วันพฤหัสบดีที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2564

ปัญหาของนโยบายที่เสนอในการหาเสียงเลือกตั้ง :ปกรณ์ นิลประพันธ์

เกือบทุกประเทศในโลกนี้ใช้ระบบการเลือกตั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งจะทำหน้าที่กำหนดนโยบาย และผลักดันนโยบายที่เสนอให้เป็นรูปธรรม ส่วนระบบราชการก็จะเป็นผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ

ในยุคพรี-อนาล็อก และยุคอนาล็อก การติดต่อสื่อสารและการคมนาคมระหว่างประเทศยังไม่รวดเร็ว การส่งผ่านวิทยาการและความรู้ความคิดต่าง ๆ จากสังคมหนึ่งไปอีกสังคมหนึ่งจึงใช้เวลานานโขอยู่ การเสนอนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้งจึงเน้นย้ำไปที่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ซาก ๆ ในสังคม อาทิ ฝนตกน้ำรอระบาย รถติด ฝุ่น pm 2.5 ค่ารถเมล์ ขยะล้นเมือง อะไรทำนองนี้ แต่ก็แก้ปัญหาอะไรกันไม่ค่อยจะได้ เพราะการเสนอนโยบายขาดการวิเคราะห์ความซับซ้อนของปัญหาอย่างเป็นระบบ จึงแก้ได้เป็นจุด ๆ อีกประเดี๋ยวก็เลือกตั้งใหม่อีกแล้ว 

คนเลือกเห็นคนเก่าทำอะไรไม่ได้มาก ก็มักจะลองของใหม่ เผื่อว่าจะดีกว่าเก่า ซึ่งเป็นจิตวิทยาขั้นพื้นฐาน ทั้ง ๆ ที่เนื้อหาของนโยบายก็แทบไม่มีอะไรต่างกันนัก เพราะว่าเพนพอยท์ระยะสั้นมันไม่เคยเปลี่ยนเลย 

อุปมาเหมือนคนหิวข้าวหิวน้ำก็ต้องแก้ปัญหาให้เขาท้องอิ่มก่อน แล้วจึงจะไปสอนให้เขาขุดบ่อเลี้ยงปลาเอามากิน ไม่ใช่เริ่มสอนให้เขาขุดบ่อเลี้ยงปลาตอนที่เขายังหิว การเสนอนโยบายเลือกตั้งจึงเน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่คนส่วนใหญ่สนเป็นหลัก เรื่องระยะยาวนี่ไม่เสนอกันเลยเพราะกว่าจะออกดอกออกผลมันช้า แล้วมันจะได้เรื่องไหมนั่น อะไรประมาณนั้น

มาในยุคดิจิทัลที่การสื่อสารและการคมนาคมระหว่างประเทศรวดเร็วมากในระดับวินาทีหรือมิลลิวินาที การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกันจึงทำให้ชาวโลกทราบว่าหลาย ๆ ปัญหานั้นเป็นปัญหาร่วมกัน ไร้พรมแดน ไปที่ไหนก็มี หรือ Trans-national legal problems และการแก้ปัญหาต้องแก้ที่รากเหง้า หรือ root cause ซึ่งต้องใช้เวลาในการสร้างความเข้าใจร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคมก่อน แล้วทุกองคาพยพค่อย ๆ ร่วมมือแก้ปัญหา การกำหนดนโยบายเพื่อหาเสียงเลือกตั้งยุคใหม่จึงควรเป็นการกำหนดนโยบายระยะสั้นควบคู่ไปกับนโยบายระยะยาว 

แต่เท่าที่สังเกตนั้น การเลือกตั้งแต่ละครั้ง แทบไม่มีนโยบายระยะยาวโผล่ขึ้นมาให้ชื่นชมเลย เพราะไม่มีหลักประกันว่าผู้เสนอนโยบายระยะยาวจะได้รับเลือกในการเลือกตั้งครั้งต่อไปตามตัวอย่างดังว่านั้น การกำหนดนโยบายของผู้สมัครทุกรายจึงซ้ำกันไปมา แค่ใช้ชื่อเก๋ ๆ ให้ต่างกันเท่านั้น ซึ่งคนส่วนใหญ่เขาก็จับทางถูกแล้ว 

อย่างข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า กทม เราแผ่นดินทรุดลงปีละหลายเซ็นติเมตร อีกไม่กี่ปีข้างหน้า 30% ของพื้นที่ กทม จะจมอยู่ใต้บาดาล และโดยที่ กทม เป็นเมืองหลวง สถานการณ์ที่ว่านี้มันย่อมส่งผลกระทบทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองการปกครอง อย่างมหาศาล แต่นโยบายที่เสนอในการหาเสียงเลือกตั้งทั้งในระดับท้องถิ่นแลระดับชาติก็ยังไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ชัด ๆ นักว่าจะเอายังไงดี อยู่ไปอยู่มาจมน้ำกันขึ้นมาจริง ๆ จะทำยังไง ก็คงไม่พ้นโทษกันไปมาจนจมน้ำไปพร้อม ๆ กัน

ที่พูดมาทั้งหมดนี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานว่าระบบเลือกตั้งของเราไม่เอื้อต่อการวางนโยบายระยะยาว และการเสนอและผลักดันนโยบายระยะสั้นก็ไม่ประสบความสำเร็จ 

แต่ระบบเลือกตั้งสัมพันธ์กับระบบการเมืองและพรรคการเมืองอย่างแยกไม่ออก  ดังนั้น จะว่าระบบเลือกตั้งอย่างเดียวเท่านั้นที่ไม่เอื้อต่อการวางนโยบายระยะยาวก็คงไม่ถูกนัก

เลยไม่กล้าสรุป … 

จบดื้อ ๆ อย่างนี้ละกัน

วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2564

Climate change กับ Trust in Government โดย ปกรณ์ นิลประพันธ์

 Climate change มีผลกระทบโดยตรงต่อผลิตผลการเกษตร หลายพื้นที่ในโลกนี้โดยเฉพาะเมดิเตอร์เรเนียน เมื่ออากาศร้อนขึ้น ทำให้เขาสามารถปลูก tropical plant ได้ และได้ผลดี อย่างกล้วยหอม มะละกอ กับลิ้นจี่ก็สามารถปลูกและผลิดอกออกผลได้ในซิซิลี รวมทั้งกาแฟก็ออกผลดี ทั้ง  ที่ไม่เคยออกผลได้มาก่อน และกาแฟเมดอินซิซิลีก็เริ่มจะวางขายแล้ว ตอนใต้ของจีนก็เริ่มปลูกทุเรียนกันมังคุดเยอะ ไม่ต้องพูดถึงยางพาราที่ปลูกกันได้มานานแล้ว หรือในอเมริกาเองแคลิฟอร์เนียก็ปลูกลำไยได้รสชาติหวานกรอบ กินสด  อร่อยกว่ากินผลไม้กระป๋องเยอะ อีกหน่อยคงเอามังคุดจากอเมริกาใต้ไปปลูก


แน่นอน อีกไม่นานผลไม้พวกนี้คงไม่ต้องรอส่งจากเมืองไทยหรืออเมริกาใต้แล้ว และนั่นหมายความว่าผลไม้ส่งออกของเราทั้งผลไม้สดและผลไม้กระป๋อง ต้อง “แข่งขัน” กับ “ผู้เล่นหน้าใหม่” ได้ ทั้งในเรื่องราคาและคุณภาพในตลาดที่เราเคยเป็นเจ้าของมาก่อน ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าโลกในเรื่องนี้อีกต่อไปแล้วเหมือนกับเรื่องไม้สัก ดีบุก และข้าวที่กลายเป็นอดีตไปหมดแล้วนั่นแหละ


คำถามคือเกษตรกรและผู้ส่งออกของไทยจะแข่งขันกับคู่แข่งที่เกิดขึ้นจากผลของclimate change นี้อย่างไร เพราะสถานการณ์บ่งบอกว่าเกมส์ยาวแน่นอน


จริง  climate change ทำให้เกษตรกรบ้านเราประสบปัญหาในการเพาะปลูกอยู่มาก ทั้งน้ำท่วมน้ำแล้ง ทำให้ผลผลิตไม่แน่นอนทั้งปริมาณและคุณภาพ ต้นทุนก็ค่อนข้างสูง ส่งผลต่อไปถึงราคาที่ fluctuate มาก ระบบการควบคุมการจำหน่ายและการส่งออกแบบเก่าตามกฎหมายโบราณไม่ส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน การวิจัยและพัฒนาไม่ค่อยเน้น market oriented base แต่เน้นเรื่องที่นักวิจัยอยากวิจัยซึ่งไม่มี commercial output กลยุทธ์ในการทำการตลาดและผลิตภัณฑ์ของผู้ค้าของเราจึงไม่หลากหลายเพราะข้อจำกัดเยอะดังว่า


วิธีการแก้ปัญหาอย่างการประกันราคา การประกันรายได้ หรือจำนำ ที่ทำสลับกันไปมามาหลายสิบปีแล้วนั้น พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าสามารถพยุงราคาในระยะสั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเมืองขึ้นได้ แต่ไม่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคนิคและรูปแบบการผลิตและการจำหน่ายในระยะยาว เพราะไม่เอื้อให้เกิดการปรับตัวของเกษตรกรและผู้ค้า แต่ถ้าอยู่  หยุดโครงการช่วยเหลือระยะสั้นนี้ไป ก็จะกลายเป็นปัญหาการเมืองขึ้นได้ง่าย  ทำนองเดียวกับกับการแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ไฟป่า หรือฝุ่น PM 2.5 ได้ช้า และมักถูกจับเป็นตัวประกันเสมอ 


จึงเห็นได้ว่า climate change เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหา trust in government ขึ้นได้ การแก้ไขปัญหาต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องก่อนว่าเรากำลังมีคนวิ่งตามมาใกล้  แบบหายใจรดต้นคออยู่ ถ้าเราช้าอีกนิดคงโดนแซง และจะถูกทิ้งไว้ข้างหลังแบบยาว  จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วตามยุทธศาสตร์ชาติคงเป็นไปได้ยาก ต่อมาก็ต้องหาทางลดต้นทุนการผลิต เพิ่มงานวิจัยและพัฒนา ลดกฎระเบียบที่ไม่ส่งเสริมการแข่งขัน เลิกไปได้เลยยิ่งดี และพัฒนาระบบที่จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่เกษตรกรและผู้ค้าภาครัฐต้องเปลี่ยนบทบาทจาก regulator เป็น trade facilitator เสียที เพราะเดี่ยวนี้ในข้อตกลงระหว่างประเทศเรื่องการค้าการขายเขาเน้นเรื่องtrade facilitation กันทั้งนั้นแล้ว


พูดถึงเรื่อง regulator ก็คันปากอยากจะเล่าให้ฟังนิดนึงว่า เรื่อง regulator นี่โบราณแล้วนะ เมื่อก่อนที่มี regulator เพราะเขาให้เอกชน “กำกับดูแลกันเอง” เป็น self-regulate ของ industry นั้น  แทนที่จะให้รัฐ “ควบคุม” เหตุผลคือเพื่อความคล่องตัวการดำเนินกิจกรรมของเอกชนตามแนวคิด deregulation ใช้มาสักพักปรากฎว่าไม่ค่อยได้ผล เพราะเอกชนไม่ค่อยอยากกำกับกันเองให้มากนัก แบบกำกับมากกำไรน้อย กำกับน้อยกำไรมาก จึงเกิดกรณี moral hazard ขึ้น องค์กรที่เป็น regulator หลังยุคปี 1995 ถ้ารู้จักสังเกตจะเห็นว่ามีลักษณะเป็น independent body ที่มีองค์ประกอบทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ปรัชญาของรูปแบบ independent regulator คือการกำกับจะได้คิดถึง stakeholders ทุกภาคส่วน 


แต่บ้านเราจะเข้าใจที่มาที่ไปของ regulator แบบนี้หรือเปล่าไม่ทราบ เพราะพูดถึงoperator ก็จะต้องมี regulator ทุกครั้งไป เหมือนกับท่องจำกันมาว่ามันเป็นแบบ ซึ่งจริง  บางเรื่องไม่จำเป็นเลยฮะ ให้รัฐเป็น falitator ก็ได้ ดีเสียอีก ไม่ต้องตั้งคณะกรรมการอะไรให้วุ่นวายเปลืองค่าใช้จ่าย ให้กระทรวง ทบวง กรม นั่นแหละทำ ให้รัฐมนตรีเป็น Mr Facilitator ในเรื่องนั้น  ไปโดยตรง ถ้าทำงานแล้วไม่สำเร็จ จะได้รับผิดชอบกันไป ไม่ต้องให้คณะกรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงานอะไรมาเป็นแพะงานก็ช้า กว่าจะได้รับรายงาน กว่าจะจัดประชุม กว่าจะรับรองรายงานการประชุมกว่าจะทำหนังสือส่งออก หนวดหงอกกันพอดี


ฝรั่ง จีน แขก เขาก็ใช้วิธีการนี้นะครับ ไม่ใช้คณะกรรมการกันเพรื่อไปแบบบ้านเราหรอก เขาถึงมี accountability ต่อภารกิจไง เพราะจะโยนแพะให้ใครต่อไม่ได้ 


ว่าจะเขียนเรื่อง climate change กับ trust in government ดันผ่ามาเรื่องแพะได้ไงไม่รู้ สงสัยจะง่วง


ขอไปนอนก่อนนะครับ ดึกแล้ว

วันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2564

Divergence ของคนในสังคมไม่น่าจะมาจาก Generation gap อย่างเดียว โดยปกรณ์ นิลประพันธ์

 เมื่อก่อนจำได้ว่าเมื่อตอนที่การสื่อสารของบ้านเรากำลังเปลี่ยนจากยุค 2G เป็น 3G มีโฆษณาชิ้นหนึ่งบอกว่าเทคโนโลยี 3G 4G 5G และอีกหลาย  G จะทำให้ผู้คนเข้าใกล้ (convergence) กันมากขึ้น 


แต่จากสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นอยู่ในตอนนี้ ผู้เขียนเห็นว่าความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสารทำให้ผู้คนถ่างออกจากกัน (Divergence) มากกว่าเข้าใกล้กันอย่างที่เคยคิดโฆษณากันไว้


โฆษณาไม่ผิดหรอกครับ เพราะการสื่อสารที่ดีขึ้นทำให้เราติดต่อกันได้สะดวกในราคาต่ำอย่างที่พูดไว้จริง  และทำให้รุ่นใหญ่อย่างผู้เขียนสามารถตามหาเพื่อนเก่าแก่ที่แยกย้ายกันไปตามกรรมของแต่ละคนเมื่อเรียนจบชั้นประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย เมื่อหลายสิบปีก่อนได้อย่างง่ายดาย


คงจำได้นะครับว่าเมื่อก่อนมือถือจะหน้าตาเหมือนกันหมดทั้งรูปร่างหน้าตาและโปรแกรมต่าง  วางรวม  กันไม่รู้ของใครเป็นของใคร เสียงเรียกเข้าดังทีทุกคนตบกระเป๋าโดยพร้อมเพรียง ของเราหรือเปล่านะ จนต้องไปหาสติกเกอร์มาติดบ้างเปลี่ยนเคสบ้าง เพื่อสร้างเอกลักษณ์ ต่อมาก็เริ่มพัฒนาให้ปรับแต่งหน้าจอได้บ้างเริ่มเปลี่ยนเสียงเรียกเข้าและเสียงรอสายได้บ้างก็เก๋ขึ้น มาถึงตอนนี้มีแต่โครงมือถือเท่านั้นที่เหมือนกัน ทุกอย่าง customize ได้หมดตามความชอบส่วนตัว มีแอปพลิเคชั่นต่าง  ออกมาให้ใช้มากมายมหาศาล


ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนี้เองทำให้แต่ละคนมี “โลกส่วนตัว” ขึ้นอีกคนละใบหรืออาจจะหลายใบ เพราะเราสามารถ customize ฟีเจอร์ต่าง  ได้อย่างที่เราต้องการ บางคนมีอุปกรณ์สื่อสารหลายชิ้น ก็มีโลกหลายใบหน่อย เพราะจะตั้งค่าต่าง  ไว้ไม่เหมือนกัน ลำบากจำด้วย


โลกส่วนตัวที่ว่านี้ตอบสนองความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ที่มีจริตต่างกันไป โซเชี่ยลเน็ตเวอร์คนี่ยิ่งสามารถตอบสนองจริตของแต่ละคนได้ง่ายเพราะเขาใช้ alghorithm ที่ทำให้เราสามารถเลือกเสพย์เรื่องหรือข้อมูลที่เราชอบหรือสนใจ ซึ่งก็ไม่ผิดหรอกครับ เพราะใครเล่าจะเสพย์เรื่องหรือข้อมูลที่ตัวเองไม่สนใจ และเจ้า alghorithm นี่ก็แสนจะฉลาดและฉลาดขึ้นทุกวัน เพราะรู้ใจด้วยว่าเราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร มันก็จะสรรหาเรื่องหรือข้อมูลที่เราชอบมา “ป้อน” เราอยู่ตลอดเวลา


ข้อไม่ดีของเรื่องนี้ก็คือว่ามันทำให้เราแทบจะไม่ได้รับฟังข้อมูลหรือความคิดเห็นที่แตกต่าง อันนี้นี่ไม่สอดคล้องกับพื้นฐานของประชาธิปไตยเอาเสียเลย เพราะความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นพื้นฐานของประชาธิปไตย ทุกคนในสังคมต้องหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยกันด้วยเหตุผล และร่วมกันตัดสินใจโดยยึดถือประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนบุคคลหรือกลุ่มบุคคล อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯท่านหนึ่งถึงกับออกปากว่าสิ่งที่ท่านไม่ชอบในระบอบประชาธิปไตยคือมันบังคับให้ท่านต้องฟังในเรื่องที่ท่านไม่อยากฟัง แต่ท่านก็เห็นว่าข้อดีของมันก็คือการฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจะทำให้การตัดสินใจในเรื่องต่าง  ละเอียดรอบคอบมากขึ้น


การเสพย์เฉพาะเรื่องหรือข้อมูลที่เราชอบอย่างเดียวนี่ทำให้เกิดอคติ (Bias) ได้ง่ายมาก  เพราะข้อมูลที่ชอบก็จะมีรูปแบบและเนื้อหาซ้ำ  หรือคล้าย  กันอยู่ตลอดเวลา แทบไม่แตกต่างจากการ propaganda ในยุคสงครามเย็น กรอกหูทุกวัน เผลอ จะเชื่อเอาโดยไม่รู้ตัว ทีนี้ถ้ามีใครแหลมเข้ามาแสดงความเห็นต่างในเรื่องที่เราชอบ ก็มีทางที่จะทำอยู่สองสามทาง ถ้าไม่ตอบโต้กลับไปแรง  (เพราะต่างไม่รู้จักมักจี่กันหรือ delete ข้อความนั่นทิ้งไปไม่ให้รกหูรกตา หนักหน่อยด่าตอบเสร็จก็unfollow หรือ unfriend มันไปเสีย จะได้ไม่มีข้อความแสลงใจเข้ามารบกวนโสตประสาทอีก คือปิดกั้นความเห็นที่แตกต่างไปเลย ซึ่งพฤติกรรมนี้จะกลายไปเป็นการสร้าง “กลุ่มความคิดสุดโต่ง” ขึ้นได้ง่าย  ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในหลายประเทศทั่วโลก


เรียกว่า alghorithm สามารถเปลี่ยนแปลงได้ทั้งความคิดและพฤติกรรมของคน จากเดิมที่ยังต้องฟังเรื่องหรือความเห็นที่แตกต่างบ้างจากวิทยุ AM หรือ FM หรือทีวี ที่นั่งล้อมวงฟังกันในอดีต เป็นฟังเฉพาะเรื่องที่ตัวเองชอบหรือสนใจจากอุปกรณ์ส่วนตัวของตนเองที่ราคาถูกเหลือเชื่อ


ดังนั้น ในยุคดิจิทัลนี้ คนซึ่งมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องเดียวกันจึง divergence ออกจากกันมากขึ้นเรื่อย  และนับวันกลุ่มของความเห็นที่แตกต่างนี้จะหลากหลายมากขึ้น เพราะเจ้า alghorithm มันฉลาดขึ้นทุกที  จึงแยกคนเป็นกลุ่มเล็กกลุ่มน้อยตามจริตของแต่ละคนได้ง่ายมาก อีกหน่อยจะเป็น Metaverse แล้วคงจะหนักหนากว่านี้เพราะโลกเสมือนมันตอบสนองความพึงพอใจหรือความสุขส่วนบุคคลที่โลกในความเป็นจริงไม่สามารถมีได้  และถ้าใช้มันมากเข้า ก็น่าจะมีอาการเหมือนคนติดยาเสพติด ไม่สนใจโลกจริง ติดอยู่ในโลกเสมือนที่จะทำอะไรก็ได้ “ตามใจฉัน” สำนึกต่อส่วนรวมจะขาดหายไป


เดี๋ยวนี้ไปไหนต่อไหนจะเห็นมนุษย์แต่ละคนก้มหน้าก้มตาถูไถอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของตัวเองกันอย่างเมามันในทุกที่ทุกโอกาส ผู้เขียนเห็นหลายครอบครัวไปกินข้าวกันตามร้าน แต่ต่างคนต่างมีโลกส่วนตัว ไม่คุยกันเอง คุยกับใครอยู่ก็ไม่รู้ เงียบกริบเชียว ไม่เหมือนเมื่อตอนที่ยังไม่ล้ำสมัย เสียงคุยกันในร้านอาหารนี่จ้อกแจ๊กจอแจกันทีเดียว


การที่ผู้คนถ่างออกจากกันหรือ Divergence นี้ ผู้สันทัดกรณีจำนวนมากพยายามอธิบายโดยใช้ Generation gap แบ่งกลุ่มคนเป็นเจ็นนั้นเจ็นนี้ และอธิบายว่าแต่ละเจ็นอยู่ใน context ที่แตกต่างกัน จึงมีทัศนคติและแนวคิดที่แตกต่างกัน และเป็นรากฐานของความไม่เข้าใจกัน 


ด้วยความเคารพ ผู้เขียนมิได้คัดค้านแนวคิดนี้ เพียงแต่ต้องการนำเสนอว่ามันอาจไม่ได้เกิดจาก Generation gap อันเป็นข้อสรุปแบบกว้าง  เท่านั้น ปัจจัยอย่างการพัฒนาของเทคโนโลยีดิจิทัล alghorithm และ Social network ก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กันที่ทำให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไป ถ่างออกจากกันมากขึ้น แม้กระทั่งใน Generation เดียวกันหากมีความชอบแตกต่างกัน และเป็นรากฐานของการไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง อันนำมาซึ่งความแตกแยกของผู้คนในสังคมเหมือนกับที่ทีวีในยุคทีวีเสรีเคยทำได้มาแล้วในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา แต่การใช้เทคโนโลยีและ social network โดยขาดความรับผิดชอบจะส่งผลลึกถึงในระดับปัจเจก และทุกช่วงวัย


ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่าการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ digital literacy ให้แก่ผู้คนในสังคม และความรู้เท่าทันผลกระทบจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคม และต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว


เผื่อจะช่วยกันคิดแก้ไขต่อครับ.

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2564

การสร้างระบบนิเวศทางกฎหมายเพื่อการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยปกรณ์ นิลประพันธ์

                    การพัฒนารัฐบาลดิจิทัลนั้นเป็นเป้าหมายของทุกรัฐบาล ทำกันมาหลายสิบปีแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเสียที มีการซื้ออุปกรณ์ไอทีกันเป็นล่ำเป็นสัน จนการพิจารณางบประมาณในชั้นกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรต้องจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ขึ้นเป็นการเฉพาะ เพื่อให้การใช้งบประมาณด้านไอทีคุ้มค่ามากที่สุด แต่พิจารณากันมาก็หลายปี ก็ยังไม่สามารถทำให้เกิดรัฐบาลดิจิทัลได้เสียที


                    กระทั่งรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในมาตรา 258 ข. (1) ว่ารัฐต้องนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และยุทธศาสตร์ชาติด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ก็ได้กำหนดให้มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการให้บริการสาธารณะตลอดกระบวนการอย่างคุ้มค่าและเชื่อมโยงถึงกัน เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว โปร่งใส  ซึ่งทำให้รัฐบาลดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง


                    ผู้ถูกกล่าวหาหลักในความไม่สำเร็จในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลคือ “กฎหมาย” กับ “งบประมาณ” ข้อกล่าวหาที่คลาสสิคคือกฎหมายไม่เอื้อให้ทำได้ หรือไม่ก็งบประมาณไม่มี ถ้าเป็นภาษาเก๋ ๆ หน่อยก็บอกว่าระบบนิเวศ (Ecosystem) ไม่เอื้อ ว่างั้น


                    ในแง่ระบบนิเวศทางกฎหมาย (Legal Ecosystem) หนุ่มสาวชาวกฤษฎีกาเรามานั่งวิเคราะห์กันแล้ว พบว่าข้อกล่าวหาที่ว่ากฎหมายไม่เอื้อให้ทำได้นั้น “มีมูล” เพราะถึงจะมีการตั้งกระทรวงที่รับผิดชอบเรื่องนี้แล้ว และมีกฎหมายหลายฉบับที่กำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผน และ governance ด้านดิจิทัลอยู่หลายฉบับ แต่กลับไม่มีกฎหมายใดกล่าวถึง “การปฏิบัติ” ไว้เลย อันนี้ประการที่หนึ่ง


                    ประการที่สอง วิธีการทำงานราชการที่ผ่านมายังใช้ระบบ manual เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานสารบัญซึ่งเป็นต้นทางของการรับส่งข้อมูล ยังส่งเป็นกระดาษเป็นปึก ๆ กันอยู่เลย ถ้ารับส่งระหว่างหน่วยงานก็ใช้รถส่งบ้าง มอเตอร์ไซด์บ้าง โลกร้อนหนักเข้าไปอีก เพิ่ม carbon footprint ของประเทศโดยปริยาย การรับส่งในหน่วยก็ใช้วิธีให้เจ้าหน้าที่เดินส่งแฟ้มกันไปมา ทั้ง ๆ ที่มีคอมพิวเตอร์กันทุกหน่วยงาน


                    ที่สำคัญประการที่สามเกี่ยวข้องกับการเขียนกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายลำดับรองอันเป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่าง ๆ ในการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายแม่บท ยังเขียนแบบโบราณอยู่มาก ใช้ระบบอนุมัติอนุญาตก็มากมายอยู่แล้ว ยังให้มายื่นขออนุมัติอนุญาตด้วยตัวเองอีก มีเรียกสำเนาเอกสารประกอบ ทั้ง ๆ ที่ทางราชการออกเอกสารนั้นให้เอง ฯลฯ


                    สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้พัฒนาระบบนิเวศทางกฎหมายเพื่อเร่งรัดให้เกิด Digital government ขึ้น

                    สำหรับปัญหาประการที่หนึ่ง สำนักงานฯ ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... ขึ้นเพื่อรองรับการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้การยื่นคำขอหรือติดต่อใด ๆ ระหว่างประชาชนกับหน่วยงานของรัฐ การติดต่อราชการระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน และระหว่างเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานของรัฐ สามารถทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้โดยชอบด้วยกฎหมาย หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะปฏิเสธไม่รับดำเนินการเพียงเพราะเหตุที่ผู้ขออนุญาตได้ยื่นโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มิได้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 ขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร


                    การแก้ปัญหาประการที่สอง สำนักงานฯ ได้ร่วมกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 (ระเบียบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์) เพื่อปรับเปลี่ยนให้การปฏิบัติงานสารบรรณภายในหน่วยงานของรัฐ ระหว่างหน่วยงานของรัฐ และระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน ให้สามารถดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงาน  ปัจจุบันระเบียบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2564 แล้ว และหน่วยงานของรัฐต้องใช้อีเมลในการสื่อสารเป็นหลักตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป และจะทำให้สามารถพัฒนาต่อยอดไปใช้ในการจัดทำระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งในช่วงการระบาดของโควิด 19 นี้ ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ทำให้การทำงานของหน่วยงานของรัฐขับเคลื่อนไปได้โดยไม่ติดขัด


                    ประการที่สาม สำนักงานฯ ได้ปรับปรุงวิธีการเขียนกฎกระทรวงและกฎหมายลำดับรองอื่นให้หน่วยงานของรัฐให้บริการแก่ประชาชนโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักตามมาตรา 8 และมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ในการดำเนินการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายลำดับรองที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการและมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณานั้น สำนักงานฯ ได้กำหนดแนวทางการเขียนกฎกระทรวงและกฎหมายลำดับรองอื่น ให้ดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักมาตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2563 และปัจจุบัน (ณ วันที่ 16 สิงหาคม 2564) กฎหมายลำดับรองระดับกฎกระทรวงที่ผ่านการพิจารณาทั้งหมด 75 ฉบับ รองรับการดำเนินการโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว และกำลังดำเนินการแก้ไขฉบับที่เหลือต่อไป


                    นอกจากนี้ ยังได้สำรวจตรวจสอบกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันที่เป็นปัญหาอุปสรรคสำหรับภาคเอกชนที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินกิจกรรม และได้ร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จัดทำร่างพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมให้ทันสมัย 6 ประเด็น) ที่มีสาระสำคัญเป็นการปรับปรุงให้บริษัทมหาชนจำกัดและคณะกรรมการบริษัทมหาชนจำกัดสามารถกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่น การใช้โฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์แทนการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ การส่งหนังสือหรือเอกสารทางอีเมลแทนไปรษณีย์ลงทะเบียน ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564)  และขณะนี้สำนักงานฯ กำลังพิจารณาปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 22 หุ้นส่วนบริษัท เพื่อให้ห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดสามารถดำเนินงานด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นเดียวกัน


                    ประการสำคัญ สำนักงานฯ ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) จัดทำ “ระบบกลางทางกฎหมาย” (law.go.th) ขึ้นตามมาตรา 77 วรรคหนึ่ง และมาตรา 258 ค. ด้านกฎหมาย (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 เพื่อให้เป็นแพลตฟอร์มกลางเกี่ยวกับกฎหมายที่ให้บริการแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (one stop service) แก่หน่วยงานของรัฐและประชาชน  โดยในขณะนี้ระบบกลางได้เปิดให้บริการในส่วนของการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมาย ข้อมูลรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมาย (RIA) และข้อมูลรายงานการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย ตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2564 แล้ว  สำหรับการดำเนินการระยะถัดไปจะเป็นการขยายการให้บริการข้อมูลกฎหมายทั้งหมดของประเทศ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด รวมตลอดถึงกฎหมายลำดับรองต่าง ๆ เช่น พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ เทศบัญญัติ และข้อบัญญัติท้องถิ่นต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลกฎหมายและปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งเพิ่มความโปร่งใสในการใช้บังคับกฎหมายด้วย โดยมีกำหนดจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกรกฎาคม 2565


                    ก็ไม่มีอะไรครับ พอมีเวลาจึงมาเล่าให้ฟังว่าเราทำอะไรไปบ้างเพื่อพัฒนากฎหมายของประเทศให้ดีขึ้น เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของพี่น้องประชาชน


                   "Better Regulation for Better Life"

วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เร็วขึ้น ง่ายขึ้น และถูกลง โดยศุภานัน เฉลิมชัย สำนักงาน ก.พ.ร.

                เมื่อพูดถึงบริการภาครัฐ...สมัยก่อนใครๆ ต่างก็พร้อมใจกันเบ้ปากมองบน เพราะทั้งระยะเวลาให้บริการที่ยาวนานข้ามวัน เจ้าหน้าที่ทำหน้าโหดเหมือนโกรธใครมา บางครั้งไปครั้งเดียวไม่จบ ต้องหอบเอกสารไป ๆ กลับ ๆ อยู่อย่างนั้น

              แต่เดี๋ยวนี้ ภาครัฐเองก็มีการปรับตัวเพื่อพัฒนางานบริการให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อก้าวเข้าสู่ยุคปัจจุบันที่มีวิกฤติการณ์ต่าง ๆ รอบตัวทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 รวมถึงภัยธรรมชาติ ภัยที่เกิดจากมนุษย์ต่างดาหน้ากันเข้ามาให้เราต้องใช้วิทยายุทธและทักษะที่มีในการอยู่รอด ภาครัฐจึงไม่สามารถยืดหยัดด้วยการทำงานแบบเดิมๆ การทำงานเพื่อให้ทันต่อโลกที่ปรับเปลี่ยน สิ่งรอบตัวจะต้องถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น การให้บริการของภาครัฐจึงต้องเน้นให้ประชาชนเกิดความสะดวก รวดเร็ว โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการทำงานและการให้บริการประชาชน

             อย่างที่ได้เคยกล่าวไว้แล้วว่า พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 นั้น มีเจตนารมณ์ที่จะปลดล็อกความไม่สะดวกนานัปการของบริการภาครัฐ ซึ่งในความเป็นจริงนั้นการดำเนินการจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐเองจะต้องมีความตั้งใจและมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนางานบริการของตนให้ตอบโจทย์ตรงใจประชาชนหรือผู้รับบริการได้มากที่สุด

            โดยตลอดระยะเวลาที่พระราชบัญญัติฯ มีผลใช้บังคับ หน่วยงานภาครัฐได้มีการปรับปรุงบริการด้านต่าง ๆ ที่สามารถมองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามแนวคิด เร็วขึ้น (Faster) ง่ายขึ้น (Easier) และถูกลง (Cheaper) ได้แก่

               การให้บริการรวดเร็วขึ้น (Faster) ด้วยการลดขั้นตอนและระยะเวลาในการให้บริการจากระยะเวลาเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 - 50 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ ด้วยการปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการ Redesign process ลด ละ เลิก ขั้นตอนที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ไม่จำเป็นออก พร้อมทั้งปรับปรุงคู่มือสำหรับประชาชนในแต่ละบริการให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ

               การปรับบริการให้ง่ายขึ้น (Easier) และทันสมัย (Smarter) ด้วยการพัฒนาระบบการให้บริการแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) โดยปัจจุบันมีบริการภาครัฐกว่า 325 งานบริการ ที่เป็น e-Service แล้ว อีกทั้งได้พัฒนาระบบ Biz Portal พอร์ทัลกลางเพื่อภาคธุรกิจที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกรรมในการขออนุมัติ อนุญาตกับหน่วยงานภาครัฐผ่านช่องทางออนไลน์ได้ถึง 25 ประเภทธุรกิจ 78 ใบอนุญาต ขณะที่ผู้รับบริการสามารถใช้พอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันรวมงานบริการที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการ พร้อมเปิดให้บริการแล้วกว่า 10 บริการ ซึ่งปัจจุบันพบว่างานบริการแบบอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐได้รับการตอบรับจากประชาชนผู้ใช้บริการเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการจองคิวรับบริการ ที่ทำให้ไม่ต้องไปนั่งแออัดเสี่ยงโควิดกันตามสถานที่รับบริการต่าง ๆ ช่วยลดการเดินทาง ทำให้การติดต่อราชการสามารถทำได้ง่ายๆ แค่เพียงปลายนิ้วคลิก 

               การลดค่าใช้จ่ายของประชาชน (Cheaper) ได้มีการส่งเสริมให้ภาครัฐไม่เรียกสำเนาเอกสาร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน เพราะถือว่าภาครัฐจะต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลทางหลังบ้านระหว่างกัน รวมทั้งหากประชาชนต้องการเอกสารราชการที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ยกตัวอย่างเช่น เอกสารการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล เอกสารใบสมรส ก็สามารถขอพรินต์ออกมาได้ง่าย ๆ ที่สำนักงานทะเบียนอำเภอ สำนักงานเขต ซึ่งถือเป็นความร่วมมือของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในการช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ประชาชนจะต้องนำเอกสารไปแปล ซึ่งถ้าดูจากจำนวนเอกสารภายในหนึ่งปีที่ประชาชนต้องขอแปล ประมาณ 100,000 ฉบับ ก็ถือว่าสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนไปได้อย่างน้อย 40 ล้านบาท ต่อปีเลยทีเดียว

               อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่า การบริการของภาครัฐเองก็ยังมีหลายส่วนที่ยังต้องปรับปรุง ขณะเดียวกันภาครัฐเองก็ยังไม่หยุดที่จะพัฒนาการให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่มีผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง รวมทั้งปัญหาวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งยังต้องทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งประชาชนและภาคเอกชน เพื่อพัฒนางานบริการ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

               โดยหวังว่าในทุกๆ ครั้งที่ประชาชนมารับบริการจากภาครัฐ จะได้ของแถมกลับไป...คือรอยยิ้ม

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เร่งเครื่องสู่ Digital Government โดยชยพล อริยคุณากูร สำนักงาน ก.พ.ร.

                     ทิศทางของการพัฒนาบริการภาครัฐต่อไปยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ก้าวทันต่อบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการปรับวิธีคิดหรือ Mindset  หรือวิธีทำงานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการมาถึงอย่างรวดเร็วของยุคดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเมืองระหว่างประเทศ และยิ่งต้องมาประสบกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้ภาครัฐทั่วโลกต้องปรับตัวกันขนานใหญ่

                  เริ่มจากวิธีการปฏิบัติราชการที่เปลี่ยนไปจากแบบ "เดิม ๆ" เช่น การให้ข้าราชการทำงานจากที่บ้าน หรือ Work from home แต่ต้องรักษามาตรฐานและคุณภาพของการให้บริการที่เหมือนเดิม หรือไม่ก็ต้องทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้การบริการภาครัฐไม่สะดุด ตอบสนองได้ทันท่วงที มีการใช้ช่องทางออนไลน์มาเป็นช่องทางหลักในการติดต่อกับภาครัฐ แม้กระทั่งจะไปหาหมอที่โรงพยาบาล ไม่ต้องไปด้วยตัวเองแล้ว โควิด-19 ทำให้เราเปลี่ยนวิธีการจากที่ต้องไปรับบัตรคิวที่โรงพยาบาล มาเป็นจองคิวออนไลน์และใช้วิดีโอคอลปรึกษาอาการกับคุณหมอผ่านระบบ telemedicine ที่โรงพยาบาลจัดให้แทน จ่ายเงินค่ารักษาก็สามารถทำผ่านออนไลน์ และคุณหมอก็จะจัดส่งยามาให้เราถึงที่บ้านได้อีกเช่นกัน

                  การที่ภาครัฐสามารถให้บริการผ่านระบบออนไลน์หรือ e-Service ได้นั้น ส่วนสำคัญเนื่องมาจากการที่รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ขึ้นเพื่อปลดล็อกบริการภาครัฐไปสู่การบริการผ่านดิจิทัล  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายที่ระบุให้ต้องมาขอรับบริการ ณ สถานที่ให้บริการ การลงนามในใบอนุญาต/หนังสือรับรอง การกำหนดวิธีการแจ้งผลการพิจารณา และการรับใบอนุญาต ไม่สามารถทำผ่านวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและไม่เป็นไปตามยุคตามสมัย รวมถึงผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการผ่าน e-Service โดยเน้นการให้บริการได้ตั้งแต่ต้นจนจบ เรียกได้ว่าสุดท้ายปลายทางคือการออกใบอนุญาตเป็นดิจิทัลให้ประชาชนได้เลย


                   ตัวอย่างที่หลายหน่วยงานของรัฐกำลังดำเนินการอยู่ คือการออกเอกสารราชการแบบดิจิทัล หรือ e-Document เพื่อทดแทนการใช้กระดาษแบบเดิม ๆ เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้พัฒนาหนังสือรับรองนิติบุคคลรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้ประกอบการสะดวก ไม่ต้องเสียระยะเวลารอคอยนาน ลดการเดินทาง ลดต้นทุนทางธุรกิจ รวมถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ได้ออก e-transcript ให้กับนักศึกษาเป็นรูปแบบดิจิทัล และเมื่อนำ e-transcript ดังกล่าวไปสมัครงานหน่วยงานที่รับสมัครบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็สามารถตรวจสอบเอกสารที่ได้มานั้นถูกต้องหรือไม่ ด้วยระยะเวลาที่ไม่นาน ก็สามารถรับเข้าทำงานได้ทันที สะดวกรวดเร็วทั้งทางฝั่งผู้จ้างและบัณฑิต รวมถึงฝ่ายทะเบียนของมหาวิทยาลัยก็ไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อนอีกด้วย


                   แต่กว่าจะไปถึงการบริการที่คนมักเรียกกันว่าเป็นการบริการ e-Service ที่สุดซอย คือการออกใบอนุญาตเป็น e-Document ออกมาได้ เบื้องหลังก็คือหน่วยงานภาครัฐได้ร่วมมือกันที่จะปลดล็อกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยในระยะแรกตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 มีกฎหมายถึง 84 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็นระดับพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศต่าง ๆ ที่หน่วยงานเจ้าของกฎหมายจะต้องทบทวนหรือแก้ไขกฎหมายเหล่านั้นเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคอีกต่อไป และปัจจุบันมีกฎหมายเกือบ 50 ฉบับแล้วที่ทบทวนหรือแก้ไขแล้วเสร็จ ดังตัวอย่างของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ออกประกาศกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เรื่องการยื่นคำขอตามกฎหมายว่าด้วยสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้


                   จากที่กล่าวมาทั้งหมดในตอนนี้ คงจะเห็นภาพความพยายามของทุกฝ่ายที่จะร่วมกันแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิด e-Service และเห็นได้อย่างชัดเจนว่า กฎหมายการอำนวยความสะดวกได้ช่วยปลดล็อกอุปสรรค ทำให้บริการภาครัฐสะดวกขึ้นได้อย่างไร

วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ปลดล็อกบริการภาครัฐ ด้วยกฎหมายการอำนวยความสะดวก โดยอักสรณ์ ทองศรี นักพัฒนาระบบราชการชำนาญการพิเศษ สำนักงาน ก.พ.ร.

ในโลกยุคปัจจุบันที่วิถีชีวิตของประชาชน หรือพฤติกรรมต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ทุกวันนี้ประชาชนสามารถเข้าถึงและรับข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ดูเหมือนว่าคนไทยส่วนใหญ่จะมีชีวิตที่ผูกติดกับดิจิทัลมากขึ้น จะเห็นได้จากข้อมูลผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปี  2563 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA พบว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง 25 นาที ในปี 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 1 ชั่วโมง 3 นาที ด้วยเหตุผลหลักก็คือ สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย และมีเครือข่ายที่ครอบคลุม ส่วนสาเหตุรองลงมาคือมีความจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น และบริการต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันสามารถทำผ่านออนไลน์ได้ ขณะเดียวกันก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าผลกระทบจาก COVID-19 เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้ผู้คนหันมาเลือกทำกิจกรรมออนไลน์เพิ่มมากขึ้น แทนที่จะต้องเดินทางออกจากบ้านหรือเพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนโดยเฉพาะในที่สาธารณะ

หากถามถึงบริการภาครัฐ ไม่ว่าใครก็ต้องตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องการบริการที่มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างทันท่วงที และหากเป็นไปได้ผู้รับบริการต่างต้องการบริการที่เกินความคาดหวัง ดังนั้น ภาครัฐต้องตระหนักในเรื่องดังกล่าวและปรับตัวให้การทำงานหรือส่งมอบบริการที่มีความหลากหลายและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง

ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความไม่สะดวกต่าง ๆ ของการอนุมัติ อนุญาตที่ปัจจุบันมีกฎหมายว่าด้วยเรื่องดังกล่าวอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงความไม่ชัดเจนในรายละเอียดของขั้นตอนการอนุมัติ อนุญาต ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญของการให้บริการภาครัฐ ภายใต้แนวคิด เร็วขึ้น (Faster) ง่ายขึ้นหรือสะดวกขึ้น (Easier) ค่าใช้จ่ายที่ถูกลง (Cheaper) และทันสมัย (Smarter) ซึ่งถือเป็นการปลดล็อกงานบริการในหลายๆ เรื่อง เช่น

การจัดทำคู่มือสำหรับประชาชน ซึ่งจะมีการกำหนดรายละเอียดของการให้บริการที่ผู้รับบริการอยากจะรู้ ทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการเงื่อนไขในการยื่นคำขอ ขั้นตอน ระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ค่าธรรมเนียม (ถ้ามี) และรายการเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ รวมทั้งให้ระบุช่องทางร้องเรียนอย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ที่นำไปสู่การให้บริการที่มีมาตรฐาน สะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส

การลดขั้นตอน ระยะเวลาการให้บริการ ด้วยการปรับปรุงขั้นตอนกระบวนงานลดความซ้ำซ้อนในการอนุมัติ อนุญาต ลดโอกาสในการเรียกรับผลประโยชน์จากประชาชนเพื่อจะให้ได้รับบริการที่เร็วขึ้นสามารถลดขั้นตอน ระยะเวลาได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 30 - 50 ของระยะเวลาในการให้บริการเดิม

การพัฒนาการอนุมัติอนุญาตไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) เพื่อลดการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน ช่วยให้การอนุมัติ อนุญาตเป็นไปด้วยความโปร่งใสด้วยการพัฒนาการให้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Services) โดยปัจจุบันสามารถดำเนินการได้ 325 งานบริการ แบ่งเป็นการให้บริการได้ครบวงจร 92 งานบริการ การยื่นคำขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ 90 งานบริการ การยื่นคำขอและจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ จำนวน 119 งานบริการ และการบริการข้อมูลหรือตรวจสอบสิทธิ์ 24 งานบริการ ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์การให้บริการของภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง

การชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนสามารถจ่ายค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแล้วถือว่าได้รับการต่ออายุใบอนุญาตในทันที ทำให้สามารถทำธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีใบอนุญาตที่สามารถทำได้ตามกฎหมายแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาการกำหนดให้ผู้รับอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต พ.ศ. 2564 จำนวน 31 ประเภทใบอนุญาต ซึ่งนอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนแล้ว ยังส่งผลต่อการลดช่องว่างของระยะเวลาในการต่อใบอนุญาตเพื่อเรียกรับผลประโยชน์อีกด้วย

จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างการดำเนินงานที่ผ่านมาซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจนทำให้ประเทศไทยได้รับการจัดจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลกอยู่ในอันดับที่ 21 ของโลก ในปี 2563 และผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย IMD อยู่อันดับที่ 28 ของโลก ในปี 2564

อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทิศทางการให้บริการของรัฐในก้าวต่อไปยังคงต้องมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากมายจึงจะสามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล สิ่งสำคัญก็คือ การปรับ Mindset ของข้าราชการในการคิดให้เป็น “ดิจิทัล” คิดให้ทันต่อ “การเปลี่ยนแปลง” มิใช่การนำเทคโนโลยีมาครอบวิธีการทำงานแบบเดิม ๆ แต่ต้องก้าวข้ามผ่านขั้นตอน กฎระเบียบที่ไม่จำเป็น โดยต้องตั้งคำถามว่า กฎระเบียบที่มีอยู่นั้น “มีไว้เพื่อใคร และเพื่ออะไร” รวมถึงการบูรณาการการทำงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาครัฐและภาคส่วนต่าง ๆ การวางแผนเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

เหล่านี้จึงจะสามารถปลดล็อกความยุ่งยาก อํานวยความสะดวกในการให้บริการประชาชนได้อย่างสมบูรณ์แบบ ส่งผลให้เกิดความเข้มแข็ง (Stronger) ประสิทธิภาพการให้บริการ (Smarter) และส่งผลให้ประชาชน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (Better life) ในท้ายที่สุด


****************