นายปกรณ์
นิลประพันธ์[*]
ในปี
2555 นี้ เรื่องที่มีการพูดถึงกันมากเรื่องหนึ่งได้แก่การเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างระดมสรรพกำลังและงบประมาณจัดการฝึกอบรม
สัมมนา และประชาสัมพันธ์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนกันอย่างคึกคัก
ผู้เขียนเองก็มีโอกาสเข้าร่วมการฝึกอบรมและสัมมนาของหน่วยงานต่าง
ๆ หลายครั้ง แต่แอบสังเกตว่าเรื่องที่นำมาบรรยายอย่าง “ยาวยืด” ในทุกเวทีนั้นส่วนใหญ่เป็นเพียง
“การให้ข้อมูลพื้นฐาน” เกี่ยวกับการจัดตั้งอาเซียน
การพัฒนาของอาเซียนมาสู่ประชาคมอาเซียน “เสาหลัก” (Pillars) ของประชาคมอาเซียน
และประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC)
ถึงขนาดที่ว่าคนขับแท็กซี่ยังสามารถอธิบายเรื่องนี้ได้เป็นช่องเป็นฉากทีเดียว
ผู้เขียนยืนยันว่าเป็นเรื่องจริงเพราะมีโอกาสได้สัมภาษณ์สดโชเฟอร์หลายท่านในหลายโอกาส
แสดงว่าการให้ข้อมูลพื้นฐานที่ว่านี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงามทีเดียว
แต่ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบอาชีพร่างกฎหมาย
ผู้เขียนก็ยังคงสงสัยอยู่นั่นเองว่าการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนี้มี “พันธกรณี”
ใดบ้างที่ประเทศไทยต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องต้องกัน แต่เชื่อไหมครับว่า
ไม่มีเวทีไหนที่ให้ความกระจ่างแก่ผู้เขียนได้สักที
ความสงสัยใคร่รู้นี้ผลักดันให้ผู้เขียนลองนั่งอ่านกฎบัตรอาเซียน
(ASEAN
Charter) และหนังสือสัญญาประกอบต่าง ๆ ของอาเซียนอย่างจริง ๆ จัง ๆ
เพื่อทดลองตอบคำถามที่ตั้งขึ้นเองว่าเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนบทบาทของภาครัฐจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่? อย่างไร?
เหตุผลที่ผู้เขียนตั้งคำถามง่าย
ๆ เช่นนี้ก็เนื่องจากว่า ถ้าประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้วทำให้บทบาทของภาครัฐต้องเปลี่ยนแปลงไป
รัฐบาลกับหน่วยงานของรัฐก็ต้องปรับปรุงวิธีทำงาน
รวมทั้งแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับบทบาทของภาครัฐที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย โดยผู้เขียนได้ลองวิเคราะห์เอาง่าย ๆ ตามประสาคนบ้านไกลเวลาน้อย เป็น 3 ส่วน
1.
บทบาทของภาครัฐในปัจจุบันเป็นอย่างไร?
2.
การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะมีผลกระทบต่อบทบาทของภาครัฐหรือไม่? อย่างไร?
3.
รัฐบาลกับหน่วยงานของรัฐควรต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายใด?
และอย่างไร? เพื่อรองรับบทบาทของภาครัฐที่เปลี่ยนแปลงไป
ผลที่ได้เป็นอย่างนี้ครับ.....
1.
บทบาทของภาครัฐในปัจจุบันเป็นอย่างไร?
ผู้เขียนพบว่าแนวคิดและทัศนคติของภาครัฐในการบริหารประเทศของประเทศไทยตั้งแต่ดั้งเดิมมาจนถึงปัจจุบันนี้มิได้แตกต่างไปจากแนวคิดและทัศนคติของภาครัฐที่เป็นรัฐเดี่ยวและมีเอกราชอื่น
ๆ กล่าวคือ มุ่งดูแลผลประโยชน์ของชาติและคนไทย ทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ
และสังคม สรุปได้ง่าย ๆ ว่า ผลประโยชน์ของประเทศไทยหรือคนไทยเรา “ต้องมาก่อน” เสมอ
โดยแนวคิดดังกล่าวได้สะท้อนออกมาในระบบกฎหมายไทย ดังต่อไปนี้
1.1
กฎหมายไทยปฏิบัติต่อคนไทยกับ “คนต่างด้าว” อันได้แก่
บุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทยหรือนิติบุคคลที่จดทะเบียนในปะเทศไทยแต่มีบุคคลธรรมดาซึ่งเป็นคนต่างด้าวถือหุ้นเกินร้อยละ 50 แตกต่างกัน โดยกฎหมายไทยให้ “แต้มต่อ”
กับคนไทยมากกว่าคนต่างด้าว เช่น กฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
กฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว รวมทั้งกฎหมายที่มีบทบัญญัติเรื่องสัญชาติของผู้ประกอบการหรือการถือหุ้นของคนต่างด้าวในนิติบุคคลในการประกอบกิจการต่าง
ๆ อย่างไรก็ดี
ผู้เขียนพบว่าการปฏิบัติในเรื่องนี้ดูจะผ่อนปรนมากขึ้นหลังจากที่มีการตั้ง WTO และประเทศไทยได้จัดทำ FTA กับประเทศต่าง ๆ
เนื่องจากความผูกพันตาม WTO ก็ดี FTA
ก็ดี ประเทศไทยของเรารับจะปฏิบัติต่อคนของรัฐภาคี WTO และ FTA
โดยเท่าเทียมกันกับคนไทย
1.2 กฎหมายไทยใช้ระบบการควบคุม
(Control) มากกว่าระบบกำกับดูแล (Supervision) และระบบการส่งเสริม
(Promotion) โดยกฎหมายไทยมากกว่าร้อยละ 90 ใช้ระบบการอนุมัติ
อนุญาต ออกใบอนุญาตจากภาครัฐ ซึ่งระบบอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาตนี้มีธรรมชาติที่จำเป็นโดยตัวมันเองประการหนึ่ง คือ
ต้องมีการยื่นคำขออนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ฯลฯ จากเจ้าหน้าที่ มีขั้นตอนต่าง ๆ
หลากหลายให้ต้องปฏิบัติทั้งในภาครัฐและผู้ยื่นคำขอ แถมยังต้องยื่นเอกสารประกอบต่าง
ๆ นานามากมาย โดยเอกสารที่จำเป็นต้องยื่นที่คลาสสิคที่สุดคงหนีไม่พ้นสำเนาทะเบียนบ้านกับสำเนาบัตรประชาชนนั่นเอง
ธรรมชาติของระบบอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาตนี้เองทำให้ต้องใช้เวลาในการพิจารณา
เสียเวลากันทั้งภาครัฐและภาคเอกชน แถมคนอนุมัติซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูง
ไม่ว่าจะเป็นอธิบดีเอย ปลัดกระทรวงเอย ก็แทบจะไม่เคยดูเอกสารเหล่านี้
คนใช้ดุลพินิจส่วนใหญ่ก็เป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่างและผู้อำนวยการกองเป็นหลัก ในแง่ของภาคเอกชนนั้น การที่รัฐใช้ระบบการควบคุมผ่านการอนุมัติ อนุญาต
ออกใบอนุญาตโดยไม่คำนึงถึงเนื้อหาสาระของเรื่องทำให้เขาเสียเวลาและมีต้นทุนการประกอบการสูง
ทั้งยังเป็นช่องทางให้เกิดการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ
อันเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (National
Competitiveness) และการแก้ไขปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการด้วย
2.
การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะมีผลกระทบต่อบทบาทของภาครัฐหรือไม่? อย่างไร?
ผู้เขียนเห็นว่าประชาคมอาเซียน
(ASEAN
Community) นั้น เป็นการรวมตัวกันเป็น “ประชาคม” (Community) ของรัฐเดี่ยวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อประโยชน์ร่วมกันทั้งด้านเศรษฐกิจ (Economic)
สังคมและวัฒนธรรม (Socio-cultural) และความมั่นคงและการเมือง
(Security & Politics) โดยหลักการพื้นฐานของประชาคม คือ
การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ดังนั้น
เมื่อประเทศไทยของเราเข้าร่วมเป็นภาคีของประชาคมอาเซียนแล้ว
เราก็มีพันธกรณีที่ต้องร่วมกับภาคีอื่นทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
และความมั่นคงและการเมืองด้วย
เราไม่อาจทำอะไรโดยไม่คิดถึงพันธกรณีที่มีอยู่ได้อีกแล้ว
โดยนัยนี้เอง
ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่านับแต่เราลงนามในกฎบัตรอาเซียนในปี 2550
บทบาทของภาครัฐได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม (Paradigm shift) แล้ว ว่าง่าย
ๆ
ก็คือ ภาครัฐต้องปฏิบัติต่อคนไทยและ “คนอาเซียน” อย่างเท่าเทียมกัน
โดยต้องให้แต้มต่อคนไทยและคนอาเซียนมากกว่าคนต่างด้าวอื่น
และโดยข้อผูกพันนี้เองที่ทำให้การตรากฎหมายก็ดี การออกกฎหรือระเบียบในเรื่องต่าง ๆ
ก็ดี ผู้เสนอกฎหมายจึงไม่อาจกล่าวถึงคนไทยได้แต่เพียงประการเดียวแล้ว
แต่ต้องคำนึงถึง “คนอาเซียน” ตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ในกฎบัตรอาเซียนและข้อตกลงประกอบอื่นด้วย
เนื่องจากการเข้าร่วมเป็นประชาคมอาเซียนนั้นวางอยู่บนพื้นฐานที่สำคัญ
3 เรื่อง คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม และความมั่นคงและการเมือง
แต่ผู้เขียนได้ศึกษาเฉพาะการรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจ (ASEAN
Economic Community: AEC) เท่านั้น
เนื่องจากมีเป้าหมายจัดขึ้นในปี 2015 และการเชื่อมโยง (Connectivity) ด้านสังคมและวัฒนธรรม
กับความมั่นคงและการเมืองนั้นกระทำได้ยากกว่าการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจอันเป็นผลมาจากอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันและความไม่ลงรอยกันในอดีตของบรรดาประเทศในกลุ่มอาเซียน
กรณี AEC นั้น ผู้เขียนพบว่ารัฐภาคีตกลงกันว่าจะร่วมมือกันเพื่อเป็น Single
market and production base เพื่อประโยชน์ในการค้าการลงทุนและเพื่อเพิ่มอำนาจการเจรจาต่อรองทางการค้า
(empowering bargaining power) กับระบบเศรษฐกิจอื่น โดยผ่าน Free
flow of goods, services, skilled labor, capital and investment ดังนั้น
ทุกประเทศจึงมีพันธกรณีที่จะต้อง “ดูแล” เพื่อให้เกิด Free flow อย่างแท้จริง และ AEC Blueprint ได้กำหนด
“เป้าหมาย” การดำเนินการในรายละเอียดเพื่อให้ Free flow ดังกล่าวเกิดขึ้นภายในกรอบเวลาที่กำหนด
เช่น ในเรื่อง Service มีเป้าหมายให้ทุกประเทศต้องให้คนสัญชาติอาเซียนถือหุ้นในนิติบุคคลได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ
70 ในปี 2015 เป็นต้น
ดังนั้น
ผู้เขียนเห็นว่า “บทบาทใหม่” ของภาครัฐเมื่อเข้าสู่ AEC ที่เห็นได้ชัดเจนมีอยู่
2 ประการ
ประการที่หนึ่ง
ภาครัฐต้องดูแลให้เกิด Free
flow of goods, services, skilled labor, capital and investment อย่างแท้จริง
ประการที่สอง
โดยที่ Free
flow of goods, services, skilled labor, capital and investment
นั้น มีผลกระทบโดยตรงต่อ “การแข่งขันทางการค้า” ภายในประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผู้เขียนจึงเห็นว่า
“บทบาทใหม่ของภาครัฐ” เมื่อเข้าสู่ AEC
จึงได้แก่การที่ภาครัฐต้อง
· เสริมสร้างให้เอกชนไทยมีความสามารถในการแข่งขัน
(Strengthen
Competitive Capacity of Private Sector)
· ให้ความสำคัญกับการดูแลให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรมบนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน
(Fair
competition upon equal footing) มิฉะนั้นภาคเอกชนไทยอาจมีปัญหาในการแข่งขัน
· ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภค
(Consumer
protection) อย่างจริงจัง
· ปรับปรุงโครงสร้างและวิธีการทำงานให้โปร่งใส
(Transparency) ประสิทธิภาพ (Effectiveness) สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไป
(Responsiveness) และลดต้นทุนการประกอบการ (Investment
cost) แก่ประชาชน ทั้งนี้
เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (National
Competitiveness)
นอกจากนี้
ผู้เขียนมีความเห็นเพิ่มเติมว่า Free flow of goods, services, skilled
labor, capital and investment นั้นจะทำให้สินค้าและบริการต่าง ๆ
ถูกลง
ซึ่งจะทำให้มูลค่าการบริโภค (Consumption) เพิ่มสูงขึ้น
แต่การบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นนั้นมีทั้งผลดีและผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ในส่วนที่เป็นผลเสียได้แก่ การบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เป็นต้นว่า
การบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยที่อาจก่อให้เกิดปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน และอาจลุกลามจนก่อให้เกิดปัญหาต่อ
หนี้สาธารณะได้ บทบาทใหม่ของภาครัฐที่ละเลยไม่ได้ จึงได้แก่
“การปลูกฝังค่านิยมการบริโภคที่เหมาะสม” ให้แก่ประชาชน และเพื่อกระตุ้นให้เกิด Free
flow of goods, services, skilled labor, capital and investment อย่างแท้จริง
ภาครัฐต้องมีบทบาทสำคัญใน “การปรับเปลี่ยนทัศนคติ (Attitude)
ของประชาชนชาวไทยที่มีต่อพลเมืองของประเทศเพื่อนบ้าน” โดยให้การเคารพ (Respect) ประเทศและพลเมืองของประเทศเพื่อนบ้าน
ว่าเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่มีเกียรติและมีฐานะเท่าเทียมกัน
เพื่อลบอคติทั้งที่ประเทศเพื่อนบ้านมีต่อประเทศไทยและที่ประชาชนไทยมีต่อประเทศเพื่อนบ้าน
3.
เมื่อบทบาทของภาครัฐที่เปลี่ยนแปลงไป รัฐบาลกับหน่วยงานของรัฐควรต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายใด? และอย่างไร? เพื่อรองรับบทบาทที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น
ในประเด็นนี้
ผู้เขียนแยกการพิจารณาออกเป็น 2 มิติ คือ มิติของรัฐบาล กับมิติหน่วยงานของรัฐ
มิติของรัฐบาล
(1)
ผู้เขียนเห็นว่ารัฐบาลควรกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ เป้าหมาย และแผนการดำเนินงานในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนให้ชัดเจน
เพื่อให้ภาคเอกชนได้รับทราบและเตรียมความพร้อม
และเพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถปฏิบัติตามได้อย่างเป็นรูปธรรม
(2)
ผู้เขียนเห็นว่าปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทราบ “ข้อมูลพื้นฐาน” (Basic
information) เกี่ยวกับการจัดตั้งประชาคมอาเซียนและการเข้าร่วมใน AEC มากพอสมควรแล้ว แต่ยังไม่ทราบ “ข้อมูลรายละเอียด” (Detailed
information) ว่าประเทศไทยมีพันธกรณีในแต่ละเรื่องอย่างไร
หน่วยงานใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับพันธกรณีนั้น
หน่วยงานที่รับผิดชอบต้องดำเนินการต่อไปอย่างไรเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีนั้น
การให้ข้อมูลนับแต่นี้เป็นต้นไปจึงควรเป็นการให้ข้อมูลรายละเอียด (Detailed
information) ว่าประเทศไทยมีพันธกรณีในแต่ละเรื่องอย่างไร
มากกว่าการให้ข้อมูลพื้นฐาน
และควรมอบหมายให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งรับหน้าที่เป็น Centre point เพื่อตอบคำถามและให้ความกระจ่างเกี่ยวกับ “ข้อมูลรายละเอียด” เหล่านี้โดยเฉพาะ
(3)
รัฐบาลควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการพัฒนาประสิทธิภาพในการให้บริการของหน่วยงานของรัฐ
โดยผู้เขียนเห็นว่ารัฐบาลควรจัดตั้ง “กลุ่มงานอาเซียน”
ขึ้นในทุกหน่วยงานของรัฐเพราะเป็นงานที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง มิใช่เพียงเข้าสู่ AEC แล้วเลิกกัน แต่ยังมีอีก 2 Pillars
ที่ต้องดำเนินการต่อไป ซึ่งการสอดประสานของชาติอาเซียนในสอง Pillars ที่เหลือนั้นยากกว่าการเข้าร่วม AEC
เนื่องจากเป็นการดำเนินการเกี่ยวกับอัตลักษณ์ ทัศนคติ และความมั่นคง
(4) รัฐบาลควรกำหนดให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยศึกษาพันธกรณีในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนและปรับปรุงวิสัยทัศน์
พันธกิจ ยุทธศาสตร์
ตลอดจนโครงสร้างและภารกิจของหน่วยงานให้สอดคล้องกับบทบาทภารกิจของภาครัฐที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวข้างต้น
(Paradigm
shift) รวมทั้งมีนโยบายชัดเจนในการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานของหน่วยงานของรัฐต่าง
ๆ โดยเฉพาะบรรดาที่มีหน้าที่ให้บริการประชาชนให้สอดคล้องกับ ASEAN Single Window
และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันผ่านระบบเครือข่ายสารสนเทศ
เพื่อลดต้นทุนการบริหารจัดการภาครัฐ และลดต้นทุนในการประกอบการของภาคเอกชน
(5) โดยที่ประชาคมอาซียนมุ่งเน้น
Free
flow of goods, services, skilled labor, capital and investment
ตามหลักการค้าเสรี และเสริมสร้างความเข้มแข็งของ Connectivity ระหว่างภาคี
ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าหลักการดังกล่าวทำให้บทบาทของภาครัฐเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนนโยบายและตัวบทกฎหมายให้สอดคล้องกับ Paradigm
shift ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
การปรับเปลี่ยนกลไกตามกฎหมายที่ใช้ระบบควบคุม (Control) ผ่านการอนุมัติ อนุญาต ใบอนุญาต ที่มีมากกว่าร้อยละ 90
ของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันให้เป็นการกำกับดูแล (Supervision) หรือการส่งเสริม (Promotion) แทน โดยใช้ระบบควบคุมกับเรื่องที่จำเป็นต้องควบคุมอย่างแท้จริงเท่านั้น เช่น
เรื่องที่อาจกระทบกระเทือนต่อการรักษาความมั่นคง
ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นต้น ผู้เขียนมีข้อมูลในเรื่องนี้เพิ่มเติมว่า ในยุคที่รัฐบาลมีนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” นั้น
คณะรัฐมนตรีเคยมีมติเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2534 กำหนดนโยบายปรับปรุงกฎหมาย
โดยให้เปลี่ยนจาก “ระบบควบคุม” มาเป็นระบบ “กำกับดูแล”
เพื่อให้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการสนับสนุน “กลไกตลาด” ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาแล้ว
แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวจึงไม่มีการปฏิบัติอย่างแท้จริง
ระบบกฎหมายไทยจึงยังคงยึดมั่นอยู่กับระบบการควบคุมอย่างเหนียวแน่นมาจนถึงปัจจุบัน
(6)
ผู้เขียนเห็นว่าสมควรที่จะต้องปรับปรุงหลักเกณฑ์การตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมาย
(Checklists)
โดยเพิ่มการตรวจสอบว่าร่างกฎหมายที่เสนอนั้นสอดคล้องกับพันธกรณีต่าง ๆ
ที่ประเทศไทยเป็นภาคีหรือไม่ เพื่อเป็นมาตรการป้องกัน (Preventive measure) มิให้มีการเสนอร่างกฎหมายใหม่ที่อาจขัดต่อพันธกรณีที่ประเทศไทยเป็นภาคีด้วย
(7)
สำหรับกฎหมายที่อาจมีความจำเป็นต้องปรับปรุงอย่างเร่งด่วนเพื่อรองรับ Free flow of
goods, services, skilled labor, capital and investment
ตามหลักการค้าเสรีของ AEC นั้น
ผู้เขียนเห็นว่าได้แก่กฎหมายดังต่อไปนี้
· กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า
– เพื่อให้การค้าเสรีเป็นไปอย่างเป็นธรรม มิฉะนั้น SMEs
ของไทยอาจได้รับผลกระทบจากการเปิดตลาดได้
· กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค
–
เพื่อประกันว่าผู้บริโภคสามารถบริโภคสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานอย่างแท้จริง
· บรรดากฎหมายที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับสัญชาติของผู้ประกอบการหรือการถือหุ้นของคนต่างด้าวในนิติบุคคลที่เป็นผู้ประกอบการ
– เพื่อรองรับพันธกรณีตาม AEC
· กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน
–
เพื่อสนับสนุนให้เอกชนไทยสามารถได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิตไปยังรัฐภาคีของประชาคมอาเซียนที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าในประเทศไทยอันจะทำให้ภาคเอกชนไทยได้รับประโยชน์จากหลัก Free flow of goods, services, skilled
labor, capital and investment
ได้อย่างเต็มที่
ได้อย่างเต็มที่
· กฎหมายว่าด้วยการระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับการค้าการลงทุน
– โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการระงับข้อพิพาทนอกศาล (Alternative Dispute
Resolution: ADR) ทั้งนี้
เพื่อรองรับการยุติข้อพิพาทที่อาจเกิดขึ้นจากการค้าการลงทุนจากการเปิดตลาดในประเทศ และเพื่อป้องกันมิให้รัฐต้องทุ่มเทงบประมาณไปใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งอันเป็นเรื่องผลประโยชน์ของเอกชนมากเกินไป
(8) นอกจากนี้
การเปิดตลาดของอาเซียนทำให้คนไทยสามารถไปลงทุนในรัฐอื่นที่เป็นภาคีของประชาคมอาเซียนได้ด้วย
ผู้เขียนจึงเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลต้องจัดให้มี
“ฐานข้อมูลกฎหมายของรัฐอื่นที่เป็นภาคีของประชาคมอาเซียน” เพื่อให้คนไทยได้ศึกษาข้อมูลกฎหมายของรัฐภาคีก่อนที่จะไปลงทุนด้วย
(9)
สำหรับกฎหมายไทยนั้น
ผู้เขียนเห็นว่ารัฐบาลควรกำหนดเป็นนโยบายชัดเจนให้กระทรวงที่มีอำนาจหน้าที่ในการรักษาการให้เป็นไปตามกฎหมายแต่ละฉบับจัดให้มีการ “แปล”
กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงนั้นเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ในเว็ปไซต์ของกระทรวงนั้นและใน
Royal Thai Government Portal ด้วย
เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนต่างชาติในการศึกษาลู่ทางการลงทุนในประเทศไทยเนื่องจากภาษาราชการของอาเซียนได้แก่ภาษาอังกฤษ
ผู้เขียนเห็นว่าการแปลกฎหมายดังกล่าวยังเป็นช่องทางป้องกันการทุจริตของเจ้าหน้าที่อันเนื่องมาจากนักลงทุนไม่รู้กฎหมายไทยได้อีกทางหนึ่งด้วย
มิติหน่วยงานของรัฐ
(1) แม้ดูเหมือนว่ารัฐบาลจะยังไม่มีนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
แต่ผู้เขียนเห็นว่าหน่วยงานของรัฐสามารถศึกษาพันธกรณีในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของตนโดยไม่จำเป็นต้องรอนโยบายรัฐบาล
(2) ผู้เขียนเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานต้องทบทวนวิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์
ตลอดจนโครงสร้างและภารกิจของหน่วยงานว่าสอดคล้องกับแนวคิดในการรวมกันเป็น
“ประชาคมอาเซียน” ดังกล่าวข้างต้นหรือไม่ หากไม่สอดคล้อง
อาจต้องมีการเสนอปรับปรุงกฎหมายแบ่งส่วนราชการหรือกฎหมายจัดตั้งหน่วยงานของรัฐนั้นใหม่อย่างเร่งด่วน
(3) นอกจากนี้
ผู้เขียนเห็นว่าหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานต้องทบทวนกฎหมาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ
บรรดาที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนว่าสอดคล้องกับพันธกรณีในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนหรือไม่
หากไม่สอดคล้อง ก็ต้องเสนอปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎ หรือระเบียบนั้นเสีย
(4) ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า
ในการเสนอแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับพันธกรณีในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้น
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้อง“วางแผน” การเสนอกฎหมายให้ชัดเจนโดยมีมาตรการรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการที่ไม่สามารถตรากฎหมายให้สอดคล้องกับพันธกรณีในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนไว้ด้วย
เนื่องจากคงเหลือเวลาในการดำเนินการประมาณสามปีเท่านั้น
สรุป
ข้อเสนอที่กล่าวมาข้างต้นนี้ได้มาจากการที่ผู้เขียนได้ศึกษาและทำความเข้าใจด้วยตนเองจากเอกสารที่พอหาได้เท่านั้น
เพราะสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่มีโอกาสไปร่วมการเจรจาอะไรกับเขา
จึงมีสถานะไม่แตกต่างไปจากหน่วยงานปลายน้ำเช่นเดียวกับอีกหลาย ๆ หน่วยงาน
ผู้เขียนจึงเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาและจัดทำกฎบัตรอาเซียนก็ดี
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็ดี น่าจะเป็นหน่วยงานที่สามารถให้ข้อมูลในเชิงลึกได้ถูกต้องแท้จริงว่าบรรดาพันธกรณีที่ประเทศไทยได้ตกลงกับประชาคมอาเซียนไว้แล้วนั้น
ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายใดบ้างเพื่อรองรับพันธกรณีดังกล่าว
เพราะก่อนไปเจรจาทำความตกลงกับเขาคงต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบแล้ว
และควรเป็นผู้ชี้แจงเรื่องดังกล่าวต่อรัฐบาลและประชาชนเพื่อให้เกิดความกระจ่างต่อไปเหมือน
ๆ
กับที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในการให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับอาเซียนดังที่ผู้เขียนได้กล่าวมาแล้วข้างต้น