วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เกร็ดการร่างกฎหมาย 13: ให้นำความในมาตรา .. มาใช้บังคับ โดย ปกรณ์ นิลประพันธ์

                   การใช้ถ้อยคำในกฎหมายนั้นมิได้แตกต่างจากการใช้ถ้อยคำในที่อื่น ๆ มันไม่ใช่ “แบบ” (Form) แต่เป็น “ลีลา” (Style) การเขียนที่มี “วิวัฒนาการ” มาต่อเนื่อง

                   การตอบคำถามที่ว่าทำไมกฎหมายนั้นจึงใช้ความเช่นนั้น แตกต่างจากกฎหมายอื่นที่ใช้ความเช่นนี้ จึงไม่ใช่การตอบว่าง่าย ๆ ว่ามันเป็น “แบบ” โดยไปค้นหาจำนวนกฎหมายที่ใช้ความอย่างเดียวกันมาสนับสนุนว่ามีการใช้ความนั้นมากกว่าการใช้ความอย่างนี้ แล้วต้องยึดความที่มีจำนวนมากกว่าเป็น “แบบ”

                   เมื่อไม่นานนี้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับหนึ่ง มีการใช้ข้อความที่มีความหมายเช่นเดียวกันถึง 3 ถ้อยคำ คือ “ให้นำมาตรา .. มาใช้บังคับ” ประการหนึ่ง “ให้นำบทบัญญัติมาตรา .. มาใช้บังคับ” ประการหนึ่ง และ “ให้นำความในมาตรา .. มาใช้บังคับ” อีกประการหนึ่ง ก็มีการถามกันขึ้นมาว่ามันมีความหมายเหมือนหรือต่างกันอย่างไร เพราะอ่านแล้วมันก็ได้ความว่าให้นำความในมาตราที่อ้างถึงนั่นแหละมาใช้บังคับ แต่ทำไม่ถึงเขียนลักลั่นกัน

                   หลายท่านบอกว่าได้รับคำชี้แจงว่าสั้น ๆ ว่ามันเป็นแบบ แต่พอเวลาถามลึก ๆ ลงไปว่ามันต่างกันอย่างไร คนตอบก็งง บางทีไปไกลขนาดว่าถ้าอ้างถึงกฎหมายเดียวกันใช้อย่างหนึ่ง อ้างถึงกฎหมายต่างฉบับให้ใช้อีกอย่างหนึ่ง คนพยายามอธิบายก็เหนื่อย คนฟังคำอธิบายเขาก็เหนื่อย

                   เรียนอย่างนี้ครับว่า เมื่อแรกที่สยามประเทศเริ่ม Modernization กฎหมายเพื่อยกเลิกสนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับฝรั่งมังค่าทั้งหลายนั้น เรามีการตั้งกรรมการชำระประมวลกฎหมายเพื่อให้กฎหมายสยามเป็นสากลตามแบบอย่างฝรั่งครับ กรรมการชำระประมวลกฎหมายนี้มีผู้เชี่ยวชาญฝรั่งมากกว่าไทย เวลาเขายกร่างประมวลกฎหมายกัน ณ เวลานั้นเขาจึงยกร่างเป็นภาษาอังกฤษครับ เป็นที่ยุติอย่างไรแล้วจึงแปลเป็นภาษาไทย

                   อย่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นี่ต้นร่างเป็นภาษาอังกฤษนะครับ ผู้สนใจสามารถขอดูได้ที่ห้องสมุดศาสตราจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ของเก่านี่เขาละเอียดครับ มีการทำ glossary ไว้ด้วยว่ามาตราไหนมาจากกฎหมายต่างประเทศมาตราใด  

                    อย่างการใช้ถ้อยคำที่เป็นปัญหาที่ยกมาข้างต้นนั้นต้นร่างภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า “The provisions of section .. shall be applied..เมื่อแปลเป็นภาษาไทย คณะท่านผู้แปลจึงใช้คำว่า “ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา .. มาใช้บังคับ” แปลตรงเป๊ะเลย ลองดูในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เลยครับ

                   ต่อมา เมื่อเวลาร่างกฎหมายในยุคหลัง ๆ เราไม่ได้ร่างกฎหมายเป็นภาษาอังกฤษแล้วจึงแปลเป็นไทยแล้ว การใช้ถ้อยคำในกฎหมายจึงไม่เคร่งครัดเพราะไม่ต้องแปลอย่างเมื่อแรกทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คำที่ว่าจึงมีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ จาก “ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา .. มาใช้บังคับ” มาเป็น “ให้นำบทบัญญัติมาตรา .. มาใช้บังคับ” คำว่า “แห่ง” เริ่มหายไปก่อน  ต่อมาก็กลายเป็น “ให้นำมาตรา .. มาใช้บังคับ” เพราะผู้ร่างกฎหมายในยุคต่อ ๆ มาเห็นว่ามันเป็นการนำมาตรา .. มาใช้บังคับทั้งมาตรา จึงไม่จำเป็นต้องเขียนคำว่าบทบัญญัติอีก คำกร่อนไปเรื่อย ๆ

                   ต่อมาผู้ร่างมีความเห็นว่า การนำมาตรา .. มาใช้บังคับนั้น เป็นการนำ “ความ” ในมาตรานั้นมาใช้บังคับ ไม่ใช่นำ “มาตรา” นั้นมาใช้บังคับ จึงใช้ความว่า “ให้นำความในมาตรา .. มาใช้บังคับ” ซึ่งสอดคล้องกับหลักการเดิมเมื่อแรกที่มีการยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพียงแต่ลดรูปจากการเขียนความเต็มที่ใช้คำว่า “ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา .. มาใช้บังคับ” เป็น “ความในมาตรา ..” เท่านั้นเอง และเวลาแปลเป็นภาษาอังกฤษก็ยังคงใช้ “The provisions of section ..” คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เห็นด้วยกับแนวทางนี้จึงใช้ความว่า “ให้นำความในมาตรา .. มาใช้บังคับ” ในรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

                   อนาคตจะกร่อนคำหรือลดรูปไปอย่างไรอีก คงต้องติดตามดูกันต่อไป

                   ภาษามีวิวัฒนาการตามสภาพสังคมครับ                  

วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ข้อคิดจากตัวเลขรายได้ครัวเรือน โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

ในความเห็นของผู้เขียน การที่ครัวเรือนมีรายได้ลดลงไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าโครงการหรือกิจกรรมของรัฐไม่ได้ผล เพราะตัวเลขไม่ได้บ่งบอกว่าทุกครัวเรือนมีรายได้ลดลง ในทางตรงข้าม ถ้าพิจารณารายละเอียดจะพบว่ามีครัวเรือนที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจำนวนไม่น้อย ดังนี้ การอ้างอิงตัวเลขนี้จึงมีปัจจัยอื่นที่ต้องคำนึงถึงและต้องแถลงให้เห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของสาธารณชนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ความสามารถในการหารายได้ของครัวเรือน"

หากครัวเรือนใดสามารถพัฒนา “ความสามารถในการหารายได้” ให้หลากหลายขึ้น ไม่ยึดติดอยู่กับการหารายได้แบบเดิม ๆ เพียงอย่างเดียว ความเสี่ยงที่ครัวเรือนจะมีรายได้ลดน้อยลง ก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย ในทางตรงข้าม ครัวเรือนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเพราะที่มาของรายได้มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากตัวเลขที่สะท้อนว่ามิใช่ทุกครัวเรือนที่มีรายได้ลดน้อยลง แต่มีเพิ่มขึ้นด้วย

ผู้เขียนเห็นว่าความสำเร็จในการพัฒนาความสามารถในการหารายได้นั้นมิได้ขึ้นอยู่กับรัฐเท่านั้น จริงอยู่ที่ว่ารัฐต้องส่งเสริมการพัฒนาความสามารถที่ว่านี้ของครัวเรือน แต่ไม่ว่ารัฐจะส่งเสริมอย่างไร หากครัวเรือนเองไม่พยายามที่จะพัฒนาความสามารถที่ว่านี้ของตน เคยอยู่อย่างไรก็จะอยู่อย่างนั้น ก็ยากที่ครัวเรือนนั้นจะมีรายได้ต่อครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น 

ดังนี้ ตัวเลขรายได้ครัวเรือนที่ลดลงในทัศนะของผู้เขียนจึงไม่ได้สะท้อนความล้มเหลวในการดำเนินกิจกรรมของรัฐโดยตรง แต่เป็นตัวเลขที่ดีอันแสดงให้เห็นว่ามีครัวเรือนร้อยละเท่าไรหรือจำนวนกี่ครัวเรือนที่เป็น "เป้าหมาย" ที่รัฐจะต้อง “ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ” ว่าจะใช้เทคนิคใดไปส่งเสริมให้ครัวเรือนเหล่านั้นมีความสามารถในการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป 

กล่าวคือ ต้องทำให้ครัวเรือนนั้นสามารถเลี้ยงปลาเพื่อตกมากินเองได้ด้วย เพราะตอนนี้ตกปลาเป็นแล้ว แต่เป็นการตกปลาตามแม่น้ำลำคลอง ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ต้องพัฒนาครัวเรือนเป้าหมายให้ขุดบ่อปลาเป็น รู้จักวิธีการเลี้ยงปลาที่ถูกต้อง จะได้ตกปลากินได้ทุกวัน ไม่ใช่ตกได้บ้างไม่ได้บ้างดังที่เคยทำ ๆ มา

เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ผู้เขียนเห็นว่าเราควรใช้ตัวเลขนี้เป็นฐานเพื่อค้นหาครัวเรือนเป้าหมายที่ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษในการเพิ่มขีดความสามารถในการหารายได้ของครัวเรือน และไปส่งเสริมครัวเรือนเป้าหมายให้มีความสามารถในการหารายได้ให้มากขึ้น การส่งเสริมเช่นนี้จะใช้วิธีเดียวกันทุกครัวเรือนเหมือนกันทั่วประเทศ (one size fit all) ไม่ได้ เพราะแต่ละครัวเรือนมีอัตลักษณ์และข้อจำกัดที่แตกต่างหลากหลายกันไป การทำงานของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาครัวเรือนเป้าหมายจึงต้องมีความอ่อนตัวมาก

การหยิบยกตัวเลขเหล่านี่้ขึ้นมาให้สาธารณชนรับรู้ และให้ข้อมูลในทุก ๆ มิติเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบนับว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก เพราะจะทำให้การจัดทำนโยบายต่าง ๆ อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง (Evidence base) มากขึ้น และมีความโปร่งใส (Transparency) มากขึ้น 

มาช่วยกันพัฒนาประเทศครับ