วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

คุณภาพของการศึกษา โดย ปกรณ์ นิลประพันธ์

การศึกษาเป็นอะไรที่ดี เพราะทำให้ผู้คนมีความรู้ เมื่อมีความรู้ก็ทำมาหากินได้ ยิ่งทำให้คนมีความใฝ่เรียนรู้ได้มากเท่าไร คนก็จะมีความสามารถในการดำรงชีวิตและความสามารถในการหารายได้มากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจได้ในระยะยาว และถ้าทำให้คนมีคุณธรรมและจริยธรรมดีด้วยแล้ว สังคมก็จะค่อย  พัฒนาไปในทางที่สุขสงบมากขึ้น การจัดให้ผู้คนได้รับการศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาบ้านเมือง

อย่างไรก็ดี การจัดการศึกษาไม่ใช่เพียงการจัดให้ “ทั่วถึง” แต่ต้องจัดให้อย่าง “มีคุณภาพ” ด้วย เพราะการจัดการศึกษาให้ทั่วถึงนั้น แม้จะทำให้คนมีความรู้และมีคุณธรรมจริยธรรมก็จริง แต่หากปราศจากคุณภาพ” แล้ว การศึกษาคงเป็นการให้ความรู้และคุณธรรมจริยธรรมพื้นฐานทั่ว  ไปเท่านั้น

ความแตกต่างระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้อยู่ที่ “ความทั่วถึง” ของการให้การศึกษา หากเป็นผลมาจาก “คุณภาพ” ของการศึกษา ขณะที่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดนั้น มีปัญหาทั้งความทั่วถึงและคุณภาพของการศึกษา

มีหลายปัจจัยในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา แต่ปัจจัยสำคัญที่สุดในทัศนะของผู้เขียนคือ “ความรับรู้ร่วมกัน” ว่า “สังคมต้องการการศึกษาที่มีคุณภาพ” แล้วร่วมกันคิดอย่างกว้างขวาง ว่าทำอย่างไรเราจะมีการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างไร ที่สำคัญ ผู้เขียนเห็นว่าการคิดนี้ควรหลีกเลี่ยงวิธีคิดแบบที่ยึดติดกับรูปแบบ และวิธีการจัดการศึกษา “แบบเดิม ” ที่แสดงให้เห็นอยู่ในตัวเองแล้วว่าทำให้การศึกษามีคุณภาพขึ้นได้ไม่มากนักในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แน่นอน นั่นเพราะโลกเปลี่ยนไปแล้ว และในอัตราเร่งที่สูงมากด้วย

ผู้เขียนเห็นว่าสังคมของเรามีความรับรู้เรื่องนี้ร่วมกันมากพอสมควร แต่ยังไม่สามารถรวมกันติด จึงไม่สามารถสร้าง “พลัง” ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างที่เรียกว่าปฏิรูปได้เต็มปากเต็มคำ การพัฒนาการศึกษาที่ผ่านมาจึงเป็น “การปะผุ” มากกว่าที่จะเป็นการปฏิรูปตามที่ควรจะเป็น การปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงจึงควรเริ่มต้นจากการสร้างความตระหนักรู้แก่สังคมเกี่ยวกับความสำคัญของคุณภาพของการศึกษา โดยไม่ต้องศึกษาวิจัยอะไรให้รกชั้นหนังสือ และไม่ต้องไปดูงานประเทศไหนอีกแล้ว 
ผู้เขียนเชื่อโดยสุจริตว่าผู้เรียนของเรามีความสามารถในการเรียนรู้และมีความใฝ่รู้ในเรื่องที่แต่ละคนชื่นชอบ ถนัด และสนใจซึ่งแตกต่างหลากหลายกันไป ไม่ด้อยไปกว่าผู้เรียนในประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังจะเห็นว่าผู้เรียนทั่ว  ไปของเราที่มีโอกาสเข้าสู่ระบบการศึกษาของประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็มีความสามารถในการเรียนรู้ไม่ต่ำไปกว่าเพื่อนฝูง หลายเรื่องดีกว่าด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นนิสัยโอบอ้อมอารี กริยามารยาทเรียบร้อย และจิตอาสา

ถ้าผู้เรียนในประเทศไทยทุกคนมีโอกาส “เท่าเทียมกัน” ที่จะได้รับการศึกษาที่ “มีคุณภาพ” ก็จะช่วยแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองการปกครองได้ในอีกสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้าเหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วบ้าง

นี่เป็นเป้าหมายร่วมกันของพวกเราทุกคนมิใช่หรือ

ได้เวลาลงมือแล้วหรือยัง?

วันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

“ไฮโดรเจน : พลังงานทางเลือก” ปกรณ์ นิลประพันธ์

เรื่องพลังงานนั้น บ้านเรายังคงวนไปวนมากับเรื่องราคาน้ำมันว่าถูกว่าแพงกว่าเพื่อนบ้าน บางกลุ่มก็เสนอแบบง่าย ๆ ว่าราคาน้ำมันของบ้านเราต้องเท่ากับราคาน้ำมันของประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง ๆ ที่บริบททางเศรษฐกิจ สภาพทางกายภาพ ระบบกฎหมาย และอื่น ๆ แตกต่างกันลิบลับ นับว่าแปลกมากที่มีการรณรงค์แบบนี้ด้วย 

คงเหมือนกับการรณรงค์ว่าการเมืองการปกครองของบ้านเราต้องเหมือนฝรั่งเป๊ะ ๆ จึงจะสากล ทั้งที่ประเทศฝรั่งแต่ละประเทศมันก็หาได้เหมือนกันเป๊ะ ๆ แต่ประการใดไม่ เพราะบริบทของแต่ละประเทศมันไม่เหมือนกัน ลอกกันไม่ได้ ฝรั่งเองมันยังไม่ลอกกันเลย ทำไมเราต้องลอกมันด้วยล่ะ 

ที่สำคัญก็คือยังมีการอ้างตำราหรือแนวคิดของนักวิชาการฝรั่งยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกของโลกด้วยเครื่องทอผ้า และยังใช้นกพิราบในการสื่อสาร มาเป็นไอเดียในการปรับปรุงการเมืองการปกครองของประเทศในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 หรือ 4th industrial revolution ที่ใช้ระบบสื่อสาร 5G มีระบบ Big data มี data analytics เป็นองคาพยพสำคัญ ไม่ใช่เครื่องทอผ้า ไม่ใช่เครื่องจักรไอน้ำเหมือนยุคศตวรรษที่ 17 หรือ 18

นี่ถ้านักวิชาการฝรั่งที่เสียไปเมื่อสามสี่ร้อยปีเหล่านี้ฟื้นขึ้นมา คงดีใจไม่น้อยที่แนวคิดทฤษฎีของท่านยังมีคนนำมากล่าวอ้างราวกับเป็นของขลังในบ้านเมืองเรา ทั้งที่ในบ้านเมืองเขา เรื่องเหล่านี้อยู่ในตำราประวัติศาสตร์คลาสสิคไปหมดแล้ว ไม่เชื่อลองไปดูหนังสือเรียนระดับ A Level ของเด็กมัธยมปลายของฝรั่งดูสิครับ

กลับมาเรื่องพลังงาน มีบางกลุ่มที่สนใจการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานจากขยะ และ renewable energy อื่น ๆ อันนี้ก็ดีครับ แต่มีปัญหาเรื่องการพัฒนาแบตเตอรี่มาเก็บพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตขึ้นมาได้ แบตเตอรี่นี่มีอายุการใช้งาน หมดอายุก็ต้องทิ้ง เหมือนถ่านไฟฉายนี่แหละ คำถามคือจะทิ้งที่ไหนหรือเอาไปทำอะไรต่อ ต้องคิดแก้ปัญหากันต่อไปด้วยว่าจะจัดการกับแบตเตอรี่เหล่านี้อย่างไรต่อไปอีกเพื่อมิให้เป็นมลพิษ

บ้านเราพยายามแก้ปัญหาพลังงานไปพร้อม ๆ กับแก้ปัญหาพืชผลทางการเกษตร โดยนำน้ำมันจากพืชมาผสมกับน้ำมันดีเซลให้เป็นดีเซลบีต่าง ๆ หรือนำแอลกอฮอล์มาผสมกับน้ำมันเบนซินให้เป็นน้ำมันก๊าซโซฮอล์ ก็ดีครับ ช่วยเกษตรกรไปด้วยในตัว แต่จะช่วยได้มากน้อยเท่าไรนั้นอีกเรื่องหนึ่งเพราะการนำน้ำมันพืชหรือแอลกอฮอล์มาผสมนี่ต้องเป็นน้ำมันหรือแอลกอฮอล์ที่มีคุณภาพสูงพอสมควร ไม่งั้นมันก็ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากพอสมควรเหมือนกัน เรียกว่ายังไม่ตอบโจทย์ลดโลกร้อนที่เป็นโจทย์สำคัญของโลกในเวลานี้สักเท่าไร แต่ลดบ้างก็ยังดีกว่าอยู่เฉย ๆ ละน่า รักษาระดับราคาพืชเกษตรด้วย

ที่น่าสนใจมากก็คือประเทศที่พัฒนาแล้วเขากำลังเอาเป็นเอาตายแข่งขันกันพัฒนา "ไฮโดรเจน" มาแทนน้ำมัน เพราะการใช้ไฮโดรเจนแทนน้ำมันนี่พอผ่านกระบวนการเผาผลาญมันจะปลดปล่อยน้ำออกมาแทนคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้โลกร้อน ถ้านำไฮโดรเจนมาใช้เป็นพลังงานแทนน้ำมันได้ ก็จะช่วยลดปัญหาโลกร้อนได้มาก เพราะยังไงคนก็ต้องใช้รถ 

เท่าที่ติดตามข่าว นักวิทยาศาสตร์ระดับโลกและบริษัทชั้นนำเขากำลังหาทางเอาชนะปัญหาที่เคยเกิดขึ้นกับเรือเหาะเซปเปลินในสมัยก่อนที่ระเบิดขึ้นเพราะไฮโดรเจนติดไฟง่าย ถ้าคิดออกละก็  ไฮโดรเจนก็น่าจะเป็นพลังงานทางเลือกที่ดีมาก

ตอนนี้หลายประเทศเขากำลังวางแผนที่จะใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานหลักแทนน้ำมันกันแล้ว นี่เห็นว่าจะมีการประชุมระดับโลกเรื่องนี้ในปีนี้ปีหน้า ถ้าเราเข้าร่วมประชุมกับเขาแล้วลองเอากลับมาคิดวางแผนอนาคตด้านพลังงานของไทยก็น่าจะเป็นประโยชน์นะครับ

ชวนคิดครับ.