วันจันทร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

“ประหยัดงบ” ปกรณ์ นิลประพันธ์

ประหยัดถ้าเป็นภาษากฎหมายจะฟังยากนิดหน่อยคือใช้จ่ายตามควรแก่ฐานานุรูป แต่ถ้าจะเอาแบบเข้าใจง่าย ก็น่าจะใช้ตามพจนานุกรม ซึ่งท่านว่าหมายถึงการใช้จ่ายแต่พอสมควรแก่ฐานะคือใช้ฐานะเป็นเกณฑ์ มีน้อยก็ใช้น้อย ถ้ามีมากก็อาจใช้มากได้ มีมากใช้น้อยไม่ว่ากัน ดีเสียอีกมีเหลือเก็บ แต่มีน้อยใช้มากนี่ไม่ประหยัดหรือสุรุ่ยสุร่าย

การรู้จักประหยัดนี้เป็นความรู้ด้านการเงิน (financial literacy) เรื่องหนึ่ง (ยังมีอีกหลายเรื่อง) ที่ต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก   ยิ่งในสังคมบริโภคนิยมยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่ปลูกฝังให้ติดตัวมาตั้งแต่เป็นละอ่อน มาปลูกฝังในตอนโตแล้ว จะต้านทานแนวคิดบริโภคนิยมได้ยากมาก และถ้ามองในภาพรวม สังคมใดที่ผู้คนขาด financial literacy หรือมีแต่น้อย สังคมนั้นยากที่จะมีเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืน (sustainable finance) ได้

เหมือนกับที่เราจะก้าวสู่ยุคดิจิทัลนั่นแล ถ้าคนของเรายังขาด digital literacy เราก็จะไม่สามารถสถาปนา digital society ที่มั่นคงและยั่งยืนได้ ไม่ว่าเราจะมีสตางค์ซื้ออุปกรณ์ทันสมัยไฮเทครุ่นล่าสุดก็ตาม

Digital literacy นี่ไม่ใช้แค่ใช้คอมพิวเตอร์ได้ ใช้ smart phone เป็น เล่นไลน์ เล่นเฟสบุ๊ค คล่องนะครับ ถ้าเอาแบบง่าย ไม่ลึกซึ้งนัก มันหมายถึงความสามารถของบุคคลในการค้น ประมวล วิเคราะห์ สร้าง และสื่อสารข้อมูลที่เคลียร์คัตชัดเจนผ่าน digital platform ต่าง คือต้องมีการคิดวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบ ไม่ใช่ใครส่งอะไรมาก็แชร์กันเรื่อยเปื่อยไป 

การสร้าง digital literacy นี่ฝรั่งให้ความสำคัญมากนะครับ อยู่ในบทเรียนระดับมัธยมเลย แฝงอยู่ในหลายวิชา ไม่ได้ตั้งเป็นวิชาเฉพาะ เช่น ในวิชาประวัติศาสตร์ เขาจะมีชุดข้อมูลสั้นบ้างยาวบ้างมาให้ 4-5 ชุด แล้วให้ผู้เรียนเขียนวิเคราะห์ว่าข้อมูลใดเชื่อถือได้มากน้อยเพียงไรเพราะเหตุใด ไม่ใช่แค่ให้ท่องว่าเสียกรุงเมื่อไร เป็นต้น อันนี้เป็นทักษะพื้นฐานสำคัญของชีวิตในยุคดิจิทัลเลยนะครับ

ว่าจะเขียนเรื่องประหยัดงบประมาณ มาถึงนี่ได้ยังไงไม่รู้ กลับไปเรื่องประหยัดดีกว่า

พูดถึงเรื่องประหยัดงบประมาณนี่ ถ้าเป็นในภาคราชการทั่วไปมักจะคิดกันว่าหมายถึงการที่หน่วยงานสามารถใช้จ่ายเงินได้น้อยกว่าวงเงินงบประมาณที่ได้รับเป็นหลัก ซึ่งการคิดเพียงเท่านั้นมันกลับได้ผลประหลาดมากถึงมากที่สุดในทัศนะของผู้เขียน ที่ประหลาดก็เนื่องจากว่ามันทำให้ทุกหน่วยงานพยายามใช้จ่ายให้น้อยกว่าวงเงินที่ได้รับทุกเรื่องไปเพื่อให้ได้คะแนนความประหยัด การจึงกลายเป็นว่าเงินงบประมาณที่ขอไปนั้นมีเหลือทุกปี สร้างปัญหาในการบริหารงบประมาณอีก แทนที่งบประมาณจะไปถึงชาวบ้านเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ที่น่าขำก็คือตอนของบประมาณนี่แต่ละโครงการขอเสียสูงเชียว ตอนได้งบประมาณมาก็จะน้อยกว่าที่ขอไปราว 10-15% ตอนทำจริงดันผ่ามีเงินเหลือเพราะประหยัดได้ เรียกว่าขอเผื่อถูกตัดว่างั้น ตลกร้ายจริงเชียว

ที่จริงแล้วคำว่าประหยัดของหลวงท่านในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่จ่ายให้น้อยกว่าเงินที่ได้รับนะครับ เขามุ่งหมายถึงความคุ้มค่ามากกว่า คือการใช้เงินนั้นต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชนตามวัตถุประสงค์ของโครงการหรือแผนงานที่กำหนด เว้ากันซื่อ นั้นการใช้จ่ายเงินต้องตอบให้ได้ว่าประชาชนได้อะไรและถ้าใช้เงินคุ้มค่าตามวัตถุประสงค์แถมประหยัดได้อีกนี่เรียกว่าชาญฉลาดมาก สมควรได้คะแนนความประหยัดเยอะ

นี่กำลังคิดว่าตัวชี้วัดเรื่องการประหยัดจะไม่ใช้เกณฑ์การใช้เงินน้อยกว่าวงเงินงบประมาณที่ขอไปและได้รับอย่างเดิม อีกแล้ว แต่จะใช้เกณฑ์ความคุ้มค่าแทน คือต้องตอบให้ได้ว่าที่ใช้เงินไปน่ะ ประชาชนได้อะไร มีผลงานที่จับต้องได้ มีผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนผู้รับบริการมาประกอบชัดเจน

ดีไหมครับ?



วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

Doing Business 2019 ปกรณ์ นิลประพันธ์


                   เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ธนาคารโลกได้เปิดเผยรายงานฉบับหนึ่งที่เรียกว่า รายงานความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ประจำปี 2019

                   รายงานที่ว่านี้เป็นรายงานที่ธนาคารโลกจัดทำขึ้นโดยรวบรวมผลการสำรวจการประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมตั้งแต่เริ่มไปจนเลิกกิจการในเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศต่าง ๆ จำนวน 190 ประเทศ ว่ายาก-ง่ายแค่ไหนในภาพรวม ซึ่งหลัก ๆ เป็นการสำรวจเกี่ยวกับกระบวนการขั้นตอน (procedure) ระยะเวลาดำเนินการ (time) ต้นทุน (cost) ว่ามีขั้นตอนเยอะไหม ใช้เวลาขออนุมัติอนุญาตมากไหม หลงจ้งแล้วคิดเป็นต้นทุนมากน้อยเพียงไร ซึ่งเรื่องเหล่านี้นอกจากจะเกี่ยวข้องกับกฎหมาย กฎ และระเบียบแล้ว ยังเกี่ยวกับการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน

                   สำหรับประเด็นหลักที่เขาสำรวจก็มี 10 เรื่องด้วยกัน คือ ความยาก-ง่ายในการเริ่มต้นธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้าง การขอใช้ไฟฟ้า การจดทะเบียนทรัพย์สิน การได้รับสินเชื่อ การคุ้มครองผู้ลงทุนฝ่ายข้างน้อย การชำระภาษี การค้าระหว่างประเทศ การบังคับการให้เป็นไปตามข้อตกลงหรือสัญญา และการแก้จัดการปัญหาล้มละลาย อันเป็นเรื่องพื้นฐานของการประกอบธุรกิจ

                   สำหรับการสำรวจในแต่ละประเทศนั้น เขาใช้วิธีให้ภาคเอกชนตอบแบบสอบถาม แล้วนำมาพิจารณาประกอบกับรายงานผลการดำเนินการในการปฏิรูปในแต่ละประเด็น รวมทั้งลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องด้วย

                   ส่วนวิธีการให้คะแนนในแต่ละประเด็นที่สำรวจนั้น หลายปีก่อนเขาใช้วิธีกำหนดค่าเป้าหมายขึ้น แล้วประเมินผลว่าแต่ละประเทศมีระยะห่างจากเป้าหมายที่กำหนดมากแค่ไหน (Distance to Frontier (DTF)) เช่น การขออนุญาตก่อสร้างต้องได้รับใบอนุญาตภายใน 10 วัน ประเทศไหนทำได้ภายใน 10 วันก็ได้เต็ม ใครทำได้ช้ากว่านี้ก็ได้คะแนนน้อยลงไปเรื่อย ๆ แต่ปี 2019 เขาปรับการให้คะแนนใหม่ให้สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น โดยตามวิธีนี้เขาถือว่าประเทศที่ทำได้ดีที่สุดในแต่ละประเด็น (เช่น ใช้เวลาในการอนุญาต 0.5 วัน) จะได้คะแนนเต็ม 100 คะแนน ประเทศที่ทำได้ไม่ดีที่สุดในประเด็นนั้น (เช่น ใช้เวลาในการอนุญาต 120 วัน) จะได้คะแนน 0  ส่วนประเทศอื่นจะได้คะแนนตามผลงานที่ทำได้เมื่อเทียบกับ Benchmark ดังกล่าว เขาเรียกวิธีนี้ว่า Ease of Doing Business Score (EODB) ซึ่งก็นับว่าเป็นธรรมดี

                 ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้ convert คะแนน DTF ของทุกประเทศที่ได้ในปี 2018 เป็นคะแนน EODB เพื่อเปรียบเทียบด้วย  ซึ่งเมื่อ convert แล้วปรากฏว่าในปี 2018 ที่ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่ม Top 30 ของโลก โดยอยู่ในลำดับที่ 26 จาก 190 ประเทศ ได้คะแนน EODB เท่ากับ 77.39

                   สำหรับปี 2019 ประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่ม Top 30 ของโลก ถึงจะอยู่ในลำดับที่ 27 จาก 190 ประเทศ แต่ได้คะแนน EODB รวม 78.45 ซึ่งสูงกว่าคะแนน EODB ที่ได้ในปี 2018 จากการพัฒนาการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจที่สำคัญใน 4 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ ด้านการขอใช้ไฟฟ้า ด้านการชำระภาษี และด้านการค้าระหว่างประเทศ  

                   ในทัศนะของผู้เขียน การที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 27 ขณะที่ปีที่แล้วอยู่ในลำดับที่ 26 นั้น ไม่ใช่ว่าเราสอบตก หรือแย่ลง เพราะหากดูคะแนนรวมของทุกประเทศที่หน้าที่ 5 ของรายงานฉบับออนไลน์ตามลิ้งนี้ http://www.doingbusiness.org/content/dam/doingBusiness/media/Annual-Reports/English/DB2019-report_web-version.pdf  จะเห็นได้ว่าประเทศชั้นนำอย่างฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น จีน ฯลฯ ล้วนได้อันดับต่ำกว่าประเทศไทยทั้งสิ้น ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าเขาสอบตกหรือเป็นเต่า เพียงแต่เขายังทำไม่ได้เท่าประเทศที่ได้คะแนนเต็มในแต่ละประเด็นเท่านั้น คะแนนรวมจึงต่ำ อันดับจึงไม่สูง ก็ต้องพัฒนากันไป เราก็พัฒนาไป คนอื่นเขาก็พัฒนาเหมือนกัน  ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าเมื่อเราได้คะแนนมากกว่าปีที่แล้ว แสดงว่าเรามีพัฒนาการที่ดีขึ้น หาใช่สอบตกไม่

                  จะว่าไป การที่ประเทศไทยมีคะแนนดีขึ้นเป็นผลจากการที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างจริงจังในการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริการภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก็ทำงาน “ปิดทองหลังพระ” ร่วมกันอย่างใกล้ชิดมาตลอด เสียอย่างเดียวคือพูดไม่เก่ง เป็นทีมฟุตบอลเล็ก ๆ ที่ไม่มีฮีโร่ แต่ทุกคนทำเพื่อทีม ทีมที่ว่านี้คือ “ประเทศไทย”

                   ถึงตอนนี้สิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกำลังทำกันง่วนอยู่ คือเตรียมความพร้อมสำหรับปีถัดไป เป้าหมายคือ Toward Sustainable and Better Life ครับ ซึ่งตอนนี้เราเห็นร่วมกันแล้วว่าถ้าทุกหน่วยสามารถนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการทำงานและเชื่อมโยงข้อมูลเข้าด้วยกันได้อย่างเต็มรูปแบบตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ก็จะสามารถอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจได้มาก ช่วยลดขั้นตอน (Procedure) ลดระยะเวลาในการให้บริการ (Time) และลดต้นทุนของผู้ประกอบการ (Cost) ได้ทุกด้านอันจะทำให้คะแนน EODB ของประเทศสูงขึ้นโดยตรงเนื่องจากจำนวนขั้นตอน ระยะเวลาในการให้บริการ และต้นทุนของผู้ประกอบการนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการคำนวณคะแนนแบบ EODB  นอกจากนี้ ยังเป็นเกราะป้องกันการทุจริตด้วยเพราะมันตรวจสอบได้

                   ขอตัวไปทำงานต่อนะครับ.