ในความเห็นของผู้เขียน บริบทที่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของระบบราชการไทยในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและรุนแรงมาก ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีที่ปั่นป่วน (disruptive technology) สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (climate change) ไปในทางที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โครงสร้างของสังคมที่เปลี่ยนเป็นสังคมผู้สูงวัย (ageing society) ประชากรในวัยทำงานเริ่มลดน้อยลงขณะที่ประชากรสูงวัยเพิ่มมากขึ้น และเป็นจุดเริ่มของการลดลงของจำนวนประชากร รวมทั้งระบบระหว่างประเทศที่ผันแปรไปจาก bi-polar powers เป็น multi-powers ที่ยังหาจุดสมดุลไม่เจอ อันทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศเปลี่ยนแปลงไปจากการเผชิญหน้าทางการทหารโดยตรงมาอยู่ในรูปแบบการขัดแย้งทางเศรษฐกิจ การค้า และเทคโนโลยี
บริบทที่เปลี่ยนไปเหล่านี้เป็นไฟท์บังคับที่ผู้เขียนเห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่บ้านเราต้องมาทบทวนกันอย่างจริงจังเสียทีว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้ระบบราชการไทยมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างและวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงได้ทันเหตุการณ์เหมือนประเทศอื่น ๆ เขาบ้าง
ผู้เขียนลองศึกษาดูแล้วพบว่า ปัจจุบันเรามีกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ที่กำหนดว่าประเทศเรามีกระทรวงอะไรบ้าง ทบวงอะไรบ้าง (ซึ่งตอนนี้ไม่มี) และในแต่ละกระทรวง (ทบวง) มีกรมอะไรบ้าง อันเป็นการแบ่งตามหน้าที่ (Function) หน้าที่ใครหน้าที่มัน หลักก็คือแบ่งหน้าที่กันทำ จะได้ไม่ซ้ำซ้อนกัน โครงสร้างของระบบราชการไทยจึงมีลักษณะเป็นแท่ง ๆ แต่ละแท่งเป็นเอกเทศจากกัน การทำงานจึงเป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่แต่ละแท่งกำหนด ยากที่จะบูรณาการการทำงานเข้ากับแท่งอื่นตามประเด็นการพัฒนาได้ แม้การบูรณาการภายในแท่งเองก็ยังยาก เช่น คนทำถนนก็ทำถนน ไม่ได้คิดถึงเรื่องทิศทางการพัฒนาพื้นที่ ไม่ได้คิดเรื่องสิ่งแวดล้อม น้ำยังไม่ตามไป ไฟก็ยังไม่เข้า สัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ถึง เป็นต้น
นอกจากนี้ การที่กฎหมายแต่ละฉบับกำหนดไว้ชัดเจนว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายก็ยิ่งเป็นการ “เสริมใยเหล็ก” ให้กับ “โครงสร้างแบบแท่ง” ของส่วนราชการเข้าไปอีก แม้กฎหมายเกือบทุกฉบับจะกำหนดให้มี “คณะกรรมการ” ที่ประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายนั้นอยู่ด้วยก็ตาม เพราะเมื่อกฎหมายกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายใดแล้ว ความรับผิดชอบในการปฏิบัติให้กฎหมายบรรลุผลก็จะตกแก่รัฐมนตรีผู้รักษาการตามที่ระบุไว้ในกฎหมายผู้เดียว กระทรวงอื่น กรมอื่น ก็จะไม่เข้ามาก้าวก่ายการทำงานของรัฐมนตรีผู้รักษาการ
ผู้เขียนจึงเห็นว่าการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เป็นเรื่องสำคัญในยุคปฏิรูป โดยกฎหมายดังกล่าวควรกำหนดว่า “ภารกิจ” (mission) ของส่วนราชการมีภารกิจใดบ้างแทนที่จะกำหนดว่าเรามีกี่กระทรวง กระทรวงอะไรบ้าง ส่วนการกำหนดว่าภารกิจใดและกฎหมายใดบรรดาที่เกี่ยวข้องกับภารกิจนั้นจะอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐมนตรีท่านใด ให้เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมีคำสั่งกำหนด (administrative arrangement order) ซึ่งก็จะช่วยทำให้การบูรณาการ “เนื้องาน” ที่อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐมนตรีแต่ละท่านตาม Agenda มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ต้องรอแก้กฎหมายเป็นรายฉบับซึ่งยากเย็นมาก เรียกว่ากว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้เสียแล้ว
นอกจากนี้ ผู้เขียนเห็นว่าการที่กระทรวงจะมีกรมอะไรบ้าง และในกรมจะมีกี่กอง ก็ควรให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อให้ฝ่ายบริหารสามารถบริหารจัดการทรัพยากร “ที่มีอยู่” ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างยืดหยุ่น ไม่แข็งตัวอย่างเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
และเมื่อเป็นเช่นนี้ กฎหมายแต่ละฉบับจึงไม่ต้องกำหนดตายตัวเหมือนเดิมว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดเป็นผู้รักษาการ เพียงระบุให้มีรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบ (Port folio minister) เป็นผู้รักษาการเท่านั้น ซึ่งก็เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาลกำหนดดังกล่าวข้างต้น
ผู้เขียนเห็นว่าการปรับโครงสร้างระบบราชการตามแนวทางที่ว่านี้น่าจะทำให้ “การจัด” ระบบราชการมีความยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และสามารถตอบสนองต่อบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เป็นอยู่
จะว่าไป วิธีนี้ไม่ใช่วิธีใหม่แต่อย่างใด หลายประเทศเขานำมาใช้ตั้งแต่ยุค 1990s แล้ว
ชวนคิดครับ.