ผมว่าวิชาประวัติศาสตร์ (และสังคมศาสตร์) เป็นศาสตร์สำคัญไม่แพ้สะเต็มที่กำลังเห่อกันอยู่นั่น เพราะถ้าสอนเป็น เรียนเป็น ศาสตร์แขนงนี้จะทำให้เราได้เรียนรู้ว่าเรื่องราวต่าง ๆ ในอดีต เกิดขึ้นจากสาเหตุใดและคลี่คลายไปเพราะอะไร และแน่นอนว่ามันทำให้เราคาดการณ์เรื่องที่อาจจะเกิดขึ้นและหนทางแก้ไขปัญหาได้หากมีสถานการณ์ซ้ำรอยเดิม
การเรียนการสอนวิชานี้จึงไม่ใช่เพียงท่องจำว่าอะไรเกิดขึ้นวันเดือนปีใดใครทำ อะไรเป็นเครื่องมือทางประวัติศาสตร์ ฯลฯ เหมือนสอนนกแก้วนกขุนทองให้พูดเรื่อยเจื้อยแบบที่เราส่วนใหญ่ทำกันมาชั่วนาตาปี แน่นอนว่าการจำนั้นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ แต่ที่ต้องเพิ่มเติมเข้ามาคือการใช้สติและปัญญาในการ “คิดวิเคราะห์” อย่างเต็มที่ ไม่ต่างจากวิชาสะเต็ม
สำหรับผมในฐานะเด็กสายวิทยาศาสตร์ที่มาเรียนกฎหมาย และมีอาชีพเป็นนักกฎหมายเปรียบเทียบ วิชานี้ยากกว่าสะเต็มเพราะ “บริบทของประวัติศาสตร์” นั้นเป็นพลวัตร หรือ dynamics มี “ตัวแปร” หลากหลายที่ไม่สามารถจำกัดได้และไม่สามารถควบคุมได้ โดยเฉพาะสภาพสังคม ค่านิยมของสังคม รวมทั้งความคิดความอ่านของผู้คนที่แตกต่างหลากหลายกันไปในแต่ละยุคแต่ละสมัย ซึ่งเป็นอัตวิสัยหรือ subjective ถ้าเราไม่ทราบบริบทเหล่านี้อย่างแท้จริง นั่งเทียนคิดเองเออเอง ก็ยากที่จะ “เข้าใจ” ประวัติศาสตร์ได้อย่างถ่องแท้ และจะนำไปใช้อะไรไม่ได้เลย
แน่นอน เมื่อไม่รู้จักเรียนรู้จากอดีต การอยู่กับปัจจุบันจึงเป็นการอยู่บนพื้นฐานของความไม่รู้ ขาด “ความเข้าอกเข้าใจร่วมกัน” ในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น เป็นภาวะที่ผู้คนอยู่กันอย่างสับสนอลหม่าน ดังนี้ การก้าวไปสู่อนาคตที่สลับซับซ้อนจึงเต็มไปด้วยความเสี่ยง
ที่เขียนมานี้ก็เป็นแต่เพียงรำพึงรำพันประสาคนมีอายุน่ะครับ เห็นเขาใช้วาทะกระทำประทุษกรรมกันและกันในการหาเสียงแล้วก็เลยคิดว่าคนจำนวนหนึ่งไม่ได้ตระหนักเลยว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมานั้นเป็น “บทเรียน” ที่เราไม่ควรทำซ้ำเพราะมันสร้างความบอบช้ำให้คนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่และบ้านเมืองมามากมายหลายรอบแล้ว
ชอบแบบสร้างสรรค์ครับ.