วันพุธที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2557

การบริหารจัดการที่ดินของรัฐของสหรัฐอเมริกา

นายธิติ สายเชื้อ[๑]

สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่ปกครองในรูปแบบสหพันธรัฐ (Federal Republic) โดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุขและเป็นหัวหน้ารัฐบาล (Chief Executive) ภายใต้รัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย ๕๐ มลรัฐ และ ๑ District (District of Columbia อันเป็นที่ตั้งของกรุงวอชิงตัน) มีพื้นที่ครอบคลุมส่วนใหญ่ของทวีปอเมริกาเหนือ โดยมีเขตแดนด้านทิศเหนือติดต่อกับประเทศแคนาดา ด้านทิศใต้มีเขตแดนติดต่อกับประเทศเม็กซิโก และมีมลรัฐฮาวายอยู่ทางตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก มีพื้นที่ประมาณ ๒.๓ พันล้านเอเคอร์ หรือ ๙,๖๓๑,๔๑๘ ตารางกิโลเมตร ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีพื้นที่กว้างใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของโลก และมีความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาล[๒]

ที่ดินของประเทศสหรัฐอเมริกาแบ่งออกเป็น ๒ ประเภทตามผู้ครอบครอง คือ ที่ดินของรัฐ (Public land) กับที่ดินของเอกชน (Private land) โดยที่ดินของรัฐเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐเป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์ ส่วนที่ดินของเอกชนเป็นกรรมสิทธิ์ของเจ้าของที่ดินที่จะใช้ประโยชน์ได้อย่างเสรี เว้นแต่มีกฎหมายจำกัดการใช้ประโยชน์ในที่ดิน เช่น การเวนคืนที่ดิน การกำหนดเขตที่ดิน การจำกัดความสูงของอาคาร เป็นต้น ทั้งนี้ ในบทความนี้ ผู้เขียนจะได้ศึกษาเฉพาะการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ (Public land) เท่านั้น

๑. ความเป็นของที่ดินของรัฐ (Public land)

ที่ดินของรัฐ (Public land) หมายถึงที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (public domain) และถือเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลสหพันธรัฐ เดิมที่ดินของประเทศสหรัฐอเมริกาก่อนปี ค.ศ. ๑๖๐๐ มีสภาพเป็นป่ากว้างและทุ่งหญ้าไม่มีผู้คนอยู่อาศัย นอกจากชนพื้นเมืองพวกอินเดียนแดง ต่อมา เมื่ออังกฤษได้เข้ายึดครองและจัดตั้งเป็นอาณานิคม (Colony) จึงได้อ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยถือว่าที่ดินทั้งหมดในเขตอาณานิคมเป็นของกษัตริย์อังกฤษ แต่กษัตริย์ได้ให้บริษัทและคนอังกฤษที่มาตั้งถิ่นฐานในอาณานิคมเป็นผู้ถือครอง (hold) ที่ดินนั้น จนถึงปี ค.ศ. ๑๗๗๖ มีอาณานิคมอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอังกฤษทั้งหมด ๑๓ อาณานิคม[๓]

ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๗๘๓ ภายหลังจากที่อาณานิคมเริ่มประกาศตนเป็นอิสรภาพจากการปกครองของประเทศอังกฤษและถือกำเนิดเป็นรัฐ (State) บรรดารัฐต่าง ๆ เหล่านี้ได้ยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนซึ่งมีอาณาบริเวณทางตะวันตกของประเทศประกอบด้วยพื้นดินแถบฝั่งทะเลแอตแลนติกระหว่างเทือกเขาแอปปาลาเชี่ยน (Appalachian Mountain) และแม่น้ำมิสซิซิปปี้ (Mississippi River) และทางเหนือของแม่น้ำโอไฮโอ (Ohio River) ให้เป็นของสหพันธรัฐ[๔] และภายหลังจากที่ได้มีรัฐบาลของสหพันธรัฐแล้ว รัฐบาลของสหพันธรัฐได้ทำสัญญาซื้อที่ดินจากต่างชาติ เพื่อขยายอาณาเขตและตั้งมลรัฐใหม่เพิ่มเติมไปยังดินแดนทางตะวันตกของประเทศ ได้แก่ การซื้อที่ดินของมลรัฐหลุยส์เซียนนาจากฝรั่งเศสคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๕๒๓ ล้านเอเคอร์ (ค.ศ. ๑๘๐๓) การทำสนธิสัญญากับสเปนทำให้ได้พื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นมลรัฐฟลอริดาคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๔๓ ล้านเอเคอร์ (ค.ศ. ๑๘๑๙) การผนวกมลรัฐเท็กซัสภายหลังจากสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโกสิ้นสุดลง (ค.ศ. ๑๘๔๕) การทำสนธิสัญญากับอังกฤษในการประนีประนอมเขตแดนระหว่างแคนาดากับสหรัฐอเมริกาและทำให้ได้พื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นมลรัฐโอเรกอนอันเป็นดินแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๑๘๑ ล้านเอเคอร์(ค.ศ. ๑๘๔๖) การทำสนธิสัญญา Guadalupe Hildago กับเม็กซิโก และได้ดินแดนทางตะวันตกเฉียงใต้และแคลิฟอร์เนียคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๓๓๕ ล้านเอเคอร์ (ค.ศ. ๑๘๔๘) การซื้อดินแดน Gaadsden คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๑๙ ล้านเอเคอร์ (ค.ศ. ๑๘๕๓) และการซื้อที่ดินของมลรัฐอลาสกาจากรัสเซียคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๓๖๖ ล้านเอเคอร์ (ค.ศ. ๑๘๖๗)
             
จากการสำรวจการใช้ที่ดินของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกา (U.S. Department of Agriculture) ที่ดำเนินการสำรวจการใช้ที่ดินทุก ๆ ๕ ปี ซึ่งการสำรวจครั้งล่าสุดทำขึ้นในปี ค.ศ. ๒๐๐๗ ประกอบด้วยการใช้พื้นที่ป่าไม้จำนวน ๖๗๑ ล้านเอเคอร์ พื้นที่ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์จำนวน ๖๑๔ ล้านเอเคอร์ พื้นที่เพาะปลูกจำนวน ๔๐๘ ล้านเอเคอร์ พื้นที่สำหรับการใช้เหตุผลพิเศษจำนวน ๓๑๓ ล้านเอเคอร์ พื้นที่การใช้เบ็ดเตล็ดจำนวน ๑๙๗ ล้านเอเคอร์ และพื้นที่เมืองจำนวน ๖๑ ล้านเอเคอร์[๕]

๒. การบริหารจัดการที่ดินของรัฐ

                   โดยเริ่มแรกนโยบายในการบริหารจัดการที่ดินของรัฐของรัฐบาลสหพันธรัฐเป็นการถ่ายโอน (disposal) ที่ดินสาธารณะให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนหรือมลรัฐ โดยรัฐสภาได้ตรากฎหมายที่ให้อำนาจจัดการที่ดินโดยขายหรือโอนที่ดินสาธารณะรวมเป็นเนื้อที่ประมาณ ๑.๒๗๕ พันล้านเอเคอร์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการให้สิทธิในการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่อการตั้งถิ่นฐาน การให้สิทธิในที่ดินแก่ทหารผ่านศึก และการขายที่ดินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคม และเป็นรายได้ให้แก่รัฐบาลในการชำระหนี้สาธารณะของประเทศ ซึ่งในแต่ละช่วงรัฐสภาได้ตรากฎหมายเป็นการถ่ายโอนที่ดินสาธารณะให้เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนและของมลรัฐดังนี้

                   ๒.๑ ในระหว่าง ค.ศ. ๑๗๐๐ ค.ศ. ๑๗๙๙

                   ในปี ค.ศ. ๑๗๘๕ รัฐสภาได้ตรากฎหมาย Land Ordinance Act of 1785 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการจัดระบบที่ดินของรัฐโดยมีการจัดทำระบบการสำรวจที่ดินของรัฐ (Public land survey) เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัสและแบ่งที่ดินเป็นพื้นที่เรียกว่า ทาวน์ชิพ (township) ขนาดของทาวน์ชิพมีเนื้อที่ดินในอัตราส่วนเท่ากันกว้าง ๖ ไมล์ และยาว ๖ ไมล์ รวมเนื้อที่หนึ่งแปลงเป็น ๓๖ ตารางไมล์ และที่ดินแต่ละตารางไมล์มีเนื้อที่ประมาณ ๖๔๐ เอเคอร์ และแต่ละส่วนในสี่ส่วนจะมีที่ดินประมาณ ๑๖๐ เอเคอร์ โดยแต่ละตารางไมล์จะถูกกำหนดตัวเลขเพื่อใช้ประโยชน์ โดยที่ดินแปลงที่ ๑๖ ถูกกำหนดให้สงวนไว้สำหรับสร้างโรงเรียน ที่ดินแปลงที่ ๘ แปลงที่ ๑๑ แปลงที่ ๒๖ แปลงที่ ๒๙ เป็นที่ดินจัดไว้สำหรับทหารผ่านศึกในสงครามปฏิวัติ ส่วนที่ดินแปลงที่เหลือจะถูกขายโดยการประมูลมีอัตราเริ่มต้นที่ ๖๔๐ เหรียญต่อหนึ่งแปลง หรือหนึ่งเหรียญต่อที่ดิน ๑ เอเคอร์[๖]

                        ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๗๘๗ รัฐสภาได้ตรากฎหมาย Northwest Ordinance Act of 1787 เพื่อขยายพื้นที่ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือของแม่น้ำโอไฮโอและตั้งมลรัฐขึ้นใหม่นอกเหนือจาก ๑๓ มลรัฐเริ่มแรก[๗] ภายหลังจากที่ได้มีการขยายพื้นที่ของมลรัฐ รัฐบาลกลางได้ขายที่ดินของสหพันธรัฐเพื่อส่งเสริมการตั้งถิ่นฐานและเป็นการลดภาระหนี้ของประเทศและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศ โดยในปี ค.ศ. ๑๗๙๖ รัฐสภาได้ตรากฎหมาย Land Act of 1796 รัฐบาลได้ตรากฎหมายกำหนดราคาขายที่ดินสาธารณะขั้นต่ำจำนวน ๒ เหรียญต่อเอเคอร์เพื่อหารายได้ให้แก่รัฐบาล

                   ๒.๒ ในระหว่าง ค.ศ. ๑๘๐๐ ค.ศ. ๑๘๙๙

                   ในปี ค.ศ. ๑๘๔๑ รัฐสภาได้ตรากฎหมาย Pre-emption Act of 1841 กำหนดให้ผู้ตั้งถิ่นฐานครั้งแรกมีโอกาสซื้อที่ดินสาธารณะจำนวน ๑๖๐ เอเคอร์ ได้ในราคาเอเคอร์ละ ๑.๒๕ เหรียญ ในปี ค.ศ. ๑๘๖๒ รัฐสภาได้ตรากฎหมาย Homestead Act of 1862 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีสาระสำคัญเป็นการให้ที่ดินสาธารณะจำนวน ๑๖๐ เอเคอร์ แก่ประชาชนเพื่อการตั้งถิ่นฐานและการเพาะปลูก เมื่อมีการตั้งถิ่นฐานและใช้ประโยชน์ในที่ดินนั้นครบห้าปีแล้วรัฐก็จะออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ผู้ตั้งถิ่นฐานโดยเสียค่าธรรมเนียมเพียงเล็กน้อย และในปีเดียวกันรัฐสภาได้ตรากฎหมาย Morrill Land Grant Act of 1862 กำหนดให้ที่ดินจำนวน ๓๐,๐๐๐ เอเคอร์ เป็นที่ดินสำหรับวุฒิสภาและผู้แทนราษฎร สำหรับการเพาะปลูกและสร้างโรงเรียน ซึ่งกฎหมายดังกล่าวถือกันว่าเป็นกฎหมายที่วางรากฐานด้านการศึกษาขั้นสูงให้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. ๑๘๖๖ รัฐสภาได้ตรากฎหมาย Southern Homestead Act of 1866 เพื่อช่วยให้ทาสผิวดำที่ได้รับอิสรภาพมีที่ดินทำกิน อย่างไรก็ดี กฎหมายฉบับนี้ได้ยกเลิกในปี ค.ศ. ๑๘๗๖

                   ในปี ค.ศ. ๑๘๗๓ รัฐสภาได้ตรากฎหมาย Timber Culture Act of 1873 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการให้เปล่าที่ดินจำนวน ๑๖๐ เอเคอร์แก่ผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนในรัฐทางตะวันตกหากได้มีการปลูกต้นไม้จำนวนหนึ่งในสี่ของที่ดิน และในปี ค.ศ. ๑๘๗๗ รัฐสภาได้ตรากฎหมาย Desert Lands Entry Act of 1877 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นจำหน่ายที่ดินในราคาถูกให้แก่ผู้ตั้งถิ่นฐานทางดินแดนตะวันตกที่มีสภาพแห้งแล้วโดยกำหนดให้จำหน่ายที่ดินจำนวน ๖๔๐ เอเคอร์ ในราคาเอเคอร์ละ ๑.๒๕ เหรียญ และจะลดลงเหลือเพียง ๒๕ เซนต์ หากผู้ตั้งถิ่นฐานทำระบบชลประทาน และยังเป็นการกำหนดให้มีการสร้างรางรถไฟเพื่อจัดทำระบบคมนาคมของชาติประมาณการว่ามีที่ดินสาธารณะจำนวนกว่า ๑๗ ล้านเอเคอร์ ถูกจัดสรรให้เป็นที่ดินสำหรับสร้างทางรถไฟ ในปี ค.ศ. ๑๘๗๘ รัฐสภาได้ตรากฎหมาย Timber and Stone Act of 1878 ซึ่งได้แบ่งที่ดินมีเนื้อที่ขนาดแปลงละ ๑๖๐ เอเคอร์ และจำหน่ายที่ดินแปลงละ ๒.๕๐ เหรียญต่อเอเคอร์ เพื่อทำประโยชน์เกี่ยวกับป่าไม้และแร่ธาตุในที่ดิน ต่อมากฎหมาย และในปีค.ศ. ๑๙๐๙ รัฐสภาได้ปรับปรุงกฎหมาย Homestead Act เพื่อถ่ายโอนที่ดินให้แก่เอกชนให้มีขนาดใหญ่ขึ้น โดยรัฐสภาได้ตรากฎหมาย Enlarged Homestead Act of 1909 ซึ่งมีผลเป็นการถ่ายโอนที่ดินจำนวน ๓๒๐ เอเคอร์ ให้แก่ผู้ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่แห้งแล้งในมลรัฐทางตะวันตก เพื่อการตั้งถิ่นฐาน

                   สำหรับชนเผ่าพื้นเมืองเมื่อมีการขยายอาณาเขตไปทางตะวันตกมากขึ้นชนเผ่าพื้นเมืองถูกผลักดันให้อยู่ในพื้นที่เล็ก ๆ ซึ่งรัฐสภาได้ตระหนักถึงสิทธิของชนพื้นเมืองในดินแดนที่พวกเขาเคยครอบครอง ในปี ค.ศ. ๑๘๘๗ รัฐสภาจึงได้ตรากฎหมาย Dawes Act of 1887 จัดสรรที่ดินให้แก่ชนเผ่าพื้นเมือง

                   ๒.๓ ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๐๐ เป็นต้นมา

                   ภายหลังจากที่นโยบายของรัฐเป็นไปในทางถ่ายโอนที่ดินสาธารณะให้แก่เอกชนโดยง่ายและราคาถูก จึงได้เริ่มเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐไปในทางสงวนรักษาที่ดิน โดยในปี ค.ศ. ๑๘๙๑ รัฐสภาได้ตรากฎหมาย The Forest Reservation Act of 1891 ซึ่งมีผลเป็นการสงวนพื้นที่ป่าสนจากการบุกรุกของเอกชน นอกจากนี้ ได้เริ่มมีการตั้งเขตสงวนและอุทยานแห่งชาติ เพื่อเป็นการรักษาพื้นที่ป่าและอนุรักษ์ทรัพยากรของชาติ เช่น ในปี ค.ศ. ๑๘๗๒ มีการประกาศอุทยานแห่งชาติ Yellow Stone ในปี ค.ศ. ๑๙๓๔ รัฐสภาได้ตรากฎหมาย The Taylor Grazing Act of 1934 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงระบบการบริหารจัดการและการรักษาพื้นที่ทุ่งหญ้ากว่า ๘๐ ล้านเอเคอร์ โดยเอกชนที่จะเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวต้องดำเนินการตามกฎหมายซึ่งตราขึ้นโดยรัฐสภาและฝ่ายบริหาร ในปี ค.ศ. ๑๙๖๔ รัฐสภาได้ตรากฎหมาย Wilderness Act of 1964 ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการรักษาพื้นที่ป่าดงดิบจากการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ และท้ายที่สุดในปี ค.ศ. ๑๙๗๖ รัฐสภาได้ตรากฎหมาย The Federal Land Policy and Management Act of 1976 เป็นการรักษาที่ดินสาธารณะเป็นของรัฐบาลและกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมีอำนาจในการบริหารจัดการและกำหนดนโยบายในการใช้ที่ดินสาธารณะอย่างเคร่งครัด

๓. บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ

                   ๓.๑ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

                   รัฐธรรมนูญของประเทศสหรัฐอเมริกาได้บัญญัติเกี่ยวกับความเกี่ยวพันกันระหว่างรัฐบาลของสหพันธรัฐกับการใช้ที่ดิน ดังนี้
          (๑) Article I, § 8[๘] มีสาระสำคัญเป็นการให้อำนาจรัฐสภา (Congress) ในการตรากฎหมายในเขตท้องที่ (ไม่เกินสิบตารางไมล์) ที่รัฐใด ๆ โดยเฉพาะได้ยกให้รัฐสภาได้ยอมรับเพื่อใช้เป็นที่ตั้งที่ทำการของรัฐบาลของสหพันธรัฐ และใช้สิทธิอำนาจออกกฎหมายทำนองเดียวกันเหนือดินแดนที่ซื้อมาโดยความยินยอมของสภานินิบัญญัติแห่งรัฐนั้น ๆ เพื่อสร้างป้อม คลังกระสุน คลังอาวุธ อู่เรือและอาคารสถานที่ที่จำเป็นอื่น ๆ
                   (๒) Article IV, § 3[๙] มีสาระสำคัญเป็นการให้อำนาจรัฐสภาในการตรากฎหมายและระเบียบที่จำเป็นเกี่ยวกับดินแดนหรือทรัพย์สินอื่นๆ อันเป็นของสหรัฐ และกำหนดให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญนี้จะถูกตีความให้เป็นผลเสียหายแก่การอ้างสิทธิใดๆ ของสหรัฐหรือของรัฐใดรัฐหนึ่งโดยเฉพาะไม่ได้

                   จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้อำนาจอย่างกว้างขวางแก่รัฐบาลในการให้ได้มาซึ่งที่ดินที่รัฐบาลเห็นว่าเหมาะสมเพื่อใช้ประโยชน์อย่างไรก็ดี การได้มาซึ่งที่ดินของรัฐจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาในการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการถือครองที่ดินของรัฐบาลสหพันธรัฐ

                   ๓.๒ Federal Land Policy and Management Act of 1976 (FLPMA)

                   โดยที่ที่ดินสาธารณะถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (public domain) ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของสหพันธรัฐ ในช่วงปี ค.ศ. ๑๙๖๐ รัฐบาลของสหพันธรัฐได้กำหนดนโยบายการใช้ที่ดินสาธารณะเพื่อมาใช้ประโยชน์อย่างผสมผสาน (multiple use) โดยตรากฎหมายขึ้นสองฉบับในปี ค.ศ. ๑๙๖๔ กล่าวคือ ฉบับแรกเป็นกฎหมายที่การกำหนดให้มีคณะกรรมการทบทวนการตรากฎหมายเกี่ยวกับที่ดินของรัฐบาลสหพันธรัฐ (Public Land Law Review Commission (PLLRC)) มีหน้าที่ในการตรวจสอบกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับที่ดินของรัฐบาลสหพันธรัฐ รวมทั้งตรวจสอบนโยบายและการปฏิบัติงานของหน่วยงานของรัฐบาลสหพันธรัฐซึ่งบริหารจัดการที่ดินของสหพันธรัฐ โดยผลการศึกษาของ PLLRC ได้ให้คำแนะนำในการปรับปรุงการบริหารจัดการที่ดินของสหพันธรัฐที่สำคัญคือ การบริหารจัดการและการสงวนรักษาที่ดินของสหพันธรัฐควรเป็นกรรมสิทธิ์ของสหพันธรัฐเพื่อประโยชน์ต่อชาวอเมริกันทั้งมวล สำหรับกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่ตราขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๖๔ คือกฎหมาย Classification and Multiple Use Act ซึ่งให้อำนาจโดยตรงแก่ BLM ในการจำแนกประเภทที่ดินเพื่อการสงวนรักษาหรือการจำหน่าย รวมทั้งกำหนดการจัดการที่ดินเพื่อการใช้ประโยชน์แบบผสมผสาน ต่อมาภายหลังจากที่รายงานผลการศึกษาของ PLLRC เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาซึ่งมีประเด็นเกี่ยวกับการสงวนรักษาที่ดินหรือจำหน่ายที่ดินของสหพันธรัฐ  ท้ายที่สุดในปี ค.ศ. ๑๙๗๖ จึงได้มีการตรากฎหมาย Federal Land Policy and Management Act (FLPMA) จึงเป็นที่สุดของนโยบายการขายที่ดินสาธารณะ โดยบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการประกาศนโยบายแห่งชาติในการสงวนรักษาที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของสหพันธรัฐ ซึ่งตามมาตรา 102(a) ของกฎหมาย FLPMA กำหนดให้รัฐสภาต้องประกาศนโยบายของสหรัฐอเมริกาว่า ที่ดินสาธารณะจะถูกสงวนรักษาเป็นกรรมสิทธิ์ของสหพันธรัฐ ซึ่งการจำหน่ายที่ดินส่วนใดส่วนหนึ่งเป็นการเฉพาะเพื่อประโยชน์แห่งชาติ จะกระทำได้ต่อเมื่อเป็นผลมาจากวิธีการใช้ที่ดินซึ่งกำหนดไว้ตามกฎหมายนี้[๑๐] และโดยผลของกฎหมาย FLPMA มีผลเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอำนาจการบริหารจัดการที่ดินของสหพันธรัฐ รวมทั้งเป็นการยกเลิกกฎหมายที่ให้จำหน่ายที่ดินของสหพันธรัฐ

                   กฎหมาย FLPMA มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดนโยบายและบริหารจัดการและปกป้องที่ดินสาธารณะอย่างเป็นระบบในลักษณะที่เป็นการคุ้มครองคุณค่าทางวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ นิเวศวิทยา สิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศ ทรัพยากรน้ำ ภูมิสถาปัตย์ และการหาประโยชน์ในทรัพยากรธรรมชาติโดยมีรายสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
                   (๑) การกำหนดแผนการบริหารจัดการที่ดินสาธารณะ โดยรัฐสภาจะประกาศนโยบายเกี่ยวกับที่ดินของรัฐเพื่อการสงวนรักษาเป็นกรรมสิทธิ์ของสหพันธรัฐ เว้นแต่การดำเนินการใด ๆ ที่เป็นไปตามแผนการใช้ที่ดินที่กำหนดไว้ในกฎหมายดังกล่าว (Sec. 102 (a) (43 U.S.C. 1701)) ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวกำหนดให้ BLM ดำเนินการตามแผนการบริหารจัดการใช้ที่ดินได้อย่างเอนกประสงค์ (Multiple use) (Sec. 202 (43 U.S.C. 1712) และ Sec. 302 (43 U.S.C. 1732))
                   (๒) การถ่ายโอนที่ดินของรัฐ (disposition) โดย FLPMA กำหนดให้ BLM มีอำนาจในการขายที่ดินของรัฐซึ่งต้องเป็นไปตามแผนการใช้ที่ดินและเพื่อวัตถุประสงค์ของสาธารณะ (public purpose) กระบวนการขายจะกระทำโดยวิธีการประมูลให้มีการสู้ราคากันซึ่งจัดโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และราคาที่ขายต้องเป็นราคาซื้อขายตามราคาท้องตลาดที่เป็นธรรม (Sec. 203 (43 U.S.C. 1713))
(๓) การได้มาซึ่งที่ดินของรัฐ โดย BLM มีอำนาจในการให้ได้มาซึ่งที่ดินของรัฐโดยการซื้อ การแลกเปลี่ยน การได้ที่ดินจากการบริจาค หรือการเวนคืน (eminent domain) ในส่วนของการเวนคืนนั้น รัฐมนตรีมหาดไทยใช้อำนาจได้ต่อเมื่อมีความจำเป็นในการควบคุมที่ดินสาธารณะ (Sec. 205 (43 U.S.C. 1715))
                   (๔) การจัดให้มีองค์กรบริหารจัดการ โดยสำนักบริหารจัดการที่ดิน (Bureau of Land Management (BLM)) เป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการการใช้ที่ดินของรัฐ มีผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการที่ดิน (Director) เป็นหัวหน้าสำนักฯ แต่งตั้งโดยประธานาธิบดีโดยความเห็นชอบของวุฒิสภา มีอำนาจบังคับบัญชาเจ้าหน้าที่ทั้งปวงในสำนักฯ (Sec. 301 (43 U.S.C. 1731))

                   ๓.๓ Reclamation Act of 1902

                   กฎหมาย Reclamation Act มีสาระสำคัญเป็นการให้อำนาจกระทรวงมหาดไทย (Ministry of Interior) ในการกำหนดพื้นที่ที่จะนำที่ดินมาใช้ประโยชน์ เพิกถอนการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่จะดำเนินโครงการ กำหนดสิทธิและวิธีการในการก่อสร้าง กำหนดเงื่อนไขในการจัดตั้งและดำเนินโครงการ ต่อมาในปี ค.ศ. 1914 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวในชื่อว่า Reclamation Extension Act of 1914 โดยแก้ไขในเรื่องการออกใบอนุญาตโครงการที่เดิมเป็นอำนาจของกระทรวงมหาดไทยให้เป็นของประธานาธิบดีในการออกใบอนุญาตโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ พร้อมทั้งกำหนดให้กระทรวงมหาดไทยต้องขอความยินยอมจากรัฐสภาในการอนุญาตและดำเนินโครงการทั่วไป และต้องเสนอแผนงานและงบประมาณโครงการล่วงหน้าของปีต่อไปต่อรัฐสภาด้วย

                   ๓.๔ Clean Water Act of 1072

                   กฎหมาย Clean Water Act มีสาระสำคัญเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยดำเนินการผ่านทางโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการศึกษาวิจัยทางเทคนิค การประเมินและวิเคราะห์คุณภาพของน้ำ การพัฒนาคุณภาพของน้ำ การอนุญาตการปล่อยทิ้งของเสียลงสู่แหล่งน้ำ นอกจากนี้ ยังมีกลไกที่เกี่ยวข้องกับการจัดการที่ดินชายฝั่งทะเล และที่ดินที่ถูกน้ำทะเลกัดเซาะ เนื่องจากถือว่าการจัดการดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพน้ำซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐบาล

                   ๓.๕ Coastal Zone Management Act of 1972

                   กฎหมาย Coastal Zone Management มีสาระสำคัญเป็นการคุ้มครอง สงวน รักษา ฟื้นฟู และพัฒนาทรัพยากรชายฝั่งทะเลของประเทศ ตลอดจนสนับสนุนมลรัฐต่าง ๆ ในการจัดการทรัพยากรดังกล่าวที่อยู่ในความรับผิดชอบให้มีประสิทธิภาพ โดยกฎหมายดังกล่าวได้กำหนดกลไกเกี่ยวกับการจัดการและใช้ประโยชน์ในที่ดินชายฝั่ง

                   ๓.๖ National Forest Management Act of 1976

                   เดิมกฎหมายที่เป็นการรักษาและคุมครองพื้นที่ป่าไม้ คือ Organic Act of 1897 มีสาระสำคัญเป็นการรักษาและปกป้องพื้นที่ป่าไม้ และพื้นที่แหล่งน้ำ รวมทั้งให้อำนาจแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (Secretary of Interior) ในการกำหนดระเบียบในการสงวนรักษาพื้นที่ป่าไม้ ต่อมาได้มีการตรากฎหมาย Weeks Act of 1911 ในการจัดระบบป่าสงวน (National Forest System) ให้อำนาจ Forest Service (FS) ในการซื้อที่ดินของเอกชนเพื่อรักษาป่าไม้ และกฎหมาย Clark-McNary Act of 1924 ให้อำนาจแก่ FS ในการซื้อที่ดินป่าสนจากเอกชน ซึ่งกฎหมายทั้งสองฉบับได้เพิ่มจำนวนพื้นที่ป่าไม้กว่า ๒๐ ล้านเอเคอร์ ในภาคตะวันออกเข้าสู่ระบบรักษาป่าไม้ ต่อมาได้มีการตรากฎหมาย Knutson-Vandenberg Act of 1930 ให้อำนาจเอกชนและบริษัทป่าไม้ในการตัดไม้สนจากเขตป่าสงวน และให้อำนาจ FS ในการจัดเก็บรายได้จากการตัดไม้ ต่อมาได้มีการตรากฎหมาย Yield Forest Management Act of 1944 โดยกฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจในการแสวงหาประโยชน์จากการรวมพื้นที่ป่าไม้ของเอกชนและป่าสงวนแห่งชาติบนพื้นฐานของประโยชน์ที่ยั่งยืน

                   ต่อมา เพื่อตอบสนองการใช้พื้นที่ป่าไม้ที่หลากหลายจึงได้มีการตรากฎหมาย Multi Use Sustained Yield Act of 1960 เพื่อประโยชน์ในการใช้พื้นที่ป่าไม้แห่งชาติถูกนำมาใช้เพื่อตอบสนองประโยชน์ของชาวอเมริกัน เช่น กิจกรรมสันทนาการกลางแจ้ง การใช้ประโยชน์จากทุ่งหญ้า ป่าไม้ แหล่งน้ำ และสัตว์ป่า นอกจากกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแล้ว ได้มีการตรากฎหมาย Wilderness Act of 1964 ในการปกป้องสภาพพื้นที่ป่าดงดิบ และพื้นที่รกร้างว่างเปล่า ซึ่งถือเป็นพื้นที่ดั้งเดิม (Primitive areas) รวมทั้ง การอนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมในพื้นที่ดังกล่าว เช่น ล่าสัตว์ ตกปลา เดินป่า ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวไม่อนุญาตให้มีการตัดไม้ ทำถนน และสร้างอาคารสิ่งก่อสร้างเป็นการถาวร ภายหลังได้มีการตรากฎหมาย National Trails System Act of 1968 ซึ่งเป็นกฎหมายที่กำหนดให้มีระบบสำหรับการเดินสำรวจในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และได้มีการตรากฎหมาย National Wild and Scenic Rivers Act 1968 ซึ่งเป็นกฎหมายในการปกป้องพื้นที่ป่า ทัศนียภาพ และสร้างกิจกรรมสันทนาการตามเป็นเส้นทางแม่น้ำไหลผ่านจากเขื่อน

                   ต่อมาภายหลังได้มีการตรากฎหมาย Forest and Rangeland Renewable Resources Planning Act of 1974 เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์และคาดการณ์การใช้ทรัพยากรป่าไม้ ทุ่งหญ้า และสิ่งอื่นเกี่ยวข้องกับพื้นที่ป่าไม้ รวมทั้งการประเมินและวิเคราะห์ความต้องการและมูลค่าให้สอดคล้องกับแนวโน้มของการพัฒนา ในท้ายที่สุดได้มีการตรากฎหมาย National Forest Management Act of 1976 ซึ่งมีผลเป็นการแก้ไขกฎหมาย Forest and Rangeland Renewable Resources Planning Act of 1974 มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้การวางแผนสงวนรักษาป่าไม้ต้องเตรียมแผนดำเนินการในระยะห้าสิบปี และต้องมีการปรับปรุงทุก ๆ สิบถึงสิบห้าปี และการวางแผนดำเนินการนั้นเป็นแผนดำเนินการทางด้านชีววิทยา และสหวิทยาศาสตร์

                   ๓.๗ National Environmental Policy Act of 1969

                   กฎหมาย National Environmental Policy Act ถือได้ว่าเป็นกฎหมายพื้นฐานที่ใช้บังคับกับหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานในการดำเนินการไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานด้านคมนาคม หน่วยงานด้านเกษตรกรรม หน่วยงานด้านกลาโหม หน่วยงานด้านพลังงาน สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้เป็นการกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องประเมินผลการดำเนินการที่จะกระทบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นผลมาจากการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐโดยตรงหรือโดยอ้อม การดำเนินการเริ่มต้นจากการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental assessment (EA)) ซึ่งเป็นการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในเบื้องต้นจากการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐทุกรูปแบบไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ถ้าการประเมินผลในเบื้องต้นไม่พบว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมการประเมินผลก็จะยุติลง แต่ถ้าหากพบว่าการประเมินผลในเบื้องต้นพบว่ามีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มรูปแบบ (Environmental impact assessment (EIS)) ซึ่งใช้เวลาดำเนินการหลายเดือน กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่สำคัญต่อการตัดสินใจในการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ ประการแรก การดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐจะต้องมีรายละเอียดที่เพียงพอให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานสามารถประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ประการที่สอง หน่วยงานของรัฐต้องเสนอทางเลือกในการดำเนินการ พร้อมกับการดำเนินงานที่เสนอ ซึ่งการดำเนินการจัดทำ EA หรือ EIS ใช้กับหน่วยงานที่ดำเนินการเกี่ยวกับแผนการบริหารจัดการที่ดินสาธารณะ เช่น การสร้างเขื่อน การทำถนน การตัดไม้ การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ป่า และการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ

๔. หน่วยงานที่มีอำนาจในการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ

                   ปัจจุบันมีที่ดินของรัฐที่อยู่ในอำนาจบริหารจัดการของรัฐบาลสหพันธรัฐประมาณ ๖๔๐ ล้านเอเคอร์ หรือประมาณร้อยละ ๒๘ ของที่ดินทั้งหมดของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ ๒.๓ พันล้านเอเคอร์ หน่วยงานที่มีอำนาจบริหารจัดการที่ดินของรัฐ ประกอบด้วย ๔ หน่วยงานหลัก ได้แก่ Forest Service (FS) สังกัดกระทรวงเกษตร (Department of Agriculture), Bureau of Land Management (BLM), Fish and Wildlife Service and National Park Service (FWSN) สังกัดกระทรวงมหาดไทย (Department of Interior) นอกจากนี้ยังมีกระทรวงกลาโหม (Department of Defense) และระบบพิเศษอื่น ๆ ในการบริหารจัดการที่ดินของรัฐ (Special Systems of Federal Lands) สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

                   ๔.๑ Forest Service (FS)

                   Forest Service (FS) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๐๕ สังกัดกระทรวงเกษตร (Department of Agriculture) ถือเป็นหน่วยงานที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐบาลสหพันธรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการที่ดินสาธารณะ มีอำนาจหน้าที่ในการปกป้องที่ดินสาธารณะ สงวนรักษาต้นน้ำ และสงวนรักษาป่าไม้ ดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานวิจัยด้านป่าไม้ (forestry research) และประสานการดำเนินการกับหน่วยงานอื่นที่ตั้งขึ้นภายในกระทรวงเกษตร โดย FS มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการพื้นที่ป่าไม้ทางตะวันตกประมาณ ๑๙๒.๙ ล้านเอเคอร์ ส่วนในทางตะวันออกบริหารจัดการพื้นที่ป่าไม้กว่าครึ่ง นอกจากอำนาจหน้าที่ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น โดยผลของกฎหมาย Multiple Use-Sustained Act of 1960 ได้เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของ FS ในการบริหารจัดการใช้พื้นที่ป่าไม้เพื่อการสันทนาการ การใช้พื้นที่เพื่อการปศุสัตว์ และการสงวนรักษาถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าและสัตว์น้ำ รวมทั้งการดำเนินการอื่นใดเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของป่าสงวนแห่งชาติ

                   ๔.๒ Bureau of Land Management (BLM)

                   Bureau of Land Management (BLM) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๔๖ สังกัดกระทรวงมหาดไทย(Department of Interior) โดยการผนวกหน่วยงานของรัฐบาลสหพันธรัฐสองหน่วยงานเข้าด้วยกัน คือ General Land Office ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. ๑๘๑๒ มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการเกี่ยวกับการสำรวจและขาย ให้เช่า และเก็บค่าธรรมเนียมจากการใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณะ และ Grazing Service (GS) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๓๔ มีอำนาจหน้าที่ในการอนุญาตการใช้ประโยชน์ในที่ดินสาธารณะเพื่อการปศุสัตว์ ในปัจจุบันถือได้ว่า BLM เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการที่ดินสาธารณะคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๒๔๗.๙ ล้านเอเคอร์

                   โดยที่อำนาจหน้าที่ของ BLM กำหนดไว้ในกฎหมาย Federal Land Policy and Management Act of 1976 (FLPMA) ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าว BLM มีอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบในลักษณะเดียวกับอำนาจหน้าที่ของ FS กล่าวคือ มีอำนาจหน้าที่ในการสงวนรักษาป่าไม้ ปศุสัตว์ ถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่าและสัตว์น้ำ อย่างไรก็ดี BLM มุ่งเน้นดูแลเรื่องที่ดินทุ่งหญ้าสำหรับเลี้ยงสัตว์ ส่วน USFS มุ่งเน้นดูแลเรื่องป่าไม้ นอกจากนี้ BLM ยังมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการแร่ธาตุในที่ดินสาธารณะคิดเป็นเนื้อที่ใต้ผืนดินประมาณ ๗๐๐ ล้านเอเคอร์

                   ๔.๓ National Park Service (NPS)

                   National Park Service (NPS) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๑๖ สังกัดกระทรวงมหาดไทย (Department of Interior) มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการอุทยานแห่งชาติตามที่ได้รับอนุมัติของรัฐสภาและอนุสรณ์สถานที่ได้ออกประกาศของประธานาธิบดี NPS มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารจัดการหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติ (national park) เช่น Yellowstone, Grand Canyon และ Arches National Parks อนุสรณ์สถานแห่งชาติ (national monument) เช่น Mesa Verde National Park, Dinosaur National Monument เขตสงวนแห่งชาติ (national preserve) อุทยานประวัติศาสตร์แห่งชาติ (national historic) พื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ (national recreation area) พื้นที่ที่เคยเป็นสนามรบ (national battlefield) และพื้นที่อื่น ๆ โดยจำนวนที่ดินสาธารณะทั้งหมดที่อยู่ในความรับผิดชอบของ NPS คิดเป็นเนื้อที่ประมาณจำนวน ๗๙.๗ ล้านเอเคอร์ ครอบคลุมพื้นที่ใน ๔๙ มลรัฐ และในพื้นที่อาลาสกาคิดเป็นจำนวน ๒ ใน ๓ ของที่ดินสาธารณะในความรับผิดชอบทั้งหมด การดำเนินการของ NPS มีเป้าหมายควบคู่กันสองประการคือ เพื่อการสงวนรักษาที่ดินสาธารณะในความรับผิดชอบและดำเนินกิจกรรมสันทนาการแก่ประชาชนทั่วไป

                   ๔.๔ Fish and Wildlife Service (FWS)

                   Fish and Wildlife Service (FWS) จัดตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๐๓ สังกัดกระทรวงมหาดไทย (Department of Interior) มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการดูแลการย้ายถิ่นฐานของสัตว์แห่งชาติ (national wildlife refuge) ต่อมาเมื่อได้มีการจัดทำระบบการย้ายถิ่นฐานของสัตว์แห่งชาติจึงอยู่ในอำนาจความรับผิดชอบของ FWS ทุกวันนี้ FWS บริหารจัดการที่ดินของรัฐบาลสหพันธรัฐคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ ๘๘.๙ ล้านเอเคอร์ โดยพื้นที่ประมาณ ๗๖.๖ ล้านเอเคอร์อยู่ในมลรัฐอาลาสกา โดย FWS มีเป้าหมายในการดำเนินการเพื่อสงวนพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ และการดำเนินการเพื่อความเพลิดเพลินอื่น ๆ เช่น การอนุญาตให้ล่าสัตว์ การดูนก การเดินป่า

                   ๔.๕ Department of Defense (DOD)

                   Department of Defense (DOD) จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ (National Security Act of 1947) มีความรับผิดชอบในการบริหารจัดการที่ดินที่สงวนไว้เกี่ยวกับการทหารของสหพันธรัฐอันได้แก่ ฐานทัพ สถานที่ฝึกทางทหารต่าง ๆ ในปัจจุบันมีฐานทัพประมาณ ๔,๑๒๗ แห่ง ทั่วทุกมลรัฐในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ฐานทัพขนาดเล็กมีพื้นที่ไม่เกินหนึ่งเอเคอร์ จนถึงฐานทัพที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่มากกว่า ๓.๑ ล้านเอเคอร์ เช่น ฐานทัพอากาศเนลลิส (Nellis Airforce Range) ในมลรัฐเนวาดา อย่างไรก็ดี แม้ว่าการดำเนินการทางทหารของเหล่าทัพต่าง ๆ จะแตกต่างกัน แต่การดำเนินการทางทหารเหล่านั้นเป็นการดำเนินการตามข้อแนะนำของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

                   ๔.๖ Special Systems of Federal Lands

                   Special Systems of Federal Lands ถือได้ว่าเป็นหน่วยงานเฉพาะกิจที่จัดทำภารกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินของรัฐนอกเหนือจากหน่วยงานที่มีหน้าที่บริหารจัดการที่ดินของรัฐดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ในการจัดตั้ง Special Systems of Federal Lands เป็นกรณีที่รัฐสภาได้เลือกที่จะปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของชาติที่มีคุณค่าเป็นการเฉพาะ เช่น ป่าดงดิบ (wilderness) ป่าและแม่น้ำธรรมชาติ (wild and scenic rivers) หรือเส้นทางเดินธรรมชาติ (national trails) แทนที่จะตั้งหน่วยงานขึ้นใหม่เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่มีคุณค่าเป็นการเฉพาะ รัฐสภาจะออกข้อแนะนำให้แก่หน่วยงานของรัฐที่มีอยู่รับผิดชอบในการจัดทำภารกิจดังกล่าว ยกตัวอย่างเช่น การบริหารจัดการเส้นทางเดินธรรมชาติกว่า ๓๐ แห่ง ให้เป็นความรับผิดชอบของ National Park Service บางส่วนให้เป็นความรับผิดชอบของ Forest Service และ Bureau Land Management หรืออาจจะให้ National Park Service บริหารจัดการร่วมกับ Bureau Land Management เป็นต้น

                  



[๑]นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (มกราคม ๒๕๕๗)
[๒]http://www.mfa.go.th/web/1850.php?id=266 (ข้อมูล ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๕)
[๓]อาณานิคมเริ่มแรก (Original colonies) ของสหรัฐที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอังกฤษจำนวน ๑๓ อาณานิคม ได้แก่ New Hampshire, Massachusetts, Rhode Island, Connecticut,
New York, New Jersey, Delaware, Pennsylvania, Maryland, Virginia, North Carolina, South Carolina and Georgia
[๔]Federal land management: Current issued and background, Samuel T. Prescott, p.2
[๕]Major Uses of Land in the United States, 2007, Cynthia Nickerson, Robert Ebel, Allison Borchers, and Fernndo Carriazo
[๖]http://www.ohiohistorycentral.org/entry.php?rec=1472 (ข้อมูล ณ วันที่ ๑๕พฤษภาคม ๒๕๕๕)
[๗]http://www.loc.gov/rr/program/bib/ourdocs/northwest.html (ข้อมูล ณ วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕)
[๘]Article I
 Section 8  The Congress shall have Power To lay and collect Taxes, Duties, Imposts and Excises, to pay the Debts and provide for the common Defence and general Welfare of the United States; but all Duties, Imposts and Excises shall be uniform throughout the United States;
                                    Etc.
 To exercise exclusive Legislation in all Cases whatsoever, over such District (not exceeding ten Miles square) as may, by Cession of particular States, and the Acceptance of Congress, become the Seat of the Government of the United States, and to exercise like Authority over all Places purchased by the Consent of the Legislature of the State in which the Same shall be, for the Erection of Forts, Magazines, Arsenals, dock-Yards, and other needful Buildings; and
                                    Etc.
[๙]Article IV
 Section 3  New States may be admitted by the Congress into this Union; but no new State shall be formed or erected within the Jurisdiction of any other State; nor any State be formed by the Junction of two or more States, or Parts of States, without the Consent of the Legislatures of the States concerned as well as of the Congress.
 The Congress shall have Power to dispose of and make all needful Rules and Regulations respecting the Territory or other Property belonging to the United States; and nothing in this Constitution shall be so construed as to Prejudice any Claims of the United States, or of any particular State.
[๑๐]Section 102(a) of FLPMA states: “The Congress declares that it is the policy of the United States that — (1) the public lands be retained in Federal ownership, unless as a result
of the land use planning procedure provided for in this Act, it is determined that disposal of a particular parcel will serve the national interest.”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น