วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

การพัฒนากฎหมายขัดกัน: กรณีศึกษาของประเทศญี่ปุ่น โดยนางสาวปิยวรรณ ซอน

การพัฒนากฎหมายขัดกัน: กรณีศึกษาประเทศญี่ปุ่น

                                                                     นางสาวปิยวรรณ  ซอน
                                                                    นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ
                                                                    สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

๑. บทนำ

                    พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช ๒๔๘๑ ได้มีการใช้บังคับมายาวนานกว่า ๗๐ ปี แต่เมื่อเปรียบเทียบกับนานาประเทศแล้วอาจกล่าวได้ว่าความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ ยังไม่ได้มีให้เห็นอย่างเด่นชัด ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ ภาค ๓ ในส่วนของหนี้ได้มีการบัญญัติเกี่ยวกับกฎหมายที่ใช้กับเรื่องสัญญาและหนี้ซึ่งเกิดจากการละเมิดไว้ด้วยกัน โดยในส่วนของสัญญาพระราชบัญญัติฯ ได้ยึดหลักเสรีภาพในการแสดงเจตนาเลือกกฎหมายของคู่สัญญา (party autonomy) ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๓ ว่า กฎหมายที่ใช้บังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญหรือผลแห่งสัญญากำหนดให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี หากไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือโดยปริยายได้ ถ้าคู่สัญญามีสัญชาติอันเดียวกัน กฎหมายที่จะใช้บังคับก็ได้แก่กฎหมายสัญชาติอันร่วมกันแห่งคู่สัญญา ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติอันเดียวกัน ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น

                   สำหรับหนี้ซึ่งเกิดจากการละเมิด มาตรา ๑๕ กำหนดว่า หนี้ซึ่งเกิดจากการละเมิด ให้บังคับตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ข้อเท็จจริงซึ่งทำให้เป็นการละเมิดนั้นได้เกิดขึ้น โดยวรรคสอง กำหนดว่าความในวรรคก่อนไม่ใช้แก่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในต่างประเทศซึ่งไม่เป็นการละเมิดตามกฎหมายสยาม  นอกจากนี้ วรรคสามกำหนดว่า ฝ่ายที่ต้องเสียหายจะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หรือทางแก้อย่างใดไม่ได้นอกจากที่กฎหมายสยามยอมให้เรียกร้องได้ ซึ่งในส่วนนี้ รายงานการประชุมอนุกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติวางกฎเกณฑ์วินิจฉัยข้อขัดกันระหว่างกฎหมายของนานาประเทศ ครั้งที่ ๔๙/๒๔๘๑ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๘๑ หน้า ๑๖๗[๑] ระบุว่า ในประเด็นนี้ กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าควรร่างตามกฎหมายญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม จากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต การกำหนดบทบัญญัติในลักษณะนี้อาจก่อให้เกิดปัญหาและผลที่ไม่เป็นธรรมกับคู่กรณีได้ ในการนี้ ผู้เขียนจึงขอหยิบยกประเด็นในส่วนของหนี้ซึ่งเกิดจากการละเมิดเพื่อเป็นตัวอย่างในการศึกษาเปรียบเทียบ โดยพิจารณาจากพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดการแห่งกฎหมายฯ และ Horei (Act on the Application of Laws (Act No.10 of 1898)) ของประเทศญี่ปุ่นที่ได้ตราขึ้นเมื่อ ค.ศ. ๑๘๙๘ หรือ พ.ศ. ๒๔๔๑ รวมถึงกฎหมายฉบับใหม่ Act on General Rules for Application of Laws ที่ตราขึ้นในปี ค.ศ. ๒๐๐๖ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นนี้ต่อไป

. Act on General Rules for Application of Laws (Act No. 78 of June 21, 2006) ของประเทศญี่ปุ่น

                    Horei (Act on the Application of Laws (Act No.10 of 1898)) เป็นกฎหมายขัดกันที่ตราขึ้นครั้งแรกเมื่อปีเมจิที่ ๓๑ (ค.ศ. ๑๘๙๘) เพื่อกำหนดเกี่ยวกับกฎหมายที่จะใช้กับนิติสัมพันธ์ที่มีองค์ประกอบต่างประเทศ[๒]  ทั้งนี้ ในสมัยรัฐบาลของนายโคอิซูมิ (Junichiro Koizumi)[๓] ประเทศญี่ปุ่นได้มีนโยบายในการปรับปรุงกฎหมายของประเทศให้มีความทันสมัย เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน รวมถึงเพื่อให้เป็นฐานในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป โดยรัฐบาลได้กำหนดให้กฎหมายขัดกันเป็นหนึ่งในกฎหมายที่จะต้องมีการปรับปรุงทั้งฉบับให้ทันสมัยมากขึ้น โดยสาเหตุของการปรับปรุงกฎหมายทั้งฉบับ คือ เพื่อปรับปรุงกฎหมายมีความเหมาะสม สามารถรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจในระดับระหว่างประเทศ ความหลากหลายของสังคม และสอดคล้องกับแนวโน้มของนานาประเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังได้มีการแก้ไขถ้อยคำจากถ้อยคำที่ได้ใช้มาตั้งแต่สมัยเมจิให้เป็นภาษาที่ใช้ในปัจจุบันด้วย[๔]

                    ประเด็นการปรับปรุงกฎหมายที่สำคัญ

                (๑) การให้ความสำคัญกับหลักเสรีภาพในการแสดงเจตนาเลือกกฎหมายของคู่สัญญา (party autonomy) (มาตรา ๗)[๕]
                    (๒) การให้คู่สัญญาสามารถเปลี่ยนกฎหมายที่ได้แสดงเจตนาเลือกไว้ภายหลังได้ (มาตรา ๙)[๖]
                    (๓) การกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคและผู้ใช้แรงงาน (มาตรา ๑๑ มาตรา ๑๒)[๗]
                 (๔) ในส่วนของละเมิด ในกฎหมายฉบับเดิมไม่ได้มีการแบ่งประเภทของละเมิดไว้ ซึ่งทำให้ไม่สามารถรองรับกรณีของการละเมิดซึ่งมีรูปแบบที่หลากหลายตามสภาพของการละเมิดที่จะเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ ในกฎหมายฉบับใหม่จึงได้มีความพยายามที่จะกำหนดประเภทของละเมิดที่แตกต่างออกไป เพื่อให้สามารถใช้กฎหมายที่ถือได้ว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่สุดกับการละเมิดแต่ละประเภท ดังนี้

                    บทบัญญัติเกี่ยวกับหนี้ซึ่งเกิดจากการละเมิด

                   มาตรา ๑๗ กำหนดว่า สาระสำคัญและผลของหนี้ที่เกิดจากการละเมิดให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ผลของการละเมิดได้เกิดขึ้น เว้นแต่กรณีที่ผลของการละเมิดนั้นไม่สามารถคาดการณ์ได้ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ละเมิดได้เกิดขึ้น[๘] การกำหนดเช่นว่านี้ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดซึ่งเกี่ยวข้องกับสถานที่มากกว่าสองแห่งขึ้นไป โดยใช้สถานที่ที่ผลของการละเมิดเกิดขึ้น และเพื่อให้เป็นการป้องกันปัญหาการไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า จึงกำหนดข้อยกเว้นไว้ว่า ในกรณีที่สถานที่ของผลของการละเมิดนั้นไม่สามารถคาดการณ์ได้ ให้เป็นไปตามกฎหมายของถิ่นที่ละเมิด

                    บทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับความรับผิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย (Product Liability)

                    มาตรา ๑๘ กำหนดว่า สินค้าที่ได้ส่งมอบแต่มีความบกพร่อง (defect) ซึ่งทำให้เกิดการละเมิดของผู้ผลิตสินค้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินนั้น สาระสำคัญและผลของการละเมิดให้เป็นไปตามกฎหมายของ ถิ่นที่ได้มีการส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้เสียหาย เว้นแต่กรณีที่ถิ่นที่ทำการส่งมอบเป็นสถานที่ที่ผู้ผลิตไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ให้เป็นไปตามกฎหมายของถิ่นที่ตั้งของสำนักงานหลักของผู้ผลิตสินค้านั้น ทั้งนี้ หากไม่มีสำนักงานหลักให้เป็นไปตามกฎหมายของภูมิลำเนาของผู้ผลิตสินค้าดังกล่าว

                    การกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับความรับผิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยโดยกำหนดให้เป็นไปตามกฎหมายของถิ่นที่ได้มีการส่งมอบสินค้า มีเหตุผลเนื่องจากสภาพความเป็นจริงของสถานที่ที่เกิดผลของการละเมิดจากสินค้ามีแนวโน้มที่จะคาดการณ์ได้ยากมากขึ้น เพราะสภาพสังคมปัจจุบันมีการเคลื่อนไหวของสินค้าและแรงงานอย่างรวดเร็วตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม บทบัญญัตินี้ไม่ครอบคลุมถึงบุคคลที่สาม (by stander) ที่รับมอบสินค้าต่อจากผู้บริโภคที่รับมอบสินค้าในครั้งแรก[๙] เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้ผลิตจากการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่ไม่เป็นธรรม ตัวอย่างเช่น ผู้ผลิต X ที่มีสำนักงานหลักอยู่ที่ประเทศ A ได้ส่งออกสินค้าไปยังประเทศ B ซึ่งสินค้าได้มาตรฐานตามประเทศ B แต่สินค้าได้ถูกขโมยและขายในประเทศ C ซึ่งมีมาตรฐานต่างกัน และเกิดความเสียหายในประเทศ C ในกรณีนี้โดยหลักการแล้วต้องใช้กฎหมายประเทศ C แต่เนื่องจากเข้าลักษณะของข้อยกเว้นที่หากการส่งมอบในประเทศ C เป็นสิ่งที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ ก็จะถือว่าให้ใช้กฎหมายของประเทศ A

                    บทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท

                    มาตรา ๑๙ กำหนดว่าสาระสำคัญและผลของหนี้ซึ่งเกิดจากการละเมิดจากการหมิ่นประมาท ให้เป็นไปตามกฎหมายของภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกหมิ่นประมาท ในกรณีที่ผู้ที่ถูกหมิ่นประมาทเป็นนิติบุคคลให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่สำนักงานหลักของนิติบุคคลนั้นตั้งอยู่[๑๐]

                    วัตถุประสงค์ของการกำหนดบทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับการหมิ่นประมาท มีเหตุผลมาจากการที่การหมิ่นประมาทมีลักษณะการละเมิดที่แตกต่างจากการละเมิดแบบอื่น โดยสถานที่ที่เกิดการละเมิดจะไม่สามารถระบุได้ชัดเจนแน่นอนเช่นเดียวกับการละเมิดประเภทอื่น ๆ  นอกจากนี้ เนื่องจากการหมิ่นประมาทในปัจจุบันสามารถกระทำได้ทางออนไลน์หรือสื่อในรูปแบบหลากหลาย ซึ่งจะทำให้การระบุสถานที่ที่เกิดการละเมิดนั้นกระทำได้ยากยิ่ง สำหรับสาเหตุของการกำหนดให้ใช้กฎหมายของภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกหมิ่นประมาท ได้แก่ (๑) เป็นการคุ้มครองผู้ที่ถูกหมิ่นประมาท (๒) เนื่องจากกฎหมายของภูมิลำเนาเป็นกฎหมายที่ผู้ที่กระทำการหมิ่นประมาทสามารถคาดการณ์ได้ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว และ (๓) ถึงแม้ในกรณีที่เป็นการหมิ่นประมาทในโลกไซเบอร์หรือสื่อระหว่างประเทศ ผลเสียจากการละเมิดที่เกิดขึ้นอาจกล่าวได้ว่ามักจะมีผลร้ายแรงที่สุดในถิ่นที่เป็นภูมิลำเนาของผู้ที่ถูกหมิ่นประมาทเนื่องจากเกี่ยวพันโดยตรงกับสภาพความเป็นอยู่ของผู้เสียหาย[๑๑]

                    บทบัญญัติเกี่ยวกับกรณีที่มีกฎหมายที่มีความใกล้ชิดกับคู่ความ (Exception for Cases Where Another Place Is Obviously More Closely connected)

                    หากในเวลาที่เกิดการละเมิด คู่กรณีมีภูมิลำเนาเดียวกัน หรือเป็นการละเมิดที่เกิดจากสัญญาที่ได้ทำขึ้นระหว่างคู่กรณี หรือถิ่นอื่นที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคู่กรณีมากกว่าบทบัญญัติที่กำหนดไว้ ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นดังกล่าว[๑๒]

                   มาตรานี้ได้กำหนดไว้เพื่อป้องกันผลของการเลือกกฎหมายที่ไม่เหมาะสม เช่น กรณีที่คู่กรณีทั้งสองฝ่ายมีสัญชาติเดียวกันและพำนักอยู่ในประเทศเดียวกัน แต่เกิดการละเมิด ณ ต่างประเทศจากการเดินทางไปท่องเที่ยวเท่านั้น จึงได้กำหนดบทบัญญัติดังกล่าวเพื่อให้ศาลสามารถเลือกกฎหมายที่มีความใกล้ชิดกับคู่กรณีได้อย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคู่กรณี และเพื่อเป็นการกำจัดความเป็นไปได้ที่จะใช้กฎหมายที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคู่กรณีโดยตรงแต่เป็นเพียงกฎหมายของสถานที่ที่เกิดการละเมิดเท่านั้น

๓. บทสรุป

                    จากตัวอย่างการร่างกฎหมายของประเทศญี่ปุ่นจะเห็นได้ว่าการแบ่งประเภทของละเมิดตามลักษณะเฉพาะเพื่อให้จุดเกาะเกี่ยวมีความสอดคล้องกับสภาพของละเมิดสามารถก่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่กรณีได้มากยิ่งขึ้น  อย่างไรก็ตาม การกำหนดรายละเอียดของกฎหมายที่มากเกินไปก็อาจมีข้อด้อย คือ เป็นสาเหตุที่ทำให้กฎหมายครอบคลุมขอบเขตที่แคบลงจากเดิมและอาจไม่ครอบคลุมรูปแบบของการละเมิดใหม่ ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้ อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าบทบัญญัติในลักษณะนี้สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากข้อจำกัดของบทบัญญัติในอดีตได้ไม่มากก็น้อย

                    สำหรับประเทศไทยในส่วนของมาตรา ๑๕ ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ ในส่วนของหนี้ซึ่งเกิดจากการละเมิดนั้นได้รับอิทธิพลมาจากกฎหมายอังกฤษ โดยใช้หลัก double action-ability ที่คู่ความจะฟ้องคดีละเมิดต่อศาลไทยก็ต่อเมื่อการกระทำนั้นเป็นทั้งละเมิดตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ละเมิดได้เกิดขึ้น และตามกฎหมายไทย[๑๓] ซึ่งจะทำให้คู่ความจะเรียกร้องค่าเสียหายเกินกว่าที่กฎหมายไทยกำหนดไม่ได้  อย่างไรก็ตาม บทบัญญัติในลักษณะนี้อังกฤษเองก็ได้ยกเลิกไปแล้วและนานาประเทศ เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย เป็นต้น ก็ได้ยกเลิกบทบัญญัติเหล่านี้เช่นกัน สำหรับในประเทศญี่ปุ่นถึงแม้จะยังคงบทบัญญัติเช่นว่านี้ไว้เช่นเดียวกับประเทศไทย แต่ก็มีความเห็นทางวิชาการหลายฝ่ายที่เสนอให้ยกเลิกหลักดังกล่าว ในประเด็นนี้หากประเทศไทยได้มีการศึกษาเกี่ยวกับข้อดีข้อเสียก็จะเป็นประโยชน์ในการพิจารณาประกอบการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีความทันสมัยในอนาคตต่อไป






[๑]ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนาพานิช. คำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล. (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๕๔) หน้า ๒๖๑
[๒]Kent Anderson  and Yasuhiro Okuda, HOREI, ACT ON THE APPLICATION OF LAWS  Law No. 10 of 1898 ASIAN-PACIFIC LAW & POLICY JOURNAL; Vol. 3 Issue 1 (Winter 2002) at 230-242
[๓]ดำรงตำแหน่งระหว่างวันที่ ๒๖ เมษายน ค.ศ. ๒๐๐๑ ๒๖ กันยายน ค.ศ. ๒๐๐๖
[๔]Ministry of Justice
<http://web.archive.org/web/20110522193249/http://www.moj.go.jp/MINJI/minji123.html> สืบค้นเมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๕๘
[๕](Choice of Governing Law by the Parties)
Article 7 The formation and effect of a juridical act shall be governed by the law of the place chosen by the parties at the time of the act.
[๖]Change of Governing Law by the Parties
Article 9.  The parties may change the law otherwise applicable to the formation and effect of a juridical act; provided, however, that if such change prejudices the rights of a third party, it may not be asserted against the third party.
[๗]บทบัญญัติเฉพาะเกี่ยวกับสัญญาผู้บริโภคและสัญญาแรงงาน คือ ในกรณีที่ผู้ว่าจ้างหรือผู้ประกอบการเลือกกฎหมายที่ใช้กับสัญญาเป็นกฎหมายของประเทศที่ไม่ได้มีการคุ้มครองผู้บริโภคหรือผู้ใช้แรงงาน จึงไม่ได้คุ้มครองผู้ที่อยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าอย่างเต็มที่ ในการปรับปรุงกฎหมายในครั้งนี้ จึงได้กำหนดบทบัญญัติเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและผู้ใช้แรงงานด้วย
[๘]Tort
Article 17.  The formation and effect of a claim arising from a tort shall be governed by the law of the place where the result of the wrongful act occurred; provided, however, that if the occurrence of the result at said place was ordinarily unforeseeable, the law of the place where the wrongful act was committed shall govern.
[๙]ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนาพานิช. คำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล. (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๕๔) หน้า ๑๗๖
[๑๐]Special Provisions for Defamation
Article 19  Notwithstanding Article 17, the formation and effect of a claim arising from a tort of defamation of others shall be governed by the law of the victim's habitual residence (in cases where the victim is a juridical person or any other association or foundation, the law of its principal place of business).
[๑๑]Shoichi Kidana, Hiroshi Matsuoka, Satoshi Watanabe (2009). PRIVATE INTERNATIONAL LAW (5th ed). Tokyo: Yuhikaku. at 176  
[๑๒]Article 20 Notwithstanding the preceding three Articles, the formation and effect of a claim arising from a tort shall be governed by the law of the place with which the tort is obviously more closely connected than the place indicated in the preceding three Articles, in light of that the parties had their habitual residence in the places governed by the same law at the time of the occurrence of the tort, that the tort was committed in breach of the obligation under a contract between the parties, or any other circumstances concerned.
[๑๓]ประสิทธิ์ ปิวาวัฒนาพานิช. คำอธิบายกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล. (กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ ๒, ๒๕๕๔) หน้า ๒๖๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น