วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

การอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีอาญาตามหลักสากล โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

          ตาม Article 14 (5) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2539) และมีผลใช้บังคับกับประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2540 นั้น บุคคลทุกคนซึ่งต้องคำพิพากษาลงโทษในความผิดอาญา ย่อมมีสิทธิที่จะให้คณะตุลาการชั้นเหนือขึ้นไปพิจารณาทบทวนการลงโทษและคำพิพากษาได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งเป็นไปตามหลัก fair trial เพื่อประกันความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม (protect against miscarriages of justice)

          ในทางปฏิบัติ รัฐภาคีต่างมีกฎหมายภายในของตนเองที่บัญญัติเกี่ยวกับการอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีอาญาไว้ บางประเทศให้อุทธรณ์ได้ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย บางประเทศให้อุทธรณ์ได้เฉพาะกรณีกระบวนวิธีพิจารณาไม่ชอบหรือเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย กรณีจึงมีปัญหาเกี่ยวกับขอบเขตการอุทธรณ์ขึ้น และเคยมีกรณีที่เข้าสู่การพิจารณาของ The Human Rights Committee ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้วางหลักไว้ในคดี Vazquez v Spain (Communication No. 701/1996) ว่าการที่กฎหมายภายในของสเปนบัญญัติให้อุทธณ์คำพิพากษาคดีอาญาได้เฉพาะกระบวนวิธีพิจารณาไม่ชอบกับในปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น ไม่ต้องด้วย Article 14(5) ของ ICCPR

          ต่อมา ในปี 2002 The Human Rights Committee ได้วางหลักการอุทธรณ์คดีอาญาไว้ชัดเจนในคดี Bandajevsky v Belarus (Communication No. 1100/2002) ว่าการอุทธรณ์คดีอาญาตามเจตนารมณ์ของ Article 14(5) ของ ICCPR นั้น ต้องอุทธรณ์ได้ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย (both as to sufficient of the evidence and of the law)

          โดยที่เจนารมณ์ของหลักประกันการอุทธรณ์ในคดีอาญาเพื่อประกันความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ผู้มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาคดีอาญาจึงได้แก่ "คู่ความในคดี" ไม่ใช่เฉพาะแต่ผู้ต้องคำพิพากษาในคดีอาญาเท่านั้นที่มีสิทธิอุทธรณ์ เพียงแต่ ICCPR รับรองสิทธิของผู้ต้องคำพิพากษาในการอุทธรณ์ไว้ให้ชัดเจนเท่านั้น

          ดังนั้น การพิจารณาสิทธิในการอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีอาญาจึงต้องพิจารณาจาก "สายตาของคู่ความ" อันได้แก่ ทั้งโจทก์และจำเลย มิใช่มองจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว

          เมื่อเป็นเช่นนี้
          1. ในกรณีที่ศาลที่พิจารณามีคำพิพากษาลงโทษอาญา ผู้ต้องคำพิพากษาลงโทษย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษานั้น ขณะเดียวกันคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก็ย่อมต้องมีสิทธิอุทธรณ์เช่นกันว่าโทษที่ศาลลงแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นไม่ได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของการกระทำความผิดของผู้ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษนั้น
          2. ในกรณีที่ศาลที่พิจารณามีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง โจทก์ก็ย่อมอุทธรณ์คำพิพากษานั้นได้ เพราะการอุทธรณ์มิใช่สิทธิฝ่ายเดียวของผู้ต้องคำพิพากษาหรือจำเลยตามหลักความเท่าเทียมกันของคู่ความในคดีอาญา

          กล่าวโดยสรุป การอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีอาญามิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ... แต่เป็นไป "เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น