วันเสาร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2560

แผนกับม้า ปกรณ์ นิลประพันธ์

แผนนี่เป็นอะไรที่ดีนะครับ ทำอะไรต้องวางแผนก่อน เวลาทำงานจะได้เป็นระบบระเบียบเรียบร้อย 
ในทางทฤษฎี แผนจะทำให้เราคิดเสียให้รอบคอบก่อน ไม่บุ่มบ่ามทำอะไรลงไปโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง ต้องคิดว่าเราจะทำอะไร มีต้นทุนเท่าไร อะไรคือผลผลิต อะไรคือผลลัพธ์ อะไรคือตัวชี้วัดความสำเร็จ คุ้มที่จะทำไหม อะไรเป็นปัญหาหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น มีหนทางป้องกันหรือแก้ไขปัญหาหรือเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างไร 

พอคิดแผนเสร็จแล้วก็ต้องลงมือทำให้เป็นไปตามแผนด้วยนะครับ ไม่ใช่มัวทำแผน แต่ไม่ลงมือทำตามแผนเสียที ผลสัมฤทธิ์มันก็ไม่เกิด อันนี้เสียเวลาทำแผน เปลืองกระดาษด้วย โลกร้อนเสียเปล่าไม่เข้าการ

และถ้าลงมือทำตามแผนแล้วเกิดปัญหาอุปสรรคใด ที่คิดไม่ถึงในตอนแรก นักวางแผนก็ต้องปรับแผนให้เข้ากับสถานการณ์ด้วย ไม่ใช่ทำแผนเสร็จแล้วก็จบกันไป ไปวางแผนใหม่กันอีกแล้ว ลืมแผนเก่าเสียอย่างนั้น

ถึงการวางแผนจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ามีแผนเยอะ นี่ก็สร้างความปวดหัวได้ไม่น้อยเหมือนกันนะครับ ไม่รู้จะทำอันไหนก่อนอันไหนหลัง เพราะทุกแผนเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งถ้านักวางแผนมีทัศนวิสัยในการมองเห็นเหมือนม้าแข่งยิ่งปวดศีรษะไปกันใหญ่ 

ที่เทียบกับม้าแข่งนี้ไม่ใช่ว่าดีเพราะวิ่งเร็วนะครับ แต่ม้าแข่งนี้เขาต้องหาอะไรมาครอบตาไว้ให้มองตรง ไม่งั้นมันวอกแวก มุมมองของม้าแข่งจึงเป็นมุมมองเรื่องตรงหน้าของตัวเองเท่านั้น ไม่ได้มองไปรอบ

ผลที่ตามมาก็คือแผนเยอะ ที่ทำแบบม้าแข่งนี้มันไม่ประสานสอดคล้องกัน เวลาทำงานตามแผนจึงกลายเป็นต่างคนต่างทำ เรื่องนึงบางทีมีแผนเข้ามาเกี่ยวข้องหลายแผน คนทำตามแผนแต่ละแผนก็หลายคนหลายหน่วย งานการจึงสับสนวุ่นวายไปหมด เหมือนม้าแข่งที่มัววิ่งชนกันไปมา บ้างก็ขวางม้าอื่น ผลคือทุกม้าวิ่งเต็มที่ แต่เป็นการวิ่งชนกันเอง ไม่ไปถึงเส้นชัยสักที 

ในทัศนะของผู้เขียน หน่วยทำแผนภาพรวมควรมีหน่วยเดียวพอ แต่เป็นหน่วยที่มีวิสัยทัศน์เหมือนม้าป่าไม่ใช่ม้าแข่งที่มีครอบตา เพราะม้าที่ไม่ใส่ครอบตานี่สามารถมองได้เกือบ 360 องศา หน่วยนี้จะได้วางแผนที่ครอบคลุมเรื่องต่าง โดยสอดคล้องกัน การทำงานตามแผนก็จะประสานรับกัน ไม่สับสน

ม้าจะได้วิ่งฉิวไปข้างหน้า ไม่เสียเวลาวิ่งชนกันเองให้เสียเวลา.

วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2560

เจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการทำงานที่รวดเร็ว โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์

                   รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีเจตนารมณ์ชัดเจนว่ามุ่งหมายให้การดำเนินการต่าง ๆ ของฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ รวมทั้งองค์กรอิสระเป็นไปอย่าง “รวดเร็ว” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการดำเนินการที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชน และการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติดังต่อไปนี้

                   มาตรา ๔๑  บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ
(๑) ได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ
(๒) เสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว
(๓) ฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ

                   มาตรา ๔๓  บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ
(๑) อนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ
(๒) จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
(๓) เข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชนและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว  ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
(๔) จัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชน
                   สิทธิของบุคคลและชุมชนตามวรรคหนึ่ง หมายความรวมถึงสิทธิที่จะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐในการดำเนินการดังกล่าวด้วย

                   มาตรา ๖๘  รัฐพึงจัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ และให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร
รัฐพึงมีมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยเคร่งครัด ปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงำใด ๆ
รัฐพึงให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสมแก่ผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม รวมตลอดถึงการจัดหาทนายความให้

                   มาตรา ๗๖  รัฐพึงพัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดินทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น และงานของรัฐอย่างอื่น ให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยหน่วยงานของรัฐต้องร่วมมือและช่วยเหลือกันในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดิน การจัดทำบริการสาธารณะ และการใช้จ่ายเงินงบประมาณมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน รวมตลอดทั้งพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีทัศนคติเป็นผู้ให้บริการประชาชนให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว ไม่เลือกปฏิบัติ และปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ
รัฐพึงดำเนินการให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐ ให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม โดยกฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจ หรือกระทำการโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ หรือกระบวนการแต่งตั้งหรือการพิจารณาความดีความชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
รัฐพึงจัดให้มีมาตรฐานทางจริยธรรม เพื่อให้หน่วยงานของรัฐใช้เป็นหลักในการกำหนดประมวลจริยธรรมสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้น ๆ ซึ่งต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว

                   มาตรา ๑๘๘  การพิจารณาพิพากษาอรรถคดีเป็นอำนาจของศาล ซึ่งต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์
ผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง

                   มาตรา ๒๒๖  เมื่อมีการดำเนินการตามมาตรา ๒๒๕ หรือภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งหรือการเลือกแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้สมัครรับเลือกผู้ใดกระทำการทุจริตในการเลือกตั้งหรือการเลือกหรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่น ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้น
การพิจารณาของศาลฎีกาตามวรรคหนึ่ง ให้นำสำนวนการสืบสวนหรือไต่สวนของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นหลักในการพิจารณา และเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ให้ศาลมีอำนาจสั่งไต่สวนข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้
ในกรณีที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าบุคคลตามวรรคหนึ่งกระทำความผิดตามที่ถูกร้อง ให้ศาลฎีกาสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นเป็นเวลาสิบปี  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา แล้วแต่กรณี
เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลฎีกาจะพิพากษาว่าผู้นั้นมิได้กระทำความผิด และเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้นั้นกระทำความผิด ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาผู้นั้นสิ้นสุดลงนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่
มิให้นับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาซึ่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคสี่เป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภา แล้วแต่กรณี
ให้นำมาตรานี้ไปใช้บังคับแก่การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นด้วยโดยอนุโลม แต่ให้อำนาจของศาลฎีกาเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ และให้คำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด
การพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาหรือศาลอุทธรณ์ตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ของศาลฎีกาซึ่งต้องกำหนดให้ใช้ระบบไต่สวนและให้ดำเนินการโดยรวดเร็ว

                   มาตรา ๒๓๔  คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติมีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
(๑) ไต่สวนและมีความเห็นกรณีมีการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ หรือผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง เพื่อดำเนินการต่อไปตามรัฐธรรมนูญหรือตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๒) ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมเพื่อดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๓) กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว  ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
(๔) หน้าที่และอำนาจอื่นที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
ในการปฏิบัติหน้าที่ตาม (๑) (๒) และ (๓) ให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติที่จะต้องจัดให้มีมาตรการหรือแนวทางที่จะทำให้การปฏิบัติหน้าที่มีประสิทธิภาพเกิดความรวดเร็ว สุจริต และเที่ยงธรรม ในกรณีจำเป็นจะมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตดำเนินการแทนในเรื่องที่มิใช่เป็นความผิดร้ายแรงหรือที่เป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐบางระดับหรือกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของหน่วยธุรการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการสอบสวนหรือไต่สวนเบื้องต้นตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตก็ได้

                   มาตรา ๒๔๘  องค์กรอัยการมีหน้าที่และอำนาจตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
พนักงานอัยการมีอิสระในการพิจารณาสั่งคดีและการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง และไม่ให้ถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครอง
การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่นขององค์กรอัยการให้มีความเป็นอิสระโดยให้มีระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นการเฉพาะตามความเหมาะสมและการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับพนักงานอัยการต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการอัยการ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยประธานกรรมการซึ่งต้องไม่เป็นพนักงานอัยการ และผู้ทรงคุณวุฒิบรรดาที่ได้รับเลือกจากพนักงานอัยการ ผู้ทรงคุณวุฒิดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีบุคคลซึ่งไม่เป็นหรือเคยเป็นพนักงานอัยการมาก่อนสองคน  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
กฎหมายตามวรรคสาม ต้องมีมาตรการป้องกันมิให้พนักงานอัยการกระทำการหรือดำรงตำแหน่งใดอันอาจมีผลให้การสั่งคดีหรือการปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปตามวรรคสอง หรืออาจทำให้มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์  ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวต้องกำหนดให้ชัดแจ้งและใช้เป็นการทั่วไป โดยจะมอบอำนาจให้มีการพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไปมิได้

                   มาตรา ๒๕๘  ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่าง ๆ ให้เกิดผล ดังต่อไปนี้
ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม
(๑) ให้มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจนเพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า และมีกลไกช่วยเหลือประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ รวมตลอดทั้งการสร้างกลไกเพื่อให้มีการบังคับการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม
(๒) ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ชัดเจนเพื่อมิให้คดีขาดอายุความ และสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการสอบสวนคดีอาญา รวมทั้งกำหนดให้การสอบสวนต้องใช้ประโยชน์จากนิติวิทยาศาสตร์ และจัดให้มีบริการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์มากกว่าหนึ่งหน่วยงานที่มีอิสระจากกันเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างมีทางเลือก
(๓) เสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรขององค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมให้มุ่งอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโดยสะดวกและรวดเร็ว
(๔) ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้ง และโยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกันเพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพและภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน

                   การทำงานให้รวดเร็วนั้นที่จำเป็นก็คือต้องมี “การกำหนดเวลา” สำหรับการดำเนินงานในกระบวนการและขั้นตอนต่าง ๆ ให้ชัดเจน แม้ที่ผ่านมาจะมีการกำหนดไว้ในกฎหมายอยู่บ้างว่าหน่วยงานต้องดำเนินการนั้นนี้ภายในระยะเวลาเท่าใด แต่ก็มีกฎหมายลักษณะดังกล่าวจำนวนไม่มากนัก ส่วนใหญ่จะเป็นยี่ต๊อกในการดำเนินการของหน่วยงานซึ่งเป็นเรื่องภายในของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสียมากกว่าซึ่งก็ไม่มีใครรู้ว่าเรื่องใดขั้นตอนใดจะใช้เวลาเท่าใด จนกระทั่งรัฐบาลต้องเสนอให้ตรากฎหมายอำนวยความสะดวกในการอนุมัติอนุญาตของทางราชการขึ้น เพื่อให้หน่วยงานนำยี่ต๊อกเหล่านี้จากในลิ้นชัก ออกมาวางให้ประชาชนเห็น

                   ข้อดีของการกำหนดเวลาการทำงานต่าง ๆ ไว้ในกฎหมายคือพี่น้องประชาชนจะได้รู้ชัดเจนว่าการดำเนินการของภาครัฐจะต้องแล้วเสร็จภายในระยะเวลาเท่าใด เขาต้องรอนานเท่าใด มีต้นทุนเท่าไร ภาครัฐเองก็จะได้ไม่มีเรื่องค้างให้เป็นภาระ การดองเรื่องไว้เพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางมิชอบก็จะลดลง ทั้งจะทำให้ประสิทธิภาพการบริหารราชการดีขึ้นด้วย ไม่ชักช้าอืดอาด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม การกำหนดเวลาทำงานแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจนจะช่วยเร่งรัดการดำเนินคดีความต่าง ๆ ความยุติธรรมจะบังเกิดโดยไม่ล่าช้า เพราะถ้าความยุติธรรมที่ล่าช้า เท่ากับไม่มีความยุติธรรม

                   ข้อไม่ดีของการกำหนดเวลาการทำงานต่าง ๆ ไว้ในกฎหมายมีเพียงข้อเดียวคือมันจะกระทบการทำให้ทำงานแบบ “เคย ๆ” หรือ comfort zone ของผู้ปฏิบัติ เพราะจะเรื่อยเปื่อยเฉื่อยแฉะเหมือนเดิม หรือทำแบบที่พี่สบายใจอีกต่อไปไม่ได้ ต้องขยัน ต้องเอาจริงเอาจัง ต้องคิดวิธีทำงานใหม่ ๆ ให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น ฯลฯ ทั้งยังทำให้เจ้าหน้าที่ผู้มีไถยจิตไม่สามารถดึงเรื่องเพื่อดำเนินการทุจริตได้อีก

                   นี่น่าจะถือได้ว่าเป็นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และเป็นเรื่องดีที่จะช่วยกันผลักดันนะครับผมว่า.


วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2560

พระปิยมหาราชในความทรงจำของยาย โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

เมื่อครั้งยังเป็นเด็กเล็ก ๆ นั้น ผมนอนอยู่ห้องเดียวกับยาย ในห้องนอกจากจะมีหิ้งพระแล้วก็มีรูป ๆ หนึ่งแขวนไว้เยื้อง ๆ กันด้วย ในกรอบไม้สีเหลืองนั้นเป็นรูปวาด มีผู้ชายไว้หนวด หน้าตาใจดี แต่งตัวอย่างทหารเสื้อแดงที่เราเห็นในหนังฝรั่งแต่สีขาว พู่หมวกก็สีขาวยืนกุมกระบี่อยู่ท่าทางโก้มาก บนพื้นที่ยืนอยู่นั้นมีคนจำนวนมากทั้งผู้ชายผู้หญิงเด็กเล็กเด็กโตหมอบกราบแทบเท้าอยู่เต็มไปหมด

ผมเห็นยายกราบพระเสร็จก็จะกราบรูปนี้ด้วยทุกเช้าทุกค่ำ  วันหนึ่งด้วยความสงสัยก็เลยถามยายว่ารูปนี้เป็นรูปใคร ยายบอกผมว่าเป็นรูปพระปิยมหาราช ท่านเป็นเทวดา และสอนให้ผมทำตามท่านเพื่อเป็นมงคลชีวิต 

ตั้งแต่นั้นมา เมื่อผมกราบพระเสร็จ ผมก็จะกราบรูปเทวดานั้นด้วยทุกครั้งไป

เมื่อเข้าโรงเรียนจึงทราบว่ารูปเทวดาที่ยายบอกคือพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ห้า และเมื่อได้เรียนมากเข้าจึงได้รับรู้ว่าพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อสยามประเทศมากมายเพียงใด ทรงเสด็จพระพาสต้นเยี่ยมเยียนราษฎร ทรงพัฒนาบ้านเมืองให้ทันสมัยทัดเทียมนานาอารยประเทศในขณะนั้น ถึงขนาดว่าทรงส่งพระราชโอรสไปศึกษาวิชาการยังต่างประเทศที่ข่มขู่สยามอยู่เป็นเนืองนิจเพื่อให้รู้ “เท่าทัน” และ “ทัดเทียม” ฝรั่งเพื่อจะได้รักษาชาติไม่ให้เป็นขี้ข้าฝรั่ง 

แม้กระทั่งโรงเรียนที่ผมเรียนนั้น ถึงจะเป็นโรงเรียนวัด แต่ก็มีรากฐานมาจากพระราโชบายของในหลวงรัชกาลที่ห้าที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้จัดการศึกษาให้ราษฎรมีความรู้ ไม่โง่เขลาเบาปัญญา มีวิชาไปทำมาเลี้ยงชีพ เพราะทรงตระหนักว่าความใฝ่รู้ ความรู้ รวมทั้งคุณธรรมจริยธรรม จะเป็นรากฐานอันสำคัญของการพัฒนาสยามประเทศให้เจริญทัดเทียมกับฝรั่ง 

ที่สำคัญยิ่งคือ “ทรงเลิกทาส”

การเลิกทาสในสยามประเทศยุคนั้นในทัศนะผมเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะเป็นการรับรองสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ว่าทุกคนเท่าเทียมกัน ในหลวงรัชกาลที่ห้าทรงทำก่อนฝรั่งมังค่านักประชาธิปไตยเสียอีก ทำโดยที่ทาสไม่ต้องลุกฮือขึ้นมาเรียกร้อง ทำโดยแนบเนียน ละมุนละม่อม ไม่มีการรบราฆ่าฟันกันเพราะสูญเสียผลประโยชน์จากการค้าทาสเหมือนในเมืองฝรั่งด้วย

นี่คือสุดยอดแห่งอัจฉริยภาพแห่งพระปิยมหาราช

เมื่อโตขึ้น ผมก็ได้เห็นภาพข่าวพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่เก้า ทรงเสด็จเยี่ยมเยียนอาณาประชาราษฎร์ทั่วทุกขอบขัณฑสีมาไม่มีวันหยุดเพื่อให้ประชาชนทั้งแผ่นดินอยู่ดีมีสุข ยายก็คงเห็นเหมือนกันเพราะดูอยู่ด้วยกัน ต่อมารูปที่ข้างหิ้งพระจึงมีรูปเทวดาเพิ่มขึ้นอีกรูปหนึ่ง คือพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่เก้าที่ยายตัดมาจากปฏิทินมาใส่กรอบ

เมื่อผมเข้าทำงาน จึงได้ทราบว่าที่ทำงานของผมคือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานั้นมีต้นกำเนิดมาจาก “เคาน์ซิลออฟสเตด” อันเป็น “ที่ปฤกษาในราชการแผ่นดิน” ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและมีบทบาทสำคัญในการตรากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลิกทาสในครั้งกระนั้น ทั้งเมื่อกลายเป็น “กองกรรมการชำระประมวลกฎหมาย” ก็มีส่วนสำคัญในการยกร่างประมวลกฎหมายทั้งสี่ฉบับเพื่อจัดการกับข้อเรียกร้องสิทธิสภาพนอกอาณาเขตของฝรั่งด้วย และเมื่อกลายมาเป็น “กรมร่างกฎหมาย” ในเวลาต่อมา และมาเป็น “สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา” ในปัจจุบัน เราก็ยังปฏิบัติภารกิจสำคัญด้านกฎหมายของแผ่นดินมาอย่างต่อเนื่อง

ผมภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานเล็ก ๆ ที่มีเกียรติยิ่งแห่งนี้ 

เสียดายมาก ตอนน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2526 พระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงทั้งสองพระองค์ที่ข้างหิ้งพระนั้นหายไปกับสายน้ำ แต่ผมยังคงปฏิบัติกิจวัตรที่ยายเคยสอนไว้มาจนทุกวันนี้ แม้ยายจะจากไปหลายปีแล้ว

ยายผมเป็นชาวสวนธรรมดา ไม่ใช่แม่พลอยในนิยาย

ยายเกิดในรัชกาลที่ห้า และเป็นสตรีห้าแผ่นดิน.

วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้ปราบโกงถูกกล่าวหาว่าทุจริต: ใครควรเป็นผู้ตรวจสอบ โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

ในตอนที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือ กรธ. จัดทำร่างรัฐธรรมนูญนั้น กรธ. เปิดให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางต่าง ๆ อย่างหลากหลายทั้งทางไปรษณีย์ และวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาของ กรธ. นอกจากนี้ เรายังออกเดินสายไปรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนหลากหลายจังหวัดในทุกภาค แถม กรธ. แต่ละท่านกับฝ่ายเลขานุการทุกคนต่างช่วยกันเก็บรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่ปรากฏในสื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียต่าง ๆ มาใช้ประกอบการพิจารณาด้วยนะครับ ไม่ใช่นั่งอยู่ในห้องแอร์รอข้อมูลวิ่งมาหาอย่างเดียว

เรียกว่า กรธ. ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ มาตั้งแต่ยังไม่มีมาตรา 77 ด้วยซ้ำไป

ความคิดเห็นของพี่น้องนั้นหลากหลายมากครับ แต่เชื่อไหมครับว่าเรื่องที่พี่น้องประชาชนพูดตรงกันมากที่สุดห้าเรื่อง เรื่องทุจริตนำโด่งมาอันดับหนึ่งเลย เรื่องคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์เป็นอันดับสอง ตามมาด้วยลำดับสามเรื่องกระบวนการยุติธรรม ความเหลื่อมล้ำนี่เข้าที่สี่ เรื่องการพัฒนาแบบไร้ทิศทางและไม่ยั่งยืนนี่มาที่ห้า

ทุกคนพูดตรงกันครับว่าการทุจริตนี่เป็นอะไรที่น่าขยะแขยงเป็นอย่างยิ่ง แต่กระนั้นก็ดันมีอยู่ในทุกวงการทั้งภาครัฐภาคเอกชน ฟอนเฟะมาก 

เมื่อประชาชนสะท้อนมาอย่างนี้ เรื่องการป้องกันและปราบปรามการทุจริตจึงมีความสำคัญอันดับต้น ๆ ของร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ. จัดทำขึ้น จนใครต่อใครขนานนามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” กันทีเดียว และเรื่องนี้น่าจะเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้รับความเห็นชอบจากผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในการลงคะแนนเสียงประชามติ

สิ่งที่พูดตรงกันมีอีกอย่างหนึ่งคือการปราบโกงไม่ใช่ตั้งองค์กรใหม่ ๆ มาปราบ เพราะตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาก็มีคนไม่กี่หยิบมือ คนโกงมันตั้งพะเรอเกวียน การโกงมันก็ลักลอบทำ แอบทำ เอาอย่างนี้ดีไหม พี่น้องเขาเสนอแนะว่าทำอะไรต่าง ๆ ก็บังคับให้มันต้องเปิดเผยและโปร่งใสเสีย พออะไร ๆ มันเปิดเผยเข้าแล้วมันก็จะโกงยากขึ้น แล้วพี่น้องประชาชน 65 ล้านคนจะได้ช่วยกันเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแสแชร์ข้อมูลให้ แต่พอแจ้งข้อมูลไปแล้วองค์กรที่รับแจ้งต้องทำงานให้รวดเร็วขึ้นด้วยนะ เพราะที่ผ่าน ๆ มาแต่ละเรื่องมันนานเหลือเกิน บางเรื่องขาดอายุความไปก็มีซึ่งมันไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น เขาเสนอว่ากำหนดเวลาดำเนินการให้ชัดเจนได้ไหม

กรธ. ฟังแล้วคิดว่าเข้าท่าแฮะ จึงกำหนดในมาตรา 59 ว่า “รัฐมีหน้าที่” ต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองของรัฐที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการตามที่กฎหมายบัญญัติ และต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก  และกำหนดไว้ในมาตรา 77 ว่ารัฐพึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายอย่างชัดเจน

ผู้แสดงความเห็นหลายท่านที่เป็นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เล่าไปร้องไห้ไปด้วยความอัดอั้นถึงความทุกข์ระทมของผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัวว่า ทันทีที่มีการกล่าวหา ทางปฏิบัติก็จะมีการประกาศชื่อผู้ถูกกล่าวหาและผู้เกี่ยวข้องลงเว็บไซต์ แล้วสื่อก็เอาไปลงเป็นข่าวครึกโครมทั้งที่ยังไม่มีการชี้มูลความผิดเลย แค่นี้พวกเขาและครอบครัวเหมือนตกนรกทั้งเป็นแล้วเพราะชาวบ้านร้านช่องก็ตราหน้าว่าเป็นคนโกง ไม่มีใครอยากคบค้าสมาคมด้วย แถมงานการที่ทำก็หยุดชะงักไปหมด อย่างมีการร้องเรียนว่าการประกวดราคาก่อสร้างถนนเข้าหมู่บ้านแห่งหนึ่งมีการทุจริต โครงการก็ชะงักเลย ไม่มีใครกล้าทำอะไรต่อ คนเดือดร้อนคือชาวบ้านในหมู่บ้าน แต่พอผลออกมาไม่มีอะไร ถึงจะลงเว็บไซต์เผยแพร่ว่าไม่มีการทุจริต สื่อก็ลืมไปแล้ว ไม่ลงข่าวให้ พวกเขาเหมือนตายทั้งเป็นและทำให้รู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ข้อนี้คงต้องปรับปรุงวิธีการดำเนินงานให้สอดคล้องกับการคุ้มครองสิทธิในเกียรติยศ ชื่อเสียง ของบุคคลตามมาตรา 32 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ ครับ

มีคำถามหนึ่งที่พบในแทบจะทุกเวทีก็คือ เราให้มีองค์กรปราบทุจริตแล้ว ใครจะเป็นคนตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของ “ผู้ดำรงตำแหน่ง” ในองค์กรเหล่านี้จะไม่ทุจริตเสียเอง ต้องตั้งซุปเปอร์องค์กรอะไรมาตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งไหม แล้วใครจะมาตรวจสอบซุปเปอร์องค์กรนั่นล่ะ ต้องตั้งซุปเปอร์ของซุปเปอร์องค์กรอีกไหม เรื่องนี้เดิมมีทางออกอยู่แล้วคือให้มีการตั้ง "ผู้ไต่สวนอิสระ" มาดำเนินการตรวจสอบ ได้ความว่าอย่างไรก็ว่ากันไป เคยใช้มาแล้วด้วย มีประสิทธิภาพดี อันนี้ กรธ. จึงกำหนดเป็นหลักประกันความเป็นอิสระขององค์กรปราบทุจริตไว้ในรัฐธรรมนูญเลย พี่น้องเขาก็เห็นด้วย

อย่างไรก็ดี พี่น้องประชาชนเขาก็ยังมีความข้องใจว่า แล้วถ้า “เจ้าหน้าที่” ขององค์กรปราบทุจริตถูกกล่าวหาว่าโกง ใครจะเป็นคนตรวจสอบ เพราะในหมู่คนดีก็ย่อมมีคนไม่ดีปะปนอยู่บ้างเหมือนกันทุกที่ แต่ถ้าให้องค์กรตรวจสอบเอง จะมั่นใจได้อย่างไรว่าเขาจะไม่ช่วยเหลือกัน อันนี้ก็น่าคิดนะครับ เกิดข้อครหานินทาแน่ ๆ ทำอย่างไรจะจึงจะป้องกันไม่ให้เกิดข้อครหาเช่นนี้

ในประเด็นนี้ กรธ. ก็เลยเสนอว่าถ้าเจ้าหน้าที่ขององค์กรปราบทุจริตถูกกล่าวหาว่าโกง ก็ให้องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเหมือนกันมาเป็นคนตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส และสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่กระบวนการตรวจสอบ ปรากฏผลอย่างไรก็แจ้งให้องค์กรปราบทุจริตดำเนินการต่อไปเอง ผิดถูกก็ว่ากันไปตามหลักเกณฑ์

ประเด็นสุดท้ายก็มีเท่านี้แหละครับ กรธ. ไม่ได้ทะเลาะเบาะแว้งอะไรกับใครตามที่มีการลงข่าวหรอกครับ คิดจะทะเลาะยังไม่เคยเลย เพียงแต่พี่น้องประชาชนเขาสะท้อนความคิดเห็นมา เราก็พยายามหาวิธีคลายความกังวลของพี่น้องเขาโดยวิธีการที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญเท่านั้นเอง

ถ้าใครคิดวิธีอะไรที่มีเหตุผลหนักแน่นมากกว่านี้ได้ก็ลองช่วยกันเสนอครับ สนช. เขากำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่

การพัฒนาบ้านเมืองให้เกิดความเจริญพี่น้องประชาชนมีความผาสุก เป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนทุกฝ่ายครับ.

วันพุธที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560

กระทรวงอนาคตของชาติ โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

แต่ก่อนร่อนชะไรเวลาพูดถึงหน่วยงานที่รับผิดชอบการศึกษาของชาติ เราก็จะนึกถึงแต่กระทรวงศึกษาธิการที่ตั้งมานมนาน
และแน่นอน พอพูดถึงการศึกษาปุ๊บ คนฟังก็จะคิดปั๊บไปถึงปัญหาสารพัดสารพัน ไม่ว่าจะเป็นวิธีการจัดการเรียนการสอน การพัฒนาครูอาจารย์ ตำรับตำรา ความเหลื่อมล้ำ เรียนฟรีกี่ปี โครงสร้างองค์กรที่ใหญ่โตมโหระทึก ม้ารถทศพล เงินเดือน เงินเพิ่ม หนี้ครู หน่วยไหนจะแยกออกมาเป็นอิสระ ฯลฯ 

ว่าง่าย คือคิดถึงแต่เรื่องที่แต่ละคนฝังใจ ไม่ค่อยคิดถึงเป้าหมายการพัฒนาในภาพรวมอย่างที่รัฐธรรมนูญ รัฐบาล และพี่น้องประชาชนต้องการ

จริง ก็ไม่ผิดหรอกครับ ผมว่าเราคุ้นเคยกับสถานการณ์นี้มานานจนคิดอะไรไม่ออกแล้ว พอพูดถึงปฏิรูปการศึกษาสิ่งที่คิดที่ทำก็วน อยู่ในเรื่องที่ว่านี้กันทุกรอบไป จนกลายเป็นพายเรือในอ่าง ไม่ไปไหนสักที เสียเงินวิจงวิจัยไปไม่รู้เท่าไร ได้ผลงานมาเป็นตัน จนคนแถวบ้านที่เริ่มตั้งชาติหลังเราหลายปีแซงไปติดอันดับโลกแล้ว 

เอ.. หรือว่ามนต์ขลังของคำว่าการศึกษามันทำให้เราคิดอะไรใหม่ ไม่ออก ติดกับดักตัวเองไปซะงั้น

ผู้เขียนจึงลองคิดแผลง ดูว่า ถ้าเราเปลี่ยนชื่อของกระทรวงศึกษาธิการเสียใหม่ เป็นกระทรวงอนาคตของชาติมันจะทำให้ได้ผลที่แตกต่างไปจากเดิมหรือเปล่า 

เหตุที่คิดแบบนี้เพราะว่าภารกิจการสร้าง “อนาคตของชาติ” ทำให้ต้องคิดในองค์รวม ไม่ได้มองเฉพาะเรื่องการศึกษาอย่างเดียว ต้องคิดถึงเป้าหมาย คือ อนาคตจะเป็นอย่างไร คนของเราในอนาคตจะต้องมีคุณลักษณะอย่างไรจึงจะอยู่ได้อย่างสง่างามและมีศักดิ์ศรี เป็นเอเชียชั้นหนึ่ง ไม่ใช่เอเชียชั้นสองหนือชั้นสาม ไปประชุมที่ไหนไม่นั่งเงียบเป็นหอยในฝา ไม่มีส่วนร่วม เน้นกินเน้นช้อป ไปดูงานกันมาทั่วโลกแล้วก็ไม่เห็นจะพัฒนาสักทีหนึ่ง เป็นต้น 

ถ้าเป็นกระทรวงอนาคตของชาติ กระทรวงนี้ต้องมีภารกิจในการคิดอ่านว่าอนาคตของชาติจะมุ่งไปในทิศทางไหน เราจะเตรียมความพร้อมของคนของเราอย่างไรให้มีความรู้ความสามารถและศักยภาพในการทำงานตามที่ตนเองถนัด สามารถพึ่งพาตนเองได้ มีระเบียบวินัย มีคุณธรรม ไม่ใช่ทำอะไรตามใจฉัน เอาง่ายเข้าว่า ไม่คิดอะไรไกล ๆ มักง่าย หรือเอาแต่ร้องแรกแหกกระเชอให้คนอื่นมารุมช่วยเหลือเพราะฉันเป็นศูนย์กลางของจักรวาล 

เมื่อเป้าหมายชัดเจนแล้ว ก็จะช่วยให้สังคมช่วยกันมองลึกลงไปในรายละเอียดว่าถ้าจะบรรลุเป้าหมายที่ว่านี้ เราจะจัดการเรียนการสอนอย่างไรให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้อย่างมีความสุข ได้เรียนตามถนัด รู้จักฝันและพยายามทำฝันให้เป็นจริง มีสุขภาพกายสุขภาพจิตสมบูรณ์แข็งแรง ไม่ต้องเรียนพิเศษหัวทิ่มหัวตำ มีกองทุนสนับสนุนคนด้อยโอกาส ครูบาอาจารย์สอนหนังสือเป็นหลัก สอนอย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และหน่วยงานรัฐ องค์กรปกครองท้องถิ่น เอกชน และประชาสังคมจะประสานพลังกันอย่างไรเพื่อสร้างอนาคตของชาติ จะบูรณาการการทำงานกันอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การช่วยกันเปลี่ยนทัศนคติของสังคม จาก "ต้องเรียนให้สูง ๆ จะได้เป็นเจ้าคนนายคน" เป็น "มีความรู้ความสามารถที่จะประกอบอาชีพที่ตัวเองถนัด" เพราะทุกอาชีพมีเกียรติมีศักดิ์ศรีเหมือน ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ วิศวกร พ่อค้า แม่ค้า คนขับรถรับจ้าง ฯลฯ เพราะทุกอาชีพต้องพึ่งพากัน 

ภารกิจนี้ "ยิ่งใหญ่" กว่าจัดการศึกษาอย่างเดียวนะผมว่า เพราะเป็นภารกิจที่มีผลต่อประเทศชาติในระยะยาว

เปลี่ยนบ้างก็ดีนะครับ ไม่งั้นคงคิดอะไรใหม่ ได้ยากมาก.