เกือบทุกประเทศในโลกนี้ใช้ระบบการเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งจะทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และผลักดันนโยบายที่เสนอให้เป็นรูปธรรม ส่วนระบบราชการก็จะเป็นผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ
ในยุคพรี-อนาล็อก และยุคอนาล็อก การติดต่อสื่อสารและการคมนาคมระหว่างประเทศยังไม่รวดเร็ว การส่งผ่านวิทยาการและความรู้ความคิดต่าง ๆ จากสังคมหนึ่งไปอีกสังคมหนึ่งจึงใช้เวลานานโขอยู่ การเสนอนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งจึงเน้นย้ำไปที่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ซาก ๆ ในสังคม อาทิ ฝนตกน้ำรอระบาย รถติด ฝุ่น pm 2.5 ค่ารถเมล์ ขยะล้นเมือง อะไรทำนองนี้ แต่ก็แก้ปัญหาอะไรกันไม่ค่อยจะได้ เพราะการเสนอนโยบายขาดการวิเคราะห์ความซับซ้อนของปัญหาอย่างเป็นระบบ จึงแก้ได้เป็นจุด ๆ อีกประเดี๋ยวก็เลือกตั้งใหม่อีกแล้ว
คนเลือกเห็นคนเก่าทำอะไรไม่ได้มาก ก็มักจะลองของใหม่ เผื่อว่าจะดีกว่าเก่า ซึ่งเป็นจิตวิทยาขั้นพื้นฐาน ทั้ง ๆ ที่เนื้อหาของนโยบายก็แทบไม่มีอะไรต่างกันนัก เพราะว่าเพนพอยท์ระยะสั้นมันไม่เคยเปลี่ยนเลย
อุปมาเหมือนคนหิวข้าวหิวน้ำก็ต้องแก้ปัญหาให้เขาท้องอิ่มก่อน แล้วจึงจะไปสอนให้เขาขุดบ่อเลี้ยงปลาเอามากิน ไม่ใช่เริ่มสอนให้เขาขุดบ่อเลี้ยงปลาตอนที่เขายังหิว การเสนอนโยบายเลือกตั้งจึงเน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่คนส่วนใหญ่สนเป็นหลัก เรื่องระยะยาวนี่ไม่เสนอกันเลยเพราะกว่าจะออกดอกออกผลมันช้า แล้วมันจะได้เรื่องไหมนั่น อะไรประมาณนั้น
มาในยุคดิจิทัลที่การสื่อสารและการคมนาคมระหว่างประเทศรวดเร็วมากในระดับวินาทีหรือมิลลิวินาที การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันจึงทำให้ชาวโลกทราบว่าหลาย ๆ ปัญหานั้นเป็นปัญหาร่วมกัน ไร้พรมแดน ไปที่ไหนก็มี หรือ Trans-national legal problems และการแก้ปัญหาต้องแก้ที่รากเหง้า หรือ root cause ซึ่งต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคมก่อน แล้วทุกองคาพยพค่อย ๆ ร่วมมือแก้ปัญหา การกำหนดนโยบายเพื่อหาเสียงเลือกตั้งยุคใหม่จึงควรเป็นการกำหนดนโยบายระยะสั้นควบคู่ไปกับนโยบายระยะยาว
แต่เท่าที่สังเกตนั้น การเลือกตั้งแต่ละครั้ง แทบไม่มีนโยบายระยะยาวโผล่ขึ้นมาให้ชื่นชมเลย เพราะไม่มีหลักประกันว่าผู้เสนอนโยบายระยะยาวจะได้รับเลือกในการเลือกตั้งครั้งต่อไปตามตัวอย่างดังว่านั้น การกำหนดนโยบายของผู้สมัครทุกรายจึงซ้ำกันไปมา แค่ใช้ชื่อเก๋ ๆ ให้ต่างกันเท่านั้น ซึ่งคนส่วนใหญ่เขาก็จับทางถูกแล้ว
อย่างข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า กทม เราแผ่นดินทรุดลงปีละหลายเซ็นติเมตร อีกไม่กี่ปีข้างหน้า 30% ของพื้นที่ กทม จะจมอยู่ใต้บาดาล และโดยที่ กทม เป็นเมืองหลวง สถานการณ์ที่ว่านี้มันย่อมส่งผลกระทบทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครอง อย่างมหาศาล แต่นโยบายที่เสนอในการหาเสียงเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่นแลระดับชาติก็ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ชัด ๆ นักว่าจะเอายังไงดี อยู่ไปอยู่มาจมน้ำกันขึ้นมาจริง ๆ จะทำยังไง ก็คงไม่พ้นโทษกันไปมาจนจมน้ำไปพร้อม ๆ กัน
ที่พูดมาทั้งหมดนี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานว่าระบบเลือกตั้งของเราไม่เอื้อต่อการวางนโยบายระยะยาว และการเสนอและผลักดันนโยบายระยะสั้นก็ไม่ประสบความสำเร็จ
แต่ระบบเลือกตั้งสัมพันธ์กับระบบการเมืองและพรรคการเมืองอย่างแยกไม่ออก ดังนั้น จะว่าระบบเลือกตั้งอย่างเดียวเท่านั้นที่ไม่เอื้อต่อการวางนโยบายระยะยาวก็คงไม่ถูกนัก
เลยไม่กล้าสรุป …
จบดื้อ ๆ อย่างนี้ละกัน