเองก็มีความหลากหลายและมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบางประเด็นก็สามารถนำมาศึกษาเปรียบเทียบกับระบบของประเทศไทยเพื่อพัฒนากฎหมายให้มีความทันสมัยรองรับการเปลี่ยนแปลงตามบริบทของสังคมและเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

 ๒. หน่วยงานที่กำกับดูแลการขนส่งทางราง

                   กระทรวงที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลด้านการขนส่งทางรางของประเทศญี่ปุ่น คือ Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism (MLIT) ซึ่งเป็นกระทรวงขนาดใหญ่ที่กำกับดูแลทั้งในเรื่องที่ดิน สาธารณูปโภคพื้นฐาน การคมนาคม และการท่องเที่ยว โดยในที่นี้จะขอเรียกว่า “กระทรวง MLIT” สำหรับหน่วยงานภายใต้กระทรวง MLIT ที่กำกับดูแลงานขนส่งทางราง มีดังนี้

๒.๑ กรมราง (Railway Bureau)

กรมรางเป็นหน่วยงานราชการระดับกรมภายใต้กระทรวงคมนาคมที่กำกับดูแลทั้ง Japan Railway Group (กลุ่มบริษัทรถไฟญี่ปุ่นซึ่งหมายความถึงกลุ่มบริษัทรถไฟญี่ปุ่นทั้ง ๗ บริษัท ที่แปรรูปมาจากการรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ ๑ เมษายน ค.ศ. ๑๙๘๗) และผู้ประกอบการขนส่งทางรางของเอกชน กรมรางจัดตั้งขึ้นโดย Cabinet Order of the Structure of the Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism (No.255 of 2000) ซึ่งบัญญัติว่ากรมรางมีอำนาจหน้าที่ในการ ๑) ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการวางระบบและเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับระบบขนส่งทางราง รวมถึงงานด้านสิ่งแวดล้อม ๒) ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการดำเนินการเดินรถ การพัฒนาการประกอบการขนส่งทางราง การปรับปรุงแก้ไขงานขนส่งทางราง ๓) ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย ๔) การตรวจสอบเกี่ยวกับอุบัติเหตุในส่วนที่อยู่นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการความปลอดภัยทางคมนาคม (Japan Transport Safety Board-JTSB) ที่จะกล่าวถึงในลำดับต่อไป ๕) การปรับปรุงแก้ไขตัวรถ สัญญาณไฟ และอุปกรณ์อื่น ๆ รวมถึงการกระตุ้นการใช้บริการและการขนส่ง (มาตรา ๑๑) เป็นต้น

กรมรางมีพัฒนาการมาจากหน่วยงานในอดีตที่มีการแยกหน่วยงานที่กำกับดูแลกิจการระบบรางของรัฐและกิจการระบบรางเอกชนออกจากกัน มาเป็นรูปแบบในปัจจุบันที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบการที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งทางรางทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งรวมถึงการขนส่ง การจดทะเบียน มาตรการต่อมลพิษทางเสียง และมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม การอบรมให้ความรู้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่รถไฟ และการกำกับดูแลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

โครงสร้างของกรมราง

หัวหน้าส่วนราชการของกรมราง ได้แก่ อธิบดีกรมราง (Director-General) และมีรองอธิบดีกรมราง (Senior Deputy Director-General) เป็นผู้บริหารในลำดับรองลงมา โดยกรมรางแบ่งส่วนงานตามมาตรา ๑๒๒ – มาตรา ๑๒๙ ของ Cabinet Order of the Structure of the Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism (No.255 of 2000) ดังนี้
                   (๑) กองงานบริหารทั่วไป รับผิดชอบงานด้านการบริหารงานทั่วไป มีหน้าที่ในการจัดทำแผนการดำเนินการพื้นฐานของกรมราง การจัดการด้านภาษี การกำกับดูแล รวมถึงการจัดการ Japan Railway Construction, Transport and Technology Agency ซึ่งเป็น Incorporated Administrative Agency[๒] สำหรับส่วนงาน ประกอบด้วย ๑) ส่วนวางแผนระบบราง ๒) ส่วนจัดการความเสี่ยง ๓) ส่วนกำกับดูแลการเงินของ Japan Railway และระบบรางของรัฐ ๔) ส่วนกำกับดูแลกิจการต่างประเทศและการวางแผนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถไฟ และ ๕) ส่วนระบบรางเกี่ยวกับการจัดการขนส่งสินค้า  
                  (๒) กองงานขนส่งทางรางของรถไฟความเร็วสูง รับผิดชอบงานเกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูง รวมถึงการปรับปรุงแก้ไขการขนส่งทางรางของรถไฟความเร็วสูง
                   (๓) กองงานขนส่งทางรางในตัวเมือง รับผิดชอบงานด้านการวางแผนเกี่ยวกับนโยบายพื้นฐานของการส่งเสริมการใช้บริการระบบรางในตัวเมือง สำหรับส่วนงานประกอบด้วย ๑) ส่วนการวางแผนระบบรางในตัวเมือง และ ๒) ส่วนการส่งเสริมการพัฒนา
                   (๔) กองงานเกี่ยวกับการประกอบการขนส่งทางราง รับผิดชอบงานด้านการขนส่งระบบราง และการพัฒนา การปรับปรุงแก้ไขการขนส่งทางรางให้ดียิ่งขึ้น สำหรับส่วนงานประกอบด้วย ๑) ส่วนตรวจสอบการขนส่งผู้โดยสาร ๒) ส่วนสนับสนุนระบบรางท้องถิ่น และ ๓) ส่วนวางแผนมาตรการสำหรับระบบรางท้องถิ่น
                   (๕) กองงานระหว่างประเทศ รับผิดชอบงานด้านการวางแผนงานด้านนโยบายเกี่ยวกับต่างประเทศ การดำเนินความร่วมมือกับต่างประเทศ การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนส่งทางรางเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการธุรกิจในต่างประเทศ สำหรับส่วนงานประกอบด้วย ๑) ส่วนความร่วมมือระหว่างประเทศ และ ๒) ส่วนวางแผนเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา
                   (๖) กองงานวางแผนด้านเทคนิค รับผิดชอบการวางแผนเกี่ยวกับเทคนิคระบบราง การวางมาตรฐานเกี่ยวกับเทคนิคของการขนส่งทางราง การดูแลความปลอดภัยตู้รถไฟ สำหรับส่วนงานประกอบด้วย ๑) ส่วนการพัฒนาด้านเทคนิค และ ๒) ส่วนการจัดการมาตรฐานด้านเทคนิค
                   (๗) กองงานสิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกระบบราง รับผิดชอบงานด้านเทคนิคเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับระบบราง สำหรับส่วนงานประกอบด้วย ๑) ส่วนมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และ ๒) ส่วนมาตรการด้านภัยต่าง ๆ ของระบบราง
                   (๘) กองงานตรวจสอบความปลอดภัย รับผิดชอบงานด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับการวางระบบการเดินรถ ซึ่งมีส่วนตรวจสอบความปลอดภัยระบบรางเพื่อตรวจสอบความปลอดภัยและจัดทำแผนการเดินรถด้วย

๒.๒ สำนักงานขนส่งท้องถิ่น (District Transport Bureau)

นอกจากกรมรางแล้ว มาตรา ๓๐ ของ Act for Establishment of the Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism (Act No. 100 of 1999) กำหนดให้มีการจัดตั้ง District Transport Bureau โดยถือเป็นหน่วยงานในท้องถิ่นภายใต้กระทรวงคมนาคม โดยมาตรา ๓๕ ของ Act for Establishment of the Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism กำหนดว่า District Transport Bureau จะรับผิดชอบงานส่วนหนึ่งจากงานที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกระทรวง MLIT โดยในการจัดตั้ง District Transport Bureau แบ่งพื้นที่ประเทศญี่ปุ่นออกเป็น ๙ ภาคส่วน ประกอบด้วย ๑) Hokkaido District Transport Bureau ๒) Tohoku District Transport Bureau ๓) Kanto District Transport Bureau ๔) Hokuriku Shinetsu District Transport Bureau ๕) Chubu District Transport Bureau ๖) Kinki District Transport Bureau ๗) Chugoku District Transport Bureau ๘) Shikoku District Transport Bureau และ ๙) Kyushu District Transport Bureau นอกจากนี้ ในเกาะ Okinawa ทางตอนใต้ของประเทศก็จะมีอีกหนึ่งหน่วยเฉพาะที่เรียกว่า District Transport Bureau แยกออกไปในเกาะดังกล่าวด้วย

โครงสร้างของ District Transport Bureau

โดยส่วนใหญ่ District Transport Bureau จะประกอบด้วยส่วนการปฏิบัติงานต่าง ๆ ดังนี้
๑) สำนักงานของหัวหน้าส่วน District Transport Bureau และ รองหัวหน้าส่วน District Transport Bureau ๒) ส่วนงานบริหารจัดการทั่วไป ๓) ส่วนงานวางแผน ๔) ส่วนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมการขนส่ง ๕) ส่วนงานขนส่งทางราง ๖) ส่วนการขนส่งทางบก ๗) ส่วนงานตรวจสอบการจัดการขนส่งทางบก ๘) ส่วนงานความปลอดภัยด้านเทคนิครถยนต์ ๙) ส่วนการขนส่งทางเรือ ๑๐) ส่วนความปลอดภัยการขนส่งทางเรือ เป็นต้น

อำนาจหน้าที่ของ District Transport Bureau

Ministerial Ordinance of District Transport Bureau structure (No.713 of 2002) มาตรา ๔ ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ของ District Transport Bureau ไว้ ค่อนข้างเหมือนกับอำนาจหน้าที่ของกรมรางที่กำหนดไว้ใน Cabinet Order โดยกำหนดว่ามีอำนาจหน้าที่ในการ ๑) งานเกี่ยวกับการวางระบบและเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับระบบขนส่งทางราง ๒) งานเกี่ยวกับการดำเนินการเดินรถ การพัฒนาการประกอบการขนส่งทางราง การปรับปรุงแก้ไขงานขนส่งทางราง ๓) งานเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย ๔) การตรวจสอบเกี่ยวกับอุบัติเหตุในส่วนที่อยู่นอกเหนือจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการความปลอดภัยทางคมนาคม

สำหรับส่วนงานขนส่งทางรางที่เป็นหนึ่งในส่วนการปฏิบัติงานใน District Transport Bureau ตามมาตรา ๓๗ ของ Ministerial Ordinance of District Transport Bureau structure (No.713 of 2002) จะให้ประกอบด้วย ๑) ฝ่ายการวางแผน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการออกใบอนุญาตและรับรองต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบการ รวมถึงการศึกษาและสำรวจเกี่ยวกับค่าโดยสาร การสนับสนุน และการปรับปรุงเส้นทางเดินรถขนส่งทางราง ๒) ฝ่ายเทคนิค ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการรักษามาตรฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยของสิ่งอำนวยความสะดวก ตัวรถ ระบบไฟฟ้า สัญญาณไฟต่าง ๆ รวมถึงมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ๓) ฝ่ายตรวจสอบความปลอดภัย ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบสภาพตัวรถ การจัดการสิ่งอำนวยความสะดวก การเดินรถ เป็นต้น ๔) ฝ่ายแนะนำการส่งเสริมความปลอดภัย ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการศึกษาวิเคราะห์และประเมินกรณีการเกิดอุบัติเหตุ การป้องกันการเกิดอุบัติเหตุซ้ำ และการทดสอบการเดินรถ เป็นต้น

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์รถไฟสาย Fukuchiyama ตกราง ส่วนงานขนส่งทางรางได้เริ่มการตรวจสอบและแนะนำเกี่ยวกับความปลอดภัยแก่ผู้ประกอบการขนส่งทางราง การติดตั้งระบบเบรกรถอัตโนมัติ ATS ในบริเวณที่เป็นเส้นทางโค้ง การติดตั้งเครื่องบันทึกสภาพการเดินรถให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งรวมถึงบริเวณทางรถไฟตัดผ่านกับถนน เนื่องจากบริเวณที่ตัดกันระหว่างรางรถไฟกับถนนเป็นบริเวณที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการข้ามทางรถไฟอย่างกะทันหันก่อนรถไฟผ่าน นอกจากนี้ ส่วนงานขนส่งทางรางยังมีการดำเนินมาตรการในกรณีแผ่นดินไหวด้วยการก่อสร้างเสริมความแข็งแรงของสิ่งก่อสร้างและสิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการขนส่งทางราง

นอกจากนี้ ส่วนงานขนส่งทางรางของ District Transport Bureau จะช่วยในการกำกับดูแลและตรวจสอบมาตรฐานการประกอบการของผู้ประกอบการขนส่งทางราง โดยส่วนงานขนส่งทางรางของทั้ง ๙ ภาคส่วนจะมีการจัดการตรวจสอบมาตรฐานของผู้ประกอบการขนส่งทางรางในหัวข้อเดียวกัน โดยรายละเอียดหัวข้อที่จะมีการตรวจสอบ ดังนี้ (๑) รายละเอียดเกี่ยวกับค่าโดยสาร ประกอบด้วย การดำเนินการตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น การขนส่งเชื่อมต่อ การลดราคาในกรณีการเปลี่ยนรถ และการจำหน่ายตั๋วลดราคาในโอกาสพิเศษ เป็นต้น (๒) รายละเอียดเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล (๓) รายละเอียดเกี่ยวกับป้าย สัญญาณ สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ในสถานี เช่น การติดตั้งป้ายต่าง ๆ ที่เหมาะสมในสถานี การติดตั้งป้ายแจ้งสถานที่ที่เป็นบริเวณไม่มีขั้นบันไดต่างระดับ (barrier free) การติดตั้งป้ายต่าง ๆ ที่จำเป็นในตัวรถ การมีป้ายหรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้โดยสารที่เป็นชาวต่างชาติ (๔) รายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการเพื่อการเป็นสถานี Barrier free เช่น สภาพความเป็น barrier free และการวางแผนในอนาคต (๕) รายละเอียดเกี่ยวกับผู้โดยสารชาวต่างประเทศ เช่น การจัดให้มีตั๋วแบบลดราคาพิเศษเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและการคมนาคม การจัดให้มีป้ายบอกทางที่ชัดเจน การจัดให้มีการแจ้งหรือประกาศเป็นภาษาอังกฤษหรือภาษาต่างประเทศ เป็นต้น (๖) มาตรการเพื่อการเปลี่ยนรถต่อเนื่องอย่างราบรื่น (๗) การดำเนินการเมื่อมีอุบัติเหตุ (๘) การดำเนินการเมื่อมีอัคคีภัยหรือภัยอื่น ๆ (๙) การรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะจากผู้โดยสาร (๑๐) การบริการของพนักงานเจ้าหน้าที่ (๑๑) รายละเอียดอื่น ๆ เกี่ยวกับการบริการ เช่น การแจ้งให้ผู้โดยสารระงับการใช้โทรศัพท์มือถือในบริเวณที่เป็นที่นั่งพิเศษ (priority seat) เพื่อป้องกันสัญญาณรบกวนผู้ที่ใช้เครื่องช่วยการเต้นของหัวใจ การจัดที่นั่งพิเศษ การอำนวยความสะดวกรถเข็นเด็ก การจัดตู้รถไฟสำหรับสุภาพสตรีหรือผู้ที่ตั้งครรภ์โดยเฉพาะ และการติดตั้งเครื่องปั๊มหัวใจ (AED) เป็นต้น 

                   นอกจากนี้ District Transport Bureau จะเป็นผู้พิจารณาเกี่ยวกับการยื่นคำขอเพิ่มกรอบค่าโดยสารโดย District Transport Bureau จะเปิดเผยเอกสารทั้งคำขอและใบอนุญาตไว้บนเว็บไซต์ของ District Transport Bureau ด้วย

                ตัวอย่างรายละเอียดที่ประกาศในเว็บไซต์
วันที่
ยื่นคำขอ
ผู้ยื่นคำขอ
รายละเอียดการขอเพิ่มค่าโดยสารของผู้ประกอบการขนส่งทางราง
ข้อมูลของผู้ยื่นคำขอ
วันเดือนปี
ชื่อบริษัท
. เพิ่มค่าโดยสารที่ขอเพิ่ม ๑๒.๐ %
๒. รายละเอียดค่าโดยสารแบบปกติ
ระยะทางไม่เกิน ๑ กม. ๑๘๐ เยน (เดิม ๑๕๐ เยน)
ระยะทางไม่เกิน ๒ กม. ๒๑๐ เยน (เดิม ๑๘๐ เยน)
ระยะทางไม่เกิน ๒ กม. ๒๔๐ เยน (เดิม ๒๑๐ เยน)
ระยะทางไม่เกิน ๔ กม. ๒๗๐ เยน (เดิม ๒๔๐ เยน)
ระยะทางไม่เกิน ๕ กม. ๓๐๐ เยน (เดิม ๒๗๐ เยน)
ระยะทางไม่เกิน ๗ กม. ๓๔๐ เยน (เดิม ๓๑๐ เยน)
๓. รายละเอียดค่าโดยสารแบบเหมารายเดือน
ประเภทนักเรียน     เพิ่ม ๔๐ %
ประเภทบุคคลทั่วไป เพิ่ม ๖๐ %
เว็บไซต์ของบริษัทที่ติดต่อได้

เมื่อ District Transport Bureau พิจารณาการยื่นคำขอดังกล่าวแล้วก็จะประกาศผลทางเว็บไซต์ในนามของ District Transport Bureau โดยจะระบุชื่อผู้ที่ยื่นคำขอ วันที่ยื่นคำขอ รายละเอียดที่จะเปลี่ยนแปลง รวมถึงวันที่ที่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ทั้งนี้ ในเว็บไซต์จะระบุถึงชื่อและหมายเลขติดต่อของเจ้าหน้าที่ District Transport Bureau ที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนสามารถสอบถามข้อสงสัยได้ด้วย

                   ๒.๓ คณะกรรมการที่กำกับดูแลการขนส่งทางราง
                   
                 Act for Establishment of the Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism (Act No. 100 of 1999) ได้กำหนดไว้ในหมวด ๒ ว่าด้วยคณะกรรมการว่าให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการ ๔ คณะภายใต้กฎหมายดังกล่าว ได้แก่ ๑) คณะกรรมการที่ดิน ๒) คณะกรรมการสาธารณูปโภคพื้นฐานของสังคม ๓) คณะกรรมการนโยบายการคมนาคม และ ๔) คณะกรรมการคมนาคม โดยในส่วนนี้จะกล่าวถึงคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางรางโดยตรงซึ่งได้แก่ คณะกรรมการนโยบายการคมนาคมและคณะกรรมการคมนาคม

(๑) คณะกรรมการนโยบายการคมนาคม (The Council of Transport policy)

คณะกรรมการนโยบายการคมนาคม (The Council of Transport policy) เป็นหนึ่งในคณะกรรมการภายใต้กระทรวง MLIT ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดย Act for Establishment of the Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism (Act No. 100 of 1999) (มาตรา ๖ และมาตรา ๑๔) มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาประเด็นสำคัญเกี่ยวกับนโยบายการคมนาคม ภายใต้คำแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MLIT และให้ความเห็นแก่รัฐมนตรีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ค.ศ. ๑๙๙๙ ที่ได้เห็นชอบกับแผนมาตรฐานเกี่ยวกับการจัดการคณะกรรมการต่าง ๆ ทำให้ได้มีการยุบรวมคณะกรรมการเกี่ยวกับการคมนาคมทั้งสิ้น ๘ คณะ ให้เหลือเพียงคณะเดียว คือ คณะกรรมการนโยบายการคมนาคม เพื่อความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

องค์ประกอบของคณะกรรมการฯ
                   
                 คณะกรรมการนโยบายการคมนาคมประกอบด้วยกรรมการไม่เกิน ๓๐ คน ประกอบด้วยกรรมการจาก ๘ สาขาด้วยกัน ได้แก่ ๑) ด้านการคมนาคมในภาพรวม ๒) ด้านเทคนิคการคมนาม ๓) ด้านการท่องเที่ยว ๔) ด้านการคมนาคมทางบก ๕) ด้านการคมนาคมทางน้ำ ๖) ด้านอ่าวทะเลและท่าเรือ ๗) ด้านการคมนาคมทางอากาศ และ ๘) ด้านอุตุนิยมวิทยา โดยในแต่ละด้านก็จะมีการจัดตั้งอนุกรรมการเพื่อประชุมหารือในรายละเอียดของแต่ละด้านด้วย
                    
                   (๒) คณะกรรมการคมนาคม
คณะกรรมการคมนาคมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการภายใต้กระทรวง MLIT ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดย Act for Establishment of the Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism (Act No. 100 of 1999) (มาตรา ๖ และมาตรา ๑๕ – มาตรา ๒๖) มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นที่จะต้องให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง MLIT ดำเนินการ โดยในกรณีที่จะต้องมีการวินิจฉัยนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MLIT จะต้องมอบหมายให้คณะกรรมการคมนาคมเป็นผู้พิจารณา นอกจากนี้ คณะกรรมการคมนาคมสามารถจัดทำข้อเสนอแนะแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง MLIT ในกรณีที่เห็นว่าจำเป็นได้
ทั้งนี้ มาตรา ๖๔-๒ ของ Railway Business Act ได้บัญญัติเกี่ยวกับการหารือคณะกรรมการคมนาคมไว้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวง MLIT จะต้องนำเรื่องเข้าหารือคณะกรรมการคมนาคมในกรณีที่เป็นเรื่องการกำหนดอัตราค่าโดยสาร กรณีมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงอัตราค่าโดยสาร กรณีมีคำสั่งให้หยุดการประกอบการขนส่งทางรางชั่วคราวหรือการเพิกถอนใบอนุญาต หรือกรณีการจัดทำนโยบายพื้นฐานต่าง ๆ[๓]  

องค์ประกอบของคณะกรรมการคมนาคม
คณะกรรมการคมนาคมประกอบด้วยกรรมการ ๖ รายซึ่งแต่งตั้งโดรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MLIT และเห็นชอบโดยรัฐสภา คุณสมบัติจะต้องเป็นผู้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า ๓๕ ปี มีวาระ ๓ ปี

(๓) คณะกรรมการด้านความปลอดภัย
ในอดีตประเทศญี่ปุ่นมีคณะกรรมการที่เรียกว่าคณะกรรมการตรวจสอบอุบัติเหตุทางอากาศและทางราง (Aircraft and Railway Accidents Investigation Commission-ARAIC) ภายใต้กระทรวง MLIT จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๗๑ เฉพาะในส่วนของอุบัติเหตุทางอากาศก่อน โดยมีที่มาจากอุบัติเหตุทางอากาศของเครื่องบิน ANA และต่อมาได้มีการเพิ่มในส่วนของอุบัติเหตุทางรางจากสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุรถไฟใต้ดินสาย Hibiya ตกรางเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๐ โดยเป็นคณะกรรมการที่มีหน้าที่ตรวจสอบหาสาเหตุของอุบัติเหตุทางอากาศและอุบัติเหตุทางราง โดยหากจำเป็นจะมีการวิเคราะห์หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ การตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ การรับฟังพยานหลักฐาน นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ในการตรวจสอบและศึกษาข้อมูลเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๘ คณะกรรมการดังกล่าวได้ถูกควบรวมกับ Marine Accident Inquiry Agency (MAIA) และตั้งขึ้นใหม่เป็นคณะกรรมการความปลอดภัยทางคมนาคม อย่างไรก็ดี เนื่องจากมีความจำเป็นที่จะต้องควบรวมคณะกรรมการฯ หลาย ๆ ด้านมาเป็นคณะกรรมการรวมเพื่อความคล่องตัว จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่งมาเป็น “คณะกรรมการความปลอดภัยทางคมนาคม” เมื่อปี ค.ศ.๒๐๐๘

คณะกรรมการความปลอดภัยทางคมนาคม (Japan Transport Safety Board-JTSB)
คณะกรรมการความปลอดภัยทางคมนาคม (Japan Transport Safety Board-JTSB) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ค.ศ. ๒๐๐๘ โดยกฎหมายที่มีชื่อว่า Act for Establishment of the Japan Transport safety Board (Act No. 113 of October 12, 1973) มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงของสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุทางอากาศ ทางราง ทางน้ำ หรือสาเหตุการเกิดเหตุการณ์ที่เป็นปัญหาสำคัญไม่ว่าจะเป็นทางอากาศ ทางราง หรือทางน้ำก็ตาม โดยคณะกรรมการอาจเสนอแนวทางแก้ไขหรือมาตรการที่จำเป็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MLIT หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ดังกล่าวเพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นและอนาคตและเพื่อลดความเสียหายที่ได้เกิดขึ้นแล้ว

สำหรับกรณีที่คณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบ มีดังนี้
(๑) อุบัติเหตุทางอากาศ
๑) เครื่องบินตก เครื่องบินชนกัน หรือไฟไหม้เครื่องบิน
๒) การได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต หรือความเสียหายต่ออาคารที่เกิดจากเครื่องบิน
๓) กรณีมีการเสียชีวิต หรือหายสาบสูญของผู้โดยสารเครื่องบิน เว้นแต่กรณีการเสียชีวิตที่ไม่ได้มีความผิดปกติ
๔) กรณีที่เครื่องบินที่ยังอยู่ระหว่างการใช้งานเกิดความเสียหาย
๕) มีเหตุการณ์ที่เป็นปัญหาสำคัญซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้
                    (๒) อุบัติเหตุทางราง
                             ๑) รถขนส่งทางรางชนกัน
                             ๒) รถขนส่งทางรางหลุดจากราง
                             ๓) รถขนส่งทางรางไฟไหม้
                             ๔) อุบัติเหตุอื่น ๆ เช่น เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตของผู้โดยสารหรือเจ้าหน้าที่ เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเกิน ๕ ราย เหตุการณ์ที่เกิดผู้เสียชีวิตขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากความประมาทของเจ้าหน้าที่ทางรางหรือความผิดปกติชำรุดของอุปกรณ์ทางราง หรือมีเหตุการณ์ที่เป็นปัญหาสำคัญซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้
                   (๓) อุบัติเหตุทางน้ำ
                             กรณีเกิดผู้เสียชีวิตจากโครงสร้างของเรือเดินสมุทร วัสดุอุปกรณ์ หรือมีเหตุการณ์ที่เป็นปัญหาสำคัญซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้
องค์ประกอบของคณะกรรมการ
คณะกรรมการประกอบด้วยประธานกรรมการ ๑ คน และกรรมการอีก ๑๒ คน แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MLIT โดยความเห็นชอบของรัฐสภา มีวาระการดำรงตำแหน่ง ๓ ปี และสามารถได้รับการแต่งตั้งหลายวาระ
สำหรับกฎหมายที่อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของกรมราง มีเช่น ๑) Railway Business Act 
สำหรับรายละเอียดของกฎหมายที่สำคัญจะกล่าวถึงในลำดับต่อไป

๓. กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางราง

                   (๑) Basic Act on Transportation Policy (Act No.92 of 2013)
                   Basic Act on Transportation Policy เป็นกฎหมายกลางเกี่ยวกับนโยบายพื้นฐานด้านการคมนาคม โดยในอดีตก่อนที่จะมีการตรากฎหมายฉบับนี้ ในแต่ละนโยบายของประเทศญี่ปุ่นจะมีการวางแผนตามกฎหมายเกี่ยวกับแผนดำเนินการในแต่ละด้านของการคมนาคมและไม่ได้มีกฎหมายกลางที่กำหนดกรอบนโยบายด้านการคมนาคมในองค์รวม อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในปัจจุบันมีความจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายกลางเพื่อวางพื้นฐานทั้งหมดของนโยบาย จึงได้มีการตรากฎหมายฉบับขึ้น โดยในกฎหมายฉบับนี้จะกำหนดเกี่ยวกับนโยบายพื้นฐานด้านการคมนาคม ๔ ประการ ประกอบด้วย ๑) คุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนด้านการคมนาคม ๒) การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันระดับนานาชาติด้านคมนาคม ๓) การกระตุ้นเศรษฐกิจท้องถิ่นด้านคมนาคม และ ๔) มาตรการต่อภัยขนาดใหญ่เกี่ยวกับการคมนาคม 

 

(๒) Basic Act on Transportation Safety Policy (Act No. 110 of 1970)

Basic Act on Transportation Safety Policy เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๗๐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดหน้าที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในการคมนาคมของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้ใช้บริการคมนาคม พนักงานผู้ขับขี่และบังคับ และลูกเรือต่าง ๆ ให้ชัดเจน รวมถึงการวางระบบที่จำเป็นผ่านรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และกำหนดมาตรฐานพื้นฐานของการวางแผนความปลอดภัยของการคมนาคมเพื่อส่งเสริมประโยชน์ของสาธารณะ


(๓) Railway Operation Act (Act No. 65 of 1900)
Railway Operation Act เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๐๐ และมีการแก้ไขเพิ่มเติมครั้งล่าสุดเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๖ กฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับระบบการปฏิบัติงานขนส่งทางราง ประกอบด้วย ๓ หมวด ดังนี้
หมวดที่ ๑ เรื่อง วัสดุอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการขนส่งทางราง รวมถึงงานขนส่งทางราง (Railway equipment and facilities and Railway Transportation) เช่น การก่อสร้างทางรถไฟ (มาตรา ๑) ตั๋วรถไฟ (มาตรา ๓) การห้ามพกดินปืนและระเบิดขึ้นรถขนส่งทางราง (มาตรา ๕) การห้ามการมิให้ผู้โดยสารขึ้นรถโดยไม่มีเหตุอันสมควร (มาตรา ๖) การชดใช้ความเสียหาย (มาตรา ๑๑-๒) การถึงที่หมายโดยไม่ตรงเวลาของการขนส่งทางราง (มาตรา ๑๒) การตรวจตั๋วโดยสาร (มาตรา ๑๘) เป็นต้น
หมวดที่ ๒ เรื่อง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับการขนส่งทางราง (Railway Staff) เช่น การกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใส่ชุดเครื่องแบบในเวลาปฏิบัติหน้าที่ (มาตรา ๒๒) การกำหนดบทกำหนดโทษสำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดต่อผู้โดยสารเป็นโทษปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ เยน (มาตรา ๒๔) เป็นต้น
หมวดที่ ๓ เรื่อง ผู้โดยสาร (Passengers and the Public) โดยกำหนดหน้าที่ของทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการเพื่อให้เกิดการบริการคมนาคมที่ราบรื่นและปลอดภัย รวมถึงมีการกำหนดบทกำหนดโทษ เช่น กำหนดโทษปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ เยน สำหรับผู้ใดที่ ๑) โดยสารโดยไม่มีตั๋วโดยสาร ๒) โดยสารในชั้นโดยสารที่สูงกว่าที่ระบุไว้ในตั๋วโดยสาร หรือ ๓) ไม่ลงรถตามสถานีที่ระบุไว้ในตั๋วโดยสาร (มาตรา ๒๙) การกำหนดโทษปรับไม่เกิน ๒๐,๐๐๐ เยนสำหรับผู้ที่เปิดสัญญาณเตือนภัยโดยไม่มีเหตุอันสมควร (มาตรา ๓๒) เป็นต้น สำหรับอนุบัญญัติภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ Ministerial Ordinance to Provide the Technical Standard on Railway และ Ministerial Ordinance for railway safety เป็นต้น

(๔) Special Measures Act on Punishment of Acts Endangering Safe Operation of Shinkansen Railways (Act No. 111 of 1964)
Special Measures Act on Punishment of Acts Endangering Safe Operation of Shinkansen Railways เป็นกฎหมายที่กำหนดรายละเอียดเฉพาะเพิ่มเติมจาก Railway Operation Act เพื่อกำหนดบทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ขัดขวางการเดินรถของรถไฟความเร็วสูงซึ่งจะเดินรถในความเร็วมากกว่า ๒๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อให้สามารถรักษาความปลอดภัยในการเดินรถไฟความเร็วสูงไว้ได้ โดยมีบทกำหนดโทษเป็นโทษจำคุกไม่เกิน ๑ ปี หรือปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ เยน สำหรับผู้ที่ทำลายเครื่องมือที่มีไว้รักษาความปลอดภัยของรถไฟความเร็วสูง หรือเข้ามาบังคับการเดินรถโดยพลการ หรือบุกรุกเข้าไปในบริเวณรางรถไฟความเร็วสูงโดยพลการ และกำหนดโทษปรับไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ เยนสำหรับผู้ที่โยนสิ่งของเข้าไปในบริเวณทางรถไฟความเร็วสูง

อนุบัญญัติภายใต้ Railway Operation Act

๑) Ministerial Ordinance for railway safety (Ministerial Ordinance No. 55 of 1951) ออกตาม Railway Operation Act เพื่อกำหนดหลักการพื้นฐานในการรักษาความปลอดภัยในการขนส่งทางราง ซึ่งถือเป็นหลักการที่สำคัญซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องรักษาและยึดมั่นเพื่อรักษาความปลอดภัยในการขนส่งทางราง โดย Ministerial Ordinance for railway safety กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องนำคู่มือการเดินรถติดตัวตลอดเวลา รวมถึงให้ทำความเข้าใจในคู่มือดังกล่าว การติดต่อสื่อสารประสานงานกับพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด การตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ โดยไม่คาดเดาเอาเองในการเดินรถ การตั้งนาฬิกาให้ถูกต้องตรงเวลาเสมอ (มาตรา ๒) เป็นต้น  

๒) Ministerial Ordinance to Provide the Technical Standard on Railway (Ministerial Ordinance No. 151 of 2001) ออกตาม Railway Operation Act เพื่อกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานด้านเทคนิคของการขนส่งทางราง โดยกำหนดเกี่ยวกับเส้นทางเดินรถ ซึ่งประกอบด้วยบทบัญญัติเกี่ยวกับระยะห่าง ขอบเขต สิ่งอำนวยความสะดวกเรื่องความปลอดภัย (มาตรา ๑๒ – มาตรา ๓๓) บริเวณที่จอดรถขนส่งทางราง (มาตรา ๓๔ – มาตรา ๓๘) สิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับไฟฟ้า (มาตรา ๔๑ – มาตรา ๕๓) สิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับความปลอดภัย เช่น สัญญาณไฟ ที่กั้นต่าง ๆ (มาตรา ๕๔ – มาตรา ๖๓) บทบัญญัติเกี่ยวกับตู้รถไฟ เช่น (มาตรา ๖๔ – มาตรา ๘๖) การเดินรถ (มาตรา ๙๒ – มาตรา ๑๑๙) เป็นต้น สำหรับบทบัญญัติเกี่ยวกับคนชราและผู้พิการนั้นมาตรา ๗ ของกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้รายละเอียดเป็นไปตามมาตรา ๘ ของ Act on Promotion of Smooth Transportation, etc. of Elderly Persons, Disabled Persons, etc

(๕) Railway Business Act (Act No. 92 of 1986)
Railway Business Act ตราขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๘๖ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำกับดูแลการประกอบการขนส่งทางราง รวมถึงการประกอบการขนส่งทาง cable way โดยการประกอบการขนส่งทางรางภายใต้กฎหมายนี้จะหมายความรวมถึงการประกอบการขนส่งทางรางแบบรางคู่ทั่วไป โมโนเรล trolley bus, cable car, linear motor car และ ropeway อย่างไรก็ตาม สำหรับ tramcar/tramways จะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่มีชื่อว่า “Act on Rail Tracks (Act No. 76 of 1921)” โดยมิได้อยู่ภายใต้บังคับของ Railway Business Act ฉบับนี้ (มาตรา ๒(๒) ที่กำหนดว่า
Railway Business Act
2 この法律において「第一種鉄道事業」とは、他人の需要に応じ、鉄道(軌道法(大正十年法律第七十六号)による軌道及び同法が準用される軌道に準ずべきものを除く。以下同じ。)による旅客又は貨物の運送を行う事業であつて、第二種鉄道事業以外のものをいう。
(2) In this Act, "Type I Railway Business" means the business of transportation of passengers or freight by railway (except the tramways defined in the Act on Rail Tracks (Act No. 76 of 1921) and those equivalent to the tramways to which the said Act applies mutatis mutandis. The same shall apply hereafter.) other than Type II Railway Business.

Act on Rail Tracks (Act no. 76 of 1921)
มาตรา ๑ กำหนดว่ากฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับกับ Rail Tracks และมาตรา ๒ กำหนดว่า Rail Tracks ให้วางรางไว้บนถนน

กฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมประโยชน์สาธารณะโดยการจัดให้การบริหารจัดการกิจการรถไฟเป็นไปอย่างเหมาะสม เพื่อรักษาความปลอดภัยของการขนส่งและคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการขนส่ง รวมถึงเพื่อพัฒนากิจการรถไฟอย่างยั่งยืน (มาตรา ๑)
การขอรับใบอนุญาต (มาตรา ๓) กฎหมายฉบับนี้ได้แบ่งประเภทของการประกอบการขนส่งทางรางไว้ ซึ่งการประกอบการขนส่งทางรางแต่ละประเภทจะต้องได้รับใบอนุญาต โดยมาตรา ๓ ของกฎหมายดังกล่าวกำหนดว่าผู้ที่ประสงค์จะประกอบการขนส่งทางรางจะต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MLIT[๔]
เงื่อนไขการขอรับใบอนุญาต (มาตรา ๕) ผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตจะต้องยื่นเอกสารประกอบการขอรับใบอนุญาตต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MLIT ประกอบด้วย ๑) ชื่อและที่อยู่ หรือชื่อของผู้แทนนิติบุคคล ๒) เส้นทางรถที่จะเข้าเป็นผู้ประกอบการขนส่งทางราง ๓) ประเภทของการประกอบการขนส่งทางรางที่จะดำเนินการ ๔) การระบุความประสงค์ในกรณีที่จะประกอบการเฉพาะขนส่งผู้โดยสารหรือสินค้นอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น ๕) การระบุความประสงค์ในกรณีที่จะประกอบการในระยะเวลาหนึ่งระยะเวลาใดเท่านั้น ๖) แผนการดำเนินการ ตามที่กำหนดไว้ในอนุบัญญัติแยกตามประเภทของการประกอบการขนส่งทางราง ๗) การแจ้งว่าจะต้องมีการก่อสร้างก่อนการประกอบการหรือไม่[๕] เป็นต้น สำหรับเงื่อนไขการอออกใบอนุญาต รัฐมนตรีว่าการกระทรวง MLIT จะพิจารณาจากแผนการดำเนินการว่า ๑) มีความเหมาะสมเมื่อพิจารณาด้านการบริหารจัดการหรือไม่ ๒) มีความเหมาะสมเมื่อพิจารณาด้านความปลอดภัยหรือไม่ ๓) มีความเหมาะสมเมื่อพิจารณาด้านธุรกิจความคุ้มทุนหรือไม่[๖] เป็นต้น
การตรวจสอบการก่อสร้างรวมถึงตัวรถขนส่งทางราง (มาตรา ๑๐) ผู้ประกอบการขนส่งทางรางจะต้องดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด และยื่นขอรับการตรวจสอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MLIT ด้วย[๗] นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขนส่งทางรางก็จะต้องยื่นการขอรับการตรวจสอบตัวรถขนส่งระบบรางจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MLIT ด้วยตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๓
                   การกำหนดค่าโดยสาร (มาตรา ๑๖) ในส่วนของค่าโดยสารการขนส่งทางรางนั้น กฎหมายกำหนดว่า ผู้ประกอบการขนส่งทางรางจะต้องกำหนดอัตราค่าโดยสารขั้นสูงสุดของตน และยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MLIT เพื่อขอความเห็นชอบ[๘] นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขนส่งทางรางจะต้องทำแผนการเดินรถเพื่อเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MLIT ให้ความเห็นชอบ ซึ่งหากจะมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลังก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีฯ ในการปรับเปลี่ยนแผนการเดินรถทุกครั้งด้วย (มาตรา ๑๗)  
                   การรายงานกรณีเกิดอุบัติเหตุ (มาตรา ๑๙) ในกรณีเกิดอุบัติเหตุหรือไฟไหม้ในการขนส่งทางรางผู้ประกอบการขนส่งทางรางจะต้องรายงานเกี่ยวกับการเกิดเหตุ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MLIT โดยไม่ชักช้า

                   กฎหมายอื่น ๆ

(๕) Act on Promotion of Smooth Transportation, etc. of Elderly Persons, Disabled Persons, etc.(Act No. 91 of 2006) เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๒๐๐๖ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรฐานของสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการบริการขนส่งสาธารณะ ซึ่งรวมถึงตู้รถไฟ ทางเดินรถ สวนสาธารณะ และสิ่งก่อสร้างให้มีการปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นเพื่อส่งเสริมความสะดวกและความปลอดภัยของสิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุและคนพิการ (มาตรา ๑) กฎหมายฉบับนี้มีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “กฎหมาย Barrier free” ซึ่งตราขึ้นตามนโยบายส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายต่ำของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายว่าสำหรับสถานีรถไฟที่มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยวันละมากกว่า ๓,๐๐๐ ราย เช่น สถานีโตเกียวนั้น ภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๐ ซึ่งเป็นปีที่กรุงโตเกียวของประเทศญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกมีเป้าหมายที่จะทำให้พื้นที่ต่างระดับเป็นศูนย์ และมีการจัดตั้งอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับป้องกันผู้ที่มีความผิดปกติทางสายตามิให้หกล้มหรือตกลงจากที่สูงเพื่อให้การเดินทางเป็นไปอย่างราบรื่น สำหรับตู้รถไฟที่มีอยู่ประมาณ ๕๒,๐๐๐ สาย รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะให้ร้อยละ ๗๐ ของตู้รถไฟทั้งหมด หรือประมาณ ๓๖,๔๐๐ สายนั้นปราศจากอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายของผู้โดยสารภายในปี ค.ศ. ๒๐๒๐  

(๖)Act on Enhancement of Convenience of Urban Railways, etc. (Act No. 41 of 2005)

เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของการขนส่งทางรางที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่ และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการขนส่งทางราง โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวง MLIT โดยในเมืองใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น เช่น โตเกียว นาโกย่า จะมีเครือข่ายของการขนส่งทางรางจำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ส่วนหนึ่งมีที่มาจากการที่ประเทศญี่ปุ่นได้มีการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการประกอบการขนส่งทางรางตั้งแต่แรกเริ่ม แตกต่างจากนานาประเทศที่รัฐได้เข้ามาบริหารจัดการการขนส่งทางรางเสียเป็นส่วนใหญ่  ด้วยเหตุนี้ ประเทศญี่ปุ่นจึงเป็นประเทศที่มีเครือข่ายของผู้ประกอบการขนส่งทางรางเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม จากการที่มีจำนวนผู้ประกอบการขนส่งทางรางเป็นจำนวนมากนี้เองเป็นผลทำให้ความมีส่วนร่วมระหว่างผู้ประกอบการมีค่อนข้างน้อย ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่สะดวกและภาระแก่ผู้ใช้บริการ เช่น การที่ผู้ใช้บริการจะต้องเปลี่ยนสายรถไฟ การต้องจ่ายค่าบริการเพิ่มเติม การใช้ระยะทางและเวลานานในการที่จะเปลี่ยนสายถึงแม้จะได้ชื่อว่าอยู่ในสถานีเดียวกัน หรือแม้แต่การที่ใช้ชื่อสถานีเดียวกันแต่สถานที่อยู่ค่อนข้างห่างไกลกันมาก เป็นต้น ด้วยความเป็นมาเช่นนี้ Act on Enhancement of Convenience of Urban Railways, etc. จึงได้ตราขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลาเปลี่ยนสายรถขนส่งทางราง เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการและเพิ่มความเชื่อมโยงอย่างต่อเนื่องในการขนส่งทางราง โดยพื้นที่ที่กฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมจะประกอบด้วยเขตพื้นที่ของการขนส่งทางรางในตัวเมืองใหญ่ ๆ โดยกำหนดไว้ใน Enforcement Regulation for the Act on Enhancement of Convenience of Urban Railways, etc.

๔. มาตรการเพื่อการเปลี่ยนสายรถอย่างต่อเนื่อง (Measures for smooth transit)

๔.๑ บทบัญญัติเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ

สำหรับประเด็นเรื่องมาตรการเกี่ยวกับการจัดทำระบบตั๋วร่วม จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า Railway Business Act ได้มีการกำหนดเกี่ยวกับมาตรการเพื่อการเปลี่ยนสายรถอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดดังนี้  

Railway Business Act ได้มีการกำหนดไว้ในมาตรา ๒๒-๒-๑ ว่าผู้ประกอบการขนส่งทางรางจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้ประกอบการขนส่งทางรางรายอื่น รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ในการดำเนินการขนส่งเชื่อมต่อ (connecting line) ขนส่งต่อเนื่อง หรือขนส่งอื่น ๆ ระหว่างผู้ประกอบการขนส่งด้วยกัน เพื่อให้การเปลี่ยนสายรถของผู้ใช้บริการ หรือการขนถ่ายสินค้าเป็นไปอย่างราบรื่น โดยต้องจัดให้มีมาตรการตาม Ministerial Ordinance ในการอำนวยความสะดวกที่จำเป็นต่าง ๆ

นอกจากนี้ มาตรา ๒๒-๒-๒ กำหนดว่า ในกรณีที่ผู้ประกอบการขนส่งทางรางได้มีการขอประชุมหารือกับผู้ประกอบการขนส่งทางรางรายอื่นในประเด็นเรื่องมาตรการเกี่ยวกับการเปลี่ยนสายรถของผู้โดยสารตามวรรคข้างต้นอันเป็นการก่อสร้างหรือปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการขนส่งทางรางให้ดียิ่งขึ้น ผู้ประกอบการขนส่งทางรางที่ถูกขอให้มีการหารือจะต้องร่วมมือตอบสนองคำขอดังกล่าวของผู้ประกอบการขนส่งทางราง เว้นแต่กรณีที่ผู้ประกอบการขนส่งทางรางเห็นว่ามาตรการเกี่ยวกับการเปลี่ยนสายรถดังกล่าวอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ระบบของสิ่งอำนวยความสะดวกของระบบขนส่งทางรางที่มีอยู่อย่างชัดแจ้ง หรือมีเหตุอันสมควรอื่น ๆ ตามที่กำหนดไว้ใน Ministerial Ordinance   
มาตรา ๒๒-๒-๓ ยังกำหนดว่า ในกรณีที่ผู้ประกอบการขนส่งทางรางฝ่ายหนึ่งขอหารือกับผู้ประกอบการขนส่งทางรางอีกฝ่ายหนึ่งเกี่ยวกับมาตรการเพื่อการเปลี่ยนสายรถอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการที่ถูกร้องขอไม่ยินยอมที่จะหารือด้วย หรือการหารือดังกล่าวไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากมีผู้ประกอบการขนส่งทางรางยื่นคำร้อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวง MLIT สามารถออกคำสั่งบังคับให้ผู้ประกอบการขนส่งทางรางอีกฝ่ายหนึ่งเริ่มการหารือ หรือเริ่มการหารือที่เคยกระทำอีกครั้งหนึ่งได้ เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร

มาตรา ๒๒-๒-๔ กำหนดว่า ในกรณีที่มีคำสั่งตามวรรคข้างต้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนสายรถอย่างต่อเนื่องระหว่างผู้ประกอบการขนส่งทางรางด้วยกัน หากมีประเด็นที่ไม่ได้ข้อยุติเกี่ยวกับจำนวนเงินที่คู่กรณีควรได้รับ หรือจำนวนเงินที่คู่กรณีจะต้องรับผิดชอบ หรือเงื่อนไขของการตกลงเรื่องมาตรการเพื่อการเปลี่ยนสายรถอย่างต่อเนื่อง คู่กรณีสามารถยื่นคำร้องขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง MLIT วินิจฉัยได้

มาตรา ๒๒-๓-๑ กำหนดว่า ในกรณีที่จะมีการก่อสร้างหรือปรับปรุงสายระบบรางหรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการจอดรถไฟ หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวง MLIT เห็นว่าการจัดให้มีการเปลี่ยนสายรถอย่างต่อเนื่องในส่วนของการก่อสร้างหรือปรับปรุงสายระบบรางหรือสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการจอดรถไฟดังกล่าวจะเป็นการประหยัดและเหมาะสม หรือเห็นว่ามีความจำเป็นเมื่อพิจารณาประเด็นเรื่องการส่งเสริมการใช้บริการของผู้ใช้บริการ ประเด็นเรื่องเงินงบประมาณที่จะต้องใช้ในการก่อสร้างปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก รัฐมนตรีว่าการกระทรวง MLIT สามารถให้คำแนะนำต่อผู้ประกอบการขนส่งทางรางให้จัดให้มีมาตรการเกี่ยวกับการเปลี่ยนสายรถอย่างต่อเนื่องได้

มาตรา ๒๒-๓-๒ กำหนดว่า ในกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวง MLIT ได้มีคำแนะนำตามวรรคข้างต้น แต่ผู้ที่ได้รับคำแนะนำดังกล่าวไม่ดำเนินการตามคำแนะนำโดยไม่มีเหตุอันสมควร รัฐมนตรีว่าการกระทรวง MLIT สามารถเปิดเผยเรื่องการไม่ดำเนินการตามคำแนะนำดังกล่าวต่อสาธารณะได้

                   ๔.๒ ระบบตั๋วร่วม

ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินในโตเกียว

ระบบรถไฟฟ้าใต้ดินในโตเกียวประกอบด้วยผู้ประกอบกิจการรถไฟฟ้าใต้ดิน ๒ ราย ได้แก่

๑) Tokyo Metro Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทพิเศษที่จัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่มีชื่อว่า Act on Tokyo Metro Co., Ltd. (Act No. 188 of 2002) มีสายรถไฟใต้ดิน เช่น Tokyo Metro Tozai line และ Tokyo Metro Ginza line เป็นต้น

สำหรับ “บริษัทพิเศษ” หมายถึง บริษัทที่จัดตั้งโดยกฎหมายเนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับสาธารณะค่อนข้างมาก แต่ก็มีความเหมาะสมที่จะบริหารจัดการในรูปแบบของบริษัทจำกัดมากกว่าที่จะบริหารจัดการในรูปแบบของหน่วยงานของรัฐ โดยบริษัทพิเศษดังกล่าวจะไม่ได้แบ่งออกโดยสัดส่วนการถือหุ้นหรือเงินทุนจากรัฐ แต่จะแบ่งออกโดยพิจารณาว่ามีกฎหมายจัดตั้งเป็นพิเศษหรือไม่ ตัวอย่างบริษัทพิเศษ ได้แก่ ๑) Nippon Telegraph and Telephone Corporation ภายใต้การกำกับดูแลของ Ministry of Internal Affairs and Communications ๒) Japan Tobacco Inc. ภายใต้การกำกับดูแลของ Ministry of Finance และ ๓) Japan Alcohol Corporationายใต้การกำกับดูแลของ Ministry of Economy, Trade and Industry เป็นต้น ทั้งนี้ สัดส่วนการถือหุ้นใน Tokyo Metro Company Limited คือ รัฐร้อยละ ๕๓.๔ และ Tokyo Metropolis ร้อยละ ๔๖.๖

สำหรับใน Act on Tokyo Metro Co., Ltd. (Act No. 188 of 2002) ประกอบด้วย ๑) บททั่วไป ๒) การบริหารจัดการอย่างเหมาะสมและมีเสถียรภาพ ๓) บทเบ็ดเตล็ด และ ๔) บทกำหนดโทษ โดยมีการกำหนดว่าบริษัทดังกล่าวอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (มาตรา ๙ วรรคสอง) เป็นต้น    

๒) Metropolitan Subway จัดตั้งขึ้นตาม Tokyo Metropolitan Ordinance โดยมีการบริหารจัดการโดย Tokyo Metropolitan Bureau of Transportation มีสายรถไฟใต้ดิน เช่น Toei Asakusa line และ Toei Oedo line เป็นต้น

สำหรับระบบตั๋วร่วมในประเทศญี่ปุ่นมีหลายบริษัทด้วยกัน เช่น Suica โดย East Japan Railway Company หรือตั๋ว PASMO ที่เป็นตั๋วร่วมของการขนส่งทางรางและรถเมล์ที่มีผู้ประกอบการขนส่งทางรางของภูมิภาคตะวันออกของประเทศ (East Japan) เข้าร่วมกว่า ๑๐๐ ราย โดยทั้งหมดเป็นตั๋วร่วมที่เป็นทั้งตั๋วโดยสารและตั๋ว e-money ที่จัดทำขึ้นตามมาตรฐานที่กำหนดไว้โดย Japan Railway Engineers' Association (JREA) ซึ่งเป็นสมาคมเทคนิคการขนส่งทางรางของประเทศญี่ปุ่นที่ดูแลด้านการวิจัยและสำรวจเกี่ยวกับเทคนิคของการขนส่งทางราง โดยในอดีตสมาคมนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมราง กระทรวงคมนาคม แต่ภายหลังจากการปฏิรูประบบการจัดตั้งนิติบุคคลได้เปลี่ยนรูปแบบองค์กรมาเป็นสมาคมอิสระที่ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม ปี ค.ศ. ๒๐๑๑ โดยแรกเริ่มจัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างเครือข่ายส่วนงานด้านเทคนิคของการขนส่งทางราง ไม่ว่าจะเป็นส่วนงานรัฐหรือเอกชนก็ตาม โดยมีกรมขนส่งทางรางเป็นศูนย์กลางเครือข่ายด้วย

นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นมี Japan Railway Cybernetics Association ซึ่งสมาคม Japan Railway Cybernetics Association นี้จะมีการจัดการประชุมเพื่อวิจัยเกี่ยวกับ cybernetics ของการขนส่งทางราง ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๖๓ โดยแรกเริ่มได้จัดตั้งสำนักงานไว้ใน Japan Railway Engineers' Association (JREA) แต่ภายหลังได้มีการแยกสำนักงานออกมา โดย Japan Railway Cybernetics Association จะมีการจัดทำมาตรฐานของ cybernetics ของระบบราง ที่เรียกว่า มาตรฐาน cybernetics หรือมาตรฐาน CJRC ซึ่งเป็นมาตรฐานกลางในด้านเทคนิคที่ระบบตั๋วร่วมไม่ว่าจะเป็นของหน่วยงานใดก็ตามต้องดำเนินการตามมาตรฐานนี้จึงจะได้รับการยอมรับ โดยผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมสมาคมดังกล่าวจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมรายปี ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งทางรางที่ไม่สามารถจ่ายค่าธรรมเนียมรายปีที่ค่อนข้างสูงได้ก็จะใช้ IC card ของตนเองแยกไป

 ๕.บทสรุป

ประเทศญี่ปุ่นได้จัดตั้งกรมรางขึ้นเป็นหน่วยงานราชการระดับกรมภายใต้กระทรวงคมนาคมที่กำกับดูแลทั้ง Japan Railway Group และผู้ประกอบการขนส่งทางรางของเอกชน โดยมีอำนาจหน้าที่ในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการวางระบบและเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับระบบขนส่งทางรางและงานด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงปฏิบัติงานเกี่ยวกับการดำเนินการเดินรถ การพัฒนาการประกอบการขนส่งทางราง การปรับปรุงแก้ไขงานขนส่งทางราง การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการรักษาความปลอดภัย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการขนส่ง การจดทะเบียน การอบรมให้ความรู้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่รถไฟ และการกำกับดูแลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถือได้ว่าเป็นหน่วยงานกลางที่สำคัญในการกำกับดูแลและพัฒนาการขนส่งทางรางของประเทศ ในส่วนของคณะกรรมการนั้น ประเทศญี่ปุ่นมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำกับดูแลการขนส่งทางรางหลายคณะด้วยกัน เช่น คณะกรรมการนโยบายการคมนาคม คณะกรรมการด้านความปลอดภัย และเมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องควบรวมคณะกรรมการหลายด้านเข้ามาเป็นคณะกรรมการเดียวเพื่อความคล่องตัว ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงและจัดตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยทางคมนาคมขึ้นมาเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากที่สุด
                   ในส่วนของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งทางรางนั้น ประเทศญี่ปุ่นได้มีการตรากฎหมาย Railway Operation Act ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๐๐ และมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลายครั้งโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับระบบการปฏิบัติงานขนส่งทางรางใน ๓ เรื่องใหญ่ ๆ ได้แก่ (๑) วัสดุอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการขนส่งทางราง รวมถึงงานขนส่งทางราง (๒) เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับการขนส่งทางราง และ (๓) ผู้โดยสาร โดยกำหนดหน้าที่ของทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการเพื่อให้เกิดการบริการคมนาคมที่ราบรื่นและปลอดภัย รวมถึงมีการกำหนดบทกำหนดโทษด้วย สำหรับอนุบัญญัติภายใต้ Railway Operation Act ที่สำคัญ ได้แก่ Ministerial Ordinance for railway safety ที่กำหนดหลักการพื้นฐานในการรักษาความปลอดภัยในการขนส่งทางราง และ Ministerial Ordinance to Provide the Technical Standard on Railway ที่กำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานด้านเทคนิคของการขนส่งทางราง นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นยังมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่สำคัญ ได้แก่ Railway Business Act (Act No. 92 of 1986) ที่กำกับดูแลการประกอบการขนส่งทางรางทั้งระบบด้วย ซึ่งถือได้ว่าประเทศญี่ปุ่นได้มีการวางระบบกฎหมายเกี่ยวกับการขนส่งทางรางที่สำคัญหลายฉบับเพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางรางของประเทศ นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นได้มีการตรากฎหมายที่จำเป็นในการพัฒนาการขนส่งทางรางในด้านอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น Act on Promotion of Smooth Transportation, etc. of Elderly Persons, Disabled Persons, etc. เพื่อกำหนดมาตรฐานของสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการบริการขนส่งสาธารณะ เพื่อส่งเสริมความสะดวกและความปลอดภัยของสิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุและคนพิการ โดยมีเป้าหมายเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในปี ค.ศ. ๒๐๒๐ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการขนส่งทางรางของประเทศญี่ปุ่น ที่นอกจากจะเล็งเห็นถึงความสำคัญของการวางรากฐานกฎหมายที่เป็นหลักของการพัฒนาการขนส่งทางรางแล้ว ยังเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาสภาพแวดล้อมรอบการขนส่งทางรางแบบบูรณาการ เพื่อรองรับการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติต่อไป ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งสำหรับประเทศไทยในการนำมาเป็นกรณีศึกษาและปรับใช้เพื่อพัฒนากฎหมายต่อไปได้ในอนาคต.




             [*]นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ ฝ่ายแปลและให้ความเห็น กองกฎหมายต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
[๒] Incorporated Administrative Agency เป็นนิติบุคคลของประเทศญี่ปุ่น ตามมาตรา ๒(๑) ของกฎหมาย Act on General Rules for Independent Administrative Agency (Act No. 103 of 1999) ซึ่งได้ใช้ระบบ agency ของประเทศอังกฤษเป็นตัวอย่างในการจัดตั้งในปลายยุค ค.ศ. ๑๙๙๐ โดยเป็นนิติบุคคลที่ก่อตั้งขึ้นโดยกฎหมายฉบับนี้หรือกฎหมายอื่นอันเนื่องมาจากความจำเป็นสำหรับความเป็นอยู่ของประชาชนและการสร้างความมั่นคงแก่เศรษฐกิจ โดยเป็นกรณีของงานที่หน่วยงานที่รัฐไม่จำเป็นต้องเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงเอง แต่การให้เอกชนเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงแต่เพียงผู้เดียวอาจไม่สามารถทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ของหน่วยงานได้ นอกจากนี้ เป็นงานที่มีความจำเป็นที่จะต้องขับเคลื่อนโดยหน่วยงานเดียวเพื่อความมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการงาน โดยเป็นนิติบุคคลที่แยกออกจากหน่วยงานทางปกครองของประเทศญี่ปุ่นแต่ยังดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณะเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนและเพื่อความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นอิสระจากหน่วยงานราชการก็ตาม เจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถตรวจสอบการทำงานของนิติบุคคลดังกล่าวได้
[๓] (Consultation with Council for Transportation) Article 642 The Minister of Land, Infrastructure, Transport and Tourism shall consult with the Council for Transportation when he/she intends to make the following dispositions. (i) Approval of the upper limits of Fares, etc. for Passengers pursuant to the provision of paragraph 1 of Article 16. (ii) An order to change the Fares, etc. for Passengers and the charges for passengers pursuant to the provision of paragraph 5 of Article 16. (iii) An order to change the upper limits of the Fares, etc. for Passengers or the charges for passengers, or the fares or charges for freight pursuant to the provision of paragraph 1 of Article 23. (iv) An order to suspend business or rescission of license pursuant to the provision of Article 30.
(v) Formulation of basic policy pursuant to the provision of Article 562.
[๔] Article 3 (1) The person who intends to operate Railway Business shall obtain a license of the Minister of Land, Infrastructure, Transport and Tourism.
[๕] Article 4 (1) The person who intends to obtain a license of Railway Business shall submit an application which describes the followings to the Minister of Land, Infrastructure, Transport and Tourism. (i) The name and the address of the applicant, and, if the applicant is a juridical person, the name of the representative (ii) The route being planned (iii) The classification of Railway Business the applicant intends to operate (iv) In the case the applicant intends to obtain a license with a limited range of business for transportation of passengers or transportation of freight, the
description to that effect (v) In the case the applicant intends to obtain a license with a limited period, the period (vi) A plan concerning the type of railway prescribed by an ordinance of the Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism, the outline of facilities, planned transportation capability and other matters that are the basis of business prescribed by an ordinance of the Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism,for each type of railway (hereafter referred to as "Basic Business Plan".) (vii) Requirement or no requirement of construction for starting the business
[๖] (Standards of License) Article 5 (1) When the Minister of Land, Infrastructure, Transport and Tourism intends to grant a license of Railway Business, he/she shall examine whether the application meets the following standards before granting the license. (i) The business plan is appropriate from the viewpoint of operation. (ii) The business plan is appropriate from the viewpoint of the safety of transportation. (iii) The applicant has an appropriate plan from the viewpoint of operating the business in addition to what is listed in the preceding two items. (iv) The applicant has a capability to properly conduct the business on its own.
[๗] (Completion Inspection of Construction) Article 10 (1) The Railway Business Operator shall complete the construction of Railway Facilities by the due date of construction designated by the Minister of Land, Infrastructure, Transport and Tourism at the time of the approval of execution of construction, and shall apply for an inspection by the Minister of Land, Infrastructure, Transport and Tourism pursuant to the provision of an ordinance of the Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism.
[๘] (Fares and Charges for Passengers) Article 16 (1) The Railway Transportation Business Operator shall set forth the upper limits of the fares for the passengers and the charges for the passengers prescribed by an ordinance of the Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism (hereafter referred to as "Passenger Fares") and obtain an approval of the Minister of Land, Infrastructure, Transport and Tourism. The same shall apply if he/she intends to change them.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น