วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2560

Big Data โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

ช่วงนี้ดูเหมือนคำว่า Big Data จะฮอตฮิตติดลมบนมาก ใคร ก็พูดถึงกันทั้งนั้น แต่ไม่แน่ใจว่าแต่ละคนเข้าใจตรงกันหรือเปล่าว่ามันคืออะไร
ตอนแรก ผู้เขียนก็เหมือนกับหลายต่อหลายคนที่เข้าใจเอาเองว่าเจ้า Big Data คือการรวบรวมและการบริหารจัดการข้อมูลจำนวนมากมายมหาศาลที่มีอยู่อย่างเป็นระบบ เราจะได้นำข้อมูลเหล่านี้มาใช้งานได้อย่างเหมาะสม

แต่เมื่อไม่กี่วันนี้ ผู้เขียนได้มีโอกาสดูข่าวต่างประเทศข่าวหนึ่ง ทำให้เกิดพุทธิปัญญาว่าที่เข้าใจเอาเองมานานเกี่ยวกับ Big Data นั้นมันถูกนิดเดียว

ข่าวที่ว่านี้เขารายงานว่าเมื่อเดือนก่อนการท่องเที่ยวในประเทศหนึ่งบูมมาก คนแห่ไปดูดอกไม้บานกันใหญ่ ถ้าเป็นบ้านเราก็คงปลื้มกับตัวเลขนักท่องเที่ยวแล้ว แต่ประเทศนี้เขาไม่หยุดอยู่แค่นั้นครับ เขาบอกว่าเมื่อเขาวิจัย Big Data แล้วพบว่ามันกระจุกตัวอยู่ที่สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังไม่กี่แห่งเท่านั้น คำถามที่ตามมาก็คือทำอย่างไรจึงจะทำให้นักท่องเที่ยวกระจายไปทั่ว ได้เพื่อให้เงินของนักท่องเที่ยวกระจายไปตามพื้นที่ต่าง อย่างทั่วถึงอันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ทั่ว กัน เขาว่าผลจากการวิจัย Big Data ทำให้รู้ด้วยว่าเขาคงต้องปลูกต้นไม้ในเมืองอื่น เพิ่มเติมให้คนไปดูกันตามเมืองต่าง จัดเมืองให้สวยงาม สะอาด ส่งเสริมให้มีตลาดชุมชน ขายของดีของชุมชน รวมทั้งจัดสถานที่เพื่ออำนวยความสะดวก รวมทั้งมาตรการรักษาความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยวเพิ่มเติมด้วย และจะทำอย่างไรไม่ให้การท่องเที่ยวกระทบวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นมากเกินไป เรียกว่ามองแบบครบวงจร 

สิ่งที่เขาอธิบายต่อไปก็คือการวิจัย Big Data ของเขานั้น เขาไม่ได้ไปรวบรวมข้อมูลมากองในถังข้อมูลเหมือนธนาคารข้อมูล (Data Bank) ให้เมื่อยตุ้มเพราะมันเป็นไปไม่ได้ในโลกยุคปัจจุบัน เนื่องจากข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มันมหาศาลมากและเกิดขึ้นทุกเสี้ยววินาที เช่น ใครไปเที่ยวไหนแล้วอัปโหลดรูปลงสื่อโซเชียลก็เป็น Data แล้ว หรือเล่นไลน์จากตรงไหนมันก็เป็น Data แล้ว แต่เขาใช้เทคนิคการตรวจสอบสัญญาณไวไฟครับเพราะเดี๋ยวนี้ใครจะไปเที่ยวประเทศเขา จะมีการเช่าพ็อกเก็ตไวไฟไปใช้กันด้วย และนักท่องเที่ยวแต่ละชาติก็มีช่องสัญญาณไม่ปะปนกัน เขาตรวจสอบจากการใช้ไวไฟครับว่านักท่องเที่ยวในภาพรวมแห่ไปตรงไหนกันบ้าง ในช่วงเวลาใด และนักท่องเที่ยวแต่ละชาติชอบไปที่ไหนกันในช่วงเวลาไหน ที่ละเอียดยิบย่อยลงไปอีกคือไปเฮกันอยู่ที่ร้านไหนอย่างไร เห็นที่เขาถ่ายภาพจอแสดงผลการใช้ไวไฟแล้วต้องยกนิ้วว่าเขาสุโค่ยจริง ขอบอก และเมื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปเชื่อมโยงกับข้อมูลอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข้อมูลรายได้ของผู้ประกอบการ ข้อมูลปริมาณขยะ ข้อมูลการเพิ่มขึ้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ข้อมูลสถิติอาชญากรรม ข้อมูลการเกิดอุบัติเหตุ ฯลฯ ก็จะยิ่งทำให้การวางแผนต่าง อยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงที่แม่นยำ ไม่ใช่มโนเอาเองซึ่งมีโอกาสผิดพลาดสูงมาก แถมต่างคนต่างมโนนี่ยิ่งจะทำให้เลอะเทอะไปกันใหญ่ อย่างที่เราคุ้นเคยกันอยู่

ผู้เขียนจึงเข้าใจว่า Big Data ไม่ใช่ Data Bank แต่เป็น "วิธีการใช้ประโยชน์" จากข้อมูลมากมายมหาศาลที่มันมีอยู่แล้วนี่แหละ โดยใช้เทคนิคต่าง ๆ แล้วนำมาวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผล แล้วนำผลการวิเคราะห์ที่ว่านี้ไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการต่าง ไม่ใช่แค่การรวบรวมและการจัดระบบฐานข้อมูลเฉย

น่าสนใจมากนะครับเรื่องนี้ เป็นประโยชน์กับชาวบ้านร้านตลาดโดยตรงด้วย ผมว่าดีกว่าหาเรื่องทะเลาะกันเยอะแยะ 

อย่ามัวนึกถึงแต่ตัวเอง นึกถึงสังคมส่วนรวม นึกถึงลูกหลาน นึกถึงคนยุคถัดไปบ้างเถิดครับ.

วันเสาร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2560

การศึกษาที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง 1 โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาผู้เขียนได้มีโอกาสไปสัมผัสระบบการพัฒนานักเรียนของนิวซีแลนด์ด้วยตนเอง เห็นว่าเป็นประโยชน์มาก ควรที่จะนำมาเล่าสู่กันฟัง เผื่อใครสนใจจะนำมาใช้บ้างก็น่าจะเป็นประโยชน์แก่อนาคตของชาติ 

ผู้เขียนในฐานะผู้ปกครองได้รับเชิญไปพบกับคณะครูเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการพัฒนานักเรียน การที่ผู้ปกครองพบครูที่นี่แตกต่างจากที่ผู้เขียนเคยพบในบ้านเราที่เป็นการพบครูประจำชั้น 1-2 คน และพบทีเดียวกันทั้งห้อง ไม่มีเวลาให้ถามไถ่อะไรนัก เน้นเก็บเงินห้องบ้าง ขายบัตรขายโต๊ะอะไรต่าง บ้าง แต่ครั้งนี้ผู้เขียนไปพบกับคณะครู 4-5 คน เพื่อพูดคุยถึงการพัฒนานักเรียนคนเดียว ใจงี้เต้นตึกตักว่านักเรียนของเราไปทำอะไรผิดหรือเปล่าหว่า 

ด้วยความสงสัยจึงแข็งใจถามว่าทำอย่างนี้เป็นปกติหรือเปล่า เขาตอบว่าเป็นปกติเพราะเด็กแต่ละคนมีบุคลิกภาพและความสามารถแตกต่างกัน การพัฒนานักเรียนจึงต้องทำเป็นรายบุคคล จะทำเป็นกลุ่ม ไม่ได้ ว่าแล้วเขาก็นำผลการเรียนของนักเรียนมาให้ดูตามด้วยการวิเคราะห์เจาะลึกโดยมีข้อมูลประจำตัวของนักเรียนมาประกอบละเอียดยิบ ทั้งข้อมูลในชั้นเรียน ข้อมูลนอกชั้นเรียน และข้อมูลที่เจ้าของบ้านที่นักเรียนพักอยู่ด้วยรายงานมา

สำหรับนักเรียนของผู้เขียน ครูดูจากวิชาบังคับคืออังกฤษ เลข และพละ กับวิชาเลือกอีกสามวิชาคือภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ประกอบกับการพูดคุยกับเด็กนักเรียนแล้ว เขาพบว่านักเรียนมุ่งเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยสายกฎหมาย รัฐศาสตร์ หรือเศรษฐศาสตร์ เขาจึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับเรื่องวิธีคิดและภาษาของนักเรียน แม้เขาเรียนวิชาเหล่านี้ร่วมกับนักเรียนสายวิทย์และใช้ข้อสอบอัตนัยชุดเดียวกันก็จริง แต่ครูบอกว่าเวลาให้คะแนนจะต้องให้ความสำคัญกับเป้าหมายหรือความตั้งใจของเด็กแต่ละคน ให้คะแนนมาตรฐานเดียวกันไม่ได้ เช่น ถ้านักเรียนไปสายวิทยาศาสตร์ เขาจะตรวจให้คะแนนวิชาภาษาอังกฤษแบบทั่วไป แต่ถ้าเด็กคนไหนมุ่งจะไปเรียนในสาขาที่นักเรียนของผู้เขียนสนใจ เขาจะเคร่งครัดกับวิชาภาษาอังกฤษเป็นพิเศษ เอาเป็นว่าถ้าทำได้พอ กัน เด็กวิทย์จะได้คะแนนเป็นตัวเลขสูงกว่าเด็กที่มุ่งไปเรียนสายอื่น เพราะการเรียนกฎหมายก็ดี รัฐศาสตร์ก็ดี เศรษฐศาสตร์ก็ดี ต้องใช้ภาษาในการเรียนและการทำงานมากกว่าเด็กวิทย์ 

ผู้เขียนฟังแล้วทึ่งกับวิธีคิดของเขามาก นี่เป็นการพัฒนานักเรียนให้ตรงตามศักยภาพแท้ ถึงครูจะมีภาระต้องมานั่งแยกแยะว่าเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร เขาก็เลือกที่จะทำเพื่ออนาคตของเด็ก ผู้เขียนจึงถึงบางอ้อว่าการศึกษาที่มีเด็กเป็นศูนย์กลางจริง มันเป็นอย่างนี้นี่เอง และไม่แปลกใจที่ว่าทำไมผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเขาจึงอยู่ในอันดับต้น ของโลก

นอกจากนี้ เขาไม่เน้นให้เด็กเอาแต่เรียน เขาว่าเด็กต้องอยู่ในสังคม ต้องมีสุขภาพแข็งแรงและเติบโตสมกับวัย รู้จักการทำงานร่วมกับผู้อื่นที่มีความแตกต่าง เขาจึงส่งเสริมให้เด็กใช้เวลาว่างนอกจากการเรียนในการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นให้มาก เขาแนะนำให้ทุกคนเข้าชมรมอย่างน้อยคนละชมรมสองชมรม และเพื่อให้เกิดความรับผิดชอบ เด็กในชมรมจะเป็นตัวแทนโรงเรียนในรุ่นต่าง ไปแข่งขันกับโรงเรียนอื่นเสมอ   จึงต้องมีการฝึกซ้อมเป็นประจำ ซึ่งเป็นการสร้างวินัยและความรับผิดชอบให้เด็กโดยปริยาย ไม่ใช่อยู่แบบตัวใครตัวมัน หรือถือประโยชน์ส่วนตัวของกูมาก่อน ผลลัพธ์ที่ดีจึงตกแก่สังคมส่วนรวม ไม่ว่าจะเป็นการเคารพผู้อื่น การเคารพกฎเกณฑ์ของสังคม การคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว

บ้านเราท่องกันว่านักเรียนเป็นศูนย์กลาง แต่เป็นจริงหรือเปล่าไม่รู้ เพราะเด็กถูกส่งออกไปเรียนพิเศษตั้งแต่อนุบาลเพื่อให้สามารถสอบเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงได้ หลายคนถึงขนาดยอมจ่ายค่าแปะเจี๊ยะจำนวนมากเพื่อให้ลูกได้เข้าโรงเรียนระดับท้อป แต่พอเข้าไปแล้วก็ยังไปเรียนพิเศษกันอีก กลายเป็นว่าเครื่องแบบนักเรียนเป็นชุดอันศักดิ์สิทธิ์ที่ต้องมีของดีไว้ใส่ แต่ความรู้ต้องไปขวนขวายเอาจากการเรียนพิเศษ นับเป็นอะไรที่ประหลาดมาก เสียเงินสองต่อสามต่อ

ก็เล่าให้ฟังน่ะครับ





วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2560

อีกครั้งกับมาตรา 77 โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ที่ทุกคนในสังคมต้องปฏิบัติตาม มีผลเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ใครฝ่าฝืนสิ่งที่กฎหมายห้าม หรือไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่กฎหมายกำหนด ต้องได้รับโทษ  

เพราะเหตุที่กฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนและมีโทษนี่เอง การตรากฎหมายแต่ละฉบับขึ้นจึง "ต้อง" ผ่านกระบวนการคิดวิเคราะห์อย่างรอบคอบรอบด้าน และต้องนำความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบและผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายทั้งปวงมาประกอบการพิจารณาด้วย ซึ่งก็เป็นไปตามหลักการพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน 

หลักการที่ว่านี้เป็นหลักการพื้นฐานในการร่างกฎหมายของประเทศประชาธิปไตยครับ "นักร่างกฎหมายไทย" ก็ยึดหลักนี้เช่นเดียวกัน วิธีทำงานจึงต่างจาก "นักออกกฎหมาย" ที่เขาเน้นความเร็วและปริมาณเป็นหลัก โดยนักร่างกฎหมายต้องคิดวิเคราะห์ให้รอบด้านประกอบกับรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียก่อนแล้วจึงลงมือเขียน  ไม่ใช่อยู่ นึกอยากจะเขียนอะไรเป็นกฎหมายก็เขียนออกมา เพราะผลกระทบมันเยอะเนื่องจากกฎหมายใช้บังคับกับทุกคน

ตรงกันข้าม "นักออกกฎหมาย" เขาจะเน้นปริมาณเยอะ ในระยะเวลาน้อย ครับ ยิ่งออกกฎหมายได้มาก เขาถือเป็นผลงาน เวลาปั้มกฎหมายก็เอากฎหมายเก่า มาเป็นแบบหรือแนวการเขียน ไม่ได้คิดอะไรใหม่ ราวกับกฎหมายเก่ามันเป็นแบบมาตรฐาน ทั้ง ที่กฎหมายเก่าหลายฉบับที่เอามาเป็นต้นแบบเองก็มีปัญหา ก็ดันผ่าลอกมาได้ ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไม เห็นอ้างกันว่ามันเป็นแบบ .. จริง ๆ โลกมันหมุนไปข้างหน้า แต่เราไปลอกกฎหมายเก่า ตรรกะมันประหลาดชอบกล .. แล้วมาบ่นกันว่ากฎหมายไม่ทันสมัย .. ทำอย่างนี้มันจะทันสมัยได้อย่างไรล่ะครับ .. มันก็วนไปวนมาอยู่นั่นเอง .. 

กฎหมายบางฉบับ นักออกกฎหมายผ่าไปเอาร่างกฎหมายที่สภายังไม่รับหลักการเพราะมีปัญหาการคัดค้านกันวุ่นวายมาเป็นแบบก็มี .. เอาเข้าไป .. ของเก่ายังไม่รอดเลย อันใหม่มันจะไปยังไงกัน

"นักร่างกฎหมาย" เขาไม่ได้คิดถึงปริมาณของกฎหมายครับ แต่เขาคิดถึง "คุณภาพ" ของกฎหมาย (Quality of Legislation) เขาคิดว่ายิ่งมีกฎหมายมาก ยิ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนมาก อย่ากระนั้นเลย ทำกฎหมายให้มีคุณภาพและสอดคล้องกับบริบท (Context) หรือความต้องการของสังคมน่าจะดีกว่า และเนื่องจากบริบทของสังคมหรือความต้องการของสังคมนั้นมันเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาหรือที่เรียกกันตามภาษาวิชาการว่ามันมีพลวัตร (Dynamics) แถมยุคดิจิทัลความต้องการของสังคมยิ่งเปลี่ยนเร็วหนักข้อขึ้นไปกว่าเมื่อ 40-50 ปีก่อนมากมายนัก นักร่างกฎหมายจึงต้องสังเกตสังกา (Observe) ความเปลี่ยนแปลงนี้อยู่ตลอดเวลา จะนั่งตีขิมเฉย ๆ ไม่ได้ สรุปได้ว่า เป้าหมายของนักร่างกฎหมายจึงได้แก่การทำกฎหมายให้มีคุณภาพดีขึ้นเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม (Better Regulations for Better Lives) 

ถามว่าคุณภาพชีวิตของใครล่ะที่จะดีขึ้น คำตอบก็คือคุณภาพชีวิตของประชาชนทุก ๆ คนครับ และประชาชนที่ว่านี้คือรวมถึงประชาชนในยุคถัด ไป (Next Generation) ด้วย เพราะประชาชนในรุ่นถัด ไปย่อมมีสิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสังคมที่มีคุณภาพ ที่ตำราวิชาการสมัยใหม่เขาเรียกว่า Right of the Next Generation ครับ บอกตรง ๆ ว่าความต้องการของคนในสังคมปัจจุบันและในอนาคตนั้นแตกต่างจากความต้องการของสังคมในยุคสมัยมองเตสกิเออร์ซึ่งเป็นไอดอลในใจของใครหลายคนไปไกลโขแล้ว

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ได้นำหลักการร่างกฎหมายของนักร่างกฎหมายมาบัญญัติไว้ในมาตรา 77 "เพื่อประกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน" ให้พ้นจากการตรากฎหมายที่ไม่มีการคิดหน้าคิดหลังให้รอบคอบครับ แต่มาตรานี้ดูจะเป็นที่ขัดเคืองของนักออกกฎหมายนิยมยิ่งนัก หลายท่านเกรงว่าจะทำให้ภารกิจการออกกฎหมายทำได้ยากและล่าช้า เพราะต้องเพิ่มกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบ และการวิเคราะห์ความจำเป็นในการตรากฎหมาย (regulatory impact assessment: RIA) เข้าไปด้วย แล้วจะออกกฎหมายอย่างไรกัน

คำถามของนักร่างกฎหมายและประชาชนทั่วไปก็คือ มาตรการที่เขียนไว้ในมาตรา 77 นั่นมันควรต้องทำไหม? ที่ผ่าน ๆ มาไม่มีการการวิเคราะห์ความจำเป็นในการตรากฎหมายอย่างจริงจัง ถามคำตอบคำ ไม่มีการศึกษาวิเคราะห์ในอย่างละเอียด กฎหมายที่ตราขึ้นจึงแก้ปัญหาไม่ตรงจุด ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคม แถมสร้างปัญหาใหม่ และทำให้กฎหมายขาดความศักดิ์สิทธิ์ คนไม่เชื่อถือ 

การรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบที่ผ่าน ๆ มาก็ไม่ทั่วถึง จัดรับฟังให้ครบตามขั้นตอนเท่านั้น ผู้ได้รับผลกระทบจริง ไม่ค่อยได้มาแสดงความคิดเห็นหรอก คงมีแต่ขาประจำที่มาเน้นกินฟรี แถมจับไมค์พล่ามอยู่คนสองคนเพื่อให้เป็นข่าวตามสื่อ นอกจากนี้ ยังไม่มีการสร้างความรับรู้เกี่ยวกับปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาแก่ประชาชนก่อนด้วย เมื่อประชาชนไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง แถมยังขาดการรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบอย่างจริง ๆ จัง ๆ หรือฟังไปงั้น เมื่อกฎหมายออกมาจึงถูกคัดค้านต่อต้านได้ง่าย คนในสังคมจึงไม่เชื่อไว้ก่อนเพราะไม่มีข้อมูลและที่ผ่านมาถูกหลอกจนเข็ด กฎหมายกลายเป็นเสือกระดาษ และพอเจ้าหน้าที่ที่มีไถยจิตไปเจอเสือกระดาษเข้า เชื่อไหมว่าพวกนี้มีเวทย์มนต์วิเศษที่เสกเสือกระดาษให้มีชีวิตและนำไปรีดไถชาวบ้านได้

จริง แล้วผู้เขียนเข้าใจว่านักออกกฎหมายคงอ่านมาตรา 77 ไม่เข้าใจ เพราะมาตรา 77 ที่ว่านี้เขาบอกว่ารัฐ "พึงทำ" อยู่ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ "ไม่ใช่ต้องทำ" เพราะไม่ได้อยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐ เพราะ กรธ. เขารู้ว่าหรอกครับว่ากฎหมายบางเรื่องมันเอาออกรับฟังความคิดเห็นไม่ได้หรอก เช่น การขึ้น/การลดภาษี เป็นต้น เพราะมันอาจทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน หรือพระราชกำหนดที่ต้องตราขึ้นเป็นการด่วนและลับ จะเอาออกมาแบไต๋ก่อนได้ยังไง  

นอกจากนี้ เขาให้นำผลการรับฟังความคิดเห็นไป "ประกอบการพิจารณากฎหมายในทุกขั้นตอน" ครับ ไม่ได้บังคับให้ต้องไปฟังใหม่ทุกขั้นตอน เพียงแต่ว่าถ้าขั้นตอนไหนจะฟังเพิ่ม เขาก็ไม่ห้าม .. ยิ่งทำได้ก็ยิ่งดีว่างั้น จะได้รอบคอบขึ้น แต่ต้องไม่ใช่ฟังอยู่กลุ่มเดียวพวกเดียวที่มีเสียงดังออกสื่อเหมือนที่ผ่าน มา ต้องฟังกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบอย่างทั่วถึง เพราะทุกกลุ่มคือองค์ประกอบของสังคม 

อ้อ เกือบลืมว่ามาตรา 77 นี่เขาบังคับให้มีการทบทวนกฎหมายทุกรอบระยะเวลาด้วยนะครับซึ่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายฯ กำหนดไว้เบื้องต้นว่าต้องทำทุก ๆ 5 ปี หรือเร็วกว่านั้น ถ้าได้รับคำร้องเรียนจากผู้เกี่ยวข้อง กฎหมายไทยจะได้ทันสมัยกับเขาบ้าง ของเก่ามันก็ดีครับ แต่สำหรับยุคสมัยของมันเอง เมื่อจำเนียลกาลผ่านไปความทันสมัยมันก็จะน้อยลงเรื่อย ๆ ต้อง modernise กันหน่อย ดู Software โทรศัพท์มือถือก็ได้ครับ เดี๋ยว ๆ เขาก็เตือนให้ upgrade กันแล้ว มันจะได้ทันความเปลี่ยนแปลงไงล่ะ 

ผมว่าเรามาช่วยกันพัฒนาคุณภาพของกฎหมายตามมาตรา 77 กันดีกว่าครับ จำนวนนั้นมากมายพอแล้ว ช่วยกันสร้างสิ่งดีงามกัน.

วันพุธที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2560

นึกไม่ถึงจริง ๆ โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์

เมื่อวันก่อน คสช มีคำสั่งที่ 21/60 ว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ เพื่อแก้กฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจและลดภาระแก่ประชาชนหลายฉบับ

ในคำสั่งนั้นมีข้อหนึ่งที่กำหนดว่าในการอนุมัติ อนุญาต จดทะเบียน หรือจดแจ้งใด ๆ ที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ขออนุญาตต้องยื่นเอกสารใดที่ทางราชการเป็นผู้ออกให้ ให้ผู้มีอำนาจอนุมัติอนุญาตฯนั้นติดต่อกับหน่วยงานผู้ออกเอกสารนั้นเอง เพื่อลดภาระของประชาชน เหตุผลก็คือมันเป็นเรื่องระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน ทำไมต้องผลักภาระให้ประชาชนด้วยเล่า ยิ่งเดี๋ยวนี้ใช้ระบบออนไลน์กันทั้งนั้น ก็เชื่อมข้อมูลกันเข้าสิครับ จะรออะไร

นอกจากนี้ ข้อนั้นยังกำหนดด้วยว่าถ้าทางราชการประสงค์จะได้สำเนาเอกสารของทางราชการที่ประชาชนมีในครอบครอง ก็ให้ขอยืมประชาชนไปทำสำเนาเอาเองแทนที่จะต้องให้ประชาชนไปถ่ายสำเนามาให้ และจะเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชนไม่ได้ด้วยนะ เหตุผลก็คือประชาชนไม่มีเครื่องถ่ายสำเนาที่บ้านหรอกครับ แต่หน่วยงานของรัฐมี แถมเดี๋ยวนี้ใช้แอปพลิเคชั่นในมือถือแสกนเป็น PDF file ได้อีก ทำไมจะต้องให้ประชาชนไปเสียสตางค์ด้วยเล่า

หลักการนี้ไม่ได้แปลกประหลาดอะไรเลย เป็นสิ่งที่ใคร ๆ ในโลกเขาก็ทำ เสียงตอบรับในโซเชียลมีเดียยังบอกว่ารัฐบาลเพิ่งคิดได้หรืออย่างไร มันควรทำมาตั้งนานแล้ว ที่ผ่านมามันเป็นภาระประชาชน

แต่เชื่อไหมครับว่ารุ่งเช้ามา มีคำถามเพียบจากหน่วยงานของรัฐว่าฉันปฏิบัติไม่ถูก ไม่รู้จะทำอย่างไรดี กลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องโตไปซะงั้น

ผู้เขียนนึกไม่ถึงจริง ๆ นะครับว่าจะมีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นได้ในยุคที่ทุกหน่วยงานมีอุปกรณ์ล้ำสมัยในการทำงานครบครัน แถมรัฐบาลยังมีนโยบายนำระบบดิจิทัลมาใช้ในการให้บริการประชาชนอย่างจริงจังเพื่อบรรลุเป้าหมาย 4.0

จะว่าไปเรื่องนี้เป็นทางปฏิบัติที่ไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย เพียงแต่ใช้การประสานงานระหว่างหน่วยงานผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรืออีเมล์ปกติก็ทำได้แล้ว ใช้มือถือสแกนส่งยังได้เลย แถมข้อมูลยังน่าเชื่อถือกว่าอีกเพราะมาจากหน่วยงานจริง ๆ อีกทั้งแต่ละหน่วยก็รู้อยู่แล้วว่าต้องใช้ข้อมูลจากหน่วยงานอื่นใดบ้าง หน่วยงานก็ติดต่อประสานงานกำหนดวิธีการขอและรับส่งข้อมูลกันเสียให้เรียบร้อยเท่านั้น จะให้เชื่อมระบบข้อมูลกันเพื่อการนี้ก็ยังได้ ถ้ามุ่งจะลดภาระแก่ประชาชนจริง ๆ

เมื่อลองมาวิเคราะห์ดูว่าเป็นเพราะเหตุใด ผู้เขียนพบว่าน่าจะมาจากการที่ระบบราชการไทยทำงานแบบ rule base คือทำตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด พอให้คิดเองว่าต้องทำอย่างไรเลยไม่มีกฎเกณฑ์กำกับให้ทำ แต่บอกว่าทำอะไรไม่ได้ แค่นี้ก็ไปไม่เป็นเสียแล้ว

ในความเห็นของผู้เขียน ระบบการทำงานแบบนี้ไม่เอื้อต่อการพัฒนา แค่ทำตามกฎเกณฑ์ชีวิตก็ไม่มีปัญหาแล้ว แถมได้คะแนนเต็ม 5 เสียอีก ทั้ง ๆ ที่ควรได้แค่ 1 คะแนนเท่านั้น เพราะไม่เกิด innovation ใด ๆ ที่พัฒนาการให้บริการแก่ประชาชนเลย ประเทศก็ไม่พัฒนา

ไม่เชื่อลองไปดูคะแนนประเมินผลการปฏิบัติราชการของหน่วยงานต่าง ๆ ดูครับ คะแนนดีเด่นกันเกือบทั้งหน่วย ดีมากรองลงมา ดีเฉย ๆ เป็นเรื่องแปลก โครงสร้างความดีความชอบจึงเป็นปิระมิดหัวกลับ ตรรกะง่าย ๆ คือแต่ละหน่วยงานมีคนทำงานได้คะแนนดีเด่นเยอะแยะตาแป๊ะไก่ แต่ทำไมความสามารถในการแข่งขันของประเทศไม่กระเตื้องขึ้นเลย มันจึงต้องผิดปกติแน่แล้ว

บางทีเราอาจต้อง brush up ระบบราชการอย่างจริงจังเสียที เปลี่ยนระบบการทำงานและระบบประเมินผลการทำงานกันใหม่ ไม่ต้องมีตัวชี้วัดอะไรให้มากมายวุ่นวายนัก เอาผลงานเป็นตัวชี้วัด มีการเปิดเผยขั้นตอนและระยะเวลาการทำงานให้ชาวบ้านเข้าถึงได้ด้วยก็พอ ให้หน่วยงานคิดนวัตกรรมการทำงานเพื่อลดภาระหรือต้นทุนให้แก่ประชาชนแข่งกัน ใครทำไม่ได้ก็จับไปอบรม กลับมาแล้วทำไม่ได้อีกก็ลงโทษกันไป

Impossible is nothing ครับ

วันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2560

ว่าด้วยจิตวิญญาณ โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

เห็นจั่วหัวเรื่องมาอย่างนี้อย่านึกว่าผู้เขียนจะเปลี่ยนแนวไปเขียนเรื่องสยองขวัญหรือเรื่องหลอน ๆ อะไรนะครับ แนวนั้นผู้เขียนไม่สันทัด จริง ๆ ออกจะกลัว ๆ ด้วยซ้ำไปเพราะตอนเด็ก ๆ ดูละครผี ๆ สาง ๆ มากจนขี้ขึ้นสมอง ต่อเมื่อโตขึ้นจึงรู้ว่าผีไม่น่ากลัว คนเป็น ๆ นี่น่ากลัวกว่าเยอะ ยิ่งเดี๋ยวนี้ผีไทยวิวัฒนาการไปทางฝรั่งและเอเชียตะวันออกมาก ยิ่งไม่น่ากลัว เพราะจากที่เคยมาแบบแลบลิ้นปลิ้นตาหรือแหวะอกหลอกหรือลอยมาแค่หัวกับเครื่องในอย่างผีกระสือนั้นแทบไม่มีแล้ว ไปแนวผีพอกหน้าขาวผมยาวปิดหน้ามาแบบนิ่ง ๆ เสียหมด สูญเสียอัตลักษณ์และเสน่ห์ของผีไทยไปอย่างน่าเสียดาย

จะว่าไป เรื่องวิวัฒนาการของผีข้างต้นก็เป็นตัวอย่างอันดีที่แสดงให้เห็นว่า "จิตวิญญาณแบบไทย ๆ" (Spirit of Thais) ของเรานั้นถูกกัดกร่อนไปมากจนน่ากลัว เพราะลุกลามไปถึงวงการผีแล้ว

ในทัศนะของผู้เขียน จิตวิญญาณ (Spirit) เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งของความสำเร็จและเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนา

จริงอยู่ครับว่าการทำการทำงานต่าง ๆ นั้น เพียงทำตามระเบียบแบบแผนธรรมดาที่กำหนดมันก็เสร็จ มันก็เกิดผล ตามหลัก input > process > output แต่ผลที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเพียง "ผลธรรมดา" ที่ต้องเกิดขึ้น มันไม่ต่างจากการผลิตด้วยเครื่องจักร แต่การงานใดที่ทำด้วยใจ มันจะทำให้เกิด "ผลที่มีคุณค่า" ผลที่ว่านี้มันทำให้คนทำสุขใจ คนรอบกาย(หรือสังคม)ก็สุขสม

ช่วงสงกรานต์จะเป็นช่วงที่คนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นกันมาก เมื่อก่อนไปเพราะหนีร้อน แต่พอทางการญี่ปุ่นเขาโปรโมทการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เลยเลิกการขอวีซ่าให้แก่นักท่องเที่ยวไทย คนไทยก็เลยแห่ไปกันเพราะจะไปดูซากุระบานแทนที่จะเล่นน้ำสงกรานต์

ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่าเขียนถึงจิตวิญญาณในการทำงานอยู่ดี ๆ ไหงเลื้อยมาซากุระกับสงกรานต์ได้

จะว่าไปซากุระนั้นเป็นสัญลักษณ์ของชาวญี่ปุ่น มีคุณตาคนหนึ่งชื่อ Toemon Sano อายุเกือบเก้าสิบปีแล้ว ท่านเป็นภูมิสถาปนิกและหลงใหลซากุระมาก คุณตาและบรรพบุรุษสองรุ่นก่อนต้องต่อสู้กับนักพัฒนาที่ดินมาตลอดชีวิตเพื่อให้คงพื้นที่ซากุระไว้เป็นมรดกของชาติและเป็นปอดของเมือง ดูแล บำรุงรักษา และตัดแต่งต้นซากุระอย่างถูกวิธีเพื่อให้ซากุระเบ่งบานในฤดูใบไม้ผลิ รวมทั้งคอยย้ำเตือนถึงขนบประเพณีที่ถูกต้องและเหมาะสมในการชื่นชมซากุระ  ขอบอกนะครับ ซากุระต้นใหญ่ยักษ์ทั้งหลายตามปราสาทต่าง ๆ ของญี่ปุ่นที่เรา ๆ ไปถ่ายรูปมาอวดกันล้วนเกิดจากฝีมือคุณตาทั้งนั้นครับ

ท่านบอกว่าท่านไม่ได้ปกป้อง (protect) ต้นซากุระ แต่ดูแล (take care) มัน ท่านเห็นว่าการปกป้องทำเพื่อให้มันคงอยู่ แต่การดูแลต้องใส่ใจลงไป ไม่ใช่แค่ทำให้ผ่าน ๆ ไป หากต้องเข้าถึงและเข้าใจมัน ท่านยกตัวอย่างการปูพื้นทางเดินว่าต้องห่างจากโคนต้นพอที่จะทำให้ระบบรากของต้นไม่กระจายได้ตามธรรมชาติ และเพื่อให้น้ำไหลลงไปถึงรากไม้ได้สะดวก ไม่ใช่สักแต่ปูพื้นหรือเทคอนกรีตจนทับระบบรากของต้นไม้อย่างที่ไหน ๆ เขาทำกัน การตัดแต่งก็ต้องคำนึงถึงรูปทรงและการรักษาชีวิตของต้นไม้ด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าตัด ๆ ให้มันด้วน ๆ ไป

การทำงานที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณของคุณตาท่านนี้และบรรพบุรุษ ทำให้คนแห่กันไปดูซากุระบานที่ญี่ปุ่นปีละหลายสิบล้านคน สร้างความสุขให้แก่ผู้คน สร้างรายได้ให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมหาศาล และเผยแผ่ศิลปะวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปทั่วโลก

นี่คือผลของการทำงานที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณ มันสร้างผลงานที่มีคุณค่า

ทำเรื่องธรรมดาให้กลายเป็นความมหัศจรรย์.