วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2562

ชวนคิดพันธกิจใหม่ของราชการ โดยปกรณ์ นิลประพันธ์

ใกล้ถึงเทศกาลหยุดยาว  ปลายปี ผู้คนก็จะเต็มไปด้วยความคาดหวังว่าปีหน้าจะต้องดีกว่าปีที่กำลังจะสิ้นสุดลง คิดถึงแต่ความสุขสนุกสนานที่จะเกิดขึ้นในช่วงวันหยุด จะไปเที่ยวไหนดี กินอะไรดีหนอ ฯลฯและแน่นอนว่าเป้าหมายที่คิดไว้เหล่านี้ย่อมไม่ซ้ำกับปีก่อน   

แหมก็ใครอยากจะทำอะไรซ้ำซาก

ผู้เขียนก็เป็นคนหนึ่งที่คิดอย่างที่ว่านี้ครับ แต่ก็มาหวนคิดถึงเรื่องงานที่ทำอยู่ด้วย เพราะในฐานะที่เป็นข้าราชการเราก็ควรจะคิดอะไรใหม่  เพื่อพัฒนาระบบราชการในช่วงเทศกาลนี้ด้วย  

ถามว่าคิดทำไม ก็ต้องคิดสิครับเพราะผู้คนเขาก็คาดหวังว่าปีหน้าอะไรอะไรมันต้องดีขึ้น ถ้าราชการเราไม่คิด สิ่งที่เราทำมันก็จะกลายเป็นทำสิ่งเดิม  ผลมันก็จะออกมาแบบเดิม  แล้วมันจะสอดคล้องกับความคาดหวังของผู้คนในสังคมได้อย่างไร

เรื่องแรกที่ผู้เขียนคิดเลยระหว่างกินข้าวเช้าไปคุยกับลูกชายวัยรุ่นไป ก็คือราชการควรกำหนดพันธกิจในการทำงานของแต่ละหน่วยงานใหม่ไหมจะได้เห็นกันจะจะไปเลยว่าแต่ละหน่วยต้องทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายใด เช่น พันธกิจด้านการศึกษานี่ควรจะเป็น “กระทรวงอนาคตของชาติ” ไหม เพราะพันธกิจของกระทรวงนี้ไม่ใช่เพียงแค่จัดการศึกษา ติดตามและประเมินผลการศึกษา หากแต่เป็นการสร้างและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของสังคมเพื่อให้มีความสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ในโลกแห่งอนาคตได้อย่างเท่าทันดำรงความเป็นชาติไทยให้อยู่ได้ในสังคมโลกอย่างมีศักดิ์ศรี เรียกว่าเป็นกระทรวงที่วางอนาคตของชาติว่าอย่างนั้นเถอะ 

ถ้าพันธกิจเป็นอย่างนี้จะต้องคิดแบบองค์รวมแล้วว่าจะเตรียม “อนาคตของชาติ” อย่างไร ไม่ใช่คิดแยกส่วนว่าจะต้องทำเฉพาะ “การจัดการศึกษา” อย่างเดียว การสรรหาบุคลากรมาสร้างอนาคตของชาติจะต้องเอาคนเก่งคนดีมาปั้นอนาคตของชาติ ไม่ใช่ใครก็ได้ที่สอบผ่านการคัดเลือก การจัดสรรงบประมาณก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามพันธกิจ โครงสร้างกระทรวงควรจะเป็นแบบแบนราบเพราะไม่ต้องใช้ผู้บริหารอะไรมากมาย ใช้ระบบดิจิทัลมาบริหารแทน ร้อยละ 90 ของบุคลากรควรเป็ครูเก่งและดีที่ไปพัฒนาผู้เรียนหรือสร้าง ecosystem ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ 

และเมื่อความรู้มีอยู่ในทุกที่ การส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัด ส่งเสริม หรือพัฒนาการเรียนรู้ของอนาคตของชาติในทุกช่วงวัยจึงเป็นเรื่องจำเป็น ระบบผูกการจัดการเรียนรู้จึงควรต้องทบทวน

อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคืออนาคตของชาติต้องมีสุขภาพพลานามัยที่สมบูรณ์แข็งแรง มีคุณธรรมจริยธรรม มีสำนึกต่อสังคมส่วนรวม ไม่ใช่คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัวของตนเอง การสร้างอนาคตของชาติจึงไม่ใช่อัดแต่วิชาการใส่สมองผู้เรียนเหมือนที่ผ่าน  มาจนเกิดคำถามที่ตอบไม่ได้ว่าเรียนเยอะ  วิชาไปเพื่อ

ระหว่างที่คุยกัน เราเห็นข่าวอาชญากรรม ข่าวการใช้ความรุนแรงในสังคม มากมายในทีวี อ่านในโซเชี่ยลก็เต็มไปหมด  ก็มาคิดต่อว่าพันธกิจด้านสังคมนี่ควรจะเป็น “กระทรวงความผาสุกของผู้คนและสังคม” หรือเปล่า เพราะความมั่นคงของมนุษย์นั้นไม่ใช่แค่การมีบ้านอยู่ หรือการสงเคราะห์ผู้ยากไร้หรือผู้พิการทุพพลภาพ แต่มันคือการสร้าง “ความผาสุก” ให้ทรัพยากรมนุษย์ในสังคม ซึ่งรวมถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และอาจมีเรื่องอื่น  ด้วย

กินข้าวเสร็จพอดี บทสนทนาระหว่างพ่อวัยกลางคนกับลูกชายวัยรุ่นจึงยุติลง

ทิ้งไว้เป็นบทความที่บันทึกบทสนทนานี้แล.

วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

คุณภาพของการศึกษา โดย ปกรณ์ นิลประพันธ์

การศึกษาเป็นอะไรที่ดี เพราะทำให้ผู้คนมีความรู้ เมื่อมีความรู้ก็ทำมาหากินได้ ยิ่งทำให้คนมีความใฝ่เรียนรู้ได้มากเท่าไร คนก็จะมีความสามารถในการดำรงชีวิตและความสามารถในการหารายได้มากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ในระยะยาว และถ้าทำให้คนมีคุณธรรมและจริยธรรมดีด้วยแล้ว สังคมก็จะค่อย  พัฒนาไปในทางที่สุขสงบมากขึ้น การจัดให้ผู้คนได้รับการศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาบ้านเมือง

อย่างไรก็ดี การจัดการศึกษาไม่ใช่เพียงการจัดให้ “ทั่วถึง” แต่ต้องจัดให้อย่าง “มีคุณภาพ” ด้วย เพราะการจัดการศึกษาให้ทั่วถึงนั้น แม้จะทำให้คนมีความรู้และมีคุณธรรมจริยธรรมก็จริง แต่หากปราศจากคุณภาพ” แล้ว การศึกษาคงเป็นการให้ความรู้และคุณธรรมจริยธรรมพื้นฐานทั่ว  ไปเท่านั้น

ความแตกต่างระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้อยู่ที่ “ความทั่วถึง” ของการให้การศึกษา หากเป็นผลมาจาก “คุณภาพ” ของการศึกษา ขณะที่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดนั้น มีปัญหาทั้งความทั่วถึงและคุณภาพของการศึกษา

มีหลายปัจจัยในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดในทัศนะของผู้เขียนคือ “ความรับรู้ร่วมกัน” ว่า “สังคมต้องการการศึกษาที่มีคุณภาพ” แล้วร่วมกันคิดอย่างกว้างขวาง ว่าทำอย่างไรเราจะมีการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างไร ที่สำคัญ ผู้เขียนเห็นว่าการคิดนี้ควรหลีกเลี่ยงวิธีคิดแบบที่ยึดติดกับรูปแบบ และวิธีการจัดการศึกษา “แบบเดิม ” ที่แสดงให้เห็นอยู่ในตัวเองแล้วว่าทำให้การศึกษามีคุณภาพขึ้นได้ไม่มากนักในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แน่นอน นั่นเพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว และในอัตราเร่งที่สูงมากด้วย

ผู้เขียนเห็นว่าสังคมของเรามีความรับรู้เรื่องนี้ร่วมกันมากพอสมควร แต่ยังไม่สามารถรวมกันติด จึงไม่สามารถสร้าง “พลัง” ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เรียกว่าปฏิรูปได้เต็มปากเต็มคำ การพัฒนาการศึกษาที่ผ่านมาจึงเป็น “การปะผุ” มากกว่าที่จะเป็นการปฏิรูปตามที่ควรจะเป็น การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงจึงควรเริ่มต้นจากการสร้างความตระหนักรู้แก่สังคมเกี่ยวกับความสำคัญของคุณภาพของการศึกษา โดยไม่ต้องศึกษาวิจัยอะไรให้รกชั้นหนังสือ และไม่ต้องไปดูงานประเทศไหนอีกแล้ว 
ผู้เขียนเชื่อโดยสุจริตว่าผู้เรียนของเรามีความสามารถในการเรียนรู้และมีความใฝ่รู้ในเรื่องที่แต่ละคนชื่นชอบ ถนัด และสนใจซึ่งแตกต่างหลากหลายกันไป ไม่ด้อยไปกว่าผู้เรียนในประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังจะเห็นว่าผู้เรียนทั่ว  ไปของเราที่มีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษาของประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็มีความสามารถในการเรียนรู้ไม่ต่ำไปกว่าเพื่อนฝูง หลายเรื่องดีกว่าด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นนิสัยโอบอ้อมอารี กริยามารยาทเรียบร้อย และจิตอาสา

ถ้าผู้เรียนในประเทศไทยทุกคนมีโอกาส “เท่าเทียมกัน” ที่จะได้รับการศึกษาที่ “มีคุณภาพ” ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครองได้ในอีกสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้าเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วบ้าง

นี่เป็นเป้าหมายร่วมกันของพวกเราทุกคนมิใช่หรือ

ได้เวลาลงมือแล้วหรือยัง?

วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

“ไฮโดรเจน : พลังงานทางเลือก” ปกรณ์ นิลประพันธ์

เรื่องพลังงานนั้น บ้านเรายังคงวนไปวนมากับเรื่องราคาน้ำมันว่าถูกว่าแพงกว่าเพื่อนบ้าน บางกลุ่มก็เสนอแบบง่าย ๆ ว่าราคาน้ำมันของบ้านเราต้องเท่ากับราคาน้ำมันของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง ๆ ที่บริบททางเศรษฐกิจ สภาพทางกายภาพ ระบบกฎหมาย และอื่น ๆ แตกต่างกันลิบลับ นับว่าแปลกมากที่มีการรณรงค์แบบนี้ด้วย 

คงเหมือนกับการรณรงค์ว่าการเมืองการปกครองของบ้านเราต้องเหมือนฝรั่งเป๊ะ ๆ จึงจะสากล ทั้งที่ประเทศฝรั่งแต่ละประเทศมันก็หาได้เหมือนกันเป๊ะ ๆ แต่ประการใดไม่ เพราะบริบทของแต่ละประเทศมันไม่เหมือนกัน ลอกกันไม่ได้ ฝรั่งเองมันยังไม่ลอกกันเลย ทำไมเราต้องลอกมันด้วยล่ะ 

ที่สำคัญก็คือยังมีการอ้างตำราหรือแนวคิดของนักวิชาการฝรั่งยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกของโลกด้วยเครื่องทอผ้า และยังใช้นกพิราบในการสื่อสาร มาเป็นไอเดียในการปรับปรุงการเมืองการปกครองของประเทศในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ 4th industrial revolution ที่ใช้ระบบสื่อสาร 5G มีระบบ Big data มี data analytics เป็นองคาพยพสำคัญ ไม่ใช่เครื่องทอผ้า ไม่ใช่เครื่องจักรไอน้ำเหมือนยุคศตวรรษที่ 17 หรือ 18

นี่ถ้านักวิชาการฝรั่งที่เสียไปเมื่อสามสี่ร้อยปีเหล่านี้ฟื้นขึ้นมา คงดีใจไม่น้อยที่แนวคิดทฤษฎีของท่านยังมีคนนำมากล่าวอ้างราวกับเป็นของขลังในบ้านเมืองเรา ทั้งที่ในบ้านเมืองเขา เรื่องเหล่านี้อยู่ในตำราประวัติศาสตร์คลาสสิคไปหมดแล้ว ไม่เชื่อลองไปดูหนังสือเรียนระดับ A Level ของเด็กมัธยมปลายของฝรั่งดูสิครับ

กลับมาเรื่องพลังงาน มีบางกลุ่มที่สนใจการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานจากขยะ และ renewable energy อื่น ๆ อันนี้ก็ดีครับ แต่มีปัญหาเรื่องการพัฒนาแบตเตอรี่มาเก็บพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นมาได้ แบตเตอรี่นี่มีอายุการใช้งาน หมดอายุก็ต้องทิ้ง เหมือนถ่านไฟฉายนี่แหละ คำถามคือจะทิ้งที่ไหนหรือเอาไปทำอะไรต่อ ต้องคิดแก้ปัญหากันต่อไปด้วยว่าจะจัดการกับแบตเตอรี่เหล่านี้อย่างไรต่อไปอีกเพื่อมิให้เป็นมลพิษ

บ้านเราพยายามแก้ปัญหาพลังงานไปพร้อม ๆ กับแก้ปัญหาพืชผลทางการเกษตร โดยนำน้ำมันจากพืชมาผสมกับน้ำมันดีเซลให้เป็นดีเซลบีต่าง ๆ หรือนำแอลกอฮอล์มาผสมกับน้ำมันเบนซินให้เป็นน้ำมันก๊าซโซฮอล์ ก็ดีครับ ช่วยเกษตรกรไปด้วยในตัว แต่จะช่วยได้มากน้อยเท่าไรนั้นอีกเรื่องหนึ่งเพราะการนำน้ำมันพืชหรือแอลกอฮอล์มาผสมนี่ต้องเป็นน้ำมันหรือแอลกอฮอล์ที่มีคุณภาพสูงพอสมควร ไม่งั้นมันก็ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากพอสมควรเหมือนกัน เรียกว่ายังไม่ตอบโจทย์ลดโลกร้อนที่เป็นโจทย์สำคัญของโลกในเวลานี้สักเท่าไร แต่ลดบ้างก็ยังดีกว่าอยู่เฉย ๆ ละน่า รักษาระดับราคาพืชเกษตรด้วย

ที่น่าสนใจมากก็คือประเทศที่พัฒนาแล้วเขากำลังเอาเป็นเอาตายแข่งขันกันพัฒนา "ไฮโดรเจน" มาแทนน้ำมัน เพราะการใช้ไฮโดรเจนแทนน้ำมันนี่พอผ่านกระบวนการเผาผลาญมันจะปลดปล่อยน้ำออกมาแทนคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกร้อน ถ้านำไฮโดรเจนมาใช้เป็นพลังงานแทนน้ำมันได้ ก็จะช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้มาก เพราะยังไงคนก็ต้องใช้รถ 

เท่าที่ติดตามข่าว นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกและบริษัทชั้นนำเขากำลังหาทางเอาชนะปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับเรือเหาะเซปเปลินในสมัยก่อนที่ระเบิดขึ้นเพราะไฮโดรเจนติดไฟง่าย ถ้าคิดออกละก็  ไฮโดรเจนก็น่าจะเป็นพลังงานทางเลือกที่ดีมาก

ตอนนี้หลายประเทศเขากำลังวางแผนที่จะใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานหลักแทนน้ำมันกันแล้ว นี่เห็นว่าจะมีการประชุมระดับโลกเรื่องนี้ในปีนี้ปีหน้า ถ้าเราเข้าร่วมประชุมกับเขาแล้วลองเอากลับมาคิดวางแผนอนาคตด้านพลังงานของไทยก็น่าจะเป็นประโยชน์นะครับ

ชวนคิดครับ.

วันอาทิตย์ที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2562

มาเงียบ ๆ "ชเวโก๊กโก๋" : เป็นอย่างไร กระทบไทยอย่างไรบ้าง โดยนางสาวปิยกมล พิงคะสัน*


                                เมียนมาเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีข้อได้เปรียบทางลักษณะภูมิประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี และเป็นจุดภูมิศาสตร์ที่ดีเนื่องจากมีพื้นที่ติดต่อกับหลายประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ไทย อินเดีย บังกลาเทศ และทะเลอันดามัน

                   เมือง “ชเวโก๊กโก๋” มีความหมายว่า “จามจุรีทอง” เป็นผลจากความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างจีนและเมียนมา ทั้งสองประเทศเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ในทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ มีการพัฒนาความสัมพันธ์โดยใช้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ขยายไปในวงกว้าง ทำให้เกิดข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลเมียนมาในปี 2557 มีการพบปะหารือระหว่างนาย สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน และนางอองซาน ซูจี  ผู้แทนจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ทั้งสองประเทศได้สนับสนุนนโยบาย “One Belt One Road” (OBOR) ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น “Belt and Road Initiative” (BRI) ซึ่งเป็นนโยบายที่จีนพยายามผลักดันเพื่อเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน ทางด้านคมนาคม ด้านโลจิสติกส์ การขนส่งและการติดต่อสื่อสารเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นการสร้างความมั่นคงในเส้นทางการค้าทั้งทางบกและทางทะเลของจีนกับประเทศในเส้นทาง “Belt and Road ความร่วมมือระหว่างจีนและเมียนมาในการสร้างเมืองชเวโก๊กโก๋นี้เป็นความร่วมมือบนหลัก “เส้นทางสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt หรือ “One Belt

                        ในอีกแง่หนึ่งของ BRI คือการจัดตั้งระเบียบปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ และการจัดสรรปันส่วนทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยมุ่งเน้นการรวมตัวกันทางด้านการตลาด และความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ เพื่อกระจายผลประโยชน์สู่ส่วนรวมในภูมิภาค

             คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน (National Development and Reform Commission : NDRC) และกระทรวงการวางแผนและการคลัง (Ministry of Planning and Finance) ของเมียนมา ลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) การสร้าง “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา” ร่วมกัน มีการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อหารือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศและจัดตั้ง 12 คณะทำงานเฉพาะด้านที่สำคัญ โดยมติที่ประชุมมอบหมายให้ศูนย์แลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของจีนและกระทรวงการวางแผนและการคลังของเมียนมาเป็นผู้วางแผนแม่บท

             จากการหารือร่วมระหว่างจีนและเมียนมา ทำให้บริษัท YATAI INTERNATIONAL HOLDING GROUP (หย่าไถ้) ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้การบริหารจัดการของผู้บริหารจาก “สหพันธ์ชาวจีนโพ้นทะเลที่กลับมาตุภูมิทั่วประเทศจีน” (All-China Federation of Returned Overseas Chinese) เข้ามาลงทุนทำโครงการอุตสาหกรรมเมืองอัจฉริยะ YATAI หรือ “เมืองชเวโก๊กโก๋” ในรัฐกระเหรี่ยง เมืองเมียวดี ประเทศเมียนมา ฝั่งตรงข้ามกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตรงข้ามบ้านวังผา ม.4 ต.แม่จะเรา อ.แม่ระมาด บ้านใหม่ริมเมย ม.10 ต.แม่กาษา อ.แม่สอด และบ้านวังแก้ว ม.4 ต.แม่ปะ อ.แม่สอด รวมเนื้อที่ประมาณ 75,000 ไร่ คาดว่าการลงทุนรวมจะสูงกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์ โดยมีแม่น้ำเมยกั้นระหว่างสองฝั่ง มีการลงนามเซ็นสัญญาก่อสร้างโครงการขึ้นในปี 2561 (ค.ศ. 2018) ระยะเวลาของสัญญาระยะแรก 70 ปี ระยะที่สอง 29 ปี เป็นการลงนามร่วมหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน

                   ฝ่ายจีน ผู้เข้าร่วมพิธีลงนาม ได้แก่
                   รองประธานกรรมการสหพันธ์สาธารณรัฐจีนโพ้นทะเล และ
                   Mr. Xie Guoxiang เอกอัครราชทูตจีนประจำเมียนมาและภาคเอกชนจีน

             ฝ่ายเมียนมา ผู้เข้าร่วมพิธีลงนาม ได้แก่ Mr. U Kyaw Myo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและข้อมูล
                   Mr. Wu Hantu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรการเลี้ยงสัตว์และพลังงาน
                   Mr. Wu Suo Ai Mao รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนเข้าเมืองและประชากรเมืองยะไข่
                   Mr. U Maung Maung Soe นายกเทศมนตรีย่างกุ้ง 
                   Mr. Saw Chit Tu (นายพล หม่องชิดตู่) ผู้นำรัฐกะเหรี่ยง

                   เมืองอัจฉริยะ YATAI หรือ “เมืองชเวโก๊กโก๋” ห่างจากท่าเรือเมาะลำเลิง ประมาณ 130 กิโลเมตร ห่างจากท่าอากาศยานนานาแม่สอด 15 กิโลเมตร เมืองชเวโก๊กโก๋ถือช่องทางเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกและเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แผนการก่อสร้างเมืองคาดว่าแล้วเสร็จภายใน 5 ปี และมีนักลงทุนชาวจีนและชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนและอาศัย ในพื้นที่เมืองชเวโก๊กโก๋นี้หลักแสนคนในอนาคต

                   ในปี 2562 นี้ พบว่ามีชาวจีนมาอาศัยอยู่ที่เมืองนี้แล้วหลายพันคน  ดังนั้น การสร้างเมืองนี้ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจและเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนในระดับท้องถิ่น จังหวัดและระดับประเทศต้องจับตามองและให้ความสำคัญเนื่องจากการก่อสร้างเมืองอยู่บนพื้นที่ฝั่งตรงข้ามกับอำเภอแม่สอดและอำเภอใกล้เคียงซึ่งเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่ค้าชายแดนที่สำคัญของประเทศตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนดไว้ การผุดขึ้นของเมืองใหม่ประกอบกับประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้จะส่งผลกระทบต่อจังหวัดตากและประเทศไทยอย่างมาก

                   การพัฒนาเมืองชเวโก๊กโก๋อยู่ภายใต้แนวคิด “The Belt And Road For China-Thailand-Myanmar Economic Corridor คือ การสร้างเมืองให้เป็น “Silicon Valley” หรือเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆในภูมิภาค ทั้งยังเป็นศูนย์รวมที่พักอาศัยหลากหลายรูปแบบ อาทิ บ้านเดี่ยว คอนโด โรงแรม สถานบริการสถานบันเทิง Entertainment Complex คาสิโน ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ แหล่งรวมสินค้าปลอดภาษี โรงภาพยนตร์ระดับนานาชาติ สวนน้ำ ศูนย์แสดงสินค้าชายแดน โกดังสินค้า แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม พื้นที่เกษตรเชิงนิเวศน์และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ One stop service ฯลฯ เป็นต้น โดยแผนการก่อสร้างเมืองใช้ระยะเวลาเพียง 5 ปี เท่านั้น

                        ชเวโก๊กโก๋วางผังเมืองเป็นรูปมังกรตามคตินิยมของคนในภูมิภาคโดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
                   ส่วนหัว เป็นโซนเกษตรกรรม พื้นที่เกษตรเชิงนิเวศน์
                   ส่วนลำตัว เป็นโซน Silicon Valley ศูนย์กลางนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัย ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ ศูนย์รวมสถานบันเทิงบริการต่างๆ Entertainment Complex แหล่ง casino บริการ spa ห้างสรรพสินค้า ศูนย์จำหน่ายสินค้าปลอดภาษี duty fee โรงภาพยนตร์นานาชาติ สวนน้ำ
                   ส่วนหาง เป็นโซนอุตสาหกรรม บ้านจัดสรร คอนโด สนามกอล์ฟขนาดใหญ่

                   เขตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมีพื้นที่รวม 3,807 ไร่ มีการวางแผนวางฐานนวัตกรรมอินเตอร์เน็ต ศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยี พื้นที่เครื่องจักรกล และพื้นที่บริการรวม ฯลฯ คาดว่าเมื่อเขตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสร้างเสร็จ มูลค่าการผลิตต่อปีประมาณ 17,000 ล้านหยวน มูลค่าเพิ่มทางอุตสาหกรรมประมาณ 4,000 ล้านหยวน มีตำแหน่งพนักงานประมาณ 3.5 หมื่นคน โดยอนาคตจะพัฒนาให้เป็นซิลิคอนแวลลีย์ (Silicon Valley) ในเมียนมา

                   เขตท่องเที่ยวพักผ่อนมีพื้นที่ 41,667 ไร่ โครงการครอบคลุมถึงเมืองภาพยนตร์นานาชาติ สวนดอกเฟื่องฟ้านานาชาติ สวนน้ำ จุดชมวิวแม่น้ำเมย สถานที่บันเทิง ฐานฝึกปืน เทศกาลบอลลูนนานาชาติ อุทยานสัตว์ป่า สนามกอล์ฟ โครงการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ และบ้านพักตากอากาศระดับสูง

                   สถานที่บันเทิงใช้พื้นที่ประมาณ 4 แสนตารางเมตร เมื่อสร้างเสร็จจะมีโรงแรมและสปา ขนาดใหญ่ เป็นแหล่งการค้า ที่อยู่อาศัย และวัฒนธรรม

                   เมืองภาพยนตร์นานาชาติมีพื้นที่ 1,208 ไร่ เป้าหมายคือ การสร้างเมืองท่องเที่ยว และเมืองพักผ่อนให้เป็นเมืองในฝัน คาดว่าอนาคตข้างหน้าจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 8 แสน - 1 ล้านคน

                   อุทยานสัตว์ป่ามีพื้นที่ 8,333 ไร่ มีหน้าที่เพื่อปกป้องสัตว์ป่าเป็นหลัก ใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศของรัฐกระเหรี่ยง เพื่อสร้างเป็นสวนสัตว์อุทยานขนาดใหญ่

                   เขตวัฒนธรรมจะมีการสร้างเจดีย์ 108 ยอด คือการนำพุทธศาสนาและภูมิทัศนะของมนุษย์มารวมกันเป็นหนึ่งในสถานที่นั้น

                   เขตการค้าและโลจิสติกส์ ในอนาคตจะมีลานอเนกประสงค์ มีคลังสินค้า มีโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และมีบริการข้อมูล ฯลฯ

                   สำหรับโซนเกษตรกรรม พื้นที่เกษตรเชิงนิเวศมีพื้นที่ทั้งหมด 2,708 ไร่ โดยมีการผลิตผลผลิตทางการเกษตร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร และเป็นการผสมผสานระหว่างการท่องเที่ยวพักผ่อนกับอุตสาหกรรม ฯลฯ

                   ปัจจุบันเมืองชเวโก๊กโก๋มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและมีความคืบหน้าในการก่อสร้างอย่างรวดเร็วคาดว่าจะสร้างเมืองเสร็จตามแผนที่ตั้งไว้ภายใน 5 ปี มีการติดตั้งและพัฒนาระบบระบายน้ำ บำบัดน้ำเสีย น้ำประปา ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า การสื่อสารโทรคมนาคม ท่อส่งความร้อน และเคเบิลทีวี เพื่อรองรับการเข้ามาของนายทุนจีน เมียมา ไทย และต่างชาติ ซึ่งในปี 2562 นี้มีประชากรเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองนี้หลายพันคนแล้ว เป้าหมายของนักลงทุนที่จะเข้ามาอาศัยอยู่ที่เมืองใหม่แห่งนี้อย่างน้อย 300,000 คน หลังจากสร้างเมืองเสร็จ

                   เมืองชเวโก๊กโก๋เป็นช่องทางเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นศูนย์กลางที่สำคัญของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 เพียง 15 กม. ทางด้านทางรถไฟ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเส้นทางรถไฟทรานส์-เอเชีย ไทย-เมียนมา

                   ทางด้านทางหลวง ได้เปรียบการจราจร โดยจากคุนหมิงผ่านสปป.ลาว ถึงอำเภอแม่สอด ประเทศไทย จนถึงกรุงเทพ มีเส้นทางรวม 1,880 กิโลเมตร เท่านั้น

                   ทางด้านการบิน ได้ร่วมมือกับทาง Wisdom Airway เปิดเส้นทางการบินจากอำเภอแม่สอดไปยังหลาย ๆ ประเทศ

                   ทางด้านทะเล สามารถขนส่งสินค้าไปทางตะวันออกถึงท่าเรือแหลมฉบัง และจากท่าเรือแหลมฉบัง ส่งตรงถึงกวางโจว ประเทศจีน ทางตะวันตกสามารถขนส่งไปท่าเมาะลำเลิง และจากเมาะลำเลิงไปยังยุโรปและแอฟริกา

                   หากมองตามหลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศบทบาทจีนไม่ได้มาเพื่อตอบโจทย์นโยบาย one belt one road บนถนนเส้น AH (ASEAN Highways) เท่านั้น แต่การตั้งเมืองชเวก๊กโก๋โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็น Hub ทางเทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ เปรียบเสมือนเป็นฐานที่ตั้งกันชนนโยบาย Look East/Act East ของอินเดียที่เด่นเรื่องเทคโนโลยีนวัตกรรม และพยายามแพร่ขยายอิทธิพลด้านเทคโนโลยีมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

                   ผู้เขียนศึกษาการพัฒนาเมืองชเวโก๊กโก๋แล้ว มีข้อสังเกตเบื้องต้น ดังนี้
                   1. ภาคธุรกิจในแม่สอดไม่ได้รับประโยชน์จากการสร้างเมืองใหม่เนื่องจากจีนเตรียมความพร้อมและใช้วัสดุก่อสร้าง อุปกรณ์ วัตถุดิบต่าง ๆ ในการสร้างเมืองขนส่งมาจากจีนโดยตรง มีเพียงบริษัทเดียวเท่านั้นที่ได้รับสัมปทานเข้าไปสร้างถนน การคมนาคมขนส่งต่าง ๆ และขายวัสดุก่อสร้างบางประเภท
                   2. ช่วงระยะเวลาก่อสร้างโครงการส่งผลให้มีนักธุรกิจชาวจีนใช้บริการท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอดมากยิ่งขึ้น และขณะนี้มีเพียงสายการบินนกแอร์ที่เปิดให้บริการขนส่งผู้โดยสารภายในประเทศ สายการบิน Wisdom บริการเส้นทางแม่สอด-เชียงใหม่ เท่านั้น เกิดข้อจำกัดในการใช้บริการสายการบินส่งผลให้ ค่าบัตรโดยสารแพงขึ้นจากราคาปกติ หากไม่มีมาตรการรองรับสถานการณ์อาจทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบด้านการท่องเที่ยวและการใช้บริการของคนในพื้นที่
                   3. โครงการเมืองอัจฉริยะหย่าไถ้ได้รับการสนับสนุนจาก นายพล หม่อง ชิดตู่ ผู้นำรัฐกะเหรี่ยง ในลักษณะใช้ Connection พึ่งพาตัวบุคคล ไม่ใช่ลักษณะองค์กรหรือข้อตกลงที่เคร่งครัด ดังนั้นอำนาจและสถานะของนายพล หม่อง ชิดตู่ มีอิทธิพลต่อเสถียรภาพการสร้างและพัฒนาเมือง
                   4. โครงการเมืองอัจฉริยะหย่าไถ้ส่วนใหญ่เป็นแหล่งรวมธุรกิจลักษณะสีเทา เช่น Casino อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง คุณภาพชีวิต ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนชายแดน ซึ่งอาจไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว ไทยจำเป็นต้องคิดมาตรการรองรับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วย ทั้งในมิติความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม
                    


-----------------------
*ข้าราชการในโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) รุ่นที่ 13 สำนักงาน ก.พ.ร. ฝึกปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาค ณ จังหวัดตาก
**บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการในโครงการ นปร.

วันอังคารที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2562

ข้อคิดจากพาดหัวข่าว ปกรณ์ นิลประพันธ์

ผู้เขียนสังเกตว่าทุกครั้งที่มีข่าวการเพิ่มวันหยุดพิเศษ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใด สื่อบ้านเราจะมีการพาดหัวตัวเป้งเสมอว่า เป็นต้นว่า  "เฮ ครม. มีมติวันที่ .. ถึงวันที่ .. เป็นวันหยุดพิเศษ" ไม่ก็ "เฮ ครม. ให้หยุดเพิ่มวันที่ .." และมีอีกหลายเฮ ที่ไม่เฮก็ด่วน! อ่านแล้วระทึกไม่น้อย

แม้กระทั่งในสังคมออนไลน์ก็ส่งข่าว "เฮ" ข่าว "ด่วน" แบบนี้กันให้ว่อน ดูเหมือนจะเป็นที่ถูกอกถูกใจกันมาก เข้าใจว่าคงจะได้มีเวลาไป "ชิม ช้อป ใช้" กันให้เต็มที่ ยิ่งช่วงปลายฝนต้นหนาวด้วย บรรยากาศมันเป็นใจอักโขอยู่

แน่นอน กลุ่มคนดีใจมากถึงมากที่สุดก็คงได้แก่คนทำงานประจำทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการหรือลูกจ้าง เพราะได้หยุดงานโดยไม่เสียวันลา เพราะทางราชการประกาศให้เป็นวันหยุด เว้นแต่ข้อตกลงสภาพการจ้างจะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ที่ว่าอย่างอื่นคือตกลงวันหยุดกันไว้ล่วงหน้าแล้ว ประกาศของทางราชการไม่มีผลอะไร กลุ่มนี้ก็คงหงอย ๆ หน่อยเพราะไม่ได้อานิสงฆ์อะไรกับเขา หรือข้าราชการที่มีภารกิจต้องกระทำในช่วงที่คนอื่นเขาได้หยุดก็ต้องไปปฏิบัติงานกันตามปกติ

อาการดีใจมาก ๆ แบบนี้แสดงให้เห็นว่าสังคมเราเป็น "สังคมของคนทำงานประจำ" หรือว่าง่าย ๆ คือข้าราชการกับลูกจ้างในกิจการหรือโรงงานต่าง ๆ เป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ "สังคมของผู้ประกอบการ" เพราะผู้ประกอบการต้องประกอบกิจการทุกวัน รายได้จึงจะเพิ่มพูนงอกเงย หยุดเยอะ ๆ คงไม่ดีแน่

ผู้เขียนเป็นคนคิดมาก เลยอยากจะชวนคิดว่า การที่โครงสร้างของสังคมยังเป็น "สังคมของคนทำงานประจำ" นี้มันสอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจแห่งยุคสมัยหรือเปล่า เพราะเทคโนโลยีก้าวกระโดดเร็วมาก งานประจำหลากหลายอย่างกำลังถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี เช่น งานใช้แรงงานก็จะถูกทดแทนด้วยหุ่นยนต์  ยิ่งหลายประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย อัตราเร่งของการทดแทนแรงงานด้วยหุ่นยนต์และสมองกลก็จะเข้มข้นมากขึ้นเท่านั้น เพราะต้นทุนต่ำกว่าในระยะยาว แถมไม่ต้องมีปัญหาเรื่องวันหยุดวันลาให้ปวดหัว ไม่มีการนัดหยุดงานให้วุ่นวาย เอาแค่ไฟฟ้าไม่ตกบ่อย ๆ ก็โอแล้ว

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสังคมจากสังคมของคนทำงานประจำไปเป็นสังคมของผู้ประกอบการนี้ต้องใช้เวลามาก ญี่ปุ่นเอย เกาหลีใต้เอย จีนเอย เขายังต้องใช้เวลาหลายทศวรรษกว่าจะมีผู้ประกอบการยูนิคอร์นเกิดขึ้นทุก ๆ 8 นาทีอย่างที่เป็นอยู่ในเวลานี้ หากพิจารณาให้ลึกลงไปกว่าการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสาธารณูปโภคอันเป็นสิ่งที่เห็นได้ด้วยตา ผู้เขียนพบว่าในช่วงเวลาหลายทศวรรษนี้ ทั้งสามประเทศนี้ทุ่มเทอย่างหนักหน่วงไปที่การปลูกฝังให้สังคมยอมรับว่าทุกสัมมาอาชีพล้วนมีคุณค่า ยอมรับว่าแต่ละคนมีทักษะและความเชี่ยวชาญแตกต่างกัน ยอมรับว่าคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และการยึดมั่นประโยชน์ส่วนรวมของสังคมเป็นพื้นฐานสำคัญในการดำรงชีวิต หลักฐานที่ยืนยันได้แจ้งชัดคือกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาของทั้งสามประเทศนี้มี "แก่น" เป็นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเขาตามหลักการข้างต้นทั้งสิ้น

ทั้งนี้ การศึกษากฎหมายเปรียบเทียบตามหลักวิชากฎหมายเปรียบเทียบ (Comparative Law) นั้น ไม่ได้ทำเพียงการหยิบยกตัวบทกฎหมายที่เป็นอยู่ของแต่ละประเทศมาวางเทียบกันดู แล้วบอกว่าประเทศนั้นมีอย่างนั้น ประเทศนี้มีอย่างนี้ ประเทศฉันไม่มี ฉันไปเรียนที่ประเทศนี้ต้องลอกเขามาเพราะครูเขาบอกว่าของเขาดี หากนักกฎหมายเปรียบเทียบต้องดูบริบทแวดล้อม (Context) ของกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายของแต่ละประเทศในแต่ละยุคแต่ละสมัยมาประกอบตามแนวทาง Historical Approach ด้วยเพราะที่มาที่ไปของแต่ละประเทศมีบริบทแตกต่างกัน

หรืออย่างเรื่องระบบเลือกตั้ง อังกฤษ ฝรั่งเศส สหรัฐฯ เยอรมนี ซึ่งเป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน ทำไมใช้ระบบเลือกตั้งต่างกัน ทำไมไม่ลอกกันมาล่ะ ... นั่นก็เพราะแต่ละประเทศมีบริบทที่แตกต่างกัน มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาไม่เหมือนกัน ไม่ใช่ประเทศไหนดีกว่าประเทศไหน ลอกประเทศนี้ดีกว่าลอกประเทศนั้น นั่นไม่ใช่การเปรียบเทียบกฎหมายตามหลักวิชาเลย เน้นเอามันส์เข้าว่ามากกว่า 

เอ๊ะ! พูดถึงข่าวเฮ ๆ ด่วน ๆ เรื่องวันหยุดพิเศษกับโครงสร้างของสังคมอยู่ดี ๆ ไหงมาลงที่กฎหมายเปรียบเทียบได้

จบดื้อ ๆ อย่างนี้ก็แล้วกันนะครับ ก่อนที่จะไหลไปไหนต่อ.

วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2562

“ดิสรัปชั่นด้านสังคม” ปกรณ์ นิลประพันธ์

ทุกวันนี้เราตื่นตัวกับคำว่า disruptive technology กันมาก โดยประเด็นหลักที่พูดกันในบ้านเราก็คือ จะสร้างสภาพแวดล้อม (ecosystem) ที่เหมาะสมเพื่อรองรับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่กระโดดไปด้วยอัตราเร่งที่สูงยิ่ง ได้อย่างไร

เราพูดกันเรื่อง 5G เรื่อง big data เรื่อง AI เรื่อง Internet of Things

จะต้องพัฒนาโครงข่าย 5G ต้องพัฒนาคนให้มีความรู้ความสามารถสูงด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ด้าน cyber security ด้าน data analytics ต้องให้เด็กทำ codeing ได้ตั้งแต่ประถม ฯลฯ

ผู้เขียนไม่มีข้อสงสัยใดต่อแนวคิดเพื่อการพัฒนาเหล่านั้น 

แต่เหรียญก็มีสองด้าน และจากการสังเกตการณ์สภาพสังคมนับตั้งแต่สิ่งที่เรียกว่า IT หรือ Information Technology ได้เริ่มต้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของมนุษย์ในช่วง 1990s ผู้เขียนพบว่า “ช่องว่างระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ”  ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำอย่างหนึ่ง กว้างขึ้นเรื่อย ๆ และในอัตราเร่งที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ

ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวมีผลอย่างรุนแรงต่อ ความยั่งยืน” ในการพัฒนาของทุกประเทศ 

ปัญหาสังคมที่หลากหลายและสลับซับซ้อนมากกว่าแต่ก่อน ล้วนเกิดจาก การใช้” เทคโนโลยีในทางที่ไม่เหมาะสมซึ่งบ้างก็อ้างว่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์” อีกประการหนึ่งก็เกิดจาก การเสพย์” ข้อมูลโดยขาดสติขาดปัญญารู้คิด 

การแสดงออกอย่างดิบ เถื่อน ถ่อย ที่สร้างความสะใจในอารมณ์ มีให้เห็นและติดตามกันดาษดื่น ทั้งเข้าถึงง่ายดายเพียงปลายนิ้ว 

การปลุกเร้าทางเพศเพื่อแลกเศษเงิน แบบที่มักจะอ้างว่า รู้เท่าไม่ถึงการณ์” กลายเป็นสิ่งใหม่ที่ธรรมดา (new normal) 

การโกหกหลอกลวง การสร้างและการปั่นกระแสในเรื่องต่าง ๆ มีมากมาย เพื่อจูงใจให้คนธรรมดาที่มีรัก โลภ โกรธ หลง และขาดปัญญาได้ “ปลดปล่อย” อารมณ์ความรู้สึกทางใดทางหนึ่งออกมาเป็นปฏิกิริยา เพื่อสร้างความโกลาหลในสังคมตามเป้าหมาย

การปลุกเร้าหรือให้ความสำคัญกับการบริโภคในสิ่งที่ไม่จำเป็นมีมากมาย เป็นที่มาของความฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย

ดังนั้น นอกเหนือจากการพัฒนาทางวัตถุ การพัฒนาจิตใจเพื่อสร้าง “ภูมิคุ้มกันที่เข้มแข็ง” ให้ปัจเจกบุคคลจึงต้องก้าวไปพร้อม ๆ กันด้วย 

และการพัฒนาจิตใจนี้ ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หรือจำกัดแต่สถาบันศาสนา หากเป็นหน้าที่ร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะในระดับครอบครัว

ถ้าเรายังลดความเหลื่อมล้ำระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจไม่ได้ ก็ยากที่จะเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ผู้เขียนเป็นนักกฎหมายเป็นนักสังเกตการณ์สังคม ไม่เชี่ยวชาญด้านคณิตศาสตร์ จึงไม่อาจสร้างแบบจำลองทางวิชาการออกมาได้ ทั้งไม่ได้จำฝรั่งที่ไหนมา แต่เกิดจากการติดตามสถานการณ์ ข้อเขียนนี้จึงไม่อาจเป็นข้ออ้างอิงตามหลักวิชาการ

คงเป็นเพียงความห่วงใยจากลุงแก่ ๆ คนหนึ่งเท่านั้นเอง.

วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2562

“การออม” ปกรณ์ นิลประพันธ์

หลักการดำรงชีพ 4 ประการตามศาสนาพุทธ ปรากฏอยู่ในทีฆนิกาย กูฏทันตสูตร :

1. เป็นคนมีความชำนาญงาน ทำงานมีประสิทธิภาพ เอาจริงเอาจัง ขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่ รู้งานลึกซึ้ง (อุฏฐานสัมปทา)


2. รู้จักเก็บรักษาโภคทรัพย์ที่ตนหามาได้ด้วยหยาดเหงื่อแรงงานตามวิถีทางที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม (อารักขสัมปทาน)


3. คบหาคนดี คือผู้มีความประพฤติดีงาม เป็นมิตร จะได้ห่างไกลจากความชั่ว (กัลยาณมิตตตา)


4. รู้จักใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล ให้ได้สัดส่วนกับรายได้ ไม่ใช้จ่ายมากเกินไปหรือน้อยเกินไป (สมชีวิตา)


หลักนี้เวลาเรียนหนังสือ เราก็ท่องกันเป็นนกแก้วนกขุนทอง ว่า “ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์


ในส่วนที่เกี่ยวกับ “การออม” ในทีฆนิกาย สิงคาลกสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสกับสิงคาลมาณพว่า ควรแบ่งโภคทรัพย์เป็น 4 ส่วน ใช้สอยหนึ่งส่วน ประกอบการงานสองส่วน อีกส่วนหนึ่งที่เหลือเก็บไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เมื่อแบ่งได้ดังนี้ก็จะ “มีพอ” ไม่ใช่ “พอมี”


ก็ใช้แค่ 25% ส่วนอีก 50% ใช้ประกอบการงาน (ซึ่งก็จะได้รายได้เพิ่มเข้ามา มากบ้าง น้อยบ้าง แล้วแต่กรณี) อีก 25% เก็บไว้สำหรับใช้จ่ายกรณีฉุกเฉิน มันก็จะ “มีพอ”


จะไม่พอได้อย่างไร เมื่อใช้ 25% จาก 100% ของรายได้!!!


ธรรมะเหล่านี้ เราเรียนกันมา จำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ซึ่งโดยมากมักจะจำไม่ได้ หรือที่พอจำได้ก็มักจะไม่เข้าใจ


เมื่อไม่เข้าใจจึงเกิดการใช้จ่ายเกินตัว คือใช้สอยมากเกินไป ไม่นำไปประกอบการงาน หรือเอาไปลงทุนในทางที่มีความเสี่ยงสูง หรือลงทุนในทางที่ไม่ชอบไม่ควร และไม่มีเงินเก็บไว้ใช้จ่ายฉุกเฉิน


จุดเริ่มต้นของการออมจึงได้แก่ “การลดค่าใช้จ่าย” ต้องคิดให้ดีก่อนใช้จ่ายจึงจะออมได้ และแน่นอน ต้องมี “วินัยในการใช้จ่าย” ด้วย โดยเฉพาะในสังคมบริโภคนิยมอย่างปัจจุบัน

เช่นนี้ วินัยการเงินจึงจะเกิด 


การออมอย่างยั่งยืนจึงจะเกิด.

วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2562

“หมวด 1 สำคัญมากมาย แต่ไม่มีใครอ่าน” ปกรณ์ นิลประพันธ์

บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่สำคัญที่สุดนั้น อยู่ในหมวด บททั่วไป 

บททั่วไปนี้เปรียบเสมือนร่มคันใหญ่ที่ครอบคลุมหลักการอันเป็นสาระสำคัญทั้งหมดของรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติในหมวดอื่นต่อ ๆ ไปจะเป็นการระบุหลักการในรายละเอียดของแต่ละเรื่อง 

น่าเสียดายที่ไม่ค่อยมีคนทำความเข้าใจบททั่วไปของรัฐธรรมนูญ โดยมากจะพุ่งตรงไปที่เนื้อหาสาระในรายละเอียด หยิบแต่ละคำ แต่ละวรรคมาพูด ไม่ปะติดปะต่อกัน และไม่เป็นระบบ ทำให้เกิดความสับสนกันอยู่เนือง 

อย่างบทบัญญัติมาตรา 98(6) ที่ว่า ผู้เคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล ห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง … ถ้าไม่คำนึงถึงบททั่วไป ก็จะพูดไปได้ว่าก็รัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนว่าศาลไทยนี่  ดังนั้น ใครก็ตามที่ "เคย" ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาลประเทศใด ๆ ในโลกนี้ ล้วนต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งทั้งนั้น 

จริง ๆ ถ้าไปอ่านบททั่วไปตามหมวด ก็จะเกิดความเข้าใจที่ชัดเจน เพราะมาตรา วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” และหมวด 10 ของรัฐธรรมนูญก็ว่าด้วย ศาล” ในรายละเอียดอย่างชัดเจน ว่าหมายถึงศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร

ดังนั้น ศาล” ตามรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่ศาลที่ไหนในโลกก็ได้ แต่ต้องเป็น ศาลไทย” ตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 10 ศาล เท่านั้น

ส่วนการที่มาตรา 98(7) บัญญัติห้ามมิให้ผู้เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ เป็นผู้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งนั้น 

เมื่อศาลซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจตุลาการตามมาตรา 98(6) ประกอบมาตรา วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญหมายถึงศาลไทย และมาตรา วรรคสองบัญญัติว่า รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม” ซึ่งเป็นไปตามหลัก Solus populi suprema lex esto หรือความผาสุกของประชาชนคือกฎหมายสูงสุด ที่ซิเซโร (Cicero) ว่าไว้ในหนังสือ De Legit  ดังนั้น กฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับก็คือ  กฎหมายไทย

เมื่อเป็นเช่นนี้ การลงโทษจำคุกผู้กระทำความผิดตามมาตรา 98(7) จึงต้องเป็นไปตาม กฎหมายไทย” ด้วย ไม่ใช่ถูกจำคุกตามกฎหมายที่ใด ๆ ในโลกก็ได้

ยิ่งเรื่องนี้เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการสมัครับเลือกตั้งอันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ยิ่งต้องตีความโดยเคร่งครัด ไม่ใช่ตีความแบบขยายความ เพราะจะให้ผลเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ

สำหรับลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (9) และ (10) ซึ่งต่อเนื่องกัน ก็ต้องตีความตามหลัก ejusdem generis อันเป็นหลักการตีความกฎหมายอันเป็นสากล สรุปง่าย ๆ ได้ว่า หากบทบัญญัติของกฎหมายมีถ้อยคำต่อเนื่องกันหรือเรียงลำดับกัน การตีความลำดับถัด ๆ ไป หรือลำดับสุดท้าย ต้องมีความหมายทำนองเดียวกับคำหรือลำดับที่มีมาก่อน เพราะเป็นความเดียวกันหรือต่อเนื่องกัน  เพราะฉะนั้น คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามมาตรา 98(9) และ (10) จึงหมายถึงคำพิพากษาหรือคำสั่งของ ศาลไทย” และกฎหมายนั้นก็ต้องเป็น กฎหมายไทย

และนี่เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมมาตรา 98 ของรัฐธรรมนูญจึงเรียงลำดับ (6)(7)(9) และ (10) ...

มันไม่ใช่ แบบกฎหมาย” อย่างที่พูดกันเพรื่อไป แต่เป็น ตรรกะ” ในการเขียนกฎหมาย ... ไม่ใช่นึกอยากเขียนอะไรก็เขียน

ทั้งนี้ การใช้และการตีความกฎหมายนั้นต้องเป็นกลางปราศจากอคติทั้งปวงด้วย 

หาไม่แล้ว การใช้และการตีความกฎหมายจะเบี่ยงเบนไปจากเจตนารมณ์ที่แท้จริง และจะสร้างความสับสนขึ้นในสังคม อันเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์

ความสำคัญของหมวด บททั่วไปยังมีอีกมาก 

ถ้ามีเวลาจะนำมาเล่าสู่กันฟังในโอกาสต่อไปครับ.