พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
พ.ศ. 2539 นั้น ได้มีผลใช้บังคับมากว่า 19 ปีแล้ว กฎหมายฉบับนี้กำหนดการดำเนินงานทางปกครองเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้บังคับกฎหมายให้สามารถรักษาประโยชน์สาธารณะได้
อำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชน รวมทั้งป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ
และมาตรการหนึ่งที่มีการบัญญัติไว้ในกฎหมายดังกล่าวเพื่อให้คำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่บรรลุวัตถุประสงค์ก็คือ
“การปรับทางปกครอง”
อย่างไรก็ดี
ในการร่างกฎหมายนั้นยังไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าควรใช้การปรับทางปกครองในกรณีใด ดังนั้น เมื่อมีใครถามขึ้นว่าทำไมไม่ใช้การปรับทางปกครอง
ผู้ตอบส่วนใหญ่ก็มักจะขายเหมากันว่าจะใช้ก็ได้ .. แล้วแต่จะเลือกใช้ตามสะดวก .. มีใช้ในกฎหมายนั้นบ้าง
กฎหมายนี้บ้าง โดยแบบ (ที่ลอกมา) เขาเขียนกันอย่างนี้ ... ก็ว่ากันไป
แท้จริงการปรับทางปกครองนั้นเป็นมาตรการบังคับทางปกครองประการหนึ่งที่กำหนดขึ้นเพื่อให้คำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่บรรลุวัตถุประสงค์
โดยมาตรการบังคับทางปกครองอื่นที่เราคุ้นเคยและลอกกันมาจนเคยชินก็ได้แก่การพักใช้
ยกเลิก หรือเพิกถอนใบอนุญาต
ทั้งนี้ การปรับทางปกครองต่างจากโทษปรับทางอาญา
กล่าวคือ การปรับทางปกครองมิใช่การลงโทษ หากเป็นมาตรการบังคับเพื่อให้คำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่บรรลุผลเท่านั้น
และเจ้าหน้าที่เป็นผู้มีคำสั่งปรับทางปกครองได้เอง
โดยไม่ต้องดำเนินคดีต่อศาลเพื่อให้ศาลลงโทษปรับ แต่เนื่องจากแปลมาจากภาษาอังกฤษว่า Administrative Penalties
คนจำนวนมากที่ยึดติดกับดิกชั่นนารีอังกฤษ-ไทย ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด (รวมทั้งนักร่างกฎหมายจำนวนมากด้วย)
จึงเข้าใจและเรียกว่า "โทษปรับทางปกครอง” และทำให้เกิดความสับสนกับ “โทษปรับทางอาญา”
(Fine)
ความสับสนข้างต้นจึงมักก่อให้เกิดคำถามอยู่เสมอว่าในการกระทำเดียวกันนั้น
ถ้ากฎหมายบัญญัติให้ผู้กระทำถูกปรับทางปกครองแล้ว กฎหมายจะบัญญัติโทษปรับแก่ผู้กระทำนั้นได้อีกหรือไม่ ... ซึ่งหากผู้ถูกถามเข้าใจหลักของการปรับทางปกครองที่ว่าการปรับทางปกครองมิใช่การลงโทษ
หากเป็นมาตรการบังคับเพื่อให้คำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่บรรลุผล
ก็จะตอบได้ทันทีว่ากฎหมายจะบัญญัติโทษปรับแก่ผู้กระทำนั้นได้หรือไม่
ไม่ใช่นั่งนิ่งเป็นตุ๊กตาแบบว่า
... ผมงี้อึ้งไปเลย ...
ในประเทศนอกที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังก้าวเดินไปข้างหน้านั้น
เขาใช้การปรับทางปกครองกันอย่างแพร่หลายในระบบอนุมัติ อนุญาต และใบอนุญาตเพราะเจ้าหน้าที่ผู้อนุมัติ
อนุญาต ออกใบอนุญาต (Regulator) สามารถออกคำสั่งปรับทางปกครองเพื่อให้คำสั่งทางปกครองของตนบรรลุผลได้ทันที
ไม่ต้องวุ่นวายไปดำเนินคดีอาญาให้เหนื่อยยากซึ่งต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายมาก และกระบวนการบังคับเอาค่าปรับทางปกครองของเขาก็ไว เพราะมิได้อิงกับกฎหมายวิธีพิจารณาความอย่างกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองของเรา
เพราะเขาเห็นว่าการบังคับเอาค่าปรับทางปกครองนั้นมิใช่การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลจึงเอาวิธีการบังคับแบบศาลมาใช้ไม่ได้
อีกทั้งเอกชนก็เห็นว่าเป็นธรรม เพราะกรณีที่เจ้าหน้าที่มีอำนาจกำหนดให้ชำระค่าปรับทางปกครองนั้นเป็นเรื่องเล็ก
ๆ น้อย ๆ ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงหรือเรื่องที่ผู้กระทำมีเจตนาร้าย (mens
rea) เป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ และเมื่อแก้ไขถูกต้องและชำระค่าปรับทางปกครองแล้วก็เป็นอันจบกัน
ไม่ต้องมีประวัติอาชญากรติดตัวเหมือนการถูกลงโทษปรับทางอาญา
ดังนั้น การเขียนอำนาจปรับทางปกครองในร่างกฎหมายจึงไม่ซ้ำกับโทษปรับทางอาญา แต่ต้องไม่ลืมว่าการปรับทางปกครองเป็นมาตรการเพื่อให้คำสั่งทางปกครองของเจ้าหน้าที่บรรลุผลเท่านั้น
อย่าได้เอามาตรฐานโทษอาญามาปรับล่ะ …
มันคนละเรื่องกันครับพี่น้อง
ข้อมูลอ้างอิง
พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
พ.ศ. 2539
Law Reform Commission of
Saskatchewan, Administrative Penalties: Final Report, March 2012
Australian Law Reform
Commission, Principled Regulation: Federal Civil and Administrative Penalties
in Australia: Final Report, March 2003
[1]กรรมการร่างกฎหมายประจำ
(นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (2558) อนึ่ง บทความนี้เป็นความเห็นทางวิชาการของผู้เขียน
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น