ความเห็นทางวิชาการ: ว่าด้วยหลักการเปรียบเทียบ
การเปรียบเทียบเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาในเรื่องต่าง ๆ นั้น ไม่ใช่จะยกอะไรเปรียบกับอะไรก็ได้ ตามหลักวิชาการในทุกศาสตร์ (ยกเว้นไสยศาสตร์) การเปรียบเทียบจะกระทำกับเรื่องหรือสิ่งที่เหมือนกันทุกประการเท่านั้น (similia similibus curantur) เช่น เกิดโรคระบาดในเป็ด เป้าหมายคือการรักษาโรคนั้นให้เป็ด ก็ต้องศึกษาโรคระบาดในเป็ดพันธุ์ต่าง ๆ ไม่ใช่ไปเอาไก่มาเปรียบเทียบ เพราะเป็ดกับไก่มันแตกต่างกัน
การเอาสิ่งที่แตกต่างกันมาเปรียบเทียบกันนั้น จะนำมาซึ่งความสำคัญผิด เมื่อสำคัญผิด การแก้ปัญหาก็จะไม่ถูกจุด และนอกจากจะแก้ปัญหาเดิมไม่ได้แล้ว ยังจะก่อให้เกิดปัญหาใหม่อีกด้วย
หลักการนี้เริ่มต้นในวิชาชีพแพทย์ และต่อมาได้ขยายไปสู่วิชาชีพกฎหมายและวิชาชีพอื่น ๆ ไม่ใช่ว่าผู้เขียนจะเขียนขึ้นมาอย่างเรื่อยเปื่อย
ถามว่าทำไมอยู่ ๆ ผู้เขียนจึงเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา
คำตอบก็คือ พลันที่ตุรกีเมื่อคืนนี้ (15 กค) มีความพยายามยึดอำนาจแต่ล้มเหลว ก็มีนักอะไรต่อมิอะไรรีบยกขึ้นมาเปรียบเทียบกับบ้านเราเมื่อสองปีก่อนทันทีโดยยก "การกระทำ" ที่เหมือนกันมาเปรียบเทียบ โดยขาดการจำแนกแยกแยะว่าเป็นเป็ดเหมือนกัน หรือเป็นเป็ดกับไก่
ในโลกที่การสื่อสารไร้ขอบเขต และผู้คนใช้ความเชื่อมากกว่าเหตุผล ข้อความทำนองนี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วมาก ผู้เขียนจึงต้องการกระตุกให้ผู้สื่อสารก็ดี ผู้รับสารก็ดี พิจารณาข้อความต่าง ๆ อย่างมีสติก่อนแบ่งปันสิ่งที่ได้รับมาไปยังผู้อื่น
ในประเด็นนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ของตุรกีเขามีความเชื่อมั่นในรัฐบาล เขาเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐบาล เขาจึงออกมาต่อต้านผู้ยึดอำนาจ แต่บ้านเราครั้งกระโน้นประชาชนเป็นหนึ่งเดียวกับรัฐบาลหรือไม่ และประชาชนเองรวมกันเป็นหนึ่งเดียวหรือไม่ เราท่านล้วนตระหนักแก่ใจกันดี
ดังนั้น อย่าเอาสิ่งที่เปรียบเทียบกันไม่ได้มาเปรียบเทียบกันเลยครับ
มันผิดหลักวิชาการ และทำให้เกิดความสำคัญผิดขึ้นในหมู่ชน
ขอสติจงอยู่กับท่าน
อย่าเอามันส์เข้าว่า.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น