นายภควัต
เหมรัชตานันต์
นักกฎหมายกฤษฎีกาปฏิบัติการ
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
๑. สภาพปัญหา
ตามข้อมูลของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ
(United Nations High
Commissioner for Refugees: UNHCR) ในเดือนสิงหาคม ๒๕๕๘ ประเทศไทยต้องรองรับผู้ลี้ภัยจากประเทศต่าง ๆ ประมาณ ๑๑๐,๐๐๐ คน
ซึ่งถือเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ให้การรองรับผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่สุด
โดยในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้ลี้ภัยจากประเทศพม่า อย่างไรก็ดี
โดยที่ประเทศไทยไม่มีกฎหมาย ผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในประเทศไทยจึงมีสถานะเป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับสถานภาพของผู้ลี้ภัยต่าง ๆ เช่น ผู้ลี้ภัยที่เข้าเมืองมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมไม่ถือเป็นบุคคลที่เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามมาตรา
๓๔ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒
จึงมักถูกกักให้อยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยอย่างไม่มีกำหนดระยะเวลา และไม่สามารถทำงานเพื่อหาเลี้ยงตนเองได้
ทำให้องค์การระหว่างประเทศและกลุ่มพันธมิตรภาคประชาสังคมต้องเสียเงินทุนจำนวนมากเพื่อเลี้ยงดูผู้ลี้ภัย
สำหรับเด็กที่เกิดในค่ายกักกันผู้ลี้ภัยนั้น
เนื่องด้วยบิดามารดามีสถานะเป็นผู้เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ก็อาจมีความยากลำบากในการได้รับสูติบัตรและได้รับสัญชาติ
กระทบต่อสิทธิพื้นฐานของบุตรหลานของผู้ลี้ภัยในอนาคต นอกจากนี้
เนื่องจากประเทศไทยขาดกระบวนการบ่งชี้ผู้ลี้ภัย (identification process) ทำให้ไม่สามารถแบ่งแยกผู้ลี้ภัยออกจากคนเข้าเมืองผิดกฎหมายประเภทอื่นได้
ทำให้มีความสุ่มเสี่ยงต่อการปฏิบัติผิดมาตรฐานสากล รวมถึงพันธกรณีระหว่างประเทศบางประการ
อาทิ หลักการห้ามผลักดันกลับ (non-refoulement) ซึ่งหลายฝ่ายมีความเห็นว่าเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศซึ่งมีลักษณะเป็นกฎหมายบังคับ
(jus cogens) จึงนำมาซึ่งการประณามจากนานาประเทศเมื่อมีความสงสัยว่าประเทศไทยอาจกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพันธกรณีระหว่างประเทศดังกล่าว
ดังเห็นได้จากการรายงานข่าวเกี่ยวกับการส่งตัวชาวจีน ๒ คนที่ได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติกลับไปยังประเทศจีน
การปฏิเสธไม่ให้ความช่วยเหลือชาวโรฮีนจาที่เข้ามาในเขตทะเลของไทย
หรือกรณีการส่งตัวกลุ่มชาวอุยกูร์กลับสู่ประเทศจีน เป็นต้น
๒. ความหมายของผู้ลี้ภัย
๒.๑ ความหมายตามกฎหมายระหว่างประเทศ
ข้อ ๑
แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัย (Convention Relating to the Status of Refugee) ประกอบกับข้อ ๑
แห่งพิธีสารเลือกรับว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัย (Optional Protocol Relating to the Status of Refugee) ซึ่งเป็นตราสารระหว่างประเทศหลักที่วางรากฐานด้านกฎหมายผู้ลี้ภัยในสังคมระหว่างประเทศ
ได้ให้นิยามคำว่า “ผู้ลี้ภัย (refugee)” ไว้ว่าหมายถึง
บุคคลที่อยู่นอกอาณาเขตประเทศแห่งสัญชาติของตน
ซึ่งมีความหวาดกลัวอันมีมูลว่าจะต้องถูกประหัตประหารด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ศาสนา
สัญชาติ สมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม หรือความคิดเห็นทางการเมือง
และไม่สามารถหรือไม่ยินยอมจะรับการคุ้มครองจากประเทศแห่งสัญชาติของตนด้วยเหตุแห่งความหวาดกลัวนั้น
และยังหมายความรวมถึง บุคคลไร้สัญชาติซึ่งอยู่นอกอาณาเขตประเทศแห่งถิ่นที่อยู่ประจำเดิมของตน
และไม่สามารถหรือไม่ยินยอมจะรับการคุ้มครองจากประเทศดังกล่าวด้วยเหตุแห่งความหวาดกลัวในลักษณะเดียวกัน
ทั้งนี้ คำว่า “ประหัตประหาร (persecution)”
แม้มิได้มีนิยามชัดเจนว่าหมายถึงอะไร แต่อาจสามารถตีความประกอบกับข้อ ๓๓
ของอนุสัญญาฯ ซึ่งวางหลักเกี่ยวกับหลักการห้ามผลักดันกลับ (non-refoulement) ได้ว่าหมายถึง อันตรายต่อชีวิตและเสรีภาพ (threat to life or freedom) และยังหมายรวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงได้ อย่างไรก็ดี
สถานภาพผู้ลี้ภัยจะไม่สามารถให้แก่บุคคลที่กระทำอาชญากรรมต่อสันติภาพ
อาชญากรรมสงคราม อาชญากรรมต่อมนุษยชาติตามกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงไม่ให้แก่บุคคลที่กระทำความผิดร้ายแรงที่ไม่ใช่ความผิดทางการเมืองก่อนเข้าสู่ประเทศที่รับตนเป็นผู้ลี้ภัย
หรือบุคคลที่กระทำการอันขัดต่อวัตถุประสงค์และหลักการของสหประชาชาติ
นอกจากตราสารข้างต้นแล้ว
ตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนหลายฉบับแม้จะไม่ได้ให้นิยามของผู้ลี้ภัยไว้โดยชัดแจ้ง
แต่ก็ยังมีการกล่าวถึงสิทธิของผู้ลี้ภัยบางประการเป็นการเฉพาะเจาะจง เช่น ข้อ ๒๒
ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Right of Child)
ซึ่งกำหนดให้เด็กที่ได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยหรือร้องขอสถานะผู้ลี้ภัยได้รับความคุ้มครองและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามที่กำหนดในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กและตราสารระหว่างประเทศอื่น
หรือข้อ ๓ ของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย
ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment)
ซึ่งเน้นย้ำหลักการเกี่ยวกับการห้ามผลักดันกลับในบริบทของกรณีที่บุคคลที่ถูกผลักดันกลับอาจถูกทรมานได้
อีกทั้งตราสารระหว่างประเทศบางฉบับก็อาจให้ความคุ้มครองครอบคลุมถึงผู้ลี้ภัย เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกประติบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ
(Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination) เป็นต้น นอกจากนี้
ตราสารระหว่างประเทศบางฉบับอาจมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีลักษณะใกล้เคียงกับผู้ลี้ภัย
เช่น อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการลดความไร้สัญชาติ (UN Convention on the Reduction of Statelessness)
อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพของบุคคลไร้สัญชาติ (Convention on the Status of Stateless Persons) หรืออนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว
(Convention on the Protection of the Rights of Migrants Workers and Member of their Families) เป็นต้น
นอกจากนี้
ยังมีการกล่าวถึงสิทธิในการลี้ภัยในฐานะสิทธิมนุษยชนไว้ค่อนข้างชัดเจน เช่น ข้อ ๑๔
แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ระบุว่า บุคคลทุกคนมีสิทธิในการแสวงและได้รับที่ลี้ภัย (asylum) ในประเทศอื่นจากการประหัตประหาร
แต่สิทธินี้จะกล่าวอ้างมิได้ในกรณีการดำเนินคดีที่เกิดขึ้นจากความผิดที่มิใช่ความผิดการเมืองโดยแท้
และกรณีที่บุคคลนั้นกระทำการอันขัดต่อวัตถุประสงค์ของสหประชาชาติ
๒.๒
ความหมายตามกฎหมายภายในประเทศ
ประเทศส่วนใหญ่ที่มีกฎหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยมักให้นิยามของผู้ลี้ภัยในทำนองเดียวกับอนุสัญญาฯ
และกฎหมายระหว่างประเทศ แต่อาจมีการขยายความหรือให้คำจำกัดความที่แน่นอนมากขึ้นแก่ความหมายของคำตามอนุสัญญาฯ
เช่น มาตรา ๕H ของ Migration Act ของประเทศออสเตรเลีย
กำหนดนิยามคำว่า “ผู้ลี้ภัย” เช่นเดียวกับนิยามตามอนุสัญญาฯ โดยมีการขยายความคำว่า
“ความหวาดกลัวอันมีมูลต่อการประหัตประหาร (well-founded fear of persecution)”
อันเป็นองค์ประกอบสำคัญของสถานภาพผู้ลี้ภัยโดยละเอียดต่อมา ในมาตรา ๕J หรือกรณีของประเทศตุรกี ซึ่งมาตรา ๖๑ และมาตรา ๖๒ แห่ง Law on Foreigners and International Protection
ได้แบ่งผู้ลี้ภัยออกเป็นสองประเภท คือ “ผู้ลี้ภัยปกติ (refugee)” และ “ผู้ลี้ภัยแบบมีเงื่อนไข (conditional refugee)” ซึ่งทั้งสองประเภทมีลักษณะนิยามที่เหมือนกับอนุสัญญาฯ
แต่บุคคลดังกล่าวจะต้องผ่านกระบวนการกำหนดสถานภาพผู้ลี้ภัยเสียก่อนจึงจะได้รับสถานภาพดังกล่าว
โดยข้อแตกต่างระหว่างผู้ลี้ภัยทั้งสองประเภท ได้แก่ ประเภทแรกเป็นผู้ลี้ภัยจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศในทวีปยุโรป
แต่ประเภทที่สองเป็นผู้ลี้ภัยที่เกิดจากเหตุการณ์นอกทวีปยุโรปและได้รับอนุญาตให้พำนักในประเทศตุรกีเพียงเท่าที่จะหาประเทศสำหรับการตั้งรกรากใหม่ได้เท่านั้น
หรือในกรณีของสหราชอาณาจักร ซึ่งกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง เช่น Immigration Act 1971, Nationality, Immigration and Asylum Act 2002, Asylum and Immigration
(Treatment of Claimants, etc.) Act 2004 และ Immigration
Act 2014
ต่างให้ความหมายของ “ผู้ลี้ภัย” ว่ามีความหมายเช่นเดียวกับนิยามของผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาฯ แต่จะต้องได้รับการยอมรับสถานภาพดังกล่าวจากรัฐมนตรีแห่งรัฐ
(Secretary of State)
เสียก่อน
๓. กระบวนการให้สถานภาพผู้ลี้ภัย
๓.๑ กระบวนการของรัฐภาคีอนุสัญญาฯ
ประเทศที่เป็นภาคีของอนุสัญญาฯ
มักจัดตั้งระบบและกระบวนการในการให้สถานภาพผู้ลี้ภัย (refugee)
แก่ผู้แสวงที่ลี้ภัย (asylum seeker) เมื่อผู้แสวงที่ลี้ภัยรายหนึ่งรายใดมีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กำหนดในกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ
แม้แต่ละประเทศจะมีกระบวนการที่แตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่อาจสามารถสรุปได้ว่า
กระบวนการให้สถานภาพผู้ลี้ภัยจะเริ่มขึ้นเมื่อผู้แสวงที่ลี้ภัยยื่นคำร้องเพื่อขอสถานภาพผู้ลี้ภัยต่อหน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยของประเทศที่ตนมาถึง
ในกระบวนการนี้ ผู้แสวงที่ลี้ภัยมีหน้าที่ต้องแสดงหลักฐานเพื่อแสดงข้อเท็จจริงและสนับสนุนคำร้องขอสถานภาพความเป็นผู้ลี้ภัยหรือข้อกล่าวอ้างของตนแก่เจ้าหน้าที่
อย่างไรก็ดี โดยที่ผู้ลี้ภัยจำนวนมากหลบหนีมาเนื่องด้วยภัยต่าง ๆ
ทำให้หลายกรณีไม่อาจมีเอกสารที่แสดงข้อเท็จจริงได้อย่างครบถ้วน ในกรณีเช่นนี้
รัฐภาคีของอนุสัญญาฯ
มักสร้างกระบวนการสืบหาข้อเท็จจริงจากผู้แสวงที่ลี้ภัยด้วยการสัมภาษณ์หรือการให้ทำแบบสอบถาม
เพื่อประเมินความน่าเชื่อถือของคำร้องหรือคำกล่าวอ้าง หลังจากนั้น
เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับจะต้องประเมินข้อเท็จจริงว่าบุคคลดังกล่าวมีสถานภาพเป็นผู้ลี้ภัยหรือไม่
ในการนี้ หากประเมินแล้วเห็นว่า มีข้อเท็จจริงบางประการที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้
รัฐผู้รับจำนวนหนึ่งจะให้ประโยชน์แห่งความสงสัยแก่ผู้แสวงที่ลี้ภัย
หากเห็นว่าบุคคลดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือโดยทั่วไป
ในกรณีที่รัฐผู้รับประเมินว่า
ผู้แสวงที่ลี้ภัยรายใดไม่มีสถานภาพเป็นผู้ลี้ภัย
รัฐภาคีจำนวนหนึ่งได้จัดตั้งระบบการอุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าว
เพื่อให้ผู้แสวงที่ลี้ภัยสามารถอุทธรณ์คำวินิจฉัยที่เป็นโทษนั้นต่อหน่วยงานในระดับที่สูงขึ้นไปได้
หากยังหน่วยงานผู้รับอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยเช่นเดิม
ก็สามารถดำเนินการต่อไปเพื่อส่งบุคคลดังกล่าวออกนอกประเทศได้ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองของประเทศนั้น
ในกรณีที่รัฐผู้รับประเมินว่า
ผู้แสวงที่ลี้ภัยรายใดมีสถานภาพเป็นผู้ลี้ภัย
บุคคลดังกล่าวย่อมได้รับประกันสิทธิต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาฯ
และกฎหมายภายในของประเทศผู้รับนั้น
๓.๒ บทบาทของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United
Nations High Commissioner for Refugees: UNHCR)
เป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในประเทศต่าง ๆ
จัดตั้งขึ้นโดยธรรมนูญสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (Statute of the Office of the United Nations High Commissioner for Refugees) โดยในกรณีประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาฯ นั้น UNHCR
อาจเข้าไปมีบทบาทในกระบวนการรับรองสถานภาพผู้ลี้ภัยภายในประเทศต่าง ๆ
ได้ผ่านตามข้อ ๓๕ ของอนุสัญญาฯ เพื่อให้ความช่วยเหลือและตรวจสอบกระบวนการรับรองสถานภาพผู้ลี้ภัยให้เป็นไปอย่างมีมาตรฐาน
ส่วนกรณีของประเทศที่ไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาฯ บทบาทของ UNHCR จะจำกัดอยู่เท่าที่รัฐบาลของประเทศนั้น ๆ ยินยอม
และตามพันธกรณีขั้นต่ำที่แต่ละประเทศมีภายใต้ธรรมนูญ UNCHCR ซึ่งโดยมาก UNHCR จะดำเนินการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในสถานกักกันคนเข้าเมืองผ่านกิจการต่าง ๆ
ซึ่งอาจรวมถึงการรับรองสถานภาพผู้ลี้ภัยเพื่อให้ความคุ้มครองระหว่างประเทศ (international protection)
อย่างเป็นเอกเทศจากกฎหมายภายในประเทศ และช่วยเหลือให้ผู้ลี้ภัยที่ได้รับรองสถานภาพได้กลับคืนถิ่น
ได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศผู้รับนั้น หรือส่งไปตั้งรกรากในประเทศที่สามต่อไป
๔.
แนวทางจัดการบุคคลผู้ได้รับสถานภาพผู้ลี้ภัย
ในด้านการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยนั้น
แม้หลายประเทศจะยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพของผู้ลี้ภัย
แต่ส่วนใหญ่ก็ยึดถือแนวปฏิบัติที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะหากประเทศนั้น
ยอมรับอำนาจหน้าที่และการทำงานของ UNHCR ในประเทศของตน
นอกจากนี้ แม้จะไม่เป็นภาคีของอนุสัญญาฯ แต่หลักการบางประการของอนุสัญญาฯ
ก็มีลักษณะเป็นจารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศต่าง ๆ ให้ต้องปฏิบัติ
เช่น หลักการห้ามผลักดันกลับ (non-refoulement) ตามข้อ ๓๓
ของอนุสัญญาฯ
สำหรับผู้ลี้ภัยในประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาฯ นั้น
เมื่อได้รับสถานภาพผู้ลี้ภัยแล้ว
ย่อมมีสิทธิที่จะพำนักในประเทศผู้รับได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
รวมถึงได้รับสิทธิพื้นฐานต่าง ๆ ตามที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาหรือกฎหมายภายในของประเทศนั้น
ๆ อย่างไรก็ดี การพำนักในฐานะผู้ลี้ภัยมิได้เป็นทางออกถาวรทั้งสำหรับรัฐผู้รับและตัวผู้ลี้ภัยเอง
ท้ายที่สุดจะต้องมีกระบวนการที่มารองรับเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป (durable solutions)
โดยแนวทางดังกล่าวโดยหลักแล้วมี ๓ แนวทาง ได้แก่
๔.๑ การคืนถิ่นโดยสมัครใจ (voluntary repatriation)
การคืนถิ่นโดยสมัครใจเป็นกระบวนการที่จะส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศของตนโดยความยินยอมของตัวผู้ลี้ภัยเอง
การคืนถิ่นโดยสมัครใจนี้มีรากฐานอยู่บนสิทธิของบุคคลในการกลับสู่ประเทศของตน
ซึ่งกำหนดให้เห็นอย่างชัดเจนในข้อ ๑๓ (๒)
ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน รวมถึงตราสารระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนอื่น
เช่น ข้อ ๑๒ (๔) ของกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
และเป็นหน้าที่ของรัฐเจ้าของสัญชาติที่จะต้องรับประชาชนของตนกลับสู่ประเทศ
อย่างไรก็ดี โดยที่ผู้ลี้ภัยของผู้ที่มีความกลัวต่อการประหัตประหารในประเทศของตน
จึงได้ลี้ภัยออกนอกประเทศ ดังนั้น การกลับคืนถิ่นจะต้องเกิดขึ้นโดยใจสมัครเท่านั้น
ไม่อาจบีบบังคับให้ผู้ลี้ภัยคนใดกลับประเทศโดยไม่สมัครใจได้
อีกทั้งอยู่ภายใต้บังคับของหลักไม่ผลักดันกลับ (non-refoulement) นอกจากนี้
ประเทศผู้รับมีหน้าที่ต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับสถานการณ์ของประเทศต้นทาง
และอาจเปิดโอกาสให้ผู้ลี้ภัยกลับสู่ประเทศของตนเพื่อประเมินสถานการณ์เป็นการชั่วคราวโดยไม่เสียสถานภาพความเป็นผู้ลี้ภัย
ทั้งนี้ การดำเนินการเพื่อให้ผู้ลี้ภัยกลับคืนถิ่นนั้น
จะต้องมีการประกันศักดิ์ศรีและความปลอดภัยให้แก่ผู้ลี้ภัยด้วย เช่น
มีการได้รับนิรโทษกรรมทางการเมือง การประกันไม่ให้ถูกแยกจากครอบครัว
การประกันให้ได้รับสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่เคยมีอยู่ทุกประการ
และเมื่อผู้ลี้ภัยได้รับกลับคืนถิ่นแล้ว ย่อมสิ้นสถานภาพผู้ลี้ภัยไปตามข้อ ๑ (C) (๑) ของอนุสัญญาฯ
การคืนถิ่นโดยสมัครใจนับเป็นมาตรการหลักในการจัดการกับผู้ลี้ภัยจำนวนมากได้ในระยะยาว
อย่างไรก็ดี
มาตรการดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นผลดีเฉพาะสำหรับผู้ลี้ภัยที่ลี้ภัยเป็นระยะเวลาไม่นานเท่านั้น
แต่โดยที่สถานการณ์ของประเทศบางประเทศอาจมีความเลวร้ายเป็นระยะเวลายาวนาน
ทำให้ไม่เหมาะสมที่จะส่งผู้ลี้ภัยกลับคืนถิ่นได้ กรณีนี้
จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการอื่นเข้าให้การช่วยเหลือผู้ลี้ภัยต่อไป
๔.๒ การตั้งถิ่นฐานในรัฐผู้รับ (local integration)
การตั้งถิ่นฐานในรัฐผู้รับเป็นกระบวนการที่ประกอบด้วยด้านที่สำคัญ
๓ ด้าน ได้แก่ กระบวนการทางการเมืองและกฎหมาย ได้แก่
การที่ผู้ลี้ภัยได้รับสิทธิตามกฎหมายมากขึ้น และอาจนำมาซึ่งการได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ถาวรในประเทศหรือได้รับสัญชาติของประเทศผู้รับ
กระบวนการทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การที่ผู้ลี้ภัยสามารถเข้าร่วมในตลาดแรงงานของรัฐผู้รับและประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงตนเองได้
และกระบวนการทางสังคมวัฒนธรรม ได้แก่
การที่ผู้ลี้ภัยปรับตัวและได้รับความยอมรับจากสังคมท้องถิ่น
โดยไม่ถูกเลือกประติบัติจากสังคม
โดยการตั้งถิ่นฐานบางครั้งอาจเกิดขึ้นในลักษณะเชิงพฤตินัยได้ในระดับหนึ่ง
แม้ไม่มีการยอมรับทางกฎหมายก็ตาม แม้อนุสัญญาฯ
จะยอมรับความสำคัญของการตั้งถิ่นฐานในรัฐผู้รับไว้ในข้อ ๓๔
แต่ประเทศต่าง ๆ ก็มีแนวทางในการดำเนินการสำหรับการตั้งถิ่นฐานในรัฐผู้รัฐที่ค่อนข้างแตกต่างกันชัดเจน
และโดยมากเป็นเรื่องทางนโยบาย กล่าวคือ เนื่องจากกระบวนการตั้งถิ่นฐานในรัฐผู้รับเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน
อันเป็นผลมาจากการที่ประชาชนพื้นถิ่นมักมองว่าผู้ลี้ภัยเป็นปัญหาทางความมั่นคงและอาจนำมาซึ่งอาชญากรรม
อีกทั้งเกี่ยวพันถึงความพร้อมด้านบริการสาธารณะและตลาดแรงงานของประเทศผู้รับ
ทำให้กระบวนการตั้งถิ่นฐานที่ประสบความสำเร็จมักเกิดขึ้นในประเทศที่เป็นพหุสังคม
หรือมีความคล้ายคลึงในด้านภาษา วัฒนธรรมและชาติพันธุ์ระหว่างคนท้องถิ่นกับผู้ลี้ภัยค่อนข้างมาก
กระบวนการตั้งถิ่นฐานในรัฐผู้รับมีความสำคัญสำหรับผู้ลี้ภัยที่ลี้ภัยจากประเทศของตนเป็นระยะเวลายาวนาน
จนกระทั่งเกิดความรู้สึกผูกพัน (sense of belonging) กับประเทศผู้รับ เช่น มีการสร้างครอบครัวในประเทศผู้รับ
อย่างไรก็ดี การตั้งถิ่นฐานในรัฐผู้รับมักสร้างภาระให้แก่รับผู้รับค่อนข้างมาก
รัฐผู้รับส่วนใหญ่จึงไม่พร้อมจะให้การรับรองผู้ลี้ภัยในเชิงนิตินัย เช่น การให้ถิ่นที่อยู่ถาวรหรือสัญชาติ
จึงเป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับวิธีการอื่น
๔.๓ การตั้งรกรากในประเทศที่สาม (resettlement in third country)
UNHCR
เป็นองค์กรหลักที่รับผิดชอบเรื่องการตั้งรกรากในประเทศที่สาม
โดยในทุกปีแต่ละประเทศจะระบุจำนวนผู้ลี้ภัยที่ตนสามารถรับได้เป็นโควตา ให้ UNHCR ทราบ เพื่อพิจารณานำผู้ลี้ภัยจากที่ต่าง ๆ
เข้าไปตั้งรกรากใหม่ในประเทศที่ยินยอมพร้อมรับ ซึ่งส่วนมากคือประเทศสหรัฐอเมริกา
แคนาดา ออสเตรเลีย และประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวีย โดยในกระบวนการนี้ UNHCR จะเป็นผู้ประเมินในเบื้องต้น และหน่วยงานของรัฐที่พร้อมรับผู้ลี้ภัยจะดำเนินการประเมินคุณสมบัติของผู้ลี้ภัยต่อไป
โดยหลักการแล้ว UNHCR
จะใช้กระบวนการนี้สำหรับผู้ลี้ภัยที่มีปัญหาเรื้อรัง ไม่สามารถกลับสู่ประเทศของตนได้
ทั้งไม่สามารถตั้งถิ่นฐานในประเทศผู้รับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวที่ประสบภัยคุกคาม
หรือกลุ่มบุคคลผู้มีความจำเป็นพิเศษ อย่างไรก็ดี
การใช้กระบวนการนี้มีจำนวนที่ค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ลี้ภัยทั้งหมด
เช่น ในปี ๒๕๕๗ มีจำนวนผู้ลี้ภัยทั่วโลกประมาณ ๑๔ ล้านคน
มีผู้ที่เข้าข่ายควรให้ตั้งรกรากใหม่ในประเทศที่สามจำนวนประมาณ ๑ ล้านคน
แต่สามารถตั้งรกรากได้จริงเพียง ๑ แสนคนเท่านั้น ทั้งนี้
การจะรับหรือไม่รับผู้ลี้ภัยนั้นมักไม่มีกฎหมายภายในกำหนดไว้อย่างชัดเจน
แต่มักเป็นนโยบายของหน่วยงานของประเทศผู้รับผู้ลี้ภัย อย่างไรก็ดี
ประเทศผู้รับผู้ลี้ภัยจะมีการกำหนดกระบวนการตรวจสอบคำร้องที่เป็นเอกเทศจาก UNHCR อีกทั้งอาจมีการกำหนดกระบวนการกำหนดโควตาระบุไว้ในกฎหมายภายใน
๕. กฎหมายต่างประเทศเกี่ยวกับการจัดการผู้ลี้ภัย
โดยที่ปัญหาผู้ลี้ภัยเป็นปัญหาในระดับนานาชาติ
ในการศึกษาได้แบ่งกลุ่มประเทศที่ศึกษาออกเป็น ๒ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่หนึ่ง
ประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย และกลุ่มที่สอง
ประเทศที่ไม่เป็นภาคีอนุสัญญาฯ
๕.๑
กฎหมายของกลุ่มประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาฯ
อนุสัญญาฯ
มีภาคีทั้งสิ้น ๑๔๕ ประเทศ โดยจากการตรวจสอบกฎหมายของประเทศต่าง ๆ
ที่เป็นภาคีของอนุสัญญาฯ เช่น แคนาดา ตุรกี ออสเตรเลีย และอิตาลี พบว่า
ประเทศส่วนใหญ่ได้ออกแบบกฎหมายให้มีเนื้อหาที่ใกล้เคียงและสอดรับกับอนุสัญญาฯ โดยในที่นี้ขอยกตัวอย่างกฎหมายของประเทศแคนาดาและประเทศออสเตรเลียเป็นตัวอย่าง
ดังนี้
(๑) ประเทศแคนาดา
๑)
นิยามของ “ผู้ลี้ภัย”
การคุ้มครองผู้ลี้ภัยของประเทศแคนาดาอยู่ภายใต้บังคับของ
Immigration and Refugee Protection Act
โดยการคุ้มครองดังกล่าวจะให้แก่บุคคลที่มีคุณสมบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
๑) บุคคลที่ได้รับบ่งชี้ว่าเป็นผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาฯ
หรือบุคคลในลักษณะเดียวกันที่ได้รับการตรวจลงตราทั้งประเภทถาวรและชั่วคราว ๒)
บุคคลที่คณะกรรมการการเข้าเมืองและผู้ลี้ภัย (Immigration and Refugee Board)
กำหนดว่าเป็นเป็นผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาฯ หรือเป็นบุคคลที่สมควรได้รับความคุ้มครอง
หรือ ๓) บุคคลที่รัฐมนตรีอนุญาตให้ความคุ้มครองจากกระบวนร้องขอ (มาตรา ๙๕)
โดยมาตรา ๙๖ ได้กำหนดนิยามของ “ผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาฯ (Convention refugee)” ว่าหมายถึง
บุคคลที่อยู่ภายนอกประเทศแห่งสัญชาติของตน
ซึ่งไม่สามารถหรือไม่สมัครใจจะขอรับความคุ้มครองจากประเทศของตน เนื่องจากมีความหวาดกลัวอันมีมูลว่าจะถูกประหัตประหาร
หรือบุคคลไร้รัฐที่อยู่นอกถิ่นที่อยู่ประจำเดิมของตน
ซึ่งไม่สามารถหรือไม่สมัครใจจะกลับสู่ถิ่นที่อยู่นั้น
เนื่องจากมีความหวาดกลัวอันมีมูลว่าจะถูกประหัตประหาร
ซึ่งสอดคล้องกับนิยามของอนุสัญญาฯ
๒)
การพิจารณาสถานภาพผู้ลี้ภัย
การขอสถานภาพเป็นผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาฯ
ของประเทศแคนาดาจะต้องกระทำโดยการยื่นคำร้องเพื่อขอรับการตรวจลงตราได้ทั้งในและนอกประเทศแคนาดา
(มาตรา ๙๙) โดยผู้ยื่นคำร้องมีภาระทางการพิสูจน์ว่าตนเป็นผู้ลี้ภัยจริง (มาตรา ๑๐๐
(๑.๑)) เมื่อได้รับคำร้องของผู้ร้องแล้ว
พนักงานเจ้าหน้าที่จะส่งคำร้องต่อไปยังหน่วยงานคุ้มครองผู้ลี้ภัย (Refugee Protection Division)
เพื่อทำการพิจารณาคำร้องเกี่ยวกับสถานภาพ ในชั้นนี้
เจ้าหน้าที่อาจปฏิเสธการให้สถานภาพได้หากพบว่าบุคคลนั้นเคยกระทำความผิดที่มีโทษสูงสุดเทียบได้กับโทษจำคุกตั้งแต่
๑๐ ปีขึ้นไปตามกฎหมายแคนาดา
หรือได้รับความคุ้มครองจากประเทศที่น่าเชื่อถืออื่นอยู่แล้ว หรืออาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคง
สิทธิมนุษยชนหรืออาชญากรรมร้ายแรง เป็นต้น (มาตรา ๑๐๑)
เมื่อมีการส่งเรื่องให้หน่วยงานคุ้มครองผู้ลี้ภัยแล้ว
หน่วยงานดังกล่าวอาจชะลอหรือระงับการพิจารณาได้ในกรณีต่าง ๆ เช่น
มีการส่งเรื่องเพื่อให้พิจารณาเกี่ยวกับความมั่นคงหรือการก่ออาชญากรรมบางประการของผู้ร้อง
มีความจำเป็นต้องรอการพิจารณาของศาลในความผิดที่ต้องระวางตั้งแต่ ๑๐ ปีขึ้นไป
มีการร้องขอให้ส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดน เป็นต้น (มาตรา ๑๐๓ ถึงมาตรา ๑๐๕)
นอกจากนี้
หน่วยงานคุ้มครองผู้ลี้ภัยจะปฏิเสธการให้ความคุ้มครองได้ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวไม่มีฐานะเป็นผู้ลี้ภัยตามอนุสัญญาฯ
อีกต่อไป กล่าวคือ
มีกรณีที่บุคคลดังกล่าวยอมรับความคุ้มครองจากประเทศแห่งสัญชาติของตนโดยสมัครใจ
ได้รับสัญชาติกลับคืนมา ได้รับสัญชาติใหม่และสามารถรับความคุ้มครองจากประเทศแห่งสัญชาตินั้น
ได้กลับคืนสู่ประเทศที่ตนจากมาด้วยเหตุที่ขอลี้ภัย
และเหตุผลที่ขอรับความคุ้มครองได้สิ้นสุดลง เว้นแต่เมื่อเกิดกรณีต่าง ๆ
เหล่านี้ขึ้นแล้ว ผู้ร้องสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีเหตุการณ์อื่นเป็นการประหัตประหารต่อตน
(มาตรา ๑๐๘) ซึ่งกรณีต่าง ๆ
เหล่านี้ล้วนสอดคล้องกับกรณีการสิ้นสุดความเป็นผู้ลี้ภัยตามข้อ ๑ ของอนุสัญญาฯ
ในการพิจารณานั้น
เจ้าหน้าที่ควรพิจารณาถึงเอกสารแสดงอัตลักษณ์บุคคลว่ามีความน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด
และในกรณีที่ผู้ร้องไม่อาจแสดงเอกสารแสดงอัตลักษณ์บุคคลได้จะต้องคำนึงถึงความน่าเชื่อถือของคำให้การของบุคคลนั้นด้วย
(มาตรา ๑๐๖)
เมื่อมีการตัดสินเกี่ยวกับสถานภาพแล้ว
ผู้ร้องที่ไม่พอใจคำตัดสินหรือรัฐมนตรีอาจยื่นอุทธรณ์ต่อหน่วยงานอุทธรณ์เรื่องผู้ลี้ภัย
(Refugee Appeal Division)
ได้ในด้านข้อกฎหมายได้
โดยพิจารณาอยู่บนพื้นฐานที่หน่วยงานคุ้มครองผู้ลี้ภัยบันทึกไว้ (มาตรา ๑๑๐)
ทั้งนี้ เว้นแต่จะมีหลักฐานใหม่ซึ่งมีขึ้นภายหลังจากคำตัดสิน
๓)
สิทธิของผู้ลี้ภัย
เมื่อบุคคลได้รับการยอมรับสถานภาพเป็นผู้ลี้ภัยแล้ว
บุคคลนั้นย่อมมีสิทธิในการยื่นเรื่องเพื่อเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวร (permanent resident) ของประเทศแคนาดา
และมีสิทธิเทียบเท่ากับบุคคลที่เป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรทั่วไป
และในกรณีที่ได้ยื่นคำร้องเพื่อขอรับความคุ้มครองไปแล้ว แต่อยู่ระหว่างการพิจารณา
ผู้ยื่นคำร้องก็สามารถยื่นเรื่องเพื่อขอรับใบอนุญาตพำนักชั่วคราว (temporary resident permit)
ได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น
และย่อมมีสถานะเป็นผู้เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายนับแต่ได้รับใบอนุญาตข้างต้น
(มาตรา ๓๑.๑)
๔)
การส่งผู้ลี้ภัยออกนอกประเทศ
กฎหมายของประเทศแคนาดารับรองหลักการไม่ถูกผลักดันกลับ
(non-refoulement) ไว้ในมาตรา ๑๑๕ กล่าวคือ แคนาดาจะไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับสู่อาณาเขตที่บุคคลนั้นจะได้รับการคุกคามต่อชีวิตหรือเสรีภาพ อันเนื่องจากเหตุแห่งเชื้อชาติ ศาสนา
สัญชาติ สมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม หรือความคิดเห็นทางการเมือง
เว้นแต่จะเป็นผู้ที่ก่ออาชญากรรมร้ายแรงซึ่งรัฐมนตรีเห็นว่าเป็นอันตรายต่อสาธารณะของแคนาดา
หรือมีเหตุด้านความมั่นคงอื่น โดยหากผู้แสวงหาที่ลี้ภัยไม่ได้รับการรับรองสถานภาพเป็นผู้ลี้ภัย
บุคคลนั้นจะถูกส่งไปยังประเทศที่ตนมาก่อนมาถึงแคนาดา
หรืออาจถูกส่งตัวไปยังประเทศอื่นที่หน่วยงานด้านคนเข้าเมืองของแคนาดากำหนด
ซึ่งจะต้องเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสำหรับผู้ลี้ภัยด้วย
โดยที่ผู้ลี้ภัยในประเทศแคนาดามีสถานะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตถิ่นที่อยู่ปกติ
ดังนั้น
การส่งบุคคลเหล่านี้ออกนอกประเทศจึงต้องดำเนินการไม่ต่างจากผู้เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายอื่น
โดยหากมีกรณีที่เจ้าหน้าที่เห็นว่าไม่อาจรับบุคคลนั้นไว้ในแคนาดาต่อไปได้ (inadmissibility) เช่น เป็นภัยต่อความมั่นคงเพราะกระทำการเป็นสายลับ การล้มล้างการปกครอง
การก่อการร้าย หรือกระทำการอื่นอันเป็นภัยต่อแคนาดา (มาตรา ๓๔)
หรือกระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิในทางระหว่างประเทศ เช่น ก่ออาชญากรรมสงครามหรืออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
เป็นต้น (มาตรา ๓๕) หรือได้ก่ออาชญากรรมตามที่กฎหมายกำหนด (มาตรา ๓๖)
หรือมีความเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรม (มาตรา ๓๗)
หรือเป็นภาวะสุขภาพที่เป็นอันตรายต่อสังคม (มาตรา ๓๘) เป็นต้น ในกรณีนี้
เจ้าหน้าที่ก็อาจทำรายงานเสนอเพื่อให้รัฐมนตรีมีคำสั่งให้บุคคลนั้นออกนอกประเทศก็ได้(มาตรา
๔๔ ถึงมาตรา ๕๓) นอกจากนี้
ผู้ลี้ภัยอาจสูญเสียสถานภาพความเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวรได้หากความเป็นผู้ลี้ภัยได้สิ้นสุดลง
(มาตรา ๔๐.๑)
(๒) ประเทศออสเตรเลีย
๑) นิยามของ “ผู้ลี้ภัย”
ประเทศออสเตรเลียเป็นภาคีอนุสัญญาเกี่ยวกับสถานภาพของผู้ลี้ภัย
บทบัญญัติกฎหมายจึงมีความใกล้เคียงกับอนุสัญญาฯ โดย Migration Act ได้กำหนดนิยามของ “ผู้ลี้ภัย (refugee)” ไว้ว่าหมายถึง บุคคลที่อยู่ภายนอกประเทศแห่งสัญชาติของตน
ซึ่งไม่สามารถหรือไม่สมัครใจจะขอรับความคุ้มครองจากประเทศของตน เนื่องจากมีความหวาดกลัวอันมีมูลว่าจะถูกประหัตประหาร
หรือบุคคลไร้รัฐที่อยู่นอกถิ่นที่อยู่ประจำเดิมของตน ซึ่งไม่สามารถหรือไม่สมัครใจจะกลับสู่ถิ่นที่อยู่นั้น
เนื่องจากมีความหวาดกลัวอันมีมูลว่าจะถูกประหัตประหาร
แต่ไม่หมายรวมถึงบุคคลทำความผิดร้ายแรงในทางกฎหมายระหว่างประเทศ
ความผิดร้ายแรงที่มิใช่ความผิดการเมือง
หรือกระทำการอันขัดต่อวัตถุประสงค์และหลักการของสหประชาชาติ (มาตรา ๕H) ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวยังขยายความเพิ่มเติมว่า บุคคลจะมี
“ความหวาดกลัวอันมีมูลว่าจะถูกประหัตประหาร (well-founded fear of persecution)” หากมีโอกาสอย่างแท้จริงที่บุคคลดังกล่าวจะถูกประหัตประหารด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ
ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพในกลุ่มทางสังคม หรือความคิดเห็นทางการเมือง
เมื่อถูกส่งตัวกลับไปยังรัฐผู้รับ
โดยการประหัตประหารนั้นเกี่ยวข้องกับพื้นที่ทุกส่วนของรัฐผู้รับ
เว้นแต่จะได้รับความคุ้มครองที่มีประสิทธิผลในรัฐนั้น (มาตรา ๕J) เห็นได้ว่า นิยามดังกล่าวมีความสอดคล้องกับนิยามตามข้อ ๑
ของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย
๒) การคุ้มครองผู้ลี้ภัยและสิทธิของผู้ลี้ภัย
บุคคลที่มีลักษณะเป็นผู้ลี้ภัยภายใต้ความหมายของพันธกรณีระหว่างประเทศ
หรือที่รัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่าอาจมีอันตรายได้หากส่งกลับประเทศเดิมนั้น
ย่อมมีสิทธิได้รับการตรวจลงตราประเภทคุ้มครอง (Protection visa) (มาตรา ๓๖ (๒))
และมีสิทธิพำนักอยู่และทำงานในประเทศออสเตรเลียได้อย่างถาวรไม่จำกัดระยะเวลา
รวมถึงได้รับสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมายในฐานะผู้มีถิ่นที่อยู่ถาวร (permanent resident) (มาตรา ๓๕A
ประกอบกับมาตรา ๓๐ (๑)) ทั้งนี้
บุคคลที่จะได้รับความคุ้มครองจะต้องพยายามใช้สิทธิของคนในการขอรับความคุ้มครองจากประเทศที่ตนมีสิทธิแล้ว
(มาตรา ๓๖ (๓)) เว้นแต่บุคคลนั้นจะมีความหวาดกลัวอันมีมูลว่าจะถูกประหัตประหารหรือจะถูกผลักดันกลับไปพบกับการประหัตประหาร
(มาตรา ๓๖ (๔) (๕) และ (๕A)) นอกจากนี้
ระหว่างที่กำลังรอผลการพิจารณา
บุคคลดังกล่าวสามารถขอรับการตรวจลงตราประเภทเปลี่ยนผ่าน (bridging visa)
เพื่อให้สามารถพำนักอยู่และเดินทางภายในออสเตรเลียได้เป็นการชั่วคราว (มาตรา ๗๒)
โดยบุคคลทั้งสองประเภทจะได้รับความคุ้มครองภายใต้หลักการห้ามผลักดันกลับ (non-refoulement) เหมือนกัน
จะเห็นได้ว่า
การให้ความคุ้มครองในลักษณะการให้การตรวจลงตราประเภทคุ้มครองนี้มีลักษณะเป็นการตรวจลงตราประเภทหนึ่ง
ผู้ขอรับความคุ้มครองจึงต้องมีคุณสมบัติและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการตรวจลงตราในมาตรา
๔๐ ของ Migration Act
โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องมีเอกสารที่แสดงตนสำหรับการเดินทาง นอกจากนี้
ผู้จะขอรับความคุ้มครองจะต้องไม่ใช่บุคคลที่เข้ามาในประเทศออสเตรเลียทางทะเลหรือทางอากาศโดยผิดกฎหมาย
(illegal maritime arrival หรือ unauthorized air arrival)
ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ต้องรองรับบุคคลที่เข้าเมืองทางทะเลโดยผิดกฎหมาย
(illegal maritime arrival) จำนวนมาก
และมีหลายกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีลักษณะเป็นผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการรองรับสถานภาพของผู้อพยพตามกฎหมายระหว่างประเทศ
โดยเฉพาะสถานภาพความเป็นผู้ลี้ภัย (refugee) ตามอนุสัญญาเกี่ยวกับสถานภาพของผู้ลี้ภัย
ด้วยเหตุนี้ รัฐสภาของประเทศออสเตรเลียจึงทำการแก้ไขเพิ่มเติม Migration Act
เพื่อเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งตัวผู้อพยพไปตั้งถิ่นฐานหรือดำเนินขั้นตอนขอสถานภาพเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศอื่น
ซึ่งระบบดังกล่าวเรียกว่า “การดำเนินขั้นตอนระดับภูมิภาค (Regional Processing)” โดยบัญญัติไว้ในมาตรา ๑๙๘AA ถึงมาตรา ๑๙๘AJ
ในการดำเนินการตามระบบนี้
ประเทศออสเตรเลียจะทำความตกลงระหว่างประเทศกับประเทศอื่น เช่น หมู่เกาะนาอูรู
เพื่อกำหนดให้เป็นประเทศที่รองรับการดำเนินขั้นตอนการขอสถานภาพเป็นผู้ลี้ภัย
โดยในการเลือกประเทศที่จะทำความตกลงนั้น
ออสเตรเลียจะต้องมั่นใจได้ว่าประเทศดังกล่าวจะไม่ส่งผู้ลี้ภัยไปยังประเทศที่ชีวิตหรือเสรีภาพของผู้ลี้ภัยจะถูกคุกคามอันเนื่องมาจากเชื้อชาติ
ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพในกลุ่มสังคม หรือความคิดทางการเมืองของผู้ลี้ภัย (มาตรา
๑๙๘AB (๓)(a)(i)) ทั้งนี้
เป็นไปตามพันธกรณีตามหลักการห้ามผลักดันกลับ (non-refoulement) ที่ออสเตรเลียมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม
หลังจากได้กำหนดประเทศหนึ่งให้เป็นประเทศผู้ดำเนินขั้นตอนในภูมิภาค (regional processing country) แล้ว แม้ผู้ลี้ภัยทางทะเลที่มีสถานะเป็นผู้เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามกฎหมายของออสเตรเลีย
จึงสามารถถูกปฏิเสธการเข้าเมืองได้
แต่บุคคลกลุ่มดังกล่าวแทนที่จะถูกปฏิเสธการเข้าเมือง กลับจะถูกส่งไปยังประเทศผู้ดำเนินขั้นตอนในภูมิภาคเพื่อประเมินสถานภาพความเป็นผู้ลี้ภัย
และดำเนินการส่งตัวไปตั้งรกรากใหม่ในประเทศที่สามต่อไป
โดยการประเมินนี้จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลออสเตรเลีย
และสิทธิของผู้ลี้ภัยจะเป็นไปตามกฎหมายของประเทศหมู่เกาะนั้น ทั้งนี้
ประเทศหมู่เกาะดังกล่าวโดยมากมิได้มีกฎหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยเป็นการเฉพาะ
ทำให้ผู้ลี้ภัยจะต้องพำนักอยู่ในค่าย เพื่อรอการประเมินสถานภาพผู้ลี้ภัยและรอการจัดการอย่างยั่งยืน
(durable solutions) ต่อไป
นอกจากนี้
ประเทศออสเตรเลียได้ทำความตกลงกับประเทศที่สามเพื่อรองรับการตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ภัย
ซึ่งผ่านกระบวนการประเมินตามระบบ Regional Processing แล้ว เช่น ออสเตรเลียทำบันทึกความเข้าใจกับกัมพูชา
เพื่อให้กัมพูชาเป็นประเทศที่รองรับการตั้งถิ่นฐานของผู้ลี้ภัยตามระบบดังกล่าว ตาม
MOU between Cambodia and Australia Relating to the Settlement of Refugees in Cambodia เป็นต้น
อย่างไรก็ดี นโยบายของออสเตรเลียเช่นนี้
ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศ เนื่องจากในบางกรณี
เรือของออสเตรเลียจะทำการลากพาเอาเรือของผู้ลี้ภัยทางทะเลไปสู่ประเทศผู้ดำเนินขั้นตอนในภูมิภาค
โดยไม่ยินยอมให้เรือของผู้ลี้ภัยเข้าสู่ทะเลอาณาเขตของออสเตรเลีย
อีกทั้งผู้ลี้ภัยที่ถูกส่งตัวไปยังประเทศหมู่เกาะนั้น โดยนโยบายจะไม่ได้รับการพิจารณาให้ได้รับถิ่นที่อยู่ถาวรหรือสัญชาติของประเทศออสเตรเลีย
จึงแตกต่างจากการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัยที่ขอรับการตรวจลงตราประเภทคุ้มครองที่กล่าวมาข้างต้น
๓) การส่งผู้ลี้ภัยออกนอกประเทศ
การส่งผู้ลี้ภัยออกนอกประเทศตาม Migration Act แบ่งเป็นสองกรณี ได้แก่ การส่งออกนอกประเทศ (removal) และการเนรเทศ (deportation) โดยมาตรา ๑๙๗C กำหนดไม่ให้หลักการห้ามผลักดันกลับใช้บังคับกับการส่งออกนอกประเทศ (removal) กล่าวคือ ออสเตรเลียมองว่า
การส่งคนออกนอกประเทศนั้นไม่ทำให้ตนผิดพันธกรณีเกี่ยวกับหลักการห้ามผลักดันกลับ
ผู้ลี้ภัยอาจถูกส่งออกนอกประเทศ (remove) ได้ในกรณีต่าง ๆ เช่น การขอออกนอกประเทศโดยสมัครใจ
ผู้ต้องกักเนื่องจากไม่ดำเนินกระบวนการคนเข้าเมืองที่ถูกต้อง บุคคลผ่านแดน (transitory person)
ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในประเทศเป็นการชั่วคราว อันได้แก่บุคคลเช่น
บุคคลที่อยู่ในระบบ Regional Processingเป็นต้น
(มาตรา ๑๙๘)
ผู้ลี้ภัยอาจถูกเนรเทศ (deport) ได้ในกรณีต่าง ๆ เช่น บุคคลที่กระทำความผิดอาญาและอยู่ในประเทศออสเตรเลียมาไม่เกิน
๑๐ ปี (มาตรา ๒๐๑) บุคคลที่เป็นภัยต่อความมั่นคง (มาตรา ๒๐๒)
และบุคคลที่กระทำความผิดร้ายแรงที่กฎหมายกำหนด (มาตรา ๒๐๓) ซึ่งบุคคลที่ถูกเนรเทศนี้จะได้รับความคุ้มครองไม่ถูกผลักดันกลับไปยังประเทศที่ตนอาจถูกประหัตประหารตามหลักห้ามผลักดันกลับ
(non-refoulement)
๕.๒ กลุ่มประเทศที่ไม่เป็นเป็นภาคีอนุสัญญาฯ
จากการตรวจสอบประเทศที่ไม่เป็นภาคีอนุสัญญาฯ ได้แก่
อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และอินเดีย
ไม่พบว่ามีประเทศใดที่ตรากฎหมายระดับรัฐสภาเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยเป็นการเฉพาะ
และโดยมากจะจัดการกับปัญหาผู้ลี้ภัยด้วยการใช้กฎหมายคนเข้าเมือง
อย่างไรก็ดี
บางประเทศมีการออกกฎหรือมาตรการทางปกครองบางประการเพื่อกำหนดมาตรฐานในการปฏิบัติต่อผู้ลี้ภัย
ดังเช่นประเทศอินโดนีเซีย
(๑) ประเทศอินโดนีเซีย
ประเทศอินโดนีเซียไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาฯ
รวมถึงไม่มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย
การจัดการผู้ลี้ภัยจึงอยู่ภายใต้กฎหมายคนเข้าเมืองของอินโดนีเซีย (Immigration Law UU6-2001)
ซึ่งให้อำนาจกรมการตรวจคนเข้าเมืองมีอำนาจในการจัดการคนเข้าเมืองได้ (มาตรา ๓
และมาตรา ๔) โดยผู้แสวงที่ลี้ภัยที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมต้องอยู่ภายใต้บังคับของมาตรการด้านคนเข้าเมือง
เช่น การเนรเทศ การกักกัน การปรับ เป็นต้น (มาตรา ๗๕)
อย่างไรก็ดี
เนื่องจากบทเรียนที่ต้องรับผู้ลี้ภัยจำนวนมากในสงครามกลางเมืองของประเทศเวียดนาม
และจากการประกาศอิสรภาพของติมอร์ตะวันออก ในปี ๒๐๐๒ อธิบดีกรมการตรวจคนเข้าเมืองของอินโดนีเซียได้ออกหนังสือเวียน
เลขที่ F-IL.01.10-1297 ลงวันที่ ๓๐ กันยายน ค.ศ. ๒๐๐๒
กำหนดวิธีปฏิบัติต่อคนต่างด้าวที่อ้างตัวเป็นผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงที่ลี้ภัย โดยวางแนวปฏิบัติเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย
ดังนี้
(๑) ห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในอาณาเขตของประเทศอินโดนีเซีย
ทั้งนี้ ตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและตามกฎที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน
(๒) ห้ามดำเนินมาตรการทางด้านคนเข้าเมือง
รวมถึงการเนรเทศ ด้วยการส่งผู้แสวงหาที่ลี้ภัยไปยังประเทศที่อาจทำให้ชีวิตหรือเสรีภาพของผู้นั้นมีอันตรายได้
(๓) หากมีคนต่างด้าวเข้ามาในอาณาเขตของอินโดนีเซีย
โดยอ้างตนว่าเป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ไม่ว่าในจุดผ่านแดนใด
ให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองประสานไปยัง UNHCR และทำการตระเตรียมการกับสายการบินในระหว่างรอเจ้าหน้าที่ของ
UNHCR
(๔) คนต่างด้าวที่ร้องขอสถานภาพเป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัยหรือผู้ลี้ภัยในประเทศอินโดนีเซียจะถูกส่งไปตามกระบวนการของ
UNHCR เพื่อพิจารณาสถานภาพผู้ลี้ภัย
(๕)
ให้เคารพสถานภาพและการปรากฏสถานภาพของคนต่างด้าวที่ถือหนังสือรับรอง (Attestation Letter) หรือบัตรประจำตัวของ UNHCR ในฐานะเป็นผู้แสวงหาที่ลี้ภัย ผู้ลี้ภัย และบุคคลในความห่วงใยของ UNHCR
(๖) หากผู้แสวงที่ลี้ภัยหรือผู้ลี้ภัยกระทำผิดกฎหมาย
จะต้องถูกดำเนินการไปตามกฎหมายและกฎที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน
(๗)
ให้หัวหน้าสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายทำการขึ้นทะเบียนคนต่างด้าว
เพื่อการตรวจสอบดูแล
(๘) สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง
สำนักงานภาคของกระทรวงยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน และกรมการเข้าเมือง
จะไม่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายใดที่เกี่ยวกับบุคคลในความห่วงใยของ UNHCR
(๙)
ให้ทำรายงานเกี่ยวกับพัฒนาการให้ผู้อำนวยการฝ่ายตรวจสอบและการบังคับทุกเดือน
เห็นได้ว่า
หนังสือเวียนของอินโดนีเซียมีการยอมรับหลักการเกี่ยวกับการไม่ผลักดันกลับ (Non-Refoulement) อีกทั้งคนต่างด้าวที่แสวงหาที่ลี้ภัยจะไม่ถูกบังคับมาตรการด้านคนเข้าเมืองภายใต้กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและไม่ถูกขับไล่หรือกักกันในทันที
แต่พนักงานเจ้าหน้าที่จะทำการติดต่อประสาน UNHCR ให้เข้าทำการประเมินสถานภาพของบุคคลดังกล่าว
และบุคคลดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การดูแลของ UNHCR ทั้งนี้
ในความเป็นจริงหากประเมินแล้ว พบว่าเป็นผู้ลี้ภัยจริง UNHCR
ก็จะทำการขึ้นทะเบียนพร้อมออกเอกสารสถานภาพให้ ทั้งในภาษาอังกฤษและภาษาบาฮาซา
และอินโดนีเซียก็จะให้การยอมรับเอกสารดังกล่าวนั้น โดยในการนี้ จะมีการประเมินต่ออายุในความเป็นผู้ลี้ภัยทุก
๑ ปี โดย UNHCR
อย่างไรก็ดี
เนื่องจากเอกสารของ UNHCR มิได้ทำให้ผู้ลี้ภัยมีสถานะเป็นผู้เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้น
ผู้ลี้ภัยในอินโดนีเซียจึงไม่ได้รับสิทธิบางประการที่ให้แก่บุคคลที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย
เช่น สิทธิในการประกอบอาชีพ สิทธิในการรับสวัสดิการทางสังคมบางประการ เป็นต้น
การอาศัยอยู่ในประเทศอินโดนีเซียของผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้จึงเป็นไปเพื่อรอการจัดการผู้ลี้ภัยของ
UNHCR เช่น การส่งผู้ลี้ภัยคืนถิ่น
การตั้งรกรากใหม่ในประเทศที่สามเท่านั้น
๖. ข้อเสนอแนะ
จากการศึกษาสามารถพบได้ว่า
หลักการจัดการเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยสามารถแบ่งแยกได้เป็น ๒ ส่วน ได้แก่ ส่วนที่หนึ่ง
การให้สิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานแก่ผู้ลี้ภัย และส่วนที่สอง
การห้ามส่งบุคคลที่มีลักษณะเป็นผู้ลี้ภัยกลับสู่อันตราย หรือที่เรียกว่า
หลักห้ามผลักดันกลับ (non-refoulement)
การรองรับสิทธิและเสรีภาพของผู้ลี้ภัยเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้หลายประเทศไม่ยอมรับหรือเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยหรืออนุสัญญาที่ใกล้เคียง
เนื่องจากเกรงว่าการยอมรับสิทธิและเสรีภาพจะทำให้เกิดภาระแก่รัฐที่จะต้องให้การสนับสนุนและเลี้ยงดูคนต่างด้าว
อีกทั้งสิทธิเสรีภาพบางประการที่กำหนดในตราสารระหว่างประเทศอาจมีระดับที่สูงกว่าสิทธิเสรีภาพที่กฎหมายภายในของประเทศนั้น
ๆ รองรับให้แก่คนชาติของตน เช่น สิทธิในการให้การศึกษา
หรือสิทธิในการให้การรักษาพยาบาล เป็นต้น นอกจากนี้
การให้สิทธิเสรีภาพแก่ผู้ลี้ภัยยังอาจนำมาซึ่งปัญหาที่ทำให้การควบคุมคนต่างด้าวเป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่งขึ้น
เช่น การให้สิทธิในการเดินทางอย่างเสรี ในส่วนของประเทศไทยนั้น
เป็นที่ชัดเจนว่าการยอมรับผู้ลี้ภัยยังเป็นไปในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาการอพยพเข้าเมืองของคนต่างด้าวเป็นจำนวนมาก
ทั้งที่เข้าเมืองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
และที่เข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมายแต่พำนักในประเทศไทยเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด
ซึ่งในความรู้สึกของบุคคลทั่วไปอาจเหมารวมให้ผู้หลบหนีเข้าเมืองประเภทต่าง ๆ
เข้าด้วยกันโดยไม่แยกแยะเหตุแห่งการเข้าเมือง
อีกทั้งการยอมรับให้สิทธิเสรีภาพยังอาจเป็นปัจจัยดึง (pull factor)
ให้คนต่างด้าวอยากเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นเกินกว่าจำนวนที่จะสามารถรับได้ ดังนั้น
ขณะนี้จึงเป็นไปได้ยากที่จะมีการรับรองสิทธิของผู้ลี้ภัยในประเทศไทยอย่างเป็นระบบและเป็นการทั่วไป
กรณีเช่นนี้จึงไม่อาจนำโมเดลทางกฎหมายของประเทศที่เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยมาปรับใช้กับบริบทของประเทศไทยได้
เนื่องจากประเทศเหล่านั้นมักให้การรองรับสิทธิของผู้ลี้ภัยไว้ในกฎหมายด้วย
อย่างไรก็ดี
ในด้านที่สองซึ่งเกี่ยวกับการห้ามผลักดันกลับนั้น หากยอมรับว่าเป็นกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ
ประเทศไทยก็พึงปฏิบัติในฐานที่เป็นสิ่งที่ผูกพันทางกฎหมายกับทุกประเทศ ในการนี้
อาจพิจารณาร่างกฎระเบียบโดยใช้ช่องทางของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดินฯ
ประกอบกับช่องทางตามมาตรา ๑๗ และมาตรา ๕๔ ของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒
ที่ให้อำนาจและดุลพินิจในการพิจารณาส่งบุคคลกลับออกนอกราชอาณาจักรในการปฏิบัติให้เป็นไปตามพันธกรณีเกี่ยวกับการไม่ผลักดันกลับได้โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเพื่อรองรับสิทธิดังกล่าวก็ได้
เนื่องจากเป็นเรื่องที่ทางบริหารสามารถกระทำได้อยู่แล้วโดยอาศัยดุลพินิจที่กฎหมายเปิดช่องไว้
นอกจากนี้ โมเดลทางกฎหมายของอินโดนีเซียอาจเป็นแนวทางในการพิจารณาได้เช่นกัน
หากเห็นว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะจัดตั้งกระบวนการคัดกรองเป็นของตนเอง กล่าวคือ
มีลักษณะเป็นการยินยอมให้ UNHCR เป็นผู้ดำเนินการคัดกรอง แล้วจึงให้การยอมรับเอกสารของ UNHCR
เป็นเอกสารเบื้องต้นในการไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปยังประเทศที่ผู้ลี้ภัยอาจได้รับการประหัตประหาร