วันอังคารที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2562

ความซื่อตรงในภาครัฐ (Public Integrity) โดย นางโชติมา สงวนพันธุ์ เวชพร*


ผ่านพ้นการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 34 ท่านนายกรัฐมนตรีได้ปลุกดีเอ็นเออาเซียนให้ร่วมมือสร้างภูมิภาคเข้มแข็งประเทศไทยกันไปแล้ว วันนี้ผู้เขียนจะขอชวนมาปลุกดีเอ็นเอ Public Integrity หรือ "ความซื่อตรงในภาครัฐ" กันบ้าง

เมื่อพูดถึงคำว่า Public Integrity ชวนให้สงสัยและงงงวยกับคำแปลภาษาไทยที่เหมาะสม ที่สามารถสะท้อนถึงแก่นแท้ความหมายที่แท้จริง ในบ้านเรานั้นนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านได้ให้นิยามของคำว่า Integrity ไว้มากมาย ตั้งแต่ สุจริตธรรมภาครัฐ คุณธรรม ความซื่อสัตย์ ความซื่อสัตย์สุจริต และอีกมากซึ่งล้วนอ่านแล้วมึนทั้งสิ้น

ผู้เขียนได้ไปทบทวนความหมาย คำนิยามของคำว่า Integrity ในคำแปลภาษาอังกฤษ พบว่า หมายถึง "คุณลักษณะของความซื่อสัตย์สุจริต" และ "ยึดมั่นในคุณธรรมอย่างจริงจัง" (the quality of being honest and having strong moral principles) (Cambridge Dictionary) และเมื่อเพิ่มคำว่า Public เข้าไป OECD (2005) ได้ให้คำจัดกัดความไว้ว่า Public Integrity หมายถึง "การวางตน ดำรงตำแหน่งโดยยึดมั่นในคุณค่า หลักการ บรรทัดฐานของคุณธรรมจริยธรรมโดยคำนึงถึงประโยชน์สุขส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน"

ดังนั้น จากคำนิยามที่อธิบายกันแบบยาว ๆ ก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจเห็นภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทำให้สามารถหาความหมายที่ใกล้เคียงกับคำในภาษาไทยที่สุด คือ หมายถึง "ความซื่อตรงในภาครัฐซึ่งรวมทั้งซื่อสัตย์ สุจริต และประพฤติตนตั้งมั่นในบรรทัดฐานของคุณธรรม จริยธรรม อีกทั้งคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

ความซื่อตรงในภาครัฐนับว่าเป็นหัวใจหลักของหลักธรรมาภิบาล เพราะจะเป็นหลักประกันที่สำคัญว่าหน่วนงานภาครัฐจะดำเนินการต่าง ๆ อย่างถูกต้อง สมเหตุสมผล เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนรวม อันจะนำมาซึ่งความเชื่อมั่นและไว้วางใจในรัฐบาล (Trust in Government) และนี่เป็นเหตุผลประการสำคัญที่รัฐบาลทั่วโลกให้ความสำคัญกับความซื่อตรงในภาครัฐ 

บ้านเราตระหนักถึงความสำคัญของความซื่อตรงในภาครัฐเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่มุ่งหมายที่จะเสริมสร้างความโปร่งใสและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการดำเนินกิจการต่าง ๆ และการป้องกันและขจัดการทุจริตในทุกมิติ รัฐบาลเองก็ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม โดยนอกจากการเสนอกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังออกมาตรการทางบริหารจำนวนมากเพื่อเสริมสร้างให้เกิดความซื่อตรงในภาครัฐ  

นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ดำเนินความร่วมมือกับ OECD เพื่อเสริมสร้างความซื่อตรงในภาครัฐให้สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติที่ดีของนานาอารยะประเทศด้วย เรียกว่า OECD-Thailand Country Partnership  โดยสำนักงาน ก.พ.ร. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักได้เปิดมิติใหม่ของการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบการบริหารราชการของสำนักงาน ก.พ.ร. โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบราชการไทยให้เกิดความโปร่งใส มีความสมดุลและบูรณาการหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น พัฒนาแนวทางการสร้างความโปร่งใสตามยุทธศาสตร์และแผนงานเชิงรุกของรัฐบาลในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งปลูกจิตสำนึก เสริมสร้างวัฒนธรรมความซื่อตรงในภาครัฐให้แก่ข้าราชการ เพิ่มประสิทธิภาพกลไกการป้องกันกำกับ ติดตามมาตรการในการแก้ไขปัญหาความซื่อตรงในภาครัฐ โดยดำเนินการร่วมกับ OECD มาตั้งแต่ ปี 2555

การดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างความซื่อตรงในภาครัฐของประเทศไทย (Thailand Integrity Review) นับเป็นครั้งแรกของภูมิภาคอาเซียนที่ได้มีการนำกรอบแนวทางปฏิบัติของ OECD ด้านความซื่อตรงในภาครัฐมาผลักดันให้บังเกิดผลในภาคราชการทุกระดับในวงกว้าง เพื่อเสริมสร้างและยกระดับความซื่อตรงในภาครัฐของประเทศไทยให้เทียบเคียงสากล ซึ่งนับเป็นโอกาสทองของประเทศไทย

สำหรับการดำเนินการในระยะแรกนั้น ได้กำหนดขอบเขตของการดำเนินการใน 3 มิติ ได้แก่ มิติที่หนึ่ง การประมวลภาพรวมและการบูรณาการหน่วยงานขับเคลื่อนการเสริมสร้างความซื่อตรงในภาครัฐ มิติที่สอง วัฒนธรรมการเสริมสร้างความซื่อตรงในภาครัฐของเจ้าหน้าที่รัฐ และมิติที่สาม การควบคุมและการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ 

ทั้งนี้ การดำเนินการทั้งสามมิติได้รับความร่วมมือสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะทำงานทำหน้าที่แสดงความคิดเห็น ให้ข้อเสนอแนะ และรวบรวมข้อมูลของหน่วยงานในการดำเนินการด้านความซื่อตรงในภาครัฐ เพื่อแสดงให้นานาประเทศได้รับรู้ถึงเจตนารมย์และความมุ่งมั่นของหน่วยงานภาคราชการไทยในการเสริมสร้างความซื่อตรงในภาครัฐตามที่ได้บัญญัติไว้ในกฏหมาย รวมไปถึงการดำเนินการในด้านการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ OECD ได้จัดทำขึ้นเพื่อวางแนวทางให้ประเทศไทย รัฐบาลไทยได้นำไปใช้ในการกำหนดนโยบายด้านความซื่อตรงในภาครัฐต่อไปนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น อาทิ บูรณาการหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พิจารณาขยายระบบการแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ให้ครอบคลุมถึงผู้บริหารระดับสูงและเจ้าหน้าที่ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการทุจริต  และพัฒนากฎหมายคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสเป็นการเฉพาะ ที่นอกเหนือจากการคุ้มครองพยาน ซึ่งเป็นสิ่งใหม่สำหรับสังคมไทย แต่ในหลายๆ ประเทศได้ มีกฎหมายลักษณะเช่นนี้แล้ว เป็นต้น ซึ่งข้อเสนอแนะเหล่านี้นับเป็นการวางรากฐานให้ประเทศไทยมีความซื่อตรงและเข้มแข็ง มีการบ่มเพาะ ปลุกฝังวัฒนธรรม ด้านคุณธรรม จริยธรรมในสังคม มีกลไกด้านการป้องกัน กำกับและติดตามการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและ ประพฤติมิชอบในภาครัฐ ตลอดจนมีมาตรการในการเสริมสร้างภาระรับผิดชอบให้กับหน่วยงานภาครัฐ

นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังเดินหน้าดำเนินการส่งเสริมความซื่อตรงในภาครัฐระยะที่สอง โดยมุ่งเน้นการออกแบบและเพิ่มศักยภาพนโยบายด้านการเสริมสร้างความซื่อตรงในการบริหารงานภาครัฐของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพตามยุทธศาสตร์ พร้อมขยายขอบเขตการเสริมสร้างความซื่อตรงในการบริหารงานภาครัฐของประเทศไทยภายใต้บริบทการบริหารจัดการความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อความซื่อตรงในภาครัฐ การตรวจสอบภายในและกลไกการตรวจสอบจากภายนอก ความซื่อตรง ความโปร่งใสในกระบวนการตัดสินใจ และ มาตรการทางวินัย จริยธรรมและคุณธรรมของข้าราชการ

          ความพยายามในการสร้างความซื่อตรงในภาครัฐของประเทศไทย เพื่อมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์เกิดผลดีต่อประเทศชาติและประชาชน โดยการยกระดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยด้านความซื่อตรงในภาครัฐให้เทียบเคียงสากล มุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบในภูมิภาคอาเซียนที่มีภาพลักษณ์ของการดำเนินงานภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ รัฐบาลและข้าราชการบริหารงานบนรากฐานความซื่อตรงอันจะนำไปสู่ความเชื่อมั่น ความไว้วางใจในการดำเนินงานของภาครัฐแก่ประชาชนและภาคธุรกิจ ตลอดจนส่งผลดีต่อเสถียรภาพของรัฐบาล ความเจริญก้าวหน้าของประเทศในระยะยาว ซึ่งจะนำไปสู่ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (Better Life) ของประชาชน

          ดังนั้น หากพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล ส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐ ร่วมมือกันปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ความซื่อตรงในภาครัฐอย่างแน่วแน่ จริงจัง ลดการหวงอาณัติอำนาจ อาณาเขตของตนเองลง พร้อมปรับเปลี่ยน และบูรณาการทำงานร่วมกัน ก็จะนำไปสู่ระบบราชการที่มีความซื่อตรง ไม่คดไม่โกง การทำงานก็จะร่วมกันทำโดยมุ่งเน้นผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์แก่ประชาชนในภาพรวม อันจะทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้นในที่สุด และเมื่อเป็นเช่นนั้นภาพลักษณ์ของประเทศไทยก็จะดีตามขึ้นไปเองโดยไม่จำเป็นต้องสร้างภาพ  ไม่ว่าจะเป็นดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่น (Corruption Perception Index) หรือดัชนีความซื่อตรงในภาครัฐ (Index of Public Integrity) 



---------------------------
*นักพัฒนาระบบราชการชำนาญการพิเศษ สำนักงาน ก.พ.ร.

วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2562

LIBRA มาแล้ว โดย นายจินตพันธุ์ ทังสุบุตร

เมื่อไม่กี่วันมานี้ Facebooks ได้แถลงข่าวเปิดตัวเงินดิจิทัลสกุลใหม่ที่ชื่อว่า Libra ซึ่งเป็นข่าวที่ทำให้แวดวงธุรกิจการเงินการธนาคาร รวมไปถึงหน่วยงานของรัฐบาลต่างๆ ออกมาให้วิเคราะห์และให้ความเห็นกันอย่างมากมาย

เหตุที่หลายฝ่ายตื่นเต้นกับ Libra นั้นก็เนื่องจาก Libra นั้นเป็นเงินดิจิทัลประเภทที่มีมูลค่าคงที่ (Stable Coin) ซึ่งเป็นเงินดิจิทัลที่มียักษ์ใหญ่ในภาคธุรกิจให้การสนับสนุนและมีคุณสมบัติที่สามารถแก้จุดอ่อนของเงินดิจิทัลอื่นๆ เช่น Bitcoin  Ethereum ได้ หลายคนจึงเห็นว่า Libra มีโอกาสที่จะเติบโตเป็นเงินสกุลกลางในโลกออนไลน์ในระยะอันใกล้ได้

เพื่อให้เข้าใจว่าทำไมหลายฝ่ายจึงตื่นเต้นไปกับการเปิดตัวเงินดิจิทัล Libra เราคงต้องเข้าใจก่อนว่าเงินที่เรารู้จักและใช้อยู่ในปัจจุบันคืออะไร มีข้อจำกัดอย่างไร

ในทางตำรา (Prof. Mann, 1939) เงินมีหน้าที่พื้นฐาน (function) 3 ประการคือ (1) เป็นหน่วยวัดมูลค่า (2) เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (3) เก็บรักษาความมั่งคั่ง 

เงินที่รัฐบาลต่างๆ พิมพ์ออกใช้ในประเทศไม่ว่าจะเป็นดอลลาร์ เยน หรือบาทนั้นล้วนแต่ทำหน้าที่ทั้งสามประการได้ครบถ้วน แต่สิ่งที่ทำให้เงินที่รัฐบาลออกใช้เป็นเงินตราที่สมบูรณ์ได้นั้นคือ “ความเชื่อถือ” (trust) ซึ่งความเชื่อถือของเงินแบบดั้งเดิม (fiat money) เกิดจากการรัฐเป็นผู้ออกและรับรองสถานะของเงิน ว่าสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย  ความมั่นคงของรัฐและความเชื่อมั่นต่อรัฐในฐานะผู้ออกใช้และรับรองเงินจึงมีผลโดยตรงกับมูลค่าของเงิน

แต่การที่รัฐมีอำนาจผูกขาดและมีอิสระในการออกและควบคุมปริมาณเงินนั้นหลายๆ ครั้งได้นำไปสู่การดำเนินนโยบายของรัฐบาล การเงินการคลังที่ผิดพลาดจนหลายกรณีได้กลายเป็นวิกฤตที่ส่งผลให้มูลค่าของเงินลดลง 

นอกจากนี้ การทำธุรกรรมที่ใช้ fiat money ส่วนใหญ่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐผ่านสถาบันการเงิน และนับวันรัฐก็ยิ่งเพิ่มการกำกับและควบคุมการทำธุรกรรม fiat money มากขึ้นโดยอ้างเหตุเพื่อการป้องกันการฟอกเงินและการหลีกเลี่ยงภาษีอากร ส่งผลให้การทำธุรกรรมมีขั้นตอนยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูง ดังจะเห็นได้จากการโอนเงินข้ามประเทศที่มีค่าธรรมเนียมสูง และต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การกำกับดูแลของทั้งประเทศต้นทางและปลายทาง

แต่เมื่อเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและคอมพิวเตอร์มีความพร้อม นักคอมพิวเตอร์กลุ่มหนึ่งจึงได้พยายามแก้ไขปัญหาและข้อจำกัดของเงินดั้งเดิม (fiat money) โดยนำเทคโนโลยี block chain อันเป็นวิธีในการบันทึกข้อมูลรายการธุรกรรม (transaction) โดยใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ยืนยันความถูกต้องและมีการเก็บข้อมูลแบบกระจายตัวโดยไม่มีศูนย์กลาง (distributed ledger) มาใช้ออกเงินสกุลดิจิทัลต่างๆ เช่น Bitcoin Ethereum เงินดิจิทัลจึงเป็นเงินที่สร้างขึ้นโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์และปลอดจากการควบคุมของรัฐ ซึ่งในทางทฤษฎีนั้นการที่รัฐไม่มีอำนาจควบคุม เงินดิจิทัลจึงไม่ถูกกระทบจากการดำเนินนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ทั้งยังปลอดจากการถูกตรวจสอบในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการโอนเงินเข้าออกประเทศ ภาษีอากร หรือการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

โดยที่เงินสกุลดิจิทัลในลักษณะของ Bitcoin เป็นเงินที่สร้างขึ้นโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไม่มีสินทรัพย์จริงๆ หนุนหลัง Bitcoin จึงทำหน้าที่ได้แต่เพียงเป็น “หน่วยวัดมูลค่า” และเป็น “สื่อกลาง” ในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการเท่านั้น มูลค่าของ Bitcoin ขึ้นอยู่กับ “ความเชื่อของประชาชน” (public trust) ล้วน ๆ ดังนั้น มูลค่าของ Bitcoin จึงเปลี่ยนแปลงได้ง่ายและรวดเร็ว ไม่มีเสถียรภาพเพียงพอที่จะทำหน้าที่ในการเก็บรักษาความมั่งคั่ง ปัจจุบัน Bitcoin จึงเป็นเพียง “ช่องทางเก็งกำไร” ของนักลงทุน แต่ไม่มีการนำมาใช้จ่ายอย่างแพร่หลาย

เพื่อแก้ไขข้อด้อยของเงินสกุลดิจิทัลแบบ Bitcoin จึงมีความพยายามที่จะสร้างเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่หรือที่เรียกกันว่า Stable Coin ขึ้นโดย Stable Coin นั้นใช้เทคโนโลยีเช่นเดียวกับ Bitcoin หากแต่นำแนวคิดดั้งเดิมของ fiat money ในการสร้างมูลค่าของเงินและแก้ไขปัญหาความผันผวน โดยนำสินทรัพย์หนุนหลัง Stable Coin ที่ออกใช้ดังเช่นกรณีของ TrueUSD ที่อ้างว่ามีอัตราส่วนเงินดอลลาร์หนุนหลังอยู่ในอัตราส่วน ต่อ 1  พร้อมทั้งรับรองว่าผู้ที่ได้รับการ KYC จะสามารถแลกเงินดิจิทัล TrueUSD ดังกล่าวกลับเป็นเงินได้

แม้ว่าแนวคิดของ Stable Coin จะสามารถแก้ไขข้อด้อยของเงินสกุลดิจิทัลแบบ Bitcoin ในด้านความผันผวนและความเชื่อถือของประชาชนได้ระดับหนึ่ง แต่หลายคนยังคงมีคำถามว่าสินทรัพย์ที่หนุนหลัง Stable Coin มีอยู่จริงหรือไม่ TrueUSD หรือTether ซึ่งเป็น Stable Coin ก็เคยมีการตรวจสอบสินทรัพย์ แต่เป็นการตรวจสอบอย่างไม่เป็นทางการ โดยบริษัทกฎหมายซึ่งผู้ออกเงินดิจิทัลเป็นผู้ว่าจ้างเท่านั้น ทำให้คำกล่าวอ้างว่าเงินดิจิทัลเหล่านี้มีสินทรัพย์หนุนหลังยังเป็นที่น่าสงสัย

Facebook จึงได้นำข้อดีข้อด้อยของเงินดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบันมาเป็นแนวทางในการออกเงิน Libra โดย Facebook เล็งเห็นว่าความสำเร็จของเงินดิจิทัลนั้นขึ้นอยู่กับ ความเชื่อถือ” Facebook จึงให้ Libra อยู่ในรูปแบบ Stable Coin ที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง โดยทุกหน่วยของเงิน Libra ที่ออกใช้จะต้องมี “สินทรัพย์จริง” ซึ่งจะประกอบไปด้วยเงินตราสกุลต่างๆ รวมถึงพันธบัตรระยะสั้นของรัฐบาลหนุนหลังในอัตราส่วนเท่ากัน ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการมีเงินสำรองในการออกธนบัตรของรัฐบาล

สำหรับการเปลี่ยนเงินสกุลต่างๆ ให้เป็น Libra นั้น Facebook ชี้แจงว่าผู้ที่ต้องการ Libra จะต้องนำเงินของประเทศต่างๆ (fiat money) ไปแลก และหากต้องการแลกกลับ ก็จะสามารถแลกกับตัวแทนรับแลกเงินได้ในลักษณะเดียวกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยจะมีการกำหนดค่าแลกเปลี่ยนโดยเทียบกับตะกร้าสกุลเงิน

นอกจากนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ Facebook ตกเป็นเป้าหมายหรือถูกกดดันจากหน่วยงานของรัฐให้ชะลอหรือระงับโครงการ Facebook จึงได้ประกาศว่า Facebook เป็นแต่เพียง “ผู้ริเริ่มคนหนึ่ง” เท่านั้น การดำเนินการในระยะต่อไปจะดำเนินการโดย Libra Association ซึ่งมีสถานะเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร 

ทั้งนี้ Libra Association เลือกจัดตั้งสำนักงานใหญ่ขึ้นที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เนื่องจากเป็นประเทศที่ระบบกฎหมายยอมรับเงินดิจิทัลเป็นสินทรัพย์ และมีกฎเกณฑ์รองรับการจัดทำและจำหน่ายเงินดิจิทัล (ICO) ภายใต้การกำกับดูแลของ FINMA  อีกทั้งเป็นประเทศที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนทั่วไป ว่ามีความมั่นคงและสามารถปกป้องสิทธิของบุคคลที่อยู่ภายในประเทศได้เป็นอย่างดี  ดังนั้น การที่ Libra Association เลือกจัดตั้งที่สวิสเซอร์แลนด์จึงมีผลในการสร้างความเชื่อมั่นใน Libra  อีกทางหนึ่งด้วย

วิธีการบริหารจัดการ Libra Association ก็เป็นอีกความพยายามหนึ่งในการสร้างความน่าเชื่อถือให้เงินดิจิทัล Libra  โดย Facebook ได้ประกาศว่า Libra Association จะใช้การบริหารแบบสภา (council) ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกเริ่มต้นจำนวน 28 บริษัทซึ่งล้วนแต่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่มธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่กลุ่มธุรกิจระบบการชำระเงิน เช่น Visa Master กลุ่มเทคโนโลยีกลุ่มทุน (venture capital) กลุ่มสื่อสาร และประกาศว่าจะขยายจำนวนสมาชิกให้ถึง 100 รายให้ได้ภายในปี 2563 เพื่อให้เกิดการยอมรับจากประชาชนโดยเร็วที่สุด

ในมุมมองของรัฐ ความน่ากลัวของ Libra อยู่ที่ความเป็นไปได้ในการสร้างความน่าเชื่อถือกับสาธารณชน จากการพิจารณาเอกสาร white paper จะเห็นได้ว่า Facebook มุ่งเน้นเรื่องความน่าเชื่อถือ ทั้งในตัวองค์กรการบริหารจัดการทรัพย์สิน สถานที่ตั้ง ชื่อเสียงของสมาชิก รวมถึงเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ ประกอบกับคุณลักษณะของ Libra ที่เป็นเงินดิจิทัลซึ่งสามารถโอนได้ทันทีโดยไม่มีข้อจำกัดด้านกายภาพแล้ว รัฐต่างๆ ย่อมคาดการณ์ได้ว่า Libra อาจกลายเป็นเงินสกุลใหม่ที่อยู่ “นอกการควบคุม” จากอำนาจรัฐแบบเดิม และหากความนิยมในการใช้ Libra เพิ่มขึ้นถึงจุดหนึ่งแล้ว การใช้ Libra ก็อาจกระทบอำนาจอธิปไตย (sovereignty) ของรัฐ ในออกใช้เงินตราของตัวเอง อันเป็นอำนาจที่สำคัญต่อ “ความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจ” และเสรีภาพของรัฐในการบริหารการเงินการคลัง หรืออาจส่งผลกระทบกับประสิทธิภาพของรัฐในการกำกับดูแลกิจกรรมต่างๆ เช่น การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การจัดการกับกิจกรรมเศรษฐกิจนอกระบบ (shadow economy) รวมถึงการจัดเก็บภาษี

แต่การที่รัฐจะจัดการกับ Libra นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในกรณีของรัฐที่ Libra Association มิได้มีสำนักงานหรือทรัพย์สินตั้งอยู่ เนื่องจากระบบกฎหมายของประเทศต่างๆ ในปัจจุบันนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของอำนาจรัฐ (sovereignty) ที่จำกัดเฉพาะภายในอาณาเขต ในขณะที่ Libra และเงินดิจิทัลอื่นสามารถเคลื่อนย้ายผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วโดยไม่มีข้อจำกัดทางกายภาพ การใช้กฎหมายของประเทศหนึ่งเพื่อกำกับดูแลเงินดิจิทัลจึงไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

แม้ว่าที่ผ่านมาหลายประเทศจะได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับเงินดิจิทัลแล้ว แต่จนถึงในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่ากฎหมายเหล่านั้นมีประสิทธิภาพในการควบคุมเงินดิจิทัลได้เพียงใด การที่ Facebook ออก Libra จึงอาจเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่ทำให้รัฐต่างๆ ต้องหันมาพิจารณาวิธีการกำกับดูแลเงินดิจิทัล และหาหนทางที่จะกำกับดูแลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ “อย่างเร่งด่วน” กันต่อไป

                             *************

วันจันทร์ที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2562

แผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเมียนมา โดย นายคำนวร เขื่อนทา*


                   สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาหรือเมียนมา มีเนื้อที่ประมาณ 676,578 ตารางกิโลเมตร (สำนักงาน กสทช., ม.ป.ป.) ประกอบไปด้วย 7 รัฐ และ 7 ภูมิภาค เมียนมามีประชากรทั้งสิ้นประมาณ 54,185,760 คน จากการจัดทำสำมะโนประชากรปี 2014 สัดส่วนของประชาร้อยละ 70 อาศัยอยู่ในชนบท (Ministry of Labour, Immigration and Population, เข้าถึงข้อมูล ณ วันที่ 2 มิ.ย. 62; UNFPA, 2017) ภายใต้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของประเทศเมียนมา ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และการเข้าถึงการพัฒนาเมียนมายังคงเผชิญความขัดแย้งภายในประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาของเมียนมา บทความชิ้นนี้ต้องการนำเสนอภาพรวมของแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเมียนมา (Myanmar Sustainable Development Plan 2014 – 2030: MSDP) ซึ่งเป็นแผนแม่บทในการพัฒนาและมุ่งแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

                   ที่ปรึกษาแห่งรัฐ นางออง ซาน ซู จี อธิบายถึงวัตถุประสงค์ของ MSDP ว่า
                   แผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเมียน เป็นการแสดงออกซึ่งวิสัยทัศน์ของการพัฒนาของประเทศเรา เป็นวิสัยทัศน์ที่จะแสวงหาความสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับโลก ในปัจจุบันนี้เมียนมามีแผนการพัฒนาในระดับภาพส่วน กระทรวงและภาคมากมาย หากแต่การพัฒนาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้หากแผนเหล่านั้นดำเนินไปภายใต้ร่มของยุทธศาสตร์ระดับชาติเท่านั้น” (MOPF, 2018: p. iii)

                   แผนการดังกล่าวประกาศใช้เมื่อ ปี ค.ศ. 2018 โดยมุ่งหวังให้เป็นพิมพ์เขียวของการพัฒนาประเทศ ภายใต้การกำหนดวิสัยทัศน์ที่เน้นกรอบการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ซึ่งมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ผ่านการกำหนดกรอบการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่จะสนับสนุนการสร้างความปรองดองในชาติ และเกลี่ยกระจายทรัพยากรธรรมชาติให้ภาคและรัฐต่าง ๆ อย่างยั่งยืน MSDP ได้กำหนดแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ในสามเสา คือ 1) สันติภาพและความมั่นคง 2) ความมั่งคั่งและการเป็นหุ้นส่วน 3) ประชากรและโลก เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนา 5 เป้าหมาย ได้แก่
                   1) การสร้างสันติภาพ ความสามัคคีปรองดอง และหลักธรรมาภิบาลที่ดี
                    2) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการสร้างความเข็มแข็งให้การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค
                    3) การสร้างอาชีพและการเจริญเติบโตโดยมีภาคเอกชนเป็นแกนหลัก (Private Sector-led Growth)
                    4) การพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21
                   5) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อความมั่นคงของรัฐ

                การประกาศใช้ MSDP แสดงให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลเมียนมาในการสร้างมาตรฐาน (Standardization) และกำหนดความสำคัญความสำคัญ (Priority) ของของโครงการและแนวทางการพัฒนา ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้การดำเนิการบรรลุเป้าหมาย ได้มีการกำหนดกลไกหน่วยงานการดำเนินการตามแผน MSDP หรือ MSDP Implementation Unit (MSDP-IU) ซึ่งประกอบไปด้วยชุดคณะกรรมาธิการย่อย เช่น National Economic Coordination Committee (NECC) เป็นต้น ที่จะเข้ามากลั่นกรองโครงการที่ถูกเสนอโดยองคาพยพต่าง ๆ ของเมียนมา โดยมีกระทรวงการวางแผนและการคลัง (Ministry of Planning and Finance) เป็นเจ้าภาพ

                   กลไกดังกล่าวจะทำหน้าที่วางแผนงบประมาณในการดำเนินการตาม MSDP เพื่อให้มั่นใจว่างบประมาณที่ได้รับทั้งจากแหล่งงบประมาณภายในประเทศและต่างประเทศ ทั้งจากภาครัฐและเอกชนนั้น ถูกใช้ในโครงการตามลำดับความสำคัญ และเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการของ MSDP  โดย MSDP-IU ได้พัฒนากลไกสำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ Project Bank ซึ่งจะเป็นคลังข้อมูลสำหรับรวบรวมโครงการที่เสนอขึ้นมา เพื่อส่งต่อไปยังแหล่งงบประมาณที่เกี่ยวข้อง (MOPF, 2018)

         กระบวนการดังกล่าวเริ่มต้นจากการที่แต่ละกระทรวงเสนอโครงการเข้ามายัง MoPF และ NECC หลังจากนั้น MoPF และ NECC จะทำหน้าที่กลั่นกรองและจัดทำแผนทางธุรกิจ (Business Case) และจัดลำดับความสำคัญก่อนส่งข้อมูลไปยัง Project Bank[1] เพื่อพิจารณาว่าแหล่งของงบประมาณที่เหมาะสม ได้แก่ การใช้งบประมาณผ่านกระบวนการทางงบประมาณตามปกติ การใช้งบประมาณผ่านช่องทางหน่วยงานความร่วมมือการช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (Development Assistance Coordination Unit: DACU)[2] หรือช่องทางการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP)  (Myanmar Development Institute, 2019)  มาตรการเหล่านี้จะช่วยทำให้โครงการที่เสนอเข้ามาได้รับการกลั่นกรอง วิเคราะห์ความเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการของ MSDP และความเหมาะสมกับลำดับความสำคัญในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนความเหมาะสมในเชิงแหล่งงบประมาณกับลักษณะโครงการ จากรายงานของ World Bank (2018) วิเคราะห์ว่าการประกาศใช้แผนดังกล่าวสามารถทำให้เกิด “ความแน่นอนในเชิงนโยบาย (Policy Certainty)” และทำให้เกิดความชัดเจนของประเทศเชิงนโยบายที่เมียนมาต้องการปฏิรูปให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การประกาศใช้แผนดังกล่าวจัดว่าเป็นย่างก้าวที่มีความสำคัญของเมียนมา

                   ประเด็นที่น่าสนใจ คือ กระบวนการภายใต้ MSDP นั้นได้รับการออกแบบมาตั้งแต่ขั้นตอนการกลั่นกรองโครงการไปจนถึงขั้นตอนงบประมาณ และออกแบบมาโดยตระหนักถึงบทบาทของภาคเอกชนในเข้ามามีส่วนในการพัฒนาและสร้างการเจริญเติบโตของประเทศเมียนมาด้วย ซึ่งจุดนี้น่าจะมีส่วนในการขับเคลื่อน MSDP ให้เกิดผลลัพท์ได้ในความเป็นจริง

                   นอกจากนี้ การเปิดกว้างของรัฐบาลเมียนมาให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ย่อมเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยในการเข้าไปลงทุนในเมียนมามากขึ้น โดยพิจารณาโครงการและมิติ ที่รัฐบาลเมียนมาให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาแหล่งพลังงานเชื้อเพลิง และน้ำมัน การพัฒนาสินค้าเกษตร เป็นต้น ซึ่งอันที่จริงนักลงทุนไทยก็เข้าไปลงทุนในเมียนมาเป็นอันดับที่ 2 รองจากจีน และสิงคโปร์เท่านั้น[3] ในธุรกิจพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ สินค้าเกษตร เครื่องดื่ม และธุรกิจการแพทย์ เป็นต้น (ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเมียนมา, ม.ป.ป.)  ดังนั้น การทำความคุ้นเคยและเข้าใจกับและติดตามการดำเนินการต่าง ๆ  MSDP จึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่อาจทำให้เห็นช่องทางของการลงทุนใหม่ ๆ ของ ไทยในเมียนมามากขึ้น และอาจเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาภายในด้านระบบขนส่งโลจิสติกส์และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ดียิ่งขึ้นเพื่อรักษาฐานกำลังการผลิต และยังคงสถานะของการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานที่มีความสำคัญในภูมิภาคนี้ต่อไป

***********



*ข้าราชการในโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 12 สำนักงาน ก.พ.ร. ปฏิบัติราชการ ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา

[1] Project Bank ในที่นี้ไม่ใช่ธนาคารแต่เป็นคลังข้อมูลโครงการที่สอดคล้องกับ MSDP
[2] DACU เป็นหน่วยงานซึ่งจะทำหน้าที่หน้าที่ประสานระหว่างรัฐบาลเมียนมาและผู้ให้ทุนโครงการเพื่อการพัฒนาต่าง ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการเพื่อการพัฒนาเหล่านั้นนั้นสอดคล้องกับมิติที่เมียนมาให้ความสำคัญ และกำหนดนโยบายเกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อการพัฒนาด้วย
[3] โปรดดูข้อมูลของ Directorate of Investment and Company Administration (DICA) ที่เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนของเมียนมา https://www.dica.gov.mm/sites/dica.gov.mm/files/document-files/country123_0.pdf

มอง Society 5.0 ของญี่ปุ่น ผ่านเลนส์ Made “People” in Japan โดย นางสาวชญาภา ศรีวิลาศ*


                    Super Smart Society คือการถอดรหัสจากแนวคิด Society 5.0 คนไทยอาจคุ้นหูกันดีกับ Thailand 4.0 และคงจะตั้งคำถามว่า แค่การขับเคลื่อนประเทศไปสู่ 4.0 ก็แสนจะยากเย็นแสนเข็ญแล้ว กระต่ายกับเต่ามาเกี่ยวอะไรด้วย แต่ผู้เขียนเชื่อว่าเมื่อพูดถึงนิทานเรื่อง “กระต่ายกับเต่า” คนส่วนมากรู้จักกันดี และคติสอนใจของนิทานเรื่องนี้ไม่เคยตกยุค เรายังเห็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และวัฒนธรรมที่เป็นตัวอย่างอธิบายการอุปมาอุปไมยของกระต่ายและเต่าอยู่

                    หลายคนคงจะเริ่มสงสัยว่ากระต่ายกับเต่ามันเกี่ยวอะไรกับ Society 5.0 เกี่ยวอะไรกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน เกี่ยวอะไรกับญี่ปุ่น ดู ๆ ไปแล้วเหมือนจะเป็นคนละเรื่อง ไม่น่าจะเอามาเชื่อมโยงกันได้

                    ผู้เขียนขอชวนทุกคนลองคิดเสียหน่อยว่า แม้กระต่ายจะรวดเร็วแบบก้าวกระโดด ตื่นตัวและมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสิ่งเร้าอย่างรวดเร็วโดยสัญชาตญาณ การตอบสนองต่ออะไรตามสัญชาตญาณโดยไม่ได้คิดหรือวางแผนอย่างรอบคอบ นำมาซึ่งความไม่สม่ำเสมอหรือผลกระทบเชิงลบ ในขณะที่เต่าเป็นสัญลักษณ์ของความเชื่องช้าที่ไปเรื่อย ๆ แต่มั่นคง ดูไม่เป็นพิษเป็นภัยใด ๆ กับใคร ทำให้คนส่วนมากชะล่าใจ หรือมองข้ามเพราะคิดว่าเป็นคู่แข่งที่อ่อนแอที่สุด

                    แต่หากลองพิจารณาดูสักนิดจะเห็นว่า เต่ามีเกราะป้องกันภัยที่แข็งแรงมาก ที่ทำให้เต่าเป็นหนึ่งในสัตว์ดึกดำบรรพที่มีอายุและดำรงเผ่าพันธุ์มาได้หลายยุคสมัย

                    สำหรับญี่ปุ่น เขาไม่ได้ “ช้า” ในแง่พฤติกรรมเหมือนเต่า ทั้งนี้ การอุปมาอุปไมยว่าเหมือนเต่า คือ การพัฒนาประเทศของญี่ปุ่นเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่ไม่เคยหยุดที่จะพัฒนา ตรงกับสุภาษิตไทยที่ว่า “ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม” เช่นเดียวกัน คนญี่ปุ่นเองก็เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่สม่ำเสมอ เป็นตัวการันตีว่าอย่างไรเสีย เราก็จะประสบความสำเร็จหรือไปถึงเป้าหมาย ซึ่งดีกว่าการเลือกลงมือทำแต่สิ่งที่เป็นรูปธรรม ใหญ่โต และหวังผลลัพธ์ที่รวดเร็วเป็นสูตรสำเร็จ แต่ขาดความต่อเนื่องและทรัพยากรที่ดี และนั่นก็คือหนึ่งในปรัชญาของการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศญี่ปุ่น ที่ตรงกับหลัก Kaizen

                    Kai มีความหมายว่า “เปลี่ยน” ในขณะที่ Zen มีความหมายว่า “ดี” การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่าของญี่ปุ่นตามหลัก Kaizen อาจต่างจากแนวคิดอื่นตรงที่กระบวนการที่นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงมีลักษณะเหมือน “เต่า” นั่นเอง เป้าหมายของประเทศญี่ปุ่นมองจากภายนอกแล้วดูยากที่จะไปถึง แต่แปลกหรือไม่ ทำไมพวกเรากลับรู้สึกว่าสุดท้ายแล้วเขาก็จะไปถึงมัน เพราะความค่อย ๆ พัฒนาของเขา รวมถึง “ศักยภาพของทรัพยากร” ที่ประเทศญี่ปุ่นมี โน้มน้าวใจให้เราเชื่อว่ายังไงเสีย Society 5.0 ก็จะต้องเกิดขึ้น และไม่แน่ว่า เขาอาจจะถึงเป้าหมายก่อนหลายๆ ประเทศที่ต่างคนต่างแสดงอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองอยู่ตอนนี้

                    “We’ve always done it this way!” (ปกติเราทำกันมาแบบนี้) เป็นคำต้องห้ามที่ตรงกันข้ามกับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) และในแง่ของการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ ญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในประเทศตัวอย่างที่ไม่เคย “หยุด” พัฒนา แม้ว่าความก้าวหน้าของเขาจะไปไกลแล้วก็ตามในหลายมิติ แต่ทำไมผู้เขียนจึงเปรียบเทียบญี่ปุ่นว่าเหมือน “เต่า” เพราะภาพลักษณ์ที่เขาสร้างขึ้นมา หรือนโยบายด้านการต่างประเทศของเขา ต้องการสื่อสารกับประเทศอื่นแบบนี้ โดยการวางยุทธศาสตร์ประเทศให้เป็นประเทศที่รักสันติ หรือ Peace-Loving Nation ทั้งการไม่ไประรานใคร และการปิดกั้นตัวเองจากการถูกระราน

                    ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ญี่ปุ่นรวม ๆ แล้วดูไม่เป็นพิษเป็นภัย (less threatening) ต่อนานาประเทศ ต่างจากสหรัฐอเมริกา จีน เกาหลีเหนือ รัสเซีย และประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เกราะป้องกันจากนโยบาย Peace-Loving Nation ทำให้เรามองไม่เห็นว่าภายในประเทศญี่ปุ่น มีการเร่งพัฒนาแค่ไหน ซึ่งโดยมาก พวกเราจะไม่รู้จนกระทั่งญี่ปุ่นสำเร็จในการไปถึงภาพฝันของประเทศ เหมือนกับเต่าที่เข้าเส้นชัยไปแบบเงียบ ๆ นั่นแหละ สุดท้ายแล้ว หลาย ๆ ประเทศก็ยังคงก้าวตามไม่ทันการพัฒนาของญี่ปุ่นอยู่ดี ปัจจัยหนึ่งที่คนตามไม่ทัน ไม่ใช่เศรษฐกิจหรือการเมือง แต่เป็นคุณภาพของทรัพยากร “มนุษย์” ที่ถือเป็น Asset สำคัญ หรือท่าไม้ตายของญี่ปุ่นในการที่ยังสามารถคงสภาพการเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้ว ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือด ณ ปัจจุบัน

                    ต้องยอมรับว่า นโยบาย Cool Japan ก่อนหน้านี้ ที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถส่งออกวัฒนธรรมในลักษณะ Soft Power จนมีอิทธิพลอย่างมากทั้งในอดีตและปัจจุบัน หนีไม่พ้น “นวัตกรรมหรือสิ่งประดิษฐ์” ที่มีเอกลักษณ์ มีความ Kawaii ที่ไม่ว่าใครก็รู้จักเมื่อเอ่ยถึง แต่เรามักมองกันที่ฉากหน้า ลืมสังเกตและเรียนรู้ไปว่า การได้มาซึ่งสิ่งต่างๆ ที่สะท้อนความเป็นญี่ปุ่น อาทิ มังงะ (Manga) อนิเมะ (Anime) อาหารและเครื่องดื่ม (Japanese Foods and Drinks) สิ่งประดิษฐ์แปลกใหม่ (Technology and Innovation) และความเป็นญี่ปุ่นที่ไม่เหมือนใคร (Japanese Uniqueness) ล้วนเป็น “ผลงาน” จากฝีมือของ “คนญี่ปุ่น” หรือ “ทุนมนุษย์” ในประเทศเขานั่นเอง

                    ทำไมคนญี่ปุ่นจึงสามารถคิด ทำ และผลิต รวมทั้งส่งออกทั้ง Soft Power และผลิตภัณฑ์คุณภาพต่าง ๆ ที่ทั่วโลกใช้กันอย่างแพร่หลายได้ เรามีคำถาม แต่เรามักจะได้คำตอบที่ไม่แน่ชัด ดังนั้น วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจและไขความลับของความเป็นญี่ปุ่นผ่านการเรียนรู้จาก Made in Japan ที่ไม่ใช่แค่ผลิตภัฑณ์จากญี่ปุ่นที่เราเข้าใจเท่านั้น แต่ Made in Japan ในแง่ของ Way of Life ที่เป็นปรัชญาการดำเนินชีวิตและการทำงานของคนญี่ปุ่น โดยผู้เขียนได้ศึกษาและค้นคว้า รวมถึงประสบการณ์จากการใช้ชีวิตและทำงานในญี่ปุ่น จนสามารถตกผลึกความคิดและขอนำเสนอ ภายใต้กรอบ “Made People in Japan”

Made in Japan ที่เป็น “คน” ไม่ใช่ “ผลิตภัณฑ์”

                    สิ่งหนึ่งที่ไม่ใช่แค่คนไทยต้องยอมรับ แต่นานาประเทศต้องให้การยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข คือ ความเป็นระเบียบและการให้ความร่วมมือของคนญี่ปุ่น แม้ในสถานที่วิกฤตที่สุด เช่น การเกิดภัยพิบัติต่างๆ ที่มีการสูญเสีย การขาดแคลนอาหาร เป็นต้น อะไรคือเบื้องหลังพฤติกรรมหรือสิ่งที่แสดงออกเหล่านี้ พวกเขาไม่ได้ถูกบังคับ แต่พวกเขาทำโดยสัญชาตญาณที่ถูกฝังเอาไว้ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ  Made in Japan จึงไม่ใช่แค่สโลแกนหรือตราที่ติดบนสินค้าที่ผลิตในญี่ปุ่น แต่มีความนัยแฝงที่สะท้อนความเป็นญี่ปุ่นทั้งหมด ที่เรียกว่า “Monodukuri หรือ Monozukuri” (物作りーものづくり) ที่สามารถอธิบายภาพรวมของ Japanese work ethics และวัฒนธรรมญี่ปุ่น

                    หากแปลตรงตัว Monozukuri จะหมายถึง การผลิต (Production) หรือ การสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ (Making of Things) ที่คนส่วนมากจะเห็นในภาคอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น หรือกระบวนการ Manufacturing อาทิ กรณีศึกษาจากบริษัทยักษ์ใหญ่ผลิตยานยนต์ชั้นนำของโลกอย่าง Toyota แต่หากเราศึกษาและสังเกตให้ลึกแล้วจะพบว่า Monozukuri (モノづくり) เป็นมากกว่าการผลิตสิ่งของบางอย่าง (Crafting) แต่มันคือกระบวนทัศน์ (Paradigm) กระบวนการทางความคิด (Mindset) จิตวิญญาณ (Spirit) และปรัชญาการดำเนินชีวิต (Philosophy of Life) ที่นำมาซึ่ง Code of Conducts ต่างๆ ในสังคมญี่ปุ่น โดยสะท้อนออกมาให้เห็นทางด้านวัฒนธรรม (Culture) ในมิติของภาษา (language) บรรทัศฐานทางสังคม (Social Norms) วิถีชีวิต (Way of Life) รวมไปถึงจริยธรรมในการทำงาน (Japanese work ethics) ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อทุกภาคส่วนในญี่ปุ่น

                    ค่านิยมย่อยที่แยกออกมาจาก Monozukuri อย่างหนึ่งคือ Hitozukuri ที่มีความหมายว่า การสร้างคน (To make people) หรือการพัฒนาคน ประเทศญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญอย่างมากต่อระบบการศึกษาหรือการพัฒนาทุนมนุษย์ เห็นได้ชัดเจนในการวางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศภายใต้นโยบาย Abenomics ที่ยุทธศาสตร์แรกของนโยบายดังกล่าวคือ Productive Individuals & Society และหลายคนอาจตั้งข้อสงสัยว่าทำไมญี่ปุ่นจึงไม่นำการพัฒนาด้านเศรษฐกิจขึ้นมาก่อน ในเมื่อบทบาทของญี่ปุ่นในสายตาของนานาประเทศคือด้านเศรษฐกิจ การค้าการลงทุน ที่ไม่ได้น้อยหน้าประเทศอื่น เหตุผลหลักที่รัฐบาลอาเบะได้ให้ไว้ในนโยบาย Abenomics กล่าวเอาไว้ว่า
                    Many believe economies only grow because of population growth. However, history shows us that growth actually happens when the skills of society reflects its economic opportunities”

                    แน่นอนว่า หนึ่งในเหตุผลที่ญี่ปุ่นนำเรื่องของ “การพัฒนาทุนมนุษย์” มาไว้อันดับแรก จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาในประเทศเรื่องการเป็นสังคมผู้สูงอายุ และภาวะขาดแคลนแรงงานที่เริ่มวิกฤต แต่ “โอกาส” ที่พวกเขามองเห็น และพวกเขามองว่าเป็นหนึ่งใน “จุดแข็ง” ของประเทศ คือ “ทุนมนุษย์” ญี่ปุ่นเชื่อว่าแม้จะต้องประสบกับจำนวนแรงงานที่ลดลง หรือภาวะขาดแคลนแรงงาน แต่ข้อดีของวิกฤตนี้ คือ เป็นหนึ่งในตัวกระตุ้นให้เกิด Business Efficiencies ที่ผู้คนจะต้องปรับตัวและพัฒนาตนเองให้สามารถตอบสนองต่อตลาดแรงงาน และการสร้าง Super Smart Society 5.0 ของญี่ปุ่น จากการเรียนรู้หลักคิดเชิงยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่น ทำให้อดชื่นชมไม่ได้ใน “การมองขาด” ของการพัฒนาประเทศและการไม่ย่อท้อต่อ “ข้อจำกัดทางสังคม” ที่มี

                    ผู้เขียนรู้สึกว่าน่าสนใจที่จะทำความเข้าใจให้มากขึ้นว่าอะไรคือกรอบแนวคิดของญี่ปุ่น ที่ดำเนินนโยบายของประเทศในลักษณะ “Complete with the situations, not with rivals. และ Proactive Opportunity Creator” กิจกรรมที่เห็นได้ชัด คือ การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Education) การฝึกอบรม (Training) รวมไปถึงการสอนงาน (Coaching) ที่ไม่ได้มีแค่ในองค์กรหรือสถานที่ทำงานเท่านั้น แต่กิจกรรมเหล่านี้ถูกฝังเอาไว้ในห้องเรียนด้วย เพราะเหตุนี้ แนวคิด Monozukuri และ Hitozukuri จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมญี่ปุ่น ทั้งในภาคการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
                    “Hard working is not a burden; it reflects pride, value, and strong determination which lead to motivation”

                    ทั้งนี้ ทุกอย่างล้วนมีสองด้านเสมอ การยึดมั่นมากในหลักการก็สร้างผลเสียได้เช่นกัน อาทิ อัตราความเครียดสูง ภาวะเก็บกด หรือมีบุคคลประเภท Social recluse หรือ Hikikomori ( ひきこもり) จำนวนมาก อันนำมาซึ่งปัญหาทางสังคมที่รัฐบาลต้องหาทางออกอยู่ในขณะนี้

                    อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่มีการพัฒนานำหน้าหลายประเทศก่อนหลายปีล้วนมาจาก “วิธีการ” ดำเนินงานทั้งของภาครัฐและเอกชน โดยเขาเชื่อว่าหากวิธีการและมาตรฐาน มีการพัฒนาจนมีคุณภาพสูงแล้วก็จะยิ่งส่งผลดี แต่หากเราฉุกคิดเสียหน่อยว่า วิธีการและมาตรฐานที่นำมาซึ่งคุณภาพและความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคมนั้น ถ้าทุกประเทศใช้วิธีเดียวกัน ก็น่าจะก้าวหน้าและก้าวกระโดดทางการพัฒนาเหมือนประเทศญี่ปุ่นใช่หรือไม่ แสดงว่าเหตุผลที่แท้จริงของการพัฒนา ไม่ใช่แค่วิธีการที่ประเทศหนึ่งๆ ขับเคลื่อนแต่เพียงอย่างเดียว เบื้องหลังของการเกิดวิธีการย่อมต้องอาศัย “ทุนมนุษย์” และการจะดำรงรักษาไว้ซึ่ง “ความพัฒนา” ย่อมต้องถูกดูแลรักษาไว้ด้วย “คนในสังคม” อีกเช่นเดียวกัน

                    ข้อคิดที่เราได้จากการคิดของญี่ปุ่นเวลาที่ทำงาน คือ เขาไม่ได้หวังที่จะขยายผล แต่เขาเริ่มจากการหาวิธีการใช้ประโยชน์จากสิ่งที่มีให้ได้มากที่สุด (Optimization) และมันจะนำไปสู่การพัฒนาก้าวต่อไปเอง หลักการดังกล่าวเป็นแนวคิดที่คนไทยอาจคุ้นหูกันดี คือ Kaizen ที่มีความหมายว่า กระบวนการพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง อย่างไรก็ดี แนวคิดนี้มักถูกถ่ายทอดในภาคการผลิตหรือองค์กรของญี่ปุ่น เพราะมันถือเป็น “เครื่องมือ” ต่อการสร้างและดำรงไว้ซึ่ง Monozukuri และเป็นส่วนหนึ่งของ Hitozukuri (การสร้างคน)

                    การสร้างคน (Hitozukuri) ตามจุดเน้นเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Education) มีการวางแผนมาอย่างดี และไม่ใช่การมุ่งเป้าไปที่ “การศึกษาทางวิชาการ” เท่านั้น แต่หมายรวมถึงการศึกษาของจิตใจ (Education of the Heart) ด้วย ญี่ปุ่นมองว่าไม่ใช่แค่สถาบันครอบครัวอย่างเดียวที่จะต้องสอนและให้ความสำคัญ แต่โรงเรียนถือเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่จะต้อง Sustain และ Empower คุณค่านั้นเอาไว้

                    ด้วยเหตุนื้รัฐบาลญี่ปุ่นจึงกำหนดให้มีการเรียนการสอนในด้าน Moral Education ซึ่งแตกต่างจากประเทศไทย ที่ถูกทำให้เป็นเพียงแค่วิชาหนึ่งที่จะต้องสอบ เด็กและเยาวชนอาจไม่ได้ซึมซับค่านิยมที่ดีตามความมุ่งหวังนัก กระทรวงศึกษาธิการของญี่ปุ่นกำหนดให้ไม่มีการวัดผลด้วยเกรด แต่ใช้การสังเกตพฤติกรรมและประเมินรายบุคคล โดยการให้ความเห็นของอาจารย์ ความมุ่งหวังของการสร้าง Moral Education คือ ต้องการบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ด้านคุณธรรมและจริยธรรม การรู้จักตัดสินใจบนพื้นฐานของคุณธรรมและจริยธรรมที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของตนเอง การมีส่วนร่วมในสังคมและทัศนคติที่ดีต่างๆ รวมถึงการตระหนักในผลกระทบจากการกระทำของตนเองต่อผู้อื่นและสิ่งแวดล้อม

                    สิ่งที่น่าสนใจคือ ระบบการสร้างคนผ่านสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาของญี่ปุ่น มีจุดเด่นที่สำคัญ คือ สร้างการเป็นเจ้าของต่อสิ่งที่ทำ (Ownership) ที่เน้นเรื่องความรับผิดชอบและการรู้จักพัฒนาสิ่งที่ทำนั้นอย่างสม่ำเสมอ ตัวอย่างการเรียนรู้ที่เห็นได้ชัดเจนในโรงเรียน เช่น การมอบหมายให้เด็กนักเรียนจัดงานโรงเรียนกันเอง แต่มีข้อแม้ว่าทุกคนในชั้นเรียนแต่ละชั้นจะต้องมี “หน้าที่” และได้ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ เด็กสามารถคิดกิจกรรมได้อย่างอิสระ โดยมีอาจารย์เป็นเพียงที่ปรึกษาคอยสังเกตพฤติกรรมอยู่ห่าง ๆ การเรียนการสอนแบบนี้ เป็นการสอนที่เน้นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เด็กได้ซึมซับ ลองผิดลองถูก เผชิญหน้ากับปัญหาและหาทางออกด้วยตัวเองหรือร่วมกัน กระบวนการดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในกระบวนการสร้าง “ความคิดสร้างสรรค์”  นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นมีการจัดงานเทศกาลหรือกิจกรรมนิทรรศการต่างๆ ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นเด็ก เช่น การเปิดตลาดขายของเด็ก โดยไม่อนุญาตให้ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่เข้าไปช่วยเหลือ มีวัตถุประสงค์ในการสอนให้เด็กได้รู้จักค่าของเงิน ให้เป็นผู้ขาย เพื่อบอกผ่านประสบการณ์ว่า การลงมือลงแรงทำงานอย่างเต็มที่ จะได้ผลตอบแทนเป็นเงินและความภาคภูมิใจ แต่เพราะต้องทำอย่างตั้งใจ เงินจึงเป็นสิ่งที่มีค่าและหายาก และการทำงานจึงเป็นสิ่งที่สะท้อน “คุณค่า” ของบุคคลนั้นด้วย แต่เพราะการวางรากฐานทางการสร้างคนของญี่ปุ่น (Hitozukuri) หรือ Made People in Japan ไม่ใช่แค่การลงทุนที่กระบวนการใดกระบวนการหนึ่ง แต่ทั้งระบบของช่วงชีวิตคน รวมถึงวัยทำงานด้วย

                    หลักการสำคัญในการสร้างคน (Hitiozukuri) ในวัยทำงานนั้นจะแตกต่างจากวัยอื่น ๆ ตรงที่การกำหนดให้การเรียนรู้อยู่บนพื้นฐานของปัญหา (Learning is problem-based) เป็นการสร้างกลไกให้เกิดการเผชิญหน้ากับ ปัญหา” ที่มักเป็น “สิ่งใหม่” เพราะมนุษย์เราจะไม่เรียกสิ่งใดสิ่งหนึ่งว่าปัญหา ถ้าเราเคยประสบหรือแก้ได้มาก่อนแล้ว กระบวนการสร้างการเผชิญหน้ากับปัญหานี้ จะทำให้บุคคลรู้ว่าอะไรที่ตัวเองรู้จากประสบการณ์ที่มีอยู่ก่อน เรียกว่า Knowledge from remembered self นำไปสู่การเกิดกระบวนการตระหนักต่อไปว่าอะไรที่กำลังเผชิญหรือรับรู้อยู่ ณ ตอนนี้ หรือ Knowledge from experienced self ด้วยหลักการดังกล่าวแล้ว สิ่งสำคัญหรือเป้าหมายหลักของกระบวนการนี้ คือ การค้นพบสิ่งใหม่ การเกิดแนวคิดใหม่ๆ การเห็นทางเลือกหรือแนวทางแก้ปัญหาที่สร้างสรรค์ใหม่ๆ และสุดท้ายสิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นหนึ่งในฐานข้อมูลความรู้ของบุคคลในระบบ Remembered self กระบวนการนี้ถือเป็นหนึ่งในขั้นตอนของการสร้างและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตในสังคมญี่ปุ่น

                    อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นยังคงประสบปัญหาเช่นเดียวกันในการสร้างบุคลากรให้กล้าที่จะคิดต่าง เพราะหากทุกคนเห็นคล้อยกันหมด นวัตกรรมหรือปัญหาย่อมไม่เกิด เมื่อไม่เกิดก็ขาดการสร้างการเรียนรู้และการแก้ปัญหาร่วมกัน และไม่อาจสร้างหลักคิดหรือกรอบแนวคิดใหม่ ๆ ขึ้นมาได้ หลากหลายองค์กรจึงมีนำระบบการทำงานที่แตกต่างจากทั่วโลกอยู่สักหน่อยมาใช้ เพื่อกระตุ้น “ความคิดสร้างสรรค์” พร้อมทั้งป้องกันปัญหา Turnover ขององค์กร

                    แนวคิดดังกล่าว เรียกว่า Work – Work Theory ที่แตกต่างจาก Work – Pay Theory ที่ประเทศไทยใช้ เพราะ Work – Work theory แรงจูงใจสำคัญไม่ใช่ “เงิน” แต่เป็น “งานที่ได้รับผิดชอบใหญ่ขึ้น” ทฤษฎีทางด้านการบริหารทรัพยามนุษย์อันเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การพัฒนาคนและองค์กรควบคู่กันไปนี้ มีจุดเน้นที่ว่า คนจะได้รับการเลื่อนขั้น หรือเงินเดือนมากขึ้น ไม่ใช่จาก “อายุงาน การศึกษา หรือสายงานที่ทำมา” แต่มาจากการตัดสินผ่าน “ผลงานหรือความสามารถในการผลิตงานที่มีประสิทธิภาพที่สะท้อนให้เห็นถึง 1) ภาวะผู้นำ 2) ความคิดสร้างสรรค์ 3) การบริหารทรัพยากรและคน” ส่วน “รางวัลการตอบแทนผลงาน” โดยงานที่ใหญ่ขึ้น มีความหมายแฝงที่ว่า เมื่อได้รับมอบหมายงานที่ใหญ่ขั้น นั่นหมายถึงการเลื่อนขั้น ทั้งด้านความสามารถในการบริหารทรัพยากรและบุคลากรในทีมที่เพิ่มขึ้น

                    ดังนั้น วิธีการดังกล่าวทำให้เกิด “กลไกการแข่งขันภายในผ่านการทำงานและสร้างผลงาน” เพื่อขจัดบุคลากรที่กินเงินเดือน แต่ไม่สร้างประโยชน์ให้แก่องค์กร หรือปัญหาด้าน Discrimination และ Unequal treatment ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบ Seniority-based management ดังนั้น ยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านการพัฒนาคนและปฏิรูประบบแรงงานของญี่ปุ่น ภายใต้กรอบนโยบาย Abenomics จึงได้ผลักดันให้เกิดกฎหมายเรื่อง “Equal pay for equal work” ที่เน้นความเท่าเทียมในผลตอบแทน หากบุคลากร (ไม่ว่าจะเป็นแบบประจำหรือไม่ประจำ) มีผลงานหรือปริมาณงานที่เท่ากัน หรือมีประสิทธิภาพในการทำงานพอๆ กัน จะมีฐานเงินเดือนและได้รับค่าตอบแทนที่เท่าเทียมกัน ไม่เพียงแต่เท่านั้น การเกิดความภาคภูมิใจในความคิดสร้างสรรค์หรือการพัฒนาของตนเป็นปัจจัยสำคัญในการต่อยอดไปสู่หลักการทำงานแบบ Lean ที่ส่งเสริมให้เกิดการรวมพลังการทำงานที่เน้นเรื่องการมีประสิทธิภาพ ใช้ประโยชน์จากสิ่งของหรือทรัพยากรต่างๆ ให้คุ้มค่าที่สุด

                    หลายคนคงเกิดคำถามที่ว่า การศึกษาหลักการทำงานของญี่ปุ่นบางส่วนเหล่านี้ จะให้ประโยชน์อย่างไรต่อประเทศไทยบ้าง ข้อคิดอย่างหนึ่งที่ได้ คือ เขาให้ความสำคัญกับการสร้างทุนมนุษย์ (Hitozukuri) เพราะการสร้างแบรนด์ทางการค้า สังคม วัฒนธรรม หรือแม้แต่ระดับประเทศ อย่าง Made in Japan” คงไม่สามารถเกิดขึ้น เป็นที่รับรู้ ยอมรับ และรักษาไว้ได้ (Establish – Improve – Sustain) หากขาด “คน” ที่เป็นกุญแจสำคัญขององค์กร สังคม และประเทศให้ความร่วมมือ

                    นอกจากนี้ สิ่งที่ค้นพบอีกอย่างในการบริหารจัดการประเทศของญี่ปุ่น คือ พวกเขาจะไม่มองหาการพัฒนาเฉพาะสิ่งใหญ่ ๆ เพราะเท่ากับว่ามันได้จำกัดวิสัยทัศน์หรือขอบเขตทางความคิดของเราในแง่ของการปรับปรุงและพัฒนาสิ่งหนึ่ง สิ่งที่เขามองอีกอย่างที่เราคนไทยควรนำมาพิจารณาปรับใช้คือ การพัฒนาไม่ใช่เฉพาะการสร้างสิ่งใหม่ที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่ต้องรวม “การปรับปรุง” สิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น สามารถกำจัดหรือลดการใช้ทรัพยากร และการสร้างขยะหรือความสูญเสียเพิ่ม หากการพัฒนาบางอย่างนำมาซึ่งผลตอบแทนที่มาก แต่ก็เสียมาก ย่อมไม่คุ้มกับการพัฒนาที่มุ่งประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมอย่างยั่งยืน อีกทั้งความยั่งยืนไม่ใช่แค่ “วิธีการ” ของการบริหารจัดการในภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่เป็น “การสร้างการรับรู้ การมีส่วนร่วม และการลงมือทำ” ของประชาชนในสังคมด้วย ความท้าทายคือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนทั่วไปเกิดทัศนคติ 3 ด้าน ได้แก่ 1) พวกเขาต้องการทำ (They voluntarily want to) 2) พวกเขาสามารถทำได้ (They can do with their potentials) และ 3) พวกเขารู้สึกว่าการทำสิ่งเหล่านั้นมัน “เติมเต็มหรือเป็นประโยชน์แก่เขาและคนรอบข้าง” (They find it is very fulfilling)

                    “บางที การเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งที่ดีกว่า อาจไม่ใช้การสร้าง “สิ่งใหม่” แต่อาจเป็นการสร้าง “คนในสังคม” ใหม่” ความท้าทายคือ ปัจจุบันทุกภาคส่วนเกี่ยวพันกันแบบพึ่งพาอาศัยกัน หากมีสิ่งนี้ ก็จะมีสิ่งนั้น แต่หากปราศจากสิ่งนี้ ก็จะไม่มีอีกสิ่งตามไปด้วย (Interdependence) ถ้ารากของปัญหาหรือสิ่งเหนี่ยวรั้งการพัฒนาไม่ใช่ระบบ แต่เป็นผู้ที่อยู่ในระบบและผู้ใช้ระบบ เราอาจต้องเปลี่ยนแนวความคิดหรือวาทกรรมการพัฒนาเสียใหม่ ที่มุ่งไปที่เศรษฐกิจ จนขาดการตระหนักในทุนมนุษย์ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ประเทศไทยเองก็ควรจะเกิดความคิดที่ว่า We make people before we make parts”

----------------------------------

*ข้าราชการในโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 12 สำนักงาน ก.พ.ร. ปฏิบัติราชการ ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น