วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2561

การศึกษาผลกระทบของกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส โดย ดร.กฤตติกา ยุวนะเตมีย์ *


ความนำ

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกได้ดำเนินการปฏิรูปกระบวนการจัดทำกฎหมายเพื่อวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาคุณภาพของกฎหมายที่ตราขึ้น  ทั้งนี้ เครื่องมือหนึ่งที่องค์การระหว่างประเทศเพื่อเศรษฐกิจและการพัฒนาได้ผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ นำมาใช้เพื่อการดังกล่าว คือ กลไกการศึกษาผลกระทบประกอบการจัดทำร่างกฎหมาย[๑]เครื่องมือดังกล่าวจะสามารถให้หลักประกันได้ว่าการพิจารณาจัดทำกฎหมายกระทำด้วยความโปร่งใสมีความชัดเจน และมีหลักฐานที่เชื่อถือได้รองรับ รวมทั้งกฎหมายที่ตราขึ้นจะเป็นกฎหมายที่มีเหตุผล มีความคุ้มค่า และสามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

ประเทศฝรั่งเศสได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพของกฎหมายตามแนวทางดังกล่าว เพื่อต้องการไปสู่เป้าหมายในการป้องกันการมีกฎหมายเฟ้อและป้องกันความไม่แน่นอนของกฎหมายที่ได้ตราขึ้น (l’inflation normative et l’instabilité du droit) จึงปรับปรุงขั้นตอนในการจัดทำร่างกฎหมาย โดยเพิ่มหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐผู้ที่จะริเริ่มเสนอให้มีกฎหมาย ต้องดำเนินการศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบทั้งนี้ ได้ดำเนินการอย่างเป็นระบบ เริ่มต้นจากการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเพื่อรองรับระบบสถาบันที่มีความทันสมัย การตรากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดหลักเกณฑ์ในการเสนอร่างกฎหมายและการศึกษาผลกระทบของร่างกฎหมาย และปรับปรุงบทบาทหน้าที่ขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและตรวจสอบร่างกฎหมายของรัฐบาล

๑. การนำเสนอเหตุผลของร่างกฎหมาย

ก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. ๒๐๐๘ ฝ่ายบริหารได้ยึดถือแนวทางปฏิบัติในการเสนอร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรีว่าหน่วยงานของรัฐที่จะเสนอร่างกฎหมายต้องจัดทำเอกสาร “บันทึกเหตุผลของร่างกฎหมาย(Exposé des motifs)” เพื่อนำเสนอความเป็นมา สรุปสาระสำคัญและวัตถุประสงค์ของร่างกฎหมายผนวกไว้กับร่างกฎหมายที่จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีทั้งนี้ แม้ว่าจะมิได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายรับรองเอกสารดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน แต่ทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติได้ให้ความสำคัญแก่การจัดทำบันทึกเหตุผลของร่างกฎหมายจนถือว่าบันทึกดังกล่าวมีสถานะเป็นองค์ประกอบหนึ่งของร่างกฎหมายที่มิอาจละเลยได้  อีกทั้ง ตุลาการรัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสยังได้ให้การรับรองว่า “บันทึกเหตุผลของร่างกฎหมายซึ่งผนวกกับร่างรัฐบัญญัติที่ฝ่ายบริหารเสนอ มีสาระสำคัญเป็นเป็นการชี้แจงเหตุผลของการเสนอร่างกฎหมายซึ่งแยกออกจากร่างกฎหมายไม่ได้ และถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมของระบบสาธารณรัฐ (la tradition républicaine)[๒]

ต่อมา ในปี ค.ศ. ๑๙๙๕ ฝ่ายบริหารได้ขยายหลักเกณฑ์ในการนำเสนอเหตุผลของร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี โดยริเริ่มให้หน่วยงานผู้ที่จะเสนอร่างกฎหมายจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบ (Étuded’impact) ในการนี้ หนังสือเวียนของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๒๖ สิงหาคม ค.ศ. ๒๐๐๓[๓] ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติภายในฝ่ายบริหารให้หน่วยงานที่มีดำริจะจัดทำร่างรัฐบัญญัติ (Loi) หรือร่างรัฐกฤษฎีกา (Décret) ดำเนินการศึกษาเปรียบเทียบวัตถุประสงค์ของการยกร่างกฎหมายดังกล่าวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อใช้ประกอบการให้เหตุผลของการตัดสินใจจัดทำร่างกฎหมายนั้นทั้งนี้ หนังสือเวียนดังกล่าวมิได้บังคับให้ต้องจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบประกอบการเสนอร่างกฎหมายในทุกกรณี หากแต่เปิดช่องให้หน่วยงานพิจารณาวินิจฉัยจากลักษณะเนื้อหาของร่างกฎหมายที่จะจัดทำขึ้นนั้นเองว่าสมควรแก่การทำการศึกษาผลกระทบหรือไม่ในการดังกล่าวให้พิจารณาว่าการยกร่างกฎหมายนั้นจะส่งผลกระทบอย่างชัดแจ้งต่อสถานะของบุคคลหรือของนิติบุคคลผู้อยู่ใต้บังคับหรือไม่ และปรากฏว่ามีทางเลือกอื่นที่ชัดเจนนอกเหนือจากการออกกฎหมายอยู่หรือไม่[๔]  

อย่างไรก็ตาม มิได้ปรากฏเกณฑ์ที่แน่ชัดว่าผู้อยู่ใต้บังคับของกฎหมายที่จะได้รับผลกระทบต้องมีจำนวนเท่าใด จึงจะถือว่าสมควรต่อการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบ - ร่างกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบต่อบุคคลจำนวนตั้งแต่หนึ่งล้านคนขึ้นไป แม้ว่าผลกระทบนั้นจะเล็กน้อย (เพียงก่อให้เกิดความไม่แน่นอนต่อการใช้สิทธิเสรีภาพบางอย่าง) ย่อมถือได้ว่ามีผลกระทบที่ชัดแจ้ง ซึ่งหน่วยงานของรัฐสมควรจะต้องทำการศึกษาผลกระทบ ในทางกลับกัน ร่างกฎหมายที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมากซึ่งสิทธิและหน้าที่ที่บุคคลเคยได้รับการรับรองตามกฎหมายแต่เกี่ยวข้องกับบุคคลเพียงบางกลุ่มหรือบางสาขาอาชีพซึ่งมีจำนวนจำกัด ก็ถือได้ว่ามีผลกระทบที่ชัดแจ้งที่หน่วยงานควรจะต้องทำการศึกษาผลกระทบเช่นกัน - นอกจากนี้ การพิจารณาความจำเป็นของการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบยังขึ้นอยู่กับความสำคัญของผลกระทบของร่างกฎหมายที่จะมีขึ้นต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมหรือสภาพการเงินการคลังของประเทศด้วย

ในเวลาต่อมา ประเทศฝรั่งเศสได้ให้ความสำคัญแก่การศึกษาผลกระทบก่อนการยกร่างกฎหมายมากขึ้น และเปลี่ยนสถานะของมาตรการดังกล่าวจากแนวทางในการปฏิบัติงานที่ฝ่ายบริหารจะเลือกดำเนินการหรือไม่ก็ได้ เป็นบทบังคับภายใต้รัฐธรรมนูญซึ่งผูกพันฝ่ายบริหารให้ต้องปฏิบัติ[๕] การละเลยไม่ดำเนินการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบของร่างกฎหมายจะส่งผลต่อความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการจัดทำร่างรัฐบัญญัติของรัฐบาล

๒. การศึกษาผลกระทบของร่างรัฐบัญญัติที่เสนอโดยฝ่ายบริหาร

รัฐบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าด้วยการวางระบบสถาบันแห่งสาธารณรัฐที่ ๕ ให้มีความทันสมัย ลงวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๐๘[๖]ได้รับรองหลักการเรื่องการพัฒนาคุณภาพของการตรากฎหมายด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา ๓๙ ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสว่าด้วยอำนาจในการเสนอรัฐบัญญัติของฝ่ายบริหาร โดยกำหนดหลักเกณฑ์เรื่องการประเมินร่างกฎหมายของฝ่ายบริหาร(l’évaluation des projets de loi) ไว้ในวรรค ๓ และวรรค ๔ ของมาตราดังกล่าว ความว่าการเสนอร่างรัฐบัญญัติของฝ่ายบริหารจะต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (loiorganique)  ในการนี้ ห้ามมิให้นำร่างรัฐบัญญัติเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาหากที่ประชุมของประธานสภาทั้งสองมีมติว่าร่างรัฐบัญญัติที่ฝ่ายบริหารเสนอมิได้มีการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวทั้งนี้ หากประธานสภาทั้งสองมีความเห็นไม่ตรงกับความเห็นของรัฐบาลในประเด็นนี้ ประธานรัฐสภาหรือนายกรัฐมนตรีมีอำนาจเสนอเรื่องดังกล่าวให้ตุลาการรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้[๗]

ในเวลาต่อมา รัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๒๐๐๙-๔๐๓ ลงวันที่ ๑๕ เมษายน ค.ศ. ๒๐๐๙ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องการเสนอร่างรัฐบัญญัติของฝ่ายบริหารตามความในมาตรา ๓๙ วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญ โดยมาตรา ๘ วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ร่างรัฐบัญญัติที่เสนอโดยรัฐบาลจะต้องประกอบด้วยรายงานการศึกษาผลกระทบ ซึ่งหน่วยงานของรัฐจะต้องยื่นรายงานดังกล่าวและเอกสารที่เกี่ยวข้องพร้อมด้วยร่างรัฐบัญญัติต่อสภาแห่งรัฐและเสนอต่อสำนักเลขาธิการรัฐสภาในเวลาที่เสนอร่างรัฐบัญญัตินั้นต่อรัฐสภา”[๘]

๒.๑ขอบเขตของการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบ

ภายใต้บทบัญญัติมาตรา ๓๙ วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบเป็นเงื่อนไขแห่งความสมบูรณ์ของการเสนอร่างรัฐบัญญัติของฝ่ายบริหารต่อรัฐสภาบทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับกับการจัดทำร่างรัฐบัญญัติเป็นการทั่วไปซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การจัดทำร่างรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (projet de loiorganique) ร่างรัฐบัญญัติ (projet de loi) ร่างรัฐบัญญัติกำหนดแผนดำเนินการ (projet de loi de programmation)ไปจนถึงร่างรัฐบัญญัติที่ให้อำนาจรัฐบาลในการให้สัตยาบัณหรือให้ความยินยอมในสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ (projet de loitandantàautoriser la ratification oul’approbationd’un traitéou accord international)[๙]

อย่างไรก็ตาม รัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับที่ ๒๐๐๙-๒๐๓ ได้จำกัดขอบเขตของหลักเกณฑ์ดังกล่าวไว้ โดยยกเว้นการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบสำหรับการจัดทำร่างรัฐบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (projet de loiconstitutionnelle) ร่างรัฐบัญญัติที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการวางแผนทางการคลัง (projet de loide programmation des finances publiques)[๑๐]และร่างรัฐบัญญัติขยายระยะเวลาในการกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน (projet de loiprorogeant les états de crise) นอกจากนี้ ยังไม่นำมาตรา ๓๙ วรรคสี่ มาใช้กับกรณีของร่างรัฐบัญญัติที่สมาชิกรัฐสภาเป็นผู้เสนอหรือกับกรณีของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐบัญญัติ (ไม่ว่าฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติจะเป็นผู้เสนอ) อีกทั้งไม่ใช้กับกรณีการยกร่างรัฐบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญและการยกร่างรัฐกำหนดด้วย[๑๑]

สำหรับกรณีของร่างกฎหมายลำดับรองนั้นแม้จะไม่อยู่ภายใต้บังคับของรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญข้างต้น แต่มีหนังสือเวียนของนายกรัฐมนตรี[๑๒]กำหนดให้จะต้องทำการประเมินล่วงหน้า ภายใต้รูปแบบที่กำหนดขึ้นเป็นพิเศษในทำนองเดียวกัน ประมวลกฎหมายท้องถิ่นก็บัญญัติให้มีการจัดทำเอกสารการประเมินผลกระทบประกอบในการเสนอร่างข้อบัญญัติท้องถิ่นบางประเภทด้วย[๑๓]

๒.๒ ลักษณะของรายงานการศึกษาผลกระทบ

รายงานการศึกษาผลกระทบเป็นมาตรการที่กฎหมายกำหนดขึ้นเพื่อให้มีการนำเสนอข้อมูลที่ชัดเจนให้กับรัฐบาลและรัฐสภาสำหรับประกอบการตัดสินใจก่อนการออกกฎหมาย แต่มิใช่การรวบรวมเหตุผลหรือความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเป็นการล่วงหน้าเพื่อที่จะใช้ยืนยันข้อเสนอว่าสมควรมีการออกกฎหมายขึ้นใหม่สำหรับการปฏิรูปในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อันจะเป็นการแทนที่การใช้ดุลพินิจในทางการเมืองของฝ่ายบริหาร 

ตามมาตรา ๘ วรรคสองของรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ[๑๔] รายงานการศึกษาผลกระทบมีสาระสำคัญประกอบด้วย การระบุวัตถุประสงค์ของร่างรัฐบัญญัติ (les objectifspoursuivis) การแสดงทางเลือกอื่นที่ทำให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้ (options possiblesนอกเหนือไปจากการออกกฎหมายและการแสดงเหตุผล (les motifs) ของความจำเป็นในการเลือกใช้วิธีการออกกฎหมาย

ในทางปฏิบัติ รายงานการศึกษาผลกระทบจะแสดงให้เห็นถึงลักษณะของปัญหาที่เกิดขึ้นที่หน่วยงานของรัฐประสงค์จะแก้ไข ทางเลือกต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาให้ตรงตามวัตถุประสงค์ ผลดีและผลเสียของแต่ละทางเลือก และการประเมินถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลที่เกิดขึ้นต่อบุคคลกลุ่มต่างๆที่เกี่ยวข้องและต่อภาคราชการเองกล่าวอีกนัยหนึ่งรายงานการศึกษาผลกระทบประกอบร่างกฎหมายเป็นเอกสารที่ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายและความสมเหตุสมผลของกฎหมายที่จะตราขึ้นโดยแสดงให้เห็นถึงความสมดุลย์ระหว่างเป้าหมายในการรักษาประโยชน์สาธารณะอันเนื่องมาจากการจัดให้มีกฎหมายและการคำนึงถึงประโยชน์ของปัจเจกชนที่มีอยู่ก่อนการดำเนินการดังกล่าว

ในส่วนของการดำเนินการศึกษาผลกระทบ ขั้นตอนแรกที่ผู้จัดทำรายงานควรจะต้องดำเนินการ คือ การพิจารณาถึงความเหมาะสมของการใช้วิธีการออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเริ่มต้นจากการพิจารณาว่าการออกฎหมายจะสามารถก่อให้เกิดผลตามที่หน่วยงานมุ่งประสงค์ไว้หรือไม่  อย่างไรก็ดี ในหลายกรณีวิธีแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมมิได้อยู่การตรากฎหมายขึ้นใหม่ แต่อาจอยู่ที่การบังคับใช้บทบัญญัติของกฎหมายที่มีอยู่แล้วบางฉบับร่วมกัน หรือการดำเนินการโดยวิธีอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมาย เช่น การทำความตกลงร่วมมือ การยอมรับข้อปฏิบัติที่ดีร่วมกัน การกำหนดแนวทางดำเนินการร่วมกัน การจัดทำคำอธิบายในการรับมือเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งขึ้น เป็นต้น ดังนั้น ในขั้นเริ่มต้นของการวิเคราะห์ผลกระทบนี้ จะต้องคำนึงถึงวิธีการทั้งหมดที่เป็นไปได้ที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา และประเมินผลประโยชน์และผลเสียของการใช้วิธีการเหล่านั้นจากนั้นจึงเป็นการพิจารณาถึงเหตุผลที่สมควรต้องใช้วิธีการออกกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวซึ่งรวมถึงการพิจารณาว่ามีความจำเป็นต้องออกกฎหมายในรูปแบบของรัฐบัญญัติหรือไม่และสามารถใช้วิธีการแก้ไขปัญหาที่เคร่งครัดน้อยกว่าการตรารัฐบัญญัติเช่น ใช้วิธีการออกอนุบัญญัติภายใต้กฎหมายที่มีอยู่แล้วหรือใช้มาตรการควบคุมอื่นแทนที่บทบัญญัติบางมาตราของร่างกฎหมายได้หรือไม่

ทั้งนี้ การประเมินผลกระทบก่อนการออกกฎหมายดังกล่าวจะต้องกระทำไปตลอดกระบวนการของการตรากฎหมาย เพื่อทำให้การรายงานการศึกษาผลกระทบประกอบร่างกฎหมายมีความถูกต้องแม่นยำ ในการนี้จะต้องมีการนำข้อมูลความคิดเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาคำนึงถึงด้วย เพื่อพิจารณาเตรียมการแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นภายหลังจากได้มีการบังคับใช้ร่างกฎหมายแล้ว

๒.๓ เนื้อหาและขั้นตอนการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบ

๒.๓.๑ ข้อมูลที่จะต้องแสดงบทบัญญัติมาตรา ๘ วรรคสาม ของรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯกำหนดให้รายงานการศึกษาผลกระทบจะต้องระบุถึงประเด็นดังต่อไปนี้
- สภาพการณ์ปัจจุบันของการบังคับใช้กฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้องกับประเด็นในการตราร่างรัฐบัญญัติ
- วิธีการบังคับใช้บทบัญญัติที่ยกร่างขึ้น รวมถึงข้อเสนอในการยกเลิกรัฐบัญญัติและอนุบัญญัติรวมทั้งมาตรการที่จะใช้เพื่อเปลี่ยนผ่านจากระบบเดิมไปสู่ระบบใหม่
- การประเมินผลที่คาดหมายได้จากบทบัญญัติของร่างกฎหมายทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเงิน สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งต้นทุนและประโยชน์ทางการเงินที่มีต่อหน่วยงานของรัฐแต่ละประเภทและต่อบุคคลและนิติบุคคลที่มีประโยชน์ได้เสีย ซึ่งจะต้องแสดงวิธีการที่ใช้ในการคำนวณไว้ด้วย
- การประเมินผลที่เกี่ยวกับอัตราบุคคลากรของรัฐ ซึ่งอาจคาดหมายได้จากการบังคับใช้บทบัญญัติของกฎหมาย
- การขอคำปรึกษาหรือความเห็นจากสภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความเห็นของรัฐบาลที่เกี่ยวกับความเห็นของสภาที่ปรึกษาดังกล่าว ซึ่งกระทำในขั้นตอนก่อนการนำร่างกฎหมายเสนอต่อสภาแห่งรัฐ 
- รายการกฎหมายลำดับรองที่จำเป็นในการบังคับใช้รัฐบัญญัติ

๒.๓.๒ ขั้นตอนในการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบในการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบ หน่วยงานของรัฐจะยึดถือแนวทางปฏิบัติจากคู่มือการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบ[๑๕] ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (SécrétariatGénéral du Gouvernement) ได้จัดทำขึ้น ซึ่งเสนอแนะให้หน่วยงานของรัฐผู้เสนอร่างกฎหมายจะต้องดำเนินการ โดยจำแนกเป็น ๖ ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ ๑ การวินิจฉัยปัญหาก่อนการตัดสินใจดำเนินการยกร่างกฎหมาย หน่วยงานผู้จัดทำรายงานจะต้องแสดงให้เห็นถึงที่มาและลักษณะของปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งจะต้องเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนที่สามารถอธิบายได้อย่างเป็นรูปธรรม และแสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาดังกล่าว  ในการนี้ จะต้องมีข้อมูลอ้างอิงระบุถึงผลเสียที่เกิดขึ้นจากปัญหาดังกล่าวในเชิงเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ผลเสียต่อการบริหาราชการแผ่นดิน หรือผลเสียในด้านอื่นใดที่สำคัญ และระบุผู้ที่ได้รับผลเสียจากปัญหาดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือภาคเอกชน การวิเคราะห์ผลเสียดังกล่าวจะต้องแสดงออกมาในเชิงคุณภาพ ปริมาณ หรือในทางการเงินหากสามารถคำนวณได้
นอกจากนี้ ผู้จัดทำรายงานจะต้องวิเคราะห์สภาพการณ์ในการบังคับใช้ของกฎหมายในปัจจุบันกฎหมาย เพื่อแสดงว่าในประเด็นเรื่องดังกล่าวกฎหมายภายในประเทศที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาได้ กล่าวโดยย่อ จะต้องมีการแสดงให้เห็นถึงข้อบพร่องของบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ช่องว่างของกฎหมาย ความล้าสมัย ความจำเป็นต้องปรับปรุง หรือข้อเท็จจริงที่ส่งผลให้การบังคับใช้กฎหมายไม่บรรลุผลตามเจตนารมณ์เช่น การบิดเบือนข้อมกฎหมายในการบังคับใช้ของเจ้าหน้าที่การขาดบุคลากรและงบประมาณ หรือสาเหตุอื่น ๆ ในกรณีนี้หากประเด็นที่เป็นปัญหาเป็นเรื่องที่ได้เคยถูกนำขึ้นสู่การพิจารณาของศาลหรือหากกฎหมายที่เป็นต้นเหตุของปัญหาได้ถูกแก้ไขปรับปรุงหลายครั้งก็แสดงให้เห็นได้ว่ามีความบกพร่องของกฎหมาย อันนำไปสู่ความไม่แน่นอนในการบังคับใช้ ซึ่งผู้จัดทำรายงานจะต้องกล่าวถึงไว้ด้วย
ผู้จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบจะต้องพิจารณาว่าปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวข้างต้น หากไม่มีการแก้ไขอาจพัฒนาไปสู่ความยุ่งยากที่ไม่สามารถแก้ไขได้ ในการนี้ จะต้องคาดการณ์ถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาดังกล่าว ตลอดจนความเชื่อมโยงไปถึงการใช้บังคับกฎหมายฉบับอื่น หรือกฎระเบียบต่าง ๆ ด้วย
ขั้นตอนที่ ๒ การกำหนดเป้าหมาย  เป้าหมายในกรณีนี้คือการจัดทำกฎหมายเพื่อตอบโจทย์ของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีการจัดทำกฎหมายขึ้นใหม่ การคาดการณ์ถึงผลลัพธ์ของการมีกฎหมายขึ้นใหม่ กฎหมายฉบับใหม่จะปรับปรุงสภาพการณ์ที่เป็นปัญหาได้อย่างไร สามารถวัดผลของการปรับปรุงในเชิงปริมาณหรือคุณภาพได้มากน้อยเพียงใด และคาดการณ์ว่าจะต้องใช้เวลาในการดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลดังกล่าวมากหรือน้อยเพียงใด มีความเหมาะสมหรือไม่ และมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นหรือไม่
ขั้นตอนที่ ๓ การรวบรวมทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้ นอกเหนือจากการดำเนินการยกร่างกฎหมายใหม่ และเหตุผลของการยกร่างกฎหมายขึ้นใหม่  เพื่อเป็นการยืนยันถึงความจำเป็นและความสำคัญที่ต้องมีการจัดทำกฎหมายขึ้นใหม่ ผู้มีหน้าที่วิเคราะห์ผลกระทบจะต้องแสดงถึงมาตรการอื่น ๆ ที่สามารถใช้แก้ไขปัญหาได้ พร้อมกับแสดงให้เห็นได้ว่ามาตรการเหล่านั้นไม่อาจใช้หรือไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นรวมทั้งให้เหตุผลว่าเหตุใดการออกกฎหมายจึงเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมที่สุด  ในการนี้ ผู้จัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบจะต้องตอบปัญหาเบื้องต้นว่าเพราะเหตุใดมาตรการดังต่อไปนี้ ไม่เพียงพอที่จะใช้แก้ไขปัญหาได้
๑.      การบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้เข้มงวดมากขึ้น หรือการปรับปรุงองค์กรผู้บังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายเดิมนั้นมีประสิทธิภาพมากที่สุด
๒.      การปรับเปลี่ยนวิธีการในการบังคับใช้กฎหมายในชั้นเจ้าหน้าที่ให้มีความง่ายมากขึ้น ลดความยุ่งยากซับซ้อนลง (simplification)
๓.      การเพิ่มการสื่อสารหรือให้ข้อมูลแก่ประชาชนและผู้อยู่ใต้บังคับกฎหมายให้ทั่วถึงและละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น
๔.      การที่รัฐปล่อยให้ผู้ใช้บริการและผู้ดำเนินการเป็นผู้ขับเคลื่อนเอง โดยรัฐลดบทบาทเป็นเพียงผู้ให้คำแนะนำ
๕.      การสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้และผู้ให้บริการ
๖.      การใช้วิธีให้คนกลางเข้ามาไกล่เกลี่ยปัญหาข้อพิพาท
๗.      การสนับสนุนให้ภาคเอกชนหรือองค์กรผู้เชี่ยวชาญมารับช่วงต่อจากรัฐในการพิจารณาออกใบรับรองมาตรฐานหรือคุณสมบัติ
๘.      การจัดให้มีประมวลจริยธรรมสำหรับวิชาชีพ (code de bonne conduite) หรือข้อตกลงความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องในภาคเอกชน (convention) เพื่อให้เกิดการสอดส่องควบคุมกันเอง
๙.      การให้การอุดหนุนทางการเงินหรือให้ประโยชน์โดยวิธีการทางภาษี
๑๐.  การกำหนดให้มีองค์กรอิสระ (autorité administrative independanté) เป็นผู้กำกับตรวจสอบ หรือการใช้วิธีควบคุมตรวจสอบโดยตนเอง (auto-régulation)
๑๑.  การนำมาตรการสองหรือหลายมาตรการข้างต้นมาใช้ร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา
ในการพิจารณาหาทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้ ผู้จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบอาจพึ่งวิธีการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายต่างประเทศ เพื่อหาว่าในกรณีเกิดสถานการณ์ที่เป็นปัญหาใกล้เคียงกันประเทศอื่นๆ ใช้วิธีการใดเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในการนี้ จะต้องเลือกประเทศที่มีสภาพการณ์ทางกฎหมายคล้ายคลึงกัน มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน จากนั้นจึงแสดงการประเมินผลให้เห็นถึงความมีประสิทธิภาพ ต้นทุนที่อาจเกิดขึ้น และข้อจำกัดในการนำทางเลือกดังกล่าวมาใช้ อีกทั้งคาดการณ์ว่าจะนำวิธีการใดมาใช้เพื่อบรรเทาผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่อาจจะเกิดขึ้นด้วย
ในลำดับต่อมาผู้จัดทำรายงานจะต้องวิเคราะห์เปรียบเทียบผลประโยชน์ที่จะได้รับจากทางเลือกต่าง ๆ กับการใช้วิธีการออกกฎหมายขึ้นใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาโดยพิจารณาว่าการใช้บังคับทางเลือกดังกล่าวจะตอบสนองต่อเป้าหมายด้านการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ของทางราชการหรือไม่ สามารถเอื้ออำนวยให้ผู้เกี่ยวข้อง (acteuréconomique) ปรับตัวเข้ากับกฎเกณฑ์ที่จะบังคับใช้ได้เพียงใดและมีการพิจารณาว่าทางเลือกดังกล่าวจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อระบบกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่เพียงใด
ขั้นตอนที่ ๔ การตรวจสอบผลกระทบของบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จัดทำขึ้นการวิเคราะห์เพื่อหาผลกระทบอันเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นจากการออกกฎหมาย จะต้องรวบรวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยตรงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยอ้อม ผลกระทบในทางบวกและทางลบ ผลกระทบที่คำนวณเป็นเงินได้และที่ไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้ ซึ่งเป้าหมายของการตรวจสอบผลกระทบดังกล่าวมิใช่เพียงเพื่อแสดงผลประโยชน์สูงสุดที่จะได้รับจากบทบัญญัติแห่งกฎหมายเท่านั้นแต่เพื่อพิจารณาถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายหรือไม่ต้องการให้เกิดขึ้นด้วย การวิเคราะห์ผลกระทบดังกล่าวจะต้องพิจารณาทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ทั้งนี้ วิธีการประเมินค่าของผลกระทบที่ชัดเจนจะแสดงออกผ่านทางการคำนวณเป็นจำนวนเงิน อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าผลกระทบที่ไม่อาจประเมินค่าเป็นเงินได้จะถูกละเลยไปในทางตรงกันข้ามผลกระทบดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เลือกนำมาตรการของร่างกฎหมายดังกล่าวมาใช้ในการนี้ หากเป็นเรื่องที่เป็นรูปธรรมก็สามารถแสดงการประเมินในเชิงปริมาณโดยบรรยายถึงผลในทางกายภาพหรือทางวัตถุ (physic and material) ที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงโดยกฎหมายดังกล่าว  ในท้ายที่สุด ผู้ทำการวิเคราะห์จะต้องแสดงให้เห็นว่าวิธีการออกกฎหมายเป็นวิธีการที่นำไปสู่เป้าหมายที่ประสงค์ได้อย่างเหมาะสมที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่น ๆ
ขั้นตอนที่ ๕ การขอคำปรึกษาและความคิดเห็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขไว้สำหรับกรณีการเสนอร่างกฎหมายที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดให้ต้องขอคำปรึกษาหรือความเห็นจากองค์กรหนึ่งองค์กรใดเป้นการเฉพาะก่อน[๑๖] หากมิได้ดำเนินการดังกล่าว จะไม่สามารถนำร่างกฎหมายนั้นเข้าสู่การพิจารณาของสภาแห่งรัฐได้  นอกเหนือจากนี้ หากเป็นการที่หน่วยงานผู้จัดทำร่างกฎหมายขอคำปรึกษาจากองค์กรที่ปรึกษาเองแล้ว ไม่เข้าข่ายที่จะต้องนำผลของการปรึกษาดังกล่าวมาแสดงไว้ในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบ
ขั้นตอนที่ ๖รายการกฎหมายลูกบทที่จำเป็นต่อการบังคับใช้กฎหมายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ รายงานการศึกษาผลกระทบจะต้องปรากฏรายการของรัฐกฤษฎีกาที่หน่วยงานคาดการณ์ว่ามีความจำเป็นต่อการบังคับใช้กฎหมายในทางปฏิบัติ ผู้จัดทำรายงานจะทำตาราง ๓ ช่องระบุเลขมาตราของร่างกฎหมาย หลักการของร่างรัฐกฤษฎีกาที่จะต้องตราขึ้น และหน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบ[๑๗]

ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฯ ผู้จัดทำรายงานจะต้องระบุ เวลาที่คาดการณ์ว่ากฎหมายจะมีผลใช้บังคับไว้ด้วย รวมทั้งจะต้องแสดงให้เห็นถึงมาตรการที่กำหนดเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านกฎเกณฑ์ตามระบบเดิมไปสู่กฎเกณฑ์ตามระบบใหม่  นอกจากนี้ จะต้องแสดงให้ทราบว่าจะต้องมีการยกเลิกหรือปรับปรุงแก้ไขฉบับอื่นเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินการตามกฎหมายที่จะเสนอให้มีขึ้นหรือไม่ และแสดงข้อมูลให้ทราบถึงกลไก วิธีการ ขั้นตอนในกฎหมายนั้นเอง และกฎเกณฑ์ที่จะต้องจัดทำขึ้นในภายหลังเพื่อการบังคับใช้กฎหมายที่เสนอขึ้นดังกล่าวเพื่อให้ผู้ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายได้ทราบแนวทางดำเนินการ  สุดท้าย ผู้จัดทำรายงานจะต้องแสดงการเตรียมการในการทำให้ประชาชนเข้าใจกฎหมายได้โดยง่าย การจัดทำฐานข้อมูลหรือการประมวลมาตรการที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว

๒.๓.๓ การประเมินผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และผลกระทบในเชิงกฎหมาย

การประเมินผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ  ประกอบไปด้วยการวิเคราะห์ถึงผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการวิเคราะห์ผลกระทบด้านการเงินการคลัง กล่าวคือ ผู้จัดทำรายงานจะต้องแสดงให้เห็นถึงผลกระทบของมาตรการทางกฎหมายที่จะเสนอมีต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม (macro-economic) อย่างไร เช่น เพิ่มสมรรถภาพในการแข่งขัน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และจะมีต่อหน่วยธุรกิจต่าง ๆ (micro-economic) อย่างไร ตรวจสอบถึงผลกระทบต่อการขึ้นลงของราคาสินค้า การเพิ่มค่าใช้จ่ายของประชาชนในการติดต่อกับทางราชการ (ค่าธรรมเนียม)  รวมทั้ง วิเคราะห์ว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของบุคคลหรือนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องได้หรือไม่ ในการนี้ ผู้จัดทำรายงานอาจใช้วิธีการวิเคราะห์จากนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง รายงานการประเมินที่จัดทำขึ้นก่อนหน้า ข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญ หรือจากผลของการนำมาตรการเดียวกันไปใช้ในต่างประเทศ

สำหรับการวิเคราะห์ผลกระทบด้านการเงิน เป็นการประเมินค่าใช้จ่ายหรือผลกำไร-ขาดทุนที่จะเกิดขึ้นในช่วงหลายรอบปีโดยมีการแสดงผลกระทบที่จะมีขึ้นต่องบประมาณของภาครัฐประจำปีงบประมาณปัจจุบัน และปีงบประมาณถัดไปอีก ๔ ปี ผลกระทบต่องบประมาณของหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่องบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ในการนี้มีหนังสือเวียนของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๖ กรกฎาคม ค.ศ. ๒๐๑๐ กำหนดหลักเกณฑ์ในการเสนอร่างกฎขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นว่า จะต้องมีการตรวจสอบคุณภาพของการประเมินต้นทุนและผลประโยชน์ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นจะได้รับ)ในการนี้ รัฐบาลอาจนำรายงานผลกระทบดังกล่าวเสนอขอความเห็นต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาในด้านการประเมินกฎหมาย (Commission consultative d’évaluation) อีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ ผู้จัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบจะต้องพิจารณาว่ามีการสร้างแบบฟอร์มคำขอหรือใบอนุญาตของทางราชการขึ้นใหม่ภายใต้กฎหมายที่จะตราขึ้นหรือไม่ ในการนี้ จะต้องสามารถแสดงเหตุผลอันสมควรของการสร้างแบบฟอร์มดังกล่าวรวมทั้งกำหนดเวลาที่คาดหมายว่าจะเริ่มนำไปใช้ การประเมินดังกล่าวจะต้องรวบรวมข้อพิจารณาถึงอุปสรรคที่มีต่อการบริหารราชการที่จะเกิดขึ้นได้ รวมไปถึงการที่จะต้องฝึกอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ การจัดทำเอกสารรวมถึงการดำเนินการเพื่อเผยแพร่ข้อมูลด้วย

การประเมินผลกระทบในเชิงสังคมผู้จัดทำรายงานจะต้องวิเคราะห์ว่าการออกกฎหมายจะส่งผลกระทบต่อประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะหรือไม่ เช่น การให้การสนับสนุนแก่กลุ่มบุคคลที่ได้รับโอกาสน้อยกว่าในสังคม เช่น ผู้สูงอายุ ผู้พิการ เป็นต้นนอกจากนี้ จะต้องแสดงให้เห็นว่ากฎหมายที่จะตราขึ้นเคารพต่อหลักความเสมอภาคเท่าเทียมของบุคคลที่จะได้รับการบริการจากรัฐ ในการนี้ อาจจะเป็นกฎหมายที่เสนอให้มีขึ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำระหว่างบุคคลกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม หรือรับรองให้เกิดความเท่าเทียมกันของประชาชนในการได้รับการจัดสรรจากภาครัฐทั้งนี้ จะต้องนำหนังสือเวียนของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่๒ พฤษภาคม ค.ศ. ๒๐๑๖[๑๘]ซึ่งกำหนดแนวทางให้หน่วยงานผู้ที่จะเสนอร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติพิจารณาวิเคราะห์ถึงผลกระทบของร่างบทบัญญัติในประเด็นเรื่องความเสมอภาคระหว่างเยาวชน (l’égalité entre tous les jeunes) ความยุติธรรมระหว่างประชากรในแต่ละช่วงอายุ (la justice intergénérationnelle) การไม่เลือกปฏิบัติในการให้การรับรองสิทธิแก่บุคคลและการไม่เลือกปฏิบัติในการให้บริการสาธารณะมาประกอบการพิจารณาด้วย

นอกจากนี้ ผลกระทบในเชิงสังคมยังหมายความรวมถึงผลกระทบต่ออัตราการจ้างงานในภาครัฐและภาคเอกชน โดยผู้จัดทำร่างรายงานจะต้องแสดงว่ากลุ่มอาชีพใดจะได้รับผลกระทบจากกฎหมายที่เสนอ ประมาณจำนวนของผู้ที่อาจได้รับผลกระทบ และวิเคราะห์ผลกระทบในระยะสั้นและระยะกลางที่อาจเกิดขึ้นต่อตลาดการจ้างงาน สำหรับกรณีที่อาจมีผลกระทบต่ออัตราการจ้างงานในภาครัฐก็จะต้องมีการระบุจำนวนอัตราที่จะเพิ่มขึ้นในภาคราชการอันเนื่องมาจากการปรับปรุงระบบโดยกฎหมายดังกล่าวไว้ให้ชัดเจนด้วย

การประเมินผลกระทบในเชิงสิ่งแวดล้อม ในการประเมินผลกระทบของกฎหมายที่จะจัดทำขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม ผู้จัดทำรายงานจะต้องตอบคำถามในเบื้องต้น อย่างน้อยใน ๓ ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ ๑ ในกฎหมายฉบับดังกล่าวมีมาตรการที่จะส่งผลกระทบต่อการใช้ที่ดินหรือไม่ เพียงไร
ประเด็นที่ ๒ ในกฎหมายฉบับดังกล่าวมีมาตรการที่จะส่งผลให้เกิดการย้ายที่อยู่อาศัยของประชาชน การโยกย้ายเปลี่ยนแปลงทำเลที่ตั้งของสถานที่ทำการหรือสินค้า หรือไม่
ประเด็นที่ ๓ ในกฎหมายฉบับดังกล่าวมีมาตรการที่จะส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูก การผลิต การจัดตั้งโรงงาน หรือการประกอบการใด หรือไม่
หากปรากฏว่ามีกรณีใดกรณีหนึ่งดังกล่าวข้างต้น จะต้องดำเนินการประเมินผลกระทบอย่างละเอียด ตามกระบวนการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

การวิเคราะห์ผลกระทบในเชิงกฎหมายนอกเหนือจากการประเมินผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมแล้ว หน่วยงานผู้เสนอร่างกฎหมายจะต้องดำเนินการวิเคราะห์ผลกระทบในเชิงกฎหมายของบทบัญญัติที่เสนอขึ้นด้วย ซึ่งได้แก่การวิเคราะห์ว่ามีการเคารพต่อลำดับศักดิ์ของกฎหมายหรือไม่การวิเคราะห์เนื้อหาของบทบัญญัตินั้นเองว่ามีความสัมพันธ์กับกฎหมายที่ใช้บังคับในประเด็นที่ใกล้เคียงกันอย่างไร มีผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบกฎหมาย (la sécuritéjuridique) หรือไม่ เพียงใดรวมทั้งพิจารณาว่าบทบัญญัตินั้นมีความชัดเจนถูกต้อง และทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงหรือใช้กฎหมายนั้นโดยง่ายหรือไม่  นอกเหนือจากนี้ ยังต้องวิเคราะห์ถึงความสอดคล้องหรือความขัดแย้งกับกฎหมายระหว่างประเทศด้วย

๒.๔กระบวนการและองค์ที่เกี่ยวข้องในการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบ

                         หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในหนังสือเวียนของนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ ๑๕ เมษายน ค.ศ. ๒๐๐๙ ผู้รับผิดชอบในการจัดทำรายงาน (รัฐมนตรีผู้ดำริการเสนอร่างกฎหมาย) จะต้องแจ้งข้อมูลต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นความคิดที่จะจัดทำหรือปรับปรุงกฎหมาย เพื่อตัดการดำเนินการซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นในเรื่องเดียวกันซึ่งในขั้นตอนนี้ จะมีการจัดประชุมร่วมระหว่างสำนักงานปลัดกระทรวงที่เสนอเรื่องสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยหากที่ประชุมมีความเห็นพ้องต้องกันในหลักการว่าสมควรต้องมีการปรับปรุงปลี่ยนแปลง[๑๙]รัฐมนตรีเจ้าของเรื่องจะดำเนินการมอบหมายหน่วยงานผู้รับผิดชอบจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบต่อไป

เมื่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบได้จัดทำร่างรายงานการศึกษาผลกระทบเสร็จแล้ว จะต้องเสนอร่างกฎหมายพร้อมกับบันทึกเหตุผลของร่างกฎหมาย (Exposé des motifs) รายงานการศึกษาผลกระทบ (Étuded’impacte)รายชื่อกระทรวงที่เกี่ยวข้องพร้อมรายชื่อของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ และรายงานข้อมูลการขอคำปรึกษาและความเห็น ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (SécrétariatGénéral du Gouvernement) และสำนักนายกรัฐมนตรี (Cabinet du Premier Ministre) เพื่อตรวจสอบความครบถ้วนด้านเนื้อหาของรายงานดังกล่าว หากทั้งสองหน่วยงานให้ความเห็นชอบจึงนำเสนอร่างกฎหมายพร้อมรายงานดังกล่าวต่อสภาแห่งรัฐ (Conseil d’État) เพื่อตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งโดยจะต้องเสนอต่อสภาแห่งรัฐภายในเวลา ๔ สัปดาห์ก่อนที่จะนำร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ในการนี้ หากสภาแห่งรัฐได้พิจารณาเอกสารดังกล่าวแล้วมีความเห็นว่าต้องปรับปรุงแก้ไขรายงานการศึกษาผลกระทบ รัฐมนตรีผู้เสนอร่างกฎหมายจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับความเห็นของสภาแห่งรัฐก่อนที่จะนำร่างกฎหมายพร้อมรายงานการศึกษาผลกระทบดังกล่าวเสนอต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดประชุมร่วมกับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งเพื่อรับรองร่างกฎหมายพร้อมรายงานการศึกษาผลกระทบดังกล่าวและให้ความเห็นชอบในการนำเรื่องขึ้นสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี[๒๐] และภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นแล้ว สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะดำเนินการเสนอเรื่องไปยังรัฐสภาต่อไปและในขั้นตอนดังกล่าวสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานระหว่างสภากับหน่วยงานผู้รับผิดชอบในกรณีที่สภามีข้อสงสัยเกี่ยวกับรายละเอียดของข้อมูลที่ปรากฏในรายงาน

          ๓. บทบาทของสภาแห่งรัฐในการตรวจสอบการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบ
                 
                      ในการปฏิบัติหน้าที่ด้านการให้คำปรึกษา สภาแห่งรัฐมีบทบาทเป็นผู้ตรวจสอบการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบของร่างกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ตามหลักเกณฑ์ที่มาตรา ๘ แห่งรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ กำหนดไว้โดยสภาแห่งรัฐได้วางบรรทัดฐานไว้ว่า การดำเนินการตรวจสอบดังกล่าวมีความมุ่งหมายเพื่อให้รายงานฯ ประกอบด้วยข้อมูลที่มีเหตุผลและชัดเจน เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจของรัฐบาลได้อย่างแท้จริง

                   ๓.๑ การตรวจสอบความความชัดเจนและครบถ้วนของรายงานการศึกษาผลกระทบ
สภาแห่งรัฐได้ยึดถือหลักที่ว่ารายงานการศึกษาผลกระทบเป็นการที่ฝ่ายบริหารเสนอข้อมูลที่เชื่อถือได้ให้แก่ฝ่ายนิติบัญญัติดังนั้นจึงต้องมีเนื้อหาที่มีความชัดเจนสอดคล้องกับความเป็นจริงที่พิสูจน์ได้ ในการนี้การตรวจสอบรายงานดังกล่าวของสภาแห่งรัฐอยู่ภายใต้กรอบ ๓ ประการ คือ ความซื่อสัตย์ (loyauté) ความชัดเจน (sincerité) และความจริงจัง(sérieux)[๒๑]

ในทางปฏิบัติ สภาแห่งรัฐปฏิเสธรายงานการศึกษาผลกระทบที่แสดงเพียงข้อมูลในภาพรวมของร่างกฎหมายทั้งฉบับโดยไม่มีการศึกษาวิเคราะห์อย่างละเอียด ทั้งนี้ รายงานการศึกษาผลกระทบที่จะถือได้ว่ามีความครบถ้วนและชัดเจนจะต้องแสดงการศึกษาผลกระทบของร่างกฎหมายในบทบัญญัติทุกมาตราสภาแห่งรัฐ จะพิจารณาว่าในแต่ละมาตราได้มีการแสดงข้อมูลให้เห็นถึงวัตถุประสงค์ ทางเลือก และเหตุผลโดยละเอียดชัดเจน (มิใช่เพียงการอธิบายหลักการของบทบัญญัติเท่านั้น) แล้วหรือไม่และได้มีการดำเนินการขอความเห็นจากองค์กรที่มีหน้าที่ต้องให้ความเห็นในเรื่องที่มีกฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งจะต้องขอความเห็นทั้งในขั้นตอนก่อนการยกร่างกฎหมายและในขั้นตอนระหว่างการยกร่างกฎหมายด้วย อีกทั้ง จะต้องมีการแสดงถึงการพิจารณาความสอดคล้องของบทบัญญัติเหล่านั้นกับกฎหมายฉบับอื่นๆ ไว้ด้วย ซึ่งหากเป็นกรณีร่างกฎหมายเพื่อให้ความเห็นชอบในการให้สัตยาบัญสนธิสัญญาตามกฎหมายระหว่างประเทศ จะต้องมีการวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่บทบัญญัติแห่งร่างกฎหมายดังกล่าวมีต่อระบบกฎหมายภายในประเทศไว้ด้วย ในลำดับสุดท้าย สภาแห่งรัฐจะตรวจสอบว่าได้มีการจัดทำรายการกฎหมายลูกบทที่จำเป็นต่อการบังคับใช้กฎหมายไว้ด้วยหรือไม่

สำหรับในกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้แก้ไขร่างกฎหมาย หน่วยงานผู้เสนอร่างกฎหมายจะต้องแก้ไขรายงานการศึกษาผลกระทบและเสนอสภาแห่งรัฐอีกครั้งหนึ่งก่อนที่จะนำเสนอต่อรัฐสภา  ในการนี้ สภาแห่งรัฐจะทำการพิจารณาว่าได้มีการแก้ไขปรับปรุงรายงานการศึกษาผลกระทบให้มีเนื้อหาสอดรับกับร่างกฎหมายฉบับสมบูรณ์ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐบาลแล้วหรือไม่

                   ๓.๒ ผลการตรวจพิจารณาของสภาแห่งรัฐ

ในกรณีที่สภาแห่งรัฐพบว่าหน่วยงานของรัฐบาลจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบโดยไม่เคารพหลักเกณฑ์ตามที่รัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ สภาแห่งรัฐจะดำเนินการโดยแบ่งเป็น ๓ กรณี ดังนี้
- กรณีที่มีการแสดงข้อมูลไม่เพียงพอในประเด็นที่มิใช่ประเด็นหลักของร่างกฎมาย สภาแห่งรัฐจะมีบันทึกผลการพิจารณาไปยังรัฐบาล พร้อมให้ความเห็นว่าควรมีการแก้ไขรายงานดังกล่าวก่อนการนำเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภา
- กรณีที่มีการแสดงข้อมูลไม่เพียงพอในประเด็นซึ่งเป็นประเด็นหลักของร่างกฎหมาย สภาแห่งรัฐจะระงับการตรวจสอบเนื้อหาของรายงานดังกล่าว พร้อมกับยับยั้งการให้ความเห็นจนกว่าจะได้มีการแก้ไขรายงานให้ถูกต้องครบถ้วน
- กรณีที่ขาดเนื้อหาที่จำเป็นอย่างมาก สภาแห่งรัฐสามารถปฏิเสธไม่รับพิจารณาร่างกฎหมายเนื่องจากสาเหตุดังกล่าวได้

สำหรับในกรณีที่สภาแห่งรัฐพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบแล้วเห็นว่ามีความถูกต้องครบถ้วน ก็จะพิจารณาลงมติเห็นชอบเป็นการลับให้นำร่างกฎหมายขึ้นสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้ ทั้งนี้ ความเห็นของสภาแห่งรัฐเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้เป็นความเห็นที่เสนอต่อรัฐบาลซึ่งไม่อาจเผยแพร่สู่สาธารณะได้เนื่องจากเข้าข้อยกเว้นที่กฎหมายว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสาธารณชนกับราชการ[๒๒]กำหนดไว้อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจให้มีการนำความเห็นของสภาแห่งรัฐออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ ซึ่งตั้งแต่วันที่ ๑๕ มีนาคม ค.ศ. ๒๐๑๕ นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งให้เผยแพร่ความเห็นของสภาแห่งรัฐที่เกี่ยวกับการพิจารณาร่างกฎหมายไว้ในเว็ปไซต์ข้อมูลนิติบัญญัติของประเทศฝรั่งเศส (légifrance) และให้นำความเห็นดังกล่าวแนบท้ายร่างกฎหมายที่เสนอต่อรัฐสภาด้วย

๔. การพิจารณารายงานการศึกษาผลกระทบโดยคณะรัฐมนตรี

          คณะรัฐมนตรีมีอิสระในการพิจารณาร่างรัฐบัญญัติโดยไม่ต้องผูกพันต่อความเห็นของสภาแห่งรัฐ  ในการดังกล่าวคณะรัฐมนตรีอาจเห็นชอบกับร่างบทบัญญัติที่หน่วยงานผู้จัดทำร่างกฎหมายเสนอขึ้นในตอนแรกทั้งหมดหรือบางส่วนก็ได้ และไม่มีข้อห้ามที่รัฐบัญญัติซึ่งนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีจะมีความแตกต่างจากร่างที่หน่วยงานได้นำเสนอต่อสภาแห่งรัฐหรือแตกต่างจากร่างที่สภาแห่งรัฐได้ให้ความเห็นชอบแล้วอย่างไรก็ตาม จะต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ภายใต้รัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฯ ที่กำหนดให้ทุกประเด็นที่ปรากฏในร่างรัฐบัญญัติที่รัฐบาลนำเสนอต่อรัฐสภาจะต้องผ่านการพิจารณาของสภาแห่งรัฐแล้ว ในการนี้ ตุลาการรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าบทบัญญัติของร่างกฎหมายในประเด็นที่รัฐบาลได้เพิ่มเติมขึ้นใหม่โดยมิได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากสภาแห่งรัฐ เป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อมาตรา ๓๙ ของรัฐธรรมนูญ[๒๓]

บทสรุป

การที่ประเทศฝรั่งเศสให้ความสำคัญแก่การพัฒนาคุณภาพของกฎหมายโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐเพื่อรับรองกลไกในการศึกษาผลกระทบของร่างรัฐบัญญัติที่ฝ่ายบริหารเสนอ ส่งผลให้เกิดการประกันความมั่นคงให้แก่ระบบกฎหมายและสร้างหลักประกันคุณภาพของของกระบวนการยกร่างกฎหมายทั้งนี้ การจัดทำและการตรวจสอบรายงานการศึกษาผลกระทบของกฎหมายเปิดโอกาสให้รัฐบาลได้พิจารณาวิเคราะห์ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นโดยละเอียดจากการตรากฎหมายตั้งแต่ในชั้นริเริ่มกำหนดนโยบาย และเปิดโอกาสให้รัฐบาลได้เตรียมการล่วงหน้าเพื่อที่จะบังคับใช้กฎหมายที่ตราขึ้นใหม่หรือที่จะทำการปรับปรุงแก้ไข นอกจากนี้ การกำหนดหลักเกณฑ์ให้รายงานดังกล่าวต้องแสดงวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนของบทบัญญัติกฎหมายแต่ละมาตรายังเป็นการช่วยสนับสนุนการตรวจสอบร่างกฎหมายของสภาแห่งรัฐให้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังเป็นการให้ข้อมูลที่สมบูรณ์และเชื่อถือได้แก่รัฐสภาเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาเห็นชอบร่างกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการศึกษาผลกระทบของกฎหมายจะก่อให้ประโยชน์สูงสุดตามที่ควรจะได้รับอย่างแท้จริงได้ต้องอาศัยบทบาทของรัฐบาลที่มีความเด็ดขาด โดยการตัดสินใจปฏิเสธร่างกฎหมายที่มิได้มีการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบอย่างสมบูรณ์ และในขณะเดียวกันต้องเพิ่มความเคร่งครัดต่อการกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐผู้เสนอร่างกฎหมายเพื่อให้ดำเนินการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ที่รัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญกำหนดประกอบกับคำนึงถึงหลักความซื่อสัตย์ ความชัดเจน และความจริงจังในการดำเนินการดังกล่าว

ทั้งนี้ การจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบของกฎหมายเป็นมาตรการที่ใช้เพื่อปรับปรุงคุณภาพของกฎหมายให้มีเหตุผล มีความโปร่งใส และเกิดประสิทธิผลในการบังคับใช้ อย่างไรก็ดี ในการปฏิรูปกฎหมายทั้งระบบ ซึ่งรวมกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ตลอดจนกฎหมายที่จะปรับปรุงแก้ไขและที่จะตราขึ้นใหม่ยังต้องอาศัยการบังคับใช้มาตรการอื่นควบคู่ไปด้วย ได้แก่ การทบทวนเพื่อยกเลิกกฎหมาย การรับฟังความเห็นของประชาชน และการปรับปรุงกระบวนการของทางราชการเพื่อการอำนวยความสะดวกและลดภาระแก่ประชาชน.




* นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ ปฏิบัติหน้าที่กองพัฒนากฎหมาย และฝ่ายกิจการพิเศษ (กองกฎหมายไทย)
[๑]องค์การระหว่างประเทศเพื่อเศรษฐกิจและการพัฒนา(OECD) ได้จัดทำเอกสารข้อเสนอแนะว่าด้วยนโยบายและการบริหารจัดการด้านกฎหมาย (RecommendationoftheCouncilonRegulatoryPolicyandGovernance) ประกอบด้วยข้อเสนอแนะในการพัฒนาคุณภาพของกฎหมายจำนวน ๑๒ ข้อ ในการนี้การวิเคราะห์ผลกระทบในการตรากฎหมาย (RegulatoryImpactAssessment:RIA)เป็นเครื่องมือที่เสนอไว้ในข้อเสนอแนะที่ ๔
[๒]Décision du ConseilConstitutionnelle no. 2005-33  du 7 avril 2005 และDécision du ConseilConstitutionnelle no. 2005-35 du 19 mai 2005.
[๓]Circulaire du Premier ministre du 26 aout 2003.
[๔]Circulaire du Premier ministre du 30 septembre 2003.
[๕]ในการนี้สภาแห่งรัฐได้มีบทบาทอย่างมากในการสนับสนุนให้มีการตราหลักเกณฑ์ที่มีบทบังคับที่แน่นอนเกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบในช่วงริเริ่มการยกร่างกฎหมาย เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงทางกฎหมาย โดยในปี ค.ศ. ๒๐๐๖ ได้เสนอให้มีการตรารัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ของการประเมินผลกระทบก่อนการตรากฎหมายและกำหนดให้เป็นเงื่อนไขของการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการนิติบัญญัติ
[๖]Loiconstitutionelle no. 2008-724 du 23 juillet 2008 de modernization des institutions de la VeRépublique.
[๗] Constitution de la Républiquefrancaisedu 4 octobre 1958
Article 39
(al. 3) La présentation des projets de loidéposésdevantl’Assembléenationaleou le Sénatrépond aux conditions fixées par uneloiorganique.
(al. 4) Les projets de loi ne peuventêtreinscrits à l’ordre du jour si la Conférence des présidents de la première assembléesaisieconstate que les règlesfixéespar la loiorganiquesontméconnues. Encas de désaccord entre la Conférence des présidents et le Gouvernement, le président de l’assembléeintéresséeou le Premier ministrepeutsaisir le Conseilconstitutionnel qui statue dans un délai de huit jours.
[๘]Loiorganique n° 2009-403 du 15 avril 2009 relative à l'application des articles 34-1, 39 et 44 de la Constitution
Article 8Lesprojets de loi font l'objetd'uneétuded'impact. Les documents rendantcompte de cetteétuded'impactsont joints aux projets de loidèsleur transmission au Conseild'Etat. Ilssontdéposés sur le bureau de la première assembléesaisieenmême temps que les projets de loiauxquelsils se rapportent.
[๙]การจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบของร่างกฎหมายทั่วไปอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ในมาตรา ๘ ในขณะที่การจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบของร่างรัฐบัญญัติที่ให้อำนาจรัฐบาลในการให้สัตยาบัณหรือให้ความยินยอมในสนธิสัญญาอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ของมาตรา ๑๑ วรรค ๓
[๑๐]แม้การจัดทำร่างรัฐบัญญัติที่เกี่ยวด้วยการเงินการคลังและการบริหารเงินประกันสังคม ได้รับยกเว้นการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบตามรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ยังอยู่ภายใต้บังคับที่ต้องจัดทำการประเมินภายใต้หลักเกณฑ์ของรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยรัฐบัญญัติที่เกี่ยวการเงิน (Loiorganiquerelatve aux lois de finances)และประมวลกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม (Code de la securitésociale, art. LO 111-4) ซึ่งกำหนดเงื่อนไขและกระบวนการดำเนินการไว้เป็นการเฉพาะ
[๑๑]อย่างไรก็ตาม การไม่กำหนดให้ต้องเสนอรายงานการศึกษาผลกระทบพร้อมการเสนอร่างกฎหมาย ไม่เป็นการห้ามที่ฝ่ายบริหารจะจัดทำการศึกษาผลกระทบของร่างรัฐกำหนด และนำเสนอต่อสภาภายหลังจากที่รัฐกำหนดมีผลใช้บังคับแล้ว
[๑๒]Circulaire du Premier minister du 17 février 2001 relative a la simplification des normes
[๑๓] Code general des collectivitésterritoriales , article R. 1213-27.
[๑๔]Loiorganique n° 2009-403 du 15 avril 2009, Article 8
(al.2) Ces documents (rendantcompte de l’étuded'impact) définissent les objectifspoursuivis par le projet de loi, recensent les options possiblesendehors de l'intervention de règles de droit nouvellesetexposent les motifs du recours à une nouvelle législation.
[๑๕]SécrétariatGénéral du Gouvernement ,LignesDirectrice pour l’élaboration des étudesd’impact,octobre 2012.
[๑๖]ตามรัฐบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยสภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (Conseiléconomiquesociale et environnement) นายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องนำร่างกฎหมายเสนอต่อสภาที่ปรึกษาฯ หากเป็นร่างกฎหมายที่มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดแผนด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับร่างรัฐบัญญัติกำหนดแผนและแนวทางด้านการเงินสาธารณะข้ามปีงบประมาณ  ในการนี้ หากเป็นกรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนฉุกเฉินสภาที่ปรึกษาฯ มีหน้าที่ต้องให้ความเห็นภายในกำหนดเวลา ๑ เดือน
[๑๗]ในทางปฏิบัติหน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบมจะต้องริเริ่มการจัดทำร่างรัฐบัญญัติควบคู่ไปกับการดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบดังกล่าว ทั้งนี้เป็นไปตามหนังสือเวียนของนายกรัฐมนตรี (Circulaire du Premier minister du 7 juillet 2011 relative a la qualité du droit)
[๑๘]Circulaire du Premier minister du 2 mai 2016
[๑๙]หัวข้อที่จะตกลงในการประชุมดังกล่าวนอกจากจะเป็นการพิจารณาหลักการของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแล้ว ยังเป็นการประชุมแบ่งงานที่หน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจะสามารถรับไปดำเนินการได้ และสุดท้ายการกำหนดตารางเวลาในการจัดทำร่างรายงานการศึกษาผลกระทบโดยกระทรวงผู้รับผิดชอบ
[๒๐]ในการดำเนินการเสนอร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะเผยแพร่รายงานการศึกษาผลกระทบของร่างกฎหมายโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้เข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีได้ทราบก่อน แล้วจึงนำเสนอต่อประธานาธิบดีเพื่อให้ความเห็นชอบในการนำร่างกฎหมายเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี
[๒๑]Décision du ConseilConstitutionnel no. 2009-579 du 9 avril 2009.
[๒๒] Code des relations entre les publics et administration (article L. 311-5)
[๒๓]Décision du Conseilconstitutionnelle no. 2003-468 DC du 3 avril 2003

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น