วันเสาร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2562

"Butterfly effect ของคณะกรรมการ" ปกรณ์ นิลประพันธ์

งานประชุมเป็นงานที่มีต้นทุนสูงมาก และวัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้ยาก

ที่ว่ามีต้นทุนสูงเพราะคณะกรรมการต้องมาประชุมร่วมกัน ณ สถานที่แห่งหนึ่งตามที่กำหนดไว้ และต้องมาครบองค์ประชุมจึงจะประชุมได้ ต้นทุนที่เห็นได้ชัดคือ ผู้ไปประชุมต้องเสียค่าเดินทางไปประชุม ณ สถานที่ประชุม การเดินทางสะดวกก็แล้วไป แต่บ้านเมืองเรานี่รถราติดมาก ค่าเชื้อเพลิงค่าทางด่วนอีกไม่รู้เท่าไร 

การประชุมก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศด้วยนะครับ คณะกรรมการไหนมีกรรมการเยอะ ๆ นี่ยิ่งเพิ่ม carbon emission เลย เพราะปกติกรรมการจะนั่งรถไปคนละคัน บางท่านมีผู้ติดตามเยอะก็หลายคัน เพิ่ม carbon emission  ยิ่งต้องมีผู้แทนมาร่วมประชุมด้วยนี่ยิ่งหนัก ต้องมีรถผู้แทนอีก สร้างความปวดหัวให้แก่ผู้จัดการประชุมที่จะต้องจัดหาที่จอดรถราและที่พักรอให้เพียงพอด้วย

พื้นที่ที่ควรจะเป็นพื้นที่สีเขียว มีไม้ยืนต้นปกคลุม ต้องปรับปรุงเป็นลานจอดรถคอนกรีตไปหมด โลกยิ่งร้อนหนักเข้าไปอีก ฝนตกลงมาน้ำก็ไหลลงดินไม่ได้เพราะมีคอนกรีตกั้นไว้ ต้องไหลลงท่อ ไหลไม่ทันก็เจิ่งนองรอการระบายไปลงท่อระบายน้ำ น้ำลงใต้ดินไม่ได้นานเข้า แผ่นดินก็ทรุดลงไปเรื่อย ๆ สวนทางกับน้ำทะเลที่สูงขึ้นเพราะโลกร้อน

ผู้เขียนเห็นว่าถ้าลดการเดินทางไปประชุมได้ เช่น ประชุมผ่านระบบดิจิทัล ก็น่าจะลด carbon emissions ได้มากทีเดียว แถมยังได้พื้นที่สีเขียวเพิ่มด้วย 

เอกสารประชุมเป็นอีกเรื่องที่สิ้นเปลือง เพราะใช้แฟ้มใช้กระดาษ และโดยมากใช้ครั้งเดียวทิ้ง ยิ่งเป็นเรื่องลับนี่ใช้ครั้งเดียวจริง ๆ ต้องเอาไปทำลายเลย และปกติเอกสารการประชุมที่ว่านี่จะหนามาก ๆ ต้องใช้ต้นไม้กี่ต้นมาทำกระดาษเพื่อใช้ในการประชุมก็ไม่รู้ ยังไม่มีใครคำนวณ แต่จากการกะด้วยตาของผู้เขียนที่คร่ำหวอดอยู่กับการประชุม ประชุมทั้งวันเกือบทุกวัน พบว่ามันต้องหลายต้นแน่ ๆ ดังนั้น การประชุมที่ใช้เอกสารเยอะ ๆ จึงไม่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน 

เดี๋ยวนี้หลายหน่วยงานเขาตระหนักถึงปัญหานี้ และพัฒนาระบบ e-meeting มาใช้แล้ว นับว่าเป็นประโยชน์มาก ลดต้นทุนด้วย ลดโลกร้อนด้วย วิน ๆ กันไป แต่ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้ใช้ระบบนี้ หรือยังอยู่ระหว่างทดลองใช้เพราะกรรมการหลายท่านยังไม่คุ้นเคยกับระบบใหม่ อันนี้ก็ต้องค่อย ๆ เรียนรู้กันไป

นอกจากค่ากระดาษค่าแฟ้มการทำเอกสารการประชุมแล้ว การประชุมต้องใช้ทรัพยากรอื่น ๆ อีกมากมายนะครับ เพราะเป็นงานที่ต้องใช้คนทำ จึงต้องจ่ายค่าจ้างค่าออนและสวัสดิการ ต้องใช้คอมพิวเตอร์ ต้องเปิดไฟเปิดแอร์ ต้องมีค่าหมึกพิมพ์ ต้องค่าใช้จ่ายในการทำสำเนาเอกสารจำนวนอย่างน้อยก็เท่ากับจำนวนกรรมการ ฯลฯ 

ตอนก่อร่างสร้างตึกสร้างอาคารก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการสร้างห้องประชุม ต้องมีอุปกรณ์ห้องประชุม แก้วน้ำชากาแฟ และอื่น  อีกมากมาย 

บางที่มีคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน มากมายกระทั่งห้องประชุมที่มีอยู่ตอนสร้างอาคารมีไม่พอ มีการแย่งห้องประชุม ทะเลาะเบาะแว้งกันก็มี เพราะต่างคนต่างก็อยากประชุม จนบางที่ต้องเจียดที่เจียดเงินสร้างห้องประชุมเพิ่ม ติดแอร์เพิ่ม ผลคือค่าไฟฟ้าสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่ง Butterfly effect คือโลกร้อน 

ก่อนประชุมก็ต้องส่งหนังสือเชิญประชุมวาระและเอกสารประกอบการประชุมล่วงหน้า เรื่องนี้ก็ต้องใช้คนไปส่งนะครับ เห็นไหม มีเรื่องค่าตอบแทนและค่าเชื้อเพลิงเข้ามาเกี่ยวด้วยอีกแล้วเพิ่ม carbon emissions เข้าไปในระบบโดยไม่รู้ตัว 

วันประชุมก็ต้องมีค่าเบี้ยประชุม ค่าน้ำชากาแฟ ค่าน้ำ ค่าไฟ  ยิ่งคณะกรรมการใหญ่ ๆ มีกรรมการเยอะ ๆ นี่ยิ่งเปลืองมาก คนจัดประชุมจะรู้ดีว่ามีค่าอะไรบ้าง บางที่มีค่าของว่างด้วย นั่งประชุมไปกินไป อ้วนเข้าไปอีก นับเป็นผลเสียต่อสุขภาพของผู้เข้าร่วมประชุมในทางอ้อม ลำบากต้องหาทางรีดแคลลอรี่หลังเลิกงานเป็นของแถม

การเชิญผู้แทนมาร่วมประชุมชี้แจงนี่ก็เป็นเรื่องนะครับ น้อยหน่วยนักที่จะมีผู้แทนมาประชุมคนเดียว โดยมากขนกันมาเป็นรถตู้ ไม่รู้มาทำไมกันเยอะแยะ เสียเวลาทำงานเปล่า ๆ ปลี้ ๆ เพราะคนชี้แจงจริง ๆ ก็มีคนสองคนเท่านั้น ที่เหลือเห็นก้มหน้าก้มตาเล่นโซเชียลมีเดียกันในห้องประชุมซึ่งไม่สมควรเลย 

หลังจากประชุมเสร็จฝ่ายเลขานุการก็จะต้องทำรายงานการประชุมส่งให้กรรมการรับรอง กว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้นเป็นรายงานการประชุมได้นี่ก็สิ้นเปลืองทรัพยากรหลายอยู่ เพราะไม่ใช่เขียนครั้งเดียวจะสมบูรณ์ ต้องให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงตรวจแก้กันอีกหลายรอบ

เรื่องประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการประชุมก็วัดได้ยาก ถ้าได้ฝ่ายเลขานุการเก่ง ๆ หรือที่มักจะเรียกว่า แข็ง” พวกนี้เขาเตรียมมาดี คณะกรรมการพิจารณาแล้วก็จะมีมติเห็นด้วยกับเขาเกือบจะร้อยละร้อย และมติที่ออกไปก็สามารถเป็นแนวปฏิบัติหรือวินิจฉัยได้ถูกต้อง แต่ถ้าฝ่ายเลขานุการ อ่อน” บางทีกว่าจะมีมติอะไรได้ก็ต้องประชุมกันหลายครั้ง ปากเปียกปากแฉะประชุมกันอยู่นั่นกว่าฝ่ายเลขานุการจะเข้าใจ ต้นทุนเพิ่มไปอีก

ที่สำคัญ ก่อนที่จะนำเรื่องเข้าเสนอคณะกรรมการนี่ ฝ่ายเลขานุการเขาต้องใช้เวลาศึกษาและทำเรื่องเสนอคณะกรรมการนะครับ ขั้นตอนนี้ใช้เวลาต่างกันมาก คนที่ตระหนักว่าเรื่องที่ต้องเอาเข้าคณะกรรมการเพื่อพิจารณานั้นเป็นเรื่องสำคัญ เขาก็จะรีบทำเร่งด่วนเพราะทุกอย่างล้วนรอ มติ” ของคณะกรรมการอยู่ แต่คนไหนไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้ เขาก็ทำไปแบบงานปกติประจำ กว่าจะเข้าคณะกรรมการพิจารณาได้ก็เป็นเดือน ๆ ปัญหาที่หารือมาตอนต้นอาจเป็นเรื่องเล็ก ๆ ก็จะบานปลายไปเรื่อย ๆ จนเป็นที่มาว่าคณะกรรมการนั้นนี่โน้นทำงานช้า 

อีกประการหนึ่งที่ทำให้ฝ่ายเลขานุการเขาทำเรื่องช้า ก็เป็นเพราะไม่มั่นอกมั่นใจในวิชาความรู้หรือความคิดเห็นของตนเอง ตัดสินใจไม่ถูกว่าจะเสนอให้มีมติ ก. หรือ ข. หรือ ค. ดี และที่ทำให้ช้าหนักขึ้นไปอีกก็เป็นเรื่องสายงานและขั้นตอนการเสนองานเพื่อกลั่นกรองก่อนที่จะนำเข้าคณะกรรมการเพื่อพิจารณา ถ้ายาวยืด ก็อาจช้าได้ แต่อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของกระบวนการด้วย เจอคนกลั่นกรองประเภทตอไม้ที่ตายแล้วหรือ Dead wood ท่านก็จะเซ็นผ่าน ๆ ไป อันนี้ถึงจะเร็วก็ไม่มีประสิทธิภาพ บางท่านละเอียดแต่ช้ามาก อันนี้ก็สร้างปัญหาอีกแบบ 

หลังจากคณะกรรมการมีมติ ฝ่ายเลขานุการก็ต้องทำเรื่องให้แล้วเสร็จตามกระบวนการ รวมทั้งแจ้งคนหารือมาเพื่อทราบมติคณะกรรมการด้วย ถ้าเจอคนขยันทำก็แล้วไป ถ้าเจอคนเรื่อยเปื่อยเฉื่อยแฉะเป็นคนรับผิดชอบละก็ กว่ามติจะออกไปได้ก็ช้าไปอีก กลายเป็นคณะกรรมการทำงานช้าไปเสียฉิบ

บ้านเราใช้ระบบคณะกรรมการมากมายในทุกระดับ จนชินกับระบบนี้ไปแล้ว จึงไม่มีใครตระหนักถึงต้นทุนและประสิทธิภาพประสิทธิผลของระบบคณะกรรมการเท่าไรนัก

มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เขาจึงบอกว่าควรใช้ระบบคณะกรรมการเพียงเท่าที่จำเป็นไง 

ไม่ต้องมีคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงานมันทุกเรื่องหรอกครับ เอาเท่าที่จำเป็นจริง ๆ ดีกว่า 

จะได้เอางบประมาณไปทำอย่างอื่น

แถมลดโลกร้อนได้ด้วยนะเออ.

วันอังคารที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2562

"ห้องปฏิบัติการภาครัฐ (GovLab) เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน" โดยนางโชติมา สงวนพร เวชพันธ์*

                   ในรอบทศวรรษที่ผ่าน ระบบราชการของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้มีการปรับเปลี่ยน ยกเครื่อง พลิกโฉม หรือที่คุ้นเคยกันดีกับคำยอดนิยม ปฏิรูประบบราชการ ขนานใหญ่ ทั้งมาจากผลกระทบของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่มาถึงจุดที่ทำให้รูปแบบการดำเนินชีวิต การบริหารงานภาครัฐ การประกอบธุรกิจ และเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรุนแรง (Disruptive Technologies)

                   ประเทศไทยเราก็เช่นเดียวกัน ได้มีการปรับเปลี่ยน รื้อระบบ ผ่าระบบราชการจนเกือบจะถึงพลิกระบบราชการแบบหน้ามือเป็นหลังมือก็ว่าได้ ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะการพลิกระบบราชการนั้น หมายถึงต้องเปลี่ยนแปลงอย่างทั้งหมดในฉับพลัน แต่ของบ้านเรายังไม่ได้ไปไกลถึงขั้นนั้น

                   การเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารราชการของบ้านเรา โดยเฉพาะเรื่องงานบริการของภาครัฐ พบว่า ในหลาย ๆ ประเทศมีการนำ “นวัตกรรม” มาเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง และนวัตกรรมจะเป็นตัวที่ช่วยสนับสนุนให้งานบริการของภาครัฐมีประสิทธิภาพ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตนเองให้มีความยั่งยืน ดังที่ได้มีการสื่อสารกันในเวทีการสัมมนา Observatory of Public Sector Innovation (OPSI) ของ OECD ว่า
                   “การสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในการปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น (Better Lives) และกลายเป็นปรากฎการณ์ใหม่ซึ่งกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา (New Normal) ของการบริหารกิจการบ้านเมืองในบรรดาประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกไปแล้ว

                   สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้ริเริ่มและผลักดันโครงการห้องปฏิบัติการภาครัฐ หรือ Government Innovation Lab (GovLab) ตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ ซึ่งสอดคล้องและเป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๖๐  หมวด ๑๖ การปฏิรูปประเทศ มาตรา ๒๕๘ ข (๔) ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน กำหนดให้มีการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารงานบุคคลภาครัฐ ให้มีความคิดสร้างสรรค์และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้การปฏิบัติราชการและการบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับโมเดลใหม่ของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทย หรือ ‘ประเทศไทย ๔.๐’ มุ่งเน้นการขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรมเพื่อก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

                   เมื่อบริบทการบริหารประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ภาครัฐซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาประเทศต้องปรับตัวตาม และต้องสามารถเติบโตอย่างยั่งยืนท่ามกลางบริบทใหม่ทางการบริหารจัดการภาครัฐ GovLab จึงเป็นความท้าทายใหม่ที่รัฐบาลในหลายประเทศนำมาใช้ในการยกระดับงานบริการภาครัฐ

                   จากข้อมูลของ Apoltical Group เปิดเผยว่า ปัจจุบันมี GovLab ที่จัดตั้งโดยรัฐบาลประมาณกว่า ๙๐ แห่งทั่วโลก ประกอบด้วย ทวีปยุโรป ๓๔ แห่ง อเมริกาเหนือ ๒๙ แห่ง อเมริกากลางและอเมริกาใต้ ๑๕ แห่ง โอเชียเนีย ๘ แห่ง เอเชีย ๖ แห่ง และตะวันออกกลางและแอฟริกากลาง ๔ แห่ง

                   GovLab ที่สำคัญ อาทิ NESTA สหราชอาณาจักร MindLab ประเทศเดนมาร์ก Sitra ประเทศฟินแลนด์ Seoul Innovation Bureau ประเทศเกาหลีใต้ Innovation Lab สาธารณรัฐอินโดนีเซีย เป็นต้น

                   GovLab ของสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นการสร้างกระบวนการทางความคิด (Mindset) ของข้าราชการใหม่โดยใช้แนวคิด Design Thinking การมุ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง และการมีส่วนร่วมในการพัฒนานวัตกรรมงานภาครัฐไปด้วยกัน (Co-creation) ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของภาครัฐจากเดิมๆ แนวคิด Design Thinking ประกอบไปด้วย 4 ขั้นตอนสำคัญ ได้แก่ การเข้าใจภาพรวม การเข้าถึงความต้องการ การพัฒนาและทดสอบแนวคิด และการวางแผนเพื่อนำไปใช้ ซึ่งแนวคิด Design Thinking ดังกล่าวมีความสอดคล้องกับ “ศาสตร์พระราชา” หรือหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร คือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนานั่นเอง

                   สำนักงาน ก.พ.ร. ดำเนินการ GovLab โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมา ๓ ปีแล้ว ได้คิดค้น ออกแบบนวัตกรรมงานบริการทั้งสิ้นจำนวน ๑๗ ต้นแบบนวัตกรรมงานบริการภาครัฐ (Prototypes) ซึ่งครอบคลุมงานบริการสาธารณะที่หลากหลาย และเป็นงานบริการพื้นฐานที่มีผลกระทบกับประชาชนสูง อาทิ ระบบการรอคิวตรวจรักษาในโรงพยาบาล การแก้ปัญหาความล่าช้าในกระบวนการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์สมุนไพร การปรับกระบวนงานการออกมาตรฐาน ISO ของห้องปฏิบัติการทดสอบ การรายงานและการติดตามของศูนย์ดำรงธรรม การแก้ปัญหาการเกษตรด้านข้อมูลปริมาณน้ำสำหรับเกษตรกร การแก้ไขปัญหาประชาชนในระดับพื้นที่ (อำเภอ) (เช่น สังคมสูงวัย การปลูกพืชแบบออร์แกนิก) การลดอุบัติเหตุการจราจรทางบก การลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว การบริหารจัดการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส การติดตามรายงานตัวคนต่างด้าวอย่างบูรณาการ การจัดการเรียนรู้แบบสหวิทยาการ และการเริ่มต้นธุรกิจ SMEs

                   ทั้งนี้ ต้นแบบนวัตกรรมงานบริการภาครัฐทั้ง ๑๗ ต้นแบบ เป็นการออกแบบนวัตกรรมงานบริการภาครัฐบนพื้นฐานของการนำประโยชน์ของ “เทคโนโลยี” มาใช้ทั้งสิ้น ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกรวดเร็วให้แก่ประชาชนผู้มารับบริการ ลดต้นทุนในการให้บริการทั้งภาครัฐและประชาชน เหมือนดังหลักการ Easier, Faster, Cheaper และ Happier

                   ตัวอย่างของนวัตกรรมงานบริการภาครัฐที่ GovLab ร่วมกันคิดค้น คือ ปัญหาแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในประเทศแบบผิดกฎหมาย

                   ปัจจุบันต้องยอมรับว่าประเทศไทยต้องพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวจำนวนมากในแต่ละปี ซึ่งแรงงานดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะกำลังแรงงานไทยไม่เพียงพอจะทดแทนแรงงานที่จะเกษียณ และไทยมีนโยบายที่จะเปลี่ยนโครงสร้างภาคแรงงานให้มีทักษะยิ่งขึ้น ประกอบกับคนไทยไม่นิยมทำงานหนัก ทำให้มีการไหลเข้ามาของแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีแรงงานต่างด้าวจำนวนมากอาศัยและทำงานอยู่ในประเทศไทย ทั้งภาคอุตสาหกรรม การเกษตร และครัวเรือน อย่างไรก็ดี ปัญหาที่ตามมาของภาครัฐ คือ ประเทศไทยประสบปัญหาแรงงานต่างด้าวนอกระบบ มีแรงงานต่างด้าวจำนวนไม่น้อยที่ยัง “อยู่ใต้ดิน” ลักลอบเข้ามาทำงานในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย

                   สำนักงาน ก.พ.ร. จึงได้นำประเด็นปัญหานี้เข้าสู่ GovLab เพื่อผ่าปัญหาการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว โดยใช้กระบวนการ Design Thinking ทำความเข้าใจที่มาของปัญหาเชิงลึกทั้งจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐ แรงงานต่างด้าว และนายจ้าง ซึ่งทำให้พบว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นายจ้างไม่นำลูกจ้างแรงงานต่างด้าวของตนมาลงทะเบียนนั้น มาจากความซับซ้อน ยุ่งยาก และใช้เวลานานของการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว จึงได้พัฒนาต้นแบบนวัตกรรมงานบริการ (Prototype) “แอพลิเคชันการลงทะเบียนแรงงานต่างด้าว” ขึ้นเพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียน ลดปัญหาการหลบเลี่ยงการลงทะเบียน และเกิดประสิทธิภาพในการคุ้มครองแรงงาน

                   นี่เป็นเพียงบางส่วนของต้นแบบนวัตกรรมงานบริการภาครัฐที่ขอมาสะท้อนให้เห็นถึงมิติใหม่ในการจัดให้บริการสาธารณะแก่ประชาชนที่ดึงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดรวมทั้งประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ได้รับความเดือนร้อนมาร่วมกันออกแบบงานบริการเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้รับบริการอย่างแท้จริง มิเช่นนั้น จะเป็นการคิดทางออกของปัญหาจากภาครัฐแต่เพียงฝ่ายเดียวเหมือนในอดีตที่ผ่านมา

                   สำหรับการดำเนินการ GovLab หัวใจสำคัญที่มีส่วนในการขับเคลื่อนความสำเร็จในครั้งนี้ คือ นวัตกรที่ปรึกษา (Innovation Team) ซึ่งในส่วนกลางจะใช้ทีมนวัตกรที่ปรึกษาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาทำหน้าที่หลักในการร่วมดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ใน GovLab และจะเป็นทีมนวัตกรที่ปรึกษาตัวคูณในอนาคตต่อไป ส่วนในพื้นที่จะใช้ Dream team ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่หรือประชาชนในพื้นที่เป็นกำลังสำคัญในการประสานงานและขับเคลื่อนความสำเร็จในการออกแบบนวัตกรรมการบริการ  ดังนั้น หัวใจหลักของการบริหารงานภาครัฐและการจัดบริการสาธารณะในรูปแบบที่เรียกว่า GovLab ก็คือ การออกแบบกระบวนงานให้บริการ (Service Design) ซึ่งจะมาจากความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างแท้จริง และภาครัฐจะต้องพยายามแสวงหาความร่วมมือจากภาคส่วนอื่นของสังคมและทำงานร่วมกัน รวมทั้งต้องพร้อมที่จะเรียนรู้และปรับตัวไปพร้อมกันกับภาคส่วนอื่น ๆ

                   ท้ายนี้ สิ่งที่ผู้เขียนขอย้ำว่า “นวัตกรรมภาครัฐ” เป็น การแสวงหาวิธีการใหม่ ๆ เพี่อบรรลุเป้าหมายอันเป็นที่พึงปรารถนาของประชาชนและสังคมส่วนรวมแทนที่จะทำงานตามระเบียบแบบแผนดั้งเดิมที่ทำต่อ ๆ กันมาเรื่อยเจื้อยโดยไม่คำนึงว่าบริบทต่าง ๆ มันเปลี่ยนแปลงไปแล้ว  ระบบราชการต้องพัฒนาให้ทันกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป นวัตกรรมไม่ใช่เรื่องของเทคโนโลยีสมัยใหม่เท่านั้น แต่เป็นทุกเรื่องที่จะทำให้การทำงานหรือการให้บริการประชาชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น และไม่ใช่เพียงคิด แต่ต้องนำไปสู่การปฏิบัติจริงด้วย  ทั้งนี้ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน (Better Lives)

***************

*นักพัฒนาระบบราชการชำนาญการพิเศษ สำนักงาน ก.พ.ร.

วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2562

“อุดมศึกษากับการพัฒนา Startups” ปกรณ์ นิลประพันธ์

เมื่อปี 2551 คณะธุรกิจ  (Business School) ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ออสเตรเลีย ได้เริ่มต้นโครงการ Genesis ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม Startups เพราะเห็นว่ามหาวิทยาลัยเป็นแหล่งความรู้ที่หลากหลาย น่าจะสามารถช่วยบ่มเพาะ Startups ให้เกิดและเติบโตได้อย่างเข้มแข็งได้ และสอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยเองที่จะต้องให้บริการสังคม

โครงการนี้เขาเปิดให้นักศึกษาทุกระดับและพนักงานของมหาวิทยาลัย รวมทั้งศิษย์เก่า เข้าร่วมเสนอโครงการได้ จะเสนอเดี่ยว ๆ หรือเป็นทีมก็ได้  ในกรณีที่เป็นทีม ขออย่างเดียวคือหัวหน้าทีมต้องเป็นนักศึกษา พนักงาน หรือศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยเท่านั้น จะมีคนอื่นมาร่วมแจมด้วยไม่ว่ากัน

ปีหนึ่งเขารับสมัครประมาณ 15 โครงการ โดยคณะธุรกิจจะช่วยจัดหาผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่าง ๆ ทั้งคณาจารย์และนักธุรกิจตัวจริง มาให้คำแนะนำและชี้แนะผู้เข้าร่วมโครงการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจและการบริหารธุรกิจ ทั้งในภาพรวมและในธุรกิจรายสาขา แนะนำการสร้าง Brand การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การจัดงานเปิดตัว Startups ผู้เข้าร่วมโครงการโดยเชิญนักธุรกิจและแหล่งทุนเข้าร่วมงาน จับคู่ธุรกิจฯลฯ  ทั้งนี้ Startups แห่งปีจะได้รับเงินอุดหนุนจากโครงการเป็นเงินสดจำนวน  25,000 ดอลล่าร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 512,500 บาทเอาไปทำทุนด้วย

จนถึงปัจจุบัน มีนักศึกษา พนักงาน และศิษย์เก่าที่เข้าร่วมโครงการนี้กว่าหนึ่งพันคนจากเกือบทุกคณะของมหาวิทยาลัยได้กลายเป็นผู้ประกอบการจริง ๆ ทั้งธุรกิจทั่วไป และธุรกิจเพื่อสังคม

สิบเอ็ดปีสร้างผู้ประกอบการได้พันกว่าคน ไม่น้อยนะครับนี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริบทที่การประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก 

ในปีนี้ (2562) โครงการ ADVOC8 ที่เป็น platform เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ในมิติของแผนที่ ได้รับเลือกให้เป็น Startups แห่งปีของ Genesis ทั้งยังได้รับรางวัล NSW iAward จากรัฐ New South Wales ด้วย 

ผู้เขียนติดตามโครงการนี้มาหลายปี เห็นว่าการที่สถาบันอุดมศึกษาสนับสนุนการสร้าง Startups นั้นเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะมหาวิทยาลัยมีความพร้อมในทางวิชาการ มีอาจารย์และนักวิจัยจำนวนมาก มีเครื่องไม้เครื่องมือ กับมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทั้งยังเป็นการประยุกต์องค์ความรู้ทางวิชาการให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงขึ้นได้ และมหาวิทยาลัยก็จะได้องค์ความรู้ใหม่ ๆ กลับไปถ่ายทอดให้นักศึกษาต่อไปด้วย ไม่ได้สอนแต่เรื่องในตำราอย่างเดียวเหมือนมหาวิทยาลัยเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว

แต่เดิมนั้นออสเตรเลียเขามีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริม SMEs โดยเฉพาะเหมือนกัน บัดนี้หน่วยงานนั้นเขาก็ยังทำอยู่ แต่เขาส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยทำควบคู่ไปด้วยโดยเหตุผลดังว่า 

บ้านเรามีมหาวิทยาลัยมากมาย และกระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ผู้เขียนจึงเห็นว่าหากทุกมหาวิทยาลัยมีโครงการอย่าง Genesis บ้างก็น่าจะดี เพราะนอกจากจะเป็นการสร้าง Startups ขึ้นในทุกพื้นที่แล้ว ยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ในทางปฏิบัติให้แก่มหาวิทยาลัย และยังทำให้มหาวิทยาลัยให้บริการแก่สังคมได้อย่างแท้จริงด้วย นอกเหนือจากการรับงานวิจัยดังที่ทำ ๆ กันอยู่

ผู้เขียนว่าการให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริม Startups ทำอยู่คนเดียวตามหลัก Function base นั้นน่าจะเชยไปแล้วสำหรับยุคนี้ ยุคที่เราต้องรีบปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมให้เป็น สังคมผู้ประกอบการ” ไม่ใช่สังคมลูกจ้างและข้าราชการเหมือนในยุค 3.0 ที่ผู้เขียนเติบโตมา

เกือบลืม Genesis นี่เขาไม่ได้เน้นให้โครงการที่ผู้ประกอบการสามารถหากำไรสูงสุดเท่านั้นนะครับ เขาเน้นให้ผู้ประกอบการมีคุณธรรมจริยธรรมด้วย เพราะการพัฒนานั้นต้องคำนึงถึง ความสมดุล” ระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ และความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนประกอบกัน การพัฒนาจึงจะยั่งยืนตามมาตรา 75 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560

ไม่ใช่คิดแต่ว่าฉันกับพวกจะได้อะไรอย่างเดียว

น่าสนใจนะครับ.

วันพฤหัสบดีที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2562

"การใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนของจีน" โดยนางสาวชนันภรณ์ ปุ้งเผ่าพันธ์*


                   เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสรับฟังการถ่ายทอดความรู้จากท่านองคมนตรี นายแพทย์เกษม วัฒนชัย เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศจีน ทำให้ผู้เขียนเรียนรู้ว่าหลังจากท่านสี จิ้น ผิง (Xi Jinping) ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555 ท่านได้กล่าวถึง “ความฝันของจีน1” (Chinese dream) ว่า ความฝันของคนจีนในวันนี้คือการฟื้นฟูชาติ และท่านได้ออกมาตรการต่าง ๆ และเร่งดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นระบบ จนมีแนวโน้มว่าความฝันของจีนจะสำเร็จเป็นจริงได้ภายในปี 2020

                   ปัจจัยของความสำเร็จนอกจากระบบการเมืองการปกครองที่ทำให้นโยบายมีความต่อเนื่องแล้ว ยังมีภาคราชการที่เข้มแข็งและจริงจัง มีมาตรการช่วยเหลืออย่างตรงจุดและตรงกลุ่ม2 รวมตลอดทั้งวัฒนธรรม ความเชื่อ และการดำรงชีวิตตามปรัชญาและคำสอนของนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่อย่างขงจื๊อ เล่าจื๊อ

                   ผู้เขียนนำข้อคิดที่ได้รับจากท่านองคมนตรีมาคิดวิเคราะห์ต่อว่า นอกจากแนวคิดแนวปฏิบัติที่ภาครัฐจะต้องเข้าใจ และเข้าถึง เพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจน รวมไปถึงบริบทของครอบครัวและสังคมของคนกลุ่มนี้แล้วนั้น อะไรคือเครื่องมืออันชาญฉลาดที่ช่วยให้ภาครัฐสามารถทุ่นแรงในการนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของคนในชาติโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม

                   คำตอบหนึ่งที่มีอยู่คงไม่หนีพ้นเรื่องของการใช้ “เทคโนโลยี” (Technology) เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน

                   ฟังดูแล้วการใช้เทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาความยากจนออกจะไกล ๆ กันสักหน่อย แต่จริง ๆ แล้ว ภาครัฐของประเทศจีนทุ่มเทเทคโนโลยีมาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความยากจนมาเป็นระยะเวลานาน บนหลักการที่ว่า “ต้องแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด” ซึ่งการจะแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดได้ ต้องมีข้อมูลระดับครัวเรือน เพราะแต่ละครัวเรือนยากจนเพราะปัญหาที่แตกต่างกัน การมีข้อมูลความยากจนของครัวเรือนโดยละเอียดและทันสมัยจึงจะทำให้ภาครัฐรู้ว่าปัญหาของและครัวเรือนคืออะไร จะแก้ปัญหาได้ตรงจุด ไม่ใช้ระบบ one size fits all

                   ที่สำคัญคือ เจ้าหน้าที่ภาครัฐต้องรู้จักคุณค่าและความสำคัญของเทคโนโลยีที่ว่าและนำมาใช้อย่างจริงจัง ไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ใดก็สามารถหยิบยกข้อมูลที่เกิดจากระบบเทคโนโลยีไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในระดับครัวเรือนได้จากทุกที่ ทุกเวลา

                   จากการศึกษาเพิ่มเติม ผู้เขียนพบว่าจีนใช้ยุทธศาสตร์การเก็บข้อมูล (Data)3 เพื่อที่จะนำมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ที่จะใช้วัดความยากจน ซึ่งประเทศจีนมีความพยายามในการเก็บรวบรวมข้อมูลเรื่องความยากจนและเผยแพร่แก่คนทั่วไป อันจะทำให้นักวิเคราะห์สามารถนำข้อมูลมาใช้ประเมินผลลัพธ์ของนโยบายรัฐ ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐเองก็สามารถอาศัยข้อมูลมาใช้กำหนดนโยบายต่อสู่กับความยากจน และปรับปรุงนโยบายเมื่อสภาพการณ์เปลี่ยนแปลงไป

                   รัฐบาลจีนเลือกใช้วิธีเก็บปริมาณข้อมูลจำนวนมหาศาลที่มีอยู่ทุกรูปแบบ (Big Data) โดยกำหนดให้มณฑลกุ้ยโจวเป็นที่ตั้งของศูนย์ Big Data แห่งแรกของประเทศจีน ทั้ง ๆ ที่มณฑลกุ้ยโจวมีประชากรยากจนอยู่ในอันดับต้น ๆ ของจีน แต่กลับมีข้อได้เปรียบด้านปัจจัยการพัฒนา Big Data หลายประการ ทั้งในด้านสภาพภูมิอากาศ (Weather) เพราะมีอุณหภูมิ (Temperature) ที่เหมาะสม ส่งผลดีต่อการควบคุมอุปกรณ์ IT มีต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกเพราะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่สำคัญของประเทศจีน และที่สำคัญคือโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่สมบูรณ์ เพราะกุ้ยโจวเป็นเมืองแรกของประเทศจีน ที่มี Wi-Fi ครอบคลุมทั้งเมือง ประชาชนจึงเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างง่ายดาย4

                   เจ้า Big Data นี่เอง ที่ทำให้กุ้ยโจว มณฑลที่มีประชากรยากจนจำนวนมากเป็นอันดับต้น ๆ ของจีน เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหัศจรรย์ กล่าวคือ เพียงแค่ 5 ปี อัตราคนยากจนลดลงจากร้อยละ 26.8 เหลือเพียงร้อยละ 8 เท่านั้น5  ซึ่งไม่เพียงแต่จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของมณฑลกุ้ยโจวให้ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้น โดยที่ปัจจุบัน กุ้ยโจวยังคงสามารถรักษาอัตราการเติบโตของ GDP ให้ติด 1 ใน 3 ของจีน ต่อเนื่องกันมานานถึง 7 ปี6

                   โดยรัฐบาลกุ้ยโจวใช้ Big Data ควบคู่ไปกับระบบคอมพิวเตอร์ที่พร้อมรองรับการทำงานของผู้ใช้งานในทุก ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นระบบเครือข่าย การจัดเก็บข้อมูล การทดสอบระบบหรือติดตั้งฐานข้อมูล หรือการใช้งานซอฟต์แวร์เฉพาะด้านในธุรกิจต่าง ๆ โดยที่ผู้ใช้งานไม่ต้องติดตั้งระบบทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ไว้ที่สำนักงานให้ยุ่งยาก แต่สามารถใช้งานในสิ่งที่ต้องการได้ด้วยการเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตหรือที่เรียกว่า “Cloud Computing

                   ในการทำ Cloud Computing จะมีการสร้างแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า “Poverty Alleviation Cloud” ซึ่งทำงานบนระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) เพื่อเก็บข้อมูลคนจนตัวจริง ตรวจสอบ และให้ความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับ 17 หน่วยงานในระดับมณฑลที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานตำรวจ กรมการศึกษา สำนักงานทรัพยากรมนุษย์และประกันสังคม เข้าไว้ด้วยกัน สามารถแชร์ข้อมูลร่วมกันแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านแพลตฟอร์มรัฐบาลกุ้ยโจวที่ชื่อว่า Guizhou-Cloud

                   ตัวอย่างการใช้แพลตฟอร์มที่ว่านี้ เช่น เด็กนักเรียนที่อยู่ในครอบครัวฐานะยากจนที่สอบชิงทุนหรือขอทุนได้ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อใช้จ่ายระหว่างรอรับทุน 4 – 6 เดือน เด็กนักเรียนคนนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องสละสิทธิ์และโอกาสเรียน แต่เมื่อกุ้ยโจวใช้ Big Data ตรวจสอบว่า นักเรียนที่ยื่นขอทุนที่มีฐานะยากจนจริง ก็จะได้เรียนหนังสือโดยไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน เป็นต้น7

                   จริง ๆ แล้ว การโยงใยในระบบแพลตฟอร์มดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนนึกไปถึงการซักประวัติ Genograms8 เพื่อคัดกรองประวัติวินิจฉัยหาสาเหตุโรคตามโรงพยาบาล ซึ่งค่อนข้างมีความแม่นยำและมีข้อมูลรายละเอียดตรงกับความเป็นจริง โดยที่ข้อมูลเหล่านั้น จะไม่ได้ตัดปัจจัยที่อาจจะทำให้เกิดสาเหตุของการเกิดโรคนั้นแม้แต่เพียงประการเดียว ซึ่งการวินิจฉัยรูปแบบนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ทราบถึงรายละเอียดข้อมูลของคนไข้ ยังรวมไปถึงญาติพี่น้องอีกด้วย

                   แพลตฟอร์มฐานข้อมูลข้างต้นนี้ มีความครอบคลุมในทุก ๆ ด้าน แถมยังมีการวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการชื่อเสียงและมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์ในแต่ละพื้นที่ แล้วทางภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ ร่วมหารือปลุกปั้นกันอย่างจริงจังตั้งแต่เริ่มจนถึงการสร้างรายได้ (Value Chain) อีกด้วย ซึ่งถือว่า เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและตรงกลุ่ม  

                   กล่าวได้ว่าแพลตฟอร์มนี้เขาครบเครื่องจริง ๆ และถือเป็น “การให้ความหวังกับคนจน9” อย่างแท้จริงดังวาทะของนายหม่า หยุน หรือแจ๊ค หม่า (Jack Ma) ประธานกลุ่มบริษัทอาลีบาบาเคยกล่าวไว้ 

                   อีกตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีขจัดความยากจน คือ “การทำให้มีตลาดขึ้นในทุกที่” หรือ E-Marketplace หรือ E-Commerce ซึ่งการนำกลยุทธ์การทำตลาดออนไลน์เหล่านี้ให้เข้าถึงชนบท (Rural E-commerce) นั้น เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ประเทศจีนใช้ ทำให้สามารถกระจายสินค้าจากภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนจีนให้เป็นที่รู้จักและมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้นด้วย โดยที่ผู้ผลิตและเกษตรกรในชนบทสามารถได้รับรายได้จากสินค้าของตัวเองมากที่สุด เพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ และลดต้นทุนการผลิต ค่าขนส่ง10

                   หน่วยงานของรัฐจีนมีการร่วมมือกับภาคเอกชน อาทิเช่น Alibaba Group เพื่อร่วมกันพัฒนา E- commerce เข้าไปช่วยสร้างและสอนคนชนบทให้สามารถขายสินค้าการเกษตรและอื่น ๆ ผ่านระบบออนไลน์ รวมไปถึงระบบ Logistics ซึ่งเป็นระบบขนส่งสินค้าตามคำสั่งไปถึงบ้านด้วยระบบการส่งของทั่วประเทศ อันจะนำมาสู่การสร้างงานระดับท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และในขณะเดียวกัน ก็สามารถช่วยให้ผู้อยู่ห่างไกลสามารถเข้าถึงตลาดข้างนอกผ่านระบบแพลตฟอร์มของบริษัทเหล่านี้ได้เช่นเดียวกัน11

                   จะเห็นได้ว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการพัฒนา Rural E-commerce ดังสถิติของทางสถาบัน National Academy of Economic Strategy, CASS ที่ได้เปิดเผยตัวเลขสถิติธุรกิจ E- commerce ของจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2017 ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559 - เดือนพฤษภาคม 2560 ว่า ประเทศจีนมียอดการค้าปลีกออนไลน์สูงถึง 3,022,900 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นยอดค้าปลีกสินค้าทางออนไลน์มีมูลค่า 2,327,200 ล้านหยวน ยอดค้าปลีกบริการทางออนไลน์มีมูลค่า 695,700 ล้านหยวน  ครองสัดส่วนร้อยละ 13.2 ของยอดการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค12 และมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

                        สำหรับการขายสินค้าหรือบริการนั้น ถ้าไม่สามารถความไว้วางใจในสินค้าหรือบริการได้ ก็คงยากที่จะทำให้ลูกค้าตกลงปลงใจที่จะเลือกซื้อสินค้าได้ จีนจึงใช้อีกเทคโนโลยีหนึ่งในการสร้างการรับรู้รายละเอียดของสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้เลือกซื้อสินค้าหรือบริการ นั่นก็คือก็คือระบบ QR Code ที่ทุกคนรู้จักกันดีนี่แหละค่ะ

                   จริง ๆ ระบบ QR Code นี้ใช้ได้หลากหลายมาก ไม่ว่าจะใช้ในการเพิ่มเพื่อนในแอปพลิเคชั่นพูดคุย การชำระค่าบริการและสินค้า การสมัครเป็นสมาชิก หรือแม้กระทั่งใช้ในการตอบแบบสอบถาม  รัฐบาลจีนส่งเสริมให้มีการใช้ระบบนี้เพื่อให้ภาครัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลคนยากจนได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน มันก็ช่วยทำการตลาดออนไลน์ได้ด้วย ผู้ที่เลือกซื้อสินค้าสามารถใช้สมาร์ทโฟนสแกนดูข้อมูลเกี่ยวกับสินค้านั้น ๆ อาทิเช่น สินค้าเกษตร สามารถดูเวลาและสถานที่เพาะปลูก เวลาที่บรรจุสินค้า แล้วหลังจากนั้นก็ใช้เทคโนโลยีระบบรวบรวมยอดขายผ่านระบบสแกนบาร์โค้ด (Barcode) ซึ่งสามารถวิเคราะห์เส้นทางการขาย รวมถึงการต่อยอดการขายผลิตภัณฑ์ออนไลน์ได้อีกด้วย13

                   การใช้ระบบ QR Code นั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจและเหมาะกับยุคสมัย เพราะในปัจจุบัน เครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้สื่อสารส่วนใหญ่ที่ผลิตขึ้นมานั้น มีระบบการทำงานที่สามารถเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตและสามารถสแกน QR Code ได้แทบทั้งสิ้น

                   เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย ปัจจุบันหลายหน่วยงานมีความมุ่งมั่นร่วมมือกันในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลแบบตรงจุด การบริหารจัดการตลาด และการสร้างความเชื่อมั่น เพื่อตอบโจทย์ปัญหาความยากจนของประชาชน และในทุกพื้นที่ต่างก็มีการดำเนินการโครงการพัฒนาช่วยกันแก้ไขปัญหายากจนให้เป็นความจริงในปัจจุบัน เช่น โครงการจับคู่เสี่ยว เกี่ยวก้อย แก้จน คนขอนแก่น ซึ่งดำเนินการในพื้นที่ที่ผู้เขียนเคยได้รับมอบหมายไปปฏิบัติราชการในช่วงที่อยู่ในโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (โครงการ น.ป.ร. ของสำนักงาน ก.พ.ร.)

                   อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่า การตอบโจทย์ของปัญหานี้ มิใช่ว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวไกลไปเพียงด้านเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการเห็นประโยชน์และคุณค่าของสิ่งที่จะทำ รวมไปถึงความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อจะนำสิ่งที่พัฒนาไปประยุกต์ใช้ให้คนพ้นจนได้เป็นจริงด้วย หากใช้เทคโนโลยีมาผสมผสานกับการดำเนินงานที่เป็นอยู่ ก็จะเร่งให้ประชาชนพ้นจากความยากจนได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังสามารถติดตามงานอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่ว่าพ้นจนแล้วยังกลับไปจนอีกรอบ เหมือนดั่งที่มีคนเคยกล่าวว่า เป็นการหาจุดอุดรอยโอ่ง ในขณะที่เติมน้ำใส่ไปพร้อมกันอีกด้วย

                   ทั้งนี้ ผู้เขียนในฐานะนักพัฒนาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ.ร. ยังคงเชื่อมั่นศรัทธาในพลังความร่วมมือร่วมใจและศักยภาพของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยกันพัฒนาประเทศชาติเพื่อให้ประชาชนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริงได้ในเร็ววัน

***********************


*นักพัฒนาระบบราชการปฏิบัติการ สำนักงาน ก.พ.ร.

1 ความฝันจีนเป็นความฝันของคนจีน ประกอบด้วยเป้าหมาย 200 ปี กับเป้าหมายแห่งการฟื้นฟูประเทศของจีน ซึ่งเกี่ยวข้องกับสวัสดิการของ
ประชาชน (ที่มา: http://aseanecon.info/20180111/758)
2 รัฐบาลจีนได้กำหนดระบบการจัดการขจัดความยากจน แบ่งเป็น 6 ระบบย่อยคือ มาตรการ-ตั้งทีมงาน-ประเมิน-รับผิดชอบ-ปฎิบัติ-ติดตามและตรวจสอบ มาตรการการช่วยเหลือผู้ยากจนของรัฐบาลจีนไม่ใช่การหว่านแห แต่คือการช่วยเหลืออย่างตรงจุดและตรงกลุ่มหรือที่ภาษาจีนกล่าวว่า จิงจุ่น(精准)หน่วยงานที่ดูแลมีการเข้าไปสอดส่องและตามงานอย่างใกล้ชิด สิ่งสำคัญคือ การช่วยเหลือคนจนและไม่ให้คนจนกลับไปจนอีกรอบ (ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์, ออนไลน์ , https://mgronline.com/china/detail/9610000107276)
3 ที่มา : https://thaipublica.org/2018/01/pridi84/
4 ที่มา :https://www.thaibizchina.com/กุ้ยโจว-จากมณฑลยากจนสู่/
5 ที่มา : http://www.1one.asia/featured/big-data-ดัน-ศก-จีนโตพุ่งพรวด/
6 ที่มา : http://www.thaiembbeij.org/thaibizchina/th/business-opportunity/detail.php?SECTION_ID=616&ID=18261
7 ที่มา : https://www.salika.co/2018/08/08/guizhou-use-big-data-and-cloud-reduce-poverty/
8 Genograms เป็นเครื่องมือทางคลินิกที่ช่วยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ในการนำข้อมูลของครอบครัว ในการนำข้อมูลของครอบครัวผู้ป่วยมาเขียนโครงสร้างครอบครัว (Family tree) เพื่อให้เข้าใจความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวทั้งด้านการเจ็บป่วย ความสัมพันธ์ทางสังคม ได้อย่างรวดเร็ว และนำไปใช้ในการแก้ปัญหา ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ http://www.oocities.org/thaifammed/genograms.htm
9 ที่มา : http://tha.briia.org/node/90
10 ที่มา : https://www.ditp.go.th/contents_attach/160670/160670.pdf
11 ที่มา : https://www.thaipost.net/main/detail/26350
12 ที่มา : https://www.ditp.go.th/contents_attach/180267/180267.pdf
13 ที่มา : https://globthailand.com/china_0168/

วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2562

“ป้ายทะเบียนเพื่อความปลอดภัย” ปกรณ์ นิลประพันธ์

หลายวันที่ผ่านมามีเหตุการณ์สร้างความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นในบ้านเมืองหลายจุด แม้ทางราชการจะระมัดระวังอย่างไร พวกกวนเมืองก็ยังหาช่องทางลงมืออยู่เนืองๆ ยิ่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุร้ายเหล่านี้ยิ่งเป็นที่สะเทือนใจ 

หากมีใครบอกว่าการละเมิดสิทธิมนุษย์ชนต้องเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำต่อประชาชนเท่านั้น ด้วยความเคารพ ผู้เขียนไม่เห็นด้วยอย่างแรงส์

ในทัศนะของผู้เขียน บรรดาการก่อการร้ายที่กระทบต่อชีวิตและร่างกายของผู้อื่นเหล่านี้ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษย์ชนทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่รับไม่ได้อย่างยิ่งและสมควรถูกประนาม และใครก็ตามที่เอาประเด็นเหล่านี้ไปสร้างคะแนนนิยมทางการเมือง นับว่าเป็นผู้มีรสนิยมที่ไม่น่าพิศมัยเอามากๆ จนถึงขั้นน่ารังเกียจทีเดียว

วันนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับพี่ๆ หลายท่านเกี่ยวกับระบบราชการในยุค disruptive technology จึงลองใช้เหตุการณ์อันน่าสลดใจนี้ขึ้นเป็นกรณีศึกษา เชื่อไหมครับว่าได้ข้อคิดดีๆ มากมาย 

หนึ่งในข้อเสนอที่น่าสนใจก็คือ บัดนี้เราทำใบขับขี่ดิจิทัลได้แล้ว (แม้จะยังใช้แทนใบขับขี่จริงไม่ได้เสียทีหากเราทำป้ายทะเบียนรถดิจิทัลได้ ก็จะใช้ประโยชน์เสริมในการตรวจสอบรถต้องสงสัยได้ง่ายขึ้น ทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนก็จะมีความปลอดภัยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากคาร์บอมหรือมอเตอร์ไซค์บอม

ถามว่าเจ้าป้ายทะเบียนรถดิจิทัลที่ว่านี้มันมีหลักการอย่างไร พี่ท่านเสนอว่าเรามีนักวิจัยเยอะแยะ ข้อมูลการจดทะเบียนรถทั้งหลายก็มีครบ จึงน่าจะเป็นไปได้สูงที่ในป้ายทะเบียนทุกป้ายจะฝังชิพข้อมูลเกี่ยวกับรถคันนั้นลงไป เหมือนฝังชิพสุนัข จะต่อทะเบียนหรือแก้ไขรายการจดทะเบียน หรือจะจำหน่ายจ่ายโอนรถ ก็ต้องนำทะเบียนมาอัปเดตข้อมูลในชิพด้วย

เจ้าชิพที่ว่านี้เมื่อใช้แอปพลิเคชั่นในมือถือสแกน หรือใช้เครื่องสแกน มันจะแสดงผลขึ้นมาทันทีว่ารถคันนี้มีข้อมูลตรงตามที่ระบุไว้ในป้ายทะเบียนจริงหรือไม่ ถ้าไม่จริงก็ถือเป็นรถต้องสงสัย เช่น ในเมื่อสแกนดูปรากฏว่าชิพระบุว่าเป็นรถมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อ สีแดง แต่ป้ายทะเบียนที่ว่าดันผ่ามาติดไว้กับรถมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อ .  สีน้ำเงิน หรือว่าเป็นรถไม่มีชิพ อย่างนี้ต้องมีปัญหาแน่ ๆ แจ้ง EOD ไว้ก่อนเลย อันนี้ใช้ในแง่การรักษาความมั่นคงนะครับ

ในแง่การตรวจสอบรถขาดต่อทะเบียน ก็ใช้เครื่องสแกนเอา ไม่ตรงกับชิพหรือไม่มีชิพก็ออกใบสั่งเลย เจ้าหน้าที่ไม่ต้องไปคอยยืนตากแดดมันทั้งร้อนทั้งเหนื่อย … พี่เขาเห็นใจเจ้าหน้าที่ขนาดนั้นนะครับ

สำหรับการลงทุนชิพ พี่ท่านว่าถ้าให้ทางราชการออกข้อกำหนดทางเทคนิค แล้วให้ start up บ้านเรานี่แหละเสนอโครงการมาแข่งกัน เลือกเจ้าที่ตรงกับข้อเสนอทางเทคนิคไว้สองเจ้า ให้เงินไปทำชิพตัวอย่างพร้อมโปรแกรมสแกนมาให้ทางราชการทดสอบ เจ้าไหนตรงกับความต้องการของทางราชการมากที่สุดทำสัญญาสั่งจ้างจากเจ้านั้น แบบเดียวกับที่การจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ทางเทคนิคชั้นสูงของ DARPA ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐเลย โปร่งใสดี แต่คงต้องยกเว้นกฎหมายการพัสดุก่อน เพราะกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างบ้านเรายังทำแบบกระทรวงกลาโหมสหรัฐไม่ได้

ผู้เขียนฟังดูแล้วรู้สึกว่าเข้าท่ามาก เป็นประโยชน์ทั้งการพัฒนาระบบการดูแลรักษาความมั่นคง การพัฒนาระบบราชการ การพัฒนาระบบการจัดซื้อจัดจ้าง การพัฒนาระบบกฎหมาย และที่สำคัญคือการส่งเสริมstart up ด้วยหลายต่อทีเดียว 

นี่ยังทำอย่างอื่นต่อได้ด้วยนะครับ เช่น จ่ายค่าทางด่วน บริหารการจราจร ฯลฯ

ไหน ๆ คิดกันแล้ว ก็นำมาเล่าสู่กันฟังครับ 

เผื่อจะเป็นประโยชน์