วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557

ความเป็นกลางในการตีความกฎหมาย

นายปกรณ์ นิลประพันธ์[1]

[1]                การตีความหรือการให้ความหมาย (Construal or Interpretation) ในเรื่องต่าง ๆ นั้น มีหลากหลายวิธี แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีใดต่างก็มีวัตถุประสงค์สุดท้าย (Ultimate purpose) อย่างเดียวกัน นั่นก็คือ เพื่อให้เจตนารมณ์ที่แท้จริงของเรื่องนั้นปรากฏขึ้น

[2]                วัตถุประสงค์ของการตีความกฎหมายก็หาได้แตกต่างจากหลักการตีความดังกล่าวข้างต้นไม่ แม้ระบบกฎหมายจะแบ่งออกเป็น 2 ระบบใหญ่ ๆ คือ ระบบจารีตประเพณี (Common Law System) กับระบบประมวลธรรม (Civil Law System) และแต่ละระบบกฎหมายต่างก็มี “นิติวิธี” (Juristic methods) หรือการใช้การตีความกฎหมายที่แตกต่างกัน แต่การตีความกฎหมายของทั้งสองระบบต่างก็มุ่งไปสู่วัตถุประสงค์เช่นเดียวกัน นั่นก็คือ เพื่อให้ทราบถึงความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย อันจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรม

[3]                ในบทความนี้ ผู้เขียนจะไม่กล่าวถึงรายละเอียดของนิติวิธีในการตีความกฎหมายของทั้งระบบกฎหมายจารีตประเพณี[2] และการตีความกฎหมายของระบบประมวลธรรม[3] เนื่องจากมีตำราว่าด้วยวิธีการตีความกฎหมายของนักวิชาการหลายท่านได้อรรถาธิบายไว้โดยพิสดารแล้ว แต่จะขอกล่าวถึงหลักเกณฑ์ที่เป็นกรอบในการตีความกฎหมายที่ไม่มีใครพูดถึง นั่นก็คือ ความเป็นกลางในการตีความกฎหมาย

[4]                ผู้เขียนเห็นว่าการให้ความเห็นทางกฎหมายของนักกฎหมายกับการพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาหรือตุลาการนั้นต่างก็เป็นการตีความกฎหมายและมี “เนื้อหา” เป็นอย่างเดียวกัน เพราะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น (กรณีนักกฎหมายทั่วไป) หรือเพื่อนำไปใช้ในการพิพากษาอรรถคดีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่กรณี (กรณีผู้พิพากษาหรือตุลาการ)

[5]                อย่างไรก็ดี “ผลที่เกิดขึ้น” ของการให้ความเห็นทางกฎหมายของนักกฎหมายทั่วไปในวาระและโอกาสต่าง ๆ กับการพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาหรือตุลาการนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากการให้ความเห็นทางกฎหมายของนักกฎหมายทั่วไปนั้นมีผลกระทบต่อความรู้ความเข้าใจของสังคมที่มีต่อกฎหมายในวงกว้างเพราะนักกฎหมายทั่วไปนั้นสัมผัสใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งต้องดำรงตนตามกรอบจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ และการตีความกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาหรือตุลาการก็มีผลผูกพันเฉพาะคู่กรณีเท่านั้น อีกทั้ง “การเข้าถึง” คำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของผู้พิพากษาหรือตุลาการนั้นยังมีข้อจำกัดอยู่มาก

[6]                แม้การให้ความเห็นทางกฎหมายของนักกฎหมายทั่วไปจะมี ผลกระทบ ที่กว้างขวางกว่าการตีความกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาหรือตุลาการดังกล่าวข้างต้น แต่นักกฎหมายส่วนใหญ่กลับมิได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการให้ความเห็นทางกฎหมายของตน นักกฎหมายจำนวนมากจึงมิได้วางจิตให้เป็นกลางในการให้ความเห็นทางกฎหมายทั้งที่เรื่องดังกล่าวเป็นหัวใจสำคัญของการตีความกฎหมายของผู้พิพากษาหรือตุลาการในการพิพากษาอรรถคดี การให้ความเห็นของนักกฎหมายส่วนใหญ่จึงมิได้คำนึงถึงวัตถุประสงค์สุดท้าย (Ultimate purpose) ของการตีความกฎหมายที่มุ่งหมายให้ให้เจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายนั้นปรากฏขึ้นเนื่องจากมิได้มีจิตเป็นกลางมาแต่ต้น และหลายกรณีเป็นการให้ความเห็นโดยมิได้อยู่บนพื้นฐานของนิติวิธี (Juristic Method) ในการตีความกฎหมาย

[7]                ดังนี้ การให้ความเห็นทางกฎหมายของนักกฎหมายจำนวนมากที่ละเลยหลักการข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อดังกล่าวข้างต้น จึงให้ผลที่ไม่สมเหตุสมผลหรือ “แปลกประหลาด” (Absurd) อยู่เสมอ อันทำให้สังคมเกิดความสับสนและขาดความเชื่อถือศรัทธาที่มีต่อนักกฎหมายและผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายโดยรวม และสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล (Absurd norms) ขึ้นในสังคม ทั้งยังส่งผลให้ผู้ประกอบอาชีพอื่น ๆ เข้ามาร่วมตีความกฎหมายด้วยทั้งที่ไม่เคยศึกษาหลักการและนิติวิธีในการตีความกฎหมาย ซึ่งยิ่งทำให้สังคมสับสนมากยิ่งขึ้น เช่น การให้ความเห็นว่าบุคคลกระทำที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดเป็นการกระทำที่บกพร่องโดยสุจริต การให้ความเห็นว่าบุคคลมิได้กระทำความผิดตามกฎหมายเพียงแต่กระทำการอันกฎหมายห้าม การให้ความเห็นว่าเสียงข้างมากเป็นเผด็จการ การให้ความเห็นว่าการชุมนุมในที่สาธารณะเป็นการใช้สิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรอง ผู้ชุมนุมจึงย่อมปิดกั้นถนนหนทางใด ๆ หรือบุกรุกเข้าไปในหรือปิดกั้นสถานที่ราชการได้ การให้ความเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีในบางกรณีไม่ต่างจากบุรุษไปรษณีย์ เป็นต้น

[8]                ผู้เขียนเห็นว่าโดยที่การให้ความเห็นทางกฎหมายของนักกฎหมายกับการพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาหรือตุลาการนั้นมีเนื้อหาอย่างเดียวกันดังกล่าวแล้วใน [4] นักกฎหมายซึ่งจะแสดงอรรถกถาหรือให้ความเห็นทางกฎหมายในเรื่องใด ๆ จึงต้องกระทำโดยมีจิตเป็นกลางเช่นเดียวกับการพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาหรือตุลาการ ศึกษาวิเคราะห์และอธิบายตรรกะของเรื่องตามนิติวิธีในการตีความกฎหมาย โดยมุ่งหมายให้ให้เจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายนั้นปรากฏขึ้น มิใช่เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของผู้ใดหรือแนวทางที่ตนเองจะได้ประโยชน์

[9]                โดยที่การทำจิตให้เป็นกลางในการพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาหรือตุลาการนั้นนักกฎหมายไทยยึดถือตามหลัก “อินทภาษ” มาแต่โบราณ แต่โดยที่หลักการนี้ไม่มีการอบรมสั่งสอนกันในมหาวิทยาลัยเนื่องจากไม่ถือว่าเป็นศาสตร์ หากเป็นจารีตปฏิบัติในการประกอบวิชาชีพซึ่งก็มิได้มีการอบรมสั่งสอนกันอย่างจริงจัง ผู้เขียนจึงใคร่ขอถือโอกาสนี้คัดลอกหลักอินทภาษตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายตราสามดวงมาเพื่อท่านผู้อ่านได้ศึกษาและยึดถือเป็นหลักปฏิบัติเพื่อให้มีจิตใจที่เป็นกลางในการประกอบอาชีพและการให้ความเห็นทางกฎหมาย เพื่อป้องกันมิให้มีการให้ความเห็นทางกฎหมายที่สร้างความสับสนแก่สังคมอีกต่อไป โดยผู้เขียนคัดลอกมาจากหนังสือ เรื่อง กฎหมายเมืองไทย จัดพิมพ์โดยมิศเตอร์ ดีบีบรัดเล พิมพ์ครั้งที่ 8 จุลศักราช 1251 ปีฉลูเอกศก หน้า 29-30 ดังนี้

[10]               "ในเทวอรรถาธิบายว่า บุทคลผู้ใดจะเปนผู้พิภาคษาตัดสินคดีการแห่งมนุษนิกรทั้งหลาย พึงกระทำสันดาน ให้นิราศปราศจากอะคติธรรมทั้ง ๔ คือ ฉันทาคติ ๑ โทสาคติ ๑ ภะยาคติ ๑ โมหาคติ ๑ ทั้ง ๔ ประการนี้เปนทุจริตธรรม อันมิได้สอาจ มิได้เปนของแห่งสัปรุษแล้ว ธรรมทั้ง ๔ เรียกว่าอะคตินั้น ด้วยเหตุเป็นดังฤา อะคตินั้นแปลว่ามิได้เป็นที่ดำเนินแห่งสัปรุษ และฉันทะ ๑ โทสะ ๑ ไภยะ ๑ โมหะ ๑ ธรรมทั้ง ๔ นี้ นักปราชมิควรถึงมิคงรดำเนินไปตาม และฉันทะนั้นถ้าจะว่าตามภูมก็เปนอัญญัสะมาณะราษีเจตสิก กุศลเกิดได้ฝ่ายอกุศลก็เกิดได้ แต่ทว่าเอามาจัดเข้าในคตินี้ ฉันทะนั้นเปนอกุศลจิตโดยแท้ แลโทสะ ไภยะ โมหะ สามด้วงนี้ เปนอะกุศลเจตสิกฝ่ายเดียว แลซึ่งว่าผู้พิภาคษาปราศจากฉันทาคตินั้น คือทำจิตรให้นิราศจากโลภ อย่าได้เหนแก่ลาภโลกามิตรสินจ้างสินบน อย่าได้เข้าด้วยฝ่ายโจทยฝ่ายจำเลยเป็นเหตุจะได้วิญญาณพัศดุ แสอวิญญาณพัศดุ ให้กระทำจิตรให้เปนจัตุรัศเที่ยงแท้ เปนนท่ำกลางดังตราชูยกขึ้น อย่าได้กดขี่ฝ่ายโจทยฝ่ายจำเลย ยกข้างฝ่ายโจทย กดข้างฝ่ายจำเลย ให้พ่ายแพ้แก่กันลงด้วยอำนาจของตน ถึงมาทว่าผู้ต้องคดีนั้นจะเปนเผ่าพันธุ เปนต้นว่าบิดามารดาก็ดี อย่าพึงเข้าด้วยสามารถฉันทาคติ อันมิควรจะพึงไป จงทำจิตรให้ตั้งอยู่ในอุเบกขาญาณ จึ่งได้ชื่อว่าเปนองคตุลาการ มีอาการอันเสมอเหมือนด้วยตราชูให้พิจารณาไต่ไปตามพระธรรมสาตรราชสาตร อันโบราณบัณฑิตยชาติ และกระษัตริยแต่ป่างก่อนบัญญัติไว้อย่าให้พลั้งพลาด แลผู้พิภาคษาตระลาการ ไต่ไปโดยคลองธรรมดังกล่าวมานี้ ได้ชื่อว่าปราศจากฉันทาคติ คืออะคติเป็นประถม ๑ ฯ แลปราศจากโทสาคตินั้นคือให้ผู้พิภาคษาตระลาการ ทำจิตรให้เสมอ อย่าได้ไต่ไปตามอำนาจโทสาพยาบาท จองเวรว่าผู้นั้นเปนปฏิปักข ฆ่าศึกผิดกันกับอาตมา อย่ากระทำซึ่งความโกรธ แลเวรพยาบาทเปนเบื้องน่า แล้วแลพิจารณากดขี่ให้พ่ายแพ้ ถึงมาทว่าฝ่ายโจทยฝ่ายจำเลยก็ดีจะเปนคนฆ่าศึกผิดกันกับตนอยู่ในกาลก่อน ก็อย่าได้ปล่อยซึ่งจิตร ให้ไต่ไปตามอำนาจโทสาคติ พึงดำเนินไปตามพระธรรมสาตรราชสาตร แลตั้งจิตรไว้ในมัชตุเบกขาให้แน่แน่ว แล้วจึ่งพิจารณาตัดสินเป็นท่ำกลาง อย่าให้ฝ่ายโจทยฝ่ายจำเลยแพ้ชนะกันด้วยอำนาจโทสะจิตรจองเวรแห่งตน เมื่อตระลาการพิภาคษาผู้ใดประพฤติได้ดังกล่าวมานี้ ได้ชื่อว่าพิภาคษาตระลาการผู้นั้นปราศจากโทสาคติ มิได้ตามอะคติเป็นคำรบสอง ฯะ"

[11]              ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นักกฎหมายผู้ซึ่งจะให้ความเห็นทางกฎหมายในเรื่องใด ๆ ภายหลังจากที่ได้อ่านบทความนี้แล้ว จะได้ปฏิบัติตามหลักอินทภาษเพื่อทำจิตให้เป็นกลางก่อนให้ความเห็นทางกฎหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย และโดยถูกต้องตามนิติวิธีในการตีความกฎหมายต่อไป

                   “นัตวาชินาหังปะวะรังมุนินทัง ธัมมัญจะสังฆังวะระอัฐฐะสาธังวักขามิเสฐฐังวะระอินทภาสัง ปรัมปราภัตะกะวานสารัง ฯ อะหัง นัตวาชินัง มุนุนทัง เสฐฐัง ปะวะรัง จะปะนะเกวะละเมวะ นัตวาธัมมัง ปริญัติ จะปะนะเกวะละเมวะ นัตวาสังฆัง วะระอัตถสาธัง วักขามิ คัณฐัง อินทภาสัง ปรัมปราภัตตะกะถานุสารัง วะรัง

                   




[1]กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (2557) อนึ่ง บทความนี้เป็นความคิดเห็นทางวิชาการโดยอิสระส่วนบุคคลของผู้เขียน หน่วยงานอันเป็นต้นสังกัดของผู้เขียนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับบทความนี้
[2]ได้แก่ Literal rule, Golden rule และ Mischief rule
[3]ได้แก่ Literal Approach กับ Purposive Approach 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น