วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

ความเป็นโมฆะของการเลือกตั้ง โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์

                   การที่รัฐธรรมนูญมาตรา 108 กำหนดให้ต้องกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ก็เพราะต้องการให้เกิดความสุจริตและเที่ยงธรรม ไม่เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในระหว่างพรรคการเมือง ผู้สมัคร และเสียหายต่อการใช้สิทธิลงคะแนนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การเลือกตั้งที่ทำกะปริดกะปรอย ส่งผลต่อการลงคะแนนอย่างมาก เพราะธรรมชาติของมนุษย์ถ้ารู้ว่าใครแพ้หรือชนะ ก็มักจะถูกครอบงำโดยผลแพ้ชนะนั้น สุดแต่ว่าจะชอบเข้าข้างคนชนะ หรือขี้สงสารคนแพ้ ยิ่งถ้าได้คะแนนใกล้เคียงกัน ก็หมิ่นเหม่ต่อการทุจริตเพื่อเอาชนะกันได้ง่าย

                   ในขณะนี้ปรากฏชัดเจนว่ามีเขตเลือกตั้งถึง 27 เขต ที่สมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ (ไม่ใช่ไม่มีคนสมัคร) การเลือกตั้งจึงไม่อาจทำได้ในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าการที่ไม่อาจจัดให้มีการเลือกตั้งได้ใน 27 เขต ถ้าไปจัดให้มีการเลือกตั้งในภายหลัง (หลังจากที่มีการเลือกตั้งเขตอื่น ๆ ไปแล้ว) จะถือว่าเป็นการค่อย ๆ เลือกไปหรือเป็นการเลือกซ่อม

                   ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นการค่อย ๆ เลือกไป ก็จะเข้าข่ายต้องห้าม คือ ไม่ได้ทำในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร แต่ถ้าถือว่าเป็นการเลือกซ่อมทำนองเดียวกับการเลือกซ่อมเมื่อมีการให้ใบเหลืองใบแดง ก็อาจไม่เข้าข่ายต้องห้าม จึงขึ้นอยู่กับการเสนอข้อเท็จจริงและข้อโต้แย้งต่อศาล

                   ในเรื่องนี้ดูเหมือน กกต. เองก็ไม่แน่ใจอยู่ เพราะมีข่าวออกมาว่า กกต. เกรงว่าจะถูกฟ้องให้เป็นโมฆะ เพราะไม่ได้จัดให้มีขึ้นในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ซึ่งในเรื่องนี้ กกต. ออกจะไม่รอบคอบ เพราะทางที่ถูก กกต. ในฐานะผู้รับผิดชอบในการจัดให้มีการเลือกตั้งให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ กกต. ควรต้องพิจารณาในประเด็นนี้ให้เป็นที่ยุติในหมู่ กกต. เสียก่อน ถ้า กกต. เห็นว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้ว จะเดินหน้าต่อไปตามใจรัฐบาลก็เดินหน้าไปได้  แต่ถ้า กกต. เองก็เห็นว่าการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ หัวเด็ดตีนขาด กกต. ก็จัดให้มีการเลือกตั้งต่อไปไม่ได้ ไม่ว่ารัฐบาลจะว่าอย่างไร ต้องการอย่างไร ก็ไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้ กกต. ทำในสิ่งที่ กกต. เห็นว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐบาลยืนยันให้ กกต. เดินหน้า และ กกต. ไม่อาจเดินหน้าได้ ก็อาจถือเป็นกรณีขัดแย้งกันที่จะสามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ถ้าทำได้เช่นนี้ กกต. ก็จะปลอดภัย

                   แต่น่าเสียดายที่ กกต. ไม่ได้ทำเช่นนั้น  ดังนั้น ถ้าภายหลังศาลวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ กกต. ก็อาจพลอยต้องไปรับผิดชอบในผลนั้น ส่วนรัฐบาลน่ะ ถึงตอนนั้นท่านก็คงปฏิเสธว่าท่านมิได้เป็นคนจัดการเลือกตั้ง ท่านมีแต่ความอยากให้มีการเลือกตั้งตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา


                                                                   มีชัย ฤชุพันธุ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น