ในช่วง 1980s ประเทศที่พูดถึงตัวเองว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว ได้วางนโยบาย แผนงาน โครงการจำนวนมากเพื่อแก้ไขปัญหาที่ “ซุกไว้ใต้พรม” ซึ่งเป็นปัญหาในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ
นโยบายนำร่องและส่งผลดีมาจนทุกวันนี้เริ่มในอังกฤษ บารอนเนสแธตเชอร์ประกาศนโยบาย Open Government ขึ้น หน่วยงานของรัฐต้องเอากระบวนการทำงานต่าง ๆ มาแบไว้บนโต๊ะ จากที่เคยเป็น “เรื่องภายใน” ของภาครัฐ มาให้ประชาชน หรืออย่างน้อย ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานของภาครัฐ ในเรื่องต่าง ๆ เพื่อทราบ
เมื่อประชาชนเห็นเข้า ก็เหมือนมีแมวจำนวนมากคอยจ้องจับหนู ในช่วงนั้นจึงมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของทุกหน่วยงานของรัฐว่าตรงไหนดีไม่ดี พิธีรีตองหรือขั้นตอนเยอะไปไหม เสียเวลาเสียค่าใช้จ่ายเปล่า ๆ ปลี้ ๆ ไปทำไม ตรงไหนใช้ดุลพินิจมาก ตรงไหนไม่มีกำหนดเวลาทำงาน สร้างไม่มีความแน่นอน เป็นช่องทางทุจริตของเจ้าหน้าที่ เรื่องไหนทำซ้ำกับหน่วยงานอื่น เรื่องไหนเป็นภาระประชาชน หน่วยไหนใช้เงินไม่คุ้มค่า ฯลฯ
เสียดายตอนนั้น Corruption Perception Index ยังไม่เกิด ไม่งั้นจะเห็นข้อมูลว่างามไส้ขนาดไหน ใครที่พอรู้ความในช่วงนั้นและสนใจเรื่องระหว่างประเทศ คงจะพอจำกันได้
เสียงวิจารณ์ “ประสิทธิภาพ” และ “ความซื่อตรง” ของภาครัฐที่ดังกระหึ่มขึ้นมา ประกอบกับมีการวางระบบการแจ้งเบาะแสการทุจริต หรือ Whistle blowers ทำให้ความเลอะเทอะต่าง ๆ เป็นข่าวในสื่อมวลชนมากมาย นางสิงห์เหล็กจึงใช้เป็นโอกาสในการแก้ไขปัญหาข้อบกพร่องบรรดามีเหล่านี้เสีย แก้ไขกฎหมาย กฎ ระเบียบ รวมทั้งแนวปฏิบัติที่ไม่มีประสิทธิภาพ โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียประกอบการพิจารณา การเสนอให้มีกฎหมาย กฎ ระเบียบ อะไรต่าง ๆ ต้องมีรายงานการคิดวิเคราะห์ผลดีผลเสีย และการปรึกษาหารือ “อย่างตรงไปตรงมา” กับหน่วยงานและผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องให้รอบด้าน เป็นวิทยาศาสตร์ ที่รู้จักกันในชื่อ Green Paper ไม่ใช่มโนเอาเหมือนก่อน
กระแสเรื่อง stakeholders consultations ก็ดี scientific based policy ก็ดี effective and efficient government ก็ดี responsive government ก็ดี value for money ก็ดี public accountability ก็ดี merit system ก็ดี ซึ่งรวม ๆ เรียกต่อมาว่า public governance ก็เริ่มพัฒนาขึ้น
สหรัฐอเมริกานำไปใช้ในชื่อนโยบาย Sunshine policy คือเปิดเผยโปร่งใส เหมือนเปิดผ้าม่านหน้าต่างให้แสงอาทิตย์ชอนไชเข้ามา จะได้เห็นว่ามันมีขยะหรือฝุ่นซุกซ่อนอยู่ตรงไหน แล้วก็แก้ไขเสีย ข่าวทุจริตและเรื่อง “ความไม่ชอบมาพากล” ในช่วงนั้นของยูเอสเอก็ไม่เบานะครับ คนแก่คงลืม หรือไม่สนใจ คนเกิดทีหลังก็คงไม่เคยไปคุ้ยดู CPI ของสหรัฐยุคนั้นคงไม่แพ้อังกฤษเหมือนกัน ถ้ามีนะ
ต่อมากระแสในเรื่องนี้ได้ส่งผลไปทั่วโลกในนาม New Public Management ซึ่งจริง ๆ ไม่น่าจะ new ในทัศนะของผู้เขียน เพราะบ้านเรามีมาตั้งนานแล้วไม่ว่าจะเป็นทศพิธราชธรรม หรืออินทภาษที่เก่าแก่กว่า
ปัจจัยความสำเร็จของแนวคิดดังว่านี้ไม่ใช่การนับจำนวนข่าวหรือข้อมูลการทุจริตหรือไร้ประสิทธิภาพมาพูดกัน เหตุผลคือไม่ใช่มันเพิ่งเกิด มันเกิดมานานแล้ว ที่ผ่านมาไม่ได้แก้ไขกันต่างหาก ปล่อยปละละเลยกันมานมนานจนต้องมาแก้กันในวันนี้ แต่ปัจจัยความสำเร็จที่แท้ทรูคือกล้าที่จะยอมรับความจริงว่ามันมีอยู่ แต่ต้องแก้ไขไม่ให้มีอีกต่อไป และเมื่อทราบแล้วก็ต้องจัดการกับปัญหานั้นโดยเร็วและจริงจัง มีปัญหาก็รีบแก้เสีย
ผู้เขียนศึกษาเรื่องนี้มานานอยู่ พบว่ามีการตั้งคณะกรรมการ/อนุกรรมการขึ้นแก้ปัญหาน้อยมาก เพราะมันไม่ใช่เรื่องที่ต้องระดมความเห็นอะไรอีก ตรงไหนไม่เข้าท่าก็แก้เสียให้เร็ว
วันนี้วันมาฆะบูชาครับ ขอไปเจริญจิตภาวนาก่อน
แล้ววันหลังจะมาเล่าต่อนะ