วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เป้าหมายของการเรียนรู้ (Learning Goal) ปกรณ์ นิลประพันธ์


          เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า “ความเหลื่อมล้ำทางปัญญา” นั้นเป็นเหตุแห่งความเหลื่อมล้ำทั้งปวง การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รากเหง้าจึงต้องแก้กันที่ความเหลื่อมล้ำทางปัญญานี่แหละ ไม่ใช่ไปแก้ที่อื่น ไปแก้ที่อื่นก็เหมือนเกาไม่ถูกที่คัน มันจะหายคันได้อย่างไร

          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน จึงได้วางรากฐานในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางปัญญาไว้ชัดเจน ดังปรากฏตั้งแต่แรกในอารัมภบทและในบทบัญญัติอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา ๕๔ และในหมวดการปฏิรูปประเทศ

          สำหรับกฎหมายสำคัญที่สุดในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางปัญญา ได้แก่กฎหมายการศึกษาแห่งชาติซึ่งตอนนี้กำลังพิจารณากันอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะกำลังถกกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียดว่าจะปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... อย่างไรจึงจะดี

          เบื้องต้น คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายเห็นว่าถ้าเขียนแบบเดิม ๆ คือโผล่มาก็จะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการนโยบาย คณะกรรมการบริหาร หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ การประชุม เบี้ยประชุม ตั้งกรมตั้งสำนักงาน ตั้งกองทุน การออกใบอนุญาต โทษ ฯลฯ จนสุดท้ายปลายทางก็ไม่มีทางที่จะรู้ว่าเป้าหมาย (Goal) ของการศึกษาคืออะไร เพราะมีแต่ “กระพี้” เต็มไปหมดดังว่า จึงคิดกันว่ากฎหมายการศึกษาแห่งชาติที่จะเขียนกันในคราวนี้ควรจะใช้วิธีเขียนอย่างประเทศที่เขาพัฒนาแล้วบ้าง

          อย่างญี่ปุ่นนี่กฎหมายพื้นฐานด้านการศึกษาของเขานี่ใส่ปรัชญาในการเรียนรู้ของปัจเจกชนไว้ชัดเจนเลย ว่าวัตถุประสงค์คืออะไร เป้าหมายคืออะไร การจัดการศึกษาและการให้การเรียนรู้แก่ผู้คนต้องเป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ หาได้กำหนดรายละเอียดยิบย่อยไว้จนหลงลืมหลักการอย่างกับวิธีการเขียนกฎหมายโดยเน้น “ลอกแบบ” แต่ประการใดไม่

          เมื่อคิดเห็นเป็นเช่นนี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายจึงยึดหลักว่าเมื่อครบเกณฑ์อายุที่กำหนด ผู้เรียนจะได้อะไรจากการศึกษาในแต่ละช่วงชั้นบ้าง

          เริ่มจากเด็กตั้งแรกเกิดแต่ไม่เกินสามขวบ อันนี้เป็นหน้าที่ของบิดามารดาผู้ปกครองที่จะต้องให้ความรัก ความอบอุ่น เอาใจใส่ดูแลเด็กให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงสมวัย มีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดี รู้จักช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ใช่ให้เป็นหน้าที่ของมือถือหรือแท็บเล็ตอย่างที่เห็นกันดาษดื่น นั่นคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายเห็นว่าพ่อแม่กำลังรังแกลูกนะครับ ไม่ใช่รักลูก

          ต่อไปเป็นเด็กอายุไม่เกินหกขวบ วัยนี้เริ่มเข้าเรียนอนุบาลกันแล้วแต่ยังไม่เข้าประถมศึกษา  คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายยึดหลักว่าเมื่อถึงอายุหกขวบ ผู้เรียนต้องได้เรียนรู้ (Learning) ในด้านต่าง ๆ ดังนี้มาแล้ว ได้แก่ ด้านสุนทรียศาสตร์และการแสดงออกที่สร้างสรรค์ (Aesthetics and Creative Expression) คือ ให้สนุกกับศิลปะ ดนตรี และกิจกรรมการแสดงออกต่าง ๆ รู้จักแสดงออกซึ่งอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และจินตนาการผ่านศิลปะ ดนตรี และเคลื่อนไหวร่างกาย ด้านการค้นพบโลก (Discovery of the World) คือ ให้รู้จัดสภาพแวดล้อมที่เขาอาศัยอยู่ ค้นหาว่าทำไมปรากฏการณ์ต่าง ๆ ถึงเกิดขึ้นได้โดยผ่านกระบวนการคิดแบบง่าย ๆ และมีทัศนคติที่ดีที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ไม่ใช่เรียนแบบเอาเป็นเอาตายอย่างเด็กน้อยบ้านเรา ด้านภาษา (Language and literacy) เอาแค่สามารถสื่อความหมายได้ตรง ส่วนการเขียน ให้เขียน ก ไก่ ข ไข่ a b c ได้อย่างสนุกสนานก็พอ ยังไม่ต้องเก่งกาจขนาดผสมคำได้ เอาไวโตหน่อยก่อน ด้านการเคลื่อนไหว (Motor skills development) ให้สามารถร่วมกิจกรรมของเด็ก ๆ ได้อย่างสนุกสนาน มีความระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่บ้าน ที่โรงเรียน หรือที่สาธารณะอื่น ๆ แค่นั้นพอ ด้านการคำนวณ (Numeracy) เอาแค่รู้จักตัวเลข ๐-๑๐ การเพิ่มและการลดจำนวน รูปทรงพื้นฐานสี่เหลี่ยมสามเหลี่ยม บอกได้ถูกต้องว่าอยู่ข้างบน ข้างล่าง ข้างซ้าย ข้างขวาเป็นอันพอ ส่วนด้านสังคมและอารมณ์ (Social and emotional development) ให้รู้จักควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเอง รู้จักเคารพความแตกต่างหลากหลาย รู้จักสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และมีความรับผิดชอบในการกระทำของตนเองพอ

          ทีนี้เมื่อมีอายุสิบสองปี จบระดับประถมศึกษา (Primary education) ผู้เรียนต้องสามารถแยกแยะสิ่งที่ถูกต้องกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง (be able to distinguish right from wrong) รู้ว่าตนมีความถนัดในด้านใด (know their strengths and area of growth) สามารถอยู่และทำงานร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างเข้าใจ รู้จักแบ่งปันให้แก่ผู้อื่น (be able to cooperate, share and care for others) มีความสงสัยใคร่รู้ในเรื่องต่าง ๆ (have lively curiosity about things) สามารถคิดและแสดงออกอย่างมีเหตุผลได้อย่างมั่นใจ (be able to think for and express themselves confidently) มีความภูมิใจในสิ่งที่ทำ (take pride in their work) มีสุขภาพแข็งแรงและสนใจในศิลปะ (have healthy habits and awareness of the arts) และภูมิใจในชาติ (know and love Thailand)

          เมื่อมีอายุสิบห้าปี คือจบระดับมัธมศึกษา (Secondary education) ผู้เรียนต้องยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง (have moral integrality) มีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป (believe in their abilities and be able to adapt to change) สามารถทำงานเป็นทีมและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (be able to work in teams and show empathy for others) มีความคิดสร้างสรรค์และใฝ่เรียนรู้ (be creative and have inquiring mind) รู้จักยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายและสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ (be able to appreciate diverse views and communicate effectively) รับผิดชอบที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง (take responsibility for own learning) รู้จักพัฒนาสุขภาพกายร่างกายและซาบซึ้งในศิลปะ (enjoy physical activities and appreciate the arts) และเชื่อมั่นในความเป็นไทยและเข้าใจการธำรงความเป็นไทย (believe in Thailand and understand what matters to Thailand)

          เมื่อมีอายุสิบแปดปี หรือจบมัธยมศึกษาตอนปลายหรือ ปวช. (Post-Secondary education) ผู้เรียนต้องมีความกล้าหาญที่จะยืนหยัดกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง (have moral courage to stand up for what is right) มีความสามารถในการแก้ไขฟื้นฟูสถานการณ์ที่เลวร้าย (be resilient in the face of adversity) สามารถที่จะอยู่และทำงานร่วมกับผู้คนที่แตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม (be able to collaborate across cultures and be socially responsible) สามารถริเริ่มในสิ่งใหม่และสามารถเป็นผู้ประกอบการ (be innovative and enterprising) สามารถคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบและสามารถในการสื่อสารเพื่อโน้มน้าวให้ผู้อื่นคล้อยตาม (be able to think critically and communicate persuasively) มีความมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีที่สุด (be purposeful in pursuit of excellence) ดำรงชีวิตตามสุขภาวะที่ดีและดื่มด่ำในสุนทรียศาสตร์ (pursue a healthy lifestyle and have an appreciation for aesthetics) และภูมิใจในความเป็นคนไทยและเข้าใจบทบาทของประเทศไทยในสังคมโลก (be proud to be Thais and understanding Thailand in relation to the World)

          ผู้เขียนเห็นว่าแนวทางการพิจารณาร่างกฎหมายการศึกษาแห่งชาติของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นอะไรที่น่าสนใจมากจึงนำมาเล่าสู่กันฟังครับ เพราะเป็นการค่อย ๆ พัฒนาเด็กไปตามช่วงอายุ ช่วงวัย ไม่ใช่ตะบี้ตะบันยัดเยียดให้เรียนมันเข้าไปตั้งแต่ตัวเท่าเมี่ยง

          ถ้าท่านผู้อ่านท่านใดมีไอเดียดี ๆ สามารถส่งความเห็นเพิ่มเติมของท่านไปประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เลยนะครับ.

วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

“ประหยัดงบ” ปกรณ์ นิลประพันธ์

ประหยัดถ้าเป็นภาษากฎหมายจะฟังยากนิดหน่อยคือใช้จ่ายตามควรแก่ฐานานุรูป แต่ถ้าจะเอาแบบเข้าใจง่าย ก็น่าจะใช้ตามพจนานุกรม ซึ่งท่านว่าหมายถึงการใช้จ่ายแต่พอสมควรแก่ฐานะคือใช้ฐานะเป็นเกณฑ์ มีน้อยก็ใช้น้อย ถ้ามีมากก็อาจใช้มากได้ มีมากใช้น้อยไม่ว่ากัน ดีเสียอีกมีเหลือเก็บ แต่มีน้อยใช้มากนี่ไม่ประหยัดหรือสุรุ่ยสุร่าย

การรู้จักประหยัดนี้เป็นความรู้ด้านการเงิน (financial literacy) เรื่องหนึ่ง (ยังมีอีกหลายเรื่อง) ที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก   ยิ่งในสังคมบริโภคนิยมยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่ปลูกฝังให้ติดตัวมาตั้งแต่เป็นละอ่อน มาปลูกฝังในตอนโตแล้ว จะต้านทานแนวคิดบริโภคนิยมได้ยากมาก และถ้ามองในภาพรวม สังคมใดที่ผู้คนขาด financial literacy หรือมีแต่น้อย สังคมนั้นยากที่จะมีเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืน (sustainable finance) ได้

เหมือนกับที่เราจะก้าวสู่ยุคดิจิทัลนั่นแล ถ้าคนของเรายังขาด digital literacy เราก็จะไม่สามารถสถาปนา digital society ที่มั่นคงและยั่งยืนได้ ไม่ว่าเราจะมีสตางค์ซื้ออุปกรณ์ทันสมัยไฮเทครุ่นล่าสุดก็ตาม

Digital literacy นี่ไม่ใช้แค่ใช้คอมพิวเตอร์ได้ ใช้ smart phone เป็น เล่นไลน์ เล่นเฟสบุ๊ค คล่องนะครับ ถ้าเอาแบบง่าย ไม่ลึกซึ้งนัก มันหมายถึงความสามารถของบุคคลในการค้น ประมวล วิเคราะห์ สร้าง และสื่อสารข้อมูลที่เคลียร์คัตชัดเจนผ่าน digital platform ต่าง คือต้องมีการคิดวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่ใช่ใครส่งอะไรมาก็แชร์กันเรื่อยเปื่อยไป 

การสร้าง digital literacy นี่ฝรั่งให้ความสำคัญมากนะครับ อยู่ในบทเรียนระดับมัธยมเลย แฝงอยู่ในหลายวิชา ไม่ได้ตั้งเป็นวิชาเฉพาะ เช่น ในวิชาประวัติศาสตร์ เขาจะมีชุดข้อมูลสั้นบ้างยาวบ้างมาให้ 4-5 ชุด แล้วให้ผู้เรียนเขียนวิเคราะห์ว่าข้อมูลใดเชื่อถือได้มากน้อยเพียงไรเพราะเหตุใด ไม่ใช่แค่ให้ท่องว่าเสียกรุงเมื่อไร เป็นต้น อันนี้เป็นทักษะพื้นฐานสำคัญของชีวิตในยุคดิจิทัลเลยนะครับ

ว่าจะเขียนเรื่องประหยัดงบประมาณ มาถึงนี่ได้ยังไงไม่รู้ กลับไปเรื่องประหยัดดีกว่า

พูดถึงเรื่องประหยัดงบประมาณนี่ ถ้าเป็นในภาคราชการทั่วไปมักจะคิดกันว่าหมายถึงการที่หน่วยงานสามารถใช้จ่ายเงินได้น้อยกว่าวงเงินงบประมาณที่ได้รับเป็นหลัก ซึ่งการคิดเพียงเท่านั้นมันกลับได้ผลประหลาดมากถึงมากที่สุดในทัศนะของผู้เขียน ที่ประหลาดก็เนื่องจากว่ามันทำให้ทุกหน่วยงานพยายามใช้จ่ายให้น้อยกว่าวงเงินที่ได้รับทุกเรื่องไปเพื่อให้ได้คะแนนความประหยัด การจึงกลายเป็นว่าเงินงบประมาณที่ขอไปนั้นมีเหลือทุกปี สร้างปัญหาในการบริหารงบประมาณอีก แทนที่งบประมาณจะไปถึงชาวบ้านเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ที่น่าขำก็คือตอนของบประมาณนี่แต่ละโครงการขอเสียสูงเชียว ตอนได้งบประมาณมาก็จะน้อยกว่าที่ขอไปราว 10-15% ตอนทำจริงดันผ่ามีเงินเหลือเพราะประหยัดได้ เรียกว่าขอเผื่อถูกตัดว่างั้น ตลกร้ายจริงเชียว

ที่จริงแล้วคำว่าประหยัดของหลวงท่านในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่จ่ายให้น้อยกว่าเงินที่ได้รับนะครับ เขามุ่งหมายถึงความคุ้มค่ามากกว่า คือการใช้เงินนั้นต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชนตามวัตถุประสงค์ของโครงการหรือแผนงานที่กำหนด เว้ากันซื่อ นั้นการใช้จ่ายเงินต้องตอบให้ได้ว่าประชาชนได้อะไรและถ้าใช้เงินคุ้มค่าตามวัตถุประสงค์แถมประหยัดได้อีกนี่เรียกว่าชาญฉลาดมาก สมควรได้คะแนนความประหยัดเยอะ

นี่กำลังคิดว่าตัวชี้วัดเรื่องการประหยัดจะไม่ใช้เกณฑ์การใช้เงินน้อยกว่าวงเงินงบประมาณที่ขอไปและได้รับอย่างเดิม อีกแล้ว แต่จะใช้เกณฑ์ความคุ้มค่าแทน คือต้องตอบให้ได้ว่าที่ใช้เงินไปน่ะ ประชาชนได้อะไร มีผลงานที่จับต้องได้ มีผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้รับบริการมาประกอบชัดเจน

ดีไหมครับ?



วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

Doing Business 2019 ปกรณ์ นิลประพันธ์


                   เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ธนาคารโลกได้เปิดเผยรายงานฉบับหนึ่งที่เรียกว่า รายงานความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ประจำปี 2019

                   รายงานที่ว่านี้เป็นรายงานที่ธนาคารโลกจัดทำขึ้นโดยรวบรวมผลการสำรวจการประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตั้งแต่เริ่มไปจนเลิกกิจการในเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศต่าง ๆ จำนวน 190 ประเทศ ว่ายาก-ง่ายแค่ไหนในภาพรวม ซึ่งหลัก ๆ เป็นการสำรวจเกี่ยวกับกระบวนการขั้นตอน (procedure) ระยะเวลาดำเนินการ (time) ต้นทุน (cost) ว่ามีขั้นตอนเยอะไหม ใช้เวลาขออนุมัติอนุญาตมากไหม หลงจ้งแล้วคิดเป็นต้นทุนมากน้อยเพียงไร ซึ่งเรื่องเหล่านี้นอกจากจะเกี่ยวข้องกับกฎหมาย กฎ และระเบียบแล้ว ยังเกี่ยวกับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน

                   สำหรับประเด็นหลักที่เขาสำรวจก็มี 10 เรื่องด้วยกัน คือ ความยาก-ง่ายในการเริ่มต้นธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้าง การขอใช้ไฟฟ้า การจดทะเบียนทรัพย์สิน การได้รับสินเชื่อ การคุ้มครองผู้ลงทุนฝ่ายข้างน้อย การชำระภาษี การค้าระหว่างประเทศ การบังคับการให้เป็นไปตามข้อตกลงหรือสัญญา และการแก้จัดการปัญหาล้มละลาย อันเป็นเรื่องพื้นฐานของการประกอบธุรกิจ

                   สำหรับการสำรวจในแต่ละประเทศนั้น เขาใช้วิธีให้ภาคเอกชนตอบแบบสอบถาม แล้วนำมาพิจารณาประกอบกับรายงานผลการดำเนินการในการปฏิรูปในแต่ละประเด็น รวมทั้งลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องด้วย

                   ส่วนวิธีการให้คะแนนในแต่ละประเด็นที่สำรวจนั้น หลายปีก่อนเขาใช้วิธีกำหนดค่าเป้าหมายขึ้น แล้วประเมินผลว่าแต่ละประเทศมีระยะห่างจากเป้าหมายที่กำหนดมากแค่ไหน (Distance to Frontier (DTF)) เช่น การขออนุญาตก่อสร้างต้องได้รับใบอนุญาตภายใน 10 วัน ประเทศไหนทำได้ภายใน 10 วันก็ได้เต็ม ใครทำได้ช้ากว่านี้ก็ได้คะแนนน้อยลงไปเรื่อย ๆ แต่ปี 2019 เขาปรับการให้คะแนนใหม่ให้สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น โดยตามวิธีนี้เขาถือว่าประเทศที่ทำได้ดีที่สุดในแต่ละประเด็น (เช่น ใช้เวลาในการอนุญาต 0.5 วัน) จะได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน ประเทศที่ทำได้ไม่ดีที่สุดในประเด็นนั้น (เช่น ใช้เวลาในการอนุญาต 120 วัน) จะได้คะแนน 0  ส่วนประเทศอื่นจะได้คะแนนตามผลงานที่ทำได้เมื่อเทียบกับ Benchmark ดังกล่าว เขาเรียกวิธีนี้ว่า Ease of Doing Business Score (EODB) ซึ่งก็นับว่าเป็นธรรมดี

                 ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้ convert คะแนน DTF ของทุกประเทศที่ได้ในปี 2018 เป็นคะแนน EODB เพื่อเปรียบเทียบด้วย  ซึ่งเมื่อ convert แล้วปรากฏว่าในปี 2018 ที่ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่ม Top 30 ของโลก โดยอยู่ในลำดับที่ 26 จาก 190 ประเทศ ได้คะแนน EODB เท่ากับ 77.39

                   สำหรับปี 2019 ประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่ม Top 30 ของโลก ถึงจะอยู่ในลำดับที่ 27 จาก 190 ประเทศ แต่ได้คะแนน EODB รวม 78.45 ซึ่งสูงกว่าคะแนน EODB ที่ได้ในปี 2018 จากการพัฒนาการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจที่สำคัญใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ ด้านการขอใช้ไฟฟ้า ด้านการชำระภาษี และด้านการค้าระหว่างประเทศ  

                   ในทัศนะของผู้เขียน การที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 27 ขณะที่ปีที่แล้วอยู่ในลำดับที่ 26 นั้น ไม่ใช่ว่าเราสอบตก หรือแย่ลง เพราะหากดูคะแนนรวมของทุกประเทศที่หน้าที่ 5 ของรายงานฉบับออนไลน์ตามลิ้งนี้ http://www.doingbusiness.org/content/dam/doingBusiness/media/Annual-Reports/English/DB2019-report_web-version.pdf  จะเห็นได้ว่าประเทศชั้นนำอย่างฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ ล้วนได้อันดับต่ำกว่าประเทศไทยทั้งสิ้น ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าเขาสอบตกหรือเป็นเต่า เพียงแต่เขายังทำไม่ได้เท่าประเทศที่ได้คะแนนเต็มในแต่ละประเด็นเท่านั้น คะแนนรวมจึงต่ำ อันดับจึงไม่สูง ก็ต้องพัฒนากันไป เราก็พัฒนาไป คนอื่นเขาก็พัฒนาเหมือนกัน  ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าเมื่อเราได้คะแนนมากกว่าปีที่แล้ว แสดงว่าเรามีพัฒนาการที่ดีขึ้น หาใช่สอบตกไม่

                  จะว่าไป การที่ประเทศไทยมีคะแนนดีขึ้นเป็นผลจากการที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างจริงจังในการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก็ทำงาน “ปิดทองหลังพระ” ร่วมกันอย่างใกล้ชิดมาตลอด เสียอย่างเดียวคือพูดไม่เก่ง เป็นทีมฟุตบอลเล็ก ๆ ที่ไม่มีฮีโร่ แต่ทุกคนทำเพื่อทีม ทีมที่ว่านี้คือ “ประเทศไทย”

                   ถึงตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกำลังทำกันง่วนอยู่ คือเตรียมความพร้อมสำหรับปีถัดไป เป้าหมายคือ Toward Sustainable and Better Life ครับ ซึ่งตอนนี้เราเห็นร่วมกันแล้วว่าถ้าทุกหน่วยสามารถนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการทำงานและเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกันได้อย่างเต็มรูปแบบตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ก็จะสามารถอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจได้มาก ช่วยลดขั้นตอน (Procedure) ลดระยะเวลาในการให้บริการ (Time) และลดต้นทุนของผู้ประกอบการ (Cost) ได้ทุกด้านอันจะทำให้คะแนน EODB ของประเทศสูงขึ้นโดยตรงเนื่องจากจำนวนขั้นตอน ระยะเวลาในการให้บริการ และต้นทุนของผู้ประกอบการนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการคำนวณคะแนนแบบ EODB  นอกจากนี้ ยังเป็นเกราะป้องกันการทุจริตด้วยเพราะมันตรวจสอบได้

                   ขอตัวไปทำงานต่อนะครับ.

วันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ชวนคิด : การปรับโครงสร้างส่วนราชการ โดย ปกรณ์ นิลประพันธ์

ในความเห็นของผู้เขียน บริบทที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของระบบราชการไทยในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงมาก ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ปั่นป่วน (disruptive technology) สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (climate change) ไปในทางที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย โครงสร้างของสังคมที่เปลี่ยนเป็นสังคมผู้สูงวัย (ageing society) ประชากรในวัยทำงานเริ่มลดน้อยลงขณะที่ประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้น และเป็นจุดเริ่มของการลดลงของจำนวนประชากร รวมทั้งระบบระหว่างประเทศที่ผันแปรไปจาก bi-polar powers เป็น multi-powers ที่ยังหาจุดสมดุลไม่เจอ อันทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปจากการเผชิญหน้าทางการทหารโดยตรงมาอยู่ในรูปแบบการขัดแย้งทางเศรษฐกิจ การค้า และเทคโนโลยี

บริบทที่เปลี่ยนไปเหล่านี้เป็นไฟท์บังคับที่ผู้เขียนเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่บ้านเราต้องมาทบทวนกันอย่างจริงจังเสียทีว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้ระบบราชการไทยมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างและวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงได้ทันเหตุการณ์เหมือนประเทศอื่น เขาบ้าง

ผู้เขียนลองศึกษาดูแล้วพบว่า ปัจจุบันเรามีกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ที่กำหนดว่าประเทศเรามีกระทรวงอะไรบ้าง ทบวงอะไรบ้าง (ซึ่งตอนนี้ไม่มี) และในแต่ละกระทรวง (ทบวง) มีกรมอะไรบ้าง อันเป็นการแบ่งตามหน้าที่ (Function) หน้าที่ใครหน้าที่มัน หลักก็คือแบ่งหน้าที่กันทำ จะได้ไม่ซ้ำซ้อนกัน โครงสร้างของระบบราชการไทยจึงมีลักษณะเป็นแท่ง แต่ละแท่งเป็นเอกเทศจากกัน การทำงานจึงเป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่แต่ละแท่งกำหนด ยากที่จะบูรณาการการทำงานเข้ากับแท่งอื่นตามประเด็นการพัฒนาได้ แม้การบูรณาการภายในแท่งเองก็ยังยาก เช่น คนทำถนนก็ทำถนน ไม่ได้คิดถึงเรื่องทิศทางการพัฒนาพื้นที่ ไม่ได้คิดเรื่องสิ่งแวดล้อม น้ำยังไม่ตามไป ไฟก็ยังไม่เข้า สัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ถึง เป็นต้น

นอกจากนี้ การที่กฎหมายแต่ละฉบับกำหนดไว้ชัดเจนว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายก็ยิ่งเป็นการเสริมใยเหล็กให้กับโครงสร้างแบบแท่งของส่วนราชการเข้าไปอีก แม้กฎหมายเกือบทุกฉบับจะกำหนดให้มีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายนั้นอยู่ด้วยก็ตาม เพราะเมื่อกฎหมายกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายใดแล้ว ความรับผิดชอบในการปฏิบัติให้กฎหมายบรรลุผลก็จะตกแก่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามที่ระบุไว้ในกฎหมายผู้เดียว กระทรวงอื่น กรมอื่น ก็จะไม่เข้ามาก้าวก่ายการทำงานของรัฐมนตรีผู้รักษาการ

ผู้เขียนจึงเห็นว่าการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เป็นเรื่องสำคัญในยุคปฏิรูป โดยกฎหมายดังกล่าวควรกำหนดว่าภารกิจ” (mission) ของส่วนราชการมีภารกิจใดบ้างแทนที่จะกำหนดว่าเรามีกี่กระทรวง กระทรวงอะไรบ้าง ส่วนการกำหนดว่าภารกิจใดและกฎหมายใดบรรดาที่เกี่ยวข้องกับภารกิจนั้นจะอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐมนตรีท่านใด ให้เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีคำสั่งกำหนด (administrative arrangement order) ซึ่งก็จะช่วยทำให้การบูรณาการเนื้องานที่อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐมนตรีแต่ละท่านตาม Agenda มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องรอแก้กฎหมายเป็นรายฉบับซึ่งยากเย็นมาก เรียกว่ากว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้เสียแล้ว

นอกจากนี้ ผู้เขียนเห็นว่าการที่กระทรวงจะมีกรมอะไรบ้าง และในกรมจะมีกี่กอง ก็ควรให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อให้ฝ่ายบริหารสามารถบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างยืดหยุ่น ไม่แข็งตัวอย่างเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

และเมื่อเป็นเช่นนี้ กฎหมายแต่ละฉบับจึงไม่ต้องกำหนดตายตัวเหมือนเดิมว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดเป็นผู้รักษาการ เพียงระบุให้มีรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ (Port folio minister) เป็นผู้รักษาการเท่านั้น ซึ่งก็เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลกำหนดดังกล่าวข้างต้น

ผู้เขียนเห็นว่าการปรับโครงสร้างระบบราชการตามแนวทางที่ว่านี้น่าจะทำให้การจัดระบบราชการมีความยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และสามารถตอบสนองต่อบริบทต่าง ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่

จะว่าไป วิธีนี้ไม่ใช่วิธีใหม่แต่อย่างใด หลายประเทศเขานำมาใช้ตั้งแต่ยุค 1990s แล้ว


ชวนคิดครับ.

วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2561

"สุจริตคือเกราะบัง ศาสตร์พ้อง" ปกรณ์ นิลประพันธ์


บางส่วนจากหนังสือ
"ความในใจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐"


                                                                   ***************

                   จุดเริ่มต้นของ “ความประทับใจ” ของผมในการทำงานในฐานะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือที่ใครต่อใครเรียกเราสั้น ๆ ว่า “กรธ.” นั้นเกิดขึ้นจาก “ความระทึกใจ” เพราะก่อนหน้าที่จะมีการแต่งตั้ง กรธ. นั้นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพิ่งประสบชะตากรรมอันโหดร้ายไปหยก ๆ ซึ่งนับเป็นโศกนาฏกรรรมครั้งใหญ่สำหรับนักวิชาการและผู้มีความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อบ้านเมือง

                   หลังจากนั้นก็มีข่าวหนาหูขึ้นเรื่อย ๆ ว่าจะมีการตั้ง กรธ. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อเป็นหลักชัยของประเทศชาติโดยมีท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ผมเองก็ไม่ได้คิดว่าจะได้รับแต่งตั้งอะไรกับใครเขาเพราะพรรษาน้อยนัก ยิ่งคิดถึงชะตากรรมของชุดก่อนด้วยแล้วยิ่งหวาดหวั่น จนเมื่อวันหนึ่งท่านประธานมีชัยฯ มาประชุมที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและเรียกผมไปพบ ท่านบอกสั้น ๆ ที่ผมจำติดหูมาจนบัดนี้ว่า “ถ้าผมต้องไปช่วยเขาทำร่างรัฐธรรมนูญ ปกรณ์ไปช่วยผมนะ” ผมก็ “ครับ” อย่างเคยชินเพราะคิดว่าท่านคงให้ไปช่วยค้น ช่วยเขียน เหมือนที่ท่านใช้งานผมอยู่ที่กฤษฎีกา คงไม่มีอะไร

                   อีกไม่กี่วันต่อมาท่านเรียกผมไปอีกแล้วถามว่าผมกับบอย (คุณธนาวัฒน์ สังข์ทอง) ใครอาวุโสกว่ากัน ผมก็เรียนท่านว่าผมครับ ท่านบอกว่า “งั้นปกรณ์เป็นเลขานุการคนที่ ๑ และบอยเป็นเลขานุการคนที่ ๒ นะ” ผมก็ “ครับ” ง่าย ๆ อีก ยังใจเย็น เพราะคิดว่าเลขานุการไม่ต้องเป็นกรรมการก็ได้ เป็นเลขานุการเฉย ๆ ช่วยค้นคว้า ช่วยทำงานวิชาการ ช่วยยกร่างปรับร่างเสนอกรรมการแบบที่ทำอยู่ที่กฤษฎีกา

                   จนเมื่อมีประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญออกมานั่นแหละจึงรู้ว่ามันไม่ตรงกับที่คิด และยังงงว่าจะทำยังไงดีกับชีวิต เพราะเคยแต่ร่างพระราชบัญญัติซึ่งเป็นการกำหนดหลักการในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพเป็นเรื่อง ๆ ไป แต่รัฐธรรมนูญนี่เป็นการวางหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน กำหนดโครงสร้างอำนาจรัฐ จัดสมดุลการใช้อำนาจอธิปไตย และการตรวจสอบการใช้อำนาจต่าง ๆ ให้พอเหมาะพอสม มันคนละเรื่องกันเลยกับงานที่เคยทำ ๆ มา เคราะห์ดีอยู่หน่อยที่ว่าเคยไปช่วยงานวิชาการท่านอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และพี่แป๋วหรือคุณกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มาระยะหนึ่ง จึงพอทราบเลา ๆ ว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง

                   ระหว่างที่มึน ๆ อยู่นั้น ชีวิตก็เริ่มมีเรื่องแปลกใหม่เข้ามาอีกเพราะสื่อมวลชนซึ่งไม่รู้ไปหาเบอร์โทรศัพท์ผมมาจากไหนเริ่มระดมโทรศัพท์เข้ามาถามไถ่เรื่องนั้นเรื่องนี้ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มประชุมด้วยซ้ำไป ดึกดื่นเที่ยงคืนเขาก็พยายามหาข่าวกัน นับเป็นสีสันใหม่ของชีวิต

                   เมื่อเราประชุมนัดแรกที่ห้องงบประมาณ ผมจำได้ว่าเป็นการประชุมเพื่อเลือกผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะกรรมการ คนที่ผมรู้จักเป็นการส่วนตัวมาก่อนมีเพียงท่านประธานมีชัยฯ ท่านอัชพรฯ ท่านอาจารย์เธียรชัยฯ และบอยเท่านั้น นอกนั้นท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองซึ่งผมรู้จักท่านเป็นอย่างดีผ่านสื่อและผลงานวิชาการแขนงต่าง ๆ แต่ท่านไม่รู้จักผม  จะว่าไปผมเพิ่งเคยพบตัวเป็น ๆ ของหลายท่านในวันนั้นเอง  อย่างไรก็ดี ในโมเมนต์นั้นผมสัมผัสได้ว่าทุกท่านล้วนมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างผลงานที่ดีที่สุดทิ้งไว้ให้ลูกหลาน และนั่นเป็น First impression ที่ผมมีต่อ กรธ. และยังคงติดตาตรึงใจมาผมจนทุกวันนี้ เพราะตลอดระยะเวลาสองปีเศษที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน ทุกท่านยังคงแสดงออกซึ่งความมุ่งมั่นนี้เสมอมา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาที่เราแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาตามหลักวิชาการในสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับ

                   เรื่องสำคัญที่ผมต้องบันทึกไว้ก็คือ กรธ. ไม่เคยต้องลงมติกันเลย ไม่ว่าจะในเรื่องใด เรียกว่าเป็นการประชุมที่ว่ากันด้วยกันด้วยเหตุด้วยผลอย่างแท้จริง ไม่มีการชี้นำ ไม่มีการเอาชนะคะคาน ไม่มีโพย ไม่มีใบสั่ง ไม่มีคำว่าคุณขอมา ซึ่งนอกจากที่การประชุมที่กฤษฎีกาแล้ว ผมพบบรรยากาศการประชุมแบบนี้ไม่มากนักในบ้านเรา

                   ในช่วงแรก ๆ กรธ. คุยกันก่อนว่าเราจะยกร่างรัฐธรรมนูญแบบปะผุหรือจะรื้อใหญ่ดี เพราะเวลาทำงานมีเพียง ๑๘๐ วันเท่านั้นเอง หักวันหยุดไปก็เหลือในราว ๑๖๐ วัน สุดท้ายได้ข้อสรุปว่าเราช่วยกันจะรื้อใหญ่ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับเสียงของพี่น้องประชาชนที่ต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศ เพราะเราอยู่นิ่ง ๆ มานานจนเพื่อนบ้านแซงไปไกลแล้ว ถ้ายังทำแบบปะผุกันอยู่อีก เห็นทีบ้านเมืองไม่ต้องไปไหนกัน คงวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏเดิม ลูกไทยหลานไทยจะอยู่กันอย่างไรในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบ exponential

                   เมื่อตกลงกันได้เช่นนี้ เราจึงเห็นพ้องกันว่าต้องให้พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ และนี่ทำให้ผมประทับใจมากที่เห็น กรธ. ทำงานเป็นทีมอย่างสมบูรณ์แบบทั้ง ๆ ที่เราไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อนเลยโดยมีฝ่ายเลขานุการที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดมานำโดย ผบ. นาถะฯ เป็นผู้ช่วยที่เข้มแข็ง  ใครทำอะไรได้ก็ช่วยกัน ไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อยทั้งที่สื่อมวลชนค่อนขอด กรธ. ไว้แต่เริ่มต้นแล้วว่าเราเป็น “กรธ. พันปี” เพราะพวกเรามีอายุรวมกว่าพันปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงแรก ๆ ที่เราเปิดรับฟังความคิดเห็นในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศนั้น เดินทางกันแทบทุกวัน วันละหลายที่ จนต้องแบ่งสายกันไป กรธ. ผู้ใหญ่หลายท่านเดินทางจนป่วยเป็นไข้บ้าง ปวดแข้งปวดขาบ้าง บ้านหมุนบ้าง ฯลฯ แต่ก็ยังกัดฟันไปปฏิบัติภารกิจจนลุล่วงไปได้

                   นอกจากนี้ กรธ. ยังเปิดช่องทางการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางทั้งช่องทางดั้งเดิมอย่างจดหมาย และช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยต่าง ๆ ซึ่งการเปิดช่องทางการสื่อสารนี้เองทำให้พี่น้องประชาชนตื่นตัวและร่วมแสดงความคิดเห็นเข้ามาเป็นจำนวนมาก

                   ดังนั้น กรณีมีผู้วิจารณ์ว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ. จัดทำขึ้นนี้ขาดความเชื่อมโยงกับประชาชนนั้น ผมขอยันในทุกท่าไม่ว่าจะนั่ง นอน หรือยืนว่าไม่จริงดังเหตุผลที่ได้เล่ามาแล้ว โดย กรธ. ตระหนักดีว่าการรับฟังความคิดเห็นมิได้เป็นเพียงพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่สักแต่ว่าต้องทำให้ครบ แต่เป็นอะไรที่จะทำให้เราได้รับทราบความต้องการที่แท้จริงของพี่น้องประชาชนอันเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และเราได้นำความคิดเห็นทั้งหลายมาวิเคราะห์และประมวลเป็นกลุ่มไว้ ในเวลาที่มีการพิจารณาประเด็นใดที่มีผู้แสดงความคิดเห็นเข้ามา จะมีเจ้าหน้าที่คอยขานความคิดเห็นเหล่านั้นต่อที่ประชุมเพื่อประกอบการพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ. จัดทำขึ้นนี้จึงเต็มไปด้วยเสียงสะท้อนของพี่น้องประชาชน และมีกลิ่นโคลนสาบควาย กลิ่นท้องไร่ท้องนา กลิ่นตลาดสด กลิ่นหยาดเหงื่อของพี่น้องประชาชน ติดอยู่ในรัฐธรรมนูญมากกว่าฉบับอื่น ๆ และ กรธ. ได้นำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องที่เราทำอยู่นี้ไปบรรจุไว้ในมาตรา ๗๗ ของร่างรัฐธรรมนูญด้วย

                   หลายท่านวิจารณ์ในทางตรงข้ามกับเมื่อกี้เลยว่า กรธ. ร่างรัฐธรรมนูญ “แบบบ้าน ๆ” ไม่มี “ความเป็นสากล” จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่ากลไกตามรัฐธรรมนูญแบบบ้าน ๆ นี้จะประสบความสำเร็จ กรธ. ก็คิดเรื่องนี้กันครับ แล้วพบว่าฝรั่งเศสกับเยอรมันมีพรมแดนติดกัน ทำไมฝรั่งเศสไม่ลอกรัฐธรรมนูญเยอรมันมาใช้ล่ะ กลับกัน ทำไมเยอรมันไม่ลอกรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสมาใช้ หรือทำไมเยอรมันต้องคิดวิธีการเลือกตั้งแบบพิสดารขึ้นมา ทำไมไม่ใช้วิธีการเลือกตั้งแบบอังกฤษล่ะ แล้วระบบเลือกตั้งของอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อเมริกา ทำไมไม่เหมือนกันล่ะ เราจึงได้ข้อสรุปตามหลักวิชากฎหมายเปรียบเทียบ (Comparative Law) ว่าแต่ละประเทศต่างมีบริบท (Context) เป็นของตัวเอง รัฐธรรมนูญของประเทศใดก็ต้องสอดคล้องกับบริบทของประเทศนั้น ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว การลอกฝรั่งจึงไม่ใช่หลักประกันว่าเราจะเป็นอย่างฝรั่ง  นอกจากนี้ เรามีบทเรียนมากมายที่ลอกรัฐธรรมนูญบางมาตราของฝรั่งมาทั้งดุ้น แต่กลับกลายเป็นบทบัญญัติที่สร้างวิกฤติขึ้นในประเทศเรา  ดังนั้น รัฐธรรมนูญไทยที่สอดคล้องกับบริบทแบบไทย ๆ จึงถูกต้องตามหลักวิชากฎหมายเปรียบเทียบแล้ว

                   อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่ารัฐธรรมนูญนี้จะไม่มีกลิ่นนมกลิ่นเนยเหลืออยู่เลย กรธ. ตระหนักดีครับว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างยุค Constitutionalism กับยุค Post-Constitutionalism เราจึงไม่สามารถ “เขียนอะไรก็ได้” ลงไปในรัฐธรรมนูญเหมือนในยุค Constitutionalism เมื่อสามสี่สิบปีก่อนอีกแล้ว ในยุคที่โลกไร้พรมอย่าง Post-Constitutionalism ในปัจจุบัน เราย่อมถูกผูกพันด้วยกฎหมายระหว่างประเทศและพันธกรณีต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี การร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องคำนึงถึงเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย ถ้าเปิดอ่านหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยและหมวดหน้าที่ของปวงชนชาวไทยแบบละเอียด ท่านจะได้กลิ่นนมเนยฟุ้งไปหมดเพราะต้องสอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และพันธกรณีเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนหลายฉบับที่ประเทศไทยเป็นภาคี  หมวดหน้าที่ของรัฐกับหมวดแนวนโยบายของรัฐก็เหมือนกัน สองหมวดนี้สะท้อนแนวคิด Sustainable Development and Inclusive Growth ซึ่งสอดรับกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร อย่างชัดเจน ส่วนหมวดรัฐสภา หมวดคณะรัฐมนตรี หมวดศาล หมวดองค์กรอิสระ หมวดปฏิรูป และอีกหลายหมวดนี่ บริบทของเราแท้ ๆ ครับ

                   ในระหว่างที่ทำร่างรัฐธรรมนูญ กรธ. มีสถานะไม่แตกต่างไปจากตำบลกระสุนตก มีผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คและสื่อต่าง ๆ บิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญไปเผยแพร่ให้พี่น้องประชาชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดในหลายเรื่องหลายประเด็น ไม่รู้เหมือนกันว่าทำอย่างนั้นทำไม บางคนถึงกับใช้วิธีนับจำนวนคำในร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. เทียบกับรัฐธรรมนูญเก่า แล้วออกสื่อว่าจำนวนในร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. น้อยกว่าของเก่า หลายอย่างต้องหายไปแน่ ๆ  เอาละ เมื่อเลอะเทอะได้ใจกันขนาดนี้ กรธ. จึงต้องมาช่วยกันหาทางเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องแก่พี่น้องประชาชนไปพร้อม ๆ กันด้วยทั้ง ๆ ที่ยังทำร่างไม่เสร็จเลย แล้วเรื่องโซเชียลเน็ตเวิร์คกับผู้สูงวัยนี่เป็นอะไรที่ท้าทายมากนะครับ แต่โชคดีที่ กรธ. ได้รับความอนุเคราะห์อย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงสามารถทำ infographic เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องแก่พี่น้องประชาชนไปพร้อม ๆ กันได้ด้วย

                   ในระหว่างอยู่ในตำบลกระสุนตก ท่านประธานมีชัยฯ คอยย้ำเตือนพวกเราอยู่เสมอว่าเราทำงานโดยสุจริต ไม่ต้องกลัว เพราะ “สุจริตคือเกราะบัง ศาสตร์พ้อง” ท่านว่าอย่างนั้น และส่วนตัวผมสัมผัสได้ว่า กรธ. ทุกคนทำงานด้วยใจ ไม่มีนอกมีในอะไรกับใครเขา คำของท่านประธานจึงกระตุ้นให้ กรธ. เกิดแรงใจที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องที่สุดต่อไปเพื่อบ้านเมือง โดยไม่นึกกริ่งเกรงอะไร

                   เมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ กระสุนไปตกที่อื่นบ้าง กรธ. จึงมีเวลาหายใจหายคอเดินสายไปชี้แจงทำความเข้าใจหลักการสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้พี่น้องประชาชนฟังทั่วประเทศอีกรอบหนึ่ง ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์อย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเหมือนเช่นเดิม ทำให้ภารกิจลุล่วงไปได้ด้วยดี

                   เมื่อถึงวันลงประชามติ ท่านประธานมีชัยฯ นัด กรธ. ไปฟังผลการลงคะแนนที่ห้องงบประมาณอันเป็นห้องประชุมของพวกเรา ผลการลงประชามติปรากฏว่ามีผู้เห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ๑๖,๘๒๐,๔๐๒ คะแนน คิดเป็นร้อยละ ๖๑.๓๕ มีผู้ไม่เห็นชอบ ๑๐,๕๙๘,๐๓๗ คะแนน คิดเป็นร้อยละ ๓๘.๖๕ ซึ่งถือว่าร่างรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ และเมื่อได้ปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว กรธ. ได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้แก่นายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย

                   ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงลงพระปรมาภิไธยและพระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

                   ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ กรธ. ซึ่งตอนนี้เหลือเพียง ๒๐ คน เนื่องจากพลเอก นิวัติ ศรีเพ็ญ ถึงแก่กรรมไป ยังมีภารกิจต้องยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน ๑๐ ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายใน ๒๔๐ วัน เท่ากับ กรธ. มีเวลาเฉลี่ยในการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับละ ๒๔ วันเท่านั้น ทั้งเมื่อได้ยกร่างเสร็จและเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว ยังต้องส่งพวกเราจำนวนหนึ่งไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญด้วย การทำงานของ กรธ. ในช่วงนี้จึงสาหัสมิใช่น้อย

                   ในการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ กรธ. ได้กลายเป็นตำบลกระสุนตกอีกครั้งหนึ่ง เนื่องมาจากการที่เรายึดมั่นในหลักการซึ่งอาจไม่ถูกใจใครหลายคน แต่เราก็ไม่ได้นำมาเป็นอารมณ์ จึงไม่เสียเวลาขว้างก้อนหินใส่ และพยายามทำกันอย่างเต็มที่จนสามารถดำเนินการเสร็จทันตามกำหนดเวลา ต้องบันทึกว่าในช่วงแปดเดือนนี้ กรธ. หลายท่านป่วยด้วยความตรากตรำและความเครียดกันคนละหลายรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านประธานมีชัยฯ ผมเองถึงจะมีอายุน้อยกว่า กรธ. หลายท่าน ก็สะบักสบอมเหมือนกัน

                   สำหรับผม กรธ. เป็นครอบครัวใหญ่ที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงมาก ทันสมัย เปิดกว้าง ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างมีเหตุผล และมั่นคงในหลักการที่ถูกต้อง ผมได้รับความรู้และประสบการณ์อันล้ำค่ามากมายรวมทั้งความเมตตาปราณีจากท่านผู้ใหญ่ทุกท่าน และเป็นเกียรติสูงยิ่งที่ผมได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนี้

                   รักนะ จุ๊บ ๆ

***************

วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

“Personalisation” ปกรณ์ นิลประพันธ์

ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มตระหนักว่า disruptive technology, robotic, IoT และ AI จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในอนาคต แต่ไม่มีใครแน่ใจว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออะไร และจะส่งผลกระทบรุนแรงมากน้อยแค่ไหน 

โดยที่ผู้เขียนถูกฝึกให้เป็นนักกฎหมายเปรียบเทียบ (ถึงตอนนี้จะไม่ได้ทำหน้าที่นี้แล้วก็ตาม) จึงทำให้ติดนิสัยแปลก ของนักกฎหมายเปรียบเทียบมาอย่างหนึ่ง คือ ชอบทำตัวเป็นนักสังเกตการณ์สังคม หรือ social reality observer คอยสังเกตสังกาว่ามันมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เพราะนักกฎหมายเปรียบเทียบทั้งโลกตระหนักดีว่าใด ในโลกล้วนอนิจจัง การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นนิรันดร์ และการเปลี่ยนแปลงนี้เองที่ทำให้ระบบต่าง ของสังคมเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ซึ่งรวมถึงระบบกฎหมายด้วย แล้วเราจะพัฒนาระบบต่าง ให้รองรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างไร

จากการสังเกตผู้เขียนพบว่า disruptive technology, robotic, IoT และ AI ทำให้ลักษณะประการหนึ่งมีความเด่นชัดมากขึ้นเรื่อย ในสังคม นั่นคือ ลักษณะที่เรียกว่า personalisation หรือความเป็นตัวเองของปัจเจกชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความคิด ความเชื่อ และการแสดงออก หากพิเคราะห์ให้ลึกลงไป ผู้เขียนเห็นว่าการตอบสนองความเป็นตัวของตัวเองของปัจเจกบุคคลที่มีมากขึ้นเรื่อย นี้เป็นไปเพื่อให้ตนเองมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ (Better life) ซึ่งผู้เขียนเห็นต่อไปด้วยว่าลักษณะฉะนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ รวมทั้งระบบการเมืองด้วย

ในภาคเอกชน สินค้าและบริการในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเป็นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคลนี้มากขึ้นเรื่อย brand royalty ยังคงมีอยู่ แต่สินค้าและบริการของ brand ต้องมีสิ่งที่เป็น option ให้เลือกเพิ่มเติมมากขึ้นเพื่อให้ตรงกับรสนิยมหรือความต้องการเฉพาะของลูกค้าแต่ละรายที่นับวันจะแตกต่างหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่ mass product ที่เหมือนกันทุกชิ้นอีกต่อไป ใครที่ไม่สามารถปรับตัวได้ จะไม่ได้รับความนิยม และยากที่จะยืนอยู่ในตลาดได้

ตรงกันข้าม สินค้าและบริการที่เกิดจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) มีลักษณะเฉพาะตัว มีความเป็น unique และไม่ใช่ mass production จะเป็นที่ต้องการเพราะตอบสนองความเป็น personalisation ได้อย่างตรงจุด ผู้ผลิตและผู้ให้บริการของสินค้าหรือบริการทุกอย่างที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากในอนาคต

ในภาครัฐ รสนิยม personalisation ส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินด้วย ที่สำคัญคือการจัดทำบริการสาธารณะหรือการให้บริการต่าง ของภาครัฐต้องตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันแม้จะเป็นบริการเดียวกันก็ตาม ซึ่งเรื่องนี้ไม่จัดว่าเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะมีหลากหลายวิธีการในการให้บริการให้ประชาชนเป็นผู้เลือกใช้ 

วิธีการให้บริการแบบ one size fits all แบบเดิม และการให้ประชาชนเดินทางเข้ามารับบริการ ไม่สอดคล้องกับ personalisation ของผู้รับบริการที่แตกต่างหลากหลายอีกต่อไปแล้ว และจะทำให้ผู้รับบริการเกิดทัศนคติในเชิงลบต่อบริการของภาครัฐ ทั้งไม่มั่นใจในศักยภาพและประสิทธิภาพในการให้บริการสาธารณะนั้น อันจะทำให้ความเชื่อมั่น (trust) ที่มีต่อหน่วยงานนั้นและต่อรัฐในภาพรวมคลอนแคลนมากขึ้น

ดังนั้น บุคลากรในระบบราชการไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใดจึงต้องตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ และต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานและวิธีให้บริการตามภารกิจของหน่วยงานให้สอดคล้องกับความเป็น personalisation เพื่อ Better life ของประชาชนด้วย มิฉะนั้นจะไม่สามารถให้บริการที่ตอบสนองต่อความต้องการ (responsive service) ได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าผู้รับบริการจากหน่วยงานนั้นจะเป็นประชาชนหรือแม้แต่หน่วยงานของรัฐด้วยกันก็ตาม

ปัญหาสำคัญในการปรับเปลี่ยนนี้ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี เพราะถ้าเอกชนสามารถให้บริการในทำนองเดียวกันหรือสลับซับซ้อนกว่าการยื่นขอใบอนุญาตได้โดยตอบสนองต่อ personalisation ของปัจเจกบุคคลได้ ก็ไม่มีเหตุผลอันใดเลยที่ภาครัฐจะทำไม่ได้ หากสิ่งที่เป็นอุปสรรคอยู่ที่ทัศนคติของบุคคลากรในภาครัฐที่ยังมีอยู่อีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องพัฒนาโครงสร้าง วิธีการทำงาน และวิธีให้บริการให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และยังคงยึดมั่นในความถูกต้องของกระบวนงาน (process) มากกว่าประสิทธิภาพ ประสิทธิผล การบรรลุเป้าหมาย และผลลัพธ์ 

เน้นพิธีรีตองว่างั้นเถอะ แก่นสารสาระไม่ค่อยมีหรอก

แท้จริงแล้ว หากหน่วยงานของรัฐนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้น มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นที่เกี่ยวข้องไว้ล่วงหน้า ก็จะสามารถให้บริการต่าง ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อ personalisation ของผู้รับบริการได้มากขึ้น ทั้งจะทำให้ผู้ให้บริการภาครัฐมีชีวิตที่ดีขึ้น (Better life) ไปพร้อมกันด้วย กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เขาก็รองรับเรื่องพรรค์นี้ไว้ตั้งนานแล้ว ยังต้องมานั่งทนลำบากตรากตรำวุ่นวายอยู่กับการจัดเก็บและการเซ็นชื่อในเอกสารที่แม้แต่ตัวเองก็ไม่อยากจะหยิบขึ้นมาชื่นชมอีก หรือถ้าจะมีหยิบมาดูบ้าง ก็คงจะเป็นตอนที่ต้องไปชี้แจงหน่วยตรวจสอบหรือศาลนั่นแหละว่าเซ็นต์อะไรไปบ้าง

สำหรับการเมือง personalisation ได้ส่งผลกระทบให้เป็นตัวอย่างมาหลายที่แล้ว แต่ไม่ขอกล่าวถึงดีกว่า เพราะอาจมีผู้เข้าใจผิดคิดยัดเยียดให้ผู้เขียนเป็นฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ให้รำคาญ ซึ่งเป็นอะไรที่น่าเบื่อมากถึงมากที่สุด

มาจบแบบ personalisation ของตัวเองได้ยังไงก็ไม่รู้.