บันทึกหลักการและเหตุผล
ประกอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการนิคมแห่งประเทศไทย
(ฉบับที่ ..)
พ.ศ. ....
หลักการ
แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๒๒ ดังต่อไปนี้
(๑) แก้ไขเพิ่มเติมวัตถุประสงค์ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้ครอบคลุมการจัดให้มีนิคมอุตสาหกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศ
และเพื่อให้การประกอบกิจการของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคล่องตัวมากขึ้น
เพื่อให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างเต็มที่ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา
๖)
(๒) กำหนดให้การดำเนินการหรือการกระทำใดภายในนิคมอุตสาหกรรมที่มีกฎหมายกำหนดให้ผู้ดำเนินการหรือผู้กระทำต้องได้รับอนุมัติ
อนุญาต ใบอนุญาต หรือความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงาน พนักงานเจ้าหน้าที่
หน่วยงานของรัฐ หรือคณะกรรมการตามกฎหมาย หรือต้องจดทะเบียนหรือแจ้งให้เจ้าหน้าที่
เจ้าพนักงาน พนักงานเจ้าหน้าที่ หน่วยงานของรัฐ
หรือคณะกรรมการตามกฎหมายนั้นทราบก่อน ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
แต่การอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน
หรือรับแจ้งซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงาน พนักงานเจ้าหน้าที่
หน่วยงานของรัฐ หรือคณะกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการหรือผู้ซึ่งผู้ว่าการมอบหมาย
เพื่อให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสามารถให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จภายในนิคมอุตสาหกรรมได้อย่างสมบูรณ์
โดยเรียกเก็บค่าบริการเพิ่มได้ (เพิ่มเติมมาตรา ๔๓/๑ มาตรา ๔๓/๒ และมาตรา ๔๓/๓)
(๓) แก้ไขเพิ่มเติมให้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบพาณิชยกรรมอาจได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดในนิคมอุตสาหกรรมหรือในเขตประกอบการเสรีเพื่อประกอบกิจการได้ตามจำนวนเนื้อที่ที่คณะกรรมการเห็นสมควรแม้ว่าจะเกินกำหนดที่จะพึงมีได้ตามกฎหมายอื่น
(แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา ๔๔ วรรคหนึ่ง)
(๔) แก้ไขเพิ่มเติมให้ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือวัตถุดิบภายในราชอาณาจักรที่นำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีเพื่อพาณิชยกรรมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
ได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายในบังคับของกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักร
การส่งออกไปนอกราชอาณาจักร การครอบครองหรือการใช้ประโยชน์ซึ่งของดังกล่าว
หรือเกี่ยวกับการควบคุมมาตรฐานหรือคุณภาพ การประทับตราหรือเครื่องหมายใด ๆ
แก่ของนั้นด้วย เพื่อรองกับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา
๔๙ วรรคหนึ่ง)
เหตุผล
โดยที่กฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันไม่ครอบคลุมการจัดให้มีนิคมอุตสาหกรรมในต่างประเทศซึ่งทำให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(กนอ.) ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้อย่างเต็มที่ และกฎหมายปัจจุบันไม่เปิดช่องให้
กนอ.จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องกับกิจการของ
กนอ. นอกจากนี้ ผู้ว่าการ กนอ.
มีอำนาจอนุมัติอนุญาตในเขตนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะกฎหมายว่าด้วยโรงงาน กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการก่อสร้างอาคาร
และกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองเท่านั้น ทำให้ กนอ.
ไม่สามารถให้บริการแก่ผู้ประกอบกิจการในนิคมอุตสาหกรรมแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จได้ อีกทั้งบทบัญญัติเกี่ยวกับของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือวัตถุดิบภายในราชอาณาจักรที่นำเข้าไปในเขตประกอบการเสรีก็ไม่ครอบคลุมการนำเข้ามาเพื่อพาณิชยกรรม
อันทำให้ กนอ. ไม่สามารถพัฒนานิคมอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ สมควรแก้ไขบทบัญญัติดังกล่าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้
ร่าง
พระราชบัญญัติ
การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(ฉบับที่ ..)
พ.ศ. ....
.........................................
.........................................
.........................................
.............................................................................................................................................................................
โดยที่เป็นการสมควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
..............................................................................................................................................................................
มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า
“พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่
..) พ.ศ. .... ”
มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
มาตรา ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๖
แห่งพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๖ ให้จัดตั้งการนิคมอุตสาหกรรมขึ้น เรียกว่า
“การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย” เรียกโดยย่อว่า
“กนอ.” และให้เป็นนิติบุคคล
มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(๑) การจัดให้ได้มาซึ่งที่ดินที่เหมาะสมทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อจัดตั้งหรือขยายนิคมอุตสาหกรรมหรือเพื่อดำเนินธุรกิจอื่นที่เป็นประโยชน์
หรือเกี่ยวเนื่องกับ กนอ.
(๒) การปรับปรุงที่ดินตาม (๑)
เพื่อให้บริการ ตลอดจนจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินงานและการดำรงชีวิตที่ดีของผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบพาณิชยกรรม
และผู้ประกอบกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์หรือเกี่ยวเนื่องกับการประกอบอุตสาหกรรมหรือการพาณิชยกรรม
เช่น การจัดให้มีที่พักอาศัย ถนน ไฟฟ้า ประปา ท่าเรือ ระบบการขนส่ง ระบบระบายน้ำ ระบบสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ
ระบบป้องกันอุบัติภัย ระบบควบคุมและจัดการน้ำเสีย ขยะมูลฝอย และมลภาวะอื่น
ระบบการบำรุงรักษาสิ่งแวดล้อม ระบบรักษาความปลอดภัย เป็นต้น
(๓) การให้เช่า ให้เช่าซื้อ
และขายอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ในนิคมอุตสาหกรรมหรือเพื่อประโยชน์แก่กิจการของนิคมอุตสาหกรรมโดยตรง
(๔)
จัดตั้งบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดเพื่อประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือต่อเนื่องกับกิจการของ
กนอ.
(๕) เข้าร่วมกิจการหรือร่วมดำเนินงานกับหน่วยงานอื่นไม่ว่าจะเป็นของเอกชนหรือของรัฐทั้งในประเทศและนอกประเทศ
หรือกับองค์การระหว่างประเทศ หรือถือหุ้นในบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนจำกัด ทั้งนี้
เพื่อประโยชน์แก่กิจการอันอยู่ในวัตถุประสงค์ของ กนอ.
(๖)
การส่งเสริมและควบคุมนิคมอุตสาหกรรมของเอกชนหรือของหน่วยงานของรัฐ”
มาตรา ๔ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา ๔๓/๑ และมาตรา
๔๓/๒ และมาตรา ๔๓/๓ แห่งพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒
“มาตรา ๔๓/๑ บรรดาการดำเนินการหรือการกระทำใดภายในนิคมอุตสาหกรรมที่มีกฎหมายกำหนดให้ผู้ดำเนินการหรือผู้กระทำต้องได้รับอนุมัติ อนุญาต ใบอนุญาต
หรือความเห็นชอบจากเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงาน พนักงานเจ้าหน้าที่ หน่วยงานของรัฐ หรือคณะกรรมการตามกฎหมาย
หรือต้องจดทะเบียนหรือแจ้งให้เจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงาน พนักงานเจ้าหน้าที่
หน่วยงานของรัฐ หรือคณะกรรมการตามกฎหมายนั้นทราบก่อน
ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น แต่การอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต
ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน หรือรับแจ้งซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่
เจ้าพนักงาน พนักงานเจ้าหน้าที่ หน่วยงานของรัฐ
หรือคณะกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการหรือผู้ซึ่งผู้ว่าการมอบหมาย
ในการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ
รับจดทะเบียน หรือรับแจ้งตามวรรคหนึ่ง ผู้ว่าการหรือผู้ซึ่งผู้ว่าการมอบหมายต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์
วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้กฎหมายว่าด้วยการนั้น และต้องแจ้งผลการอนุมัติ
อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน หรือรับแจ้งดังกล่าวให้เจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงาน
พนักงานเจ้าหน้าที่ หน่วยงานของรัฐ
หรือคณะกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นทราบด้วยตามวิธีการที่เจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงาน พนักงานเจ้าหน้าที่ หน่วยงานของรัฐ หรือคณะกรรมการตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นกำหนด
ความในวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับแก่การดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
มาตรา ๔๓/๒
ในกรณีที่เห็นสมควร ผู้ว่าการจะทำความตกลงกับเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงาน พนักงานเจ้าหน้าที่ หน่วยงานของรัฐ หรือคณะกรรมการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อส่งเจ้าหน้าที่ซึ่งมีความรู้ความชำนาญในการอนุมัติ
อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน หรือรับแจ้งตามาตรา ๔๓/๑
มาช่วยเหลือ แนะนำ หรือร่วมปฏิบัติหน้าที่กับเจ้าหน้าที่ของ กนอ.
เพื่อให้การอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน หรือรับแจ้ง
เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกันก็ได้
มาตรา ๔๓/๓ ในการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต
ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน หรือรับแจ้งตามมาตรา ๔๓/๑ ให้ผู้ว่าการหรือผู้ซึ่งผู้ว่าการมอบหมายเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามที่กฎหมาย
ข้อบัญญัติ หรือเทศบัญญัติกำหนดไว้ และให้ส่งเป็นรายได้ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ
หน่วยงานอื่นของรัฐ
หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอำนาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมนั้น
ให้ กนอ. มีอำนาจเรียกเก็บค่าบริการในการอนุมัติ
อนุญาต ออกใบอนุญาต ให้ความเห็นชอบ รับจดทะเบียน หรือรับแจ้งนอกเหนือจากค่าธรรมเนียมตามวรรคหนึ่ง
ไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการกำหนด
เงินค่าบริการดังกล่าวให้ส่งเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่นิคมอุตสาหกรรมนั้นตั้งอยู่ในอัตราร้อยละสิบของค่าบริการที่เรียกเก็บได้
ถ้าพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมนั้นครอบคลุมพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเกินหนึ่งองค์กร
การจัดสรรเงินตามวรรคสองให้เป็นไปตามที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตกลงกัน ในกรณีที่ตกลงกันไม่ได้
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดังกล่าวเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ถ้ามีผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องมากกว่าหนึ่งจังหวัด
ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกันเพื่อวินิจฉัยชี้ขาด”
มาตรา ๕ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๔๔
แห่งพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๒๒
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.
๒๕๓๙ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๔๔ ผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้ประกอบพาณิชยกรรมอาจได้รับอนุญาตให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออาคารชุดในนิคมอุตสาหกรรมหรือในเขตประกอบการเสรี
แล้วแต่กรณี เพื่อประกอบกิจการได้ตามจำนวนเนื้อที่ที่คณะกรรมการเห็นสมควรแม้ว่าจะเกินกำหนดที่จะพึงมีได้ตามกฎหมายอื่น”
มาตรา ๖ ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๕๐ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา ๔๙ ในกรณีการนำของเข้ามาในราชอาณาจักรหรือนำวัตถุดิบภายในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตประกอบการเสรีเพื่อผลิต
ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการอื่นใดกับของนั้น หรือเพื่อพาณิชยกรรม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
ให้ของนั้นได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายในบังคับของกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวกับการควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักร
การส่งออกไปนอกราชอาณาจักร การครอบครองหรือการใช้ประโยชน์ซึ่งของดังกล่าว
หรือเกี่ยวกับการควบคุมมาตรฐานหรือคุณภาพ การประทับตราหรือเครื่องหมายใด ๆ
แก่ของนั้น แต่ไม่รวมถึงกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์
วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด”
มาตรา ๗ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
......................................
นายกรัฐมนตรี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น