วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2560

เกร็ดการร่างกฎหมาย 13: ให้นำความในมาตรา .. มาใช้บังคับ โดย ปกรณ์ นิลประพันธ์

                   การใช้ถ้อยคำในกฎหมายนั้นมิได้แตกต่างจากการใช้ถ้อยคำในที่อื่น ๆ มันไม่ใช่ “แบบ” (Form) แต่เป็น “ลีลา” (Style) การเขียนที่มี “วิวัฒนาการ” มาต่อเนื่อง

                   การตอบคำถามที่ว่าทำไมกฎหมายนั้นจึงใช้ความเช่นนั้น แตกต่างจากกฎหมายอื่นที่ใช้ความเช่นนี้ จึงไม่ใช่การตอบว่าง่าย ๆ ว่ามันเป็น “แบบ” โดยไปค้นหาจำนวนกฎหมายที่ใช้ความอย่างเดียวกันมาสนับสนุนว่ามีการใช้ความนั้นมากกว่าการใช้ความอย่างนี้ แล้วต้องยึดความที่มีจำนวนมากกว่าเป็น “แบบ”

                   เมื่อไม่นานนี้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติฉบับหนึ่ง มีการใช้ข้อความที่มีความหมายเช่นเดียวกันถึง 3 ถ้อยคำ คือ “ให้นำมาตรา .. มาใช้บังคับ” ประการหนึ่ง “ให้นำบทบัญญัติมาตรา .. มาใช้บังคับ” ประการหนึ่ง และ “ให้นำความในมาตรา .. มาใช้บังคับ” อีกประการหนึ่ง ก็มีการถามกันขึ้นมาว่ามันมีความหมายเหมือนหรือต่างกันอย่างไร เพราะอ่านแล้วมันก็ได้ความว่าให้นำความในมาตราที่อ้างถึงนั่นแหละมาใช้บังคับ แต่ทำไม่ถึงเขียนลักลั่นกัน

                   หลายท่านบอกว่าได้รับคำชี้แจงว่าสั้น ๆ ว่ามันเป็นแบบ แต่พอเวลาถามลึก ๆ ลงไปว่ามันต่างกันอย่างไร คนตอบก็งง บางทีไปไกลขนาดว่าถ้าอ้างถึงกฎหมายเดียวกันใช้อย่างหนึ่ง อ้างถึงกฎหมายต่างฉบับให้ใช้อีกอย่างหนึ่ง คนพยายามอธิบายก็เหนื่อย คนฟังคำอธิบายเขาก็เหนื่อย

                   เรียนอย่างนี้ครับว่า เมื่อแรกที่สยามประเทศเริ่ม Modernization กฎหมายเพื่อยกเลิกสนธิสัญญาสิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับฝรั่งมังค่าทั้งหลายนั้น เรามีการตั้งกรรมการชำระประมวลกฎหมายเพื่อให้กฎหมายสยามเป็นสากลตามแบบอย่างฝรั่งครับ กรรมการชำระประมวลกฎหมายนี้มีผู้เชี่ยวชาญฝรั่งมากกว่าไทย เวลาเขายกร่างประมวลกฎหมายกัน ณ เวลานั้นเขาจึงยกร่างเป็นภาษาอังกฤษครับ เป็นที่ยุติอย่างไรแล้วจึงแปลเป็นภาษาไทย

                   อย่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์นี่ต้นร่างเป็นภาษาอังกฤษนะครับ ผู้สนใจสามารถขอดูได้ที่ห้องสมุดศาสตราจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ของเก่านี่เขาละเอียดครับ มีการทำ glossary ไว้ด้วยว่ามาตราไหนมาจากกฎหมายต่างประเทศมาตราใด  

                    อย่างการใช้ถ้อยคำที่เป็นปัญหาที่ยกมาข้างต้นนั้นต้นร่างภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า “The provisions of section .. shall be applied..เมื่อแปลเป็นภาษาไทย คณะท่านผู้แปลจึงใช้คำว่า “ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา .. มาใช้บังคับ” แปลตรงเป๊ะเลย ลองดูในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เลยครับ

                   ต่อมา เมื่อเวลาร่างกฎหมายในยุคหลัง ๆ เราไม่ได้ร่างกฎหมายเป็นภาษาอังกฤษแล้วจึงแปลเป็นไทยแล้ว การใช้ถ้อยคำในกฎหมายจึงไม่เคร่งครัดเพราะไม่ต้องแปลอย่างเมื่อแรกทำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คำที่ว่าจึงมีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ จาก “ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา .. มาใช้บังคับ” มาเป็น “ให้นำบทบัญญัติมาตรา .. มาใช้บังคับ” คำว่า “แห่ง” เริ่มหายไปก่อน  ต่อมาก็กลายเป็น “ให้นำมาตรา .. มาใช้บังคับ” เพราะผู้ร่างกฎหมายในยุคต่อ ๆ มาเห็นว่ามันเป็นการนำมาตรา .. มาใช้บังคับทั้งมาตรา จึงไม่จำเป็นต้องเขียนคำว่าบทบัญญัติอีก คำกร่อนไปเรื่อย ๆ

                   ต่อมาผู้ร่างมีความเห็นว่า การนำมาตรา .. มาใช้บังคับนั้น เป็นการนำ “ความ” ในมาตรานั้นมาใช้บังคับ ไม่ใช่นำ “มาตรา” นั้นมาใช้บังคับ จึงใช้ความว่า “ให้นำความในมาตรา .. มาใช้บังคับ” ซึ่งสอดคล้องกับหลักการเดิมเมื่อแรกที่มีการยกร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพียงแต่ลดรูปจากการเขียนความเต็มที่ใช้คำว่า “ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา .. มาใช้บังคับ” เป็น “ความในมาตรา ..” เท่านั้นเอง และเวลาแปลเป็นภาษาอังกฤษก็ยังคงใช้ “The provisions of section ..” คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2560 เห็นด้วยกับแนวทางนี้จึงใช้ความว่า “ให้นำความในมาตรา .. มาใช้บังคับ” ในรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

                   อนาคตจะกร่อนคำหรือลดรูปไปอย่างไรอีก คงต้องติดตามดูกันต่อไป

                   ภาษามีวิวัฒนาการตามสภาพสังคมครับ                  

วันเสาร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2560

ข้อคิดจากตัวเลขรายได้ครัวเรือน โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

ในความเห็นของผู้เขียน การที่ครัวเรือนมีรายได้ลดลงไม่ได้เป็นตัวชี้วัดว่าโครงการหรือกิจกรรมของรัฐไม่ได้ผล เพราะตัวเลขไม่ได้บ่งบอกว่าทุกครัวเรือนมีรายได้ลดลง ในทางตรงข้าม ถ้าพิจารณารายละเอียดจะพบว่ามีครัวเรือนที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจำนวนไม่น้อย ดังนี้ การอ้างอิงตัวเลขนี้จึงมีปัจจัยอื่นที่ต้องคำนึงถึงและต้องแถลงให้เห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของสาธารณชนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ความสามารถในการหารายได้ของครัวเรือน"

หากครัวเรือนใดสามารถพัฒนา “ความสามารถในการหารายได้” ให้หลากหลายขึ้น ไม่ยึดติดอยู่กับการหารายได้แบบเดิม ๆ เพียงอย่างเดียว ความเสี่ยงที่ครัวเรือนจะมีรายได้ลดน้อยลง ก็จะลดน้อยลงตามไปด้วย ในทางตรงข้าม ครัวเรือนจะมีรายได้เพิ่มขึ้นเพราะที่มาของรายได้มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากตัวเลขที่สะท้อนว่ามิใช่ทุกครัวเรือนที่มีรายได้ลดน้อยลง แต่มีเพิ่มขึ้นด้วย

ผู้เขียนเห็นว่าความสำเร็จในการพัฒนาความสามารถในการหารายได้นั้นมิได้ขึ้นอยู่กับรัฐเท่านั้น จริงอยู่ที่ว่ารัฐต้องส่งเสริมการพัฒนาความสามารถที่ว่านี้ของครัวเรือน แต่ไม่ว่ารัฐจะส่งเสริมอย่างไร หากครัวเรือนเองไม่พยายามที่จะพัฒนาความสามารถที่ว่านี้ของตน เคยอยู่อย่างไรก็จะอยู่อย่างนั้น ก็ยากที่ครัวเรือนนั้นจะมีรายได้ต่อครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น 

ดังนี้ ตัวเลขรายได้ครัวเรือนที่ลดลงในทัศนะของผู้เขียนจึงไม่ได้สะท้อนความล้มเหลวในการดำเนินกิจกรรมของรัฐโดยตรง แต่เป็นตัวเลขที่ดีอันแสดงให้เห็นว่ามีครัวเรือนร้อยละเท่าไรหรือจำนวนกี่ครัวเรือนที่เป็น "เป้าหมาย" ที่รัฐจะต้อง “ให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ” ว่าจะใช้เทคนิคใดไปส่งเสริมให้ครัวเรือนเหล่านั้นมีความสามารถในการปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป 

กล่าวคือ ต้องทำให้ครัวเรือนนั้นสามารถเลี้ยงปลาเพื่อตกมากินเองได้ด้วย เพราะตอนนี้ตกปลาเป็นแล้ว แต่เป็นการตกปลาตามแม่น้ำลำคลอง ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ต้องพัฒนาครัวเรือนเป้าหมายให้ขุดบ่อปลาเป็น รู้จักวิธีการเลี้ยงปลาที่ถูกต้อง จะได้ตกปลากินได้ทุกวัน ไม่ใช่ตกได้บ้างไม่ได้บ้างดังที่เคยทำ ๆ มา

เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ ผู้เขียนเห็นว่าเราควรใช้ตัวเลขนี้เป็นฐานเพื่อค้นหาครัวเรือนเป้าหมายที่ต้องให้ความใส่ใจเป็นพิเศษในการเพิ่มขีดความสามารถในการหารายได้ของครัวเรือน และไปส่งเสริมครัวเรือนเป้าหมายให้มีความสามารถในการหารายได้ให้มากขึ้น การส่งเสริมเช่นนี้จะใช้วิธีเดียวกันทุกครัวเรือนเหมือนกันทั่วประเทศ (one size fit all) ไม่ได้ เพราะแต่ละครัวเรือนมีอัตลักษณ์และข้อจำกัดที่แตกต่างหลากหลายกันไป การทำงานของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาครัวเรือนเป้าหมายจึงต้องมีความอ่อนตัวมาก

การหยิบยกตัวเลขเหล่านี่้ขึ้นมาให้สาธารณชนรับรู้ และให้ข้อมูลในทุก ๆ มิติเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบนับว่าเป็นเรื่องที่มีประโยชน์มาก เพราะจะทำให้การจัดทำนโยบายต่าง ๆ อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง (Evidence base) มากขึ้น และมีความโปร่งใส (Transparency) มากขึ้น 

มาช่วยกันพัฒนาประเทศครับ

วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

คำแปลพระราชบัญญัติพื้นฐานว่าด้วยการศึกษา โดย นางวรรธ์มน บุญญาธิการ นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. .... ทำให้ความหวังเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาดูจะจับต้องเป็นรูปธรรมได้ ผู้เขียนซึ่งมีโอกาสได้รับทุนการศึกษาไปศึกษาต่อ ณ ประเทศญี่ปุ่น เห็นว่าระบบการศึกษาของญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในระบบที่มีความก้าวหน้าและสามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของญี่ปุ่นให้เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูงลำดับต้น ๆ ของโลก จึงได้ศึกษาโครงสร้างพื้นฐานของกฎหมายว่าด้วยการศึกษาของญี่ปุ่นเพื่อหวังว่าจะเป็นข้อมูลเพื่อการปฏิรูปการศึกษาอีกทางหนึ่งเพื่อสร้างอนาคตของชาติให้เข้มแข็ง

ผู้เขียนพบว่ากฎหมายดังกล่าวของญี่ปุ่นได้กำหนด "เป้าหมาย" และ "ผลลัพธ์" ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในแต่ละระดับไว้ ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นสามารถสร้าง "นวัตกรรมทางการศึกษาใหม่ ๆ" ขึ้นได้ตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งแตกต่างจากกฎหมายไทยที่กำหนดรายละเอียดขั้นตอนไว้มากมายจนทำให้ไม่สามารถคิดหรือทำอะไรใหม่ ๆ ได้ ต้องเดินตามระเบียบกฎเกณฑ์และขั้นตอนต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น 

ถ้าเราลองออกกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติโดยกำหนดเป้าหมายและผลลัพธ์ที่พึงประสงค์ไว้ แทนที่จะกำหนดขั้นตอนและวิธีการที่จะต้องทำตามแบบเดิม ๆ อาจทำให้เราปลดพันธนาการในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของเราได้ดีขึ้น ผู้เขียนจึงได้แปลกฎหมายพื้นฐานว่าด้วยการศึกษาของญี่ปุ่นเป็นภาษาไทยขึ้น เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปการศึกษาของประเทศไทยให้สมดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐

(คำแปล)

พระราชบัญญัติพื้นฐานว่าด้วยการศึกษา
(พระราชบัญญัติหมายเลข ๑๒๐ 
ใช้บังคับเมื่อวันที่  ๒๒ ธันวาคม ค.ศ. ๒๐๐๖)

สารบัญ

หมวด ๑ วัตถุประสงค์และหลักการของการศึกษา (มาตรา ๑ – ๔)
หมวด ๒ หลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติในด้านการศึกษา (มาตรา ๕ – ๑๕)
หมวน ๓ การบริหารจัดการด้านการเรียนการสอน (มาตรา ๑๖ – ๑๗)
หมวด ๔ การประกาศใช้กฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ (มาตรา ๑๘)
บทบัญญัติเพิ่มเติม

อารัมภบท

          เราประชาชนชาวญี่ปุ่นมุ่งหวังให้รัฐที่เป็นประชาธิปไตยและมีวัฒนธรรมที่เราได้สร้างขึ้นมาด้วยความอุตสาหะมีการพัฒนา ไปพร้อม ๆ กับความปรารถนาให้ความสันติสุขของโลกและสวัสดิการของมนุษยชาติมีความก้าวหน้าขึ้นไปยิ่งขึ้น

          เพื่อให้แนวความคิดดังกล่าวเป็นจริงขึ้นมาได้นั้น เราจะผลักดันการศึกษาที่ให้ความสำคัญแก่ความมีเกียรติของแต่ละบุคคล การศึกษาที่ปรารถนาความจริงและความถูกต้อง การศึกษาที่นับถือจิตวิญญาณร่วมกัน การศึกษาที่สั่งสอนมนุษย์ให้อุดมไปด้วยมนุษย์ธรรมและความสร้างสรรค์ รวมทั้งการศึกษาที่สืบต่อขนบธรรมเนียมประเพณีและสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้นไป

          ในการนี้ เราจึงได้ตรากฎหมายฉบับนี้ขึ้นตามแนวทางแห่งจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญแห่งประเทศญี่ปุ่น เพื่อที่จะสร้างพื้นฐานของการศึกษาและส่งเสริมการศึกษาที่เปิดทางสู่อนาคตของประเทศของเรา

หมวด ๑ วัตถุประสงค์และหลักการของการศึกษา

           (วัตถุประสงค์ของการศึกษา)
        มาตรา ๑ การศึกษาจะต้องถูกจัดไว้เพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาคุณลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคลอย่างเต็มที่ โดยการบ่มเพาะให้ประชาชนเป็นประชาชนที่มีความเจริญเติบโตทางด้านร่างกายและจิตใจ และซึมซับความมีคุณภาพที่จำเป็นสำหรับประชาชนผู้ที่จะมาเป็นผู้สร้างรัฐและสังคมที่มีสันติสุขและเป็นประธิปไตย

           (เป้าหมายของการศึกษา)
           มาตรา ๒ เพื่อให้วัตถุประสงค์ข้างต้นเป็นจริงได้ การศึกษาจะต้องถูกจัดไว้ตามแนวทางดังต่อไปนี้ ควบคู่ไปกับการเคารพในหลักการของเสรีภาพทางการศึกษา
           ๑) มีนักเรียนที่ได้มาซึ่งความรู้และการอบรมสั่งสอนในแนวกว้าง ส่งเสริมความมีคุณค่าของการค้นหาความถูกต้อง การบ่มเพาะความอุดมของไหวพริบและความรู้สึกต่อศีลธรรม เช่นเดียวกับการสร้างร่างกายที่มีสุขภาพที่ดี
           ๒) ความเคารพคุณค่าของแต่ละบุคคล การพัฒนาความสามารถ บ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ และส่งเสริมจิตวิญญาณของการปกครองตนเอง และความสามารถในการพึ่งพาตนเอง เช่นเดียวกับการให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างงานและชีวิตประจำวัน และส่งเสริมการให้คุณค่าต่อการเคารพการทุ่มเทให้กับการทำงาน
           ๓) การบ่มเพาะทัศนคติดในการสร้างสังคมที่ปกครองตนเองบนพื้นฐานของความยุติธรรมและความรับผิดชอบ ความเท่าเทียมกันระหว่างเพศ และการเคารพระหว่างกันและความร่วมมือกัน รวมถึงความมีจิตวิญญาณร่วมกัน
           ๔) บ่มเพาะทัศนคติในการปกป้องสิ่งแวดล้อมโดยเคารพต่อชีวิต การให้ความสำคัญกับธรรมชาติ
           ๕) บ่มเพาะทัศนคติในการสร้างสันติสุขและพัฒนาประชาคมโลกโดยเคารพต่อขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรม และรักในประเทศและภูมิภาคที่ให้การเลี้ยงดูเรา รวมทั้งการให้ความเคารพต่อประเทศอื่น

           (แนวคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ตลอดชีวิต)
           มาตรา ๓ สังคมจะต้องถูกนำไปสู่การที่ประชาชนแต่ละคนสามารถเรียนรู้อย่างต่อเนื่องไปตลอดชีวิต ในทุกโอกาสและทุกสถานที่ และพวกเขาสามารถนำผลลัพธ์ของการเรียนรู้ตลอดชีวิตไปปรับใช้ได้อย่างเหมาะสม เพื่อขัดเกลาคุณลักษณะของตนเองและเติมเต็มชีวิต

           (ความเสมอภาคทางการศึกษา)
           มาตรา ๔ (๑) ประชาชนทุกคนจะต้องมีโอกาสที่เท่าเทียมกันที่จะได้รับการศึกษาที่เหมาะสมกับความสามารถของตน  ทั้งนี้ จะต้องไม่ถูกเลือกปฏิบัติในการได้รับการศึกษาด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ ความเชื่อทางศาสนา เพศ สถานะทางสังคม ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือถิ่นกำเนิด
           (๒) รัฐและรัฐบาลท้องถิ่นจะต้องจัดให้มีการสนับสนุนทางการศึกษาที่จำเป็น เพื่อให้สามารถมั่นใจได้ว่าผู้พิการจะได้รับการศึกษาอย่างพอเพียงตามระดับของความพิการของตน
           (๓) รัฐและรัฐบาลท้องถิ่นจะต้องมีมาตรการในการจัดให้มีความช่วยเหลือด้านทุนการศึกษาแก่ผู้ที่มีความยากลำบากในการได้รับการศึกษาด้วยเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ โดยไม่คำนึงถึงความสามารถของบุคคลนั้น

หมวด ๒ หลักการพื้นฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติในด้านการศึกษา

           (การศึกษาภาคบังคับ)
           มาตรา ๕ (๑) ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ในการให้บุตรในความดูแลของตนได้รับการศึกษาทั่วไปตามที่ได้มีการกำหนดไว้ในกฎหมายอื่น
          (๒) การศึกษาทั่วไปที่ถูกจัดไว้ในรูปแบบของการศึกษาภาคบังคับนั้นจะถูกจัดไว้ตามวัตถุประสงค์ของการบ่มเพาะพื้นฐานของการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเองในสังคม ไปพร้อม ๆ กับการพัฒนาความสามารถของแต่ละบุคคล และตามวัตถุประสงค์ของการส่งเสริมความสามารถพื้นฐานที่มีความจำเป็นสำหรับการเป็นผู้ที่จะสร้างชาติและสังคมของเรา
           (๓) รัฐและรัฐบาลท้องถิ่นมีความรับผิดชอบในการเป็นผู้จัดการเกี่ยวกับการจัดการศึกษาภาคบังคับเพื่อเป็นการรับประกันถึงโอกาสในการได้รับการศึกษาภาคบังคับของประชาชน และให้สามารถมั่นใจถึงการมีมาตรฐานทางการศึกษาอย่างเพียงพอ โดยรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นต้องมีการแบ่งบทบาทหน้าที่และให้ความร่วมมือระหว่างกันตามความเหมาะสม
           (๔) จะต้องไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมในการศึกษาสำหรับการศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐและรัฐบาลท้องถิ่น

           (การศึกษาในโรงเรียน)
        มาตรา ๖ (๑) โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายนั้นมีลักษณะที่เป็นสาธารณะ และมีเพียงรัฐ รัฐบาลท้องถิ่น และนิติบุคคลตามกฎหมายเท่านั้นที่จะสามารถจัดตั้งโรงเรียนที่มีลักษณะดังกล่าวได้
           (๒) เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการด้านการศึกษาให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ โรงเรียนตามวรรคหนึ่งจะต้องจัดให้มีการศึกษาอย่างมีโครงสร้าง ตามแนวทางการจัดการที่เหมาะสมกับการพัฒนาทางด้านร่างกายและจิตใจของผู้ที่ได้รับการศึกษา ในการนี้ การศึกษาจะต้องถูกจัดให้ในแนวทางที่ปลูกฝังความเคารพวินัยที่จำเป็นสำหรับการบริหารจัดการชีวิตในโรงเรียนของบุคคลที่ได้รับการศึกษานั้น และเน้นย้ำในเรื่องการสร้างความเข้มแข็งเกี่ยวกับแรงจูงใจในการเรียนรู้ของพวกเขา

           (มหาวิทยาลัย)
           มาตรา ๗ (๑) มหาวิทยาลัยในฐานะแกนกลางของกิจกรรมทางวิชาการ จะให้การพัฒนาสังคมโดยการบ่มเพาะความรู้ขั้นสูงและทักษะพิเศษ ความใคร่รู้ในเชิงลึกเพื่อไปสู่การสร้างความรู้ใหม่ที่แท้จริง และให้ผลผลิตแก่สังคมอย่างกว้างขวาง
           (๒) ความเป็นอิสระ ปกครองตนเอง และมีคุณลักษณะอื่น ๆ ในด้านการศึกษาในมหาวิทยาลัยและการวิจัยที่เป็นหนึ่งจะต้องได้รับความเคารพ

           (โรงเรียนเอกชน)
           มาตรา ๘ เมื่อพิจารณาถึงการมีคุณลักษณะของความเป็นสาธารณะของโรงเรียนเอกชนและการมีบทบาทที่สำคัญในการศึกษาในระดับโรงเรียน รัฐและรัฐบาลท้องถิ่นต้องทุ่มเทในการสนับสนุนการศึกษาของโรงเรียนเอกชนผ่านการอุดหนุนและการใช้วิธีการที่เหมาะสมอื่น ๆ ไปพร้อม ๆ กับการให้ความเคารพในการบริหารจัดการตนเองของโรงเรียนเอกชน

           (ครู)
           มาตรา ๙ (๑) ครูของโรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายต้องทุ่มเทในการทำหน้าที่ของตนเองไปพร้อม ๆ กับการตระหนักอย่างลึกซึ้งในเป้าหมายอันสูงส่งของอาชีพ และอุทิศตนในการวิจัยและการปรับปรุงตนเองอย่างต่อเนื่อง
           (๒) ในการตระหนักถึงความสำคัญของอาชีพและหน้าที่ของครูตามที่ได้อ้างถึงในวรรคหนึ่ง สถานะของครูต้องได้รับความเคารพ และต้องทำให้มั่นใจได้ว่าจะได้รับการดูแลที่เป็นธรรมและเหมาะสม และต้องมีการใช้มาตรการเพื่อปรับปรุงการศึกษาและการฝึกฝน

           (การศึกษาในครอบครัว)
           มาตรา ๑๐ (๑) บิดามารดาและผู้ดูแล ซึ่งเป็นบุคคลที่มีความรับผิดชอบในการให้การศึกษาแก่เด็กเป็นลำดับแรก ต้องทุ่มเทในการปลูกฝังเกี่ยวกับกิจวัตรที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต บ่มเพาะให้เด็กสามารถพึ่งพาตัวเองได้ รวมทั้งพัฒนาร่างกายและจิตใจให้ความความสมดุล
           (๒) รัฐและรัฐบาลท้องถิ่นจะต้องทุ่มเทในการใช้มาตรการที่จำเป็นสำหรับการสนับสนุนการศึกษาในครอบครัว เช่น การจัดให้ผู้ดูแลเด็กมีโอกาสในการเรียนรู้และเข้าถึงข้อมูล ไปพร้อม ๆ กับการเคารพความเป็นอิสระของการศึกษาในครอบครัว

           (การศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย)
           มาตรา ๑๑ ในการตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาปฐมวัยในฐานะที่เป็นพื้นฐานของการสร้างคุณลักษณะของบุคคลหนึ่งไปตลอดชีวิต รัฐและรัฐบาลท้องถิ่นต้องทุ่มเทในการสนับสนุนการศึกษาปฐมวัยโดยการจัดสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตอย่างมีสุขภาพที่ดีให้กับเด็กเล็ก รวมถึงจัดให้มีการดำเนินการด้วยวิธีการอื่น ๆ ที่เหมาะสม

           (การศึกษาในระดับสังคม)
           มาตรา ๑๒ (๑) รัฐและรัฐบาลท้องถิ่นต้องมีความพยายามในการจัดการศึกษาในระดับสังคมที่ตอบสนองต่อความต้องการของแต่ละบุคคลและสังคม
           (๒) รัฐและรัฐบาลท้องถิ่นต้องพยายามในการส่งเสริมการศึกษาในระดับสังคมโดยวิธีการต่าง ๆ อันได้แก่ การจัดตั้งห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ศาลาประชาคมและสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อการศึกษาในสังคมในรูปแบบอื่น ๆ การใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ของโรงเรียน โอกาสในการเรียนรู้และการจัดให้มีข้อมูลที่ถูกต้อง

           (ความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือกันระหว่างโรงเรียน ครอบครัว และผู้ที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น)
              มาตรา ๑๓ โรงเรียน ครอบครัว ผู้ที่อาศัยอยู่ในท้องถิ่น และบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องต้องตระหนักรู้ถึงการแบ่งบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการศึกษา รวมถึงทุ่มเทในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือระหว่างกัน

              (การศึกษาทางการเมือง)
              มาตรา ๑๔ (๑) การศึกษาต้องให้คุณค่าแก่ความรู้ในเรื่องการเมืองที่มีความจำเป็นต่อความรับรู้สำหรับความเป็นพลเมือง
              (๒) โรงเรียนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายจะต้องไม่มีการเรียนการสอนหรือประกอบกิจกรรมทางการเมืองเพื่อเป็นการสนับสนุนหรือต่อต้านพรรคการเมืองใดเป็นพิเศษ

           (ศาสนศึกษา)
           มาตรา ๑๕ (๑) การศึกษาจะต้องให้คุณค่าแก่การนับถือศาสนา ความรู้ทั่วไปเกี่ยกับศาสนาและสถานะของศาสนาในการดำรงชีวิตในสังคม
           (๒) โรงเรียนที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยรัฐและรัฐบาลท้องถิ่นจะต้องไม่มีการสอนและประกอบกิจกรรมเกี่ยวกับศาสนาใดศาสนาหนึ่งเป็นการเฉพาะ

หมวด ๓ การบริหารจัดการด้านการเรียนการสอน

           (การบริหารจัดการด้านการเรียนการสอน)
           มาตรา ๑๖ (๑) การศึกษาจะต้องไม่ขึ้นอยู่กับการควบคุมที่ไม่เหมาะสม และต้องถูกจัดให้มีขึ้นตามพระราชบัญญัติฉบับนี้และกฎหมายฉบับอื่น การบริหารจัดการด้านการเรียนการสอนต้องเป็นไปด้วยความเป็นธรรมและด้วยวิธีการที่ถูกต้อง ผ่านการแบ่งบทบาทหน้าที่อย่างเหมาะสมและความร่วมมือกันระหว่างรัฐและรัฐบาลท้องถิ่น
           (๒) รัฐบาลกลางต้องกำหนดมาตรการด้านการศึกษาและการปฏิบัติแบบเบ็ดเสร็จเพื่อประโยชน์ในการจัดให้มีความเท่าเทียมในด้านโอกาสทางการศึกษาและเพื่อรักษาและเพิ่มมาตรฐานทางการศึกษาทั่วทั้งประเทศ
           (๓) รัฐบาลท้องถิ่นต้องกำหนดและปฏิบัติตามมาตรการด้านการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมในพื้นที่ในการส่งเสริมการศึกษาในพื้นที่
           (๔) รัฐและรัฐบาลท้องถิ่นต้องมีมาตรการด้านการเงินที่จำเป็น เพื่อให้มั่นใจได้ว่าการศึกษาจะถูกจัดให้มีขึ้นอย่างราบลื่นและต่อเนื่อง

           (แผนพื้นฐานว่าด้วยการส่งเสริมการศึกษา)
           มาตรา ๑๗ (๑) เพื่อประโชน์ในการอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติตามนโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมการศึกษาอย่างเบ็ดเสร็จและเป็นระบบ รัฐบาลต้องกำหนดแผนพื้นฐานที่ครอบคลุมถึงหลักการพื้นฐาน มาตรการที่จะถูกนำมาปฏิบัติ และนโยบายเฉพาะอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับการส่งเสริมการศึกษา  รวมทั้งต้องรายงานแผนพื้นฐานดังกล่าวต่อสภาไดเอ็ทแห่งชาติและเผยแพร่ต่อสาธารณชนให้รับทราบด้วย
           (๒) รัฐบาลท้องถิ่นจะต้องมีการปรึกษาหารือเกี่ยวกับแผนพื้นฐานว่าด้วยการส่งเสริมการศึกษาตามวรรคหนึ่ง และต้องใช้ความพยายามในการกำหนดแผนพื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมการศึกษาในพื้นที่ของรัฐบาลท้องถิ่นนั้นที่มีความสอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมของท้องที่

หมวด ๔ การประกาศใช้กฎหมายและข้อบังคับอื่น

มาตรา ๑๘ เพื่อให้สามารถปฏิบัติตามบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติฉบับนี้ ต้องมีการประกาศใช้กฎหมาย หรือข้อบังคับอื่นที่จำเป็น

บทบัญญัติเพิ่มเติม (ย่อ)
           (วันมีผลใช้บังคับ)
           (๑) พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลใช้บังคับนับแต่วันที่ประกาศใช้


วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

ทำไมต้องไต่สวน โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

การไต่สวนเป็นวิธีการแสวงหาข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่ผู้มีหน้าที่ไต่สวนสามารถสืบเสาะ แสวงหา และตรวจสอบข้อมูลและพยานหลักฐานต่าง  เพื่อ "พิสูจน์ความจริง" ผู้มีหน้าที่ไต่สวนจึงต้องมีความเป็นอิสระในการดำเนินการ ทั้งต้องปราศจากอคติทั้งปวงในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้การไต่สวนเป็นไปโดยเที่ยงธรรม หรือตั้งมั่นอยู่ในความถูกต้อง ตรงไปตรงมา ผิดเป็นผิด ไม่ผิดก็ไม่ผิด 
ไม่ใช่ตั้งธงไว้แล้วว่ามันต้องผิด แล้วจึงไปหาพยานหลักฐานมาสนับสนุนข้อกล่าวหา" ที่มีการ "ตั้งธงไว้ล่วงหน้า" แล้วอย่างในระบบกล่าวหา ซึ่งเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะใช้กับเรื่องในทางแพ่งและคดีอาญา เพราะคู่กรณีต่างจะมีพยานหลักฐานที่จะนำมาแสดงสืบสู้กันได้อย่าสมน้ำสมเนื้อ

ขอให้สังเกตด้วยว่า การกล่าวหานั้นไม่ใช่ไปกล่าวหากันไปมาที่ไหนก็ได้ เพราะการกล่าวหากันลอย นั้นจะนำมาซึ่งการทะเลาะเบาะแว้ง เพราะต่างฝ่ายต่างเชื่อมั่นในพยานหลักฐานของตน และอาจลุกลามไปจนกลายเป็นความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในสังคมอันเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ และเป็นช่องทางให้ผู้มีไถยจิตคิดร้ายใช้เป็นช่องทางในการกลั่นแกล้งหรือทำลายความเชื่อถือที่มีต่อบุคคลอื่นได้ง่าย โดย "ชิงกล่าวหาก่อน" คนทั่วไปซึ่งยังไม่รู้ข้อเท็จจริงก็มักจะคล้อยตามข้อกล่าวหาไปง่าย ยิ่งถ้าได้กล่าวหากันด้วยคารมคมคาย สำนวนโวหารโดนใจ ฟังแล้วเคลิ้มนี่ยิ่งเป็นการชักจูงใจคนส่วนใหญ่ให้เชื่อในคำกล่าวหาของตน ยิ่งไปกันใหญ่ เพราะข้อกล่าวหานั้นจริงเท็จประการใดก็ยังไม่ทราบได้ เมื่อฝ่ายที่ถูกกล่าวหาชี้แจงเข้าก็จะกลายเป็นแก้ตัวเสียอย่างนั้น ซึ่งนั่นไม่เป็นธรรมเลย

ด้วยเหตุนี้ ทุกบ้านทุกเมืองเขาจึงกำหนดว่าการกล่าวหาโดยสุจริตโดยมุ่งประสงค์จะให้เกิดข้อยุติ จึงต้องนำข้อกล่าวหาไปฟ้องร้องกล่าวหาต่อศาล เพื่อให้ศาลซึ่งเป็นคนกลางพิจารณาข้อกล่าวหาว่ามีมูลหรือไม่ ถ้ามีมูลก็จะรับฟังพยานหลักฐาน โดยใครกล่าวหาคนอื่น คนนั้นมีหน้าที่นำสืบ ให้ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยสืบแก้ (ไม่ใช่แก้ตัว) หลังจากนั้นศาลจึงจะชั่งน้ำหนักว่าพยานหลักฐานของฝ่ายใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่ากัน แล้วพิพากษาว่าใครถูกใครผิด ถ้ากล่าวหามั่ว พยานหลักฐานไม่มี ก็ยกฟ้องของผู้กล่าวหา แต่ถ้ามีหลักฐานแน่นหนา ก็พิพากษาลงโทษจำเลย แถมถ้ากล่าวหากันมั่ว ผู้ถูกกล่าวหายังฟ้องกลับผู้กล่าวหาได้อีก

แต่ในเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมหรือการกระทำลับ ล่อ ซึ่งกล่าวหากันง่าย เช่น คนนี้เลว คนนั้นโกง คนโน้นชั่ว ฯลฯ นั้น เนื้อหาของมันเองไม่เหมาะสมที่จะใช้ระบบกล่าวหา เพราะหาพยานหลักฐานมาพิสูจน์กันยาก บ้านเมืองต่าง เขาจึงใช้ระบบไต่สวนแทนระบบกล่าวหา 

โดยเมื่อความปรากฎต่อผู้มีหน้าที่ไต่สวนไม่ว่าจะมีการกล่าวหาหรือไม่ ว่ามีคนกระทำพฤติกรรมหรือการกระทำลับ ล่อ ส่อว่าเลว ส่อว่าโกง ส่อว่าชั่ว ฯลฯ บรรดาที่อยู่ในขอบหน้าที่และอำนาจของตน ผู้มีหน้าที่ไต่สวนนั้นก็จะต้องดำเนินการไต่สวนโดยพลันว่า "ความจริง" มันเป็นฉันใด ถ้ามีก็ดำเนินการทางอาญา ทางวินัย หรือทางจริยธรรมกันต่อไป ถ้าไม่มีก็คือไม่มี จบ ไม่ต้องไปทำให้มันมี เพราะนั่นไม่เป็นธรรม เหมือนว่าตั้งธงไว้แล้วว่าเขาเลว เขาโกง เขาชั่ว ฯลฯ แล้วไปหาหลักฐานมาสนับสนุนอคติของตน อันนั้นเท่ากับผู้ไต่สวนทำตัวเป็นผู้กล่าวหาเสียเอง ซึ่งไม่ถูกต้อง

หัวใจสำคัญของการไต่สวนจึงอยู่ที่ความเป็นกลางและปราศจากอคติของผู้ทำหน้าที่ไต่สวน ต้องใจถึงพึ่งได้ เพราะเป้าหมายสุดท้ายคือความถูกต้อง” และ "ความเป็นจริง" แม้มันอาจไม่ถูกใจผู้ไต่สวน ผู้เสนอให้มีการไต่สวน หรือความเชื่อส่วนใหญ่ของสังคมก็ตาม 

เพราะความถูกต้อง” และ "ความเป็นจริง" เท่านั้นที่จะทำให้สังคมอยู่กันได้อย่างเรียบร้อย ไม่ใช่ถูกใจ

อีกประการหนึ่ง ผู้ไต่สวนไม่ควรสร้างกระบวนการหรือวิธีการใด ที่อาจทำให้ผู้อื่นหรือสังคมมามีอิทธิพลต่อการค้นหาความจริงของตน เพราะมิฉะนั้นแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ไต่สวนอาจเบี่ยงเบนไปจากความถูกต้องเพราะเหตุมัวเมาในอคติได้ ไม่ว่าเพราะรัก เพราะโลภ เพราะโกรธ หรือเพราะหลง 

และนั่นไม่เป็นผลดีต่อสังคมเลย ไม่ว่าระยะสั้น ระยะกลาง หรือระยะยาว

หรือไม่จริงครับ?

วันเสาร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

กำหนดเวลาในกฎหมายนั้น สำคัญไฉน โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

การที่มาตรา ๗๗ ของรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ บัญญัติไว้ตอนหนึ่งว่า "รัฐพึงกำหนดระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน" นั้น ถ้าอ่านแบบผ่าน ๆ โดยไม่คิดอะไรก็จะเข้าใจไปว่าไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ แถมไม่มันส์เท่าบทบัญญัติในหมวดอื่น ๆ ที่ทำให้คนช่างฝันสามารถ “จินตนาการ” ไปได้ต่าง ๆ นา ๆ ว่าเมื่อเลือกตั้งแล้ว พรรคไหนจะได้เข้ามาเท่าไร ใครจะรวมกับใคร ใครจะเป็นนายก ฯลฯ

แต่จริง ๆ แล้วบทบัญญัตินี้มีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของพี่น้องประชาชนมากนะครับ ว่าง่าย ๆ คือถ้ากฎหมายกำหนดแต่ขั้นตอนต่าง ๆ ไว้ แต่ไม่กำหนดว่าใครต้องทำอะไรภายในเวลาเท่าไร การทำงานตามขั้นตอนต่าง ๆ เหล่านั้นก็จะมีลักษณะเป็นการทำงานแบบ “ลมโชย” คือทำไปเรื่อย ๆ คนเดือดร้อนก็คือพี่น้องประชาชนนะครับ เพราะเป็นผู้ที่ต้องทำตามกฎหมาย

ถ้าเป็นเรื่องที่มีการร้องเรียนหรือฟ้องร้องกัน การไม่กำหนดเวลาดำเนินการก็ทำให้คนถูกกล่าวหาตกนรกทั้งเป็นได้ง่าย ๆ เพราะเมื่อไรเรื่องหรือคดีจะจบจะสิ้นกันเสียทีก็ไม่รู้ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้ความกันไม่รู้เท่าไร บางทีสู้กันเป็นหนี้หัวโตเพื่อรักษาเกียรติยศ บ้างผู้ถูกกล่าวหาตายไปแล้วเรื่องยังไม่ไปถึงไหนก็มี ทิ้งเรื่องที่ถูกร้องเรียนหรือฟ้องร้องให้เป็นประวัติเสียติดค้างคาไปถึงลูกหลานเพราะความจริงยังไม่ปรากฏกันเยอะแยะไป สร้างบาปสร้างกรรมนะครับนี่

ดังนั้น ยิ่งบ้านเราให้น้ำหนักกับความสะดวกในการกล่าวหา จึงยิ่งต้องใส่ใจในการกำหนดเวลาในการพิสูจน์ทราบว่าใครถูกใครผิดไว้ให้ชัดเจนเป็นของคู่กันด้วย ไม่งั้นสังคมคงอลเวงกันไปหมด งานการไม่ต้องทำกันพอดี กลัวถูกกล่าวหา กลัวเป็นคดี กลัวเสียชื่อเสียง ทำงานไปวัน ๆ ดีกว่า ชั่วไม่มี ดีไม่ปรากฏ ถ้าเช่นนี้ประเทศไม่ต้องไปไหนกัน

ถ้าเป็นเรื่องการขออนุมัติอนุญาตจากทางราชการแล้วไม่มีกำหนดเวลาดำเนินการแล้วเสร็จไว้ คนขออนุญาตเขาก็จะไม่รู้ว่าเขาจะรู้ผลเมื่อไร เขาก็เสียหาย ยิ่งถ้าเป็นการขออนุมัติอนุญาตที่เกี่ยวกับการทำสัมมาอาชีวะหรือประกอบธุรกิจนี่ชัดเจนมาก เพราะการจะทำมาหากินอะไรนี่ต้องมีการลงทุน ต้องมีการวางแผน ถ้ามันไม่เป็นไปตามแผนหรือผิดแผนมาก ๆ นี่ต้นทุนดำเนินการมันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ นะครับ ไหนจะเสียโอกาสในทางธุรกิจอีก เพราะเวลาที่เดินไปเรื่อย ๆ นี่เขาอาจเสียเปรียบคู่แข่งทางการค้าได้ โบราณว่ากว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้เสียแล้ว เผลอ ๆ เขามาฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐเข้าให้อีกมันจะไปกันใหญ่

ดังนั้น ทิศทางการร่างกฎหมายของโลกปัจจุบันจึงให้ความสำคัญกับ “ข้อมูลที่เป็นจริง(Evidence based) เพื่อสร้างขั้นตอนเพียงเท่าที่จำเป็น” และ “กำหนดเวลาในการดำเนินงานในแต่ละขั้นตอนให้ชัดเจน” ครับ

OECD นี่ถึงขนาดออก Standard Cost Model (SCM) ขึ้นเป็นแนวทางการคำนวณต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎหมายของประชาชน (Compliance Cost) ไว้เป็นคู่มือประกอบการกำหนดขั้นตอนต่าง ๆ ของผู้เสนอกฎหมายทางธุรกิจไว้เป็นเรื่องเป็นราว โดยเขาเอาเวลาในแต่ละขั้นตอนเป็นตัวคำนวณด้วยตามสูตรนี้ครับ

Compliance Cost = Prices X Times X Quantity (population x frequency) หรือ
ต้นทุนต่อกิจกรรม = ค่าใช้จ่าย X ระยะเวลา X ปริมาณ (ผู้เกี่ยวข้อง X ความถี่)

เช่น การที่ผู้ร่างกฎหมายเสนอว่าสมควรกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องได้รับใบอนุญาตทำกิจกรรม ก. ไม่ใช่สักแต่เขียนในกฎหมายว่าต้องทำอย่างไรเพราะมันเป็น “แบบ” แต่ผู้เสนอร่างกฎหมายต้องคิดว่าคนมาขอใบอนุญาตเขาต้องใช้เอกสารใดบ้าง ค่าใช้จ่ายในการทำเอกสารคิดเป็นเงินเท่าใด ต้องใช้แรงงานคนกี่คนในการทำเอกสาร ทำกี่วัน และต้องคิดว่าจะใช้เวลาในการออกใบอนุญาตกี่วัน รวมทั้งต้องคิดว่ามีผู้ประกอบการอย่างน้อยที่สุดกี่รายที่จะต้องมาขอใบอนุญาต กับต้องขอใบอนุญาตครั้งเดียวจบหรือหลายครั้ง แล้วนำมาคำนวณให้เห็นว่ามันเป็นภาระขนาดไหน จะได้รู้ว่ามันคุ้มค่าหรือจำเป็นแค่ไหนในการสร้างขั้นตอนนั้นขึ้นมา

ตามตัวอย่างข้างต้น ถ้าต้องใช้คนหนึ่งคน ต้องใช้เวลากรอกคำขอและเอกสารประกอบรวม ๓ วัน ค่าใช้จ่ายก็เท่ากับ ๓๐๐ X = ๙๐๐ บาท (คิดจากฐานค่าแรงขั้นต่ำวันละ ๓๐๐ บาท) รวมกับค่าใช้จ่ายในการถ่ายเอกสารอีกสมมุติว่า ๑๐๐ บาทก็จะเท่ากับ ๑,๐๐๐ บาท ต้องใช้เวลารอจนกว่าจะได้รับใบอนุญาตอีกสมมุติว่า ๖๐ วัน มีผู้ประกอบกิจการนั้นอย่างน้อย ๕,๐๐๐ ราย และขออนุญาตปีละ ๑ ครั้ง ต้นทุนต่อกิจกรรมขอใบอนุญาตนี้จะเท่ากับ ๑,๐๐๐ X ๖๐ X ๕,๐๐๐ X= ๓๑๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท!!!

โอว์ แม่เจ้า!!!!!!! เขียนกฎหมายง่าย ๆ ตามแบบและใช้ระยะเวลาที่ (ผู้เสนอร่างกฎหมายคิดเอาเองว่า) ไม่ยาวนักมันสร้างต้นทุนถึงสามร้อยสิบล้านบาทต่อปีเป็นอย่างน้อยเจียวหรือ ยังไม่นับค่าเสียโอกาสในช่วงรอ ๖๐ วัน หรือต่อขยายเวลาต่อไปอีกด้วยนะจอร์ช ... นี่ยังไม่ได้คิดอย่างละเอียดลอออย่างฝรั่งมังค่านะครับ ฝรั่งมันคิดไปถึงต้นทุนที่รัฐต้องใช้ในการออกใบอนุญาตมารวมด้วยนะ แต่บ้านเราแค่คิดแบบดิบ ๆ อย่างที่ผู้เขียนคิดก็แย่แล้วละ ...

เห็นไหมครับว่าเรื่องการกำหนดเวลาในกฎหมายนี่กระทบต่อประชาชนจัง ๆ เลย แถมตีชิ่งไปที่ความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย การเสนอให้กำหนดกระบวนการหรือกลไกตามกฎหมายจึงต้องคิดให้รอบคอบครับ มโนเอาแบบเดิม ๆ ไม่ได้แล้ว

เรามาสนใจเรื่องพรรค์นี้บ้างดีกว่าไหมครับ?

วันพุธที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

One-in, X-out โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์

ผู้เขียนกับน้องอีกสองคนได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการด้านนโยบายกฎหมาย (Regulatory Policy Committee: RPC) ครั้งที่ 17 ช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สำนักงานใหญ่องค์การความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ หรือ OECD ได้ความรู้ใหม่ มามากมาย เห็นว่าเป็นประโยชน์มาก จึงสรุปมาให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบด้วย ถือเสียว่าเป็นของฝากจากคนเบี้ยน้อยหอยน้อยก็แล้วกัน
ประเด็นหลักของการประชุมรอบนี้เป็นเรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจสักเท่าไร เรื่องที่ว่านี้ก็คือการยกเลิกกฎหมายที่มีอยู่เยอะแยะตาแป๊ะไก่นี่แหละครับ 

เชื่อไหมครับว่าฝรั่ง จีน แขก ไทย เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือชอบออกกฎหมาย ออกแล้วก็ออกเลย ใช้มาเรื่อยเปื่อย ไม่ค่อยสนใจที่จะยกเลิกหรือปรับปรุงแก้ไขให้มันทันยุคทันสมัยเสียบ้าง ถ้ามีปัญหาอะไร ก็เอาง่ายเข้าว่าคือออกกฎหมายใหม่ มาแก้ปัญหานั้น เป็นการเฉพาะ 

ปัญหามันอยู่ตรงนี้แหละครับ เพราะนานวันเข้าทุกประเทศก็มีกฎหมายในตู้จำนวนมาก ของเก่าก็ไม่เลิกไม่แก้ไข ออกใหม่มาปะผุกันอีก กลายเป็นว่ากฎเกณฑ์รุงรังไปหมด บางเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายหลายฉบับ อย่างจะส่งออกลูกชิ้นเสียบไม้ไปปิ้งขายที่ญี่ปุ่นเพื่อตีตลาดปิ้งย่างญี่ปุ่นให้แตกกระจายเพราะลูกชิ้นปิ้งไทยนั้นสุดยอดมาก แต่เชื่อไหมครับว่าคนคิดจะทำกิจการนี้เลิกสนใจไปหลายรายแล้วเพราะต้องทำตามกฎหมายสามสี่ฉบับ แถมยังตามด้วยกฎหมายลำดับรองอีกหลายอยู่ สร้างต้นทุนและภาระแก่พี่น้องประชาชนมาก start ไม่ up ไปเสียอย่างนั้น

ที่ประชุมนี้เขาเลยคิดจะล้างสต๊อกกฎหมายซ้ำซ้อนเหล่านี้ครับ เขาเสนอให้ใช้หลัก One-in, X-out คือ ถ้ามีกฎหมายใหม่ฉบับหนึ่งออกมาใช้ ต้องเลิกกฎหมายเก่า X ฉบับ เจ้า X ที่ว่านี้จะเป็นหนึ่ง สอง สาม สี่ ฯลฯ ก็ได้ ไม่ว่ากัน สำคัญคือถ้ามีกฎหมายใหม่ออกมา ต้องเลิกกฎหมายเก่าในเรื่องที่เกี่ยวข้องกันไปด้วย จะกี่ฉบับก็ได้ไม่ว่ากัน แต่ต้อง One-in, One-out เป็นอย่างน้อย

นักกฎหมายไทยฟังแล้วคงนึกด่าว่าฝรั่งนี่มันคิดอะไรลวก กฎหมายมันพัวพันกัน จะเอาง่าย แบบ One-in, X-out ได้ยังไง ฝรั่งบ้าไปแล้วหรือเปล่า

ผู้เขียนฟังเหตุผลที่เขาถกกันหน้าดำคร่ำเครียดแล้วก็คิดว่ามันเป็นไปได้นะครับและตอนนี้ใช้นโยบายนี้กันหลายประเทศแล้ว อังกฤษ เยอรมัน แคนาดา ฝรั่งเศส สหภาพยุโรป ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่ประเทศที่เราชอบไปลอกกฎหมายเขามาทั้งนั้น ที่ประชุมเขาเห็นว่าถ้าใช้หลักนี้อย่างจริงจังจะเป็นการบังคับให้นักออกกฎหมายต้องคิดหน้าคิดหลังให้ละเอียดรอบคอบ ไม่ใช่เอะอะเสนอออกกฎหมายใหม่กันตะพึด จนมีกฎหมายเต็มไปหมด ทั้งจะทำให้คุณภาพของกฎหมายดีขึ้นด้วย เพราะจะได้มีการทบทวนเนื้อหาสาระของกฎหมายที่เกี่ยวข้องไปในตัว แถมพี่น้องประชาชนก็เข้าใจได้ง่าย เพราะเป็นไปตามหลักเก่าไป-ใหม่มาถ้าเก่าไม่ไป แถมมีใหม่มาเรื่อย มันก็จะกลายเป็นดินพอกหางหมูเห็นภาพเลยไหมล่ะ

ที่สำคัญหลัก One-in, X-out นี้เขาใช้คู่กับการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment: RIA) กับการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายทุกรอบระยะเวลา (Sunset Law) และการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องอย่างที่มีบัญญัติไว้ในมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยนะครับ

ถ้าเรายกเรื่อง One-in, X-out เป็นวาระแห่งชาติด้านกฎหมายก็น่าจะเป็นประโยชน์นะครับ simply the best ครับ


ไม่ต้องคิดอะไรให้ซับซ้อน ปวดหัวเปล่า .