วันอังคารที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2561

เกร็ดการร่างกฎหมาย 14: ข้าราชการการเมือง กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์

                   การเมือง” เป็นเรื่องที่ผู้คนบ้านเราให้ความสนใจมาก มากกว่าเรื่องปากเรื่องท้องของพี่น้องประชาชนอีก และมีจำนวนไม่น้อยที่หายใจเข้าหายใจออกเป็นการเมืองไปหมด เป็นอย่างนี้มาหลายสิบปีแล้ว เพราะอะไรผู้เขียนก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่จากความชอบอันลึกซึ้งนี้ น่าจะสันนิษฐานได้ว่าบรรดาเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองนั้นเป็นเรื่องที่คนไทยน่าจะเข้าอกเข้าใจกันดีที่สุด

              แต่มีเรื่องหนึ่งครับที่มีการถามวนไปวนมา จนปัจจุบันนี้ก็ยังถามกันอยู่อีก นั่นคือคำว่า ข้าราชการการเมือง กับ ผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง หรือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นั้นต่างกันอย่างไรเพราะกฎหมายบางฉบับใช้ ข้าราชการการเมือง บางฉบับใช้ ผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง หรือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลายฉบับใช้มันทุกคำเลยก็มี

                   จริง ๆ แล้ว คำว่า “ข้าราชการการเมือง นั้นหมายถึง ผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นข้าราชการฝ่ายการเมือง ซึ่งอาจจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองในฝ่ายบริหาร เช่น นายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. ๒๕๓๕ หรืออาจจะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองในฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น ที่ปรึกษาประจำรัฐสภา หรือเลขานุการประธานรัฐสภาตามมาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายรัฐสภา พ.ศ. ๒๕๑๘ หรืออาจเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในราชการส่วนท้องถิ่น เช่น เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือเลขานุการประธานสภากรุงเทพมหานครตามมาตรา ๕๘ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘

                   ส่วน ผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง หรือ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือ รวมทั้งถ้อยคำอื่นในลักษณะเดียวกันนั้น หมายถึงผู้ดำรงตำแหน่งที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารประเทศ หรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งเป็นถ้อยคำที่มีความหมายกว้างกว่าคำว่า ข้าราชการการเมือง โดยรวมถึงบรรดาผู้ที่รับผิดชอบงานด้านการเมืองทั้งหมด โดยงานการเมืองนั้นจะเป็นงานที่เกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย (policy) เพื่อให้ฝ่ายปกครองที่มีหน้าที่ปฏิบัติงานประจำรับไปบริหาร (administration) ให้เป็นไปตามนโยบายที่กำหนดนั้น ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงหมายถึงคณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา และผู้ดำรงตำแหน่งอื่นที่มีลักษณะเดียวกัน

                   เรื่องนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมใหญ่) ตีความไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ แล้วครับ

                   คงไม่งงแล้วนะครับ

                ลืมบอกไปนิดนึงครับ คำว่า ผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง นั้นปัจจุบันนักร่างกฎหมายเขาไม่ใช้กันแล้วนะครับ เขาใช้คำว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แทน ไม่ใช่แบบต่างกัน หรือมีนัยแตกต่างกันอะไรหรอก จริง ๆ เขาตั้งใจใช้คำว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาแต่แรกนั่นแหละ แต่ตอนพิมพ์ดันตกคำว่า “ทาง” ไปคำนึง!

                   เบื้องหลังมีเท่านี้เอง


ที่มา: เรื่องเสร็จที่ ๔๘๑/๒๕๓๕

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น