วันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ร่างรัฐธรรมนูญกับความพยายามในการบิดเบือน : กรณีการศึกษา โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์

รัฐนั้นมีพันธกิจในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ 

พันธกิจสำคัญนี้บัญญัติไว้ชัดเจนในมาตรา 3 วรรคสอง ของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการบัญญัติพันธกิจนี้ไว้ ทั้งนี้ เพื่อยืนยันหลักกฎหมายมหาชนที่ว่าการกระทำของรัฐต้องมีกฎหมายให้อำนาจ จึงจำเป็นต้องมีการให้อำนาจทั่วไปแก่รัฐในการกระทำใด ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวมไว้ด้วย 

ดังนั้น การใด ๆ ที่เป็นการบำบัดทุกข์บำรุงสุขของปวงชนชาวไทยไม่ว่าหมู่ใด เหล่าใด ศาสนาใด รัฐย่อมสามารถกระทำได้โดยอาศัยอำนาจทั่วไปตามมาตรา 3 วรรคสองนี้ แต่สำหรับการกระทำหรือการดำเนินการที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม รัฐย่อมไม่มีอำนาจที่จะกระทำ นอกจากนี้ การใดที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายห้ามรัฐกระทำ ย่อมเป็นเด็ดขาดว่ารัฐกระทำการนั่นไม่ได้

ในการนี้ ร่างรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้มีหมวดหน้าที่ของรัฐขึ้น เพื่อให้รัฐทำหน้าที่ที่สำคัญบางเรื่องให้แก่ประชาชนและชุมชนโดยที่ประชาชนและชุมชนไม่ต้องร้องขอ บางเรื่องกำหนดระยะเวลาไว้ด้วย บางเรื่องกำหนดมาตรฐานไว้ด้วย จึงมีศรีธนนชัยและตาเถรออกมาให้ความเห็นกันจนสร้างความไขว้เขวให้แก่พี่น้องประชาชนว่า รัฐจะทำสิ่งที่ดีกว่าเวลาหรือมาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่ได้ ถ้าทำเกินไปจะผิดรัฐธรรมนูญ??

ว่าเข้าไปนั่นเลย!!!

เข้าใจว่าตาเถรหรือพ่อศรีแม่ศรีเหล่านั้นคงไม่ได้อ่านมาตรา 3 วรรคสอง ของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้นที่กำหนดให้รัฐต้องกระทำแต่การอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม คงเป็นเพราะมาตรา 3 อยู่ในบททั่วไปซึ่งไม่มีใครสนใจจะอ่านทั้ง ๆ ที่ "บททั่วไป" นั้นเป็น "กระดูกสันหลัง" ของร่างรัฐธรรมนูญ และรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมา

หากท่านเหล่านั้น "อ่าน" มาตรา 3 วรรคสอง ประกอบสักหน่อย ก็จะเห็นได้ว่าระยะเวลาก็ดี มาตรฐานก็ดี ดังที่กำหนดไว้ในหมวดหน้าที่ของรัฐนั้น เป็นระยะเวลาหรือมาตรฐาน "ขั้นต่ำ" ที่รัฐต้องจัดให้แก่ประชาชนโดยที่ประชาชนไม่ต้องร้องขอเท่านั้น ไม่ใช่ว่ารัฐจะทำให้มากกว่านั้นหรือดีกว่านั้นไม่ได้

ก็ทำไมจะทำไม่ได้เล่าถ้าเรื่องนั้นเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม 

ในทางตรงข้าม การตีความให้รัฐทำ "สิ่งที่ดีกว่ามาตรฐานที่กำหนด" ไม่ได้จึงเป็นการตีความที่ให้ผลแปลกประหลาดอย่างแท้จริง 

ยกตัวอย่างเรื่องการศึกษา ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องจัดการศึกษาโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนจบการศึกษาภาคบังคับเป็นเวลา 12 ปี กับจัดให้เด็กเล็กอีก 2 ปี รวม 14 ปี ถ้ารัฐจะจัดการศึกษาโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายให้แก่เด็กมากกว่า 14 ปี ก็เป็นเรื่องที่รัฐ "ทำได้" เพราะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม ไม่ใช่เรื่องที่ไร้ประโยชน์ และไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะพวกพ้องของรัฐเท่านั้น เพราะเป็นประโยชน์ต่อลูกหลานไทยทุกคน

ทำดีกว่าที่กำหนดแล้วผิดนี่สิจึงเป็นเรื่องแปลกประหลาด ไม่มีที่ไหนในโลกเขาคิดเพี้ยน ๆ แบบนี้ได้หรอกครับ Thailand Only!!!

โดยนัยเดียวกัน ถ้ารัฐจะสนับสนุนการศึกษาด้านศาสนา ไม่ว่าศาสนาใด รัฐก็ย่อมกระทำได้โดยอาศัยอำนาจทั่วไปตามมาตรา 3 วรรคสอง ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เพราะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม เพราะทุกศาสนาสอนให้ทุกคนเป็นคนดี ไม่โกงไม่กิน ไม่เห็นแก่ตัว จึงไม่ใช่ว่าไม่เขียนไว้แล้วรัฐจะส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาศาสนาอื่น ๆ ไม่ได้

เมื่อไรศรีธนนชัยกับตาเถรจะหมดไปจากสังคมไทยเสียทีก็ไม่รู้!

เบื่อมากมาย!!!

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น