วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

เกร็ดการร่างกฎหมาย 17 : ดอกพุดตาน

วันนี้ออกจะสุนทรีสักหน่อยหลังจากวุ่นวายจากการประชุมหลากหลายสถานที่ และหลากหลายประเด็น กลับมาเห็นดอกไม้ที่ซื้อมาไว้ในห้องทำงานทั้งมัมสไปเดอร์ และโกลบธีสเซิ่ล ก็ให้ชื่นใจหายเหนื่อยนัก 

ว่าแล้วก็ลงมือตรวจแฟ้มร่างกฎหมายตามปรกติ

แฟ้มสุดท้ายของค่ำวันนี้เป็นร่างกฎกระทรวงเครื่องแบบพิเศษของหน่วยราชการแห่งหนึ่ง ที่ว่าเป็นเครื่องแบบพิเศษก็เพราะข้าราชการพลเรือนนั้นมีเครื่องแบบปกติอยู่แล้วคือชุดกากีซึ่งคงจะดูเหมือนกันมากไป บางหน่วยงานเขาจึงต้องการให้มีเครื่องแบบพิเศษขึ้น เพื่อเวลาไปปฏิบัติงานจะได้รู้ว่าใครเป็นใคร จินตนาการตามไปด้วยว่าแต่งชุดอย่างนี้แล้วคงดูขลังดีเหมือนกัน แต่ต้นทุนคงไม่น้อยเพราะทั้งกรมต้องตัดชุดกันใหม่ ต้องซื้อเครื่องหมายกันใหม่ เงินเดือนก็เท่าเดิม ช่วงโควิดเสียด้วย

เพลิดเพลินไปกับการบรรยายลักษณะของเครื่องแบบว่าต้องมีลักษณะอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ไปสะดุดอยู่กับคำบรรยายของว่าอินทรธนูต้องปักด้วยดิ้นทอง “ลายดอกพุดตานต่อดอกเต็มแผ่น” ดอกไม้มาอีกดอกแล้ววันนี้ ภาพดอกพุดตานวาบขึ้นมาทันใด ปลื้มปรีดิ์เปรมยิ่งนัก 

ตรวจเสร็จแล้วเอาแฟ้มไปคืนเพื่อดำเนินการต่อไป จึงถามน้อง  ว่าทำไมอินทรธนูต้องเป็นลายดอกพุดตานด้วย ทุกคนทำหน้างงเหมือนกันหมด ก็เห็นเขียนอย่างนี้จึงล้อตามกันมา พี่จะสงสัยอะไรกันวันนี้ เย็นค่ำแล้ว

ตอนแรกว่าจะเล่าให้ฟังเฉย  แต่ก็กลัวจะขาดการสืบทอดกันต่อไป จึงขอเฉลยเป็นบทความอย่างนี้ก็แล้วกัน เผยแพร่ในเว็บไซต์ ด้วยอยู่ทนนานนัก องค์ความรู้จะได้ไม่กระพร่องกระแพร่งอย่างที่ผ่านมาอีก และจะได้ลืมคำว่า “แบบ” เสียที

อันว่าลายดอกพุดตามนั้นเป็นลวดลายดอกไม้ที่นิยมมากมาตั้งแต่ครั้งรัชกาลที่ 3 ครับ จริง  เขาหมายถึงดอกโบตั๋น” แต่ออกเสียงตามสำเนียงชาวจีนตอนใต้เป็น “พุดตาน” “ฝู่กุ้ย” ก็เรียก ตามธรรมเนียมจีนนั้นเขาถือว่าโบตั๋นเป็นดอกไม้มงคล เป็นราชินีแห่งดอกไม้ เริ่มมาตั้งแต่ราชวงศ์ซ่ง แสดงให้เห็นถึงความมีฐานะสูงส่งและความร่ำรวย ทั้งยังเป็นสัญลักษณ์แห่งความงามและสตรีด้วย ใครสวยมากเขาก็จะเปรียบเทียบว่าสาวเจ้าเป็นดอกโบตั๋นที่แสนจะบริสุทธิ์ผุดผ่อง

เดิมก่อนหน้านั้นบ้านเราก็เคยมีลายดอกโบตั๋นใช้อยู่บ้างในโบราณสถานและวัดวาอารามต่าง  แต่ก็ไม่แพร่หลายนัก สู้ลวดลายทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ กับลายแผงกุดั่นดอกลอย ที่นิยมมาแต่ครั้งกรุงเก่าไม่ได้ จนเมื่อรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดฯ ให้แต่งสำเภาไปค้าขายกับเมืองจีน พร้อม ๆ กับการที่ชาวจีนหลั่งไหลเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร จึงทำให้ลายดอกโบตั๋นหรือพุดตานเข้ามามีอิทธิพลในศิลปะไทยมากขึ้น ที่เห็นกันมากที่สุดคงหนีไม่พ้นถ้วยโถโอชามที่นำเข้าจากจีน 

ถ้าใครสนใจศิลปะ ให้ตามไปดูที่วัดที่สร้างขึ้นในรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 จะพบว่าได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีนมาก อย่างลายดอกพุดตานนี่ดูที่หน้าบันพระอุโบสถวัดราชโอรสอันเป็นวัดประจำรัชกาล หรือที่วัดเฉลิมพระเกียรติก็ได้ครับ ดอกใหญ่มากทีเดียว สีสรรสดใสมาก

สำหรับอินทรธนูประกอบเครื่องแบบนั้นถือเป็นเครื่องหมายอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงฐานะหรือลำดับชั้นของข้าราชการ จึงมีการนำลายดอกพุดตานมาประยุกต์เป็นลายประดับที่อินทรธนู ซึ่งตรงกับความหมายของดอกโบตั๋นของจีน ชั้นผู้ใหญ่ก็จะมีลายดอกพุดตานต่อดอกเต็มแผ่นปักด้วยดิ้นทอง ตำแหน่งใหญ่น้อยลดหลั่นกันก็จะมีดอกพุดตามประดับอินทรธนูน้อยดอกลงไปตามลำดับ

นี่ถ้าเขียนตาม  กันไปเรื่อย  ชีวิตก็คงยังไม่รู้แหละว่ามันมีที่มาที่ไปยังไง

นักร่างกฎหมายต้องขี้สงสัยครับ แต่ขี้สงสัยไม่พอ ต้องหาคำตอบด้วย แล้วจะรู้ว่าทุกเรื่องมันมีที่มา ไม่ใช่แค่แบบอย่างที่เข้าใจกัน 

ถ้าแค่ตรวจแบบ ไม่ต้องใช้นักกฎหมายมาทำหรอกครับ เดี๋ยวนี้ใช้คอมพิวเตอร์ตรวจก็ได้แล้ว

จริงไหมล่ะ?

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น